'พระโกศ' เครื่องประดับพระอิสริยยศ

ที่มา : จุฑานันท์ บุญทราหาญ เดลินิวส์ออนไลน์ (คลิกเพื่อชมภาพเพิ่มเติม)









เมื่อมีการเสียชีวิตเกิดขึ้น ถ้าเป็นคนธรรมดาทั่วไปจะนำศพมาบรรจุใส่หีบศพ แต่สำหรับพระมหากษัตริย์ พระบรมวงศานุวงศ์ และข้าราชการผู้มีบรรดาศักดิ์สูงจะต้องบรรจุใส่ใน “พระโกศ”

นิยม กลิ่นบุบผา นายช่างศิลปกรรม 9 กลุ่มประณีตศิลป์ สำนักช่างสิบหมู่ กรมศิลปากร เล่าถึงความเป็นมาของพระโกศให้ฟังว่า คนไทยจะมีการจัดการเรื่องศพไม่ใช่ตายแล้วปล่อยทิ้งไปอย่างประเทศทิเบต ที่จะนำศพมาหั่นเป็นท่อน ๆ เป็นชิ้น ๆ แล้วให้แร้ง ให้กากิน ถือว่าเป็นบุญกุศลตามลัทธิความเชื่อ แต่ของไทยเรานั้น น่าจะได้แนวคิดมาจาก 2 ทางด้วยกัน ทางแรกน่าจะได้แนวคิดมาจากทางอินเดีย อีกทางหนึ่งมาจากเขมร จะมีแนวคิดของไทยดั้งเดิมอยู่บ้างหรือได้รับจากจีนมาบ้าง ก็คงมีแต่ไม่ชัดเจนนัก

ทางอินเดีย เปรียบว่า เมื่อสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จดับขันธปรินิพพานบรรดาพระสงฆ์สาวกได้จัดการพระบรมศพโดยอัญเชิญพระบรมศพในรางเหล็ก ก็คือ โลงหรือหีบศพตามที่คนโบราณเชื่อกัน ซึ่งจะเห็นในภาพจิตรกรรมตามวัดวาอารามเก่า ๆ ทั้งในกรุงศรีอยุธยาจนกระทั่งกรุงรัตนโกสินทร์จะวาดเป็นรูปหีบศพแต่มียอด ที่มียอดเพื่อจะได้สวยงามตั้งพระเมรุเผาศพได้อย่างสมพระเกียรติ

“แต่ในความเป็นจริง เมื่อครั้งที่พระพุทธองค์นิพพานอาจจะไม่มียอดก็ได้ อาจจะเป็นโลงหีบแบบที่เราใช้กันอยู่ทุกวันนี้ ส่วนที่มาจากทางเขมร จะเป็นเรื่องของ โกศ คนเขมรจะไม่บรรจุศพให้นอน มีการห่อศพที่เรียกว่า สุกำศพ แล้วบรรจุลงในโกศ ซึ่งโกศดั้งเดิมคงจะเป็นทรงกระบอกแล้วมีฝาปิด เมื่อเป็นศพผู้มีบรรดาศักดิ์หรือเป็นผู้ที่มีฐานันดรสูงศักดิ์ จะต้องมีการตกแต่งประดับประดาให้งดงามขึ้น เมื่อตั้งขึ้นเห็นว่าถ้ามียอดขึ้นไปคงจะสวยมากยิ่งขึ้น จึงประกอบยอดขึ้น ทำให้ตัวรุ้งและตัวลองมียอด จึงเรียกกันว่าโกศ”


พระโกศ มีอยู่ 2 ชั้นด้วยกัน คือ ชั้นใน เรียกว่า “โกศ” ทำด้วยเงินสำหรับกษัตริย์เท่านั้น ส่วนทองแดงหรือเหล็กสำหรับราชวงศ์และข้าราชการ ชั้นนอก เรียกว่า “ลอง” ทำด้วยโครงไม้หุ้มทอง ปิดทองประดับกระจกอัญมณี ใช้สำหรับประกอบปิดโกศชั้นใน เรียกพระโกศที่ประกอบนอกนี้ว่า พระลอง มีหลายลำดับตามฐานานุศักดิ์ที่ได้รับ โดยเครื่องประกอบศพบรรดาศักดิ์ของไทยมี 2 แบบ คือ โกศบรรดาศักดิ์ และหีบบรรดาศักดิ์ โดยโกศบรรดาศักดิ์ จะมีพระโกศทองที่ถือว่าเป็นพระโกศที่มีบรรดาศักดิ์สูงที่สุด

โดยมี พระโกศทองใหญ่ (พระลองทองใหญ่) ที่จัดลำดับว่าสูงสุด ทำจากไม้แกะสลักทรงแปดเหลี่ยมหุ้มทองคำตลอดองค์ ฝายอดมงกุฎ มีลวดลายที่วิจิตรงดงามมาก สร้างขึ้นในปี พ.ศ. 2351 สมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก สร้างไว้สำหรับพระบรมศพของพระองค์ เมื่อทำสำเร็จ ในปีนั้นสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงศรีสุนทรเทพสิ้นพระชนม์ พระองค์ทรงพระอาลัยมากและใคร่จะทอดพระเนตรพระโกศทองใหญ่ออกพระเมรุตั้งพระเบญจา จึงโปรดฯให้เชิญพระโกศทองใหญ่ไปประกอบพระศพสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงศรีสุนทรเทพเป็นครั้งแรก

“โบราณถือว่า ถ้าไม่มีการตายเกิดขึ้นแล้วเอาพระโกศมาประกอบกับพระเบญจาครบชุดเช่นนี้จะเป็นลางไม่ดี เกิดอาเพศ ไม่มีใครกล้าทำกัน จึงทำให้ไม่เห็นความงามหรือข้อบกพร่องที่จะต้องแก้ไข แต่ด้วยมีเหตุจึงตั้งได้ โดยไม่มีข้อขัดข้องใด ๆ จากเหตุการณ์นี้ จึงเป็นประเพณีในรัชกาลต่อมาให้มีการพระราชทานพระโกศทองใหญ่ให้ทรงพระศพเป็นพิเศษนอกจากพระบรมศพเรื่อยมา โดยพระโกศทองใหญ่เมื่อใช้ทรงพระศพเจ้าฟ้าที่ไม่ได้สถาปนาเป็นพิเศษ จะเอาดอกไม้เพชรฝาโกศกับดอกไม้เอวเพชรออกด้วย คงเหลือแต่พุ่มเพชรกับเฟื่องเพชร แต่ถ้าพระราชทานเป็นกรณีพิเศษจะใส่เครื่องประดับครบชุด”


ถัดมาเป็น พระโกศทองรองทรง (พระลองทองรองทรง) ทำจากไม้แกะสลักทรงแปดเหลี่ยมหุ้มทองคำตลอดองค์ ฝายอดมงกุฎสร้างขึ้นในปี พ.ศ. 2443 พระโกศองค์นี้นับเสมอพระโกศองค์ใหญ่ ใช้แทนพระโกศทองน้อย

ต่อมา คือ พระโกศทองเล็ก (พระลองทองเล็ก) ทำจากไม้แกะสลักทรงแปดเหลี่ยมหุ้มทองคำตลอดองค์ ฝายอดมงกุฎ สร้างขึ้นในปีพ.ศ. 2430 และ พระโกศทองน้อย (พระลองทองน้อย) ทำจากไม้แกะสลักลวดลายทรงแปดเหลี่ยม เป็นพระโกศทองคำเช่นกัน ฝายอดมงกุฎ สร้างขึ้นในปีพ.ศ. 2394 ด้วยเหตุที่พระราชทานพระโกศทองใหญ่ให้ทรงพระศพสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ ชั้นพระองค์เจ้า จึงทำให้พระโกศทองน้อยไม่ค่อยได้ใช้ มากนัก

ถัดมาเป็น พระโกศกุดั่น (พระลองกุดั่น) มี 2 แบบ พระโกศกุดั่นใหญ่ (พระลองกุดั่นใหญ่) และ พระโกศกุดั่นน้อย (พระลองกุดั่นน้อย) ทำจากไม้แกะสลักลวดลาย ทรงแปดเหลี่ยม ฝายอดทรงมณฑป ปิดทองประดับกระจกสี

“สมัยก่อนพระโกศกุดั่นน้อย จะทรงศพพระสังฆราช แต่ตอนหลังพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระราชทานพระโกศกุดั่นน้อยสำหรับศพเจ้านายชั้นล่าง ๆ หรือ ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่มาก ๆ พระองค์ท่านทรงเห็นว่า จะใช้ทรงศพพระสังฆราชคงจะต่ำศักดิ์ไปจึงพระราชทานพระโกศกุดั่นใหญ่ให้เป็นพระโกศทรงศพพระสังฆราช แต่นั้นมา พระโกศกุดั่นน้อย เท่าที่เห็นใช้ในการพระศพของรัฐบุรุษองคมนตรีที่เป็นราชวงศ์ ประธานองคมนตรี หรือข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ที่ทรงต้องการเชิดชูเกียรติให้ใหญ่ อย่าง ม.ร.ว.อดุลย์กิติ์ กิติยากร ม.ล.บัว กิติยากร อาจารย์สัญญา ธรรมศักดิ์ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์”


จากนั้น เป็น พระโกศมณฑป (พระลองมณฑป) มี 2 แบบ พระโกศมณฑปใหญ่ (พระลองมณฑปใหญ่) และ พระโกศมณฑปน้อย (พระลองมณฑปน้อย) ทำจากไม้แกะสลักลวดลายทรงสี่เหลี่ยม ฝายอดทรงมณฑปปิดทองประดับกระจกสี สำหรับพระราชทานทรงพระศพข้าราชการชั้นผู้ใหญ่และองคมนตรี




มาที่ พระโกศไม้สิบสอง (ลองไม้สิบสอง) ทำด้วยไม้แกะสลักลวดลายย่อมุมทรงพระศพหักเหลี่ยมทรงไม้สิบสอง ฝายอดทรงมงกุฎปิดทองประดับกระ จกสี พระราชทานทรงศพผู้ที่ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอม เกล้า หรือสมเด็จพระราชาคณะ

ส่วน โกศแปดเหลี่ยม (ลองแปดเหลี่ยม) ทำด้วยไม้แกะสลักลวดลายทรงแปดเหลี่ยม ฝายอดทรงมณฑปประดับกระจกสี พระราชทานประกอบศพข้าราชการที่ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้า ชั้นที่ 2 ชนิดที่ 1 ทุติยจุลจอมเกล้าวิเศษ หรือประถมาภรณ์ช้างเผือก รวมทั้ง มหาวชิรมงกุฎ

สำหรับ โกศราชินิกุล (ลองราชินิกุล) ทำด้วยไม้แกะสลักลวดลายทรงสี่เหลี่ยม ตัดมุมผ่าทรงชฎาปิดทองประดับกระจกสี สำหรับพระราชทานประกอบศพสมาชิกในราชสกุล ตั้งแต่หม่อมราชวงศ์ลงมาถึงหม่อมหลวง ส่วน โกศโถ (ลองโถ) ทำด้วยไม้แกะสลักลวดลายรูปกลม ฝายอดปริก ปิดทองประดับกระจก สำหรับพระราชทานประกอบศพผู้ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ จุลจอมเกล้า รวมทั้ง ประถมาภรณ์มงกุฎไทย

ถัดลงมาจะเป็นหีบ โดยมีหีบทองทึบ เป็นชั้นสูงสุด ลักษณะจะไม่มีลวดลายอะไรที่ผนังหีบเลย เป็นหีบปิดทองเกลี้ยงแต่ที่เชิงฐานของหีบจะมีลวดลายแกะสลัก เป็นลายบัวฐานสิงห์ ปิดทอง หีบทองทึบจะพระราชทานให้กับพระสงฆ์ที่เป็นราชาคณะ หรือพระเถระวิปัสสนา

รองลงมาเรียกว่า หีบทองลายสลัก มีลวดลายผนังหีบทั้งลูก แกะสลักลาย ปิดทองไม่ประดับกระจก ฐานเป็นบัวฐานสิงห์เหมือนกันกับหีบทองทึบ พระราชทานให้กับข้าราชการทั่ว ๆ ไป ถัดมาเป็น หีบทองทราย สันนิษ ฐานว่า น่าจะเป็นชั้นพระยศรองลงมาจากหีบทองทึบ ปัจจุบันไม่ปรากฏว่าพระราชทานให้ใคร มีลักษณะเหมือนหีบทองทึบทุกประการ ต่างกันตรงที่หีบทองทึบ ผิวทองราบเรียบ แต่หีบทองทรายผิวหีบจะเป็นเม็ดทรายเล็ก ๆ ตลอดทั่วหีบ

ถัดลงมาอีก จะเป็น หีบทองกุดั่น มีลวดลายกุดั่นแกะสลักเป็นดอกลอย ประดับกระจก ถัดลงมาเป็นหีบทองก้านแย่ง ถัดมาเป็น หีบทองเชิงชาย สำหรับชั้นหีบนั้นจะใช้สำหรับพระยศชั้นขุนนางที่มียศไม่ถึงชั้นโกศ

ในยุคสมัยที่บ้านเมืองสงบจากศึกสงครามไม่ต้องเผชิญกับปัญหาด้านเศรษฐกิจ หรือปัญหาทางด้านการเมือง การปกครอง ช่วงนั้นผู้คนจะมีความสุขมักจะคิดประดิษฐ์สรรค์สร้างสิ่งต่าง ๆ ขึ้นมา ยิ่งถ้า ผู้ปกครอง เจ้านาย ผู้บริหารมีความรู้ มีสายพระเนตรที่ยาวไกล จะยิ่งทำให้เจริญขึ้นไปอีก ดังจะเห็นได้จากในอดีตที่เกิดงานศิลปกรรมขึ้นมามากมาย

ศิลปะจึงเป็นศาสตร์ที่ไม่ว่าชนชั้นใดมักจะมองเห็นความงาม จึงควรช่วยกันอนุรักษ์ สืบสานศิลปะไม่ว่าจะสาขาใดก็ตาม เอาไว้ เพื่อเป็นมรดกตกทอดกันจากรุ่นสู่รุ่น ศิลปะจะได้เป็นที่ประจักษ์ สัมผัสได้ด้วยของจริง. นิยม กลิ่นบุบผา กล่าว

ด้านพระโกศไม้จันทน์ที่ทรงพระศพของสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ นั้น จะต้องทำทั้งหีบพระศพและพระโกศด้วย เพราะหีบพระศพจันทน์จะต้องทำสวมหีบพระศพจริง ๆ ส่วนพระโกศจันทน์จัดทำขึ้นตามพระอิสริยยศ โดยขนาดล้อมาจากพระโกศลองในซึ่งเป็นที่ใส่พระศพจริง ๆ ในสมัยก่อน จะมีรูปร่างเป็นทรงกลม มีฐานลวดบัว ฝาเป็นบัวลูกแก้วทรงคล้าย ๆ ปริก คล้ายเม็ดเสาที่เรียกว่าเสาเม็ดทรงมัน มีฝาหลังเจียดลงมา เพราะพระโกศทองใหญ่ไม่มีหลังเจียด จะเป็นชั้นขึ้นไปยังพระมหามงกุฎ

“การทำพระโกศไม้จันทน์ คงต้องใช้เวลาหลายเดือน เพราะต้องฉลุลาย หนึ่งช่อลายมีไม่น้อยกว่า 3 ชั้น รวมทั้งต้องทำซ้อนกันลงไป บางอันมีซ้อนกันถึง 4 ชั้น เนื่องจากไม่มีการแกะสลักพระโกศไม้จันทน์ แต่จะทำที่เรียกว่า การซ้อนไม้ เป็นการเอาลายแต่ละลายมาซ้อนใหญ่ซ้อนเล็กกันให้เกิดเป็นเหลี่ยมเป็นเงาแลดูเป็นลวดลาย เวลามอง ผ่าน ๆ ในระยะห่างพอสมควรดูคล้ายพระโกศแกะสลัก หากได้ชมใกล้ ๆ จะเห็นว่าไม่มีการแกะสลักที่พระโกศไม้จันทน์หอมแม้แต่น้อย นำไม้จันทน์หอมมาทำเป็นแผ่นบาง หนา ตามที่ต้องการ เพราะลายแต่ละชั้น หนา บางไม่เท่ากัน เพื่อจัดวางแล้วเกิดแสงเงาที่สวยงาม จึงทำให้ฉลุลายไม้แต่ละลายไม่เท่ากัน แต่ว่าชั้นล่างต่อชั้นล่างต้องเท่ากันหมด ชั้นบนต่อชั้นบนต้องเท่ากันหมดแต่ว่าชั้นบนกับชั้นล่างอาจไม่เท่ากันชั้นกลางก็ต่างไปอีก แต่ในชั้นกลางด้วยกันจะต้องเท่ากันหมด ไม่เช่นนั้นลายจะสูง ๆ ต่ำ ๆ ไม่สวยงาม”


ทั้งหีบพระศพและพระโกศ ที่ทำจากไม้จันทน์หอมนี้ รวมกันเรียกว่า พระโกศไม้จันทน์หอม โดยที่หีบไม้จันทน์นี้จะใหญ่กว่าพระโกศจันทน์ถึง 3-4 เท่า เพราะเป็นหีบไม้จันทน์ที่จะต้องมีหีบสเตนเลสอยู่ด้านใน แล้วพระโกศจันทน์จะหุ้มด้านนอกหีบสเตนเลสอีกทีหนึ่ง โดยจะต้องมีทิ้งระยะห่างกันระหว่างหีบไม้กับหีบสเตนเลสมากพอสมควรเพื่อมีช่องทางระบายความร้อนไม่เช่นนั้นแล้วจะจุดไฟไม่ติด

“ด้านการตกแต่งลวดลายศิลปกรรมไทยพระโกศจันทน์สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ จะต้องฉลุลายไทย ได้แก่ ลายใบเทศ ซึ่งถือว่าเป็นลายต้นตระกูลสูงของลายศิลปะไทยที่มีอยู่ เช่น ลายกระหนก ลายก้านแย่ง ลายเครือเถา ลายกลีบบัว ลายก้านขด ลายเทพนม ลายพุดตาล และลายกระจังแบบ ต่าง ๆ ซึ่งลายใบเทศจะเหมือนลายกระหนกเปลวหรือขนของปีกครุฑ มีความอ่อนช้อยกว่า และลายใบเทศ ส่วนใหญ่จะใช้เกี่ยวข้องกับเจ้าฟ้าเจ้าแผ่นดิน ที่แสดงออกในเรื่องนั้น ๆ เช่น วัดหลวง สามารถดูได้ที่พระอุโบสถ วัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามราชวรมหาวิหาร หรือวัดโพธิ์ ใช้ลายใบเทศ อีกทั้งลายเกี่ยวกับเครื่องพระอิสริยยศ ครั้งสร้างพระโกศจันทน์สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี ในรัชกาลที่ 7 ได้ประดับลายใบเทศเช่นกัน” อ.นิยม กล่าวทิ้งท้าย








Create Date : 04 กุมภาพันธ์ 2551
Last Update : 4 กุมภาพันธ์ 2551 1:25:59 น. 0 comments
Counter : 6359 Pageviews.

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

snodgrass
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]





แสงหนึ่ง - ครอบครัว "ศรีณรงค์"
บรรเลงสดในรายการ "จับเข่าคุย"



ทำให้ใจเต้นแรง


บล็อกล่าสุด

รวมรูปคนดัง (6 มี.ค. 51) - Catherine Zeta Jones, Rachel McAdams, Maria Sharapova และอีกมากมาย

รวมรูปคนดัง (ครั้งยิ่งใหญ่) - Winona Ryder, Natalie Portman, Maria Sharapova และอีกมากมาย

รวมรูปคนดัง (ครั้งยิ่งใหญ่) - Jessica Alba, Kate Beckinsale, Jennifer Hawkins และอีกมากมาย

สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ ในความทรงจำของ "หมึกแดง"

บทความเก่าของคุณ ปิติ เลิศลุมพลีพันธุ์ "สนามวิจารณ์ : คารวะแด่ Morricone"

: Users Online
Group Blog
 
<<
กุมภาพันธ์ 2551
 
 12
3456789
10111213141516
17181920212223
242526272829 
 
4 กุมภาพันธ์ 2551
 
All Blogs
 
Friends' blogs
[Add snodgrass's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.