สมเด็จพระเจ้าปราสาททอง ๒๕ : เถลิงราชย์
ภาพจากหนังสือ '๕๐๐ ปี ความสัมพันธ์สยาม-โปรตุเกส'
สิ้นสมเด็จพระอาทิตยวงศ์ ยุวกษัตริย์เชื้อสายราชวงศ์พระร่วงองค์สุดท้าย สิ้นสุดเสี้ยนศัตรูทั้งมวล และไม่มีผู้ใดเหมาะสมอีกแล้ว ราชสมบัติกรุงศรีอยุทธยาจึงตกแก่เชื้อพระวงศ์ผู้สำเร็จราชการแผ่นดินวัย ๓๐ ปี ผู้กุมอำนาจสูงสุดในราชสำนักขณะนั้น ผู้ซึ่งในอดีตเคยมีชีวิตขึ้นๆลงๆ ไปถึงจุดที่เรียกได้ว่าตกต่ำสุดสามารถใช้ความสามารถและอุบายมารยามามาจนถึงจุดที่เรียกได้ว่าสูงสุดอย่างแท้จริง
ในปีมะเมีย จุลศักราช ๙๙๑(พ.ศ.๒๑๗๒) เจ้าพระยากลาโหมสุริยวงศ์ได้เถลิงราชสมบัติ ปราบดาภิเษกขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์องค์ที่ ๒๕ แห่งกรุงศรีอยุทธยา(รวมขุนวรวงศาธิราช) ทรงพระนามเป็นที่รู้จักต่อไปในอนาคตว่า 'สมเด็จพระเจ้าปราสาททอง'
ปราบดาภิเษก พิธีปราบดาภิเษกนั้นทั้งพระราชพงศาวดารและเยเรเมียส ฟาน ฟลีตกล่่าวว่าได้จัดขึ้นอย่างใหญ่โต ดังที่พระราชพงศาวดารได้พรรณาไว้ว่าหลังจากที่เจ้าพระยากลาโหมสุริยวงศ์รับราชสมบัติ '...เสนาบดีมนตรีมุขทั้งหลายมีความยินดีนักก็อัญเชิญเสด็จเข้าอยู่ในพระราชวัง แล้วเสนาพฤฒามาตย์ปุโรหิตทวิชาจารย์พร้อมกันให้พระโหราธิบดีหาฤกษ์ ก็ตั้งการพระราชพิธีปราบดาภิเษกในพระที่นั่งมังคลามหาปราสาท เจ้าพนักงานทั้งหลายก็จัดแจงแต่งตั้งสุวรรณบัลลังก์รัตนราชอาสนะ ลาดด้วยหนังพระยาราชสีห์ มีมหาเศวตรฉัตรเป็นต้น อำพนด้วยเครื่องอภิรุมชุมสายพรายพรรณ จามรมาศกลดกลิงกรรชิงแทรกสลับสลอน บังสุริเยนทรบวรด้วยมยุรฉัตรพัชนี พรายเพรามเหาฬารดิเรกโดยราชประเพณีตั้งพระราชพิธีสงฆ์ และพิธีไสยเวทเวทางคสาตร์ทุกประการ แล้วตั้งพระยาคชสารยืนสถิตซ้ายขวา ทั้งพญาอัศวราชสถิตซ้ายขวาพร้อมพลาพลพฤติพร้อมถนัดทั้งประทุดตระพองการเสร็จ
ครั้นรุ่งขึ้นรวิวารมหาศุภฤกษ์อันอุดม บรมทินกรประเวศเหนือนภาลัยจำรัสดวง พระมหาราชครู พระครูปุโรหิตทวิชาจารย์ ก็เชิญเสด็จสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวสำอางองค์อลงกตวิภูษิตสรรพาภรณ์ บวรด้วยแก้วกาญจนรจนามณีรัตน์ชัชวาลโอภาสเสร็จ เสด็จทรงพระราชราเชนทรยานมาขึ้นอัฒจรรย์ไพชยนต์มหาปราสาท พระราชครูทั้งสี่องค์ปุริโสดมพรหมพิชาจารย์ ก็เป่ามหาสังข์ทักษิณาวรรต ประโคมแตรสังข์ดนตรีอินทเภรีเป็นปฐม สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวก็เสด็จในหน้าฆ้องชัยชำระพระบาท พระยาธรรมาธิบดีก็ลั่นฆ้องชัย ประโคมแตรสัข์ดุริยดนตรี ตีอินทเภรีเป็นทุติยวาร จึงเสด็จขึ้นไพชยนต์มหาปราสาท สถิตเนือบัลลังก์อาสน์อลังการ หมู่ทวิชาจารย์ก็เป่าสังข์ทักษิณาวรรต ประโคมแตรสังข์ดุริยดนตรี ตีอินทเภรีเป็นตติยวาร สมเด็จพระสังฆราชราชาคณะทั้งปวง ก็สวดพระพุทธมนต์ถวายชัย พระมหาราชครูพระตรูปุโรหิตสุภาวดีศรีทิชาจารย์ทั้งหลาย ก็แซ่ซ้องอ่านอิศวรเวทวิศณุมนต์ถวายชัยพร้อมเสร็จ ก็ถวายมุรธาภิเษกอาเศียรพาทสำหรับพระราชพิธีปราบดาภิเษกพระกษัตราธิราชเจ้าสืบมาแล้ว สมเด็จพระเจ้าอยู่เสด็จเถลิงสิงหบัญชร พระที่นั่งมังคลาภิเษก อันวิจิตรด้วยสุวรรณรัตโนภาส จึงเบิกท้าวพระยาสามนตราชราชตระกูลพฤฒามาตย์มุขมนตรีถวายบังคม แล้วเบิกลูกขุนทั้งปวงเสร็จ'
อิงจากข้อความที่ยกมา เข้าใจว่าทำพิธีปราบดาภิเษกในวันอาทิตย์(รวิวาร)
ฟาน ฟลีตกล่าวว่าเมื่อพระองค์ขึ้นครองราชสมบัติแล้วจึงทรงมีพระนามว่า 'พระองค์ศรีธรรมราชาธิราช(Pra Onghsrij d'Harma Raatsja Thijraaja)' ที่แปลผิดกันหลายทอดจนกลายเป็น 'พระองค์ไล' และไปเข้าใจผิดกันว่าเป็นพระนามเดิมของพระเจ้าปราสาททอง(อ่านตอนที่ ๒)
ส่วนพระนาม 'ปราสาททอง' สัณนิษฐานว่าคงจะได้มาในภายหลัง ซึ่งจะกล่าวในบทต่อๆไป
ประดิษฐานพระราชวงศ์
กระบวนเสด็จพระมหากษัตริย์และพระราชวงศ์ในเวสันดรชาดก น่าจะจำลองจากรูปแบบกระบวนสมัยอยุทธยา ภาพจากสมุดภาพไตรภูมิกรุงศรีอยุธยา หมายเลข ๖
ด้วยเหตุที่สมเด็จพระเจ้าปราสาททองได้ขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์ เครือญาติเดิมจึงย่อมกลายเป็นพระราชวงศ์ไปโดยปริยาย
สมเด็จพระศรีสุธรรมราชา สมเด็จพระเจ้าปราสาททองมีพระอนุชาพระองค์หนึ่ง ซึ่งพระราชพงศาวดารได้กล่าวว่าสมเด็จพระเจ้าปราสาททองทรงพระกรุณาตรัสว่า 'น้องเราคนนี้น้ำใจกักขฬะหยาบช้า มิได้มีหิริโอตัปปะ จะให้เป็นอุปราชรักษาแผ่นดินต่างพระเนตรพระกรรณมิได้ ให้เป็นแต่เจ้าพระ ชื่อพระศรีสุธรรมราชา ตั้งบ้านหลวงอยู่ริมวัดสุธาวาศ'
เรื่องที่กล่าวในพงศาวดาร(ซึ่งเท่าที่พบเก่าสุด ชำระในสมัยรัชกาลที่ ๑)ขัดแย้งกับหลักฐานร่วมสมัยหลายชิ้นของฮอลันดาหรือของฟาน ฟลีตซึ่งอยู่ในกรุงศรีอยุทธยาสมัยนั้น ซึ่งกล่าวว่าพระองค์มีพระยศเป็น 'ฝ่ายหน้า(feijna)' ซึ่งก็คือตำแหน่ง 'วังหน้า' หรือ 'พระมหาอุปราช' อยู่หลายครั้ง และในเอกสารที่เขียนใน ค.ศ.๑๖๓๘(พ.ศ.๒๑๘๑) กล่าวว่าพระองค์เป็นรัชทายาทที่อยู่ใกล้ราชสมบัติมากที่สุด(the nearest heir to the throne) และกล่าวว่าเป็นพระอนุชาเพียงพระองค์เดียว(the king's only brother)จึงไม่น่าจะสงสัยว่ามีพระอนุชาพระองค์อื่นอีก(จริงๆมีอีกองค์แต่ว่าสิ้นไปตั้งแต่สมเด็จพระเจ้าปราสาททองยังไม่ครองราชย์จึงคงไม่นับ-อ่านตอนที่ ๑๖)
จากที่ยกมาจึงน่าจะพอสรุปได้ว่าพระราชพงศาวดารนั้นผิดพลาดเนื่องจากชำระหลังเหตุการณ์มาก นอกจากนี้อาจเป็นเพราะพระองค์เคยมีกรณีพิพาทกับสมเด็จพระนารายณ์มหาราชซึ่งเป็นพระนัดดาอยู่จึงเป็นไปได้ว่าหลังจากที่สมเด็จพระนารายณ์ครองราชย์ พงศาวดารตอนนี้อาจจะถูกดัดแปลงไปโดยผู้มีอิทธิพลในขณะนั้น
อย่างไรเสียในปลายรัชกาลสมเด็จพระเจ้าปราสาททองสัณนิษฐานว่าพระองค์อาจไม่เป็นที่ไว้วางใจนัก จากหลักฐานฮอลันดาโดยการค้นคว้าของ ดร.ธีรวัต ณ ป้อมเพชร กล่าวว่าพระองค์ไปประทับอยู่ที่เมืองพิษณุโลกราวๆ พ.ศ.๒๑๘๗-๒๑๙๕
พระองค์ได้ครองราชย์โดยร่วมมือกับสมเด็จพระนารายณ์ชิงราชสมบัติจากเจ้าฟ้าชัย แต่ต่อมาพระองค์ก็ทรงถูกสมเด็จพระนารายณ์สำเร็จโทษ
พระมารดา-สมเด็จพระพันปีหลวง ตามพระราชพงศาวดาร พระมารดาสิ้นไปตั้งแต่สมเด็จพระเจ้าปราสาททองยังทรงเป็นเจ้าพระยากลาโหมสุริยวงศ์อยู่ แล้วได้จัดงานศพอย่างใหญ่โตจนเป็นเหตุไปสู่การล้มบัลลังก์สมเด็จพระเชษฐาธิราช แต่ฟาน ฟลีตกล่าวว่างานศพนั้นเป็นงานศพของพระอนุชาอีกองค์ และเมื่อฟาน ฟลีตมาประจำเป็นหัวหน้าสถานีการค้าของบริษัทอินเดียตะวันออกของฮอลันดาในกรุงศรีอยุทธยาในช่วง พ.ศ.๒๑๗๖-๒๑๘๔ ฟาน ฟลีตก็ยังกล่าวอยู่หลายครั้งว่าพระมารดายังมีพระชนม์ชีพอยู่ โดยกล่าวถึงพระนางใน พ.ศ.๒๑๗๙ และ ๒๑๘๒ จึงน่าจะสรุปได้ว่าเรื่องนี้พงศาวดารก็คลาดเคลื่อน
ถ้าเรียกขนานนามพระนางตามพงศาวดารก็เรียกว่า 'สมเด็จพระพันปีหลวง' ซึ่งเป็นคำที่นิยมใช้เรียกพระมารดาของพระเจ้าแผ่นดินโดยทั่วไป
พระอัยยิกา ฟาน ฟลีตกล่าวถึงพระนางอยู่สองครั้งครั้งแรกในช่วงก่อนสมเด็จพระเจ้าทรงธรรมสวรรคต อีกครั้งคือในเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ.๑๖๓๙(พ.ศ.๒๑๘๒ นับแบบปัจจุบัน) เรียกพระนางว่า(แปลเป็นภาษาอังกฤษ)ว่า 'grandmother' จึงไม่สามารถชี้ชัดว่าเป็นย่าหรือยาย และที่กล่าวสองครั้งเป็นคนเดียวกันหรือไม่ แต่สัณนิษฐานว่าน่าจะเป็นคนเดียวกัน และน่าจะเป็นย่าเพราะถ้าเป็นดังนี้จะเท่ากับว่าพระนางเป็นมารดาของออกญาศรีธรรมธิราชพระบิดาของสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง และพระมารดาของสมเด็จพระเจ้าทรงธรรม จะทำให้พระนางก็มีฐานะเป็นพระอัยยิกาของสมเด็จพระเจ้าทรงธรรมเหมือนกัน จะทำให้ฐานะของพระนางน่าจะมีอิทธิพลมาก ดูจากที่ฟาน ฟลีตกล่าวว่าพระนางกับพระพันปีหลวง 'เป็นสตรีสองคนที่ทรงอิทธิพลที่สุดในแผ่นดิน'
นอกจากนี้ฟาน ฟลีตยังกล่าวว่าพระนางเป็น 'สตรีที่กล้าหาญและชาญฉลาดที่สุดในอาณาจักร'
เครือญาติอื่นๆ สัณนิษฐานว่าพระองค์ทรงมีเครือญาติอยู่ที่บางปะอินอยู่มาก ดูจากที่พระราชพงศาวดารกล่าวว่าเมื่อตอนพระองค์เสด็จไปบางปะอิน พระองค์ได้'ประพาสราชตระกูลสุริยวงศ์...' และอิงจากตำนานเรื่องบางปะอินว่าเป็นนิวาสสถานเดิมของพระองค์ บวกกับการที่พระองค์ให้ความสำคัญกับบางปะอินด้วยการสร้างวัดและปราสาท รวมถึงทำพิธีโสกันต์เจ้าฟ้าชัยที่บางปะอิน จึงน่าจะเป็นไปไำด้อยู่
เรื่องพระมเหสี สนม เจ้าจอม โอรส-ธิดา จะขอแยกไปไว้บทอื่น
เลื่อนบรรดาศักดิ์ ธรรมดาเมื่อผลัดแผ่นดินใหม่ ก็มักจะมีการเลื่อนบรรดาศักดิ์ให้แก่ขุนนางที่มีความชอบเป็นที่ไว้วางพระราชหฤทัย ในรัชสมัยนี้พบหลักฐานอยู่สองคน
คนแรกคือออกญาพระคลัง(Oija Barckelangh) ซึ่งเป็นขุนนางคู่คิดของพระเจ้าปราสาททองและมีบทบาทอย่างมากในการช่วยให้พระองค์ได้ราชสมบัติ(ตั้งแต่ตอนที่ ๑๗) ได้เลื่อนขึ้นเป็นออกญาสวรรคโลก(Oija Souor Colouck)เจ้าเมืองสวรรคโลกซึ่งเป็นเมืองโท ถือศักดินา ๑๐๐๐๐ ไร่ ภายหลังได้เลื่อนเป็นเจ้าพระยาพิษณุโลก(Thiauphia Pouckelouck) เจ้าเมืองพิษณุโลก หนึ่งในสองหัวเมืองเอกของกรุงศรีอยุทธยา แต่ภายหลังกลับถูกประหารชีวิต
อีกคนเป็นคนที่พระมารดาของสมเด็จพระเจ้าปราสาททองทรงเลี้ยงมาพร้อมๆกับพระองค์ เข้าใจว่าคงโตมาด้วยกันและก็มีส่วนช่วยให้พระองค์ได้ราชสมบัติอยู่มาก จึงได้เลื่อนขึ้นเป็นออกญาจักรี(Oija Sicrij)ว่าที่สมุหนายก
ในพระราชพงศาวดารกล่าวถึงจมื่นสรรเพชญ์ภักดีได้เลื่อนเป็นพระยาราชภักดี(บางฉบับว่าเป็นเจ้าพระยา)เจ้ากรมพระคลังมหาสมบัติ แต่สัณนิษฐานว่าพงศาวดารอาจคลาดเคลื่อน คนผู้นี้จริงๆน่าจะเป็นคนเดียวกับออกญาพระคลังนั่นเอง(อ่านตอนที่ ๑๓)
นอกจากนี้คงมีขุนนางอื่นๆอีกมากที่ได้เลื่อนบรรดาศักดิ์แต่ไม่มีการกล่าวถึง
ต้นรัชสมัย
ภาพเขียนสีน้ำมันกรุงศรีอยุทธยา(IUDEA) วาดโดยดาวิดและโยฮันเนส วิงโบนส์์(David and Johannes Vingboons) ใน พ.ศ.๒๒๐๖
ฟาน ฟลีตซึ่งมีโอกาสเป็นส่วนหนึ่งของยุคสมัยนี้ได้กล่าวถึงสมเด็จพระเจ้าปราสาททองไว้ว่า
"พระเจ้าแผ่นดินองค์ปัจจุบัน ทรงเป็นผู้ทรงไว้ซึ่งทศพิธราชธรรมเมื่อเริ่มปกครอง และทรงมีพระเมตตากรุณาต่อขุนนางและข้าราชบริพาร พระองค์ทรงมีพระวิจารณญาณ หากมีผู้ใดมาร้องทุกข์กับพระองค์ จะทรงไม่ลงโทษหรือตัดสินผู้ถูกกล่าวหาอย่างทันทีทันใด แต่จะตั้งตุลาการผู้เป็นกลางสอบสวนข้อพิพาทเหล่านั้น พร้อมทั้งมีกระแสรับสั่ง ว่าผู้สอบสวนต้องจะต้องไม่เอนเอียงในการสอบสวนไปข้างใดข้างหนึ่ง แต่ให้เป็นไปตามเทพยดา พระเจ้าแผ่นดิน และความยุติธรรม
เป็นที่น่าเสียดาย ว่าความประพฤติผิดในกาม และความหยิ่งยโสของพระองค์ ทำลายพระอุปนิสัยที่ดี และยิ่งพระองค์มีพระราชอำนาจมากเท่าไหร่ พระองค์ยิ่งทรงตัดสินพระทัยเร็วยิ่งขึ้น"
ถึงจุดนี้กรุงศรีอยุทธยาได้เปลี่ยนเข้าสู่ยุคสมัยใหม่ เริ่มต้นยุคสมัยที่เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ของกรุงศรีอยุทธยาที่พระเจ้าแผ่นดิินมาจากขุนนาง และเป็นการเริ่มต้นของราชวงศ์ใหม่ที่เรียกกันในปัจจุบันว่า 'ราชวงศ์ปราสาททอง'
Create Date : 23 พฤศจิกายน 2555 |
Last Update : 23 พฤศจิกายน 2555 21:02:57 น. |
|
5 comments
|
Counter : 6546 Pageviews. |
|
|
|