สมเด็จพระเจ้าปราสาททอง ๑๘ : ขุนนางพิพากษาเจ้า
เจ้าพระยากลาโหมสุริยวงศ์หรือสมเด็จพระเจ้าปราสาททองนำกำลังของเหล่าขุนนางข้าราชการบุกยึดพระราชวังหลวงได้สำเร็จ สมเด็จพระเชษฐาธิราชเสด็จหนีไป เจ้าพระยากลาโหมสุริยวงศ์ก็เปิดคลังหลวงเอาทรัพย์สมบัติมาแจกจ่ายกับคนสนิทของตนกับคนที่มีความชอบในการร่วมก่อการครั้งนี้เป็นบำเหน็จ หลายคนได้เลื่อนฐานะจากไพร่เป็นขุนนาง
ระหว่างนี้ออกญากำแพง(Oija Capheijn)ผู้ร่วมก่อการคนสำคัญได้ทำเรื่องขึ้นมา แต่จะยังไม่ขอกล่าวในตอนนี้ จะขอยกยอดไปรวมไว้กับตอนหลักของออกญากำแพง
เยเรเมียส ฟาน ฟลีตกล่าวว่าสมเด็จพระเชษฐาธิราชเสด็จหนีไปหลบอยู่ที่วัดลุมพลีมะขามหย่อง(์Nomplij Mecamjongh)สัณนิษฐานว่าจริงๆคงเป็นวัดในบริเวณทุ่งลุมพลีหรือทุ่งมะขามหย่องซึ่งอยู่ทางเหนือของกรุงศรีอยุทธยา ทรงของความช่วยเหลือจากเหล่าพระภิกษุสงฆ์แล้วหลบอยู่เป็นเวลาหลายวัน ส่วนพระราชพงศาวดารกล่าวว่าพระองค์เสด็จหนีออกจากวังไปถึงปากโมกน้อย(อ.ป่าโมก จ.อ่างทอง)ในวันรุ่งขึ้น แต่ก็ถูกพระยาเดโช พระยาท้ายน้ำตามมาจับในวันเดียวกันนั่นเอง
ไม่ว่าเรื่องจริงจะเป็นแบบไหนสุดท้ายสมเด็จพระเชษฐาธิราชก็ทรงถูกจับกลับมายังพระราชวังหลวง
คำพิพากษา สมเด็จพระเชษฐาธิราชทรงถูกควบคุมพระองค์ไปที่ที่ประชุมเสนาบดี ซึ่งเหล่าเสนาบดี(ซึ่งฟาน ฟลีตบอกว่าออกญากลาโหมอยู่เบื้องหลัง)ได้ประกาศว่าสมเด็จพระเชษฐาธิราชทรงละทิ้งพระราชวังเป็นการแสดงให้เห็นว่าเป็นการทำให้แผ่นดินอยู่ในอันตรายทำให้พระองค์ทรงหมดซึ่งความชอบธรรมที่จะปกครองแผ่นดินต่อไป สมควรถูกสำเร็จโทษตามโบราณราชเพณี
ส่วนตัวของผู้เขียนไม่เชื่อว่านี่เป็นเหตุผลที่จะยกมาอ้างในการล้มล้างราชบัลลังก์(ฟาน ฟลีตเองก็ไม่ได้อยู่ในเหตุการณ์โดยตรง อาจเข้าใจผิดก็ได้) ในอดีตก็มีตัวอย่างที่สมเด็จพระมหาจักรพรรดิทรงถูกสุลต่านปตานีลอบโจมตีพระราชวัง พระองค์ก็ทิ้งพระราชวังเสด็จหนีไปถึงเกาะมหาพราหมณ์ เหตุผลนี้จึงดูไม่ชอบธรรมพอที่จะล้มสมเด็จพระเชษฐาธิราชเมื่อเทียบกับการประณามว่าพระองค์(ซึงมีหลักฐานปรากฏอยู่ว่า)ไม่สนพระทัยราชกิจ ปัญญาน้อยประพฤติพาลทุจริต น่าจะดูฟังขึ้นมากกว่า
หลังจากที่เหล่าขุนนางพิพากษาพระองค์แล้ว มีแต่ออกญากลาโหมสุริยวงศ์แต่เพียงผู้เดียวแสดงท่าทีคัดค้าน กล่าวว่าสมควรจะไว้ชีวิตพระองค์ แต่สุดท้ายก็ยอมตามเสียงส่วนใหญ่
ฟาน ฟลีตกล่าวว่าเมื่อสมเด็จพระเชษฐาธิราชทรงสดับถึงคำพิพากษาโทษของพระองค์แล้ว พระองค์ไม่ได้แสดงพระอาการเศร้่าโศกเลย พระองค์รับสั่งว่าพระองค์ไม่คาดหวังอะไรอีกแล้วกับเหล่าขุนนางที่ทรยศหักหลังพระองค์ แล้วก็ยังทรงด่าทอออกญาพระคลัง(Oija Barkelangh)ซึ่งทรยศหักหลังพระองค์ สุดท้ายก็ทรงด่าทอและสาปแช่งเจ้าพระยากลาโหมสุริยวงศ์มากมาย รวมถึงทรงด่าด้วยว่าเจ้าพระยากลาโหมสุริยวงศ์เป็นคนวางยาพิษลอบปลงพระชนม์สมเด็จพระเจ้าทรงธรรมอีกด้วยซึ่งไม่มีหลักฐานอย่างใด
สมบัติ จันทรวงศ์สัณนิษฐานว่าอาจมีความเป็นไปได้ที่พระเจ้าปราสาททองจะวางยาลอบปลงพระชนม์จริง เพราะเมื่อก่อนสวรรคตพระเจ้าปราสาททองเป็นผู้เดียวที่ได้เฝ้าใกล้ชิด ส่วนที่สมเด็จพระเชษฐาธิราชทรงเงียบอยู่ก่อนก็อาจเพราะพระองค์ได้รับผลประโยชน์จากการนี้ก็เป็นได้
ความเป็นแม่
ปอนติอุส ปิลาตุส(ปิลาต) ผู้ว่าการแคว้นยูเดียสมัยคริสตกาล ล้างมือเพื่อแสดงให้เห็นว่าตนเองไม่มีส่วนรู้เห็นเต็มใจกับการตรึงกางเขนพระคริสต์ วาดโดย Giotto ราวศตวรรษที่ 14
แต่หลังจากทรงด่าเสด็จ ทรงขอร้องให้เหล่าขุนนางไว้ชีวิตของพระองค์นริศ(Praongh Narit) พระมารดาของพระองค์ และขอให้ได้คุยกันเป็นครั้งสุดท้ายก่อนพระองค์จะถูกสำเร็จโทษ เจ้าพระยากลาโหมจึงไปทูลเชิญพระองค์นริศมายังที่ประชุมเสนาบดี
เจ้าพระยากลาโหมสุริยวงศ์ทูลปฏิเสธความเกี่ยวข้องของตนกับการพิพากษาโทษสมเด็จพระเชษฐาธิราชกับพระนาง ซึ่งฟาน ฟลีตเปรียบว่าเหมือนกับการล้างมือของปิลาต(Pilate) แต่ออกญากลาโหมสุริยวงศ์ก็กล่าวว่าพระนางมีความผิดในฐานะเป็นผู้ยุยงสมเด็จพระเชษฐาธิราชจนเกิดเหตุการณ์ใหญ่ครั้งนี้ และยังกล่าวอีกว่าเป็นความผิดของพระนางที่ให้กำเนิดโอรสที่เลวทราม อย่างไรเสียก็กล่าวว่าโทษของพระนางไม่ถึงที่ตาย
ออกญากลาโหมสุริยวงศ์กล่าวว่าถ้าหากพระนางยอมตัดขาดความสัมพันธ์แม่ลูก ละทิ้งสมเด็จพระเชษฐาธิราช ทิ้งความรักของมารดาไปเสีย พระนางจะได้รับการละเว้นโทษตายและจะได้ทรงอยู่ให้ฐานันดรศักดิ์เดิมต่อไป
แน่นอนคงไม่มีแม่ที่ไหนจะยอมทำตามที่ว่ามาได้(ออกญากลาโหมคงคาดไว้แล้ว) พระนางรับสั่งว่าพระนางไม่มีวันปฏิเสธพระโอรสที่ทรงครรภ์ ทรงให้กำเนิด ทรงฟูมฟักเลี้ยงดูมาได้ พระนางขอจบพระชนม์ชีพของพระนางไปพร้อมๆกับพระโอรส
ภาพจากสมุดภาพไตรภูมิกรุงศรีอยุธยา หมายเลข ๖
ด้วยเหตุนี้ทั้งสองพระองค์จึงถูกนำไปที่วัดพระเมรุโคกพระยา(Wat Pra Minkho Praja) ที่นี่สมเด็จพระเชษฐาธิราชทรงค่ำครวญถึงพระชะตากรรมของพระองค์กับพระมารดา แล้วก็ทรงคร่ำครวญถึงพระศรีสิงห์ พระปิตุลาที่พระองค์มีพระราชโองการให้สำเร็จโทษในที่เดียวกันนี้ ส่วนพระองค์นริศก็คอยปลอบพระทัยพระโอรส
เช่นเดียวกับพระศรีสิงห์ ทั้งสองพระองค์ถูกห่อหุ้มพระวรกายด้วยผ้าแดง ถูกท่อนจันทน์ทุบที่พระอุระ พระวรกายถูกทิ้งลงหลุมให้สูญสลายไป
สมเด็จพระเชษฐาธิราชเสด็จสวรรคตในปีมะเส็ง จุลศักราช ๙๙๑ (พ.ศ.๒๑๗๒) อยู่ในราชสมบัติ ๘ เดือน
และเหมือนกับหลายๆเหตุการณ์ก่อนหน้า ขุนนางที่จงรักภักดีต่อสมเด็จพระเชษฐาธิราชล้วนถูกประหาร คนที่วางตัวเป็นกลางถูกเนรเทศ ที่เหลือก็ถูกถอดจากบรรดาศักดิ์ ถูกริบราชบาตร(จริงๆคงไม่ทุกคน) และเหมือนทุกครั้ง ทรัพย์สมบัติไพร่ทาสถูกแจกจ่ายแบ่งสรรค์ให้กับคนของเจ้าพระยากลาโหมสุริยวงศ์ และฟาน ฟลีตก็เปรียบเหตุการณ์ตอนนี้เหมือนกับที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงวิจารณ์เรื่องการแย่งชิงราชสมบัติในสมัยอยุทธยาว่า
"ฤาถ้ารอดตายก็กลายเป็นไพร่หลวงแลตะพุ่นหญ้าช้าง ถ้าจะนับพวกที่ไม่ตาย ก็ต้องว่าผู้ดีกลายเปนไพร่ๆ กลายเปนผู้ดี..."
วัดโคกพระยา
Create Date : 23 ตุลาคม 2555 |
Last Update : 26 พฤษภาคม 2556 8:56:58 น. |
|
4 comments
|
Counter : 6312 Pageviews. |
|
|
|
...พักรบกับพม่า ก็หันมาช่วงชิงอำนาจกันเองเป็นอย่างนี้ทุกรัชกาลไป ... (อ่านแล้วอินไปกับประวัติศาสตร์เลือด)