สมเด็จพระเจ้าปราสาททอง ๗ : ผิดหนักครั้งสอง-ลอบปลงพระชนม์
โดยธรรมชาติแล้วคนที่ทำความความผิดแล้วโดนลงโทษก็น่าจะจดจำแล้วปรับปรุงตัว แต่ในกรณีของสมเด็จพระเจ้าปราสาททองตอนยังทรงพระเยาว์เหมือนกับที่จะชอบทำความผิดซ้ำมากขึ้น ร้ายแรงกว่าเดิม(ถ้าสิ่งที่เยเรเมียส ฟาน ฟลีต เขียนเป็นเรื่องจริง)
สมเด็จพระเจ้าปราสาททองหรือพระหมื่นศรีสรรักษ์ในขณะนั้นรอดคุกมาได้หลังจากถูกขังมา ๕ เดือน ได้กลับมาเป็นที่โปรดปรานของสมเด็จพระเจ้าทรงธรรมอีกครั้ง แต่ตามหลักฐานของฟาน ฟลีต แทนที่พระองค์จะกลับตัวกลับใจอยู่อย่างสงบ กลับเกิดความแค้นต่อสิ่งที่ตนเองต้องประสบมา และตั้งใจจะแก้แค้นกับพระอนุชาสององค์ของสมเด็จพระเจ้าทรงธรรมคือพระองค์ทอง(Pra Onthongh) กับพระศรีสิงห์(Pra Sijsingh)ซึ่งฟาน ฟลีตกล่าวว่าทั้งสองพระองค์เป็นที่รักใคร่ของสมเด็จพระเจ้าทรงธรรมอย่างมาก
จุดนี้ทำให้น่าคิดว่าการที่จมื่นศรีสรรักษ์จะล้างแค้นพระอนุชาทั้งสอง เป็นเพราะพระอนุชามีส่วนให้จมื่นศรีโดนรับโทษด้วยหรือไม่ หรือมีเหตุปัจจัยอื่น
แผนลอบปลงพระชนม์ พระหมื่นศรีสรรักษ์ได้เชิญสหายของตนมาร่วมวางแผนที่เรือนของตนที่เรียกว่า Watracham(เรือนหลวงที่พระเจ้าทรงธรรมพระราชทานให้-อาจหมายถึงเรือนที่ตั้งอยู่ใกล้วัดระฆังก็เป็นได้) โดยปรากฏชื่อทั้งหมด ๔ คน และฟานฟลีตยังบอกสถานะของคนเหล่านี้ในปีที่ตนเองเขียนเอกสารด้วยคือใน ค.ศ.1640(พ.ศ.๒๑๘๓) มีรายชื่อดังนี้ - ออกหลวงพิบูล(Oloangh Pijbon-อาจเป็นพิบูลไอศวรรย์ จางวางชาวที่ขวา) ภายหลังได้เป็น ออกญานครราชสีมา(Oija Coraissima) ใน พ.ศ.๒๑๘๓ เสียชีวิตแล้ว
- ขุนศรีสรรพข่าน?(Choen Sisab-Chan) ในพ.ศ.๒๑๘๓ เป็น ออกพระจุฬา(Opra Tyila)
- ขุน(หรือคุณ)พระอภัยวงศ์?(Choenpra Eptjongh) ในพ.ศ.๒๑๘๓ เป็น ออกญาพิษณุโลก(Oija Poucelouq)
- ออกหมื่นจง นายจางวาง(Omon Tjongh Naij Tjauwangh) ในพ.ศ.๒๑๘๓ เป็น ออกญาพระคลัง(Oija Barckelangh)
ในรัชสมัยของสมเด็จพระเจ้าปราสาททองทั้ง ๔ ต่างได้เป็นขุนนางระดับสูงทั้งนั้น(แต่จริงระบบข้าราชการในสมัยพระเจ้าปราสาททองไม่ค่อยมีเสถียรภาพนักจะได้กล่าวในโอกาสต่อๆไป) จึงเห็นได้ชัดว่าคนเหล่านี้น่าจะเป็นคนสนิทที่ร่วมก่อการสำคัญต่างๆหลายหน จนสมเด็จพระเจ้าปราสาททองได้ครองราชย์ บุคคลเหล่านี้ก็อาจจะมีส่วนช่วยเหลือด้วย
จมื่นศรีสรรักษ์ได้จัดเลี้ยงสหายทั้ง ๔ คนที่เรือน จากนั้นจึงได้บอกแผนการแก้แค้นของตนกับพระอนุชาทั้งสองซึ่งมีตำหนักอยู่ละแวกเดียวกับเรือนของตน ทั้ง ๔ คนก็เต็มใจร่วมก่อการครั้งนี้ด้วย โดยวางแผนว่าจะลอบเข้าไปในตำหนักในตอนกลางคืนแล้วลอบปลงพระชนม์เสียทั้งสององค์ นอกจากนี้ทั้ง ๕ คนยังได้ทำการดื่มเลือดสาบานกันอีกด้วย
แผนรั่ว ผ่านไปได้แค่ห้าถึงหกวันหลังวางแผน ทาสคนหนึ่งของจมื่นศรีสรรักษ์ได้นำแผนการนี้ไปเปิดเผย ทำให้ความทราบถึงสมเด็จพระเจ้าทรงธรรม จึงมีพระราชโองการเรียกพระหมื่นศรีมาถาม แต่พระหมื่นศรีปฏิเสธทุกข้อหาพร้อมกับกล่าวว่าตนถูกใส่ร้าย แต่สมเด็จพระเจ้าทรงธรรมไม่ทรงเชื่อและกริ้วถึงกับจะทรงชักพระแสงดาบญี่ปุ่นฟันแต่ดันชักไม่ออก จมื่นศรีสรรักษ์จึงพยายามหนีแต่ก็ถูกจับตัวได้ พระเจ้าทรงธรรมจึงทรงลงพระอาญาฟันที่ไหล่และหลัง จากนั้นจมื่นศรีกับผู้สมรู้ร่วมคิดทั้งหมดจึงถูกจับไปขังคุกรวมกับโจร นอกจากนี้ออกญาศรีธรรมาธิราชผู้เป็นบิดาพระหมื่นศรียังโดนจับด้วย ในตอนนี้สัณนิษฐานว่าเป็นการจับขังก่อน แล้วค่อยสอบสวนทีหลัง
เวลาผ่านไป ๑ เดือน ออกญาศรีธรรมาธิราชได้รับการปล่อยตัวเพราะสอบสวนแล้วไม่มีความผิด ส่วนพระเจ้าปราสาททองกับพรรคพวกก็โดนขังอยู่อย่างเดิม สัณนิษฐานว่ายศตำแหน่งก็คงจะถูกถอดถอนหมดสิ้น
ถึงจุดนี้น่าสงสัยว่า หากพิสูจน์ได้ว่ามีมูลความผิดจริง ความผิดข้อหาลอบปลงพระชนม์พระอนุชาน่าจะถึงขั้นประหารชีวิตได้เลย แต่กลับเพียงจำคุกไว้เท่านั้น
มีการสัณนิษฐานว่าพระเจ้าทรงธรรมอาจจะไม่ได้โปรดพระอนุชานักและอาจจะทรงพยายามกัดกันพระอนุชาทั้งสองโดยอาศัยจมื่นศรีสรรักษ์แต่ก็ไม่ได้มีหลักฐานที่แน่ชัดมากพอ ซึ่งเรื่องนี้จะมีการกล่าวถึงต่อๆไปอีก
ถึงเวลาตอนนี้พระหมื่นศรีสรรักษ์กับพรรคพวกก็ถูกขังลืมไปเลยเป็นเวลาหลายปี
Create Date : 18 กันยายน 2555 |
Last Update : 21 ตุลาคม 2555 10:52:15 น. |
|
3 comments
|
Counter : 5660 Pageviews. |
|
|
|
เขียนได้น่าติดตามเหมือนนิยายชั้นเยี่ยมเลยทีเดียว
คนดูอย่างผมนี่แบบว่าอยากรู้ว่าตอนนหน้าจะเป็นยังไงเลย