สมเด็จพระเจ้าปราสาททอง ๒๗ : มเหสี โอรส-ธิดา ความชอบธรรมในราชสมบัติ
พระนางมัทรี น่าจะสะท้อนการแต่งกายของมเหสีสมัยอยุทธยา ภาพจากสมุดภาพไตรภูมกรุงศรีอยุธยา หมายเลข ๖
เมื่อสมเด็จพระเจ้าปราสาททองครองราชย์ใน พ.ศ.๒๑๗๒ เพื่อสร้างความชอบธรรมในการครองราชย์สมบัติ การเกี่ยวดองกับราชวงศ์เก่าจึงเป็นสิ่งจำเป็น
พระมเหสี-สนม สมเด็จพระเจ้าปราสาททองนั้นเป็นเชื้อพระวงศ์ข้างพระมารดาของสมเด็จพระเจ้าทรงธรรม โดยออกญาศรีธรรมาธิราชผู้เป็นพระบิดาเป็นพี่ชายของพระมารดาของพระเจ้าทรงธรรมหรือก็คือลุงของพระเจ้าทรงธรรมนั่นเอง แต่ถึงพระเจ้าปราสาททองจะมีอำนาจและบารมีมากพอจนครองราชสมบัติได้ บารมีที่มีอยู่ก็ไม่น่าเทียบเท่าราชวงศ์เก่าซึ่งเป็นเชื้อสายราชวงศ์พระร่วง ปกครองรัฐสุโขทัยเดิมมา ยิ่งเป็นเชื้อสายของสมเด็จพระนเรศวรและสมเด็จพระเอกาทศรถก็ยิ่งไม่น่ากังขาถึงบารมีที่เชื้อสายนี้สั่งสมกันมา ด้วยเหตุนี้การเกี่ยวดองน่าจะเป็นการเพื่มพูนสิทธิธรรมในราชสมบัติและพระราชอำนาจไปในตัว
ตามหลักฐานของเยเรมียส ฟาน ฟลีต หัวหน้าสถานีการค้าของบริษัทอินเดียตะวันออกของฮอลันดา(VOC)ประจำกรุงศรีอยุทธยาที่อยู่ร่วมสมัยกับสมเด็จพระเจ้าปราสาททองกล่าวว่าสมเด็จพระเจ้าทรงธรรมมีพระธิดา ๘ องค์ซึ่งตรงกับเอกสารคำให้การเชลยสมัยเสียกรุงศรีอยุทธยาครั้งที่สองคือเอกสารคำให้การชาวกรุงเก่าและคำให้การขุนหลวงหาวัด(เป็นเอกสารเดียวกันแต่เขียนต่างภาษา)ซึ่งมีระบุพระนามไว้ด้วย(แต่ไม่น่าเชื่อถือนักเพราะไม่ร่วมสมัย และมีเนื้อหาเหมือนเรื่องเล่ามากกว่า)
- คำให้การชาวกรุงเก่ากล่าวว่ามีพระนามว่า พระปทุมาเทวี พระสุริยา พระจันทาเทวี พระสิริกัลยา พระขัตติยเทวี พระนภาเทวี พระอรบุตรี พระกนิษฐาเทวี
- คำให้การขุนหลวงหาวัดกล่าวว่ามีพระนามว่า พระประทุมมา พระสุริยา พระจันทเทวี พระศิริกัลยา พระอุบลเทวี พระประภาวดี พระไวยบุตรี พระกนิษฐาเทวี
พระราชเทวี ตามหลักฐานของฟาน ฟลีตสมเด็จพระเจ้าปราสาททองในเวลานั้นมีชายาเดิมอยู่แล้ว ๓ องค์ (มีเรื่องกล่าวอยู่ในเอกสารคำให้การขุนหลวงหาวัดว่าพระเจ้าปราสาททองทรงให้สร้างรูปภรรยาเก่าสองคนที่ถึงแก่กรรมไปแล้วไว้ในวัดราชหุลารามซึ่งเป็นวัดที่พระองค์สร้างด้วย) เมื่อพระองค์ครองราชย์ กษัตริย์วัย ๓๐ พรรษาพระองค์นี้จึงอภิเษกสมรสกับพระธิดาพระองค์ใหญ่ของสมเด็จพระเจ้าทรงธรรม และพระนางได้กลายมาเป็นมเหสีลำดับที่ ๔(แต่ในเอกสารเดียวกันภายหลังฟาน ฟลีตกลับบอกว่าเป็นลำดับที่ ๓) และพระนางมีฐานะที่ต่ำที่สุดในบรรดามเหสีทั้ง ๔ องค์
พิจารณาจากหลักฐานทางประวัติศาสตร์เห็นได้ว่าต่อให้เป็นพระธิดาของพระเจ้าทรงธรรม พระนางก็ไม่ได้มียศศักดิ์ที่สูงส่ง ไม่ได้มีฐานะเป็น'พระอัครมเหสี' ในพระราชพงศาวดารก็เรียกว่าพระนางเป็น 'พระราชเทวี' เท่านั้น
พระราชเทวีองค์นี้ในคำให้การชาวกรุงเก่าออกพระนามว่า 'พระสุริยา' ส่วนคำให้การขุนหลวงหาวัดออกพระนามว่า 'พระอุบลเทวี' พระนางมีพระโอรสหนึ่งพระองค์ซึ่งก็คือสมเด็จพระนารายณ์มหาราช พระราชสมภพใน พ.ศ.๒๑๗๕ มีพระธิดาหนึ่งพระองค์คือพระราชกัลยาณีภายหลังทรงกรมขึ้นเป็นเจ้าฟ้ากรมหลวงโยธาทิพ
ตามหลักฐานของฟาน ฟลีต พระนางมีบทบาทอยู่เวลาที่พระเจ้าปราสาททองจะทรงประหัตประหารพระราชวงศ์เก่าพระนางมักจะคอยออกหน้าปกป้อง ส่วนตามหลักฐานของนิโคลาส์ แชรแวส ชาวฝรั่งเศสที่เข้ามาในสมัยสมเด็จพระนารายณ์กล่าวถึงพระนางว่า(ไม่แน่ใจว่าเป็นความคิดของแชรแวสเองหรือไม่) ''เจ้าหญิงพระองค์นี้ทรงมีน้ำพระทัยอันประเสริฐและกอปรด้วยคุณธรรมความดี จึงจำต้องฝืนพระทัยนักหนาต่อการเข้าพิธีอุปภิเษกในครั้งนั้น เพราะพระเจ้าแผ่นดินพระองค์ใหม่ก็ทรงมีพระชายาแล้ว และพระนางเธอได้เห็นมหามงกุฎซึ่งสวมอยู่บนพระเศียรพระสวามีนั้น ถูกถอดมาจากพระเศียรของพระเชษฐาและพระอนุชาที่พระนางทรงรักมากถึงสี่องค์(จริงๆแค่สอง) อันเป็นสิ่งที่พระนางปรารถนาที่จะหลีกเลี่ยงการผสมพันธุ์อันน่ารังเกียจนี้และไม่สมแก่พระศักดิ์แห่งราชตระกูลของพระนางเป็นอย่างยิ่ง แต่ไม่มีทางที่จะคุ้มครองตนเองได้ และการขัดขืนทุกประการรังแต่จะก่อให้เกิดความขุ่นพระทัยขึ้นแก่ผู้กดขี่คุกคามเท่านั้น"
แชรแวสกล่าวว่าพระนางสิ้นพระชนม์ไปตั้งแต่สมเด็จพระนารายณ์ยังทรงพระเยาว์อยู่
พระบรมสาทิสลักษณ์ตามจินตนาการของฝรั่งเศส ซ้าย : สมเด็จพระนารายณ์มหาราช ขวา : เจ้าฟ้ากรมหลวงโยธาเทพ พระธิดาในสมเด็จพระนารายณ์มหาราช
ฟาน ฟลีตกล่าวว่าพระธิดาองค์รองของสมเด็จพระเจ้าทรงธรรม สมเด็จพระเจ้าปราสาททองทรงพระราชทานให้กับพระอนุชาของพระองค์ซึ่งมีพระยศเป็น 'ฝ่ายหน้า(feijna)' หรือ 'พระมหาอุปราช' ซึ่งก็คือสมเด็จพระศรีสุธรรมราชานั่นเอง(อ่านตอนที่ ๒๕)
นอกจากนี้ฟาน ฟลีตยังกล่าวว่าสมเด็จพระเจ้าปราสาททองทรงเอาพระธิดาที่เหลือและพระสนมของสมเด็จพระเจ้าทรงธรรมทั้งหมดมาเป็นของพระองค์เองอีกด้วย ทรงคัดเลือกนางที่ยังสาวยังสวยมารับใช้พระองค์ นางไหนปฏิเสธจะถูกลงอาญาจนตายอย่างเหี้ยมโหด ส่วนนางที่เริ่มโรยราลงไปก็ถูกแยกออกไปอยู่ส่วนหนึ่งของพระราชวังต้องกินอยู่อย่างอดๆอยากๆ
โอรส-ธิดา ในบรรดามเหสีหรือสนมของสมเด็จพระเจ้าปราสาททองก็ได้ให้กำเนิดพระโอรสธิดาด้วยแต่ไม่ทราบจำนวนทั้งหมดแน่ชัด เท่าที่จะทราบคือ มีพระชายาเดิมองค์หนึ่ง(ภายหลังคงเป็นหนึ่งในมเหสี)ให้กำเนิดโอรสตั้งแต่พระเจ้าปราสาททองยังไม่ครองราชย์ มีนามว่า'อิน'ภายหลังโสกันต์แล้วเปลี่ยนพระนามเป็น'เจ้าฟ้าชัย' หรือ 'พระชัยราชาธิราช'
พระราชพงศาวดารที่ชำระในสมัยรัตนโกสินทร์ยังกล่าวว่ามีโอรสอีก ๓ พระองค์ประสูติจากพระสนมใน พ.ศ.๒๑๗๖ คือพระไตรภูวนาทิตยวงศ์ พระอินทราชาและพระองค์ทอง เนื่องจากประสูติในปีเดียวกันจึงสัณนิษฐานว่าคงจะต่างพระมารดาหรือไม่ก็อาจเป็นแฝดก็เป็นได้ แต่ในพงศาวดารฉบับที่เนื้อความค่อนข้างเก่าอาจจะถึงสมัยอยุทธยาออกพระนามพระไตรภูวนาทิตยงศ์ว่า 'เจ้าฟ้าราม' ออกนามพระองค์ทองว่า 'เจ้าฟ้าทอง' จึงอาจมีความเป็นไปได้อยู่ที่ทั้งสองพระองค์อาจจะประสูติจากพระมเหสีอีกสามองค์ก็เป็นได้
นอกจากนี้ยังมีพระโอรสอีก ๒ พระองค์คือเจ้าฟ้าอภัยทศกับเจ้าฟ้าน้อย ยังมีพระชนม์อยู่ในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช เนื่องจากเป็น'เจ้าฟ้า' จึงสัณนิษฐานว่าพระมารดาก็คงจะเป็นหนึ่งในมเหสีเช่นเดียวกัน
รวมพระโอรสมีทั้งหมดที่ปรากฏหลักฐาน ๗ พระองค์ จำนวนตรงตามคำให้การเชลยศึกแต่พระนามไม่เหมือนกัน
ส่วนพระธิดาองค์อื่นนอกจากกรมหลวงโยธาทิพ ปรากฏในหลักฐานของแชรแวสว่าเมื่อสมเด็จพระนารายณ์ขึ้นครองราชย์ทรงอภิเษกสมรสกับพระธิดาอีกองค์ของสมเด็จพระเจ้าปราสาททองแต่ต่างพระมารดาและพระนางก็ได้เป็นพระอัครมเหสีในรัชกาลของพระองค์ มีพระธิดาคือเจ้าฟ้ากรมหลวงโยธาเทพ
พระนางผู้อาภัพ ฟาน ฟลีตได้กล่าวว่าเมื่อสมเด็จพระเจ้าปราสาททองครองราชย์ พระองค์ยังมีความต้องการจะนำพระมารดาของสมเด็จพระอาทิตยวงศ์(ซึ่งถูกพระองค์สำเร็จโทษไปหยกๆ)มาเป็นสนมอีกองค์ด้วย ฟาน ฟลีตกล่าวว่าพระนางเป็นสตรีที่งามที่สุดเท่าที่สยามเคยมีมา พระเจ้าปราสาททองได้ไปอัญเชิญพระนางมาหลายครั้งแต่พระนางปฏิเสธ จนถูกข่มขู่พระนางถึงยอมมาเฝ้าและกราบทูลพระองค์ซึ่งแปลเป็นภาษาไทยประมาณว่า
"พระพุทธเจ้าอยู่หัว เจ้าแผ่นดินของหม่อมฉันหามีไม่แล้ว โอรสของหม่อมฉันก็สิ้นบุญแล้ว หม่อมฉันรู้สึกเหนื่อยล้าต่อชีวิตและความไม่คู่ควรเช่นนี้ แต่ต่อให้หม่อมฉันต้องคงชีวิตนี้ต่อไป หม่อมฉันหามีวันมอบร่างกายอันบริสุทธิ์นี้ต่อผู้กระหายเลือดเยี่ยงพระองค์"
พระเจ้าปราสาททองมีพระราชโองการลากพระนางไปที่ปากแม่น้ำ และถูกตัดพระวรกายออกเป็นสองท่อน พระวรกายส่วนบนถูกเสียบประจานโดยให้ไม้ไผ่ทะลุพระศอ สร้างความเศร้าสลดใจต่อผู้คนที่ได้พบเห็น หลังจากผ่านไปสองวัน บรรดาภิกษุพระสงฆ์ได้ขอร้อง พระเจ้าปราสาททองจึงให้นำพระศพลงมาแล้วจัดการเผาอย่างไม่มีพิธีรีตองอย่างไรทั้งสิ้น
ต่อมานางข้าหลวงสองพี่น้องซึ่งเคยรับใช้พระนางได้ร้องให้คร่ำครวญถึงพระนางและสมเด็จพระอาทิตยวงศ์ ความทราบถึงสมเด็จพระเจ้าปราสาททองก็มีพระราชโองการให้จิกผมนางทั้งสองลากไปที่ปากแม่น้ำ เสียบคอประจาน แล้วผ่าร่างออกเป็นสองซีก(แหวะอก)จนไปถึงปากแล้วเอาของไปถ่างขากรรไกรสองซีกเอาไว้จนทั้งสองนางตายอย่างอนาถ
เมื่อบิดาของนางทั้งสองทราบข่าวจึงไปที่ที่เกิดเหตุแล้วร้องไห้คร่ำครวญ จึงถูกประหารตัดเป็นสองท่อนไปอีกคน แล้วเสียบประจานไว้ที่เดียวกัน
ด้วยเหตุนี้จึงไม่มีใครกล้าแสดงความเศร้าโศกเสียใจอีกต่อไป.... ปิดปากเงียบด้วยกันทั้งสิ้น...
ไม่ว่าเรื่องที่ฟาน ฟลีตกล่าวจะเป็นความจริงหรือเป็นการใส่สีแต่ก็แสดงให้เห็นถึงอำนาจและความเด็ดขาดของสมเด็จพระเจ้าปราสาททองตั้งแต่เริ่มครองราชย์เพื่อไม่ให้มีใครกล้าต่อต้านพระองค์อีกเพื่อให้เกิดความมั่นคงในราชสมบัติ ทั้งนี้คงเป็นเพราะพระองค์ไม่ได้มีความชอบธรรมในราชสมบัติตั้งแต่แรกนั่นเอง
การแต่งกายสตรีสมัยอยุทธยา ภาพจากสมุดภาพไตรภูมิกรุงศรีอยุธยา หมายเลข ๖
Create Date : 01 เมษายน 2556 |
Last Update : 26 พฤษภาคม 2556 9:05:46 น. |
|
15 comments
|
Counter : 14683 Pageviews. |
|
|
|