The AEGIS Party - รวมมิตรเรือเอจิสในคาบสมุทรเกาหลี
สถานการณ์ในคาบสมุทรเกาหลีตอนนี้ค่อนข้างร้อนทีเดียวครับ เนื่องจากเกาหลีเหนือกำลังเตรียมปล่อยจรวดเพื่อส่งดาวเทียมสื่อสารของตน แต่ฝ่ายโลกตะวันตกยืนยันว่าสิ่งที่เกาหลีเหนือกำลังทำคือการพยายามทดลองขีปนาวุธข้ามทวีปพิสัยไกล
ซึ่งไม่ว่ามันจะเป็นอะไร สถานการณ์ตอนนี้มันทำให้ประเทศญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และสหรัฐเพิ่มระดับความพร้อมทางทหารขึ้นอย่างมาก และวางกำลังระบบป้องกันภัยทางอากาศทั้งบนพื้นและในทะเล พร้อมประกาศว่าจะยิงขีปนาวุธของเกาหลีเหนือตก ส่วนเกาหลีเหนือก็ประกาศว่าการยิงจรวดของเกาหลีเหนือนั้นถือเป็นการประกาศสงคราม
แม้ว่าส่วนตัวผมยังคิดว่าการดำเนินงานในครั้งนี้ของเกาหลีเหนือเป็นการออกแอ๊กชั่นเพื่อเรียกของบริจาคเท่านั้น ยังไม่น่าจะเกิดสงครามเกาหลีรอบสอง เพราะตามเงื่อนไขของการยกเลิกโครงการนิวเคลียร์ของเกาหลีเหนือซึ่งเป็นผลมาจากการเจรจา 6 ฝ่ายนั้น สหรัฐยินดีจะให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมกับเกาหลีเหนืออย่างเต็มที่ แต่หลังจากนั้นเกาหลีเหนือก็มักจะออกมาแถลงว่าสหรัฐผิดสัญญาโดยไม่ส่งสิ่งของที่สัญญาไว้ให้ การออกมาแสดงบทบาทเชิงรุกในครั้งนี้น่าจะเป็นการกดดันสหรัฐได้เป็นอย่างดี
อย่างไรก็ตาม กำลังทางทหารของฝ่ายตะวันตกในครั้งนี้มีจุดที่น่าสนใจจุดหนึ่งก็คือ ทั้งสามชาติต่างส่งเรือรบที่ทันสมัยที่สุดของตนเข้าวางกำลังในคาบสมุทรเกาหลี ซึ่งเรือเหล่านี้ต่างใช้ระบบอำนวยการรบ AEGIS เป็นหัวใจหลักทั้งสิ้น ดังนั้น เพื่อเป็นการฉวยโอกาสหาความรู้ในสถานการณ์ร้อน ๆ เรามาดูกันดีกว่าครับว่าในครั้งในใครส่งเรือลำไหนเข้าร่วมบ้างครับ ^ ^
ปล. ข้อมูลรายชื่อเรือ ขอขอบคุณคุณ monsoon ณ thaiarmedforce.com ครับ
AEGIS คืออะไร
ระบบเอจิส เป็นระบบอาวุธรวมทั้งหมดที่ติดตั้งอยู่ในเรือ ซึ่งเชื่อมต่อคอมพิวเตอร์, เรดาร์ และอาวุธปล่อยเข้าด้วยกัน เพื่อใช้ป้องกันครอบคลุมเหนือเรือผิวน้ำ ระบบนี้สามารถตรวจหา, ติดตาม และทำลาย อาวุธที่ยิงมาจากทางอากาศ, ทางทะเล และทางบก ได้โดยอัตโนมัติ เข้าประจำการในกองทัพเรือสหรัฐในช่วงทศวรรต 1980
ระบบเอจิส ถือเป็นระบบการต่อสู้แบบรวมการเบ็ดเสร็จที่ทันสมัยของเรือรบในยุคปัจจุบัน ซึ่งสามารถยิงเป้าขีปนาวุธและอากาศยาน ได้ครั้งละหลายๆเป้าในเวลาเดียวกัน เอจิสจึงเป็นชุดระบบป้องกันภัยทางอากาศบนเรือรบที่ดีที่สุดในโลกระบบหนึ่ง สหรัฐอเมริกาได้ติดตั้งระบบเอจิสบนเรือลาดตระเวนหรือเรือพิฆาตที่มีหน้าที่หลักในการคุ้มกันกองเรือจากภัยทางอากาศเช่นเรือพิฆาตชั้น Arleign Burke และเรือลาดตระเวน Ticoderoga ระบบเอจิสประกอบด้วย เรดาร์ (radar) สมรรถนะสูง, ระบบพิสูจน์ฝ่าย และ ขีปนาวุธพื้นสู่อากาศแบบ SM-2 และ SM-3 รุ่นใหม่ซึ่งเป็นจรวดต่อต้านขีปนาวุธข้ามทวีป
ระบบเอจิสดีกว่าระบบอื่นๆตรงที่เป็นระบบเรดาห์แบบ phase array ซึ่งมีการสแกนเป็นแบบอิเล็กทรอนิกส์โดยใช้แผ่นเรด้าร์วางทำมุมให้ครอบคลุมการตรวจจับทุกทิศทาง ไม่ใช่แบบเชิงกลโดยใช้การหมุนเหมือนเรดาร์ปกติ จึงให้ข้อมูลเป้าหมายในแบบ 3 มิติที่มีประสิทธิภาพสูง คือ ระยะห่าง, ทิศทาง และความสูง ที่ระยะไกลถึง 200 ไมล์ทะเล ตั้งแต่ระดับยอดคลื่นจนถึงเหนือหัว และทำการติดตามเป้ารวมกันได้มากกว่า 100 เป้าหมาย ตั้งแต่อากาศยาน, จรวดนำวิถี/จรวดร่อนโจมตีเรือ ไปจนถึงขีปนาวุธ (ballistic missiles) ภายใต้การรบกวนจากเป้าลวงและการรบกวนทางอิเล็กทรอนิกส์อย่างหนาแน่น
จริงๆแล้วระบบเอจิส (AEGIS weapon system Mk7; Aegis หมายถึงโล่ของเทพเจ้า Zeus) เป็นระบบแบบรวมการ (integrated) โดยระบบจะประกอบไปด้วยเรดาร์ AN/SPY-1, ระบบควบคุมและสั่งการ ระบบอาวุธซึ่ง AEGIS สามารถควบคุมอาวุธปล่อยพื้นสู่พื้นหรือพื้นสู่อากาศได้หลากหลายตั้งแต่ Tomahawk ซึ่งเป็นจรวดพื้นสู่พื้นหรือ SM-2 ซึ่งเป็นจรวดพื้นสู่อากาศต่อสู้อากาศยานเป็นต้น
ปัจจุบันสหรัฐติดตั้งระบบ AEGIS เข้ากับเรือพิฆาตชั้น Arleigh Burke และเรือลาดตระเวนชั้น Ticonderoga รวมแล้วกว่า 84 ลำ นอกจากนั้นยังส่งออกระบบไปยังกองกำลังป้องกันตนเองทางทะเลของญี่ปุ่นเพื่อติดตั้งกับเรือพิฆาตชั้น Kongo และ Atago จำนวน 6 ลำ ส่งออกไปยังเกาหลีใต้เพื่อติดต้งกับเรือพิฆาตชั้น King Sejong The Great และยังพัฒนาระบบ AEGIS แบบย่อส่วนเพื่อติดตั้งกับเรือที่มีขนาดเล็กกว่า โดยติดตั้งกับเรือพริเกตชั้น Fridtjof Nansen ของนอร์เวย์จำนวน 5 ลำ และเรือพริเกตชั้น Alvaro de Bazan จำนวน 6 ลำ และจะติดตั้งกับเรือพริเกตชั้น Hobart ของกองทัพเรือออสเตรเลียที่กำลังจะทำการต่อจำนวน 3 ลำในอนาคต
[ภาพ: ห้อง Combat Information Center (CIC) หรือห้องบัญชาการรบในเรือ USS John S. McCain]
AEGIS ของสหรัฐ
กำลังทางเรือของสหรัฐในสถานการณ์ครั้งนี้ประกอบกำลังจากเรือพิฆาตชั้น Arleigh Burke จำนวน 4 ลำคือ USS John S. McCain (DDG-56), USS Chafee (DDG-90), USS Curtis Wilbur (DDG-54), และ USS Stethem (DDG-63)
ระบบอาวุธส่วนใหญ่ของเรือทั้งสี่ลำจะคล้าย ๆ กัน มีที่แตกต่างกันบ้างในรายละเอียดเล็ก ๆ น้อย ๆ ครับ เรือมีระบบท่อยิงทางดิ่งแบบ Mk.41 Vertical Launching System ซึ่งสามารถยิงจรวดนำวิถีพื้นสู่อากาศต่อสู้อากาศแบบ SM-2, จรวดนำวิถีพื้นสู่อากาศต่อสู้อากาศแบบ ESSM, จรวดร่อน Towmahawk, ระบบอาวุธต่อต้านเรือดำน้ำ VL-ASROC นอกจากนั้นเรือยังติดตั้งปืนเรือขนาด 5 นิ้ว แบบ Mk.45 จำนวน 1 กระบอก ระบบป้องกันตัวระยะประชิด Mk.15 Phalanx ปืนรองและตอร์ปิโดว์ พร้อมเฮลิคอปเตอร์ใช้งานทางทะเล SH-60
เกร็ดที่น่าสนใจคือ USS John S. McCain ตั้งชื่อเรือเพื่อเป็นเกียรติแด่พลเรือเอก John S. McCain, Sr. และ John S. McCain, Jr. ซึ่งเป็นผู้บังคับการเรือบรรทุกเครื่องบิน USS Ranger (CV-4) และเรือดำน้ำในช่วงสงครามโลกครั้งที่สองตามลำดับ ซึ่ง John S. McCain, Jr นั้นเป็นพ่อของ John S. McCain III วุฒิสมาชิกประจำรัฐอาริโซนาของสหรัฐ คู่แข่งของประธานาธิปดี บารัก โอบามานั่นเองครับ
เรือ USS Chafee นั้นประจำอยู่ในกองเรือภาคพื้นแปซิฟิก ณ ฐานทัพเรือใน Pearl Harbor ส่วนเรืออีกสามลำนั้นวางกำลังอยู่ ณ ฐานทัพเรือโยโกสุกะของสหรัฐในญี่ปุ่นครับ
[ภาพ:USS John S. McCain ]
AEGIS ของญี่ปุ่น
ญี่ปุ่นวางกำลังเรือ JDS Myoko (DDG-175) และเรือ JDS Choukai (DDG-176) ซึ่งเป็นเรือในชั้น Kongo เพื่อเตรียมพร้อมในสถานการณ์นี้ครับ
เรือชั้น Kongo ปรับปรุงมาจากเรือชั้น Arleigh Burke ของสหรัฐ โดยญี่ปุ่นได้ทำการปรับปรุงแก้ไขปัญหาหลายจุดของเรือชั้น Arleigh Burke และต่อเรือชั้นนี้ออกมาจำนวน 4 ลำ นอกจากทั้งสองลำนี้แล้ว ยังมีเรือ JDS Kongo (DDG-173) ซึ่งเป็นเรือลำแรกของชั้นและเรือ JDS Kirishima (DDG-174) อีกด้วย และยังทำการปรับปรุงต่อไปเป็นเรือชั้น Atago ซึ่งมีเรือ JDS Atago (DDG-177) และ JDS Ashigara (DDG-178)
ถ้านึกภาพไม่ออก นึกถึงเรือมิไรในการ์ตูนไซปันเอาไว้ครับ
ระบบอาวุธของเรือประกอบไปด้วยจรวดนำวิถีต่อต้านเรือรบแบบ Harpoon ระบบท่อยิงทางดิ่ง Mk.41 VLS จำนวน 90 ท่อยิง ใช้ยิงจรวดนำวิถีพื้นสู่อากาศต่อสู้อากาศแบบ SM-2 และระบบอาวุธต่อต้านเรือดำน้ำ VL-ASROC และยังสามารถติดตั้งวิถีพื้นสู่อากาศต่อสู้อากาศต่อต้านขีปนาวุธข้ามทวีปแบบ SM-3 ได้อีกด้วย นอกจากนั้นเรือยังติดตั้งปืนเรือขนาด 5 นิ้วแบบ Mk.45 จำนวน 1 กระบอก ระบบป้องกันตัวระยะประชิด Mk.15 Phalanx ปืนรองและตอร์ปิโดว์ พร้อมเฮลิคอปเตอร์ใช้งานทางทะเล SH-60K จำนวน 1 ลำ
[ภาพ: JDS Choukai]
AEGIS ของเกาหลีใต้
เกาหลีใต้ปล่อยเรือลำแรกซึ่งใช้ระบบ AEGIS คือเรือ ROKS King Sejong The Great (DDG-991) ลงน้ำเมื่อปี 2550 ที่ผ่านมาครับ และอีกสองลำคือเรือ ROKS Yulgok Yi I (DDG-992) และ ROKS Gwon Yul (DDG-993) กำลังอยู่ในระหว่างการเข้าประจำการและการต่อตามลำดับ
เกาหลีใต้เลือกระบบ AEGIS มาติดตั้งกับเรือในโครงการ KDX-III ที่ตนเองพัฒนาขึ้น ซึ่งนอกจากเรือทั้งสามลำแล้วกองทัพเรือเกาหลีใต้ยังมีอ๊อปชั่นที่อาจจะสั่งต่อเพิ่มอีก 3 ลำ
ระบบอาวุธจะค่อนข้างแตกต่างจากเรือของญี่ปุ่นและสหรัฐอยู่บ้างครับ นั่นคือเรือชั้น King Sejong The Great ติดตั้งจรวดต่อต้านเรือรบแบบ SSM-700K, จรวดร่อนพื้นสู่พื้นแบบ Hyunmoo IIIC และตอร์ปิโดว์แบบ K745 ที่เกาหลีใต้ผลิตเอง นอกจากนั้นยังติดตั้งอาวุธต่อต้านเรือดำน้ำ K-ASROC ที่เกาหลีใต้ซื้อสิทธิบัตรจากสหรัฐมาทำการผลิต ระบบป้องกันตัวระยะประชิดนั้นเกาหลีใต้เลือกใช้ระบบ Goalkeeper CIWS จากเนเธอแลนด์ รวมไปถึงติดตั้งจรวดนำวิถีพื้นสู่อากาศพิสัยใกล้แบบ RIM-116 Rolling Airframe Missile (RAM) ในแท่นยิงที่เป็นอิสระจากระบบท่อยิงทางดิ่งแบบ Mk.41 ซึ่งสามารถยิงจรวดนำวิถีพื้นสู่อากาศต่อสู้อากาศแบบ SM-2 ได้ ทั้งนี้เรือสามารถบรรทุกเฮลิคอปเตอร์แบบ Lynx Mk.99 ที่ผลิตในอังกฤษได้จำนวน 2 ลำ
[ภาพ:ROKS King Sejong the Great ]
อ่านเพิ่มเติม
"รู้จัก..."กองทัพเกาหลีเหนือ": A Guide To North Korea Army"
//www.bloggang.com/mainblog.php?id=skyman&month=15-10-2006&group=3&gblog=8
""Inside North Korea": บรรยากาศน่าสนใจภายในเกาหลีเหนือ ภาค 1"
//www.bloggang.com/mainblog.php?id=skyman&month=06-06-2006&group=4&gblog=23
""Inside North Korea": บรรยากาศน่าสนใจภายในเกาหลีเหนือ ภาค 2"
//www.bloggang.com/mainblog.php?id=skyman&month=07-06-2006&group=4&gblog=20
""Inside North Korea": บรรยากาศน่าสนใจภายในเกาหลีเหนือ ภาคจบ"
//www.bloggang.com/mainblog.php?id=skyman&month=13-06-2006&group=4&gblog=17
Create Date : 01 เมษายน 2552 |
Last Update : 1 เมษายน 2552 0:44:51 น. |
|
11 comments
|
Counter : 6098 Pageviews. |
|
|
|