space
space
space
<<
พฤศจิกายน 2561
 
 123
45678910
11121314151617
18192021222324
252627282930 
space
space
4 พฤศจิกายน 2561
space
space
space

เขียนเรื่องกลุ้มใจ หัวเราะไป (ทำไมฟะ)
นั่นสิกลุ้มใจแล้วทะลึ่งหัวเราะไปทำไม?! ฝรั่งงงนะ เรื่องคนไทยหัวเราะได้กับชีวิตทุกเมื่อเนี่ยะ คือถ้าไหวตัวทัน พอหัวเราะเสร็จแล้วอธิบายต่อว่าทำไมหัวเราะกับเรื่องลบเรื่องร้ายทั้งหลาย ฝรั่งก็อาจจะรับฟังแล้วไม่ปักใจเชื่อว่า คนไทยที่มีพฤติกรรมแบบฉันนี้เป็นคนตลก! funny! ตลกแปลก! ตลกไม่เข้าท่า! ไม่ใช่ฟันนี่ตลกที่คนใฝ่ฝันหาทำให้คนหัวเราะอารมณ์ดีขึ้นมา

เรื่องของเรื่องก็คือฉันเป็นพวกหัวเราะรับเรื่องร้ายหรือเรื่องไม่พึงปรารถนา เป็นนิสัยที่มีมาแต่ไหนแต่ไร ทีนี้เพื่อนฝรั่งคนนี้ชักชวนให้ทำอะไรบางอย่างซึ่งเราไม่อยากทำ เราก็หัวเราะก่อนที่จะบ่ายเบี่ยง ตอนหัวเราะรับเรื่องนี่ฝรั่งอาจจะยังถอดรหัสไม่ออก(ฮา) แต่พอเราบอกเราไม่สะดวกนี่พี่แกถึงบางอ้อ อ้อ! มาไม่ได้! ฝรั่งเพื่อนร่วมงานหญิงคนนี้งงว่าหัวเราะทำไม มองไม่เห็นสักนิดว่ากิจกรรมที่เขาชวนให้มาเข้าร่วมมันตลกตรงไหนกัน เพราะหากเป็นฝรั่งอย่างเขานี่ เขาจะทำหน้าจริงจังแล้วก็บอกเหตุผลเลยว่าไม่สะดวก แล้วอาจจะกล่าวคำขอโทษที่มาร่วมงานไม่ได้ อะไรก็ว่าไป ไม่เห็นมีบริบทช่วงไหนของเรื่องที่จะแทรกบทหัวเราะได้!

นึกถึงสมัยเรียนที่มหาวิทยาลัยเหมือนกัน เรียนวิชาพูดภาษาอังกฤษ ครูผู้ชายรุ่นหนุ่มมาจากอังกฤษ ครูหนุ่มผู้อยู่ในวัยแสวงหาประสบการณ์ชีวิตคนนี้ก็ยังถึงขั้นเคยนำเรื่อง “คนไทยยิ้มในทุกสถานการณ์” ขึ้นมาเป็น topic เพื่อสนทนาแสดงความคิดเห็นกันในชั้นเรียนว่าเป็นเพราะเหตุใด ครูดูท่าจะงงจริงในสมัยนั้น ตีความหมายยิ้มของพี่ไทยไม่ออก แหม้...ก็เล่นยิ้มหมดแทบทุกสถานการณ์ ฝรั่งต่างวัฒนธรรมจะมาถอดรหัสยิ้มก็คงเป็นเรื่องไม่ง่ายนิ น่าเห็นใจเหมือนกัน อาจเป็นเพราะสมัยก่อนคนไม่ท่องเที่ยวต่างทวีปต่างวัฒนธรรมเพื่อเปิดโลกทัศน์ของตัวเองมากเหมือนสมัยนี้ก็ได้ ดังนั้น เรื่องที่จะรู้เห็นเข้าใจจนถึงยอมรับวัฒนธรรมอื่นที่ต่างจากเรามากอย่างวัฒนธรรมตะวันออกกับตะวันตกนี้ก็เลยยังไม่แพร่หลาย แล้วฉันก็เชื่อว่า เออเรื่องนี้มันคงเป็นปริศนาคาใจคนต่างชาติต่างวัฒนธรรมจริงนะเนี่ยะ เพราะจำได้ว่าฉันเอาเรื่องความหมายของ “ยิ้มสยาม” ที่ว่ามา ไปพูดในการสอบ IELTS เพราะมีคนแนะนำว่าถ้าเป็นสอบพูด คุณต้องเตรียมเรื่องไปพูดๆๆ ถ้าหากครูจะถามคำถามเขาก็จะถามเกี่ยวกับเรื่องที่คุณพูดที่คุณเตรียมมานั่นแหละ(เข้าทาง) ถ้าเรื่องมันน่าสนใจก็ไม่มีใครเปลี่ยนเรื่องพูด! หากเรื่องไม่น่าสนใจเขารับไม่ไหว เขาก็ปลี่ยนเรื่องพูด! จำได้ว่าครูที่สอบพูดวันนั้นนั่งฟังด้วยความสนใจ ผลคะแนนสอบออกมาปรากฏว่าได้ 8/10 ก็ได้เฮฮาหน้าบานด้วยอานิสงส์แห่งการเตรียมตัวพูดเรื่องที่คนเขาสนใจอยากจะฟัง

โอ... นี่ยังไม่ได้เข้าเรื่องนะนี่ อารัมภบทนานไปมั๊งแต่ช่างเหอะ (ความคิดฟุ้งซ่านมันพาเราไปไกลเสมอ) ที่จะเล่าจริงๆ มันเป็นเรื่องกลุ้มใจที่เกิดขึ้นไม่กี่วันที่ผ่านมา แล้วหลายวันที่ผ่านมาก็มัวแต่ขัดเคืองใจว่า ทำไมคนในครอบครัวเราถึงเป็นแบบนี้ (ไม่ขอระบุตำแหน่งหรอกฮ่ะว่าเป็นบุพการี พี่ ป้า น้า อา ฯลฯ ขืนระบุเดี๋ยวได้เป็นเรื่องในภายหลังจะซวยย้อนหลังอีกตลบ แค่คิดก็ต้องบรื๋อส์) ทำไมเขามองเห็นแต่ความผิดของคนอื่นหว่า แล้วก็พิจารณาดูจากสิ่งที่เขาพูด สิ่งที่เขาทำ ดูเหมือนเขาจะไม่เคยย้อนมองดูตัวเองเลยกระมัง... ฉันก็ได้แต่อึ้งทึ่งเสียวกับเรื่องที่ถูกด่า รู้สึกว่าโอ้โหเราแย่ขนาดนั้นเลยเรอะนี่ เมื่อก่อนนี้ฉันคงซึมยาวแหละโดนคนใกล้ชิดมองในแง่ร้ายขนาดนี้ แต่พอเวลาผ่านไปนานๆ เข้า เราแก่ขึ้นเรารู้จักมองเหตุการณ์แบบคนนอก ไม่ใช่มองในฐานะที่ตัวเองเป็นผู้ต้องหา(ว่าเลว) หากเราพิจารณาด้วยใจเป็นกลางแล้วไม่เข้าข้างตัวเองแล้ว เราเห็นว่าเราไม่ผิด เราก็อาจจะยังคงรู้สึกกลุ้มอยู่ดีว่าคนอื่น-คนนอกที่เขาไม่รู้ตื้นลึกหนาบาง-เขาจะคิดยังไงกับเรา? (บังเอิญคนในครอบครัวของเราชอบเอาเรื่องกลุ้มของเขาไปเล่าให้เพื่อนฟัง) และตัวเราเองก็รู้สึกอยู่ว่าไม่อยู่ในฐานะที่จะเอาเรื่องในครอบครัวไปเล่าสาธยายให้คนนอกได้รับทราบเพื่อขอความยุติธรรมต่อดิฉันด้วยนะคะ เพราะถ้าทำอย่างนั้นมันก็เข้าข่าย “สาวไส้ให้กากิน” หากจะยอมลงทุนเสียเวลาสาธยายหลายชั่วโมงให้ “เพื่อน” ฟัง อย่างมากคนเขาก็คงจะรู้สึกเห็นใจขึ้นมานิดๆ แต่เมื่อเรื่องกลุ้มเล็กๆ ที่ไม่เคยเล็กจริงในความรู้สึกเกิดขึ้นอยู่เรื่อยๆ เราจะมีเวลาไปสาธยายเรอะ แล้วจะมีใครที่จะมาอยากฟังเรื่องคล้ายเดิมๆ ทุกครั้งมากคราวล่ะท่าน? ท้ายที่สุด ผู้คนเขาก็ไม่ได้มาสนใจเรื่องของใครมากกว่าเรื่องของตัวเอง อย่างที่อาจารย์เชน จตุพล ชมภูนุช ว่าไว้นั่นแหละ เพราะฉะนั้น เรื่องสาวไส้ให้กากิน หรือแม้กระทั่งว่า “ต่อความยาวสาวความยืด” กับโจทก์คือคนในครอบครัวเรานี้ก็หาใช่เรื่องที่ควรจะเสียเวลาหรือลงทุนทำแต่ประการใดไม่ (เพราะมันจะ “ยาว” จริงๆ ขอบอกว่า Go so big – ไปกันใหญ่ แปลอังกฤษแนวฮา No Car Garden ไม่มีรถสวน ฉบับฮ็อต:)

แต่พอมานั่งเขียนเรื่องนี้ในตอนนี้กลับรู้สึกว่า ถึงแม้การมีเรื่องกับคนที่มีบุญคุณกับเรานี่มันเป็นเรื่องยาว เพราะเราไม่อาจเปลี่ยนสถานะหรือหนีสถานะของเราได้เหมือนอย่างกับจะเปลี่ยนงาน เปลี่ยนเพื่อน หรือเปลี่ยนแฟนอะไรพรรค์นั้นได้ แต่จะว่าไปแล้วเราอาจจะโชคดีก็ได้นะที่มีปัญหากับคนที่เราหนีเขาไปไหนไม่ได้แบบนี้ เพราะถ้าเราตั้งใจรับไว้ซะ เปลี่ยนคิดลบเป็นคิดบวก เปลี่ยน “เวรกรรม” เป็น “Welcome” (สองคำนี้ออกเสียงใกล้เคียงกันมากๆ แต่มีนัยยะในการรับเรื่องต่างกันมาก) เรื่องราวต่างๆ ก็ให้มองเสียว่าเขากำลังมาชวนให้เราโกรธอยู่นะ* เราจะโกรธหรือไม่โกรธก็ได้ บางทีเขาชวนเราไม่เอาด้วยก็มีถมไป เรื่องที่เขาพูดเขาทำเพื่อชวนให้เราโกรธก็จะกลายกลับมาเป็นบทฝึกหัดเพื่อฝึกฝนตัวเองให้ไม่หลงโกรธไปตามคำชวนของเขา (ไม่ว่าจะเป็นวิธีการพูดวางอำนาจว่าข้าเหนือกว่าเอ็ง คำด่ากราด คำกระแนะกระแหน หรือคำพูดอะไรเด็ดๆ ที่มาคอยทิ่มต่อมโทสะ สารพัดเรื่องหยุมหยิมที่ฟังแล้วอึ้งกิมกี่) เส้นทางการฝึกก็จะประมาณว่า... แรกๆ ก็ อ้ะ! ดุด่าว่าร้ายเราอีกแล้ว ด่าได้ไม่แฟร์ซะด้วย (ถ้าคิดยังงี้แปลว่าเราเผลอรับคำด่ามาเป็นของเราเต็มๆ) ทำไมไม่มองตัวเองบ้างที่พูดมาน่ะถ้าพูดสอนตัวเองอย่างนั้นบ้างรึเปล่า ถ้าสอนตัวเองได้เหมือนสอนคนอื่นปัญหานี้คงไม่เกิดหรอก (อ้ะ นี่แปลว่าคิดได้ที่ ปรุงแต่งรสเลิศไปถึงขั้นว่าถ้าเป็นงั้นคงไม่ต้องงี้ ฯลฯ คิดไปไกลเกิน ทั้งที่จริงแล้วมันไม่เป็นอย่างที่เราอยากให้เป็นหรอก) แรกๆ ที่ฝึกเราก็คงจะหลงสติแตกโกรธตามคำชวนอีกนั่นแหละ (ก็ของมันแรงส์) แรกๆ เราก็แพ้แก่อารมณ์เป็นธรรมดา เคยแพ้แก่อารมณ์มานานแสนนาน พอเริ่มฝึกหนสองหน สิบหนยี่สิบหน แล้วคาดหวังว่าจะรู้ตัวทั่วพร้อมไม่เผลอโกรธเลยนั้นมันก็เป็นการคาดหวังที่ เอ่อ จะเรียกว่าไงดี...ไม่สมจริง? ไร้เดียงสา-naïve นาอีฝ? เป็นธรรมดาว่าแรกฝึกมันก็จะต้อง “หลุด” คือโกรธตอบเหมือนเป็นอัตโนมัตินั่นแหละ แต่ขอร้อง! กรุณาอย่าโกรธตัวเองซ้ำซ้อนว่าฉันไม่ได้เรื่องจริงๆ อะไรพรรค์นั้นนะ (เพราะมันมีแต่บั่นทอนกำลังใจในการฝึกฝนตัวเอง) ขอเพียงแต่ให้เราตั้งใจใหม่ว่า “คราวหน้า” เราจะดูความรู้สึกตัวเอง รู้ตัวเองว่าโกรธแล้วนะ โกรธแล้วนะ...รู้ ยังโกรธอยู่...รู้ แต่เราจะไม่เถียงตอบไม่ปล่อยให้คำพูดทิ่งแทงเด็ดสะระตี่หลุดจากปากเราไปได้ สรุปว่าเราจะไม่พูดร้ายไม่ทำร้ายตอบ เราจะคอยดูแต่ว่า เรากำลังคิดร้าย(ฮา) เป็นธรรมดานะจ๊ะเรื่องความคิดนี่ห้ามกันไม่ได้ ถ้าใครคิดจะห้ามความคิดนี่ท่านว่าคิดผิด เพราะธรรมชาติของคนเรามันคิด แต่เมื่อไรที่รู้ทันความคิด ความคิดมันจะดับหายไปเอง เพราะฉะนั้นเมื่ออยู่ในอารมณ์โกรธมากบรรยากาศมาคุนี่ ความคิดร้ายๆ มันผุดขึ้นปึ้ดๆๆๆๆ แทบจะกระฉอกออกมารดหน้าคนที่ทำให้โกรธอยู่ต่อหน้า รู้ตัวบ้างรึเปล่า? ใช่...นักปราชญ์ท่านว่าแค่รู้ให้ทันความคิดของเราเองก็พอ แล้วความคิดมันจะหายไปเอง(แว๊บเดียวนะ) ก่อนที่มันจะคิดต่อ...

ดูสิ...เขียนมาซะยาวเหยียด จะว่าไปการเขียนนี่มันช่วยทำให้เราได้จัดความคิดให้เป็นระบบระเบียบมากขึ้นจริงๆ นะ ถ้าเป็นฝรั่งที่นี่ก็คงบอกว่าได้ reflect – ได้คิดพิจารณาใคร่ครวญโดยแยบคายกระมัง อย่างเช่นเรื่องกลุ้มๆ ที่เล่าให้ฟังข้างต้น มันก็ทำให้เราสำเหนียกว่าปัญหา ที่เราเจอก็มีมาให้เราฝึกแก้ไขเพื่อให้เกิดปัญญา และครั้งหน้าเราสามารถทำหรือพูดอะไรอื่นที่แตกต่าง หรือไม่ทำและไม่พูดซึ่งอาจพลิกสถานการณ์เปลี่ยนวิกฤตเป็นโอกาส ก็เป็นข้อคิดสอนใจตัวเอง เพราะฉันเชื่อว่าคนบนโลกนี้น้อยคนที่จะมีใจอ่อนน้อมยอมรับฟังคำสอนจากคนอื่นด้วยใจจริง ส่วนมากเรา(รวมถึงตัวฉันด้วย)จะยึดถือความคิดตัวเองเหนียวแน่นไม่ว่าจะรู้ตัวหรือไม่รู้ตัวก็ตาม เพราะฉะนั้น หากว่าเราสามารถที่จะคิดทบทวนบทเรียนในชีวิตและสอนตัวเองฝึกตัวเองให้พัฒนาก้าวหน้าไปในทางที่ไม่เบียดเบียนคนอื่นและไม่เบียดเบียนตัวเองอยู่เนืองๆ แล้ว ชีวิตเราก็คงจะพบกับความสงบทางใจได้ไม่มากก็ต้องน้อย (ยังไงมันก็ต้องสงบสบายบ้างแหละวะ ฮ่าๆ)

4 พฤศจิกายน 2561
* ดู Youtube พระอาจารย์ชยสาโร หรือ พระอาจารย์ไพศาล วิสาโล



Create Date : 04 พฤศจิกายน 2561
Last Update : 4 พฤศจิกายน 2561 5:05:09 น. 0 comments
Counter : 323 Pageviews.

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 
space

สมาชิกหมายเลข 4886127
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]






space
space
[Add สมาชิกหมายเลข 4886127's blog to your web]
space
space
space
space
space