กรรมเก่า คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ.เป็นเจ้าบทบาทเดิม จากนั้น การศึกษาอาศัยปรโตโฆสะ ซึ่งมีคติว่า "คนเป็นไปตามสภาพแวดล้อมที่ปรุงปั้น" และโยนิโสมนสิการ ซึ่งมีคติย้อนกลับว่า "ถ้าเป็นคนรู้จักคิด แม้แต่ฟังคนบ้าคนเมาพูด ก็อาจสำเร็จเป็นพระอรหันต์"
space
space
space
<<
พฤษภาคม 2565
 
1234567
891011121314
15161718192021
22232425262728
293031 
space
space
29 พฤษภาคม 2565
space
space
space

ความงามกับความจริงและความดี(จบ)


   ข้อที่พึงพิจารณาในประเด็นนี้ก็คือ ตามนัยแห่งพระพุทธศาสนา ดังกล่าวข้างต้น ความงามในทางโลกมีจริงหรือไม่ ? หรือว่า ความงามในทางโลก เป็นจิตวิสัย หรือ วัตถุวิสัย ?

   พระพุทธศาสนาจำแนกรูป หรือวัตถุวิสัยออกเป็น ๕ สถานะ คือ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ (สิ่งที่กระทบได้)  วัตถุในสถานะต่างๆเหล่านี้ ล้วนมีคุณภาพหรือคุณสมบัติ ที่สามารถมีปฏิกิริยาต่อการรับรู้ของมนุษย์ได้ ทำให้มนุษย์เกิดความรู้สึกที่เรียกว่า ชอบ ไม่ชอบ รัก เกลียด เป็นต้น   ดังพุทธพจน์ที่ว่า   "รูปที่พึงรู้แจ้งด้วยจักษุ น่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ น่ารัก เป็นที่อาศัยของความใคร่ เป็นที่ตั้งของความกำหนัดยินดี มีอยู่"   (ในกรณีของเสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ก็นัยเดียวกัน)  (สํ.สฬา.18/67/44)   และมีคำอธิบายในจูฬนิทเทสว่า "ธรรมอันเป็นวัตถุแห่งตัณหา เป็นอารมณ์ของตัณหา ชื่อว่า กาม เพราะว่าเป็นที่ตั้งของความใคร่ เป็นที่ตั้งของความกำหนัด เป็นที่ตั้งของความมัวเมา เหล่านี้ เรียกว่า วัตถุกาม" (ขุ.จู.30/95/27)


   ตามนัยแห่งพระพุทธพจน์ข้างต้นแสดงว่า วัตถุทุกสถานะต่างมีคุณสมบัติ คือ อำนาจที่ก่อให้เกิดความรู้สึกปรารถนา ใคร่ พอใจ รัก ต้องการ ยินดี (อิฏฐะ กันตะ มนาปะ ปิยะ กามะ รชะ) ขึ้นในจิตใจของคนที่ไปเกี่ยวข้องสัมผัสมัน เพราะเป็นวัตถุมีคุณสมบัติดังกล่าวนี้ พระพุทธศาสนาจึงเรียกวัตถุเหล่านี้ว่า "วัตถุกาม" ซึ่งมีความหมายว่า วัตถุที่มีอำนาจให้เกิดความต้องการ ฉะนั้น จึงกล่าวได้ว่า คำว่า "กาม" มีความหมายครอบคลุมคำอื่นๆ คือ อิฏฐะ กันตะ มนาปะ ปิยะ รชะไว้ด้วย พระพุทธศาสนาจึงมักกล่าวถึงถึงสิ่งหล่านี้ด้วยคำว่า "กาม" หรือ "วัตถุกาม" คำเดียว ตามนัยแห่งพระพุทธศาสนาแสดงให้เห็นว่าคุณสมบัติของวัตถุดังกล่าวนี้ เป็นวัตถุวิสัย   ถึงคนจะรู้สึกหรือไม่รู้สึกถึงคุณสมบัติดังกล่าวนี้ คุณสมบัติเหล่านี้ก็มีอยู่ ดังพุทธพจน์ที่ยืนยืนว่า "รูป...ที่น่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ น่ารัก ... มีอยู่"  แต่คนที่จะเกิดความรู้สึกปรารถนาหรือรักวัตถุเหล่านั้นก็คือ คนที่ยินดีสรรเสริญ หมกมุ่นในวัตถุเหล่านั้น หากไม่มีความยินดี ไม่หมกมุ่น ไม่สรรเสริญ ก็ไม่เกิดความปรารถนาความรัก เป็นต้น ในวัตถุเหล่านั้น ความยินดี ความหมกมุ่นเหล่านี้ คือ สิ่งที่พระพุทธศาสนาเรียกรวมๆ ว่า กิเลส และกิเลส พระพุทธศาสนาก็ถือว่า เป็นสิ่งเชิงวัตถุวิสัย คือ เป็นสิ่งที่มีอยู่ในสันดานของมนุษย์ตามธรรมชาติของมนุษย์


   ความงามเกิดขึ้นได้อย่างไร ?   มีพระพุทธพจน์ในสังยุตตนิกายสคาถวรรคว่า  "สิ่งสวยงามทั้งหลายในโลก ไม่ใช่กาม ความดำริด้วยความกำหนัดของคนนั่นแหละ คือ กาม เมื่อกำจัดฉันทะ (ความพอใจ - คือตัณหาฉันทะ) ในสิ่งเหล่านั้นเสียได้ สิ่งสวยงามเหล่านั้นมันก็ตั้งอยู่ของมันอย่างนั้นเองในโลก" (สํ.ส.15/103/31)

   ตามนัยแห่งพระพุทธพจน์ดังกล่าวนี้ แสดงให้เห็นว่า ความงามของวัตถุ ซึ่งมีความหมายรวมทั้งมนุษย์ สัตว์ และสิ่งของทั้งหลายเป็นผลของการประทะสังสรรกันระหว่างคุณสมบัติของวัตถุ กับ กิเลสในจิตหรือในสันดานของคน โดยมีอายตนะ คือ ประสาทสัมผัสทั้ง ๖ เป็นสื่อกลาง หากขาดองค์ประกอบอย่างใดอย่างหนึ่ง  ความงามของวัตถุก็ไม่ปรากฏ  องค์ประกอบที่สำคัญในกระบวนการของการเกิดขึ้นของความงาม ก็คือ กิเลสในจิตของคน  กล่าวคือ  แม้วัตถุที่มีคุณสมบัติมีอยู่ ประสาทสัมผัส เป็นต้น ก็ดี  การรับรู้ก็มีอยู่  แต่ผู้รับรู้คือคน  เป็นคนไม่มีกิเลส  ความงามเกี่ยวกับวัตถุที่ถูกรับรู้นั้น  (เช่น หญิง - ชาย)  ก็ไม่เกิดขึ้นกับคนนั้น  คนดังกล่าวนี้  คือ พระอรหันต์  ฉะนั้น  พระอรหันต์จึงรับรู้วัตถุต่างๆ ด้วยความรู้สึกที่เป็นกลาง คือ ไม่รู้สึกว่าสวย หรือไม่รู้สึกว่าไม่สวย  เป็นเพียงแค่รับรู้สิ่งนั้นเท่านั้น   ดังที่พระพุทธศาสนาใช้คำว่า "เห็นสักแต่ว่าเห็น   ได้ยินสักแต่ว่าได้ยิน  ไม่ยินดียินร้าย หรือไม่รักไม่เกลียด" (สํ.สฬา.18/133/91)


   ฉะนั้น  จึงกล่าวได้ว่า  ความงามไม่ใช่คุณสมบัติของวัตถุ  แต่วัตถุมีคุณสมบัติบางอย่างที่จะทำให้คนมีกิเลสเกิดความรู้สึกว่า งาม (อิฏฐะ กันตะ มนาปะ ปิยะ กามะ รชะ)  ความงามเป็นผลของการปรุงแต่งของจิตที่คิดไปตามอำนาจของกิเลส  มีความพอใจ (ฉันทะ = ตัณหาฉันทะ) เป็นต้น   ฉะนั้น   ความงามของวัตถุ หรือความงามในมิติทางโลก  จึงเป็นจิตวิสัย คือ เป็นสิ่งที่จิตคิดขึ้นเอง   ไม่มีความเป็นจริงในตัวมันเอง   หากความงามของวัตถุเป็นวัตถุวิสัยไซร้ ทุกคนก็จะมองเห็นวัตถุว่างามเหมือนกันหมด ทั้งคนมีกิเลส และคนไม่มีกิเลส


   ตามนัยดังที่กล่าวมาสรุปได้ว่า  พระพุทธศาสนาถือว่า  ความงามของวัตถุ หรือ ความงามในมิติทางโลก เป็นจิตวิสัย และเป็นสิ่งที่เป็นไปตามการกำหนดของคนดังที่พระพุทธศาสนา เรียกว่า โลกบัญญัติ เท่านั้น นอกจากนี้ ยังอาจกล่าวได้ว่า ความมากน้อยของความงามทางโลก หรือ ความงามของวัตถุ ขึ้นอยู่กับความมากน้อย หรือ ความหนาแน่นความเบาบางของกิเลสในจิตใจของคนนั้นๆ ด้วย หากไม่มีกิเลสเลย ก็ไม่มีความรู้สึกเรื่องความงามทางโลก หรือ ความงามทางวัตถุเลย




 
สรุป

   พระพุทธศาสนากล่าวถึงความงามใน ๒ มิติ คือ ความงามในมิติทางธรรม และความงามในมิติทางโลก ความงามในมิติทางธรรม หมายถึง  ความงามที่เป็นลักษณะของธรรม หรือ ความจริงอันเป็นผลจากคุณภาพ  หรือคุณสมบัติของธรรมที่ปรากฏต่อการรับรู้ของมนุษย์ผู้มีญาณ หรือ แสดงออกทางพฤติกรรมของมนุษย์ผู้ทรงศีลทรงธรรมทำให้คนทั่วไปรู้เห็นได้ว่าเป็นผู้มีธรรมหรือเป็นคนที่งาม   โดยไม่จำกัดอายุและเพศวัย   ความงามของธรรมเป็นวัตถุวิสัย เพราะเนื่องมาจากคุณภาพ หรือคุณสมบัติเชิงวัตถุวิสัยของธรรม   ปรากฏการณ์ทางความงามของธรรมจึงเป็นสากล ทุกคนที่รู้หรือสัมผัส   ย่อมรู้ได้หรือสัมผัสได้ตรงกันเหมือนกัน


   ส่วนความงามในมิติทางโลก หรือ ความงามทางวัตถุ พระพุทธศาสนาถือว่า เป็นผลของการมีปฏิสัมพันธ์กันระหว่างคุณภาพ หรือ คุณสมบัติของวัตถุ กับ กิเลส คือ ความยินดีพอใจ เป็นต้น ในจิตใจ หรือ ในสันดานของคน   แต่ละคนจึงมีความรู้สึกเรื่องความงามของวัตถุแตกต่างกันไปตามอิทธิพลของกิเลสของแต่ละคน  สำหรับคนที่ไม่มีกิเลส ก็จะไม่มีความรู้สึกเรื่องความงามทางวัตถุเลย
ฉะนั้น  ความงามในมิติทางโลก หรือ ความงามทางวัตถุ พระพุทธศาสนาถือว่า เป็นจิตวิสัยหรือไม่มีจริง แต่พระพุทธศาสนา ก็กล่าวถึงเรื่องนี้ไปตามภาษาหรือการบัญญัติของโลกเหมือนกัน ทั้งนี้ก็เพื่อผล คือ การสื่อสารหรือสื่อความหมายกับชาวโลกเท่านั้น และเมื่อความงามทางวัตถุไม่มีจริง หรือ กล่าวสั้นๆ ว่าไม่จริง จึงเป็นสิ่งไม่มีคุณค่าหรือไม่มีประโยชน์ต่อชีวิตอย่างแท้จริง ตามความหมายของคำว่า "ประโยชน์" ในทางพระพุทธศาสนา เพราะพระพุทธศาสนาถือว่า สิ่งที่จริงเท่านั้น จึงมีประโยชน์อย่างแท้จริง

 
 



Create Date : 29 พฤษภาคม 2565
Last Update : 30 พฤษภาคม 2565 9:40:59 น. 0 comments
Counter : 602 Pageviews.

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 
space

สมาชิกหมายเลข 6393385
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
ผู้ติดตามบล็อก : 9 คน [?]






space
space
[Add สมาชิกหมายเลข 6393385's blog to your web]
space
space
space
space
space