กรรมเก่า คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ.เป็นเจ้าบทบาทเดิม จากนั้น การศึกษาอาศัยปรโตโฆสะ ซึ่งมีคติว่า "คนเป็นไปตามสภาพแวดล้อมที่ปรุงปั้น" และโยนิโสมนสิการ ซึ่งมีคติย้อนกลับว่า "ถ้าเป็นคนรู้จักคิด แม้แต่ฟังคนบ้าคนเมาพูด ก็อาจสำเร็จเป็นพระอรหันต์"
space
space
space
 
ตุลาคม 2564
 12
3456789
10111213141516
17181920212223
24252627282930
31 
space
space
26 ตุลาคม 2564
space
space
space

เข้าใจ จริยธรรม ให้ชัด

 ดูศัพท์และความหมายให้ชัดก่อนจับเข้าเอว




ความสับสน ต้องสะสาง




170ถ้ายังมองความหมายของจริยธรรม กันไม่ชัด ระบบนิติบัญญัติ บริหาร ตุลาการ จะรวนเร


  งานของผู้พิพากษา ว่าโดยทั่วไป ก็คือตัดสินคดีเกี่ยวกับความประพฤติของมนุษย์ เรื่องที่คนทำและพูด เมื่อเป็นเช่นนี้ การที่จะตัดสินได้ดี มีความมั่นใจที่สุด และทำประโยชน์ให้แก่มนุษยชาติได้สูงสุด ผู้พิพากษาก็น่าจะเป็นผู้ที่เจนจบในเรื่องที่เรียกกันว่า จริยธรรม

  ในตอนก่อน   https://www.bloggang.com/mainblog.php?id=samathijit&month=24-10-2021&group=27&gblog=13  ได้บอกแจ้งขอให้ตระหนักไว้ เพื่อป้องกันความสับสนว่า จริยธรรม  ในที่นี้ มิใช่มีความหมายอย่างคำว่า "จริยธรรม" ที่ใช้และเข้าใจกันทั่วไปในปัจจุบัน และบอกไว้ด้วยว่าจะอธิบายเหตุผลข้างหน้า ตอนนี้ก็ถึงเวลาที่จะทำความเข้าใจในเรื่องนี้

  ตัวจริยะ/จริยธรรมที่แท้  ได้พูดไปข้างต้นในตอนก่อนแล้ว ในตอนนี้ ต้องการแยกจริยะแท้นั้นออกไป จากความหมายอย่างอื่นที่อาจจะทำให้เข้าใจสับสน แต่จะพยายามพูดให้น้อย

  การที่แยกมาทำความเข้าใจต่างหาก ก็เพื่อให้เห็นความแตกต่างเด่นชัด และช่วยป้องกันความสับสนได้ดียิ่งขึ้น

  "จริยธรรม" ที่พูดแล้วก่อนหน้า เป็น "จริยะ" ในระบบของธรรม ในสายความคิดของพระพุทธศาสนา ที่ถือได้ว่าเป็นเจ้าของศัพท์มาแต่เดิม

  ส่วน "จริยธรรม" ที่พูดกันในสังคมไทยปัจจุบัน เป็นคำที่บัญญัติขึ้นใช้ใหม่ไม่นาน ในช่วงครึ่งศตวรรษที่ผ่านมานี้ และถ้าดูจากที่มาที่ไปและความเป็นมาเป็นไปของคำว่า "จริยธรรม" นั้นเอง ก็จะมองเห็นได้ว่าเป็นคำที่คลุมเครือ มีความหมายไม่ชัดเจนตลอดมา

  แม้จนบัดนี้  ในเมืองไทยเรายังพยายามหาทางลงตัวกับการให้ความหมายแก่คำว่า "จริยธรรม" (พยายามจนกระทั่งไปๆมาๆ ความหมายอาจจะแปลกไปจากคำฝรั่งเดิม ซึ่งเป็นต้นศัพท์ที่เราเอามาบัญญัติเป็นจริยธรรมนี้)

  ความรู้เข้าใจและความคิดของสังคมไทยที่คืบคลานมาในการให้ความหมายและการใช้คำศัพท์ที่สำคัญอย่างคำว่า จริยธรรม นี้ เป็นเรื่องที่น่าศึกษา

  ที่ว่า "จริยธรรม" เป็น คำเกิดใหม่เมื่อ ๔๐-๕๐ ปีมานี้ ก็คือ มันเกิดขึ้นมาในฐานะเป็นคำศัพท์บัญญัติเพื่อใช้แสดงความหมายของคำฝรั่งว่า "ethic"  (ถ้าเป็น ethics ก็แปลเป็นศัพท์บัญญัติในวิชาปรัชญาว่า จริยศาสตร์ และในวิชารัฐศาสตร์ว่า จริยธรรม จริยศาสตร์ หรือ บางทีก็ตรงกับคำว่า code of conduct ที่เราแปลว่า จรรยาบรรณ)

  เมื่อเป็นศัพท์บัญญัติสำหรับคำฝรั่ง เราก็ต้องเข้าใจความหมายของคำว่า จริยธรรมนั้น ตามความหมายของคำที่เป็นต้นบัญญัติของมัน คือ ต้องเข้าใจความหมายของคำว่า "จริยธรรม" ตามความหมายของคำฝรั่งว่า "ethic" นั้น ตรงนี้สำคัญ เป็นเรื่องตรงไปตรงมา

   เพราะฉะนั้น ถ้าต้องการทราบว่า จริยธรรม หรือ ethic คืออะไร ก็ไปเปิดดูใน dictionary หรือ ใน encyclopedia ของฝรั่ง

   อย่างไรก็ตาม  พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๔๒ ในฐานะมีหน้าที่บอกความหมายของถ้อยคำ ที่ใช้กันอันเป็นที่ยอมรับในภาษาไทย ได้แสดงความหมายของ "จริยธรรม"  ว่า  "ธรรมที่เป็นข้อประพฤติปฏิบัติ, ศีลธรรม, กฎศีลธรรม"

  ตามความหมายพจนานุกรม บอกไว้นี้ จริยธรรมก็มีความหมายเหมือน กับ "ศีลธรรม" ที่เราใช้กันมาในสังคมไทยนานแล้วก่อนจะมีคำบัญญัติว่า จริยธรรม นี้

  ยิ่งเมื่อไปเทียบกับตำราฝรั่ง ก็ให้ความหมายของศีลธรรม และจริยธรรม moral และ ethic ปนเปกันไปจนแทบจะเป็นอย่างเดียวกัน

 แต่ที่สำคัญก็คือ ที่พูดกันอยู่ทั่วไปนั้น ความหมายของคำเหล่านี้ ตัวผู้พูดเองก็คลุมเครือ บางทีก็พูดไปอย่างนั้นเอง คล้ายเป็นคำ โก้หน่อยๆ ตัวคนพูดก็ไม่ชัด คนฟังก็พร่าๆ

  พอมองเข้าไปในวงวิชาการ ก็เห็นชัดว่าความพร่ามัวคลุมเครือนั้นปรากฏออกมา ในการเถียงกันของนักวิชาการเองที่ยุติไม่ได้ เช่น ว่า จริยธรรม (ethic) กับ ศีลธรรม ต่างกันหรือเหมือนกัน จะเอา อย่างไรกันแน่ และถ้าต่างกันแล้ว ต่างกันอย่างไร

  แง่ที่ทำให้ปัญหาซับซ้อนหนักขึ้นไปอีก ก็คือ เราจะบัญญัติศัพท์ขึ้นมาใหม่สำหรับคำฝรั่งว่า "ethic" แต่เราพยายามไปหาคำเก่าในภาษาบาลีมาใช้ และคำที่สำเร็จขึ้นมาคือ "จริยธรรม" นี้ ก็เป็นคำก้ำกึ่ง

  ที่ว่าก้ำกึ่ง คือ เราไปเอาคำจากภาษาบาลี ๒ คำมาจับต่อกันเพื่อมาใช้ใน ความหมายใหม่ที่เราต้องการ (ให้ตรงกับฝรั่ง) แต่ในคำที่จับเอามารวมกันนั้น ศัพท์ที่เป็นตัวยืน (จริย) มีความหมายทางวิชาการของมันอยู่แล้ว ซึ่งเทียบกับความหมายใหม่ที่ต้องการได้ในบางแง่ แต่ไม่ตรงกันจริง ส่วนอีกคำหนึ่ง (ธรรม) ที่เอามารวมเข้า  ก็เป็นคำกว้างๆที่ไม่ช่วยแยกความหมายออกไป แล้วแทนที่จะบอกให้ชัดไปเลยว่า ที่เราเอามาใช้นี้ เป็นเรื่องต่างหาก และต่างออกไป แต่เรากลับใช้แบบปนเปกัน ก็จึงทำให้เกิดความสับสนมากขึ้น

  ถ้าจับหลักไม่ได้  แล้วไปค้นหาที่ไปที่มาในภาษาบาลี  พอไปเจอคำว่า "จริยธรรม" ในคำว่า "ภิกขาจริยธรรม"  (บาลีเป็น "ภิกฺขาจริยธมฺมํ"   แปลว่า   ธรรมคือภิกขาจริยา หรือ ภิกขาจาร ได้แก่ การเที่ยวไปเพื่ออาหาร คือการเที่ยวขออาหาร - เช่น ธ.อ.๖/๓๒)  ก็คงยิ่งงงกันใหญ่

  หันกลับไปดูความสับสนที่พูดถึงเมื่อกี้ (คำว่า บางท่าน ที่จะพูดต่อไปนี้ รวมทั้งบางสถาบัน หรือบางหน่วยงานที่รับผิดชอบด้วย)

  ในระยะไม่นานมานี้ จนถึงขณะนี้ มีบางท่านในวงวิชาการ บอกว่า "จริยธรรม" กับ "ศีลธรรม" มีความหมายไม่เหมือนกัน

  ทีนี้  ท่านที่ว่า จริยธรรม กับ ศีลธรรม ต่างกันนั้น  ก็ไม่ลงกันอีก บางท่านว่า จริยธรรม มีความหมายกว้างกว่า  ศีลธรรม  หมายถึงกฎเกณฑ์สำหรับประพฤติปฏิบัติทั่วไป  แต่ศีลธรรม หมายถึง หลักสำหรับประพฤติดีประพฤติชอบ หรือความประพฤติปฏิบัติที่ประกอบด้วยคุณความดี

  ส่วนบางท่านก็ว่า ศีลธรรม มีความหมายกว้างกว่าจริยธรรม ดูง่ายๆ ในพจนานุกรม ฉบับราช บัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๔๒  ให้ความหมายของคำว่า "ศีลธรรม" ว่า "ความประพฤติที่ดีที่ชอบ, ศีลและธรรม, ธรรมในระดับศีล"  เมื่อพูดว่า ศีลและธรรม ก็ย่อมคลุมหมด

 ที่ชัดแน่ก็คือ  เมื่อคนไทยยังไม่มี (คำว่า) "จริยธรรม" ดังเช่นเมื่อ พ.ศ.๒๕๐๑ คนไทยทั่วไปไม่รู้จัก (คำว่า) "จริยธรรม" (คำว่า) "จริยธรรม" ยังไม่เข้าไปในโรงเรียน  หลักสูตรของกระทรวงศึกษาธิการมีวิชาศีลธรรม (แม้ถึง พ.ศ.๒๕๑๑ ก็ยังมีวิชาศีลธรรม) และศีลธรรมนั้นก็รวมทั้งคุณธรรมด้วย ต่างจากเวลานี้ ที่จริยธรรมไม่รวมคุณธรรม  ต้องพูดแยกกันว่า "คุณธรรม และจริยธรรม"  ศีลธรรม จึงมีความหมายกว้างกว่าจริยธรรม

  เวลานี้  เมื่อมีคำว่า "จริยธรรม" ขึ้นมาแล้ว ก็ต้องพยายามแยกความหมายออกไปทุกคำว่า "คุณธรรม" "จริยธรรม" และ "ศีลธรรม" ต่างกันอย่างไร  (ดูเหมือนว่าขณะที่เรายังยุ่งอยู่กับการแยกความหมายของถ้อยคำ คนและสังคมก็ทรุดลงไปในทุกธรรม อย่างน้อย ศีลธรรมก็ทำท่าจะหมดไป)

  บางท่านว่า  "จริยธรรม"  หมายถึง  หลักความประพฤติทีพึงปฏิบัติทั่วไป ส่วน "ศีลธรรม" หมายถึงหลักความประพฤติที่เป็นคำสอนของศาสนา หรือจริยธรรมที่มาจากศาสนา

 (แถมยังเอาคำฝรั่ง มาสนับสนุนด้วยว่า จริยธรรม คือ ethic ส่วน ศีลธรรม คือ moral และ ว่า moral เป็นหลักความประพฤติตามคำสอนของศาสนา   แต่ถ้าเราไปดูคำอธิบายของฝรั่งเอง พอพูดถึง ethic ก็อธิบายด้วย moral พอพูด ถึง moral ก็ว่าคือ ethical มิฉะนั้น ก็ต้องออกไปที่คำพื้นๆ ว่า เป็นเรื่องของ right conduct  ไม่ไปไหน)
 


 
กระเดียด

 



Create Date : 26 ตุลาคม 2564
Last Update : 7 พฤศจิกายน 2564 15:29:58 น. 0 comments
Counter : 683 Pageviews.

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 
space

สมาชิกหมายเลข 6393385
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
ผู้ติดตามบล็อก : 9 คน [?]






space
space
[Add สมาชิกหมายเลข 6393385's blog to your web]
space
space
space
space
space