กรรมเก่า คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ.เป็นเจ้าบทบาทเดิม จากนั้น การศึกษาอาศัยปรโตโฆสะ ซึ่งมีคติว่า "คนเป็นไปตามสภาพแวดล้อมที่ปรุงปั้น" และโยนิโสมนสิการ ซึ่งมีคติย้อนกลับว่า "ถ้าเป็นคนรู้จักคิด แม้แต่ฟังคนบ้าคนเมาพูด ก็อาจสำเร็จเป็นพระอรหันต์"
space
space
space
 
พฤษภาคม 2566
 123456
78910111213
14151617181920
21222324252627
28293031 
space
space
25 พฤษภาคม 2566
space
space
space

ภาวิตศีล


๒. ภาวิตศีล:   มีศีลที่ได้พัฒนาแล้ว 
 

     ในด้านความประพฤติทั่วไป ที่เรียกว่า “ศีลมีคำกล่าวแสดงลักษณะของผู้บรรลุนิพพานแล้ว ไม่สู้บ่อยครั้งนัก ทั้งนี้ เพราะตามหลัก  ศีลเป็นสิกขา หรือการศึกษาขั้นต้น  พระอริยบุคคลย่อมเป็นผู้มีศีลสมบูรณ์แล้วตั้งแต่ชั้นโสดาบัน และเจโตวิมุตติ  ปัญญาวิมุตติ   ที่ผู้เข้าถึงนิพพานบรรลุ ก็เป็นภาวะที่ทำให้ความทุศีล หรือความประพฤติเสียหาย ไม่มีเหลือต่อไป
 
    โดยนัยดังกล่าวมา ข้อที่ควรพิจารณา ณ ที่นี้ จึงเหลือจำกัดเพียงข้อที่ว่า พระอรหันต์ดำเนินชีวิตอย่างไร ทำกิจกรรมหรือประกอบกิจการงานอะไร ในรูปลักษณะอย่างไร
 
     ประการแรก พระอรหันต์เป็นผู้ดับกรรม หรือสิ้นกรรม การกระทำของท่านไม่เป็นกรรมอีกต่อไป ในคัมภีร์ฝ่ายอภิธรรม มีคำเรียกการกระทำของท่านว่าเป็น “กิริยา”
 
     ที่ว่า “ดับกรรม” นั้น หมายถึงไม่กระทำการต่างๆ โดยมีอวิชชา  ตัณหา  อุปาทาน   ครอบงำ หรือชักจูงใจ แต่ทำด้วยจิตใจที่เป็นอิสระ มีปัญญารู้แจ้งชัดตามเหตุผล เลิกทำการอย่างปุถุชน เปลี่ยนเป็นทำอย่างอริยชน คือ ไม่ทำการด้วยความยึดมั่นในความดีความชั่วที่เกี่ยวกับตัวฉันของฉัน ผลประโยชน์ของฉัน ที่จะให้ฉันได้เป็นอย่างนั้นอย่างนี้ ไม่มีความปรารถนาเพื่อตัวตนเคลือบแฝงอยู่ ไม่ว่าในรูปที่หยาบหรือละเอียด แม้แต่ความภูมิพองอยู่ภายในว่านั่นเป็นความดีของฉัน หรือว่าฉันได้ทำความดี เป็นต้น ทำไปตามวัตถุประสงค์ของกิจนั้นๆ ตามเหตุผลของเรื่องนั้นๆ ตามที่มันควรจะเป็นของมันล้วนๆ จึงเป็นการกระทำขั้นที่ลอยพ้นเหนือกรรมดีขึ้นไปอีก ส่วนกรรมชั่วเป็นอันไม่ต้องพูดถึง เพราะหมดโลภะ  โทสะ  โมหะ  ที่จะเป็นเหตุปัจจัยให้ทำความชั่วเสียแล้ว
 
     อย่างไรก็ดี บางคราวมีผู้ตั้งข้อสงสัยว่า ตามปกติ คนเราจะทำอะไรได้ จะต้องมีแรงจูงใจในการกระทำ และแกนสำคัญของแรงจูงใจทั้งหลายก็คือ ความปรารถนา ความต้องการ ซึ่งควรจะรวมอยู่ในคำว่า “ตัณหา” เมื่อผู้บรรลุนิพพานละตัณหาเสียแล้ว  ก็หมดแรงจูงใจ  จะทำการต่างๆ ได้อย่างไร คงจะกลายเป็นคนอยู่นิ่งเฉย ไม่ทำอะไรเลย แม้จะไม่ทำความชั่วก็จริง แต่ก็ไม่ทำความดีอะไรด้วย ก็คงไม่มีประโยชน์อะไร
 
     ในที่นี้ คำตอบขั้นต้นอย่างง่ายๆ มีว่า มิใช่แต่ความอยากความปรารถนาเท่านั้นที่เป็นแรงจูงใจ แม้ความคำนึงเหตุผลก็เป็นแรงจูงใจได้เช่นกัน   ดังจะเห็นได้ในปุถุชน   เมื่อจะทำการบางอย่าง   บางคราวมีการต่อสู้กันภายในจิตใจระหว่างพลังสองฝ่าย คือ ระหว่างความปรารถนาผลประโยชน์ส่วนตัว กับความรู้เหตุรู้ผลรู้ดีรู้ชั่ว บางคราวเขาก็ทำตามความอยากได้ บางคราวเขาก็ทำตามเหตุผล
 
     พิจารณาลึกลงไปอีกชั้นหนึ่ง ชีวิตเป็นอยู่ได้ด้วยอาศัยพลังที่ทำให้มันเป็นชีวิต คือ มีความเคลื่อนไหวขยับขยายตัว ถ้าไม่มีองค์ประกอบอย่างอื่นเข้ามาเกี่ยวข้อง ชีวิตจะเคลื่อนไหวไปตามทางที่ความรู้บอกให้ แต่เพราะขาดความรู้ หรือความรู้ไม่เพียงพอ ตัณหาจะได้โอกาสเข้ามาบิดเบือนหรือบงการความเคลื่อนไหวของชีวิตไม่เฉพาะบงการให้ทำเท่านั้น บางครั้งเมื่อความรู้บอกให้แล้วว่า ควรกระทำ แต่ตัณหาในรูปของความเกียจคร้าน  เป็นต้น เข้าครอบงำเสีย กลับเหนี่ยวรั้งไว้ไม่ให้กระทำก็มี ในภาวะเช่นนี้ จึงกล่าวได้ว่า ตัณหาหรือความอยาก ไม่เป็นแต่เพียงแรงจูงใจให้กระทำเท่านั้น แต่เป็นแรงจูงใจไม่ให้กระทำด้วย แต่ถ้าจะพูดให้ถูกทีเดียว การไม่กระทำในกรณีนี้ ก็เป็นการกระทำอย่างหนึ่งเหมือนกัน คือ กระทำการไม่กระทำ เพราะมีกิจกรรมที่เรียกว่าการไม่กระทำนี้เกิดขึ้นในรูปของการหน่วงรั้งไว้ ดังนั้น หน้าที่ของตัณหาในที่นี้ คือ เป็นแรงจูงใจ ทั้งในการกระทำการกระทำ และในการกระทำการไม่กระทำ
 
     เป็นอันว่า เพราะมีตัณหาคอยขัดขวาง บีบ และบงการ จึงทำให้การเคลื่อนไหวโดยพลังของชีวิต ไม่เป็นอิสระตามทางที่ความรู้บอกให้ เมื่อใด พ้นจากอำนาจครอบงำหรือแรงเร้าแฝงกระซิบของตัณหา เมื่อนั้น ก็จะมีการเคลื่อนไหวที่เป็นอิสระตามทางของปัญญา นี่คือภาวะที่ชีวิตเป็นอยู่และดำเนินไปด้วยปัญญา
 
     อย่างไรก็ดี ถ้ามองลึกลงไปอีก โดยแยกแยะวิเคราะห์ให้ละเอียด จะเห็นซ้อนขึ้นมาอีกว่า เมื่อปัญญารู้เข้าใจมองเห็นว่าควรจะทำหรือไม่ควรทำอะไรตามเหตุผลที่ควรจะเป็นนั้น พอปัญญาบอกขึ้นมาอย่างนั้น ก็จะมีแรงขึ้นมาอย่างหนึ่งในจิตใจ ที่ช่วยขับดันพาไปสู่การกระทำหรือไม่กระทำนั้น อันเรียกได้ว่าเป็นความอยากอีกแบบหนึ่ง หรือเรียกได้ว่าเป็นแรงจูงใจซึ่งเกิดจากปัญญา ดังที่จะพูดต่อไป
 
     ควรย้ำไว้อีกว่า เมื่อมีการไม่กระทำสิ่งที่ควรทำ เช่น นักเรียนไม่สนใจบทเรียน หรือคนไม่ช่วยเหลือกัน เป็นต้น ไม่พึงคำนึงถึงแต่เพียงการขาดแรงจูงใจที่จะให้กระทำเท่านั้น แต่ควรพิจารณาถึงแรงจูงใจให้ไม่กระทำด้วย คือพิจารณาถึงตัณหาที่มาในรูปของความเกียจคร้าน ความไม่ชอบใจ ความเพลิดเพลินกับอารมณ์อื่น เป็นต้น ซึ่งมีกำลังมากกว่า ฉุดดึงไว้ การใช้แรงจูงใจแบบตัณหา จึงมักเป็นการเพิ่มหรือเร่งเร้าพลังแข่งขันต้านทานระหว่างแรงจูงใจให้กระทำ กับแรงจูงใจให้ไม่กระทำ ฝ่ายไหนแรงกว่าก็ชนะไป ข้อนี้เป็นลักษณะอย่างหนึ่งที่แตกต่างจากกรณีมีแรงจูงใจซึ่งเกิดจากปัญญา
 
     ตรงนี้ มีเรื่องที่ขอทำความเข้าใจแทรกไว้หน่อยหนึ่ง คือ เมื่อกี้นี้ ได้พูดถึง “แรงจูงใจแบบตัณหา” แล้วก็พูดถึง “แรงจูงใจซึ่งเกิดจากปัญญา” ตามที่พูดนั้น จะเห็นทำนองว่า สองอย่างนั้นเป็นแรงจูงใจที่ตรงข้ามกัน เรื่องนี้ ที่จริง จะอธิบายเป็นหัวข้อใหญ่อย่างหนึ่งข้างหน้า แต่ตรงนี้ มีเรื่องเกี่ยวข้องเข้ามา ก็ควรทำความเข้าใจเป็นพื้นไว้เล็กน้อย
 
     ถ้าพูดอย่างง่ายๆ ในที่นี้ เรามีแรงจูงใจ ๒ อย่าง คือ แรงจูงใจแบบตัณหา ซึ่งเป็นแรงจูงใจที่เกิดจากความรู้สึก ได้แก่ ความอยาก ความปรารถนา ความต้องการ ที่เป็นไปตามความรู้สึก เช่น รู้สึกชอบใจ ก็อยากได้ รู้สึกว่าอร่อย ก็อยากลิ้มรส เป็นความอยากหรือความต้องการโดยไม่ต้องมีความรู้ว่า ถูกต้องไหม มีคุณหรือมีโทษ เป็นประโยชน์หรือไม่ นี้เป็นแรงจูงใจอย่างที่ ๑
 
     ส่วนแรงจูงใจอย่างที่ ๒ ที่ว่าแรงจูงใจซึ่งเกิดจากปัญญา พูดง่ายๆ ก็คือ แรงจูงใจที่เกิดจากความรู้ ได้แก่ ความอยาก ความปรารถนา ความต้องการ ที่เป็นไปตามความรู้เข้าใจเหตุผลและความถูกต้องเป็นจริง เช่น เห็นพื้นถนนขยักเขยิน สกปรก รก มีสิ่งกีดขวางเกะกะหรือจะทำให้ลื่นไถล เรารู้เข้าใจว่า ถนนเป็นทางสัญจรซึ่งที่ถูกต้องดีตรงตามเหตุผลและความจริงนั้น พึงสะอาดเรียบร้อยปลอดภัย   เมื่อเห็นถนนเสียหายอย่างนั้น ก็อยากทำให้สะอาดเรียบโล่งคล่องไร้ของแปลกปลอม ความอยากหรือความต้องการอย่างนี้  เป็นแรงจูงใจอย่างที่ ๒ มีชื่อเรียกให้เป็นคู่ตรงข้ามกับอย่างแรกคือแรงจูงใจแบบตัณหานั้น ว่าเป็น “แรงจูงใจแบบฉันทะ
 
    “ฉันทะ” คือ ความอยาก ความปรารถนา ความต้องการที่ตรงไปตรงมาตามสภาวะ คือ อยากให้สิ่งนั้นๆ ดี งาม สมบูรณ์ ตรงหรือเต็มตามสภาวะที่จะพึงเป็นไปของมัน ซึ่งไม่เกี่ยวกับความชอบใจ หรือไม่ชอบใจ และการที่จะได้จะเอาหรือจะให้สลายไป เพื่อสนองความรู้สึกแห่งตัวตนของเรา แต่ความอยากความปรารถนาความต้องการที่เป็นแรงจูงใจแบบฉันทะนั้น พัฒนาขึ้นไปตามพัฒนาการของปัญญา
 
     ทีนี้ ฉันทะ ที่ปรารถนา ที่ต้องการให้สิ่งทั้งหลาย ดี งาม สมบูรณ์ ตรงหรือเต็มตามสภาวะที่จะพึงเป็นไปของมันนั้น เมื่อมาเกี่ยวข้องกับคน ก็แสดงออกเป็นความอยากความต้องการให้บุคคลนั้นๆ ดีงาม สมบูรณ์ แข็งแรง สดใส น่าชื่นชม มีความสุข ตลอดจนอยากให้เขาดำรงอยู่ในภาวะแห่งความถูกต้อง สมควร เป็นธรรม ไม่มีความบกพร่องผิดพลาด
 
     ยิ่งกว่านั้น เนื่องจากท่านให้ความสำคัญแก่คนเป็นพิเศษ “ฉันทะ” ต่อคน ก็แยกขยายออกไปตามสถานการณ์ เป็น  “เมตตา”  ที่ปรารถนาดีอยากให้เขามีความสุขในยามปกติ เป็น “กรุณา” ที่ว่าในคราวเขาตกต่ำเดือดร้อน ก็อยากช่วยให้เขาพ้นทุกข์ภัยพ้นปัญหา เป็น “มุทิตา” ที่ปรารถนาดีอยากส่งเสริมให้เขามีความดีงามมีความสุขความสำเร็จยิ่งขึ้นไป และเป็น “อุเบกขา” ที่ปรารถนาให้เขาดำรงอยู่ในความถูกต้อง ในธรรม ในความไม่ผิดพลาดเสียหาย
 
     โดยเฉพาะ สำหรับท่านผู้ถึงนิพพานนั้น มีลักษณะเด่นเห็นชัดในแง่ที่ว่า เป็นผู้ปลอดโปร่งไร้ทุกข์ มีความสุข หลุดพ้นเป็นอิสระอย่างสมบูรณ์แล้ว การเคลื่อนไหวที่เป็นอิสระตามทางของปัญญา หรือภาวะที่มีแรงจูงใจอันเกิดจากปัญญานั้น จึงขับดันให้แรงแห่งฉันทะในข้อกรุณาแสดงออกมาเต็มที่ ดังที่พระพุทธเจ้าและพระอรหันต์ทั้งหลายมีกรุณาเป็นพระคุณข้อสำคัญ
 
     อธิบายได้ง่ายๆ ว่า เทียบจากคนที่มีมนุษยธรรมทั่วๆ ไป กรุณานี้เกิดขึ้นมาได้เอง เมื่อเราประสบพบเห็นคนอื่นที่กำลังมีปัญหา ถูกความทุกข์บีบคั้น ขาดอิสรภาพอยู่ ถ้าในขณะนั้นตัวเราเองปลอดภัยเป็นอิสระ อยู่ในภาวะที่มองสิ่งทั้งหลายตามที่มันเป็น และมีจิตใจเป็นอิสระอยู่ คือ ไม่ถูกอวิชชา  ตัณหา  อุปาทาน   เข้าครอบงำชักจูง เช่น มิใช่กำลังคำนึงถึงผลได้เพื่อตัว ไม่มีความห่วงกังวลเกี่ยวกับตัวตน ไม่มีตัวตนที่กำลังถูกกระทบกระแทกบีบคั้นอยู่ ไม่เกิดความชอบใจจากการได้เห็นคนอื่นประสบทุกข์อันเป็นการสนองความอยากแฝงเร้นภายในของอัตตาที่จะได้ขยายตัวใหญ่โตขึ้นไปบ้าง
 
     พูดง่ายๆ ว่า ถ้าตัวเองไม่มีปัญหาบีบคั้นทำให้ติดข้องคับแคบ ถ้าเรายังเป็นอิสระอยู่ ในขณะนั้นจิตใจของเราจะเปิดกว้างออก แผ่ไปรับรู้ทุกข์สุขและปัญหาของผู้อื่นที่กำลังประสบอยู่นั้นได้เต็มที่ เราจะเกิดความเข้าใจ รู้สึกเห็นอกเห็นใจ เกิดความคิดที่จะช่วยเหลือปลดเปลื้องเขาจากปัญหา ทำให้เขาหลุดพ้นเป็นอิสระด้วย
 
     เมื่อเกิดความคิดช่วยเหลือขึ้นมาแล้วเช่นนี้ ถ้าไม่เกิดตัณหาแทรกเข้ามาอีก ในรูปของความห่วงใยความสุขของตน กลัวสูญเสียประโยชน์ส่วนตัว และความเกียจคร้าน เป็นต้น พลังเคลื่อนไหวของชีวิตก็จะดำเนินไปอย่างอิสระ สุดแต่ปัญญาจะคิดรู้และบอกทางให้ คือทำให้มีการช่วยเหลือเกื้อกูลเกิดขึ้น
 
    ฉันทะคือแรงจูงใจใฝ่ปรารถนาของบุคคลผู้มีจิตใจปลอดโปร่ง เป็นอิสระ ที่มีปัญญาเปิดกว้างออกไป พร้อมที่จะรับรู้เรื่องราวของชีวิตอื่นๆ โดยเคลื่อนไหวตามรู้ตามเห็นปัญหาข้อติดขัดบีบคั้น คือความทุกข์ของเขา แล้วขยายความคิดเผื่อแผ่เกื้อกูลต้องการให้เขาหลุดพ้นเป็นอิสระจากปัญหาหรือความทุกข์นั้น พร้อมที่จะทำการเพื่อแก้ไขข้อคับข้องติดขัดให้เขา
 
     ความปรารถนาที่แผ่ออกไปหาทางช่วยเหลือเกื้อหนุนปลดเปลื้องทุกข์ให้ ซึ่งเรียกว่ากรุณาอย่างนี้ เป็นพลังขับเคลื่อนสำคัญแห่งชีวิตของท่านผู้ถึงนิพพานแล้ว  ซึ่งไม่มีตัวตนใดๆ ของตัวเองเหลือไว้ในความยึดถือที่จะต้องสนองอีกต่อไป
 

     เท่าที่กล่าวมา เป็นอันสรุปได้ว่า กรุณา เป็นผลสืบเนื่องจากปัญญา และความมีจิตใจเป็นอิสระ ปัญญาในที่นี้  มีคำเรียกจำเพาะว่าวิชชา  และความมีจิตใจเป็นอิสระก็มีคำเรียกจำเพาะว่า วิมุตติ จัดลำดับเข้าชุดเป็นวิชชา (ความรู้เท่าทันสภาวะ ซึ่งทำให้อัตตาไม่มีที่ตั้งอาศัย) วิมุตติ (ความหลุดพ้นปลอดโปร่งโล่งเป็นอิสระ) และ กรุณา (ความรู้สึกแผ่ออกของจิตใจที่ไวต่อและไหวตามทุกข์ของสัตว์ ต้องการช่วยปลดเปลื้องให้ผู้อื่นหลุดพ้นเป็นอิสระ)
 
     สามอย่างที่กล่าวนั้น   เป็นคู่ปรับตรงข้ามกับอวิชชา  (ความไม่รู้เท่าทันตามสภาวะ ที่ทำให้เกิดมีอัตตาขึ้นมาเป็นที่ข้องขัด)  ตัณหา  (ความอยากที่จะให้อัตตาเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับสิ่งหรือภาวะอย่างใดอย่างหนึ่ง โดยอาการที่จะสนองความขาดพร่องของอัตตา หรือหล่อเลี้ยงเสริมขยายอัตตานั้น) และอุปาทาน  (ความยึดติดเกาะเกี่ยวเหนียวแน่นกับสิ่งหรือภาวะอย่างใดอย่างหนึ่งในเมื่อเห็นไปว่าสิ่งหรือภาวะนั้นมีความหมายสำคัญต่อการสนองอัตตา หรือความยิ่งใหญ่เข้มแข็งมั่นคงของอัตตา)
 
     ผู้บรรลุนิพพาน ละอวิชชา ตัณหา อุปาทานแล้ว จึงมีปัญญาเป็นเครื่องนำทางบอกทาง และมีกรุณาเป็นแรงจูงใจในการกระทำกิจสืบต่อไป
 
     โดยนัยนี้ จะเห็นได้ว่า ถ้าจะต้องใช้ตัณหาเป็นแรงจูงใจในการกระทำทุกอย่างแล้ว การทำความดีต่อกัน หรือการช่วยเหลือกัน จะเป็นการช่วยเหลือที่แท้จริง หรือเป็นการช่วยเหลือที่บริสุทธิ์ไม่ได้เลย และในทำนองเดียวกัน ตราบใดที่ยังมีตัณหา หรือใช้ตัณหาเป็นแรงจูงใจในการช่วยเหลือเกื้อกูลผู้อื่น การช่วยเหลือนั้นย่อมมิใช่เป็นกรุณาที่แท้จริง
 
     ความจริง ตัณหา (คลุมถึงอวิชชาและอุปาทานด้วย) ไม่เพียงเป็นแรงจูงใจที่มีอันตรายเท่านั้น แต่ยังทำให้มองข้าม หรือมองไม่เห็นประโยชน์ตน ประโยชน์ท่านอีกด้วย หรือแม้เห็น ก็เห็นผิดพลาดบิดเบือนไปเสีย ไม่รู้จักว่าอะไรเป็นประโยชน์ อะไรไม่เป็นประโยชน์อย่างแท้จริง สิ่งที่เป็นประโยชน์ กลับเห็นไปว่าไม่เป็นประโยชน์ สิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์ กลับเห็นไปว่าเป็นประโยชน์ โดยปรากฏออกมาในรูปของราคะ  โทสะ  โมหะ   ที่ครอบงำใจเสียบ้าง ในรูปของนิวรณ์ ที่กำบังขวางกั้นการทำงานของจิตใจเสียบ้าง ต่อเมื่อปราศจากกิเลสเหล่านั้นแล้ว จิตใจจึงจะราบเรียบผ่องใส มองเห็นและรู้จักตัวประโยชน์ที่แท้จริง
 
     เหตุผลขั้นสุดท้าย ที่ทำให้ผู้ถึงนิพพานแล้ว ไม่ต้องคำนึงประโยชน์ของตนเอง หรือห่วงใยเรื่องของตน เอง สามารถทำประโยชน์เพื่อผู้อื่น หรือบำเพ็ญกิจแห่งกรุณาได้เต็มที่ ก็เพราะเป็นผู้ทำประโยชน์ตนเสร็จสิ้นแล้ว
 
     พระอรหันต์มีคุณบท (คำแสดงคุณลักษณะ) ว่า อนุปปัตตสทัตถะ แปลว่า ผู้บรรลุประโยชน์ตนแล้ว และ กตกรณียะ แปลว่า ผู้มีกิจที่จะต้องทำ อันได้กระทำแล้ว คือทำเรื่องของตัวเองเสร็จแล้ว เมื่อทำอัตตัตถะ (ประโยชน์ของตน, เรื่องของตน) เสร็จแล้ว เป็นผู้มีอัตตหิตสมบัติ (พรั่งพร้อมสมบูรณ์ด้วยประโยชน์ของตน) มีตนคือคุณสมบัติข้างในตัวที่พร้อมดีแล้ว ก็ไม่ต้องห่วงใยเรื่องของตัว สามารถทำ ปรัตถะ (ประโยชน์ของผู้อื่น, เรื่องของคนอื่น) ได้เต็มที่ จึงดำเนินชีวิตที่เหลืออยู่ด้วยปรหิตปฏิบัติ  (การปฏิบัติเพื่อประโยชน์แก่ผู้อื่น)  สืบไป
 
     เมื่อมีความพร้อมเป็นฐานอยู่อย่างนี้แล้ว   พระอรหันต์จึงสามารถมีคุณลักษณะเป็นสรรพมิตร (เป็นมิตรกับทุกคน)  สรรพสขะ (เป็นเพื่อนกับทุกคน) และสัพพภูตานุกัมปกะ  (หวังดีต่อสรรพสัตว์) ได้อย่างแท้จริง


 
       อนึ่ง   พึงทำความเข้าใจว่า คำว่า อัตถะ  อรรถ  หรือประโยชน์  ในที่นี้  มิได้หมายถึงผลประโยชน์อย่างที่มักเข้าใจกัน   แต่หมายถึงประโยชน์ที่เป็นแก่นสารของชีวิต  หรือเรื่องที่เป็นสาระของชีวิต เป็นประโยชน์ของชีวิตเอง  (ไม่ใช่ประโยชน์ที่ตัวคนหรือตัวตนต้องการ แต่ที่แท้บ่อยครั้งเป็นโทษแก่ชีวิต เช่น คนบอกว่าตนได้กินอร่อย แต่ชีวิตแทบย่อยยับดับไป) โดยเฉพาะคุณสมบัติต่างๆ ซึ่งทำให้ชีวิตเจริญงอกงาม  ทำให้เป็นคนที่เติบโตแล้วในความหมายที่แท้จริง เป็นผู้มีความพร้อมที่จะแก้ไขปัญหา เป็นคนพึ่งตัวได้ โดยสาระมุ่งเอาความเติบโตทางปัญญา พร้อมด้วยคุณธรรมอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง และความเป็นอิสระหลุดพ้นจากอำนาจครอบงำของ อวิชชา  ตัณหา  อุปาทาน  ที่กล่าวมาแล้วนั่นเอง
 
     ถึงตอนนี้  อาจพิจารณาภาวะด้านการดำเนินชีวิตของผู้บรรลุนิพพานแล้วโดยแยกเป็น ๒ อย่าง คือ การทำกิจหรือการงานอย่างหนึ่ง และกิจกรรมเนื่องด้วยชีวิตส่วนตัวอย่างหนึ่ง
 
     ในด้านการงาน   หรือการทำกิจนั้น  พระอรหันต์ซึ่งเป็นผู้หลุดแล้วจากบ่วง  ไม่มีอะไรจะหน่วงรั้งให้พะวง ย่อมอยู่ในฐานะเป็นสาวกชั้นนำ ซึ่งจะทำหน้าที่ของพุทธสาวกได้ดีที่สุด บริบูรณ์ที่สุด
 
     ลักษณะการทำกิจการงานของพุทธสาวกนั้น   ก็มีบ่งชัดอยู่แล้วในคำสอนที่พระพุทธเจ้าตรัสย้ำ   เริ่มต้นแต่ทรงส่งสาวกออกประกาศพระศาสนาในพรรษาแรกแห่งพุทธกิจ คือ ทำเพื่อประโยชน์สุขของพหูชน  (พหุชนหิตายะ   พหุชนสุขายะ)   เพื่อเกื้อการุณย์แก่ชาวโลก (โลกานุกัมปายะ)  เพื่อประโยชน์เกื้อกูลและความสุข แก่เทวะ และมนุษย์ทั้งหลาย  (อัตถายะ หิตายะ สุขายะ เทวมนุสสานัง)   ความข้อนี้ถือเป็นวัตถุประสงค์สำคัญของพรหมณจรรย์ คือพระศาสนานี้  เป็นหลักวัดความประพฤติปฏิบัติของภิกษุสาวก และเป็นคุณประโยชน์ที่พึงเกิดมีจากบุคคลที่ถือว่าเลิศหรือประเสริฐตามคำสอนของพระพุทธศาสนา ดังนั้น จึงเป็นข้อคำนึงประจำในการบำเพ็ญกิจและทำการงานของพุทธสาวก
 
     เนื่องด้วยประโยชน์หรืออรรถ  มีความหมายดังได้กล่าวแล้วข้างต้น  ดังนั้น  กิจหรืองานหลักของผู้บรรลุนิพพานแล้ว   จึงได้แก่การแนะนำสั่งสอน   การให้ความรู้  การส่งเสริมสติปัญญาและคุณธรรมต่างๆ ตลอดจนการดำเนินชีวิตและประพฤติตัวเป็นแบบอย่าง  ในทางที่มีความสุข มีคุณธรรม และเป็นชีวิตที่ดีงาม  ซึ่งคนภายหลังจะถือเป็นทิฏฐานุคติ  คือเดินตามแบบอย่างที่ได้เห็น โดยเฉพาะการแนะนำสั่งสอนให้ความรู้ความเข้าใจแก่ผู้อื่นนั้น  แทบจะเรียกได้ว่าเป็นหน้าที่หรือสิ่งที่พึงต้องทำสำหรับผู้บรรลุนิพพานแล้ว
 
     ในด้านการดำเนินชีวิตส่วนตัว   ก็มีหลักคล้ายกับการทำกิจการงาน   คือมุ่งประโยชน์แก่พหูชน แม้ว่าพระอรหันต์จะได้ชื่อว่าเป็นผู้ทำกิจเสร็จแล้ว ข้อปฏิบัติต่างๆ ที่เคยต้องปฏิบัติเพื่อบรรลุนิพพาน เมื่อท่านบรรลุนิพพานแล้ว จะเลิกเสีย ไม่ปฏิบัติต่อไปก็ย่อมได้ แต่ก็ปรากฏว่า เมื่อเป็นการสมเหตุผล ท่านก็ปฏิบัติต่อไปอย่างเดิม ทั้งนี้ ในด้านส่วนตัว เพื่อความอยู่สบายในปัจจุบัน ที่เรียกว่าทิฏฐธรรมสุขวิหาร และในด้านที่เกี่ยวกับผู้อื่น  เพื่ออนุเคราะห์ชุมชนที่จะเกิดตามมาภายหลัง (ปัจฉิมาชนตานุกัมปา)  เพื่อเป็นแบบอย่างอันดีที่ชนภายหลังจะได้
 
     ถือปฏิบัติตาม (ทิฏฐานุคติ) เช่น ในกรณีที่พระพุทธเจ้าทรงเสพเสนาสนะในราวป่า และพระมหากัสสปเถระถือธุดงค์ เป็นต้น
 
     แม้แต่บุคคลที่เป็นผู้ใหญ่ในหมู่ ซึ่งอาจจะยังมิได้บรรลุนิพพาน ก็ยังมีคำย้ำอยู่เสมอ ให้คำนึงถึงการประพฤติตัวเป็นแบบอย่างสำหรับชุมชนรุ่นหลัง  ดังนั้น  สำหรับพระอรหันต์ ซึ่งเป็นบุคคลตัวอย่างสูงสุดอยู่แล้ว  ความคำนึงหรือความรับผิดชอบในเรื่องนี้  จึงควรจะต้องมีเป็นพิเศษ และพึงสังเกตว่า สิกขาบท  คือ กฎข้อบังคับทางวินัยบางข้อ  ซึ่งมิใช่เป็นเรื่องของความผิดชั่วร้าย  แต่บัญญัติขึ้นเพราะถือเป็นการกระทำที่ไม่เหมาะสมโดยคำนึงถึงชุมชนรุ่นหลังก็มี

 


Create Date : 25 พฤษภาคม 2566
Last Update : 10 กันยายน 2566 8:07:03 น. 0 comments
Counter : 204 Pageviews.
(โหวต blog นี้) 

ผู้โหวตบล็อกนี้...
คุณnewyorknurse


ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 
space

BlogGang Popular Award#19


 
สมาชิกหมายเลข 6393385
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
ผู้ติดตามบล็อก : 9 คน [?]






space
space
[Add สมาชิกหมายเลข 6393385's blog to your web]
space
space
space
space
space