|
|
(คู่ที่ ๔) คราวนี้เรื่องสุข เรื่องทุกข์ ที่เกิดขึ้นในจิตใจของเรา บางครั้งเป็นสุข บางครั้งเป็นทุกข์ เวลาเป็นสุขก็เพลิดเพลิน มัวเมา หลงใหล อยู่ในความสุขนั้น พอเกิดเป็นทุกข์ ใจก็หดหู่เหี่ยวแห้ง มันคล้ายกับว่าพอสุข เหมือนปรอทสูงขึ้น พอทุกข์ลงพรวดลงไปเลย อย่างนี้มันแย่ อย่างนี้ มันไม่ไหว มันไม่ปกติ เขาเรียกว่าคนไม่ปกติ ขึ้นๆลงๆ ผีเข้าผีออก เราจึงควรทำใจอย่างนี้
เวลาใดมีความสุขเกิดขึ้น เราก็ควรพิจารณาว่า ความสุขเกิดขึ้นแก่เรา แต่ความสุขนี้ ไม่เที่ยง มันอาจจะเปลี่ยนแปลงเป็นความทุกข์ไปเมื่อไรก็ได้ เราอย่าไปหลงใหลมัวเมาในความสุขนี้ แต่เราใช้ปัญญาเพ่งพินิจทันทีว่า นี่คืออะไร มันเกิดในใจเราได้อย่างไร มีอะไรเป็นเหตุให้เกิดขึ้น ต้องพิจารณาศึกษาค้นคว้า เพื่อให้พบเหตุของเจ้าความทุกข์ตัวนั้น แล้วเราก็แก้ไขต่อไป ไม่ให้ความทุกข์นั้นมันตีเรา ซ้ำเติมเรา ทำให้เราต้องเจ็บแสบ เพราะฉะนั้น เราเอาปัญญาเข้ามาแก้ อย่างนี้ เราจึงจะอยู่รอดปลอดภัย แต่ถ้าเราไม่ใช้ปัญญา สุขก็เสีย ทุกข์ก็เสีย เพราะฉะนั้น จึงต้องระมัดระวัง
คนเราอยู่ในโลกนี้ มันต้องพบกับสิ่งเหล่านี้ เหมือนกับเราเดินทาง ร้อนบ้าง เย็นบ้าง ขึ้นเขาบ้าง ลงห้วยบ้าง ลำบากบ้าง สบายบ้าง เป็นธรรมดาในชีวิตของเราแต่ละคน ก็ต้องประสบพบเห็นกับสิ่งนี้อยู่ตลอดเวลา หนีไม่พ้น เพราะฉะนั้น เมื่อเราจะได้พบกับสิ่งเหล่านี้ ต้องพบอย่างบัณฑิต อย่าพบอย่างคนพาล
พบอย่างบัณฑิต นั้นหมายความว่า พบมันแล้วใช้ปัญญาวิเคราะห์วิจัยสิ่งนั้น ให้เห็นว่า มันไมมีอะไร มันเป็นแต่เพียงธรรมชาติเกิดขึ้น ตั้งอยู่ชั่วขณะหนึ่ง แล้วมันก็ดับไปเท่านั้น เมื่อมันดับ แล้วอย่าไปคุ้ยเขี่ยมันขึ้นมาอีก ที่เราได้ยินว่า คนเราพูดว่า ฟื้นฝอยหาตะเข็บอีก ไปฟื้นหาตะเข็บให้มันกัดมือเล่น เขาเรียกว่าคนหาเรื่อง อยู่ดีๆ หาเรื่องมากลุ้มใจเล่น หาเรื่องมาให้นอนไม่หลับเล่นๆ นี่มันเรื่องอะไร นอนให้มันหลับไปดีกว่า ไปหาเรื่องให้กลุ้มอกกลุ้มใจให้มีความทุกข์ ให้มีความเดือดร้อน ซึ่งมันไม่มีสาระอะไร ไม่มีประโยชน์อะไรแก่ชีวิตของเรา
คนเราที่มันเป็นโรคประสาท เพราะเรื่องอย่างนี้ เรื่องไม่ได้ใช้ปัญญาพิจารณาสิ่งที่เกิดขึ้นในชีวิต แล้วก็ไปติดอยู่ในสิ่งนั้น ติดสุขก็มี ติดทุกข์ก็มี ไม่ได้ทั้งนั้น ติดสุขก็ไม่ได้ ติดทุกข์ก็ไม่ได้ ผิดหลักพระพุทธศาสนา ไอ้ที่มันอยู่ตรงไหน ตรงที่เรารู้ว่าอะไรมันเป็นอะไร รู้ว่าอะไรเป็นอะไรถูกต้องแล้ว เราไม่ติดมัน เราก็สบาย เช่น ความสุขเกิดขึ้น เราไม่ติดในความสุข แต่เรารู้ว่าสิ่งนี้เกิดขึ้นแล้ว สิ่งนั้นไม่เที่ยง สิ่งนี้ต้องดับไป
ความทุกข์เกิดขึ้น เรารู้ว่าไอ้นี่เกิดขึ้นแล้ว สิ่งนี้ไม่เที่ยง มันก็จะต้องแตกดับไป มองพิจารณาไปในรูปอย่างนั้น จิตใจเราก็ไม่วุ่นวาย ไม่เร่าร้อน เพราะสิ่งที่มากระทบกระเทือนจิตใจ อันนี้ เป็นความสุขใจอย่างหนึ่ง เรียกว่า เป็นความสุขที่เกิดจากความสงบ.
สุขในโลกธรรม ไม่ใช่สุขจากความสงบ : เป็นสุขที่เกิดจากสิ่งยั่วยุ รูปยั่วตา เสียงก็ยั่วหู กลิ่นยั่วจมูก รสยั่วลิ้น สิ่งถูกต้องมายั่วกายประสาท ใจก็ไปเพลินอยู่ในสิ่งเหล่านั้น นั่นมันเป็นความสุขประเภทอามิส มีเครื่องล่อเครื่องจูงใจ ไม่ใช่ความสุขที่ต้องการ
ความสุขที่ต้องการนั้นต้องอยู่ในสภาพใจสงบ ที่พระพุทธเจ้าตรัสว่า นัตถิ สันติปะรัง สุขัง - สุขอื่นยิ่งกว่าความสงบไม่มี ปฏิเสธเลยว่า สุขอื่นยิ่งกว่าความสงบไม่มี ความสงบนั้นคือความสุข
ความสงบก็คือความที่ใจไม่ถูกรบกวนด้วยอารมณ์ภายนอก เวลานั้นเราสงบ จิตที่สงบนั่นแหละ คือ ความสุขที่ถาวร เกิดขึ้นในใจเรา แต่ถ้าสุขเพราะเครื่องล่อเครื่องจูงใจ ก็ขึ้นๆลงๆ ตามดีกรีของสิ่งที่มากระทบ เรากินอาหารรสอร่อย กลืนเข้าไป ชอบใจ พอไม่อร่อยก็ไม่ได้ความ มันก็เสียอกเสียใจ อย่างนี้ เรียกว่า โลกธรรมมันเล่นงานแล้ว มันเล่นงานเอางอมแงมไปเลย เจ็บแสบไปเลย
เพราะฉะนั้น เราจะต้องรู้ว่า มีลาภ ไม่มีลาภ มียศ ไม่มียศ สรรเสริญ สุข ทุกข์นี่ เป็นแต่เพียงโลกธรรม ที่เกิดขึ้นมากระทบเรา แล้วให้มันแตกดับไปที่นั่น เราจะไม่ไปยึดมั่นถือมั่นในสิ่งเหล่านั้น ก็สบายใจ นี่วิธีการต่อสู้กับโลกธรรม ๘ ประการ เพราะมันมากระทบอยู่บ่อยๆ ทุกๆวัน อยู่ๆ คนนั้นว่าอย่างนั้น คนนั้นว่าคุณอย่างนั้น เราก็ "อ้อ อย่างนั้นหรือ" แล้วมันก็หมดเรื่องไป อย่าไปเที่ยวต่อ ช่างเถอะ พูดอะไรก็ ช่างเถอะ ดี ไอ้ช่างเถอะนี่ดี ช่างหัวมัน ก็ได้ ช่างหัวมันแล้วก็สบาย นี่ดีเหมือนกัน ช่างหัวมันนี่ดีเหมือนกัน ช่างหัวมันก็ได้.
มีเจ้านายพระองค์หนึ่งชื่อพระองค์เจ้าปฤษฎางค์ พระองค์เจ้าปฤษฎางค์เคยบวชเป็นพระ ท่านไม่ได้บวชที่เมืองไทย ท่านเป็นนักเรียนเมืองนอกนะ เป็นวิศวะสำเร็จจากอ๊อกซ์ฟอร์ด แล้วก็ไม่รู้อย่างไรท่านก็ไม่บวชเสีย ไปบวชอยู่ประเทศลังกา ไปบวชอยู่หลายปี ชาวบ้านเขาเรียกว่า PRINCE PRIEST พระเจ้าชาย เจ้าชายพระ เขานับถือกันมาก แล้วก็สร้างเจดีย์ไว้องค์หนึ่ง ไม่เหมือนใคร รูปร่างไม่เหมือนใคร ท่านทำของท่านดี ไปเที่ยวอินเดียท่านไปดูปูชนียสถานอะไรๆ ท่านมีสตางค์ไปเที่ยว และก็ท่านเป็นคนมีเกียรติ ไปไหนก็มีเจ้าหน้าที่ทางการอังกฤษเขาต้อนรับขับสู้ พาไปเที่ยวชมสะดวกสบาย เพราะเป็นเจ้าฟ้าชาย ตระกูลชุมสาย. ทีนี้ ต่อมาท่านลาสิกขา แล้วก็มาอยู่ที่วังที่กรุงเทพฯ ที่ประตูวังท่านทำตราชังไว้อันหนึ่ง แล้วเอาหัวมันมาใส่ไว้ "ช่างหัวมัน" เอาหัวมันใส่ไว้ ๒ หัว แล้วถ้ามันเปื่อยมันเน่านะก็เปลี่ยนใหม่ไม่ให้มันเน่า ให้คนใช้ซื้อมาใส่เปลี่ยนใหม่อีก ใส่ ๒ หัว บางทีท่านก็มาแอบที่ประตู นั่งแอบดูว่าคนเดินมาจะพูดว่าอย่างไร. บางคนก็พูดว่า หื้อ เจ้าวังนี้ถ้าจะไม่เต็มเต็ง ชั่งหัวมัน ท่านก็ยิ้มๆ ไม่ว่าอะไรดอก ชั่งหัวมัน ไอ้นี่มันดี ชั่งหัวมัน ใครๆมาพูดอะไรๆ ก็ "ชั่งหัวมัน" เพื่อนว่าไอ้นี่หน้าตัวเมีย เราก็ว่า "ช่างหัวมัน" ช่างหัวมันก็ดีเหมือนกัน เป็นภาษาที่ใช้ได้ ไอ้ช่างหัวมัน นี่ทำให้ไม่ยุ่ง ทีนี้ ถ้าไม่ช่างหัวมันแล้วมันยุ่งละ. นี่เรื่องโลกธรรม เอาเพียงเท่านี้.
Create Date : 23 ธันวาคม 2564 |
Last Update : 23 ธันวาคม 2564 10:07:51 น. |
|
0 comments
|
Counter : 348 Pageviews. |
 |
|
|
|
|
 |
|
|
|