กรรมเก่า คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ.เป็นเจ้าบทบาทเดิม จากนั้น การศึกษาอาศัยปรโตโฆสะ ซึ่งมีคติว่า "คนเป็นไปตามสภาพแวดล้อมที่ปรุงปั้น" และโยนิโสมนสิการ ซึ่งมีคติย้อนกลับว่า "ถ้าเป็นคนรู้จักคิด แม้แต่ฟังคนบ้าคนเมาพูด ก็อาจสำเร็จเป็นพระอรหันต์"
space
space
space
<<
เมษายน 2565
 12
3456789
10111213141516
17181920212223
24252627282930
space
space
20 เมษายน 2565
space
space
space

ที่ว่าจิตเป็นดวงๆ หน้าตาเป็นอย่างไร


ถาม  ๑. ที่ว่าจิตเป็นดวงนั้น หน้าตาเป็นอย่างไร ๒. เจริญสติควบคู่ไปกับการทำงานได้หรือไม่

มีปัญหาขอรบกวนเรียนถามอาจารย์ เป็นข้อๆ ดังนี้

  ๑.ขอความกรุณาช่วยอธิบายคำว่า จิตเป็นดวงๆ เป็นอย่างไร

  ๒.สันตติ การสืบต่อ หมายความอย่างไร

  ๓.ผู้ที่ปฏิบัติธรรมเพื่อมุ่งความหลุดพ้น จะต้องเจริญวิปัสสนาภาวนา จำเป็นหรือไม่ที่จะต้องเจริญสมถภาวนาควบคู่ไปด้วย เคยได้ยินอาจารย์บางท่านบรรยายธรรมบอกว่า ถ้าจะให้ถึงมรรคผลนิพพานเร็วจะต้องเจริญภาวนาทั้ง ๒ อย่าง อยากทราบว่าจริงหรือไม่ และจะต้องแบ่งเวลาอย่างไร จะไม่สับสนหรือที่เจริญวิปัสสนาอยู่จะต้องเปลี่ยนอารมณ์มาเจริญสมถะ  แต่ก็ได้ยินอาจารย์อีกท่านหนึ่งบอกว่า เจริญวิปัสสนาแล้วไม่จำเป็นต้องเจริญสมถะ เพราะในการเจริญวิปัสสนาก็มีอารมณ์สมถะควบคู่อยู่แล้ว จึงอยากทราบว่า อย่างไหนจึงจะถูก

  ๔. ผู้ที่เจริญวิปัสสนาทุกวันแต่ไม่ได้ญาณอะไรเลยจะถึงมรรคผลนิพพานได้หรือไม่ และที่เจริญสมถะจนได้ฌานแล้วจึงมาต่อวิปัสสนาจะถึงมรรคผลนิพพานเร็วใช่ไหม

  ๕.พระอรหันต์ท่านยังมีความกังวลในงานที่ยังทำไม่เสร็จหรือไม่

  ๖.เวลาทำงานอยู่ถ้าเจริญสติไปด้วย จะเป็นการยากไหม

  ๗.เวลาเดินไปตามถนน จะต้องกำหนดอย่างไรจึงจะเป็นปัจจุบันอารมณ์และจะต้องกำหนดว่าอย่างไร เวลาจะพูดต้องกำหนดไหม และกำหนดว่าอย่างไร  ถ้าเดินตามถนนแล้วต้องกำหนดว่า ขวาย่างหนอ ซ้ายย่างหนอ รถจะไม่ชนตายหรือ

  ๘.ผู้ที่ยังต้องไหว้เจ้าหรือไหว้พระภูมิ จะเป็นการเสียพระรัตนตรัยหรือไม่

  ๙.ผู้ที่ปฏิบัติธรรมเพื่อมุ่งหวังความสิ้นภพสิ้นชาติจะต้องเคลื่อนไหวอิริยาบถหรือจะทำอะไรก็ทำอย่างช้าๆ หรือ แล้วจะไม่เสียงานหรือในเมื่อเรายังต้องทำงานเลี้ยงชีพ และจะไม่ผิดปกติธรรมดาแก่ผู้พบเห็นหรือ (เพราะเห็นเราทำอะไรฝืนๆอิริยาบถ คงจะคิดว่าเราเสียสติ)

  ๑๐.เวลาฟังธรรมหรืออ่านหนังสือจะต้องเจริญสติว่าอย่างไร

  ๑๑. ไม่มีเวลาปฏิบัติสมาธิภาวนา อาศัยว่าเห็นอะไรก็นำมาพิจารณาเป็นพระไตรลักษณ์ และว่าไม่มีอะไรเที่ยงแท้แน่นอน มีเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป และเราก็ระลึกรู้ว่ากำลังทำอะไรอยู่ทุกขณะๆ อย่างนี้ จะเรียกว่าเราอยู่กับอารมณ์วิปัสสนาไหม

  ๑๒.ที่ว่าด้วยความต้องการเป็นทุกข์ อยากทราบว่าเป็นทุกข์อย่างไร

  ๑๓.ผู้ที่บรรลุเป็นพระอรหันต์แล้ว ท่านยังต้องเจริญสติในชีวิตประจำวันจนกว่าจะดับขันธ์อีกหรือไม่

  ๑๔.ผู้ที่ไม่ได้ออกบวชแต่ปฏิบัติขัดเกลากิเลสอยู่กับบ้านจะบรรลุมรรคผลนิพพานได้หรือไม่ จำเป็นหรือไม่ที่ต้องบวช

  ๑๕.คุณธรรมของพระอรหันต์มีอะไรบ้าง

  ๑๖.การให้ทานจะต้องคิดว่าให้เพื่ออะไรจึงจะได้อานิสงส์แรง

  ๑๗.เวลาให้ทานไม่ได้กรวดน้ำด้วยน้ำจริงๆ แต่กรวดน้ำในใจโดยเอ่ยชื่อ-สกุล อย่างนี้จะถึงผู้รับไหม และถ้าเราอุทิศบุญให้กับผู้ที่ยังมีชีวิตอยู่เขาจะได้รับไหม

“ผู้อยากหลุดพ้น”


ตอบ. ผู้อยากหลุดพ้น

   ๑.จิตเป็นดวงนั้นเป็นเพียงสมมติเรียก   เพราะไม่ทราบว่าจะเรียกเป็นอย่างไรดี  ทำนองเดียวกับที่เราเรียกโต๊ะเป็นตัว  เรียกช้างเป็นเชือก  เป็นต้น  เช่น  โลภจิตดวงหนึ่ง โทสจิตดวงหนึ่ง โมหจิตดวงหนึ่ง เป็นต้น  จะเรียกเป็นอย่างอื่นไม่เรียกเป็นดวงก็ได้  แต่เป็นคำสมมติเรียกจนเป็นที่รู้จักกันเสียแล้ว โดยเฉพาะในวงการอภิธรรม  จะเรียกตามลักษณะก็ไม่ได้ เพราะจิตไม่ได้เป็นดวง แต่เป็นกระแส ความรู้สึกเกิดดับติดต่อกันเป็นกระแส เหมือนกระแสไฟฟ้าหรือเปลวเทียนเปลวตะเกียงที่ยังมีเชื้ออยู่  และเกิดดับรวดเร็วมาก  กล่าวกันว่า กระแสไฟฟ้าเกิดดับวินาทีละ ๕๐-๖๐ ครั้ง แต่จิตเกิดดับเร็วกว่านั้นมาก   แต่อาศัยสันตติ คือ ความสืบต่อหรือความต่อเนื่อง จึงไม่ขาดสายลงได้  เหมือนเครื่องฉายภาพยนตร์ ที่ฉายภาพติดต่อกัน ให้เลื่อนไปวินาทีละประมาณ ๑๖ ภาพ เราก็เห็นเป็นเรื่องเป็นราว ที่จริงในฟิล์มเป็นภาพนิ่งทั้งนั้น

  เป็นอันตอบข้อ ๒ ไปด้วยในตัวแล้ว

  ๓. การเจริญสมถะควบคู่ไปกับวิปัสสนาก็ได้ คือ บางเวลาเจริญสมถะ บางเวลาเจริญวิปัสสนาแม้ในวันเดียวกัน  แต่อย่าเปลี่ยนอารมณ์บ่อยนัก  ส่วนที่อาจารย์อีกท่านหนึ่งบอกว่าเจริญวิปัสสนาอย่างเดียวก็พอเพราะมีสมถะควบคู่อยู่ด้วยแล้วนั้นก็ถูกเหมือนกัน คือ ขณะทำวิปัสสนานั้น จิตย่อมสงบไปด้วยเห็นแจ้งไปด้วย คือ ทั้งสงบและสว่างไปพร้อมๆกัน  แต่สว่างมากกว่าสงบ ท่านเรียกสมาธิซึ่งแฝงอยู่ในวิปัสสนานี้ว่า วิปัสสนาสมาธิ  ถ้าเจริญสมถะอย่างเดียวย่อมได้ความสงบมาก แล้วอาศัยความสงบนั้นเป็นพื้นฐานยกจิตขึ้นสู่วิปัสสนาย่อมละกิเลสได้เช่นกัน  ในการตัดกิเลสต้องใช้วิปัสสนาหรือปัญญา ในการควบคุมกิเลสต้องใช้สมถะหรือสมาธิ “ศีล สมาธิ ปัญญา” ต้องไปด้วยกันอย่างนี้ จึงจะชำระตนให้บริสุทธิ์หลุดพ้นได้

   ๔. คำว่า ญาณ ที่ผู้ถามถึงนั้น หมายถึงญาณอะไร ญาณ ในวิปัสสนาหรือวิปัสสนาญาณ ๙ ใช่หรือไม่ ถ้าใช่ ผู้จะบรรลุมรรคผลนิพพาน จะต้องผ่านญาณเหล่านี้ บางคนญาณเกิดขึ้นเร็ว ติดต่อกัน บางคนก็เกิดขึ้นช้า ค่อยๆก้าวไปทีละญาณ  แต่ถ้าหมายถึงญาณซึ่งเป็นกลุ่มของอภิญญา เช่น บุพเพนิวาสานุสติญาณ เจโตปริยญาณ เป็นต้นแล้ว ต้องเดินตามสายสมถะหรือสมาธิจนได้ฌาน ๔ (ฌาน มิใช่ญาณ) แล้วจึงเลี้ยวเข้าทำญาณต่างๆ อันเป็นอภิญญาต่อไปจนถึงอาสวักขยญาณ ญาณอันทำให้สิ้นกิเลสเป็นญาณสุดท้ายของอภิญญา ๖ ทางสายนี้ทำได้ยากสำหรับคนทั่วไป ทางสายวิปัสสนาทำได้ง่ายกว่า เร็วกว่า และเหมาะกว่าสำหรับฆราวาสผู้ยังอยู่ในสังคม

   ๕.จริงๆแล้วผมไม่รู้คำตอบข้อนี้ ไม่แน่ใจว่าท่านมีหรือไม่ แต่ความกังวลอันมีกิเลสเป็นมูลฐานนั้น ท่านพระอรหันต์ไม่มีแน่ คำว่า ไม่มีกังวล (อกิญจโน) เป็นคุณสมบัติอย่างหนึ่งของพระอรหันต์ แต่น่าจะหมายถึงความกังวลเพราะกิเลสอันทำให้วิตกกังวล และฟุ้งซ่านไปอย่างปุถุชนหรือพระอริยบุคคลระดับต้น เช่น พระโสดาบัน ถ้าให้สันนิษฐานเข้าใจว่าคงไม่มีความกังวลแม้ในเรื่องการงานที่ยังทำไม่เสร็จ

   ๖.ทำยากแต่สติเป็นสิ่งต้องมีในกิจทั้งการทั้งปวง (สติ สพฺพตฺถ ปตฺถิยา) จะมีมากหรือน้อยเท่านั้น

    (เอาสติสัมปชัญญะอยู่กับสิ่งที่เกี่ยวข้องต้องทำ, ใจอยู่กับงานที่ทำ ไม่ใจลอย) 

   ๗. กำหนดก็ได้ แต่ต้องมีสติกำหนดหนทางและรถด้วย จึงจะปลอดภัย อนึ่ง สัมปชัญญะนั้นท่านสอนให้รู้ตัวอยู่เสมอ แม้เวลาเหลียวซ้ายเหลียวขวาด้วย เวลาพูดก็มีสติระลึกรู้และรอบคอบ คิดเสียก่อนพูด ไม่ใช่พูดก่อนคิด (ซึ่งโดยธรรมดาเป็นไปไม่ได้อยู่แล้ว คนทุกคนต้องคิดก่อนพูดเสมอ ข้อแตกต่างอยู่ที่คิดรอบคอบหรือไม่เท่านั้น)

   ๘.ไม่เสีย เพราะยังเลื่อมใสพระรัตนตรัย ไหว้พระภูมิ จัดเข้าในการบูชาเทวดา เป็นเทวตานุสติ ในอนุสติ ๑๐ ข้อ สำคัญอยู่ที่ว่า รู้ได้อย่างไรว่าที่ศาลพระภูมิมีเทวดาหรือไม่

  ๙.เคลื่อนไหวอิริยาบถอย่างธรรมดาก็ได้ แต่ที่เคลื่อนไหวช้าๆ อย่างที่บางแห่งสอนนั้นก็สำหรับผู้ฝึกใหม่ๆ เพื่อให้สติสัมปชัญญะตามทันอิริยาบถ

  ๑๐. เอาสติไว้ที่หนังสือ และการฟัง

  ๑๑. อยู่ ถูกต้องแล้ว

  ๑๒. ทุกครั้งที่เกิดความต้องการ  ย่อมก่อในเกิดความกระวนกระวายตลอดเวลาที่ยังสนองความต้องการไม่ได้ จึงเป็นทุกข์ สุภาษิตทางจริยศาสตร์ก็มีทำนองนี้เหมือนกัน ท่านกล่าวว่า “A feeling of wants is always painful.” ความรู้สึกต้องการเป็นทุกข์เสมอ โดยเฉพาะความต้องการซึ่งมีกิเลสเป็นแรงจูงใจหรือเป็นเครื่องเร้า

  (แรงจูงใจคนมีสองอย่าง คือ ตัณหาฉันทะ ๑ ธรรมฉันทะ ๑  ตัณหาฉันทะ  เรียกสั้นว่า ตัณหา<= แรงจูงใจฝ่ายอกุศล  ธรรมฉันทะ  เรียกสั้นว่า  ฉันทะ<= แรงจูงใจฝ่าย กุศล)

  ๑๓.ไม่ต้อง  เพราะท่านทำให้บริบูรณ์เต็มที่แล้ว แต่จะเรียกว่าท่านอยู่ด้วยสติย่อมได้ เหมือนเราอยู่ใต้ต้นไม้ซึ่งโตเต็มที่แล้ว ไม่ต้องทำอะไรเพื่อความเจริญเติบโตของต้นไม้อีก แต่อาศัยต้นไม้นั้นอยู่ร่มเย็นเป็นสุข

  ๑๔.ได้ การออกบวชเหมาะสมสำหรับผู้ต้องการเดินทางลัดรีบไปให้ถึงเร็วๆ แต่ถ้าบวชแล้วมัวโอ้เอ้อยู่ก็ไปไม่ถึงไหนเหมือนกัน

  ๑๕. ละโลภ โกรธ หลงได้เด็ดขาด มีศีล สมาธิ ปัญญาบริบูรณ์

  ๑๖.ให้เพื่อสละกิเลส,ความตระหนี่

  ๑๗.ใช้ได้ อุทิศบุญแก่ผู้มีชีวิตอยู่ก็ได้เหมือนกัน

 


Create Date : 20 เมษายน 2565
Last Update : 20 เมษายน 2565 16:34:33 น. 0 comments
Counter : 248 Pageviews.

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 
space

สมาชิกหมายเลข 6393385
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
ผู้ติดตามบล็อก : 9 คน [?]






space
space
[Add สมาชิกหมายเลข 6393385's blog to your web]
space
space
space
space
space