|
|
|
|
|
|
หน้าที่ต่ออริยสัจข้อนั้นๆ มี ๔ อย่าง |
|
- กิจในอริยสัจ
สิ่งสำคัญยิ่งอย่างหนึ่ง เกี่ยวกับอริยสัจ คือ การรู้ และทำหน้าที่ต่ออริยสัจแต่ละข้อให้ถูกต้อง ในการแสดงอริยสัจ ก็ดี ในการปฏิบัติธรรมตามหลักอริยสัจ ก็ดี จะต้องให้อริยสัจแต่ละข้อสัมพันธ์ตรงกันกับหน้าที่ หรือกิจต่ออริยสัจข้อนั้น จึงจะชื่อว่าเป็นการแสดงอริยสัจ และเป็นการปฏิบัติธรรมโดยชอบ มิฉะนั้น จะทำให้เกิดความผิดพลาด ทั้งในความเข้าใจ และการประพฤติปฏิบัติ
แม้แต่ความเข้าใจผิดบางอย่างเกี่ยวกับพระพุทธศาสนา เช่น เห็นว่าพระพุทธศาสนาสอนให้มองโลกในแง่ร้าย เป็นต้น ก็เกิดจากการไม่เข้าใจเรื่องกิจในอริยสัจนี้ด้วย
กิจในอริยสัจ คือ หน้าที่อันจะพึ่งทำต่ออริยสัจ ๔ แต่ละอย่าง หรือ หน้าที่ต่ออริยสัจข้อนั้นๆ มี ๔ อย่าง ตามบาลีว่า
๑. ทุกขํ อริยสจฺจํ ปริญฺเญยฺยํ ทุกขอริยสัจ ควรกำหนดรู้ *
๒. ทุกฺขสมุทโย อริยสจฺจํ ปหาตพฺพํ ทุกขสมุทัยอริยสัจ ควรละ
๓. ทุกฺขนิโรโธ อริยสจฺจํ สจฺฉิกาตพฺพํ ทุกขนิโรธอริยสัจ ควรทำให้แจ้ง
๔. ทุกฺขนิโรธคามินีปฏิปทา อริยสจฺจํ ภาเวตพฺพํ ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาอริยสัจ ควรเจริญ
จับมาเรียงให้ดูง่าย ดังนี้
๑. ปริญญา การกำหนดรู้ หรือรู้เท่าทัน เป็นกิจในทุกข์ หมายถึง การศึกษาให้รู้จัก ให้เข้าใจสภาวะที่เป็นทุกข์ ตามที่มันเป็นของมัน พูดง่ายๆว่า การทำความเข้าใจปัญหา และกำหนดขอบเขตของปัญหาให้ชัดเจน จัดเป็นขั้นเริ่มต้น ที่จะช่วยให้การดำเนินการขั้นต่อๆไป เป็นไปได้ และตรงปัญหา
๒. ปหานะ การละ เป็นกิจในสมุทัย หมายถึง การกำจัดเหตุแห่งทุกข์ ทำสิ่งที่เป็นสาเหตุแห่งทุกข์ให้หมดสิ้นไป พูดง่ายๆ ว่า การแก้ไขกำจัดต้นตอของปัญหา
๓. สัจฉิกิริยา การทำให้แจ้ง เป็นกิจในนิโรธ หมายถึง การประจักษ์แจ้ง หรือบรรลุถึงภาวะดับทุกข์ พูดง่ายๆ ว่า การเข้าถึงภาวะที่แก้ไขปัญหาได้เสร็จสิ้น ภาวะหมดปัญหา หรือภาวะปราศจากปัญหา บรรลุจุดหมายที่ต้องการ
๔. ภาวนา การเจริญ เป็นกิจในมรรค แปลตามตัวอักษรว่า การทำให้มีให้เป็นขึ้น คือ ทำให้เกิดขึ้น และเจริญเพิ่มพูนขึ้น หมายถึง การฝึกอบรมพัฒนาตามข้อปฏิบัติของมรรค การลงมือปฏิบัติตามมรรควิธีที่จะกำจัดเหตุแห่งทุกข์ พูดง่ายๆ ว่า การกระทำตามวิธีการที่จะนำไปสู่จุดหมาย หรือการกำหนดวางรายละเอียดวิธีปฏิบัติแล้วลงมือแก้ไขปัญหา
กิจทั้ง ๔ นี้ เป็นข้อที่จะต้องปฏิบัติให้ถูกต้อง และเสร็จสิ้น ในอริยสัจ ๔ แต่ละอย่าง ให้ตรงข้อกัน
ในการปฏิบัติจริง นั้น การจะทำหน้าที่ได้ถูกต้อง ต้องอาศัยความรู้ หรือญาณ การรู้กิจในอริยสัจ เรียกว่า กิจญาณ (บาลี = กิจฺจญาณ) เมื่อเอาญาณมาเชื่อมโยงอริยสัจแต่ละข้อ เข้ากับกิจของมัน ก็จะเห็นเห็นลำดับขั้นตอนของการปฏิบัติ ซึ่งสามารถนำมาใช้เป็นวิธีการสำหรับแก้ปัญหาได้ทุกระดับ ดังนี้
๑. กิจญาณ ใน ทุกข์ (รู้ว่าทุกข์ พึงปริญญา) คือ รู้สภาวะที่เป็นทุกข์ รู้สภาพอันเป็นที่ตั้งแห่งทุกข์ รู้ตำแหน่งแห่งที่ของทุกข์ ซึ่งจะต้องรู้ตามสภาพที่แท้จริงของมัน (คือ ไม่ใช่รู้ตามที่เราอยากให้มันเป็นหรือตามที่เราเกลียดชังมัน เป็นต้น) ถ้าจัดเป็นขั้น ได้แก่ ขั้นแถลง หรือสำรวจปัญหาที่จะต้องทำความเข้าใจ และรู้ขอบเขต
๒. กิจญาณ ใน สมุทัย (รู้ว่าสมุทัย พึงปหาน) คือ รู้สิ่งที่เป็นสาเหตุแห่งทุกข์ ซึ่งจะต้องกำจัดเสีย ถ้าจัดเป็นขั้น ได้แก่ ขั้นสืบค้น วิเคราะห์ และวินิจฉัยข้อมูลของปัญหา ซึ่งจะต้องแก้ไขกำจัดให้หมดสิ้นไป
๓. กิจญาณ ใน นิโรธ (รู้ว่านิโรธ พึงสัจฉิกิริยา) คือ รู้ภาวะดับทุกข์ ซึงจะต้องทำให้ประจักษ์แจ้ง ถ้าจัดเป็นขั้น ได้แก่ ขั้นเล็งรู้ภาวะหมดปัญหา ที่เอาเป็นจุดหมาย ให้เห็นว่า การแก้ไขปัญหาเป็นไปได้ และจุดหมายนั้นควรเข้าถึง ซึ่งจะต้องทำให้สำเร็จ โดยรู้เข้าใจอยู่ว่า การเข้าถึงจุดหมายนั้น จะสำเร็จ หรือเป็นไปได้อย่างไร
๔. กิจญาณ ใน มรรค (รู้ว่ามรรค พึงภาวนา) คือ รู้มรรคา คือ ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ ซึ่งจะต้องฝึกฝนปฏิบัติพัฒนาเจริญเดินหน้าไป ถ้าจัดเป็นขั้น ได้แก่ ขั้นกำหนดวาง หรือรับทราบวิธีการ ขั้นตอน และรายละเอียดทั้งหลายในการแก้ไขกำจัดสาเหตุของปัญหานั้น ซึ่งจะต้องลงมือปฏิบัติ หรือดำเนินการต่อไป
พูดให้ง่าย คือ รู้ว่าทุกข์ หรือ ปัญหาของเราคืออะไร ทุกข์นั้นเกิดจากอะไร เราต้องการหรือพึงต้องการผลสำเร็จอะไร และจะเป็นไปได้อย่างไร เราจะต้องทำอะไรบ้าง
กิจญาณ นี้ เป็นอย่างหนึ่ง ในญาณ ๓ ที่เกี่ยวกับอริยสัจ ๔ ซึ่งให้เป็นเกณฑ์สำหรับวัดความตรัสรู้ กล่าวคือ เมื่อใด รู้อริยสัจ ๔ แต่ละอย่าง ด้วยญาณครบทั้ง ๓ (รวมทั้งหมดเป็น ๑๒ รายการ) แล้ว เมื่อนั้น จึงจะชื่อว่ารู้อริยสัจ หรือ เป็นผู้ตรัสรู้แล้ว
ญาณ ๓ (ญาณ ๓ นี้ มาในธัมมจักกัปปวัตตสูตร) นั้น เรียกชื่อเต็มว่า ญาณทัสสนะ อันมีปริวัฏฏ์ ๓ หรือ ปริวัฏ ๓ แห่งญาณทัศนะ หมายถึง การหยั่งรู้หยั่งเห็นครบ ๓ รอบ กล่าวคือ
๑. สัจญาณ หยั่งรู้สัจจะ คือ ความหยั่งรู้อริยสัจ ๔ แต่ละอย่าง ตามที่เป็นๆว่า นี้ทุกข์ นี้ทุกขสมุทัย นี้ทุกขนิโรธ นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา หรือว่าทุกข์ คืออย่างนี้ๆ เหตุแห่งทุกข์ คือ อย่างนี้ๆ ภาวะดับทุกข์ คืออย่างนี้ๆ ทางแก้ไขดับทุกข์ คือ อย่างนี้ๆ
สัจญาณ ในอริยสัจ ครบ ๔ ข้อ ก็เป็นอันครบ ๑ รอบ เป็น ปริวัฏ ๑
๒. กิจญาณ หยั่งรู้กิจ คือ ความหยั่งรู้หน้าที่ที่จะต้องทำต่ออริยสัจ ๔ แต่ละอย่างว่า ทุกข์ควรกำหนดรู้ สมุทัยควรละเสีย เป็นต้น ดังได้อธิบายแล้ว
กิจญาณ ในอริยสัจ ครบ ๔ ข้อ ก็เป็นอันครบอีก ๑ รอบ เป็นอีก ปริวัฏ ๑
๓. กตญาณ หยั่งรู้การอันทำแล้ว คือ ความหยั่งรู้ว่า กิจอันจะต้องทำในอริยสัจ ๔ แต่ละอย่างนั้น ได้ทำเสร็จแล้ว คือรู้ว่า ทุกข์ควรกำหนดรู้ ก็ได้กำหนดรู้แล้ว สมุทัยควรละ ก็ได้ละแล้ว นิโรธควรทำให้แจ้ง ก็ได้ประจักษ์แจ้งแล้ว มรรคควรปฏิบัติ ก็ได้ปฏิบัติแล้ว
กตญาณ ในอริยสัจ ครบ ๔ ข้อ ก็เป็นอันครบอีก ๑ รอบ เป็นอีก ปริวัฏ ๑
โดยนัยนี้ ญาณ ๓ นั้น ก็เป็นไปในอริยสัจ ๔ ญาณละ ๑ รอบ จึงรวมเป็น ๓ รอบ (๓ ปริวัฏ) เรียกเต็มว่า ญาณทัศนะ มีปริวัฏ ๓
เมื่อแจกนับอย่างละเอียด ปริวัฏ (วนรอบ) ๓ นี้ แต่ละรอบ ก็คือเป็นไปในอริยสัจ ๔ ครบทุกข้อ จึงรวมเป็น ๑๒ รายการ เรียกเป็นคำศัพท์ว่า มีอาการ ๑๒ จึงพูดให้เต็มว่า ญาณทัศนะ มีปริวัฏ ๓ มีอาการ ๑๒
พระพุทธเจ้าทรงมีญาณทัศนะตามเป็นจริง ในอริยสัจ ๔ ครบปริวัฏ ๓ มีอาการ ๑๒ คือ ได้ความรู้แจ้งครบ ๑๒ รายการแล้ว จึงปฏิญาณตนได้ว่า ทรงบรรลุอนุตรสัมมาสัมโพธิญาณแล้ว
หลักญาณทัศนะ มีอาการ ๑๒ หรือ ความรู้ครบ ๑๒ รายการนี้ ใช้เป็นเกณฑ์ตรวจสอบความสำเร็จในการปฏิบัติการแก้ปัญหาได้ทุกอย่าง
เขียนออกมาเป็น ญาณทัศนะ มีปริวัฏ ๓ มีอาการ ๑๒ ตามรายการ ดังต่อไปนี้
ปริวัฏ ที่ ๑ ปริวัฏ ที่ ๒ ปริวัฏ ที่ ๓
สัจญาณ ๔ อาการ กิจญาณ ๔ อาการ กตญาณ ๔ อาการ
๑. ทุกข์ คือดังนี้ ๕. ทุกข์นี้ ควรกำหนดรู้ ๙. ทุกข์นี้ ได้กำหนดรู้แล้ว
๒. สมุทัย คือดังนี้ ๖. สมุทัยนี้ ควรละเสีย ๑๐. สมุทัยนี้ ได้ละแล้ว
๓. นิโรธ คือดังนี้ ๗. นิโรธนี้ ควรทำให้แจ้ง ๑๑. นิโรธนี้ ได้ประจักษ์แจ้งแล้ว
๔. มรรค คือดังนี้ ๘. มรรคนี้ ควรปฏิบัติ ๑๒. มรรคนี้ ได้ปฏิบัติแล้ว
เขียนให้ดูง่าย อีกแบบหนึ่ง ดังนี้ ๑. ทุกขํ อริยสจฺจํ ปริญฺเญยฺยํ ทุกขอริยสัจ ควรกำหนดรู้ ** "ควรกำหนดรู้" เป็นคำแปลที่คุ้นเคยกันมาของ "ปริญฺเญฺยฺยํ" มักรู้สึกกันว่าเข้าใจยาก อาจทับศัพท์ว่า "พึงปริญญา" หรือควร รู้เท่าทัน รู้เท่ามัน รู้ทันมัน
Create Date : 19 กันยายน 2567 |
Last Update : 19 กันยายน 2567 17:08:01 น. |
|
0 comments
|
Counter : 75 Pageviews. |
|
|
|
|
|
|
|
|
BlogGang Popular Award#20
|
|
|