กรรมเก่า คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ.เป็นเจ้าบทบาทเดิม จากนั้น การศึกษาอาศัยปรโตโฆสะ ซึ่งมีคติว่า "คนเป็นไปตามสภาพแวดล้อมที่ปรุงปั้น" และโยนิโสมนสิการ ซึ่งมีคติย้อนกลับว่า "ถ้าเป็นคนรู้จักคิด แม้แต่ฟังคนบ้าคนเมาพูด ก็อาจสำเร็จเป็นพระอรหันต์"
space
space
space
<<
เมษายน 2565
 12
3456789
10111213141516
17181920212223
24252627282930
space
space
19 เมษายน 2565
space
space
space

วิปัสสนาคืออะไร ทำแล้วจะได้อะไร



ถาม  ๑.จะข้ามสมถกรรมฐานไปทำวิปัสสนาเลยจะได้หรือไม่  ๒. ทำวิปัสสนากรรมฐานแล้วจะได้อะไร

กระผมใคร่ขอกราบเรียนถามอาจารย์ ดังต่อไปนี้

ก.วิปัสสนาคืออะไร

ข.วิธีการทำวิปัสสนาทำอย่างไร

ค.ระหว่างสมถกรรมฐาน กับ วิปัสสนากรรมฐานเป็นบาทฐานของกันหรือไม่ หากจะข้ามสมถกรรมฐานไปทำวิปัสสนาเลยจะได้หรือไม่ และในฆราวาสวิสัยที่ต้องมีภาระหนักอยู่กับการงานอาชีพ และครอบครัวจะทำหรือประยุกต์ทำวิปัสสนาได้เพียงใด

ง. ขอความกรุณาอธิบายวิปัสสนาญาณ ๑๖ ทุกข้อตามสมควร

จ.ผลของการทำวิปัสสนากรรมฐานเป็นอย่างไร

ปุถุชน หมายเลข ๑


ตอบ. คุณปุถุชน หมายเลข ๑

  ก. วิปัสสนา คือ ความเห็นแจ้งตามเป็นจริงในสภาวะแห่งชีวิต ไม่ใช่เห็นตามที่ปรากฏ คำว่า เห็นตามที่เป็นจริง นั้นมีความหมายดีมาก
บางทีพระพุทธเจ้าทรงใช้คำว่า เห็นด้วยปัญญา แต่ต้องเป็นสัมมาปัญญา หรือ สัมมาทิฐิก็ได้ คนที่ไปยึดมั่นถือมั่นในลาภ ยศ นั่นนี่โน่น ว่าเป็นของแท้ของจริงนั้น เพราะไม่ได้เห็นด้วยปัญญา เหมือนดูละครแล้วนั่งร้องไห้บ้าง โกรธเคือง บ้าง เพราะหลงใหลไปว่าเป็นเรื่องจริง  ลืมไปว่าเขาแสดงให้เราดู หรือเป็นเพียงภาพมายาเท่านั้น ชีวิตของเราก็เช่นเดียวกัน  เป็นเพียงภาพมายาอันไม่หยุดนิ่ง  จึงไม่ควรยึดมั่น  เพราะยึดมั่นไม่ได้  ไปยึดมั่นเข้าก็เป็นทุกข์และเป็นโทษ  ถ้ามีวิปัสสนาจิตอยู่อย่างนี้เสมอก็จะแก้ปัญหาได้ และเปลื้องทุกได้มากทีเดียว

  ข. วิธีการทำวิปัสสนา  มีหลายวิธี เช่น ในการยืน เดิน นั่ง นอน (นอนทำระวังหลับ 11)  มีสติระลึกรู้อิริยาบถอยู่ตลอดเวลา  เมื่อยืนสติอยู่ที่การยืน  เมื่อเดินนั่งหรือนอนสติอยู่ที่อิริยาบถนั้นๆ สติไม่ขาดลอยไปที่อื่น

คุณจะสังเกตว่ามีบ่อยที่เราเดินอยู่แต่สติและจิตไม่ได้อยู่ที่การเดิน แต่ลอยไปที่อื่น ที่เราเรียกว่า “ใจลอย” เมื่อใจลอย ใจก็ออกไปรับทุกข์

เมื่อใจอยู่กับอารมณ์ปัจจุบันที่กำลังทำ พูด เดิน ยืน เป็นต้น แล้วความทุกข์ใจจะไม่มี ความทุกข์ใจนั้นเกิดขึ้นเพราะไปเหนี่ยวอารมณ์ในอดีตมาคิด บ้าง กังวลถึงอนาคต บ้าง
แต่พอทำวิปัสสนา เอาจิต และสติมาอยู่กับอารมณ์ปัจจุบัน ความทุกข์ก็เข้าไม่ได้ นี่แหละ ท่านจึงว่าทำวิปัสสนาแล้วแก้ทุกข์ได้ และได้เห็นทุกข์ไปในตัวด้วย เห็นทุกข์โดยไม่ต้องเป็นทุกข์ เหมือนเราเห็นงูไม่ได้มากัดเราก็ได้ถ้าเราไม่ไปเล่นกับมัน

  ค. และ จ. คำถามสองข้อนี้ ที่จริงต้องอธิบายมาก แต่จะพยายามพูดสั้นๆ เพียงพอเข้าใจ

  สมถกรรมฐาน กับ วิปัสสนากรรมฐาน เป็นบาทฐานของกันและกันอยู่ทั้งในทางโลกและทางธรรม คนที่ทำงานอยู่กับโลก  ก็จำเป็นต้องอาศัยความสงบ  และการเห็นถูกต้องตามเป็นจริง จึงจะทำงานไปได้ด้วยดี และถูกต้องเหมาะสม คือ ต้องอาศัยนความสงบของจิต (สมถะ) และความสงบว่างของจิต (วิปัสสนา) จึงจะสามารถทำหน้าที่การงานต่างๆ ให้สำเร็จลุล่วงไปได้ด้วยดี  คำอธิบายนี้เป็นการตอบคำถามตอนปลายของหัวข้อนี้ที่ว่า ฆราวาส ที่ทำงานอยู่และมีครอบครัวจะประยุกต์ทำวิปัสสนาได้เพียงใด ฆราวาสนั้นมีสิทธิ์บรรลุธรรมทางพระพุทธศาสนาได้ทุกระดับจนถึงเป็นอรหันต์ แต่เมื่อเป็นพระอรหันต์แล้วท่านต้องบวช (อันนี้ ไม่ได้หมายความว่าคนที่บวชทุกคนเป็นอรหันต์ไปแล้ว)

  กล่าวในทางธรรม  ในส่วนที่เป็นกระบวนการทางจิตโดยตรงเพื่อพัฒนาปัญญาหรือญาณทัสสนะหรืออภิญญา สมถะ (สมาธิ) มีความจำเป็นอย่างยิ่ง  ผู้บำเพ็ญธรรมทางสายเจโตวิมุตติ (สมถะ) ย่อมต้องอาศัยสมาธิอันมั่นคงในการพัฒนาจิตไปสู่อภิญญา (ความรู้ยิ่งต่างๆ) มีพุทธภาษิตมากมายซึ่งแสดงในเรื่องนี้

  แม้ผู้บำเพ็ญธรรมทางสายปัญญาวิมุตติ คือ เจริญวิปัสสนาเป็นหลัก ไม่ได้ตั้งใจทำสมาธิโดยตรงแต่สมาธิก็เกิดขึ้น กับ วิปัสสนานั้นได้ พอให้วิปัสสนาปัญญามีกำลังพอที่จะตัดกิเลสได้ สมาธิในรูปที่แฝงอยู่อย่างนี้ท่านเรียกว่า วิปัสสนาสมาธิ  แปลว่า สมาธิในวิปัสสนา อยู่ในระดับระหว่างขณิกสมาธิ (สมาธิชั่วขณะ) กับ อุปจารสมาธิ (สมาธิที่จวนจะแน่วแน่)  แม้ขณิกสมาธิ และอุปจารสมาธิ ก็เป็นวิปัสสนาสมาธิได้ เพราะผู้เจริญวิปัสสนา  ย่อมมีสมาธิชนิดนี้เกิดขึ้นได้เสมอ  วิปัสสนานี้แหละ บางทีท่านเรียกว่า ลักขณูปนิชฌาน คือ ภาวะที่จิตสงบเพราะอาศัยวิปัสสนาภาวนา  อีกอย่างหนึ่ง ท่านเรียกว่า อารัมมณูปนิชฌาน คือ ภาวะที่จิตสงบเพราะอาศัยสมถภาวนาหรือเพ่งอารมณ์ของสมถะ  ส่วนลักขณูปนิชฌาน นั้น เพ่งลักษณะ คือ ไตรลักษณ์นั่นเอง

   คำว่า ฌาน ใน ๒ คำนี้ มีความหมายไม่เท่ากัน
   อารัมมณูปนิชฌาน หมายถึง ฌานตั้งแต่ ๑-๘ หรือ สมาบัติ ๘
   ลักขณูปนิชฌาน หมายถึง วิปัสสนา มรรคและผล

  ตามที่กล่าวมาโดยย่อนี้ จะเห็นว่า สมถกรรมฐาน และ วิปัสสนากรรมฐาน อิงอาศัยกันอยู่มากทีเดียว  จะทำสมถกรรมฐานอย่างเดียวก็ได้  ถ้าต้องการเพียงจิตสงบ และควบคุมกิเลสไว้ได้ (ตัดไม่ได้) เหมือนยาคุมโรคไม่ให้กำเริบ แต่ไม่หายขาด  จะทำวิปัสสนกรรมฐานอย่างเดียวก็ได้ ถ้าต้องการติดกิเลสได้อย่างเดียวโดยไม่ต้องการอภิญญาต่างๆ

  ตอนต้นที่สามารถควบคุมกิเลสไว้ด้วยอำนาจฌานนี้แหละ  เรียกว่า เจโตวิมุตติ  ส่วนตอนปลายที่สามารถตัดกิเลสได้ด้วยวิปัสสนาท่านเรียกว่า ปัญญาวิมุตติ พระอริยบุคคลประเภทนี้แหละ ที่ท่านเรียกว่า  อุภโตภาควิมุตต์  แปลว่า หลุดพ้นโดยส่วนทั้งสอง  ส่วนผู้ดำเนินตามสายวิปัสสนาอย่างเดียว ท่านเรียกว่า ปัญญาวิมุตต์  จะเห็นได้ว่า สมาธิในพระพุทธศาสนานั้นมิใช่เป็นจุดหมายในตัวเอง แต่เป็นเครื่องมือไปสู่จุดมุ่งหมาย คือ ความหลุดพ้น และยังต้องอาศัยปัญญาอีกด้วย

  ผลของการบำเพ็ญวิปัสสนานั้นมีมาก ได้กล่าวไว้บ้างแล้วในตอนต้น (ข้อ ข.) คือ ช่วยให้ทุกข์เข้าไม่ถึง มีชีวิตอยู่อย่างเป็นสุข อันไม่มีโทษในปัจจุบัน ทำให้กิเลสเบาบาง และถ้าทำให้มากก็สามารถบรรลุมรรคผลเป็นอริยบุคคลเป็นการพัฒนาชีวิตขึ้นสู่ระดับสูงสุดเท่าที่ชีวิตนี้ควรจะไปให้ถึง

  ง. วิปัสสนาญาณ  แปลว่า  ญาณ (ความรู้) ในวิปัสสนา หรือ ความรู้พิเศษเฉพาะท่านผู้เจริญวิปัสสนา จัดเป็น ๙ ก็มี เรียกว่า วิปัสสนาญาณ ๙ จัดเป็น ๑๖ ก็มี ๙ ก็รวมอยู่ใน ๑๖ นั่นเอง มีลำดับ ดังนี้

  ๑.นามรูปปริจเฉทญาณ   ญาณที่กำหนดรู้นามและรูป ในการเจริญวิปัสสนานั้นต้องกำหนดรู้ว่า อะไรเป็นนาม อะไรเป็นรูป  ถ้ายกขันธ์ ๕ มาเป็นตัวอย่าง นาม ก็คือ เวทนา สัญญา สังขาร และวิญญาณ  รูป ก็คือ ร่างกาย  แต่อันที่จริง คำว่า รูป มีความหมายกว้างมาก  สิ่งที่ทางวิทยาศาสตร์ เรียกว่า สสาร และพลังงาน นั้น ทางพระพุทธศาสนาจัดเข้าเป็นรูปหมด  ในการจงกรม นั้น การเคลื่อนไหวมือ และ เท้าเป็นรูป  ส่วนจิตที่สั่งให้มือเท้าเคลื่อนไหว เป็นนาม

ตาเป็นรูป  หูเป็นรูป  ภาพที่ปรากฏแก่ตา เสียงที่มากระทบหู ก็ล้วนเป็นรูปทั้งสิ้น  แต่จักษุวิญญาณ  ความรู้ทางตา และโสตวิญญาณ  ความรู้ทางหู  เป็นนาม  การกำหนดรู้ว่าสิ่งทั้งหลายเป็นเพียง รูป กับ นาม เท่านั้น หาใช่สัตว์บุคคลตัวตนเราเขาไม่  สัตว์บุคคล เป็นต้น นั้น เป็นเพียงสิ่งสมมติ หาใช่ปรมัตถสัจจะไม่  ความรู้อย่างนี้แหละ เรียกว่านามรูปปริจเฉทญาณ

  ๒. ปัจจัยปริคคหญาณ  ญาณกำหนดรู้เหตุปัจจัย คือ รู้ว่าผลทั้งหลาย  ย่อมเนื่องมาจากเหตุ เมื่อพระพุทธองค์ตรัสรู้ใหม่ๆ ขณะเสวยวิมุตติสุขทรงเปล่งอุทานว่า “เมื่อใด ธรรมทั้งหลายปรากฏแก่พราหมณ์ (ในที่นี้หมายถึงผู้รู้) มีความเพียรเพ่งอยู่ เมื่อนั้น ความสงสัยทั้งปวงของพราหมณ์นั้น ย่อมสิ้นไป เพราะมารู้แจ้งว่า ธรรมทั้งหลาย (คือสิ่งทั้งหลาย) ย่อมเกิดแต่เหตุ”  แต่ทรงอุทานในวาระต่อมาว่า  “เมื่อใด ฯ ... เพราะมารู้ความสิ้นไปแห่งปัจจัยทั้งหลาย”

  รวมความว่า เป็นญาณที่กำหนดรู้เหตุผลว่า ผลเกิดเพราะมีเหตุ และผลดับเพราะสิ้นเหตุปัจจัย รูปกับนาม นั้น เป็นเหตุเป็นผลของกันและกัน  บางที  นามเป็นเหตุ รูปเป็นผล เช่น คนที่ใจเป็นทุกข์สีหน้าก็เศร้าหมอง กิริยาอาการบอกว่าเป็นทุกข์  นอกจากเสแสร้ง นั่นก็เพราะใจเสแสร้งก่อน
บางที รูปเป็นเหตุ นามเป็นผล เช่น ร่างกายหิวเพราะเหตุปัจจัย คือ อาหาร ทำให้จิตใจกระวนกระวาย หงุดหงิด ฟุ้งซ่าน โกรธง่าย เป็นต้น ญาณที่กำหนดรู้เหตุรู้ผล เรียกว่า ปัจจัยปริคคหญาณ

  ๓.สัมมสนญาณ   ญาณกำหนดพิจารณาไตรลักษณ์ คือ พิจารณารูป นาม นั่นเอง โดยความเป็นของไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา  โดยปกติธรรมดาเราก็เห็นสิ่งเหล่านี้อยู่บ้างแล้ว แต่ในวิปัสสนาจะเห็นมากขึ้น  ความเจ็บปวดเมื่อยขบของรูปขันธ์จะปรากฏชัดเจนมากสำหรับผู้ทำวิปัสสนา แต่พอสมาธิดีขึ้น จิตสงบลงความเจ็บปวดต่างๆ ก็หายไป  ผู้บำเพ็ญวิปัสสนาจะเห็นความไม่เที่ยงของรูปธรรม นามธรรม ความเป็นทุกข์และความเป็นอนัตตาของรูปนามอยู่เสมอ แต่ในขั้นนี้ต้องใช้ความคิดช่วยด้วยพอสมควร

  ๔.อุทยัพพยญาณ   ญาณเห็นความเกิดและความดับของรูปนามชัดเจนขึ้น พอเห็นไตรลักษณ์ชัดเข้าจิตจะดับวูบเป็นคราวๆ ผู้เจริญวิปัสสนาอาจรู้สึกว่า วูบลงไปเหมือนตกจากที่สูง เพราะจิตดับให้เห็นต่อหน้าต่อตา  ที่จริงความเกิดดับของรูปนามนั้น มีอยู่เสมอ แต่ไม่ปรากฏแก่ผู้ที่ไม่ได้เจริญวิปัสสนา ปรากฏชัดสำหรับผู้เจริญวิปัสสนา เหมือนความชื้นหรือไอน้ำมีอยู่เสมอในอากาศ แต่ไม่ปรากฏแก่เรา พอเอาแก้วน้ำแข็งวางไว้ความชื้นหรือไอน้ำก็ปรากฏให้เห็นที่แก้วน้ำแข็ง  การเห็นความเกิดดับของรูปนามนี้มีประโยชน์ กับ จิตใจมาก พระพุทธองค์ตรัสยกย่องผู้เห็นเช่นนี้ไว้ว่า “แม้มีชีวิตอยู่วันเดียวก็ประเสริฐกว่าผู้มีชีวิตอยู่ถึง ๑๐๐ ปี แต่ไม่ได้เห็นความเกิดดับของรูปนาม”


  ๕. ภังคญาณ   ญาณเห็นความดับแห่งรูปนาม เนื่องจากการเกิดดับของรูปนาม นั้น เกิดติดๆกัน ส่วนที่เกิดเห็นไม่ชัด เห็นแต่ดับอย่างเดียว หรืออาการที่ดับนั้น เป็นที่สนใจมากกว่า  เมื่อเห็นอยู่เช่นนั้น ย่อมละนิมิต ๓ อย่างได้ คือ อุปปาทนิมิต  ความสำคัญหมายว่าเกิด  ฐิตินิมิต  ความสำคัญหมายว่าตั้งอยู่ และปวัตตนิมิต  ความสำคัญหมายว่าเป็นไป  คงเหลือแต่เห็นความแตกดับอย่างเดียว เมื่อเห็นอยู่อย่างนี้ ย่อมคลายความกำหนัดเสียได้ พระผู้มีพระภาคตรัสไว้ว่า “มัจจุราช (คือความตาย) ย่อมแลไม่เห็น ซึ่งบุคคลผู้พิจารณาโลกเหมือนเห็นฟองน้ำและพยับแดด”

  ๖. ภยตูปัฏฐานญาณ   เห็นสังขารหรือนามรูปปรากฏเป็นของน่ากลัว เห็นสังขารในอดีตดับแล้ว คำนึงถึงสังขารในอนาคตว่า คงต้องดับเหมือนกัน ท่านเปรียบเหมือนมารดา ซึ่งมีบุตร ๓ คน เป็นกบฏต่อพระราชา เมื่อเห็นบุตรคนที่ ๑ และที่ ๒ ถูกประหารชีวิตแล้ว ก็ทอดอาลัยในบุตรคนที่ ๓ ปลงว่า คงถูกประหารชีวิตเช่นกัน  ผู้บำเพ็ญวิปัสสนา พิจารณาเห็นสังขารเป็นของน่ากลัวเหมือนเห็นหลุมถ่านเพลิงอันลุกโชติช่วง และเห็นหลาวอันแหลมคม

  ๗. อาทีนวญาณ   เห็นโทษของสังขารทั้งปวง ไม่ปรารถนาสังขารทั้งปวง ภพทั้ง ๓ ปรากฏเป็นดุจหลุมถ่านเพลิง สังขารทั้งปวงปรากฏประดุจหัวฝี ลูกศร และโรคร้าย น่าคับแค้น ไม่มีรส เต็มไปด้วยกองแห่งโทษนานาประการ เหมือนป่าชัฎแม้จะมีอาการว่าน่ารื่นรมย์ แต่ก็เต็มไปด้วยสัตว์ร้ายนานาชนิด น้ำเป็นประดุจมีจระเข้ หรือปลิง อาหารประดุจเจือด้วยยาพิษ ที่อยู่อาศัยเหมือนถูกไฟไหม้ จึงไม่ยึดมั่นผูกพันด้วยตัณหาอุปาทาน

  ๘. นิพพิทาญาณ   ญาณที่เกี่ยวกับความเบื่อหน่ายก็เกิดขึ้น ไม่ต้องการภพหรือกำเนิดใดๆ เพราะเห็นว่ามีภพก็มีทุกข์ตามมาด้วย จิตจึงน้อมไปในความสงบมากขึ้น

  ๙.มุญจิตุกัมยตาญาณ   ต้องการความหลุดพ้นไปจากทุกข์ทั้งปวง จากสังขารทั้งปวง เหมือนเขียดที่อยู่ในปากงู ไก่อยู่ในกรง เนื้อที่ติดบ่วงหรือคนติดคุก เป็นต้น

  ๑๐. ปฏิสังขาญาณ คือ การพิจารณาหาทางเพื่อให้พ้นไปจากรูปนามอันน่าเบื่อหน่าย เปรียบเหมือนคนหาปลาจับเอาสัตว์ชนิดหนึ่ง ทีแรกดีใจคิดว่าเป็นปลา แต่พอยกขึ้นไปพิจารณาเห็นเป็นงู จึงตกใจขว้างให้พ้นไป  คนทั้งหลายยินดีพอใจในสังขารเหมือนคนจับปลาพอใจในปลา แต่สังขารเป็นสิ่งที่มีทุกข์โทษมากเหมือนงู ผู้เบื่อหน่ายในสังขารแล้ว จึงต้องการพ้นไปเสีย และพิจารณาหาทางเพื่อความพ้น ผู้บำเพ็ญวิปัสสนาเมื่อมาถึงตอนนี้ ก็จะปฏิบัติอย่างขะมักเขม้นยิ่งขึ้น

  ๑๑. สังขารุเปกขาญาณ   วางเฉยในสังขาร ด้วยเห็นว่า เป็นทางแห่งความหลุดพ้น คือ ไม่รัก ไม่ชัง ไม่หวงแหน ไม่ยึดถือ เหมือนชายที่หย่าขาดจากภรรยาแล้ว ไม่สนใจต่อเธออีกต่อไป เมื่อถึงญาณนี้ สติปัญญาจะดีขึ้น รู้สึกปลอดโปร่ง จิตใจสงบดี ความรู้สึกต่างๆ ละเอียด สุขุม ลมหายใจจะเบาลงมาก เพราะจิตละเอียดนั่นเอง

  ๑๒. อนุโลมญาณ หรือ สัจจานุโลมิกญาณ ญาณอนุโลมอริยสัจ คือ ความรู้เห็นตามเป็นจริงตามที่ญาณทั้งหลายประการข้างต้น ประมวลมาให้เห็น  เปรียบเหมือนผู้พิพากษาพิจารณาคดีตามข้อมูลที่มีผู้เสนออย่างถูกต้อง ตัดสินได้ว่าใครผิดใครถูก สามารถตัดสินคดีได้อย่างถูกต้องตามเหตุผลที่แท้จริง พระราชาผู้ประทับนั่งฟังอยู่ทรงเห็นด้วยทุกประการ อนุโลมญาณเปรียบเหมือนพระราชา ส่วนญาณอื่นๆ ข้างต้นเปรียบเหมือนคณะผู้พิพากษา

  ๑๓. โคตรภูญาณ แปลว่า ญาณคร่อมโคตร คือ ช่วงเวลาที่จิตกำลังเปลี่ยนสภาพจากความเป็นปุถุชนสู่ความเป็นอริยชน ระหว่างนั้น จะเรียกว่าปุถุชนก็ไม่ใช่ อริยชนก็ไม่ใช่ เหมือนช่วงเวลาใกล้รุ่งหรือใกล้ค่ำ เป็นกึ่งกลางระหว่างกลางคืนกับกลางวัน หรือเหมือนคนข้ามแม่น้ำด้วยเรือ เมื่อเรือเทียบท่าแล้ว เขาก้าวขึ้นสู่ฝัง ขาอีกข้างหนึ่งยังอยู่ในเรือ ขาอีกข้างหนึ่งอยู่บนฝั่งแล้ว  เรียกไม่ได้โดยสิ้นเชิงว่า เขาอยู่ในเรือหรืออยู่บนฝั่ง นี่เป็นกระบวนการวิวัฒนาการสำหรับสิ่งทั่วไปด้วย

   ๑๔. มรรคญาณ   ญาณในมรรค   ญาณที่ทำหน้าที่ตัดกิเลส เหมือนยาเข้าไปตัดโรคอย่างเด็ดขาดไม่กำเริบไม่เกิดขึ้นอีก มรรคญาณเกิดขึ้นแล้วจะปิดอบายได้โดยประการทั้งปวง ญาณนี้ไม่ถอยกลับอีก  ผู้มาถึงขั้นนี้แล้วเป็นโสดาบันอย่างแน่นอน  มีความไม่ตกต่ำเป็นธรรมดา

   ๑๕. ผลญาณ   ญาณเป็นผล  คือสืบเนื่องมาจากมรรคญาณนั่นเอง เหมือนความสุขสบายที่เป็นผลของการหายจากโรค ในที่นี้ หมายถึงพ้นจากโรคคือกิเลส กิเลสนั้นไม่กลับกำเริบขึ้นอีก ที่ท่านเรียกว่า อกุปปาวิมุตติ นิพพานก็ปรากฏขึ้นในลำดับนี้ คือ เป็นความสุขสงบที่ยั่งยืนตลอดไป ไม่ต้องทุกข์ทรมานเพราะเรื่องนั้นอีก

   ๑๖. ปัจจเวกขณญาณ คือ การพิจารณากิเลสที่ละได้แล้ว และกิเลสที่ยังไม่ได้ละสำหรับพระอริยบุคคล ๓ ระดับต้น กล่าวคือ พระโสดาบัน พระสกทาคามี พระอนาคามี  ส่วนพระอรหันต์นั้น ปัจจเวกขณญาณ มีเพียง ๑ คือ พิจารณากิเลสที่ละแล้วอย่างเดียว กิเลสที่ยังไม่ได้ละไม่ต้องพิจารณาเพราะไม่มีแล้ว

   เรื่องญาณ ๑๖ นี้ ยังมีรายละเอียดอยู่อีกบ้างแต่เขียนอย่างย่อพอเห็นแนวทางตั้งแต่เริ่มปฏิบัติวิปัสสนากำหนดรูปนามจนถึงมรรคผลนิพพาน และการพิจารณากิเลสที่ละได้แล้วเป็นที่สุด ไม่ทราบว่าจะซ้ำกับที่คุณปุถุชนหมายเลข ๑ เคยอื่นหรือไม่ ถ้าคุณไม่ได้ความรู้อะไรเพิ่มขึ้นจากที่เคยรู้อยู่แล้ว ก็ขอให้คิดเสียว่า ถามเผื่อคนอื่นที่ยังไม่เคยรู้ก็แล้วกัน

(ขอขอบคุณที่ถามมา วศิน อินทสระ)



วิปัสสนาญาณ ๙

https://www.bloggang.com/viewdiary.php?id=samathijit&month=04-2021&date=06&group=1&gblog=12

โสฬสญาณ 

https://www.bloggang.com/viewdiary.php?id=samathijit&month=04-2021&date=06&group=1&gblog=13

 


Create Date : 19 เมษายน 2565
Last Update : 19 เมษายน 2565 8:37:38 น. 0 comments
Counter : 405 Pageviews.

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 
space

สมาชิกหมายเลข 6393385
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
ผู้ติดตามบล็อก : 9 คน [?]






space
space
[Add สมาชิกหมายเลข 6393385's blog to your web]
space
space
space
space
space