กรรมเก่า คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ.เป็นเจ้าบทบาทเดิม จากนั้น การศึกษาอาศัยปรโตโฆสะ ซึ่งมีคติว่า "คนเป็นไปตามสภาพแวดล้อมที่ปรุงปั้น" และโยนิโสมนสิการ ซึ่งมีคติย้อนกลับว่า "ถ้าเป็นคนรู้จักคิด แม้แต่ฟังคนบ้าคนเมาพูด ก็อาจสำเร็จเป็นพระอรหันต์"
space
space
space
<<
มิถุนายน 2564
 12345
6789101112
13141516171819
20212223242526
27282930 
space
space
14 มิถุนายน 2564
space
space
space

พรหมวิหาร ๔



    พรหมวิหาร    ธรรมเครื่องอยู่ของพรหม, ธรรมประจำใจอันประเสริฐ, ธรรมประจำใจของท่านผู้มีคุณความดียิ่งใหญ่ มี ๔ อย่าง คือ เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา

      เมตตา     ความรัก, ความปรารถนาให้เขามีความสุข, แผ่ไมตรีจิตคิดจะให้สัตว์ทั้งปวงเป็นสุขทั่วหน้า

      กรุณา     ความสงสารคิดจะช่วยให้พ้นทุกข์, ความหวั่นใจ เมื่อเห็นผู้อื่นมีทุกข์ คิดหาทางช่วยเหลือปลดเปลื้องทุกข์ของเขา

      มุทิตา     ความพลอยยินดีเมื่อผู้อื่นได้ดี, เห็นผู้อื่นอยู่ดีมีสุข ก็แช่มชื่นเบิกบานใจด้วย เห็นเขาประสบความสำเร็จเจริญก้าวหน้ายิ่งขึ้นไป ก็พลอยยินดีบันเทิงใจ พร้อมที่จะส่งเสริมสนับสนุน ไม่กีดกันริษยา ธรรมตรงข้ามกับ อิสสา

      อุเบกขา  ความวางใจเป็นกลาง   ไม่เอนเอียงด้วยชอบหรือชัง, ความวางใจเฉยได้ ไม่ยินดียินร้าย เมื่อใช้ปัญญาพิจารณาเห็นผลอันเกิดขึ้นโดยสมควรแก่เหตุและรู้ว่าพึงปฏิบัติต่อไปตามธรรม หรือตามควรแก่เหตุนั้น, ความรู้จักวางใจเฉยดู เมื่อเห็นเขารับผิดชอบตนเองได้ หรือในเมื่อเขาควรต้องได้รับผลอันสมควรแก่ความรับผิดชอบของเขาเอง, ความวางทีเฉยคอยดูอยู่ในเมื่อคนนั้นๆ สิ่งนั้นๆ ดำรงอยู่หรือดำเนินไปตามควรของเขาตามควรของมัน ไม่เข้าข้างไม่ตกเป็นฝักฝ่าย ไม่สอดแส่ ไม่จู้จี้สาระแน ไม่ก้าวก่ายแทรกแซง 

เรียกอีกชื่อหนึ่งว่า อัปปมัญญา ๔ 

5

อธิบายด้วยสำนวนบ้านๆ เข้าใจไม่ยาก จาก 450 หน้า ๔๓๙

https://cf.shopee.co.th/file/140191a143b342301bbd6b34139df942
 
    คำว่า  “พรหม” นี้  เมื่อก่อนเขาเข้าใจกันว่า  เป็นผู้สร้างโลก เป็นผู้มีฤทธิ์ มีอำนาจบันดาลให้เกิดโลกขึ้น   ต่อมาเมื่อพระพุทธเจ้าเกิดขึ้น พระองค์ก็ได้เปลี่ยนตัวพรหมที่เป็นบุคคลให้เป็นธรรมะ เรียกว่า เป็นธรรมาธิษฐาน คือ อธิบายในรูปของธรรม ไม่ใช่ให้คนเข้าถึงพระพรหมที่เป็นบุคคล พระพรหมที่เป็นบุคคลนั้น ทำอะไรไม่ได้ ช่วยอะไรเราไม่ได้ แม้เราจะเข้าถึงก็เข้าถึงไม่ได้  แต่ว่าพรหมที่เป็นตัวธรรมะนั้นเข้าถึงได้   เพราะฉะนั้น   จึงได้เปลี่ยนคำว่าพรหมที่คนเข้าใจว่า เป็นเทพเจ้าเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์นั้นให้กลายเป็นธรรมไป

    เคยมีพราหมณ์คนหนึ่ง   เข้าไปทูลถามพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า พระองค์รู้จักพระพรหมหรือเปล่า ?

    พระองค์ก็ตอบว่า   เรารู้จัก   เราไม่ใช่เพียงรู้จักพระพรหมเท่านั้น เรายังรู้จักทางที่จะให้ไปถึงพระพรหมด้วย   

พราหมณ์คนนั้น  ก็ถามว่า   พระพรหมคือใคร ?

    พระองค์ก็ตอบว่า    พระพรหมก็คือ บุคคลผู้ประกอบด้วยธรรม ๔ ประการ ซึ่งเรียกว่า พรหมวิหารธรรม

แล้วทางที่จะให้ถึงพระพรหมนั้น  คืออะไร ?

    พระองค์ก็ตอบว่า    ก็คือคือธรรมะ ๔ ประการนั่นอีกเหมือนกัน

     พราหมณ์คนนั้น ได้ฟังดังนั้นแล้ว ก็รีบไป แปลว่า ยังไม่ได้ประโยชน์อะไรจากการฟัง เพราะแกเชื่อว่า พระพรหมมีอยู่ในสรวงสวรรค์ เป็นผู้ดลบันดาลอะไรอะไรต่างๆ ให้เกิดขึ้นตามที่เขาเคยนับถือกันมา

     พวกฮินดูที่นับถือศาสนาพราหมณ์นั้นนับถือพระผู้เป็นเจ้ายิ่งใหญ่ ๓ องค์ คือ พรหมะ ศิวะ วิษณุ เขาถือว่าเป็นเทพเจ้าที่อยู่ในสรวงสวรรค์เพื่อที่จะต้องกราบไหว้

    แต่เมื่อถึงยุคพระพุทธเจ้า    ได้เปลี่ยนตัวบุคคลให้เป็นตัวธรรมะ หมายถึง  ข้อปฏิบัติที่คนจะได้เข้าถึงได้

ถ้าเราจะเป็นพระพรหมก็ไม่ยากอะไร คือ  ปฏิบัติในธรรม ๔ ประการนี้ เราก็เป็นพระพรหม

    คำว่า   “พรหม”   ในพระพุทธศาสนานั้น  หมายถึง “ผู้ใหญ่” ใครเป็นผู้ใหญ่ต้องชื่อว่าเป็นพรหม เช่น พ่อแม่นี่เป็น พรหมของบุตรธิดา   มีพระพุทธภาษิตว่า “พรหมาติ มาตาปิตโร” แปลว่า มารดาบิดาเป็นพรหมของบุตรธิดา”

   ทำไมจึงได้เรียกว่าเป็นพระพรหม ?   ก็เพราะเป็นผู้สร้างบุตรธิดาออกมา แล้วก็เป็นผู้เลี้ยงดูอุปถัมภ์ค้ำชูทุกประการ ไม่ใช่สร้างแล้วทิ้งๆขว้างๆ แล้วก็บิดามารดาท่านมีธรรมะ ๔ ประการในใจ คือ มี เมตตา    ปรารถนาความสุขแก่บุตรธิดา   กรุณา ก็สงสารช่วยเหลือให้พ้นจากความทุกข์ความเดือดร้อน   มุทิตา   พลอยยินดีเมื่อบุตรธิดาได้ดิบได้ดี มีการศึกษา มีความก้าวหน้าในการปฏิบัติงาน   อุเบกขา  วางเฉยเพราะไม่มีอะไรที่จะต้องเข้าไปเกี่ยวข้อง  มารดาบิดาจึงได้ชื่อว่าเป็นพรหมในครอบครัว   เป็นพรหมที่อยู่ใกล้เราที่สุด   ถ้าเราจะไหว้พระพรหมไม่ต้องไปไหว้บนสรวงสวรรค์    เราไหว้พ่อแม่ของเรานั่นแหละ   เพราะท่านเป็นพระพรหมของเราอยู่แล้ว ที่เราควรจะกราบไหว้บูชาสักการะระลึกถึงบุญคุณของท่าน

   หรือว่าบุคคลใดที่เป็นผู้ใหญ่    เป็นหัวหน้าในหมู่ในคณะ ผู้นั้นต้องเป็นพรหม ต้องเป็นด้วย เพราะถ้าไม่เป็นพรหมแล้วก็เป็นผู้ใหญ่ที่ใช้ไม่ได้ เป็นผู้ใหญ่ที่ไม่มีคุณธรรมประจำจิตใจ แล้วจะปกครองหมู่คณะได้อย่างไร เช่น เป็นอธิบดีในกรมหนึ่ง ก็เรียกว่าเป็นพระพรหมในกรมนั้น เป็นเสนาบดีในกระทรวงหนึ่ง ก็เป็นพระพรหมในกระทรวงนั้น เป็นหัวหน้ากองก็เป็นพรหมในกองนั้น เป็นหัวหน้าแผนกก็เป็นพรหมในแผนกนั้น ไม่ว่าใครที่เป็นหัวหน้าเขาต้องเป็นพรหม ถ้าไม่เป็นพรหมแล้วมันเป็นหัวหน้าที่สมบูรณ์ไม่ได้ ความเป็นไม่สมบูรณ์

ทีนี้ ความเป็นพรหมนั้นอยู่ที่ ความมีคุณธรรม ๔ ประการ

     ๑) เมตตา    ความรักใคร่ปรารถนาให้ผู้อื่นเป็นสุข   เมตตาในที่นี้  เป็นความรักที่ไม่เจือด้วยราคะ   ความความรักที่เจือด้วยราคะที่หญิงสาวชายหนุ่มเขารักกันนั้น เขาไม่ได้มีเมตตาต่อกัน แต่มันเป็นเรื่องของเนื้อหนัง   เรื่องความกำหนัดความพอใจในสิ่งที่ตนจะมีจะได้ ไม่ชื่อว่ามีลักษณะของพรหม   ผู้มีเมตตาเรียกว่าเป็นพรหมนั้น เพราะมีน้ำใจปรารถนาความสุขแก่บุคคลอื่นแท้จริง โดยไม่หวังอะไรตอบแทนด้วย  มีแต่ให้ความเมตตาแก่คนเหล่านั้น เพราะถือว่ามันเป็นหน้าที่ที่เราจะต้องแผ่เมตตาไปยังบุคคลนั้น   เป็นผู้ใหญ่ก็เป็นร่มโพธิ์ร่มไทยแก่ผู้น้อย ต้องแผ่กิ่งก้านสาขาให้ร่มครึ้ม เพื่อบังแดดบังฝนให้แก่คนที่อยู่ใต้บังคับบัญชา ถ้าเรามีลักษณะอย่างนั้นอยู่ในใจ เราก็เรียกว่าเป็นพระพรหมแล้ว  มีหน้าเป็นพรหมแล้ว คือหน้าเมตตา   พระพรหมมี ๔ หน้า ก็คือ ๔ อย่างนี้ ไม่ใช่เหมือนในรูปปั้น  ถ้าเป็นเหมือนรูปปั้นแล้วก็คงจะนอนลำบาก   หน้ามันต้องเกี่ยงกัน เอาจมูกด้านนี้ลงมันก็ต้องบ่นว่ากูแย่   แหมไม่รู้ว่าจะนอนอีท่าไหนดี   พรหมสี่หน้านี้นอนยาก คงไม่นอน คงจะนั่งหลับ

    พระพรหมสี่หน้าในที่นี้    หมายถึง หน้าเมตตา หน้ากรุณา หน้ามุทิตา หน้าอุเบกขา จึงจะเรียกว่า เป็นพระพรหม ตามธรรมะ   ผู้ที่เป็นผู้ใหญ่จึงต้องเป็นผู้มีเมตตาปรารถนาดีต่อผู้น้อย ไม่คิดแบ่งพวกแบ่งก๊ก เช่น ไม่คิดว่าพวกนั้นมันเด็กของฉัน ไอ้นั้นไม่ใช่ อย่างนี้ละก็ไม่ได้แล้ว มีอคติคือความลำเอียงเพราะรัก เพราะชัง เพราะกลัว เพราะหลง การปกครองหมู่คณะก็จะไม่เรียบร้อย สร้างความวุ่นวายให้เกิดขึ้นในหมู่คณะนั้นได้ เพราะฉะนั้น ผู้ที่เป็นหัวหน้าจึงต้องแผ่เมตตาเสมอไป เหมือนกับแสงจันทร์ แสงอาทิตย์ที่สองมายังพื้นโลก   แสงอาทิตย์ไม่ได้เลือกส่องแต่บ้านคนมั่งมี หรือบ้านคนจนส่องไปทุกบ้าน จะเป็นกษัตริย์ เป็นเวศย์ เป็นจัณฑาล ดวงอาทิตย์ส่องถึงทั้งนั้น แสงจันทร์ยามค่ำคืนก็เหมือนกัน ไม่ได้เลือกส่องเฉพาะหลังคาบ้านคนนั้น หลังคาบ้านคนนี้   แต่ว่าส่องไปทั่วทุกหลังคาเรือนที่อยู่บนพิภพนี้ แสงจันทร์ แสงอาทิตย์ส่องถึงฉันใด   ผู้ที่เป็นใหญ่ก็จะมีสายตามองไปยังผู้ที่อยู่ใต้บังคับบัญชาของเราทุกคนว่าเป็นคนของเรา เราต้องแผ่เมตตาให้สม่ำเสมอต่อคนเหล่านั้น หวังดีปรารถนาดีต่อคนเหล่านั้น มีอะไรที่จะช่วยทำให้เขามีความเจริญ มีความก้าวหน้าในชีวิตในการงานได้ เราก็ต้องทำสิ่งนั้น อย่างนี้ เรียกว่า มีเมตตา จิตคิดแต่เรื่องปรารถนาดีต่อคนทั่วไปอยู่อย่างนี้ประการหนึ่ง

      ๒) กรุณา   คือ สงสารคิดจะช่วยให้เขาพ้นทุกข์. กรุณานี้ใช้เมื่อเห็นคนเป็นทุกข์ เห็นใครเดือดเนื้อร้อนใจ คับอกคับใจ มีปัญหาอะไรขึ้นมาก็ไม่เป็นคนดูดาย ไม่นิ่งไม่เฉยไม่ละเลยที่จะเข้าไปช่วยเหลือ ลักษณะที่คนกรุณานั้น เมื่อเห็นอะไรบกพร่องเกิดขึ้นแก่คนใด ต้องสอดแทรกเข้าไปช่วยเหลือทันที ลักษณะที่ทนอยู่ไม่ได้เมื่อคนอื่นเป็นทุกข์ แล้วจะเข้าไปช่วยเหลือ นั้นคือกรุณา

      กรุณานี้ มันเป็นเรื่องที่ต้องออกมาทีเดียว ไม่ใช่คิดอยู่ในใจ แต่เป็นเรื่องที่ต้องลงมือช่วย เช่น เห็นคนตกน้ำ เราจะไปนั่งแผ่เมตตาว่าเป็นสุขเป็นสุขเถิดอยู่ไม่ได้ มันแผ่อยู่อย่างนั้นไม่ได้ มันจะตายเสียเปล่าๆ เราต้องหาวิธีช่วยเขาขึ้นจากน้ำ อย่างนี้ เรียกว่า กรุณา   หรือว่าเห็นคนเจ็บไข้ได้ป่วย เรามีอะไรจะช่วยเหลือได้บ้าง เช่น มียาสำหรับแก้ไข้ ก็แบ่งให้เขากินเขาใช้ เห็นตกระกำลำบาก เช่นว่า เกิดไฟไหม้ น้ำท่วม พายุพัดบ้านพังไปเหลือแต่ตัว ไม่รู้จะไปซุกหัวนอนที่ไหน เราก็มีน้ำใจสงสาร ให้การช่วยเหลือแก่คนเหล่านั้นเท่าที่เราสามารถจะช่วยได้ เช่น ให้อาหาร ให้เสื้อผ้า ให้หยูกยา แม้เราเข้าไปปลอบโยนให้กำลังใจก็ยังดี เรียกกว่า น้ำใจประกอบด้วยความกรุณา
มูลนิธิต่างๆ ที่มีอยู่ในกรุงเทพฯ พวกเหล่านี้บำเพ็ญคุณธรรม คือความกรุณาทั้งนั้น พอมีไฟไหม้ที่ไหน พวกนี้ไปถึง เขาไปทันที ช่วยต้มข้าวกระทะใหญ่ๆ ตักข้าวต้ม หัวไชโป้ ปลาเค็ม แจกกันไปตามเรื่อง แล้วก็เอาของต่างๆ มาแจก เช่น มุ้ง หมอน ที่นอน เสื่อสาด อะไรที่จำเป็นสำหรับคนที่ไม่มี เขาจะแจกก่อนแล้วค่อยไปเรี่ยไรกันทีหลัง เพราะมีสมาชิกที่ช่วยเหลือกิจกรรมประเภทนี้อยู่มาก นั่นแหละคือความกรุณา ทนอยู่ไม่ได้เข้าไปช่วยเหลือ

     คนเรานี่มันต้องอยู่ด้วยความกรุณา สังคมมนุษย์จึงจะมีความสบาย ถ้าไร้กรุณาแล้วมันอยู่กันไม่ได้ มนุษย์ก็เดือดร้อน เชคสเปียร์เขาจึงเขียนไว้ว่า “อันความกรุณาปรานี จะมีใครบังคับก็หาไม่ หลั่งมาเองเหมือนฝนอันชื่นใจ จากฟากฟ้าสุราลัยสู่แดนดิน” อันเป็นพระราชนิพนธ์ของในหลวงรัชกาลที่ ๖ ท่านแปลมาจากหนังสือเรียง The Merchant of Venice แปลเป็นไทยว่า เวนิสวานิช ของเชคสเปียร์    แสดงว่าความกรุณานั้นมาเอง   เพราะกระทบอารมณ์ที่น่าเห็นอกเห็นใจ ทนไม่ได้ ต้องวิ่งเข้าไปช่วย เหมือนกับมารดามีความกรุณาต่อบุตร หากบุตรล้มลงไปนี่ แม่ต้องวิ่งเข้ามาช่วยทันที อุ้มประทับอก ปลอบโยนเช็ดดินที่ติดตะโพกให้ นี่คือความกรุณาที่มารดามีต่อบุตร
เรื่องความกรุณานี่ต้องบำเพ็ญทุกโอกาสที่จะทำให้ แต่ว่าบางทีมันก็ลำบากเหลือเกิน

    เมื่อวานนี้นั่งรถกลับมาก็มีรถไปชนคน ชนผู้หญิงล้มลงไปแต่ไม่เจ็บเท่าใด อันนี้ คนที่นั่งมาด้วยกันบอกว่า แหม วันก่อนนี้ผมเกือบแย่ เป็นพลเมือดีก็เกือบแย่ ว่าอย่างนั้น คือรถมันชนคนแล้วก็ไป แกก็เห็นว่าคนที่ถูกชนมันน่าสงสาร จึงไปอุ้มขึ้นมาใส่รถของตัว แล้วพาไปโรงพักเพื่อพาไปแจ้งความก่อน แต่ตำรวจไม่ยอมให้ไปไหน กักตัวไว้วันหนึ่ง เพราะคนนั้นมันสลบ มันไม่ฟื้นขึ้นมา พอหมอมาทำปฐมพยาบาล คนไข้ฟื้นขึ้นมาบอกว่าไม่ใช่คนที่ชนผม รถคันอื่น จึงได้ปล่อยตัว แกบอกว่าเป็นพลเมืองดีนี่แย่ไปเลย เสียเวลาทำมาหากินไปวันหนึ่ง เพราะเขาสงสัยว่าตัวชนเองแล้วก็อุ้มมา  คนที่ชนมันไม่อุ้มดอก    ตำรวจมันต้องใช้ไซโคหน่อย คนที่ชนแลวจะอุ้มมามันมีครึ่งเปอร์เซ็นต์ของเหตุการณ์เท่านั้นแหละ มันไม่อุ้มดอก ชนปั้บสัญชาติญาณมันบอกว่ากูหนีก่อนละ มันก็หนีไปเท่านั้นเอง มันไม่ลงมาอุ้มไปส่งดอก

    เมื่อคราวก่อนผมนั่งรถไปชนเอาคนแก่ ชนเสียกระเด็นคว่ำไปเลย คนรถมันพูดอย่างไรรู้ไหม มันบอกว่า ตายแล้วไปเลย พวกเราบอกไปไม่ได้ต้องหยุดดูก่อนว่า คนเจ็บขนาดไหน เลยบังคับให้หยุดแล้วมันลงไปดูบอกว่า ตายแล้วครับ รีบๆ ไปเถอะ ช้าไม่ได้ พวกเราบอกว่าไปไม่ได้ เธอต้องเอาคนเจ็บขึ้นรถพาไปโรงพัก คนขับบอกว่าไปไม่ได้ ขืนไปผมติดคุก   พวกเราก็บอกว่าติดคุกไม่เป็นไร พวกเราเป็นพยานในเหตุการณ์นี้อยู่ เธอหนีไม่พ้นดอก ขืนหนีไปเขาก็สืบหาได้ ฉะนั้น เธอไปเอาคนเจ็บขึ้นรถเลย บังคับให้เขาพากคนเจ็บขึ้นรถ แต่ว่าเขาไม่พาไปโรงพักโรงพยาบาลดอก พาเอาไปที่บ้านเจ้านาย เอาไปรักษาที่นั่น สำหรับพระที่ไปในงานศพเขาก็พาไปส่งวัด ทีนี้ เจ้านายนั้น เป็นคนมีอิทธิพลในจังหวัดนั้น ก็รักษากันจนฟื้นขึ้นมาแล้วก็เอาสตางค์ยัดกระเป๋าให้คนเจ็บแกไปคนยากจน ได้ไปพันสองพันแกดีใจแล้ว เจ้านั่นก็เลยไม่มีเรื่องไป นี่ดีที่พระนั่งไปด้วยนะ ถ้าไม่ได้ไปด้วยมันก็ชนทิ้งไว้ข้างถนนนั่นแหละ คนขับรถก็อย่างนี้แหละ ชนแล้วมันก็ทิ้ง คนที่อุ้มนั้นไม่ได้ชนเพราะจิตใจมันยังปกติ

    คนเราเวลาทำผิดจิตมันไม่ปกติ มันคิดจะหนีท่าเดียว คนอุ้มเลยโดนกักตัวไว้ กว่าจะได้กลับก็เย็น แล้วบ้านก็อยู่ไกล อยู่ถึงชลบุรีแถวบางละมุง ญาติพี่น้องเป็นห่วง ตำรวจก็ไม่รู้จัก ความจริงแกเป็นคนมีสตางค์ แล้วก็เป็นคนกว้างขวางในสังคม แต่ว่าเป็นสังคมกรุงเทพฯ หัวเมืองใครจะรู้ คนเป็นพลเมืองดีก็แย่ไปเลย อย่างนี้ก็มีเหมือนกัน   แต่ว่า เราอย่าไปกลัวเลย เป็นพลเมืองดีนั่นแหละดี ช่วยเหลือกันไป ธรรมะย่อมคุ้มครองผู้ประพฤติธรรม แม้โยมคนนั้นก็ได้รับความคุ้มครองจากธรรมะ เพราะเมื่อคนนั้น ลืมตาก็บอกว่า ไม่ใช่คนนี้ นี่ธรรมะมันคุ้มครองแล้ว ถ้าชนเลยธรรมะไม่คู้ครองดอก ก็จะโดนชี้หน้าเอาว่า ไอ้นี่แหละมันชนผม ดังนั้น เมื่อมีโอกาสใดที่จะประพฤติธรรมได้ อย่าละเลย โดยเฉพาะความกรุณานั้นสำคัญ

    ลักษณะคนที่มีความกรุณานั้นก็คือ ไม่ดูดาย ในเมื่อเห็นว่าอะไรพอจะทำได้ก็เข้าไปช่วยเขา ในเมื่อเห็นว่าคนเขาทำงาน ก็ไม่ดูดายต้องเข้าไปช่วยเท่าที่เราจะทำได้ เรียกว่า เป็นผู้มีน้ำใจกรุณา ถ้าเราทำได้เช่นนี้ไปไหนไม่ลำบาก เพราะว่าจะมีคนคอยช่วยเหลือเราอยู่เหมือนกัน  เรื่องอย่างนี้มันแปลก มันมีผลปรากฏที่เราจะเห็นเองว่ามันมีผลกลับมาช่วยเรา มีตัวอย่างอยู่ถมไปโดยเราไม่ได้คิด ถ้าคิดก็จะเห็นว่า อาจเกิดจากครั้งหนึ่งที่เราได้ช่วยคนโน้นคนนี้ แม้อาจจะไม่ได้รับกา ตอบแทนจากคนนี้โดยตรง ก็ได้จากคนอื่นๆ ชดเชยมา   ผลเช่นนี้ มันมีบ่อยๆ ในชีวิตของหลวงพ่อก็เห็นบ่อยๆ ว่ามันมีผลกลับมาสู่ตัวเรา ตามที่เราได้เคยทำอะไร ๆไว้ เพราะฉะนั้น หว่านพืชให้ดีๆ ไว้เถอะ แล้วผลมันก็จะปรากฏขึ้นเอง แม้เราไม่หวังอะไรมันก็มาเอง หวังนั้น บางทีมันไม่สบายใจ เพราะหัดแผ่กรุณาไว้กับคนทุกคนที่เราจะช่วยได้ อย่าเป็นคนใจจืดใจดำทำตนไม่รู้ไม่ชี้ หัดช่วยคน เช่น ถ้าเรา นั่งในรถประจำทาง เห็นคุณยายขึ้นมาเก้ๆกังๆ รถนั้น พอคนขึ้นมามันก็ออก คุณยายก็เค้เก้ไปเลย หงายหลังไปเลย เราเห็นเช่นนั้นก็ช่วยพยุงจับมือขึ้นมา ยกของของแกขึ้นมาวาง จัดที่นั่งให้เรียบร้อย เด็กก็เหมือนกัน เราช่วยเหลือด้วยน้ำใจงาม สาวก็เหมือนกัน เราควรช่วยเหลือด้วยจิตเป็นกุศล อย่าช่วยด้วยอกุศลจิต ให้คิดว่าเป็นหน้าที่ที่เราควรช่วยได้ตามความสามารถ

     ๓) มุทิตา    หมายถึง   ยินดีเมื่อผู้อื่นได้ดีได้สุขมีความเจริญ ได้ความก้าวหน้า นี่สำคัญเหมือนกัน คนที่ยืนดีกับคนอื่นไม่ได้นั้น เพราะมันมีความริษยาอยู่ในใจ พอเห็นใครได้ดีมีความเจริญ ใจมันก็ไม่ชอบขึ้นมาทีเดียว ตัวริษยานี้เป็นภูเขาขวางมุทิตา ไม่ให้พลอยยินดีกับใครๆ เพราะฉะนั้น ต้องทำลายตัวริษยา สร้างตัวเมตตาให้เกิดขึ้น โดยหัดไปแสดงความยินดีกับเขาเมื่อเขาก้าวหน้า หรือเมื่อพ้นจากความทุกข์โศกโรคภัย หากไม่ได้แสดงด้วยกิริยาท่าทางด้วยวาจา ก็ให้แสดงด้วยใจ ด้วยการสาธุ ที่ทางพระแปลว่า ดีแล้ว ในหมู่พุทธบริษัทก็ใช้คำนี้เช่นกัน

    อันคนที่มีปกติพลอยยินดีในความดีของคนอื่น เราจะเห็นได้ง่ายๆ คือเป็นคนไม่พูดร้ายกับใครๆ การพูดวาจาทำร้ายคนอื่นๆ นั้น มันมาจากจิตใจที่พยาบาท ไม่ใช่มาจากดวงจิตที่มีมุทิตา เช่น พูดว่า คนนี้เป็นอย่างนั้น คนนั้นเป็นอย่างนี้ ที่พูดเช่นนี้ เพราะใจมันอยากโฆษณาความชั่วของเขา อยากจะซ้ำเติมเขาให้มันเสียผู้เสียคนไปเลย  คนมีมุทิตานั้นเป็นคนชม ไม่ค่อยติใคร ถ้าเขาเอ่ยชื่อใครเขาก็จะพูดว่าดีอย่างนั้น ดีอย่างนี้ มีแต่เรื่องดี ที่เป็นเช่นนี้ เพราะเขามองคนในแง่ดี   ส่วนคนริษยาคนพยาบาทนั้น มักมองคนในแง่ร้าย มองหาแต่ความชั่ว สักนิดก็ต้องหาจนเจอ พอเจอก็เอาไปโพนทะนาอย่างโน้นอย่างนี้ ไม่มีดเลย นี่เรียกว่าจิตมันชั่ว เพราะมองอะไรชั่วไปตามจิตใจ

   คนที่จะมีมุทิตา   ต้องหัดมองคนในแง่ดี ว่าเออคนนี้มีดีอะไรบ้าง คนน่ะจะเลวทรามอย่างไร มันก็ต้องมีดีอยู่ในตัวบ้างล่ะ ให้หัดมองเรื่องดีของเขา แล้วถ้าเอาเรื่องของคนนั้นไปคุย ให้เอาเรื่องความดีของเขาไปคุย อย่าเอาความชั่วร้ายไปคุย เพราะเราต้องการส่งเสริมความดี โฆษณาความดี ประชาสัมพันธ์ความดีให้โลกได้รู้ได้เข้าใจ   ถ้าเรามัวแต่ประชาสัมพันธ์ความชั่ว โลกจะดีขึ้นได้อย่างไร คนเราฟังอะไรมากมันก็อยากเป็นอย่างนั้นแหละ ฟังเรื่องชั่วมาก ใจมันก็ชั่วลงไปเรื่อยๆ ฟังเรื่องดีมาก จิตใจมันก็ดีขึ้นเป็นลำดับ เพราะฉะนั้น เราควรหัดพูดเรื่องดีของคนอื่น ของเพื่อนฝูงมิตรสหาย หัวหน้าราชการ ยิ่งเป็นหัวหน้าของเราด้วยแล้ว จำไว้เถอะว่าอย่าไปพูดติเข้าเป็นอันขาด เสียคนเชียวละ เช่น พูดว่าหัวหน้ากองเรามันแย่ คนพูดนั่นนะแย่แล้วละ หรือไปว่าอธิบดีว่าไม่ไหว เรานั่นแหละไม่ไหว เพราะอธิบดียังปกติ เราเองมันจะหนักลงไปทุกวันเวลา เพราะใครเขาได้ยินได้ฟังแล้วเขาจะดูหมิ่นว่า เรานี่ไม่ไหวเป็นคนใช้ไม่ได้ อยู่กับนายก็นินทานาย นานๆไปก็จะนินทาพ่อแม่ว่าพ่อแม่ผมแย่ นี่มันเละแล้วละ ต่อไปก็ว่าเมียผมไม่ไหว ใครมันจะพอใจล่ะที่พูดอย่างนี้ เราต้องพูดว่าอธิบดีผมนั้นเก่งงานดีรอบคอบ หาความดีเอาไปชม

     เราไปอยู่ไหนก็เหมือนกัน เหมือนมาอยู่วัดนี่ เราควรเอาความดีไปพูด อย่าเอาความชั่วไปพูด เพราะความชั่วมันไม่เป็นประโยชน์อะไร หากเอาความดีไปพูด คนก็อยากดีตามบ้าง  ถ้าเราชมคนมากๆ คนจะอยากเป็นคนดี หนังสือพิมพ์ที่เขาใช้นโยบายไม่เข้าเรื่อง ด่าคนไม่ทำดี ไอ้ด่าคนไม่ทำดีนี้ไม่ได้ นายเดลคาร์เนกี้ เขียนในบทผูกใจคน บทแรกแกบอกว่า อย่าแหย่รังแตน แตนมันจะต่อยเอา เราต้องเข้าไปเงียบๆ ตามคำสำนวนที่ว่าเงียบเหมือนตีแตนเชียว ถ้าแตนมันรู้มันก็ต่อยเราหน้าหงายไปเท่านั้นเอง เพราะฉะนั้น ต้องเงียบเหมือนตีแตน เราจึงต้องเอาลักษณะที่เรียกว่า เอาความดีมาพูดกัน ความดีของคนนั้นของคนนี้ เดี๋ยวนี้ เขาเขียนแต่เรื่องความชั่วของคน มีแต่เรื่องชั่ว เมืองไทยไม่มีคนดีแล้ว มันชั่วทั้งนั้น ไม่มีคนไหนที่เขาชมสักคนเดียว แสดงว่าบ้านเมืองของเรานี่มันแย่ มีแต่คนชั่ว แล้วคนที่ชั่วก่อนเพื่อนคือคนที่เขียน เพราะตามันชั่วมองเห็นแต่คนชั่ว ความชั่วของคนอื่น ปากมันก็ชั่ว เพราะพูดแต่เรื่องชั่วของคนอื่นตลอดเวลา คุณธรรมมันจะเกิดขึ้นได้อย่างไร อันนี้เป็นเรื่องที่น่าคิดอยู่เหมือนกัน แต่ว่านักหนังสือพิมพ์มันต้องทำอย่างนั้น เพราะต้องหากินทางข่าว ต้องมีดีบ้าง ชั่วบ้าง   แต่โดยมากชั่วมากกว่าดี   เพราะเวลาดีเขาไม่เขียน   คนทำดีไม่เป็นข่าว แต่คนทำชั่วเป็นข่าว

     เราไม่ควรเอาความชั่วในสำนักงานเราไปคุย   ควรเอาความดีไปคุย พระท่านสอนไว้ว่าอย่างนี้ “ไฟในอย่านำออก ไฟนอกอย่านำเข้า” ไฟในที่นี้ หมายความว่า เรื่องไม่ดีไม่งามในวงในของเรา ในครอบครัวเรา ในสกุลของเรา ในวงงานของเราที่เราอยู่ด้วย อย่าออกไปพูด ของไม่ดีทั้งหลายที่อยู่ภายในให้มันอยู่ข้างใน อย่านำออกไปข้างนอก  ไฟข้างนอกก็อย่านำมาข้างใน เรื่องชั่วร้ายเรื่องร้ายไม่ดี อย่าเอามาพูดกันในครอบครัว มันจะเป็นเรื่องวุ่นวายใจกันเสียเปล่าๆ หัดพูดเรื่องดีเรื่องงาม คุยแต่เรื่องความดีต่อกันแล้ว ก็สบาย นี่ลักษณะของคนมีมุทิตามันอยู่ตรงนี้

    ถ้าเราไปพบใครสักคนหนึ่ง แล้วเราเอ่ยชื่อใครสักคนหนึ่งว่าคนนั้นดีอย่างนั้น ดีอย่างนี้ คนนั้นมีลักษณะมุทิตา แต่ถ้าเราเอ่ยความดีของใครสักคนหนึ่ง แล้วว่าอีกคนหนึ่งไม่ได้ความเลย คนนั้นน่ะไม่เข้าท่าเลย แสดงว่าไม่มีมุทิตาจิต แต่ว่ามีความริษยาไม่อยากให้พูดถึงความดีของคนอื่น กลัวจะดีกว่าตัว กลัวจะล้ำหน้าตนไปเลยไม่อยากให้พูดถึง ลักษณะอย่างนี้หวังร้ายไม่เป็นเหตุให้เกิดความรัก ความสามัคคีในครอบครัว ในการงาน ในประเทศชาติ เพราะว่ามันเป็นเหตุให้เกิดความเสียหาย

    ไอ้เรื่องไม่ดีนี่เราพูดได้ในเวลาปรึกษาหารือกันเป็นวงใน เป็นเรื่องภายใน แล้วเราก็พูดว่า ไอ้นั่นไม่ดีอย่างนั้นอย่างนี้ เพื่อการแก้ไข แต่พอออกจากที่ประชุมไปแล้ว เอาไปพูดไม่ได้ เพราะมันเรื่องภายใน เหมือนกับนักการเมืองอยู่ในพรรคใดพรรคหนึ่งก็ตาม ถ้ามีอะไรไม่ดีก็ประชุมพรรคกัน แล้วก็ด่ากันไป สอบสวนกันไปให้เรียบร้อย พอออกจากประชุมต้องเอาพลาสเตอร์ปิดปาก ใครจะถามว่าประชุมเรื่องอะไร เรื่องนั้นเรอะ ไม่รู้ ทำท่าเฉยแล้วก็คือปิดปากเงียบ เรื่องที่หุบปากนิ่งเหมือนกับวิธีการของพวกเซ็นปิดปากนิ่งแล้วก็รีบเดินไปขึ้นรถเสีย พวกนักข่าวทั้งหลายก็หน้าเบ้ไปตามๆกันเลยละ ไม่ได้เรื่องอะไร นี่มันไม่เป็นอย่างนั้น    มนุษย์เรามันชอบเด่น ชอบคุยชอบโอ้อวด เพราะฉะนั้น จึงได้พูดออกไปเรื่องนั้นเรื่องนี้ อย่างนั้นมันก็เสียหาย จึงควรบังคับตัวเอง ว่าอะไรไม่ควรตอบ ก็ไม่ควรพูดไม่ควรตอบ อย่างนี้จึงจะดี ชีวิตมันจะได้เรียบร้อยไม่วุ่นวาย ท่านจึงว่า ไฟในอย่าน้ำออก ไฟนอกอย่างนำเข้า เป็นลักษณะที่ควรประพฤติปฏิบัติในสังคมร่วมกัน ไม่เอาอะไรไปพูดให้เสียหาย นี่คือ มุทิตา

    ๔) อุเบกขา   หมายถึง   ความวางเฉย   ไม่ดีใจ ไม่เสียใจ เมื่อถึงความวิบัติ   อุเบกขา น่ะมันเฉยอย่างไร? สมมติว่า เราไปเจองูมันจะกินเขียด มันกินเข้าไปแล้วละ คาบเขียดได้แล้ว เราจะทำอย่างไร จะเมตตาเขียดหรือจะไปแย่งเขียดจากปากงูหรือ มันก็ไม่เป็นธรรมแก่งูซี่ งูมันต้องกินเขียดนี่นา แล้วมันคาบได้แล้ว เราจะให้งูมันปล่อยได้อย่างไร    กรุณาหรือแหม  สงสารเขียดเหลือเกิน แล้วไม่สงสารงูบ้างหรือไรว่า งูท้องแห้งอยู่นานแล้ว อย่างนี้ไม่ได้ เมตตาก็ไม่ได้ กรุณาก็ไม่ได้ จะไปยินดีว่า เออ ขอให้งูอิ่มท้องนะงูนะ ไอ้เขียดตัวนี้มันโตดี มันก็ไม่ยุติธรรมแก่เขียดอีกนั่นแหละ ไม่ได้ทั้งนั้น เมตตา กรุณา มุทิตา ก็ไม่ได้    อย่างนี้    มันต้องอุเบกขาวางเฉย   เฉยเพราะอะไร? เฉยเพราะนึกว่าเป็นกรรมของสัตว์   นึกว่าเป็นกรรมของเขียด เที่ยววิ่งทะเล่อทะล่าเข้ามาหาศัตรูเอง มันก็เลยคาบเจ้าไป กรรมของเจ้า เจ้าก็ต้องไปนอนในท้องงูไปก่อน จนกว่าจะเป็นขี้แล้วเจ้าก็ได้ออก ว่าอย่างนั้นเถอะ นี่ต้องใช้อุเบกขา

    อย่างเห็นว่าตำรวจจับคนผิดกฎหมายใส่กุญแจมือ เราไปถึงเห็นเข้าสงสารมันจริง มีเมตตาต่อคนนั้น เมตตาน่ะพอไปได้ กรุณาน่ะไม่ได้นะ จะไปช่วยมัน ไปถึงบอกว่าปล่อยนะ อย่างนี้มันผิดกฎหมายจะปล่อยได้อย่างไร จะไปยินดีว่า แหม ตำรวจจับผู้ร้ายนี่ดีจริงก็ไม่ได้ มันเสียความเป็นธรรมในจิตใจ   อันนี้ต้องอุเบกขาวางเฉยว่ามันเป็นกรรมของสัตว์ มันคงจะไปทำผิดตำรวจถึงได้จับตัวมา ก็ต้องไปรับผลกรรมตามเรื่องละลูกเอ๋ย หลานเอ๋ย พูดอย่างนั้น เป็นอุเบกขาวางเฉย ไม่แสดงอาการอะไรออกไป   อุเบกขา ใช้เมื่อสามข้อข้างต้นนั้นใช้ไม่ได้แล้ว คือ เมตตาก็ไม่ได้ กรุณาก็ไม่ได้ มุทิตาก็ไม่ได้ ก็ต้องใช้อุเบกขา คือใช้ความวางเฉย ดังนั้น ท่านจึงวางไว้ ๔ ข้อ   ผู้เป็นใหญ่ต้องรู้จักใช้ เวลาใดควรใช้อะไร ใช้ให้ถูกต้องแก่กาลเทศะ ผู้นั้นจะเป็นผู้ใหญ่ที่สมบูรณ์ ถ้าใช้ไม่สมบูรณ์ก็เสียความเป็นธรรม เสียความเป็นผู้ใหญ่ ทำให้ไม่ได้รับความเคารพจากผู้อยู่ใต้บังคับบัญชา เรื่องมันก็เสียหาย

    สี่ประการนี้    เป็นพรหมวิหารธรรม   คนที่ปฏิบัติใน ๔ ข้อนี้ เ ป็นพรหมได้ เราเป็นได้ทุกคน เป็นได้ทุกโอกาส หากเราบำเพ็ญตามธรรมะ ๔ ข้อนี้ได้

15


ทีนี้  มาดูภาคปฏิบัติถึงเนื้อตัวของจิตบ้าง  

   ตอนนี้ผมอยู่ที่ญี่ปุ่นครับ ก่อนหน้านี้ไม่เคยปฏิบัติธรรมจริงๆจังๆเลย จนกระทั่งไม่นานมานี้ วาสนาพาให้ได้พบกับพระสงฆ์ไทยรูปหนึ่งที่ญี่ปุ่นนี่ ทราบว่าท่านน่าจะมาโปรดสัตว์ ผมได้ถามท่านว่า ทำอย่างไรจึงจะพ้นทุกข์ ท่านก็ไม่ตอบอะไร ยื่นหนังสือของท่านให้สามเล่ม เป็นหนังสือเกี่ยวกับการปฏิบัติตามแนวทางในอานาปานสติสูตร แล้วผมก็กราบลาท่านมา

    หลังจากได้หนังสือสามเล่มนั้นมาแล้ว ผมก็อ่านแค่เล่มแรกก่อน ใจความในเล่มแรกคือ ให้กำหนดรู้ลมหายใจให้ตลอด ในชีวิตประจำวัน จะทำกิจกรรมอะไรก็ให้กำหนดรู้ลมหายใจไปด้วย ยกเว้นเวลาขับรถ หรือเวลาอ่านหนังสือ แต่ก็ให้มีสติรู้อยู่ว่าเราทำอะไรอยู่ ท่านว่าให้กำหนดรู้ลมหายใจเสมือนว่าลมหายใจเป็นกัลยาณมิตร ให้เรายึดกัลยาณมิตรนี้ไว้

    หลังจากนั้นผมก็พยายามกำหนดรู้ลมหายใจในชีวิตประจำวัน เวลาเดิน ก็รู้สึกดีครับ รู้สึกเพลินกับการยึดลมหายใจ

    หลังจากนั้นมีวันหนึ่ง ผมเกิดนึกอยากนั่งสมาธิขึ้นมา ผมก็เลยนั่งสมาธิกำหนดลมหายใจ  
(ก่อนหน้านี้ตอนเด็กๆ เวลาคุณครูที่รร.สั่งให้นั่งสมาธิในห้องเรียน ให้พยายามตามดูลมหายใจจะรู้สึกว่ามันเป็นเรื่องที่น่าเบื่อ น่าปวดหัวมาก แต่คาดว่าคงเป็นเพราะจากที่ได้ฝึกในชีวิตประจำวัน ทำให้ตั้งแต่นั่งครั้งนี้ก็ไม่รู้สึกเช่นนั้นอีก    ในการนั่งสมาธิครั้งนี้   ผมสามารถรับรู้ลมหายใจได้ตลอดสายเป็นเวลานาน    แต่ผมก็คิด ว่า  เวลาจิตเราสงบมากแล้ว  แต่ยังไม่มีอะไรเกิดขึ้น ถ้ายังไงเราลองเปลี่ยนวิธีกำหนดดูดีกว่า    ผมเลยเปลี่ยนวิธีกำหนดในใจเป็นสมถแบบอัปปมัญญา ๔  (ที่ผมเปลี่ยนเป็นวิธีนี้เพราะก่อนหน้านี้เคยอ่านหนังสือเรื่องสมถ ๔o วิธีแล้วรู้สึกว่าเราน่าจะเหมาะกับวิธีนี้ คือเกิดความรู้สึกนี้ขึ้นเอง)   แล้วกำหนดคำบริกรรมในใจ   แผ่เมตตาให้สัตว์ทั้งหลายไม่มีประมาณ  ในทิศเบื้องหน้า  จากนั้นก็เบื้องหลัง    จากนั้นก็เบื้องบน   เบื้องล่าง  เบื้องซ้าย  แล้วก็เบื้องขวา พอครบทุกทิศแล้ว ก็กำหนดแผ่ไปในทุกทิศพร้อมกันไม่มีประมาณ  กำหนดแค่ครั้งเดียวเท่านั้น     จากนั้นผมก็รู้สึกเหมือนกายผมขยายตามที่กำหนดแผ่เมตตาไปด้วย รู้สึกว่ากายขยายไปทุกทิศ    ความรู้สึกนี้มันเกิดในเวลาแค่แปปเดียว กายขยายไปทุกทิศจนรู้สึกว่ากายหายไป   คือไม่มีกาย   เวลานี้รู้สึกว่าความรู้สึกของเราเหมือนจุ่มอยู่ในปิติ   มีแต่ความสุขไปหมด   

    จากนั้นผมก็คิดขึ้นมาว่า  "มีความสุขขนาดนี้ในโลกด้วยหรือ    ความสุขนี้ดีกว่าความสุขในโลกที่เราเคยพบมาทั้งหมด โอ ความสุขนี้แค่นั่งก็ได้แล้ว คนทั้งโลก 
(ส่วนใหญ่) มัวแต่วุ่นวายทำอะไรกันอยู่ บางคนทำทุจริตต่างๆเพื่อหาเงินมาสนองความสุขตน ทำไปทำไมนะ มันเทียบกับความสุขที่เกิดจากความสงบนี้ไม่ได้เลย ความสุขนี้ไม่ต้องไขว่คว้ามาก อยู่กับตัวเองแท้ๆ คน (ส่วนใหญ่) ในโลกกลับไม่รู้"   

    จากนั้นผมก็สังเกตลมหายใจก็รู้สึกว่าลมหายใจตอนนี้มันละเอียดมาก   ถึงค่อยเข้าใจคำว่าลมหายใจหยาบลมหายใจละเอียดว่าเป็นยังไง   ก่อนหน้านี้เข้าใจว่าคือลมหายใจแรงๆเบาๆซะอีก :)

    ความรู้สึกจากการเกิดสมาธิครั้งแรกนี้มันเหมือนจุ่มค้างอยู่ปิติอยู่ แต่ไม่เห็นนิมิตอะไรทั้งสิ้นเลยนะครับ  แต่รู้สึกจิตเวลานี้ไม่มีนิวรณ์เลย  คือมีความรู้พร้อมอยู่    จากนั้นผมก็รู้สึกยินดีกับสิ่งที่เกิดขึ้นแล้วคิดไปเรื่อยว่า  "นี่คือปฐมฌานหรือเปล่านี่ ปฐมฌานเกิดกับเราหรือ"    จนจิตเริ่มไม่เป็นสมาธิ  เริ่มปั่นป่วน หลังจากนั้น   ก็ได้ยินเสียงห้องข้างๆตะโกนเสียงดัง
(คาดว่าน่าจะดูบอล) ผมก็เลยหลุดออกมาจากสภาวะนั้น

    แต่หลังจากนั้นมาผมก็ไม่สามารถเข้าถึงสภาวะดังกล่าวได้อีกเลย คือทำได้มากสุดก็แค่ทำปิติให้เกิดขึ้นแวบหนึ่งเท่านั้น
(แต่ก็สามารถทำให้เกิดได้ตลอดเวลา ตามที่ต้องการทันที) แต่ไม่สามารถทำให้เกิดค้างไว้ จนรู้สึกเหมือนจุ่มลงในปิติ แล้วมีลมหายใจละเอียดแบบครั้งแรกได้


 



Create Date : 14 มิถุนายน 2564
Last Update : 14 มกราคม 2567 18:06:07 น. 0 comments
Counter : 629 Pageviews.

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 
space

สมาชิกหมายเลข 6393385
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
ผู้ติดตามบล็อก : 9 คน [?]






space
space
[Add สมาชิกหมายเลข 6393385's blog to your web]
space
space
space
space
space