กรรมเก่า คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ.เป็นเจ้าบทบาทเดิม จากนั้น การศึกษาอาศัยปรโตโฆสะ ซึ่งมีคติว่า "คนเป็นไปตามสภาพแวดล้อมที่ปรุงปั้น" และโยนิโสมนสิการ ซึ่งมีคติย้อนกลับว่า "ถ้าเป็นคนรู้จักคิด แม้แต่ฟังคนบ้าคนเมาพูด ก็อาจสำเร็จเป็นพระอรหันต์"
space
space
space
<<
สิงหาคม 2567
 
 123
45678910
11121314151617
18192021222324
25262728293031
space
space
1 สิงหาคม 2567
space
space
space

มรรค ในฐานะมรรคาสู่จุดหมายขั้นต่างๆของชีวิต  


235 มรรค ในฐานะมรรคาสู่จุดหมายขั้นต่างๆ ของชีวิต  
 
         “ดูกรมหาบพิตร  อาตมภาพ  ได้กล่าวกะภิกษุผู้ชื่ออานนท์ว่า: ... อานนท์ ความมีกัลยาณมิตร มีกัลยาณสหาย  ชอบคบหากัลยาณชนนี้  เท่ากับเป็นพรหมจรรย์ทั้งหมดทีเดียว, ภิกษุผู้มีกัลยาณมิตร พึงหวังสิ่งนี้ได้ คือ  จักยังอริยอัษฎางคิกมรรคให้เกิดมี   จักทำได้มากซึ่งอริยอัษฎางคิกมรรค ... เพราะฉะนั้นแล   มหาบพิตร   พระองค์พึงศึกษาอย่างนี้ว่า  เราจักเป็นผู้มีกัลยาณมิตร เป็นผู้มีกัลยาณสหาย   เป็นผู้ชอบคบหากัลยาณชน...
 
         “พระองค์ผู้มีกัลยาณมิตร   พึงเป็นอยู่โดยใช้หลักธรรมเอกข้อนี้ คือความไม่ประมาท  (ไม่ปล่อยปละละเลย)  ในกุศลธรรมทั้งหลาย,  เมื่อพระองค์ไม่ประมาท  เป็นอยู่โดยใช้หลักความไม่ประมาท  ปวงนางฝ่ายใน ... ขัตติยะทั้งหลายผู้ตามเสด็จ ... กองทัพ ... และแม้ชาวนิคมและชาวชนบททั้งหลาย ก็จักมีความคิดดังนี้ว่า:  พระเจ้าอยู่หัวเป็นผู้ไม่ประมาท  ทรงเป็นอยู่โดยใช้หลักความไม่ประมาท  เห็นทีว่าแม้พวกเราก็จะต้องเป็นผู้ไม่ประมาท  เป็นอยู่โดยใช้หลักความไม่ประมาทเหมือนกัน;
 
         “เมื่อพระองค์ไม่ประมาท  เป็นอยู่โดยใช้หลักความไม่ประมาท แม้พระองค์เองก็จักเป็นอันได้รับการคุ้มครองรักษา แม้ปวงนางฝ่ายในก็จักเป็นอันได้รับการคุ้มครองรักษา แม้ยุ้งฉางพระคลังหลวงก็จักเป็นอันได้รับการคุ้มครองรักษา
 
         “ผู้ปรารถนาโภคสมบัติ  อันโอฬาร  ยิ่งๆ ขึ้นไป  พึงมีความไม่ประมาท;  บัณฑิตทั้งหลายย่อมสรรเสริญความไม่ประมาทในบุญกิริยาทั้งหลาย, บัณฑิตไม่ประมาท จึงยึดเอาได้ซึ่งอัตถะทั้ง ๒ ประการ คือทิฏฐธัมมิกัตถะ  และสัมปรายิกัตถะ,  คนที่เรียกว่าเป็นปราชญ์ เป็นบัณฑิต ก็เพราะบรรลุอัตถะ”
 

      อัตถะ หรือ อรรถ  แปลว่า เรื่องราว ความหมาย ความมุ่งหมาย ประโยชน์ ผลที่หมาย หรือจุดหมาย  ในที่นี้แปลเอาความว่า  ประโยชน์ที่เป็นจุดหมาย  หรือจุดหมายของชีวิต หมายถึงจุดหมายของพรหมจรรย์ หรือจริยธรรม หรือระบบการดำเนินชีวิตและการปฏิบัติธรรมของพระพุทธศาสนานั่นเอง
 
      เป็นที่ทราบกันดีว่า   จุดหมายสูงสุดของพระพุทธศาสนา หรือพรหมจริยะนี้ ก็คือนิพพาน ซึ่งมีชื่อเรียกอย่างหนึ่งว่า “ปรมัตถ์” หรือ “ปรมัตถะ”  แปลว่า  ประโยชน์อย่างยิ่ง หรือจุดหมายสูงสุด เป็นธรรมดาว่า ในการสอนธรรม จะต้องเน้นและเร่งเร้าให้ปฏิบัติเพื่อบรรลุจุดหมายสูงสุด
 
      อย่างไรก็ตาม   พระพุทธศาสนามิได้มองข้ามประโยชน์หรือจุดหมายขั้นรองลดหลั่นกันลงมา ที่มนุษย์จะพึงได้พึงถึงตามระดับความพร้อมของตน และก็ได้จำแนกจัดวางเป็นหลักไว้ด้วย ดังจะเห็นได้จากพระบาลีที่ยกมาแสดงไว้ข้างต้นนี้
 

     ในชั้นเดิม เท่าที่สอบค้นดู พอจะกล่าวได้ว่า ท่านจัดแบ่ง อัตถะ หรือจุดหมายนี้ไว้เป็น ๒ ระดับ เหมือนอย่างในบาลีที่ยกมาอ้างไว้นั้น กล่าวคือ
 
         ๑. ประโยชน์ขั้นต้น  เรียกว่า   ทิฏฐธัมมิกัตถะ  แปลว่า ประโยชน์ปัจจุบัน หรือประโยชน์บัดนี้
 
         ๒. ประโยชน์ขั้นล้ำ   เรียกว่า   สัมปรายิกัตถะ  แปลว่า ประโยชน์เบื้องหน้า หรือประโยชน์เบื้องสูง
 
      ในกรณีเช่นนี้  ปรมัตถะ หรือประโยชน์สูงสุด ก็รวมอยู่ด้วยในข้อ ๒ สัมปรายิกัตถะ คือเป็นส่วนยอดสุดของประโยชน์ขั้นที่ ๒ นั้น แต่ในชั้นหลัง ท่านคงประสงค์จะเน้นปรมัตถะให้เด่นชัดเป็นพิเศษ จึงแยกออกมาเป็นอีกข้อหนึ่งต่างหาก และจัดประโยชน์หรือจุดหมายนั้นเป็น อัตถะ ๓ ชั้น ดังมีความหมายโดยสรุปดังนี้
 
         ๑. ทิฏฐธัมมิกัตถะ   ประโยชน์บัดนี้   ประโยชน์ขั้นตาเห็น  ประโยชน์ชีวิตนี้ หรือประโยชน์ปัจจุบัน  เป็นจุดหมายขั้นต้น หรือจุดหมายเฉพาะหน้า  หมายถึง  ประโยชน์อย่างที่มองเห็นๆ กันอยู่ ที่เข้าใจกันง่ายๆ เกี่ยวกับชีวิตประจำวัน เป็นเรื่องชั้นนอก หรือเรื่องธรรมดาสามัญที่มุ่งหมายกันในโลกนี้  ได้แก่  ลาภ ยศ สุข สรรเสริญ หรือทรัพย์สิน  ฐานะ  เกียรติ  ไมตรี  ชีวิตคู่ครองที่เป็นสุข เป็นต้น  รวมถึงการแสวงหาสิ่งเหล่านี้โดยทางชอบธรรม  การปฏิบัติต่อสิ่งเหล่านี้โดยทางที่ถูกต้อง  การใช้สิ่งเหล่านี้ทำตนและคนที่เกี่ยวข้องให้มีความสุข การอยู่ร่วมกันด้วยดี ปฏิบัติหน้าที่ต่อกันอย่างถูกต้องในระหว่างมนุษย์ เพื่อความสุขร่วมกัน
 
         ๒. สัมปรายิกัตถะ   ประโยชน์เบื้องหน้า  ประโยชน์ขั้นเลยตาเห็น หรือประโยชน์ที่ลึกล้ำยิ่งกว่าที่จะมองเห็นกันเฉพาะหน้าหรือผิวเผินภายนอก  เกี่ยวด้วยชีวิตด้านใน หรือประโยชน์ด้านคุณค่าของชีวิต  เป็นจุดหมายขั้นสูงขึ้นไป  ซึ่งเป็นหลักประกันชีวิตเมื่อละโลกนี้ไป หรือเป็นเครื่องประกันการได้คุณค่าที่สูงล้ำเลิศยิ่งกว่าสิ่งที่จะพึงได้กันตามปกติในโลกนี้  ได้แก่  ความเจริญงอกงามแห่งชีวิตจิตใจ  ที่ก้าวหน้าเติบใหญ่ขึ้นด้วยคุณธรรม  ความใฝ่ใจในทางศีลธรรม ในเรื่องบุญเรื่องกุศล  ในการสร้างสรรค์สิ่งที่ดีงาม  กิจกรรมที่อาศัยศรัทธาและความเสียสละ  การมีความมั่นใจในคุณธรรม  มีความสงบสุขทางจิตใจ  การรู้จักปีติสุขที่ประณีตด้านในตลอดจนคุณวิเศษที่เป็นผลสำเร็จทางจิต คือฌานสมาบัติ   (เดิมรวมถึงการตรัสรู้ที่เป็นปรมัตถ์ด้วย)
 
      สัมปรายิกัตถะนี้  เป็นขั้นที่ผ่อนคลายความยึดติดผูกพันในวัตถุ  ทำให้ไม่ยอมตีค่าผลประโยชน์ด้านอามิสสูงเกินไป  จนจะต้องมุ่งไขว่คว้ายอมสยบ หรือเป็นเหตุให้กระทำกรรมชั่วร้าย หันมาให้คุณค่าแก่คุณธรรมความดีงาม  รู้จักทำการด้วยความใฝ่ธรรม  รักความดีงาม  รักคุณภาพชีวิตและความเจริญงอกงามของจิตใจ  เมื่อลุถึงอัตถะขั้นนี้  ก็จะมีผลย้อนกลับมาให้ใช้ให้ปฏิบัติต่อทิฏฐธัมมิกัตถะ  ในทางที่เป็นคุณเกื้อกูลแก่ชีวิตและสังคม  เช่น  แทนที่จะมุ่งใช้เงินทองบำเรออามิสสุข  ก็หันไปใช้ทรัพย์นั้นสงเคราะห์คน และทำกิจกรรมพัฒนาชีวิตสูงขึ้นไป
 
         ๓. ปรมัตถะ   ประโยชน์อย่างยิ่ง หรือประโยชน์ที่เป็นสาระแท้จริงของชีวิต  เป็นจุดหมายสูงสุด หรือที่หมายขั้นสุดท้าย  ได้แก่  การรู้แจ้งสภาวะของสิ่งทั้งหลายตามความเป็นจริง รู้เท่าทันคติธรรมดาของสังขารธรรม  ไม่ตกเป็นทาสของโลกและชีวิต  มีจิตใจเป็นอิสระ  โปร่งโล่ง ผ่องใส  เบิกบาน  ไม่ถูกบีบคั้นคับข้องจำกัด  ด้วยความยึดติดถือมั่นหวั่นหวาดของตนเอง ปราศจากกิเลสเผาลนที่ทำให้เศร้าหมองขุ่นมัว  อยู่อย่างไร้ทุกข์  ประจักษ์แจ้งความสุขประณีตภายใน  ที่สะอาดบริสุทธิ์สิ้นเชิง  อันประกอบพร้อมด้วยความสงบเยือกเย็นสว่างไสวเบิกบานโดยสมบูรณ์  เรียกว่า  วิมุตติและนิพพาน
 
      พระพุทธเจ้าทรงยอมรับความสำคัญของประโยชน์ หรือจุดหมายเหล่านี้ทุกขั้น โดยสัมพันธ์กับระดับความเป็นอยู่ การครองชีพ สภาพแวดล้อม และความพร้อม หรือความแก่กล้าสุกงอมแห่งอินทรีย์ของบุคคลนั้นๆ
 
      อย่างไรก็ดี   พึงสังเกตว่า  ในพุทธพจน์ที่ยกมาอ้างข้างต้นนั้น  มีข้อที่ทรงเน้นไว้ ซึ่งควรจะกล่าวสำทับว่า  ตามคติของพระพุทธศาสนา  บุคคลทุกคนควรดำเนินชีวิตให้บรรลุจุดหมายอย่างน้อยถึงขั้นที่ ๒  กล่าวคือ  เมื่อได้บรรลุทิฏฐธัมมิกัตถะแล้ว  ก็ดีอยู่  แต่ยังไม่เพียงพอ ไม่พึงหยุดอยู่แค่นั้น  ควรก้าวต่อไปให้ได้อย่างน้อยบางส่วนของสัมปรายิกัตถะด้วย  ผู้ได้ประสบจุดหมายหรือประโยชน์ถึงสองขั้นนี้แล้ว  ท่านยกย่องให้ว่าเป็น บัณฑิต แปลว่า ผู้ดำเนินชีวิตด้วยปัญญา  เป็นผู้มีชีวิตไม่ว่างเปล่าไร้ค่าในโลกนี้
 
      ในด้านวิธีปฏิบัติ หรือ ดำเนินชีวิต   เพื่อเข้าถึงจุดหมายขั้นต่างๆ เหล่านี้ พระพุทธเจ้าก็ได้ทรงสั่งสอนไว้ครบถ้วนทุกระดับ   เช่น   บางแห่งตรัสหลักธรรม ๔ ประการ ที่เป็นไปเพื่อ ทิฏฐธัมมิกัตถะ คือ
 
         ๑. ความขยันหมั่นเพียร  รู้จักใช้ปัญญาจัดการดำเนินกิจการ  เรียกว่า อุฏฐานสัมปทา
 
         ๒. รู้จักเก็บรักษาทรัพย์สินและผลแห่งการงานให้รอดพ้นอันตรายไม่เสื่อมเสีย เรียกว่า อารักขสัมปทา
 
         ๓. รู้จักเสวนาคบหาคนดีที่เกื้อกูลแก่การงาน  จิตปัญญา  และความก้าวหน้าของชีวิต เรียกว่า กัลยาณมิตตตา
 
         ๔. รู้จักเลี้ยงชีวิตแต่พอดี  ให้มีความสุขได้  โดยไม่สุรุ่ยสุร่ายฟุ่มเฟือย ให้รายได้เหนือรายจ่าย  มีส่วนที่ประหยัดเก็บไว้  สามารถออมทรัพย์ไว้ให้เพิ่มพูนขึ้นได้  เรียกว่า สมชีวิตา
 

      พร้อมกันนั้น   ก็ตรัสหลักธรรม ๔ ประการ   ที่เป็นไปเพื่อได้  สัมปรายิกัตถะ คือ
 
         ๑. มีความเชื่อประกอบด้วยเหตุผล  ถูกหลักพระศาสนา  ทราบซึ้งในคุณพระรัตนตรัย เชื่อการกระทำ  มีสิ่งดีงามเป็นหลักยึดเหนี่ยวจิตใจ  เรียกว่า  ศรัทธาสัมปทา
 
         ๒. ถึงพร้อมด้วยศีล  มีความประพฤติดีงาม  เลี้ยงชีพโดยทางสุจริต  มีระเบียบวินัยสมควรแก่ภาวะแห่งการดำเนินชีวิตของตน  เรียกว่า  ศีลสัมปทา
 
         ๓. ประกอบด้วยความเสียสละ   รู้จักเผื่อแผ่แบ่งปัน   มีน้ำใจ   พร้อมที่จะช่วยเหลือคนที่ควรได้รับการช่วยเหลือ   เรียกว่า   จาคสัมปทา
 
         ๔. ดำเนินชีวิตด้วยปัญญา   รู้จักคิดรู้จักพิจารณา   ใช้วิจารณญาณ  รู้เท่าทันโลกและชีวิต สามารถทำจิตใจให้เป็นอิสระได้ตามโอกาส   เรียกว่า   ปัญญาสัมปทา
 

      ส่วนปรมัตถะนั้น    เนื่องจากเป็นจุดหมายสูงสุด และยากที่สุด ทั้งโดยการที่จะเข้าใจ และการที่จะปฏิบัติ อีกทั้งเป็นส่วนที่เป็นความแตกต่าง หรือข้อพิเศษของพุทธศาสนา ที่แปลกออกไปจากลัทธิคำสอนเท่าที่มีอยู่ก่อน จึงเป็นธรรมดาอยู่เองที่พระพุทธเจ้าจะทรงสอนเน้นหนัก ดังปรากฏคำสอนเพื่อประโยชน์ข้อนี้กระจายอยู่ทั่วไปในพระไตรปิฎก และนำมากล่าวไว้บ้างเป็นคราวๆ พอเป็นเค้าโครงในหนังสือนี้
 
 
      สำหรับประโยชน์ ๒ ขั้นต้น เขาก็มีสอนกันเรื่อยมา เป็นของที่พอจะแพร่หลายอยู่ เฉพาะอย่างยิ่งประโยชน์ขั้นที่ ๑ เขาย่อมสอนกันอยู่เป็นธรรมดา แม้ในหมู่ชาวบ้านทั้งหลาย โดยสอดคล้องกับถิ่นฐานและกาลสมัย คำสอนใดได้ผลดี และไม่ชักให้เคลื่อนเขวออกจากมัชฌิมาปฏิปทา  ชาวพุทธก็ย่อมรับเอามาปฏิบัติได้ทันที ไม่มีข้อใดจะขัดข้อง และชาวพุทธชาวบ้านเอง ก็ย่อมสามารถที่จะเสริมแต่งปรับปรุงเพิ่มขยายข้อปฏิบัติระดับนี้ให้ได้ผลดีเหมาะสมกับสภาพแวดล้อมยิ่งขึ้นเรื่อยๆ ไป
 
      อนึ่ง   ในพระสูตรที่ได้ยกมาอ้างไว้ข้างต้นนี้   พระพุทธเจ้าทรงเน้นหลักธรรมที่จะให้บรรลุประโยชน์ทั้งหลายต่างออกไปอีกแนวหนึ่ง คือ ทรงย้ำอัปปมาทธรรม  อันได้แก่ความไม่ประมาท ไม่เพิกเฉย ไม่เฉื่อยชา ไม่ละเลย แต่ให้เอาใจใส่ กระตือรือร้น ขวนขวาย รู้จักเตรียมพร้อม ระวังระไว เร่งทำสิ่งที่ควรทำ เร่งแก้ไขปรับปรุงสิ่งที่ควรแก้ไขปรับปรุง เร่งประกอบการที่ดีงาม โดยถือว่า อัปปมาทธรรมนั้นเป็นคุณธรรมพื้นฐาน หรือเป็นหลักใหญ่ที่จะให้บรรลุประโยชน์ ทั้งที่เป็นทิฏฐธัมมิกัตถะ และสัมปรายิกัตถะ
 
      ทั้งนี้ มีเงื่อนไขเสริมไว้ด้วยว่า ความไม่ประมาทนี้ พึงต้องตั้งอยู่บนรากฐาน คือการเสวนาคบหาคนดี ความมีกัลยาณมิตร การเอาใจใส่สนใจคนดี รู้จักไปพบไปหาคบหาเลือกหาคนดีมาไว้ใช้งานและร่วมในกิจการ เป็นต้น อนึ่ง ทรงไขความความไม่ประมาท ว่าหมายถึงความไม่ประมาทในกุศลธรรม คือในการประกอบการที่ดีงามทั้งหลาย ดังที่ในตอนท้าย  ทรงไขความกุศลธรรมนั้นออกไปอีก ด้วยไวพจน์ว่าบุญกิริยาทั้งหลาย
 
      คำว่า   “บุญกิริยาทั้งหลาย”  นี้   เป็นเงื่อนหรือขั้วต่อที่พึงสนใจ เมื่อพระพุทธเจ้าตรัสเกี่ยวกับจุดหมายหรือประโยชน์ที่เป็นขั้นรองลงมาด้วย ในโอกาสใด ก็ย่อมแสดงว่า ในโอกาสนั้น ทรงผ่อนการเน้นในจุดหมายขั้นสูงสุดคือปรมัตถะลงมา เมื่อผ่อนในด้านจุดหมายแล้ว ในด้านวิธีการก็ย่อมจะผ่อนลงมาด้วยเช่นกัน
 
      การที่ผ่อนเช่นนี้   มิใช่เฉพาะในกรณีตรัสหลักธรรมสำหรับเป็นข้อปฏิบัติจำเพาะกรณีๆ เท่านั้น แม้แต่คำสอนในรูปที่เป็นระบบวิธีกว้างๆ สำหรับใช้เป็นหลักกลาง ก็ทรงผ่อนจัดวางหรือประยุกต์ใหม่ให้เหมาะสมเช่นกัน
 
      ดังปรากฏว่า ในการสอนที่เกี่ยวกับจุดหมาย ๓ ขั้นนี้ แทนที่ระบบปฏิบัติของมรรคจะถูกจัดขั้นตอนออกมาในรูปของไตรสิกขา คือ ศีล สมาธิ ปัญญา อย่างที่คุ้นกันอยู่ในทำนองการสอนทั่วไป ที่มองหมายปรมัตถะเป็นจุดเด่น   ระบบวิธีของมรรคนั้น   กลับถูกจัดรูปขั้นตอนใหม่เป็นหลักทั่วไป ที่เรียกว่าบุญกิริยา หรือบุญกิริยาวัตถุ   ซึ่งมีจำนวน ๓ ข้อ หรือ ๓ ขั้น เช่นเดียวกับไตรสิกขา แต่มีรายชื่อหัวข้อนั้นๆ ต่างออกไป
 

 
     บุญกิริยา หรือ บุญกิริยาวัตถุ ๓ ประการนั้น คือ
 
         ๑. ทาน   การให้   การสละ การเผื่อแผ่แบ่งปัน เป็นการให้เพื่ออนุเคราะห์ เช่น ช่วยเหลือผู้ยากไร้ตกทุกข์ขาดแคลนบ้าง ให้เพื่อสงเคราะห์ เพื่อยึดเหนี่ยวจิตใจ สมานไมตรี แสดงน้ำใจ สร้างสามัคคีบ้าง ให้เพื่อบูชาคุณความดี เพื่อยกย่องส่งเสริมสนับสนุนคนดีบ้าง เป็นการให้ในด้านทรัพย์สินสิ่งของ ปัจจัยเครื่องใช้ยังชีพ วัสดุอุปกรณ์ต่างๆ ก็มี ให้ความรู้ศิลปวิทยาการ ให้คำแนะนำสั่งสอน บอกแนวทางดำเนินชีวิต หรือให้ธรรม ก็มี ให้ความมีส่วนร่วมในการบำเพ็ญกิจที่ดีงาม ก็มี ตลอดจนให้อภัยที่เรียกว่าอภัยทาน
 
         ๒. ศีล   ความประพฤติดีงาม และการหาเลี้ยงชีพในทางสุจริต ความมีระเบียบวินัย และมีกิริยามารยาทงดงาม เฉพาะอย่างยิ่ง เน้นศีลในระดับการไม่เบียดเบียน หรือการอยู่ร่วมกันด้วยดีโดยสงบสุขในสังคม
 
     ศีลที่เน้นในระดับนี้   ก็คือศีล  ๕  ได้แก่  การไม่ประทุษร้ายต่อชีวิตและร่างกาย  การไม่ละเมิดกรรมสิทธิ์กัน   การไม่ละเมิดต่อของรัก  ไม่ประทุษร้ายจิตใจลบหลู่เกียรติทำลายตระกูลวงศ์ของกันและกัน   การไม่หักรานลิดรอนผลประโยชน์กันด้วยวิธีประทุษร้ายทางวาจา และการไม่ซ้ำเติมตนเองด้วยสิ่งเสพติดซึ่งทำให้เสื่อมทรามเสียสติสัมปชัญญะ  ที่เป็นเครื่องเหนี่ยวรั้งป้องกันจากความผิดพลาดเสียหาย และคุ้มตัวไว้ในคุณความดี
 
     นอกจากนี้   อาจฝึกตนเพิ่มขึ้นในด้านการงดเว้นสิ่งหรูหราฟุ่มเฟือยบำรุงบำเรอปรนเปรอความสุขต่างๆ และหัดให้เป็นอยู่ง่ายๆ มีชีวิตเป็นอิสระจากวัตถุมากขึ้น ด้วยการรักษาอุโบสถ ถือ ศีล ๘  ตลอดจนศีล ๑๐  ตามโอกาส หรืออาจปฏิบัติในทางบวก  เช่น   ขวนขวายช่วยเหลือรับใช้ร่วมมือและบริการต่างๆ  (ไวยาวัจกรรม)
 
         ๓. ภาวนา   การฝึกปรือจิตและปัญญา  คือพัฒนาฝึกอบรมจิตใจให้เจริญขึ้นด้วยคุณธรรมต่างๆ ให้เข้มแข็งมั่นคงหนักแน่น และให้มีปัญญารู้เท่าทันสังขาร   พูดอย่างสมัยใหม่ว่า รู้เท่าทันโลกและชีวิต หรือมีโลกทัศน์และชีวทัศน์ที่ถูกต้อง
 
 
     ภาวนาในที่นี้  ก็คือสมาธิ และปัญญา ในไตรสิกขา  พูดเต็มว่า สมาธิภาวนาหรือจิตตภาวนา และปัญญาภาวนานั่นเอง   แต่ไม่ย้ำเน้นแต่ละอย่างให้เด่นนัก  จึงผ่อนเอามารวมจัดเข้าเป็นหัวข้อเดียวกัน  มีความหมายคลุมตั้งแต่สัมมาวายามะ   ที่ให้เพียรละกิเลส  เพียรอบรมปลูกฝังกุศลธรรมในหมวดสมาธิ  จนมาถึงการมีสัมมาทิฏฐิ และความดำริชอบ  ในหมวดปัญญา โดยเน้นเมตตาภาวนา  อันเป็นที่มาของความสุขทั้งในตนเองและในสังคม
 
     วิธีการและข้อปฏิบัติที่ท่านแนะนำ สำหรับการพัฒนาจิตและปัญญาในระดับเหมารวมอย่างนี้ ก็คือ การแสวงปัญญาและชำระจิตใจ ด้วยการสดับธรรม (รวมทั้งอ่าน) ที่เรียกว่าธรรมสวนะ การแสดงธรรม สนทนาธรรม การแก้ไขปลูกฝังความเชื่อ ความเห็น ความเข้าใจให้ถูกต้อง การเจริญเมตตา และการควบคุมขัดเกลากิเลสโดยทั่วไป
 
     เป็นอันเห็นได้ชัดว่า พระพุทธเจ้า เมื่อทรงผ่อนกระจายจุดหมายของชีวิต หรือจุดหมายของการปฏิบัติธรรมออกเป็นระดับต่างๆ จนถึงขั้นต้นๆ แล้ว ก็ได้ทรงผ่อนจัดระบบวิธีดำเนินชีวิตหรือวิธีประพฤติปฏิบัติธรรมให้สอดคล้องกันด้วย
 
     ในระบบที่ผ่อนลงมานี้   เน้นข้อปฏิบัติเบื้องต้นที่เกี่ยวกับการแสดงออกทางกายวาจา การปฏิบัติต่อกันระหว่างมนุษย์ หรือความสัมพันธ์ทางสังคม  ซึ่งเป็นการกระทำที่ปรากฏรูปร่าง มองเห็นได้ชัด ปฏิบัติง่ายกว่า แยกกระจายเป็น ๒ ข้อ คือ ทาน และศีล  มุ่งให้ขัดเกลาทำชีวิตจิตใจภายในให้ประณีตเจริญงอกงามขึ้น โดยใช้การกระทำภายนอกที่หยาบกว่าเป็นเครื่องมือ เรียกตามสำนวนทางธรรมว่า เพื่อกำจัดกิเลสหยาบ
 
     ส่วนการปฏิบัติขั้นสมาธิ และปัญญา หรือ อธิจิตต์และอธิปัญญา ซึ่งเน้นหนักด้านภายในโดยตรง เป็นเรื่องยากละเอียดลึกซึ้ง ระบบบุญกิริยานี้ไม่แยกเน้น แต่เอามาจัดรวมเสีย และพยายามชี้แนะเนื้อหาที่เบาลง ในทางปฏิบัติ
 
     ในสมัยต่อๆ มา มักเป็นที่รู้กันว่า  ระบบของมรรคในรูปบุญกิริยา ๓ นี้  ท่านจัดไว้ให้เหมาะสำหรับสอนคฤหัสถ์คือชาวบ้าน   ส่วนระบบที่ออกรูปเป็นไตรสิกขาที่จะกล่าวข้างหน้า  เป็นแบบแผนใหญ่ยืนพื้น  เป็นหลักกลางสำหรับการปฏิบัติธรรมเต็มตามกระบวนการ  พระภิกษุสงฆ์ซึ่งเป็นตัวอย่างของการปฏิบัติธรรมแบบเต็มแผนนั้น  จึงควรเป็นผู้นำในการปฏิบัติตามระบบไตรสิกขา
 

    อนึ่ง   นอกจากจัดแบ่งโดยระดับเป็นแนวตั้งอย่างนี้แล้ว ท่านยังจำแนกอัตถะไว้เป็นแนวนอนด้วย    ตามลำดับความรับผิดชอบ หรือ ความเกี่ยวข้องสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์   โดยแบ่งเป็น ๓ เหมือนกัน ดังบาลีต่อไปนี้
 
      “ภิกษุทั้งหลาย    เปรียบเหมือนห้วงน้ำใส กระจ่าง ไม่ขุ่นมัว คนตาดียืนอยู่บนฝั่ง พึงเห็นได้ แม้ซึ่งหอยโข่ง หอยกาบ แม้ซึ่งก้อนหิน ก้อนกรวด แม้ซึ่งฝูงปลา ที่กำลังแหวกว่ายอยู่บ้าง กำลังหยุดอยู่บ้าง ในห้วงน้ำนั้น นั่นเพราะเหตุไร ? ก็เพราะน้ำไม่ขุ่น แม้ฉันใด,
 
      “ภิกษุก็ฉันนั้น  ด้วยจิตที่ไม่ขุ่นมัว  ก็จักรู้ได้ซึ่งประโยชน์ตน (อัตตัตถะ)  จักรู้ได้ซึ่งประโยชน์ผู้อื่น (ปรัตถะ) จักรู้ได้ซึ่งประโยชน์ทั้งสองฝ่าย (อุภยัตถะ) จักประจักษ์แจ้งได้ ซึ่งคุณวิเศษยิ่งกว่ามนุษย์สามัญ คือ ญาณทัสสนะ ที่สามารถทำให้เป็นอริยชน, ข้อนี้ย่อมเป็นฐานะ เป็นไปได้, นั่นเพราะเหตุไร ? ก็เพราะจิตไม่ขุ่นมัว”
 
      “คนใคร่อยากแล้ว  ถูกราคะ (=โลภะ)  ครอบงำ  ถูกราคะครองใจแล้ว ... คนแค้นเคืองแล้ว ถูกโทสะครอบงำ  ถูกโทสะครองใจแล้ว ... คนหลงแล้ว  ถูกโมหะครอบงำ  ถูกโมหะครองใจแล้ว ย่อมคิดการเพื่อเบียดเบียนตนเองบ้าง  เพื่อเบียดเบียนผู้อื่นบ้าง  เพื่อเบียดเบียนทั้งสองฝ่ายบ้าง  ย่อมเสวยทุกข์ทางใจ  มีโทมนัสบ้าง,  เมื่อละราคะ ... ละโทสะ ... ละโมหะได้แล้ว ย่อมไม่คิดการเพื่อเบียดเบียนตนเอง  เพื่อเบียดเบียนผู้อื่น  เพื่อเบียดเบียนทั้งสองฝ่าย;
 
      “คนใคร่อยากแล้ว ... แค้นเคืองแล้ว ... หลงแล้ว ... ย่อมประพฤติทุจริตด้วยกาย ประพฤติทุจริตด้วยวาจา ประพฤติทุจริตด้วยใจ, เมื่อละราคะ ... ละโทสะ ... ละโมหะได้แล้ว ย่อมไม่ประพฤติทุจริตด้วยกาย ไม่ประพฤติทุจริตด้วยวาจา ไม่ประพฤติทุจริตด้วยใจ
 
      “คนใคร่อยากแล้ว ... แค้นเคืองแล้ว ... หลงแล้ว ... ย่อมไม่รู้ชัดตามเป็นจริง ซึ่งประโยชน์ตน (อัตตัตถะ) ... ซึ่งประโยชน์ผู้อื่น (ปรัตถะ) ... ซึ่งประโยชน์ทั้งสองฝ่าย (อุภยัตถะ), เมื่อละราคะ ... ละโทสะ ... ละโมหะได้แล้ว ย่อมรู้ชัดตามเป็นจริง ซึ่งประโยชน์ตน ... ซึ่งประโยชน์ผู้อื่น ... ซึ่งประโยชน์ทั้งสองฝ่าย;
 
      “ราคะ (=โลภะ) ... โทสะ ... โมหะ ทำให้มืดบอด  ทำให้ไร้จักษุ ทำให้โง่เขลา ทำให้ปัญญาดับ ส่งเสริมความคับแค้น ไม่เป็นไปเพื่อนิพพาน, เราเห็นโทษในราคะ (=โลภะ) ... ในโทสะ ... ในโมหะ ดังนี้ จึงบัญญัติการละราคะ ... การละโทสะ ... การละโมหะ...
 
      “อริยอัษฎางคิกมรรคนี้แล  กล่าวคือสัมมาทิฏฐิ  ฯลฯ สัมมาสมาธิ  เป็นมรรคา  เป็นปฏิปทาเพื่อละราคะ โทสะ โมหะนั้น”
 
      “ภิกษุทั้งหลาย   เมื่อมองเห็นประโยชน์ตน (อัตตัตถะ) ก็ควรแท้ที่จะทำให้สำเร็จด้วยความไม่ประมาท, หรือเมื่อมองเห็นประโยชน์ผู้อื่น (ปรัตถะ) ก็ควรแท้ที่จะทำให้สำเร็จด้วยความไม่ประมาท, หรือเมื่อมองเห็นประโยชน์ทั้งสองฝ่าย (อุภยัตถะ) ก็ควรแท้ที่จะทำให้สำเร็จด้วยความไม่ประมาท”
 

     อัตถะ ๓ ในแนวนอน มีความหมายที่พึงทราบ ดังนี้
 
         ๑. อัตตัตถะ   ประโยชน์ตน คือ การบรรลุจุดหมายแห่งชีวิตของตน ได้แก่ประโยชน์ (อัตถะ) ๓ อย่างในหมวดก่อนนั้นเอง เท่าที่เกี่ยวข้องกับตนเอง ซึ่งเป็นผลเกิดขึ้นแก่ตนโดยเฉพาะ เน้นการพึ่งตนได้ในทุกระดับ เพื่อความไม่ต้องเป็นภาระแก่ผู้อื่น หรือถ่วงหมู่คณะ และเพื่อความเป็นผู้พร้อมที่จะช่วยเหลือผู้อื่น บำเพ็ญกิจต่างๆ อย่างได้ผลดี
 
     คุณธรรมที่เป็นแกนนำเพื่อการบรรลุประโยชน์ตนนี้ คือ ปัญญา ส่วนหลักธรรมทั่วๆ ไป ที่สอนไว้เพื่อความมุ่งหมายนี้ มีหลายอย่าง เช่น นาถกรณธรรม (ธรรมสร้างที่พึ่ง หรือธรรมที่ทำตนให้เป็นที่พึ่งได้) ๑๐ ประการ เป็นต้น พูดอย่างกว้างๆ ว่า บำเพ็ญไตรสิกขาในแง่ที่เป็นความรับผิดชอบต่อตนเองให้บริบูรณ์
 
         ๒. ปรัตถะ   ประโยชน์ผู้อื่น   หรือประโยชน์ท่าน คือ การช่วยเหลือเกื้อกูลสนับสนุนผู้อื่นให้บรรลุประโยชน์ หรือเข้าถึงจุดหมายแห่งชีวิตของเขาในระดับต่างๆ ประคับประคองให้เขาสามารถพึ่งตนเองได้ หมายถึงอัตถะ ๓ อย่างในหมวดก่อนนั้นเอง เท่าที่เกี่ยวข้องกับคนอื่น เป็นผลเกิดขึ้นแก่คนอื่น นอกจากตัวเรา
 
     คุณธรรมที่เป็นแกนนำที่จะให้บรรลุผลข้อนี้ คือ กรุณา หลักธรรมทั่วไปที่ใช้สอนมีสังคหวัตถะ ๔  ประการ การทำหน้าที่และบำเพ็ญคุณธรรมต่างๆ ของกัลยาณมิตร เป็นต้น
 
         ๓. อุภยัตถะ   ประโยชน์ทั้งสองฝ่าย หรือประโยชน์ร่วมกัน ได้แก่ประโยชน์ ๓ อย่างในหมวดก่อนนั้น ที่เป็นผลเกิดขึ้นทั้งแก่ตนเองและคนอื่นๆ หรือแก่สังคม แก่ชุมชนอันเป็นส่วนรวม เช่น ประโยชน์ที่เกิดจากของกลางและกิจส่วนรวม เป็นต้น โดยเฉพาะสภาพแวดล้อม และความเป็นอยู่อันเอื้ออำนวยแก่การปฏิบัติเพื่อบรรลุอัตตัตถะ และการบำเพ็ญปรัตถะ ของทุกๆ คน
 
     คุณธรรมที่เป็นแกนนำที่จะให้บรรลุจุดหมายนี้ คือ วินัย และสามัคคี หลักธรรมทั่วไปที่อาจใช้สอนได้ มีสาราณียธรรม  ๖ และอปริหานิยธรรม ๗  ประการ เป็นต้น ตลอดจนพฤติกรรมที่เกื้อกูล ที่พึงประสงค์ ที่สังคมพึงต้องการโดยทั่วไป
 
     โดยนัยนี้ อัตถะ ๓ ทั้งสองหมวด   จึงจัดเป็นชุดเดียวกันได้ ดังนี้
 
      ๑. อัตตัตถะ   ประโยชน์ตน จำแนกได้เป็น ๓ ระดับ คือ
 
          ๑) ทิฏฐธัมมิกัตถะ   ประโยชน์บัดนี้ หรือจุดหมายขั้นต้น ขั้นตาเห็น
 
          ๒) สัมปรายิกัตถะ   ประโยชน์เบื้องหน้า หรือจุดหมายที่สูง ล้ำเลยขึ้นไปหรือต่อไป
 
          ๓) ปรมัตถะ   ประโยชน์อย่างยิ่ง หรือจุดหมายสูงสุด
 
      ๒. ปรัตถะ    ประโยชน์ผู้อื่น จำแนกได้เป็น ๓ ระดับ คือ
 
          ๑) ทิฏฐธัมมิกัตถะ   ประโยชน์บัดนี้ หรือจุดหมายขั้นต้น ขั้นตาเห็น
 
          ๒) สัมปรายิกัตถะ   ประโยชน์เบื้องหน้า หรือจุดหมายที่สูง ล้ำเลยขึ้นไปหรือต่อไป
 
          ๓) ปรมัตถะ   ประโยชน์อย่างยิ่ง หรือจุดหมายสูงสุด
 
      ๓. อุภยัตถะ  ประโยชน์ทั้งสองฝ่าย หรือจุดหมายร่วมกัน ได้แก่ประโยชน์หรือจุดหมายทุกอย่างที่เกื้อกูลแก่การบำเพ็ญ และการบรรลุอัตตัตถะ และปรัตถะของทุกคน ในระดับทั้ง ๓ ที่กล่าวแล้ว
 
      เรื่อง   “มรรค ในฐานะมรรคาสู่จุดหมายขั้นต่างๆ ของชีวิต” นี้ พึงถือว่าเป็นคำอธิบายเพิ่มเติมอีกตอนหนึ่ง ของหัวข้อว่า “มรรค ในฐานะพรหมจรรย์ หรือ พรหมจริยธรรม” นั่นเอง
 
      เมื่อพูดกันมาถึงเพียงนี้แล้ว ก็ควรสรุปความหมายของพรหมจรรย์ หรือพุทธจริยธรรม นั้นอีกครั้งหนึ่งว่า จริยะ หรือ จริยธรรม (อันประเสริฐ) คือ ระบบความประพฤติปฏิบัติ ที่มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับความจริงของธรรมชาติเป็นพื้นฐาน ซึ่งเป็นไปเพื่อบรรลุประโยชน์ที่พึงมุ่งหมายของชีวิต และอำนวยให้เกิดสภาพชีวิต สภาพสังคม ที่เกื้อกูลแก่การบรรลุจุดหมายเช่นนั้น
 
      พูดสั้นลงมาว่า พรหมจรรย์ หรือพรหมจริยธรรม คือ แนวทางดำเนินชีวิตอิงสัจธรรม เพื่อบรรลุประโยชน์ที่พึงมุ่งหมายของชีวิต และสร้างสรรค์สภาพชีวิตสภาพสังคม ที่เกื้อกูลแก่การบรรลุจุดหมายเช่นนั้น
 


Create Date : 01 สิงหาคม 2567
Last Update : 1 สิงหาคม 2567 8:14:18 น. 0 comments
Counter : 131 Pageviews.
(โหวต blog นี้) 

ผู้โหวตบล็อกนี้...
คุณดอยสะเก็ด


ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 
space

สมาชิกหมายเลข 6393385
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
ผู้ติดตามบล็อก : 9 คน [?]






space
space
[Add สมาชิกหมายเลข 6393385's blog to your web]
space
space
space
space
space