คริสทีเนอ เนอสลิงเงอร์ เขียนเรื่อง พระราชาแตงกวา เพื่อนำเสนอปัญหาในชีวิตประจำวันของสมาชิกแต่ละคนในครอบครัว โดยใช้ครอบครัวโฮเกลมันน์เป็นตัวแทนของครอบครัวที่ดูเหมือนจะเป็นครอบครัวที่มีความสุขดีครอบครัวหนึ่ง แต่ความจริงก็มีปัญหาเหมือนกัน ครอบครัวโฮเกลมันน์มีสมาชิกทั้งหมด 6 คน ประกอบไปด้วยคุณปู่ พ่อ แม่ มาร์ทีน่า พี่สาวคนโต โวล์ฟกัง (ผู้เล่าเรื่อง) น้องชายคนกลาง และนิกี้ น้องชายคนเล็ก ทุกอย่างเริ่มเปลี่ยนแปลงไปภายหลังการปรากฏตัวของพระราชาแตงกวา ผู้ถูกประชาราษฎร์คูมิ-โอริขับไล่ออกมาจากห้องใต้ดิน
ในครั้งแรกที่มาถึงพระราชาแตงกวาก็ได้สร้างความตกตะลึงให้แก่ครอบครัวโฮเกลมันน์เป็นอย่างมาก ก็จะไม่ให้ตกใจได้อย่างไร ในเมื่ออยู่ๆ ก็มีตัวแตงกวานุ่มๆ หยุ่นๆ เหมือน แป้งหมักในถุงพลาสติก มาเรียกร้องขอที่อาศัย แถมยังอ้างว่าตนเองนั้นเป็นถึง พระราชาคูมิ-โอริที่สองแห่งราชวงศ์ลิเปอเดน
โวล์ฟกังเล่าว่าพ่อของเขาพูดคำว่า ไม่ ออกมาสามครั้ง แต่กลับกลายเป็นพ่อคนที่คุณปู่เคยออกเคยออกความเห็นว่า ชอบกลับมาโวยวายที่บ้าน และเป็นหัวหน้าครอบครัวที่ เคร่งครัดในประเพณี กลับยอมรับการปรากฏตัวของพระราชาแตงกวาอย่างง่ายดาย
...พ่อชอบพูดว่า ถ้าพ่อบอกว่าไม่ ก็คือ ไม่ แต่คราวนี้ไม่ของพ่อไม่มีประโยชน์อะไรเลย เจ้าฟักทองแตงกวายังนั่งนิ่งอยู่บนโต๊ะ... (หน้า 16)
การยอมรับพระราชาแตงกวาอย่างง่ายดายของพ่อนี้ อาจจะเป็นเพราะว่าเจ้าตัวแตงกวาได้ได้กุมความลับอะไรสักอย่างของพ่อไว้ จึงทำให้พ่อไม่อาจขัดขวางการขอมาลี้ภัยทางการเมืองชั่วคราวของพระราชาแตงกวาได้ เนื่องจากพ่อเป็นคนแรกที่ลงไปยังห้องใต้ดินของบ้าน และไปลื่นล้มที่ตรงบันไดจนข้อเท้าเคล็ด ดังนั้นพ่อจึงไม่อนุญาตให้ทุกคนลงไปห้องใต้ดิน พ่ออาจจะเคยเห็นตัวฟักทองแตงกวามาก่อนแล้วก็ได้ แต่ก็ขลาดเกินกว่าที่จะยอมรับความจริง ดังนั้นการปรากฏตัวของพระราชาเป็นการตอกย้ำ ความจริง ที่พ่อเคยหลีกหนี และพระราชาแตงกวาเป็น คนนอก ที่พ่อไม่อาจออกคำสั่งได้เหมือนคนในครอบครัว
ทั้งพ่อและพระราชาแตงกวามีอะไรหลายอย่างที่มีความคล้ายคลึงกัน พ่อเป็นหัวหน้าครอบครัวที่มีอำนาจสูงสุดภายในบ้าน ตัวฟักทองแตงกวาเองก็เป็นถึงชนชั้นสูงของคูมิ-โอริผู้อาศัยอยู่ในห้องใต้ดินชั้นล่าง มีอำนาจสูงสุดในการปกครองประชาราษฏร์ แต่สิ่งที่แตกต่างกันในอำนาจของพ่อกับพระราชาแตงกวาก็คือ ทุกคนในบ้านยังยอมรับในอำนาจของพ่อ ในขณะเดียวกันกับที่พวกประชาราษฎร์คูมิ-โอริได้ปฏิเสธในอำนาจที่มีอยู่ของพระราชาแตงกวา โดยการก่อกบฏขับไล่พระราชาแตงกวาออกมา
อำนาจของพ่อยังคงมีอยู่จริง ในขณะที่อำนาจของพระราชาแตงกวากลายเป็นเพียงสัญลักษณ์เท่านั้น ซึ่งแสดงออกให้เห็นจากการที่พระราชาแตงกวามักจะกระวนกระวายใจทุกครั้งที่มงกุฎของตนหายไป
มงกุฎของเราอยู่ที่ไหน! เราต้องการมงกุฎ! เขาคลำหาที่ศีรษะอย่างตื่นตกใจ (หน้า 24)
พระราชาแตงกวาร้องครวญครางอยู่ตลอดเวลาว่า เขาต้องใส่มงกุฎเดี๋ยวนี้ เพราะถ้าไม่ใส่มงกุฎ ตัวก็เปลือยเปล่าล่อนจ้อน ทำให้คิดอะไรไม่ออก มีชีวิตอยู่ไม่ได้(หน้า 25)
ทุกครั้งหลังจากที่พระราชาแตงกวาได้มงกุฎคืน ก็เหมือนกับว่าอำนาจของตนได้กลับมาอีกครั้ง มงกุฎจึงเป็นตัวแทน อำนาจ ที่ไม่มีอยู่จริงของพระราชาแตงกวา
แต่หลังจากการเข้ามาอยู่ในบ้านโฮเกลมันน์ของพระราชาแตงกวา อำนาจที่พ่อเคยมีมาโดยตลอดก็กลับลดลงเรื่อยๆ คนในครอบครัวเริ่มไม่ยอมรับในอำนาจของพ่ออีกต่อไป หรือเพราะในความเป็นจริงแล้วอำนาจของพ่อก็เป็นเพียงสิ่งสมมติขึ้นมาเท่านั้น
...พอพ่อแต่งตัวเสร็จ ก็มายืนเอาเรื่องพวกเราด้วยท่าทางขึงขันดุดัน พ่อถามว่า เอาละ ใครจะเป็นคนอุ้มพระราชานั่งบนตัก
คุณปู่ แม่ มาร์ทีน่าและผมต่างสั่นหัว นับเป็นครั้งแรกที่ไม่มีใครยอมทำตามคำสั่งของพ่อ เราต่างก็แปลกใจตัวเองเหมือนกัน แต่พ่อแปลกใจยิ่งกว่า พ่อถามย้ำอีกถึงสองครั้ง แต่ก็ไม่ได้อะไรขึ้นมา (หน้า 37-38)
ทุกคนเริ่มแปลกใจกันว่าทำไมพ่อถึงดูแลเอาใจใส่พระราชาแตงกวานัก พ่อยอมทำอะไรที่ไม่เคยทำตั้งหลายอย่างเพื่อความสุขสบายของพระราชาแตงกวา พ่อหามันฝรั่งที่แตกยอดอ่อนไปให้พระราชาแตงกวา แม้ว่าจะต้องเอามือล้วงลงไปในถังขยะก็ตาม
มาร์ทีน่าทำส้อมหลุดมือด้วยความตกใจ พ่อล้วงลงไปในถังขยะจริงๆ ด้วย เธออุทานเบาๆ
ทั้งที่พ่อขยะแขยงมันจะตาย! นิกบอก แล้วพูดต่อว่า แสดงว่าพ่อต้องรักตัวแตงกวามากๆ !
ทีเพื่อแม่ละก็ แม่พูด พ่อไม่เคยแตะถังขยะเลยสักครั้ง! (หน้า 45)
ด้วยท่าทีที่เปลี่ยนไปของพ่อที่มีต่อพระราชาแตงกวา ทำให้แม่ทะเลาะกับพ่อ และปัญหายุ่งๆ ภายในบ้านเริ่มจะส่อเค้าความวุ่นวาย ทุกคนในบ้านต่างเห็นตรงกันว่าพระราชาแตงกวานั้นเป็น ต้นเหตุ ของปัญหาทั้งหมด
ถ้าเขาเป็นแตงกวาที่มีเหตุผลล่ะก็ เขาควรจะรีบหนีออกไปตั้งนานแล้ว เขาน่าจะเห็นนะ ว่าเขาคือตัวการที่ทำให้เกิดการทะเลาะกัน (หน้า 47)
พระราชาแตงกวาจึงถูกคนในบ้านกีดกันไม่ให้มาร่วมโต๊ะอาหาร และห้ามออกมาจากห้องนอนของพ่อ พระราชาแตงกวาเองคงจะรู้ตัวว่าตนเองไม่มีอำนาจที่จะสั่งคนในครอบครัวโฮเกลมันน์เลย ดังนั้นระหว่างที่ทุกคนไม่อยู่บ้านพระราชาแตงกวาก็ไม่รักษาสัญญาที่ให้ไว้ เที่ยวเสาะหา ความลับ ของคนในบ้านที่พ่อไม่เคยรู้ ทั้งกระดาษปลอมลายเซ็นพ่อของโวล์ฟกัง และพวงกุญแจของเขา ไหนจะสมุดบันทึกของมาร์ทีน่า และแผ่นกระดาษสองสามแผ่นของแม่มาเก็บไว้ เพื่อที่จะทำการ แบล็กเมล์ ทุกคนที่ไม่ชอบหน้าเขา
เราต้องการของสิ่งนี้นะ! เราต้องเก็บมันไว้เป็นหลักฐาน ให้คุณโฮเกลมันน์ได้เห็นครอบครัวเลวๆ ของเขา! พวกเขาไม่ชอบเรา! เราจะลงโทษพวกเขาให้ถึงเวลานั้นก่อนเถอะ! (หน้า 83)
เรื่องราวดำเนินไปต่อไปจนในที่สุดจนทุกคน(ยกเว้นนิกี้) เริ่มจะทนไม่ไหวกับการกระทำของพ่อและพระราชาแตงกวา แม่เริ่มจะประสาทเสีย โวล์ฟกังมีปัญหากับครูฮาสลิงเงอร์เรื่องการบ้านวิชาเลข มาร์ทีน่าทะเลาะกับเพื่อนชายของเธอ ในตอนแรกคุณปู่กับแม่ไม่ยอมพูดถึงพระราชาแตงกวาเลย
มาร์ทีน่าพยายามพูดกับแม่เรื่องพ่อกับตัวแตงกวาเหมือนกัน แต่แม่ไม่ยอมพูดด้วย แม่จะบอกทุกทีว่าคูมิ-โอริไม่มีอะไรเกี่ยวข้องกับแม่ แม่ไม่สนใจ มันเป็นเรื่องของพ่อคนเดียว
...
คุณปู่ทำตัวเหมือนแม่เปี๊ยบ คุณปู่อธิบายว่า ธุระอะไรจะเอาเรื่องแตงกวาลี้ภัยมาคิดให้หนักหัว (หน้า 81)
ทุกคนรู้อยู่เต็มอกว่าเรื่องพระราชาแตงกวาไม่ใช่เรื่องของพ่อคนเดียว เป็นเรื่องของทุกคนในครอบครัว ปัญหามีนานแล้ว เพียงแต่เราไม่เคยสังเกตเท่านั้น พอพระราชาแตงกวาเข้ามา ทุกคนจึงเห็นปัญหาในบ้านชัดขึ้น แต่ก็ยังไม่ยอมรับความจริงและโยนความผิดทั้งหมดไปให้พระราชาแตงกวา
แต่แม่ก็ประสาทเสียอยู่ดี แม่เริ่มร้องไห้คร่ำครวญและสะอึกสะอื้นว่า ทั้งหมดเป็นความผิดของพระราชาคูมิ-โอริ
คุณปู่บอกว่า ไม่จริงหรอก แม่คิดไปเอง คูมิ-โอริเป็นคนแคระที่น่าชังก็จริง แต่ถ้าเป็นในครอบครัวธรรมดาๆ อย่างที่ควรจะเป็นแล้วล่ะก็ คูมิ-โอริ คงจะไม่ทำอะไรบ้าๆ ได้ขนาดนี้
แต่แม่บอกว่าพวกเราเป็นครอบครัวปกติและเรียบร้อยดีทุกอย่าง
จู่ๆ มาร์ทีน่าก็ร้องขึ้นมาว่า ไม่จริง ไม่จริงค่ะ เราไม่ได้เป็นแบบนั้น! เราเป็นครอบครัวที่แย่ที่สุด! จะดูทีวีก็ต้องดูรายการที่พ่ออยากดู! จะกินอาหารก็ต้องกินอย่างที่พ่อชอบ! จะแต่งตัวอะไรสักหน่อยก็ต้องแต่งแบบที่พ่ออนุญาต! จะหัวเราะก็ต้องหัวเราะเมื่อพ่อพอใจ! (หน้า 87-88)
เมื่อทุกคนทำใจยอมรับปัญหาที่เกิดขึ้นได้แล้ว ความจริงที่ทุกคนพยายามปิดบังเอาไว้ก็เลยพรั่งพรูออกมาจนหมด โวล์ฟกังจึงใช้โอกาสนี้เล่าเรื่องทั้งหมดเกี่ยวกับครูฮาสลิงเงอร์ให้คุณปู่กับแม่ฟัง เมื่อคุณปู่กับแม่รู้ก็ไม่ได้ตำหนิเขาแต่อย่างใด กลับช่วยกันหาทางแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น ซึ่งทำให้เขาสบายใจขึ้น และบรรยากาศภายในบ้านโฮเกลมันน์จึงกลับมาแจ่มใสอีกครั้ง
เรื่องราวดำเนินมาเรื่อยๆ จนกระทั่งโวล์ฟกังได้ลงไปยังห้องใต้ดินชั้นล่าง เพื่อพิสูจน์ว่าในห้องใต้ดินมีประชาราษฎร์คูมิ-โอริอาศัยอยู่จริงหรือไม่ และได้รู้ว่าเรื่องทั้งหมดเป็นความจริง
ครั้นแล้วก็มีหัวเล็กๆ ห้าหัวโผล่ออกมาตรงขอบรู ทุกคนมีหน้าตาเหมือนคูมิ-โอริทุกประการ เพียงแต่ตัวไม่ได้เป็นสีแตงกวา แต่มีสีน้ำตาลหม่นๆ เหมือนสีของหัวมันฝรั่ง (...) มือของพวกเขาไม่ใช่มือเล็กบอบบางอย่างมือของตัวแตงกวา เมื่อเทียบกันกับส่วนหัวแล้ว มือสีน้ำตาลหม่นของพวกเขาใหญ่เทอะทะมาก นิ้วมือก็อ้วนใหญ่ทีเดียว (หน้า 102)
...ทั้งหมดมีผิวสีน้ำตาลหม่น รูปร่างผอมบาง และเล็กกว่าตัวแตงกวา แต่มือกับเท้าใหญ่กว่าตัวแตงกวามาก (หน้า 106)
จากการบรรยายลักษณะของประชากรคูมิ-โอริ เราจะสามารถสังเกตเห็นได้ว่าพระราชาแตงกวา กับประชาราษฎร์คูมิ-โอริ มีลักษณะที่แตกต่างกันอยู่มาก ถึงแม้ว่าหน้าตาจะเหมือนกันทุกประการ แต่ลักษณะของพระราชาแตงกวาเป็นลักษณะของชนชั้นสูง หรือพวกชนชั้นปกครอง มือเล็กบอบบางไม่เคยทำงานหนัก ในขณะที่ประชาราษฎร์คูมิ-โอรินั้นมือใหญ่ เท้าใหญ่ นิ้วอ้วน เป็นลักษณะของพวกใช้แรงงาน ทำงานหนัก ซึ่งอาจเปรียบได้กับชนชั้นกลางที่ต้องต่อสู้ดิ้นรนให้ตนเองอยู่รอดในสังคมภายใต้การกดขี่ของพระราชาแตงกวา
แตงกวา และ มันฝรั่ง จึงอาจมีความหมายในเชิงสัญลักษณ์ก็ได้ และทั้งสองอย่างนี้มีความสำคัญในการปรุงอาหารของชาวเยอรมันมาก จากการสอบถามเพื่อนที่เรียนภาษาเยอรมันเกี่ยวกับเรื่องนี้ เพื่อนก็ได้ให้คำตอบว่า หน้าที่ของแตงกวาในอาหารเยอรมันนั้น คือ เครื่องเคียง เป็นผักที่เอาไว้ใช้ประดับตกแต่งอาหารให้ดูสวยงามน่ารับประทานและเพิ่มรสชาติของอาหาร แต่หน้าที่ของมันฝรั่งในอาหารเยอรมันนั้นสำคัญยิ่งกว่าแตงกวาเสียอีก มันฝรั่งเปรียบได้กับ ข้าว ของคนเยอรมัน เป็นอาหารจานหลักที่ขาดไม่ได้
พระราชาแตงกวาสำคัญตนผิด คิดว่าอีกไม่นานพวกประชาราษฎร์จะต้องมารับเขากลับไป หลังจากที่ขับไล่เขาออกมาจากห้องใต้ดิน เนื่องจากประชาราษฎร์คงอยู่ไม่ได้ถ้าไม่มีเขา แต่ประชาราษฎร์คูมิ-โอริกลับคิดอีกอย่างว่า
ตราบใดที่พวกชนชั้นสูงมีอำนาจปกครอง ลูกหลานชาวคูมิ-โอริไม่มีวันจะได้รับอนุญาตให้เข้าโรงเรียน มีแต่ลูกๆ ของพวกที่อยู่ชั้นบนเท่านั้นที่ได้ไปโรงเรียน และที่แปลงมันฝรั่ง ชาวคูมิ-โอริได้รับอนุญาตให้ปลูกมันฝรั่งแค่พอไม่ให้อดตายเท่านั้น เวลาที่เหลือทั้งหมด พวกเขาต้องไปเคี้ยวดิน เพื่อนำมาตกแต่ลวดลายพระราชวังให้พระราชา (หน้า 107)
เรียกได้ว่าโดนกดขี่แบบให้พวกประชาราษฎร์คูมิ-โอริโงหัวไม่ขึ้นกันเลยทีเดียว ไม่ให้เรียนหนังสือ ไม่ให้กินดีอยู่ดี แถมยังใช้แรงงานอย่างหนักอีกต่างหาก เรียกได้ว่าพระราชาแตงกวาใช้อำนาจในทางไม่ชอบ กดขี่ราษฎรเพื่อความสุขสบายของตนเอง
จากคำบอกเล่าของประชาราษฎร์คูมิ-โอริที่อาศัยอยู่ในห้องใต้ดินชั้นล่างทำให้โวล์ฟกังเข้าใจความเดือดร้อนที่ประชาราษฎร์คูมิ-โอริได้รับ และได้เห็นว่าพ่อของตนกับตัวแตงกวานั่นทำไม่ถูก พ่อต้องมีความลับอะไรบางอย่างกับตัวแตงกวาแน่ๆ โวล์ฟกังจึงพยายามที่จะทำให้นิกี้ น้องชายคนเล็กที่รู้เรื่องแผนการของพ่อกับตัวแตงกวาเป็นอย่างดีพูดความจริงออกมาให้ได้ ดังนั้นโวล์ฟกังจึงพามาร์ทีน่ากับนิกี้ลงไปทำความรู้จักกับประชาราษฎร์คูมิ-โอริ เมื่อได้เห็นความน่ารักอันบริสุทธิ์ไร้เดียงสาของคูมิ-โอริตัวเล็กๆ นิกี้จึงบอกเขาเกี่ยวกับแผนการของพ่อและตัวแตงกวาที่พ่อจะช่วยให้พระราชาแตงกวากลับคืนสู่อำนาจโดยการฆ่าพวกคูมิ-โอริให้หมด เพื่อแลกกับการเลื่อนตำแหน่งให้พ่อเป็นผู้จัดการที่บริษัทประกันภัยรถยนต์
เมื่อได้รู้ความจริงทั้งหมดเด็กๆ เลือกที่ช่วยเหลือพวกประชาราษฎร์คูมิ-โอริ ขัดขวางแผนการของพ่อกับพระราชาแตงกวา และแม้ว่าจะต้องกลายเป็นฝ่ายตรงข้ามกับพ่อตัวเองก็ยอม สิ่งเหล่านี้แสดงให้เห็นแนวความคิดหนึ่งของคนเยอรมันที่เรียกกันว่า anti-authority ที่ให้สิทธิ เสรีภาพกับเด็กในการต่อต้านการใช้อำนาจของผู้ใหญ่ หากเด็กไม่เห็นด้วยกับการกระทำของพ่อแม่ พ่อแม่ทำตัวไม่ดี เด็กก็มีสิทธิ์ที่จะต่อต้านการกระทำของพ่อแม่ได้ เพราะเด็กก็คือ คนธรรมดาทั่วไปที่มีความคิดเป็นของตนเอง และต้องการเป็นตัวของตัวเอง
เรื่องราวของพระราชาคูมิ-โอริกับประชาราษฎร์จึงมีความคล้ายคลึงกับความสัมพันธ์ของ พ่อ กับสมาชิกในครอบครัวเป็นอย่างมาก แต่มีสิ่งหนึ่งที่ทำให้พ่อแตกต่างจากพระราชาแตงกวา คือ การที่พ่อยังเป็นที่ต้องการของคนในครอบครัว ในขณะที่พระราชาแตงกวาไม่เป็นที่ต้องการของพวกคูมิ-โอริอีกต่อไป ดังที่เราจะเห็นได้จากเหตุการณ์ที่พ่อหายตัวไป ทุกคนต่างกระวนกระวายใจมาก โดยที่โวล์ฟกังบรรยายความรู้สึกของเขาว่า
ผมรู้สึกแปลกๆ ที่จริงผมรู้สึกสองอย่าง รู้สึกโกรธพ่อและรู้สึกเป็นห่วงพ่อด้วย ทุกสิบห้านาทีที่ผ่านไป ความรู้สึกโกรธก็ยิ่งลดลง ความเป็นห่วงยิ่งทวีขึ้น และผมก็นึกถึงเรื่องดีๆ ของพ่อมาได้ตั้งหลายเรื่อง (หน้า 136)
ปัญหาทุกอย่างเริ่มคลี่คลายเมื่อพ่อกลับมาที่บ้าน หลังได้รับอุบัติเหตุในห้องใต้ดินของบริษัทประกันรถยนต์ แต่ปัญหาสำคัญที่สุดที่ทุกคนพยายามจะไม่นึกถึงยังคงอยู่ในบ้านพวกเขา นั่นคือ พระราชาแตงกวา ทุกคนปรึกษากันเพื่อหาทางกำจัดพระราชาแตงกวาออกไปจากบ้านอย่างละมุนละม่อมที่สุด แต่ก็ไม่มีใครคิดออกว่าควรจะทำอย่างไรกับตัวแตงกวาดี จนในที่สุด นิกี้ น้องชายคนเล็ก ตัดสินใจที่จะเป็นคนแก้ปัญหาเรื่องพระราชาแตงกวาด้วยตัวเอง
ผมมองออกไปทางหน้าต่างห้องครัว ข้างนอกมืด มีแต่แสงไฟจากหน้าต่างครัวเท่านั้นที่ส่องเป็นลำไปบนถนนโรยกรวดที่ทอดยาวไปยังประตูสวน นิกเดินผ่านลำแสงนั้นไป เขาเข็นรถเข็นตุ๊กตาไปด้วย ในรถเข็นมีพระราชาคูมิ-โอรินั่งอยู่ พร้อมกับมงกุฎบนศีรษะและกระเป๋าสะพายหลัง
แล้วนิกก็หายไปจากแสงไฟ ผมนั่งอยู่ที่หน้าต่างและดูนาฬิกา นิกโผล่มาที่แสงไฟสิบห้านาทีพอดีเป๊ะ พร้อมกับเข็นรถเข็นตุ๊กตามาด้วย แต่คราวนี้รถเข็นว่างเปล่า (หน้า 163)
ใครเลยจะคิดว่าเด็กอย่างนิกี้จะเป็นคนทำให้ปัญหาพระราชาแตงกวาคลี่คลายไปได้อย่างง่ายๆ แต่ก็อย่างที่โวล์ฟกังพูดไว้ ก็นิกไม่ใช่เด็กแดงๆ แล้วนี่นา