สุขกับสิ่งที่มีและเป็น...


 
มกราคม 2554
 1
2345678
9101112131415
16171819202122
23242526272829
3031 
 
20 มกราคม 2554
 

บทวิจารณ์วรรณกรรม ขุนทองเจ้าจะกลับมาเมื่อฟ้าสาง

“ละครบทเดิม” ภาพสะท้อนความล้มเหลวทางการเมืองใน “ขุนทองจะกลับมาเมื่อฟ้าสาง”


ความแตกต่างทางความคิด และความขัดแย้งทางการเมือง คือปรากฏการณ์ซ้ำ ๆ ของสังคมไทย เมื่อย้อนกลับไปอ่านผลงานของอัศศิริ ธรรมโชติ นักข่าวที่เป็นตัวแทนของผู้นำเสนอข้อมูลจริงแต่ไม่สามารถนำเสนอความจริงได้ ความอึดอัดทางจิตวิญญาณจึงผลักให้เขาสร้างงานเขียนที่ชื่อว่า “ขุนทองเจ้าจะกลับมาเมื่อฟ้าสาง” เพื่อเป็นตัวแทนของข้อมูลที่สะท้อนภาพเหตุการณ์ในช่วง 6 ตุลาคม 2519 ผ่านวรรณกรรมที่คนส่วนใหญ่มองว่า “คือเรื่องแต่ง”


ความโกรธแค้นนั้นแม้นมาก ก็จะต้องหายไปได้ด้วยกาลเวลาบ่เลือน ความสุขแต่หนหลังจะเรียกหาภยันตรายใน


ป่าใหญ่จะผลักดันให้มันกลับ-เจ้าขุนทองจะต้องทิ้งดาบออกจากป่ามาบ้าน และฟ้าสางวันนี้มีหรือจะไม่มีวัน


เจ้าขุนทองมันโกรธใคร แรงแค้นมากมายถึงป่านนี้ ถึงสู้ตายไปจากแม่และเหย้าเรือนโดยไม่กลับมาอีก และจนป่านนี้แม่ก็ไม่รู้ หาคำตอบไม่ได้


ความคับแค้นของเจ้าขุนทอง ที่เป็นสัญลักษณ์ของวีรชนในยุค 6 ตุลา 19 คือภาพสะท้อนของความขัดแย้งและแตกต่างอย่างเป็นคู่ขนานระหว่าง ประชาชน กับ รัฐบาล ในมุมของ ปัญญาชน กับ ผู้ใช้อำนาจรัฐ ที่ตอกย้ำไว้ว่า “เจ้าขุนทองจะต้องทิ้งดาบออกจากป่ามาบ้าน และฟ้าสางวันนี้มีหรือจะไม่มีวัน?” การตีแผ่ปัญหาสังคมในด้านการเมืองที่ล้มเหลวได้สะท้อนให้เห็นว่า การเยียวยา หรือ ปรองดอง คงไม่สามารถเกิดขึ้นได้ง่าย ๆ เมื่อความสูญเสียมันไม่ได้เกิดขึ้นแค่ที่ร่างกาย แต่มันเกิดขึ้นที่จิตใจ ดังตอนที่ว่า


อดนึกย้อน สะท้อนใจ สงสารไปถึงความโกรธของเจ้าขุนทองมันไม่ได้ว่า ทำไมหนอมันถึงได้มากมาย ถึงกับมันต้องตัดใจทิ้งถิ่นฐาน บ้านช่อง และทิ้งแม่ไปได้-ทิ้งความสุขในชายคาบ้านไปเคว้งคว้างอยู่กลางป่า เป็นปฏิปักษ์ต่อบ้านเมืองให้กฎหมายลงทัณฑ์


    และตอนที่ว่า


ยิ่งนึกถึงตอนที่ขุนทองมันร้องไห้ในวันเกิดเหตุใหญ่แล้ว แม่ยิ่งใจหายหนัก! ยังจำได้ว่าก่อนมันจะหายหน้าไป มันนอนร้องไห้รำพันอยู่ในเรือนจนดึกดื่น


          อัศศิริได้ตอกย้ำถึงความโกรธ ความน้อยใจ ความเจ็บใจ และความคับแค้นที่มีของวีรชนในช่วงนั้น ซึ่งสะท้อนภาพความเจ็บปวดของเหล่านิสิตนักศึกษาในยุคนั้นได้อย่างเห็นได้ชัด ดังในตอนที่ว่า


แม่รู้ว่า ขุนทองมันโกรธมันน้อยใจ-แต่มันน้อยใจใครโกรธใคร จนป่านนี้แม่ไม่รู้


ดังนั้นการทิ้งบ้านทิ้งครอบครัวไปเรียกร้องความเป็นธรรมและความถูกต้องจึงเกิดขึ้นอย่างไม่มีทางหลีกเลี่ยงได้ดัง


ตอนที่ว่า


และนี่ขุนทองมันจะแลกบ้านแลกแม่เพียงเท่านั้นหรือ...? ไม่น่าเป็นไปได้! แม่ร้องค้านอยู่ในใจ...


          จากเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ 2519 นักศึกษาถูกฆ่าอย่างโหดร้ายทารุณ เป็นการก่อจลาจลล้อมปราบนิสิต นักศึกษา ได้สะท้อนให้เห็นถึงความขัดแย้งที่มีอยู่มากมาย เพราะหลังเหตุการณ์ ตุลา 2516 ที่ประชาธิปไตยเบ่งบาน แต่การเอาคืนทางการเมืองก็ได้สะท้อนออกมาในวรรณกรรมจนผลักให้กลุ่มนิสิตนักศึกษาต้องออกมาต่อสู้ ดังตอนที่ว่า


        “ฉันมั่นใจนะแม่ ว่าสองมือเปล่าๆ นี้จะเอาชนะมันได้”
        “
มันน่ะใครล่ะ
       
ขุนทองไม่ตอบแม่ในตอนนั้น แต่ออกท่าทางเกรี้ยวกราดเหมือนโกรธแค้นใครมา เมื่อรำคาญนักแม่ก็ว่า “เอาเถอะ! อย่าฆ่าฟันกันก็แล้วกัน” ขุนทองมันได้ยินดังนั้นแล้วก็หัวเราะ ประกายตาสดใสอยู่ด้วยร่องรอยของวัยเด็ก


          ความรักในประชาธิปไตย รักในความเป็นธรรมของนักศึกษาที่ยังมองโลกในแง่ดี ด้วยประกายตาสดใสอยู่ด้วยร่องรอยของวัยเด็ก ทำให้อัศศิริได้สะท้อนให้เห็นถึงการถูกทำร้าย และสุดท้ายภายหลังการรัฐประหารนักศึกษาก็หนีเข้าป่า


เจ้าขุนทองมันสะพายย่าม ทิ้งเรือนหายลับไป นับแต่กลางฤดูฝนปีที่แล้ว โดยไม่ร่ำลาอาลัย โดยไม่บอกให้ใครแม้แต่แม่ รู้ข่าวว่ามีคนเห็นมันกลั้นสะอื้นไปคนเดียวด้วยสองมือว่างเปล่า เข้าไปป่ากว้างอันอ้างว้าง-มืดมน
“
ดาบล่ะ! เอ็งไม่เอาไปด้วยหรือคนสวนทางซักถาม
        “
ไม่ต้อง ข้าไปหาเอาข้างหน้าได้”
       
เจ้าขุนทองมันว่าอย่างนั้น ก่อนจะสะบัดหน้าแล้วเดินหายเข้าป่าไป!


          และยังปรากฏในตอนที่ว่า


 แม่ไม่เคยนึกสักนิดว่าในกาลต่อมา มันจะไปถือดาบเที่ยวคลุกอยู่กับเลือดและความตายท่องอยู่ตามป่าเขาและดงดิบกันดารไกล ทั้งทีก็ไม่เคยเห็นมันจับดาบนอกจากหนังสือหนังหาที่มันรักของมัน!


          เหตุการณ์ที่บอกเล่าผ่านวรรณกรรมของอัศศิริได้สร้างความสะเทือนใจกับผู้อ่านอย่างมาก เพราะเป็นเหมือนบทเรียนที่ตอกย้ำผู้ใช้อำนาจฝ่ายรัฐว่า การทำร้ายจิตใจที่เกินเยียวยาเป็นเหมือนชนวนให้ความรุนแรงดูจะทวีขึ้น และเป็นรากฝังลึกในสังคมไทยที่มองไม่เห็นวิธีการจะนำความไว้ใจ และสุขใจกลับคืนมาได้ เพราะมองไม่เห็นฟ้าสาง จริง ๆ ดังที่ว่า


“ถ้าขุนทองไม่กลับมาล่ะ แม่เฒ่าบ่าวฝีพายเอ่ยถาม
        “กลับซี! มันต้องกลับ...มันต้องคิดถึงแม่ ข้ารู้ใจ”
        แม่ยืนยันถ้อยคำกับบ่าวในบ้านอย่างแข็งขัน แต่สีหน้าปีติผันแปรเปลี่ยนเป็นสลดซีดลงอย่างสังเกตเห็นได้ชัด


          บทนี้แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่าแม้ทุกคนจะให้กำลังใจตัวเองหรือหวังว่าทุกอย่างจะดีขึ้น แต่ในความเป็นจริงแล้วสิ่งที่อยู่ในใจลึก ๆ ทุกคนย่อมรู้ดีว่า “มันไม่มีทางเป็นไปได้” แม้เมื่อนายธานินทร์ กรัยวิเชียร เป็นนายกฯ จึงได้คิดโครงการ “คืนสู่เหย้า” เพื่อให้นักศึกษาที่เข้าป่ากลับบ้าน เพื่อจะแสดงความจริงใจ และหวังให้สังคมคืนสู่สันติสุข แต่ก็เป็นได้แค่ความหวังเท่านั้น ดังที่ว่า


ร่ำลือกันมาตั้งแต่ฝนเข้าพรรษาว่า เจ้าขุนทองมันจะได้กลับมาบ้าน มาเป็นผู้คนพลเมืองอย่างเพื่อนบ้านคนอื่นได้


และอัศศิริก็บอกไว้อย่างชัดเจนว่า


แม่ลงเรือพายทวนกระแสน้ำในลำคลองที่ไหลระเรื่อย อ่อนราด้วยน้ำน้อยฝนแล้งนั้นไปอย่างช้าๆ เมื่อฟ้าสาง ตรงข้ามกับหัวใจที่ร้อนรนรีบเร่งล่วงไปแล้วข้างหน้า คือศาลากลางเมืองที่เขาจัดไว้ รอรับให้เจ้าขุนทองมันกลับมา


          นี่คือสิ่งที่สะท้อนให้เห็นว่า “เมื่อสังคมมาถึงทางแยก รอยแตกร้าวก็ไม่สามารถใช้กาวอะไรมาประสานได้” เพราะในความเป็นจริงแล้ว นิสิตนักศึกษาที่หนีเข้าป่าไม่มีใครกลับมาเลย


“เขาตายแล้วล่ะ!” เด็กหนุ่มคนหนึ่งบอกแม่
        แม่ร้องไห้...ขุนทองตายเสียแล้ว!
        “เจ้าพบศพเขารึแม่ถาม
        “ไม่-ไม่ใช่ศพเขา พบตัวเขานั่นแหละ เขาให้บอกแม่ว่าเขาตายแล้ว” เด็กหนุ่มคนนั้นว่า
        “เขาอยู่กับใครแม่ถามอีก
        “เขาอยู่กับดาบน่ะซี! ดาบเปื้อนเลือด...รอยคราบของความชิงชัง!” เด็กหนุ่มตอบ


          ความชิงชังที่อยู่ในดาบเปื้อนเลือดของเจ้าขุนทอง หรือความชิงชังที่เกิดจากสองมือเปล่าๆ ที่ใช้ในการเรียกร้องความเป็นธรรมได้สะท้อนเหตุการณ์ทางการเมืองที่นักศึกษาเป็นฝ่ายถูกกระทำไว้อย่างชัดเจน และแน่นอนเบื้องหลังการกระทำเหล่านั้น ไม่ใช่มีแค่เหล่านิสิตนักศึกษา หรือผู้ใช้อำนาจรัฐเท่านั้นที่ต้องเจ็บปวด เพราะที่จริงแล้วยังมีครอบครัว ที่ไม่ควรให้ความตายเกิดขึ้นง่ายดายในสังคมไทย


ขุนทองมันหายลับ เข้าป่าไปนับพรรษาปีก่อน ปล่อยความทุกข์เข้าครองเรือนครองหัวใจของแม่มาแล้วก็นานนักหนา... เสียงพายกระทบน้ำเป็นจังหวะอยู่ในความเงียบ แม่เริ่มร้องไห้ออกมาอีก เมื่อนึกถึงความเงียบความว้าเหว่ภายในเรือนของแม่ที่ยืนรออยู่ข้างหน้า และนานนับขวบปีแล้วที่ขาดร่างขาดเงาของเจ้าขุนทองเหมือนก่อนเคย


          เหตุการณ์ในยุคเจ้าขุนทอง ได้สะท้อนความล้มเหลวอย่างสิ้นเชิงทางการเมืองไทย และเมื่อถึงวันนี้เมื่อหยิบวรรณกรรม ขุนทองเจ้าจะกลับมาเมื่อฟ้าสาง มาอ่านอีกครั้ง งานของอัศศิริ ธรรมโชติ ก็ยังดูเหมือนจะทันสมัย ที่เป็นเช่นนั้นคนไม่ใช่เพราะ “เนื้อเรื่อง” แต่มันคือ “เนื้อหา” ที่ยังเป็นเหมือนละครบทเดิม ที่ดำเนินเรื่องเหมือนเดิม ซ้ำวนเป็นละครน้ำเน่า ที่เพียงแต่เปลี่ยนฉาก เปลี่ยนตัวละคร  เพราะในตอนจบ “ฟ้าก็ยังไม่สาง” ในสังคมประชาธิปไตยบนดินแดนแห่งรอยยิ้ม ที่เรียกตัวเองว่า ประเทศไทย






Free TextEditor


Create Date : 20 มกราคม 2554
Last Update : 20 มกราคม 2554 15:45:48 น. 8 comments
Counter : 35283 Pageviews.  
 
 
 
 
ผมเข้ามาอ่านและหันกลับย้อนมองทั้งเหตุการณ์ยุคนั้นล่วงจนถึงยุคนี้ ปัญหาบางอย่างก็ยังคงเป็ยเช่นเดิม คือการเมืองทั้งภาคส่วน

"แม่" อาจจะเป็นตัวแทนของชาวบ้านตาดำๆ ที่ยังไม่รู้หรือยังไม่ลึกซึ่งถึงรายละเอียดในเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เพราะ แม่ยังคงคิดไม่ออกว่าเพราะเหตุใดเจ้าขุนทองจึงหยิบดาบขึ้นมาสู้ เพราะ "แม่" ไม่รู้ว่าเจ้าขุนทองต้องไปสู้กับใคร

ปัญหามันอยู่ที่ว่า คนที่มีความคิด "รักการอ่าน" มากกว่าแม่ "ขุนทอง" ทำไมถึงไม่พยายามทำให้แม่เข้าใจว่ากำลังต่อสู่กับใคร และเพื่ออะไร

แต่กลับทำเสมือนปกปิดหรือพยายามที่จะไม่อธิบายเสียเอง

ย้อนกลับมาสู่การเมืองเดี๋ยวนี้หรือที่ผ่านๆ มา ดั่งจะเห็นว่าการต่อสู้ทางการเมืองกลับกระจุกอยู่กับส่วนกลางหรือแค่คนที่พออ่านออกเขียนได้เท่านั้น มันจึงเป็นคำถามกระจายไปตามส่วนย่อยของประเทศว่า "เขาไปม๊อบกันทำไม?"

สิ่งที่ผมพยายามจะบอกคือ พวกม๊อบต่างๆ ไม่ว่าสีไหน ไม่ค่อยพยายามจะลงสู่การเมืองชายขอบหรือเรียกแบบทั่วๆ ไปว่า รากหญ้า ซึ่งถ้าหากทำเช่นนั้นได้ ไม่ว่าม๊อบสีไหนก็จะดึงมวลชนเข้ามาร่วมได้เยอะกว่าที่เป็นอยู่แน่นอน
 
 

โดย: แสงศรัทธา ณ ปลายฟ้า วันที่: 19 กุมภาพันธ์ 2554 เวลา:1:37:22 น.  

 
 
 
นี่ฉากของเรื่องนี้มีไหมค่ะ
 
 

โดย: นามแฝง IP: 171.4.215.71 วันที่: 16 กุมภาพันธ์ 2555 เวลา:16:48:25 น.  

 
 
 
สนุกมากครับ อ่านแล้ว
 
 

โดย: ปฏิธาน สวัสดี IP: 118.175.130.145 วันที่: 1 มีนาคม 2555 เวลา:13:55:53 น.  

 
 
 
สนุกมากครับ อ่านแล้ว
 
 

โดย: ปฏิธาน สวัสดี IP: 118.175.130.145 วันที่: 1 มีนาคม 2555 เวลา:13:56:24 น.  

 
 
 
นี้เป็นบทวิจารณ์ของใครคะ พอดีทำรายงานเรื่องบทวิจารณ์นะคะใครทราบรบกวนบอกหน่อยนะคะ
 
 

โดย: แอมป์ IP: 206.53.148.49 วันที่: 16 มกราคม 2556 เวลา:9:10:33 น.  

 
 
 
ผลประโยชน์เงินทองอำนาจพละกำลังเป็นใหญ่ปราศจากคุณธรรมเหตุผลใดๆทั้งสิ้นในเมืองไทยนี้
 
 

โดย: นิรนาม IP: 202.143.185.146 วันที่: 18 ธันวาคม 2556 เวลา:15:26:15 น.  

 
 
 
ชอบบทวิจารณ์นี้มาก ไม่ทราบผลงานใคร คิดว่าน่าจะเป็นผู้ที่รู้และเข้าใจเหตุการณ์บ้านเมืองช่วงเรียกหาประชาธิปไตยอย่างดี ขอบคุณเจ้าของผลงานนะครับ
 
 

โดย: สุบรรณ เดชเชียร IP: 182.52.158.211 วันที่: 23 มีนาคม 2557 เวลา:14:51:56 น.  

 
 
 
หนูขอแสดงทัศนะเฉยๆนะคะ เพราะเนื้อหาการวิจารณ์ดีอยู่แล้ว

ถ้ามองในแง่ที่กลับกันมองในมุมของ "แม่" แม่อาจจะเป็นประชาชนคนเดินดินที่ไม่รู้หนังสือ ในความคิดของ "ปัญญาชน" มองว่าถึงพูดไปก็ไม่เข้าใจ ฉะนั้นไม่พูดเสียดีกว่า นั้นอาจจะเป็นส่วนหนึ่งที่ "ขุนทอง" ที่เป็นตัวแทนของปัญญาชน แสดงทัศนคติออกมา

หนูแค่เสนอทัศนะเฉยๆ ถ้าพลาดด้วยประการใด ก็ขอให้แนะนำหนูด้วยนะคะ (- /.\\ -)
 
 

โดย: 0.0หนูอยากรู้ IP: 202.29.86.170 วันที่: 11 มกราคม 2559 เวลา:14:25:33 น.  

Name
Opinion
*ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก

Rjaantick
 
Location :
มหาสารคาม Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 6 คน [?]




ชีวิต คือการแสวงหาและแลกเปลี่ยนเรียนรู้ที่จะอยู่และเป็นอย่างเป็นสุขบนสิ่งที่มีและเป็น
[Add Rjaantick's blog to your web]

 
pantip.com pantipmarket.com pantown.com