ธันวาคม 2567

1
2
3
4
5
6
7
8
9
10
11
13
14
15
16
17
18
19
20
21
22
24
26
27
28
29
30
31
 
 
All Blog
คริสต์มาสในวรรณกรรมชุดแอนน์ : หนูน้อยแห่งบ้านกรีนเกเบิลส์ (Anne of Green Gables)
สวัสดีค่ะ 155

วันนี้เราขอนำเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยเกี่ยวกับคริสต์มาสในวรรณกรรมชุดแอนน์ : หนูน้อยแห่ง
บ้านกรีนเกเบิลส์ (Anne of Green Gables) มาเล่าให้ทุกๆคนได้ฟังกันค่ะ



ก่อนอื่นขอนำบทความ (บางส่วน) จากผู้แปลคุณ วรวดี วงศ์สง่า มาให้ได้อ่านก่อนนะคะ

145 การนำบทความนี้มาลง ได้รับอนุญาตจากนักแปล คุณวรวดีเรียบร้อยเเล้ว 145

------------------------------------------------------------------------------------

ใกล้ถึงวันคริสต์มาสแล้ว กำลังนึกเรื่องมาคุยกับคุณ ๆ อยู่ ก็พอดีน้องนักอ่านคนหนึ่งเขียนมา
เล่าว่าเพิ่งอ่าน “แอนน์” เล่มหนึ่ง (แอนน์ หนูน้อยแห่งบ้านกรีนเกเบิลส Anne of Green Gables)
จบอีกรอบด้วยความสุขใจ แต่ก็สงสัยว่าในหนังสือที่พูดถึงวันคริสต์มาสในอาวอนลี ทำไมไม่เห็น
มีการตกแต่งต้นสนหรืองานฉลองเลย มีแต่ฉากที่แมทธิวให้ของขวัญแอนน์เท่านั้น คำถามของ
น้องคือ “เขาไม่ฉลองคริสต์มาสกันหรือคะ” พออ่านจบเลยรีบตอบน้องนักอ่านไปว่าขอมาโพสต์
ตอบในเพจนะคะ เพราะคำถามน้องน่าสนใจ เผื่อหลาย ๆ ท่านที่สงสัยก็จะได้อ่านคำตอบไป
พร้อม ๆ กัน พร้อมขอขอบคุณน้องนักอ่านผู้นั้นไว้ ณ ที่นี้ด้วยค่ะ 

สำหรับนักอ่านที่เป็นชาวคริสต์หรือที่เคยเรียนเคยอ่านประวัติศาสตร์ตะวันตกมาก่อนอาจพอ
จำกันได้ว่าการฉลองวันคริสต์มาสแบบที่เราทำกันในปัจจุบันนี้ เมื่อหลายร้อยปีก่อนทั้งในอังกฤษ
และสก็อตแลนด์เคยถูก “แบน” หรือห้ามอย่างเด็ดขาดไม่ให้มีการฉลองเป็นเวลาหลายศตวรรษ
ทีเดียว เหตุผลโดยรวมก็เป็นเรื่องของความขัดแย้งในคริสตศาสนาระหว่างนิกายโรมันคาธอลิก
และโปรเตสเตนท์หลายสาย ซึ่งออกจะซับซ้อนสักหน่อยสำหรับผู้ที่ไม่ใช่คริสตชน แต่วรวดีจะ
พยายามสรุปสั้น ๆ พอให้เข้าใจง่าย ๆ ตามนี้นะคะ


 
เดิมทีครั้งโบราณกาลก่อน ในสก็อตแลนด์จะมีงานเฉลิมฉลองวัน winter solstice (วัน “เห-มา-
ยัน”) หรือวันที่มีกลางคืนยาวนานที่สุดและกลางวันสั้นที่สุดของปีคือ 21 ธันวาคม ด้วยการนำ
สีเขียวเข้ามาตกแต่งบ้านเพื่อเป็นสัญลักษณ์ของการมีชีวิต รวมทั้งมีการจุดไฟเพื่อขับไล่ความมืด
และการละเล่นสนุกสนานมากมาย การฉลองนี้เรียกกันว่า ‘ยูล’ หรือ ‘ยูลไทด์’ (Yule / Yuletide)
มาจากการผสมผสานระหว่างประเพณีของชาวนอร์สโบราณ (Old Norse) หรือ “ไวกิงส์” ผู้บุกรุก
จากทางทะเลเหนือ กับชาวเคลท์ (Celts) หรือชนพื้นเมืองสก็อต และแม้ในเวลาต่อมาที่คริสต์
ศาสนาเข้ามาในสก็อตแลนด์แล้ว ชาวสก็อตก็ยังฉลอง “ยูลไทด์” กันต่อเนื่อง ซึ่งถึงทางโบสถ์จะ
ไม่ได้ชื่นชมงานรื่นเริงตามพิธีแบบพวก “นอกศาสนา” แต่ก็ต้องยอมปรับให้ประเพณีดั้งเดิมกลาย
เป็นส่วนหนึ่งของการเฉลิมฉลอง Christ’s Mass (Christmas) อันเป็นวันประสูติขององค์พระเยซู
คริสต์ไปเสีย



นั่น... คือก่อนการปฏิรูปคริสต์ศาสนา
 
แต่พอเกิดขบวนการปฏิรูปขึ้นโดยคริสตชนนิกายโปรเตสแตนท์ทั่วยุโรปในช่วงปี ค.ศ. 1560
เป็นต้นมา การคัดค้านนิกายโรมันคาธอลิกก็เริ่มรุนแรงขึ้น รวมไปถึงเรื่องการฉลองวันคริสต์มาส
แบบที่ทำ ๆ กันอยู่นั้นด้วย โดยเฉพาะชาวคริสต์กลุ่ม ‘เพียวริตันส์’ (Puritans) ที่เคร่งมาก ๆ ใน
อังกฤษนั้นบอกชัดเจนเลยว่าการฉลองแบบรื่นเริงไม่มีระบุในพระคัมภีร์ไบเบิล ทั้งความรื่นเริงก็
ไม่ใช่สาระแท้จริงของวันพระคริสตสมภพ ยังผลให้ในปีค.ศ. 1640 รัฐสภาสก็อตแลนด์ (ซึ่งตอน
นั้นแยกตัวออกจากนิกายโรมันคาธอลิกมารับความเชื่อใหม่ในนิกายเพรสบิทีเรียนแล้ว) ได้ออก
กฎหมายยกเลิกการฉลองวันคริสต์มาสอย่างเป็นทางการ และต่อมาในปีค.ศ. 1647 การฉลอง
วันคริสต์มาสก็ถูก “แบน” หรือยกเลิกทั่วทั้งสหราชอาณาจักรเป็นเวลายาวนานร่วมสี่ศตวรรษ



กระทั่งในช่วงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 18 การฉลองวันคริสต์มาสแบบเดิมก็ค่อย ๆ เริ่มกลับมาใหม่
จากการแอบฉลองกันในบ้าน ครั้นพอปี 1841 ก็เริ่มมีการส่งบัตรอวยพรวัน “ยูลไทด์” ให้เห็นกันใน
อังกฤษ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุคของสมเด็จพระราชินีวิคตอเรียที่เรียกกันว่า “ยุควิคตอเรีย” คือ
คริสต์ศตวรรษที่ 19 การฉลองวันคริสต์มาสก็กลับมาอย่างเต็มอัตราเลยทีเดียว และพระนางก็เป็น
ผู้ทำให้ “ต้นคริสต์มาส” เป็นที่นิยมแพร่หลายในอังกฤษ (และทั่วโลกในเวลาต่อมา) เมื่อพระสวามี
คือเจ้าชายอัลเบิร์ตจากประเทศเยอรมนีทรงพระประสงค์ที่จะนำต้นสนมาจากบ้านเกิดของพระองค์ในเมืองโคเบิร์กเพื่อจัดแต่งในวันคริสต์มาสตามแบบเยอรมันที่พระราชวังวินเซอร์ พระนางก็ทรง
เห็นด้วย จนกลายเป็นความนิยมในการจัดแต่งต้นคริสต์มาสมาจนถึงทุกวันนี้

 

ย้อนกลับมาที่น้องแอนน์ผมแดงแห่งอาวอนลี ถึงตอนนี้หลายท่านคงพอเดาได้แล้วนะคะ ว่าทำไม
จึงไม่มีการกล่าวถึง “งานฉลอง” หรือการจัดแต่งต้นสนเป็นต้นคริสต์มาสในเรื่อง นั่นอาจเป็นเพราะ
คุณม็อด มอนต์โกเมอรี (ผู้เขียน) เธอเป็นชาวคริสต์นิกายเพรสบิทีเรียนผู้เคร่งครัด ซึ่งในปี 1908
ที่ Anne of Green Gables ได้ตีพิมพ์ครั้งแรกนั้น เธอก็ได้หมั้นหมายกับท่านศิษยาภิบาลเพรสบิ
ทีเรียนว่าที่สามีในอนาคตแล้ว เธอจึงอาจไม่อยากให้ความสำคัญกับสิ่งนั้นมากไป ทั้งที่ช่วงเวลา
ของเรื่องในหนังสือคือราวทศวรรษที่ 1880 การ “แบน” วันคริสต์มาสก็จบลงไปแล้ว และการนำ
ต้นสนมาประดับเป็น “ต้นคริสต์มาส” ก็มีการกระทำกันแล้ว 


 
อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ Anne of Green Gables จะไม่มีการกล่าวถึง “การฉลอง” วันคริสต์มาส
ชัดเจน แต่ “จิตวิญญาณแห่งคริสต์มาส” (Spitits of Christmas) กลับอบอวลไปทั่วทั้งเรื่องเลยค่ะ
ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องความสำคัญของครอบครัว การให้อภัย การไม่เห็นแก่ตัว การช่วยเหลือผู้อื่น
หรือการสร้างความหวังและกำลังใจให้ทั้งกับตนเองและผู้อื่น เพราะฉะนั้น ถ้าใครยังไม่ทราบว่าจะ
อ่านหนังสือเล่มไหนดีในช่วงวันหยุดยาวคริสต์มาสถึงปีใหม่นี้ ลองหยิบ “แอนน์ : หนูน้อยแห่งบ้าน
กรีนเกเบิลส์” มาอ่านนะคะ รับรองว่าคุณ ๆ จะได้รับความสุขจากจิตวิญญาณแท้ ๆ ของวัคริสต์มาส
ท่ามกลางความงดงามและ “มหัศจรรย์” แห่งโลกใบเก่าเมื่อร้อยกว่าปีก่อน... โลกใบที่ผู้คนสามารถ
connect หรือเชื่อมต่อกันได้โดยไม่มีโทรศัพท์หรืออินเตอร์เน็ตเลย


 
------------------------------------------------------------------------------------

161 เพื่อนๆสามารถเข้าไปติดตามเกร็ดความรู้เเละร่วมพูดคุยหรือ
แลกเปลี่ยนความเห็นกับนักแปลได้ที่ Facebook คุณวรวดี วงศ์สง่า นะคะ

158 และจากบทความดังกล่าวข้างต้น 158
ทำให้สันนิษฐานได้ว่าเนื่องจากพระเยซูเกิดในช่วงฤดูกาลอบอุ่น (คาดว่าน่าจะเป็นฤดูใบไม้ผลิ
หรือฤดูใบไม้ร่วง) แต่ในพระคัมภีร์ไบเบิล ไม่มีกล่าวถึงเรื่องนี้ไว้อย่างชัดเจน ทำให้นิกาย
เพรสบิทีเรียน (Presbyterian) ที่ยึดมั่นในพระคัมภีร์ไบเบิลอย่างเคร่งครัด ห้ามการเต้นรํา
เฉลิมฉลอง ห้ามทําพิธีในโบสถ์ของศาสนาคริสต์สอย่างเด็ดขาด ทำให้ผลงานเรื่อง

  ② แอนน์ : สาวน้อยแห่งหมู่บ้านอาวอนลี (Anne of Avonlea) 
  ③ แอนน์ : หญิงสาวแห่งเกาะพีอีไอ (Anne of Island)
  ⑤ แอนน์ : บ้านแห่งความฝัน (Anne’s House of Dreams)
  ⑦ หุบเขาสายรุ้ง (Rainbow Valley)

ที่เขียนในช่วงที่คุณม็อดเป็นภรรยาศิษยาภิบาล จึงไม่มีกล่าวถึงการประกอบพิธีทางศาสนา
และการสวดภาวนาหรือนมัสการพระเจ้าในโบส์เมื่อถึงช่วงคริสต์มาสเลย 157

โบสถ์นิกายเพรสบิทีเรียนของคุณลูซี ม็อด มอนต์โกเมอรี มีประวัติห้ามจัดเทศกาลคริสต์มาส
เพราะถือว่าเป็นวันงานเทศกาลของพวกนอกรีต นอกศาสนา ดังนั้น คริสต์มาสที่ปรากฎใน
วรรณกรรมชุดแอนน์ (Anne books) ที่เขียนในช่วงที่เธอเป็นภรรยาศิษยาภิบาลนั้น จึงไม่ใช่
งานพิธีกรรมทางศาสนา แต่จะถูกเขียนเป็นกิจกรรมที่สมาชิกในครอบครัวจะอยู่กันอย่าง
พร้อมหน้าพร้อมตา ทำกิจกรรม เช่น มอบของขวัญและรับประทานอาหารค่ำมื้อพิเศษร่วมกัน
เท่านั้น 151

ในทางกลับกัน ผลงานที่คุณม็อดเขียนในช่วงที่ไม่ใช่ภรรยาศิษยาภบาล ในเล่ม

① แอนน์ : หนูน้อยแห่งบ้านกรีนเกเบิลส์ (Anne of Green Gables)
     จะมีกล่าวถึง การให้ของขวัญชุดแขนพอง Puff Sleeves
④ แอนน์ : หญิงสาวแห่งบ้านวินดีวิลโลวส์ (Anne of Windy Willows)
     จะมีบรรยายถึงต้นคริสต์มาสและพวงมาลัยคริสต์มาสหรือ Christmas Wreath
⑥ แอนน์ : คุณแม่แห่งบ้านอิงเกิลไซด์ (Anne of Ingleside)
     จะมีต้นคริสต์มาสและซานตาคลอสปรากฎในหนังสือ



ท้ายนี้ขอให้เพื่อนๆที่เข้ามาอ่านบล็อกของเรามีสุขภาพดี มีความสุข ในเทศกาลคริสต์มาส
และปีที่กำลังจะมาถึงนะคะ 156



Create Date : 23 ธันวาคม 2567
Last Update : 23 ธันวาคม 2567 10:30:03 น.
Counter : 160 Pageviews.

0 comments
ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
 *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

สมาชิกหมายเลข 4642774
Location :
  

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed

 ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]