ความทรงจำเก่า ๆ ก่อนจะลืมเลือนหายไปกับกาลเวลา
Group Blog
 
<<
กุมภาพันธ์ 2561
 123
45678910
11121314151617
18192021222324
25262728 
 
27 กุมภาพันธ์ 2561
 
All Blogs
 
Pontarfynach สะพานสร้างซ้อนกันสามชั้น




ณ หมู่บ้าน Ceredigion ราว 15 กิโลเมตรนอกเมือง Aberystwyth ใน Wales บนถนนสาย A4120
มีสะพานขนาดเล็กเส้นหนึ่งที่เรียกว่า Pontarfynach หรือสะพานข้ามลำธาร Mynach
เป็นสะพานที่ชาวบ้านต่างชื่นชอบและให้คุณค่ามากที่สุดสะพานหนึ่ง

สะพานเส้นนี้ไม่เหมือนกับสะพานทั่ว ๆ ไปที่มักจะสร้างกันเพียงชั้นเดียว
แต่สะพานเส้นนี้มีสะพานถึงสามชั้นซ้อน ๆ กันบนสะพานเส้นเดิม
สะพานเส้นแรกอยู่ที่ด้านล่างสุดถูกสร้างขึ้นราวศตวรรษที่ 11
และเมื่อคาดว่าสะพานเก่าแก่นี้จะไม่ค่อยมั่นคงแข็งแรงกับการสัญจรไปมาแล้ว
ก็มีการสร้างสะพานเส้นใหม่คร่อมบนสะพานเส้นแรกเส้นเดิม
โดยไม่มีการรื้อถอนหรือทำลายสะพานเก่าแก่นี้ลงแต่อย่างใด
คาดว่าชาวบ้าน/คนงานได้ใช้เป็นสะพานเดิมนี้
เป็นทางเบี่ยงหรือขนวัสดุก่อสร้างไปมา
งานก่อสร้างสะพานเส้นที่สอง/ชั้นที่สองเสร็จราวปี 1753 ช่วงกลางศตวรรษที่ 18
ต่อมาในปี 1901 สะพานเส้นที่สามหรือชั้นที่สามซึ่งเป็นสะพานเหล็ก
ก็มีการสร้างขึ้นอีกคร่อมบนสะพานเดิมทั้งสองสะพาน
โดยมีการอนุรักษ์และไม่ทำลายสะพานเดิมทั้งสองเส้น




Photo credit: Alex Liivet/Flickr



ตามตำนานเดิมสะพานเส้นนี้มีชื่อเรียกว่า สะพานปีศาจ Devil’s Bridge
เพราะปีศาจตนหนึ่งได้สร้างขึ้นมาให้กับหญิงชรารายหนึ่ง
ซึ่งเธอเดินตามหาแม่วัวที่หายไป และพบว่าแม่วัวยืนเล็มหญ้า/เคี้ยวเอื้องอยู่ฝั่งตรงข้ามลำธาร
แต่เธอไม่สามารถจะข้ามโตรกผาที่มีลำธารผ่ากลางเพื่อไปจูงแม่วัวของเธอกลับมาได้
และแล้วเธอก็พบปีศาจตนหนึ่งนั่งรออยู่ที่ริมตลิ่งแห่งนี้
(ปีศาจน่าจะเป็นผู้นำแม่วัวข้ามแม่น้ำนี้ไปอยู่ฝั่งตรงข้าม)

โดยปีศาจได้ตั้งเงื่อนไขว่าจะสร้างสะพานให้กับเธอไว้เพียงข้อเดียวว่า
สิ่งมีชีวิตรายแรกที่เดินข้ามสะพานเส้นนี้ วิญญาณต้องตกเป็นของปีศาจทันที
เพราะปีศาจคาดว่า หญิงชราจะต้องเป็นคนแรกที่เดินข้ามสะพานแห่งนี้ไปเพื่อจูงแม่วัวกลับมา
แต่หญิงชรารายนี้กลับใช้เล่ห์เพทุบายหลอกปีศาจได้สำเร็จ
ด้วยการปาก้อนขนมปังข้ามสะพานปีศาจไป
ทำให้หมารีบวิ่งข้ามสะพานไปเพื่อกัดกินขนมปัง
หมาจึงเป็นสิ่งมีชีวิตรายแรกที่เดินข้ามสะพานปีศาจไปก่อน
ปีศาจจึงต้องรับเอาดวงวิญญาณหมาไปแทนอย่างผิดหวังและช้ำใจ
หญิงชราเลยเดินข้ามสะพานไปเพื่อจูงแม่วัวกลับบ้าน

สะพานแห่งนี้ตั้งอยู่จุดที่ลำธาร Mynach ค่อย ๆ ไหลลัดเลาะตลิ่งสองข้างทาง
เป็นระยะทางราว 90 เมตรผ่านโตรกผาที่แคบก่อนไปพบกับแม่น้ำ Rheidol
โดยค่อย ๆ ไหลลดหลั่นลงไปถึง 5 ชั้นทีเดียว

สะพานปีศาจ Devil's Bridge เป็นจุดเยี่ยมชมของนักท่องเที่ยวมาหลายศตวรรษแล้ว
George Borrow นักเขียนชาวอังกฤษนามอุโฆษเคยเขียนเรื่อง Wild Wales (1854)
บอกเล่าถึงเรื่องราวสนุกสนานและมีชีวิตชีวาตอนที่ไปเยี่ยมชม Pontarfynach
และยังมีโรงแรมชื่อ George Borrow Hotel สร้างขึ้นในศตวรรษที่ 17
เป็นโรงแรมที่เปลี่ยนชื่อใหม่ให้เป็นเกียรติกับนักเขียนท่านนี้
เพราะท่านเคยเข้าไปพักอาศัยช่วงหนึ่งและอยู่ไม่ไกลกันนัก

ใกล้ ๆ กับสะพานปีศาจ Devil's Bridge ยังมีสถานีรถไฟ Devil's Bridge
ซึ่งเป็นเส้นทางประวัติศาสตร์สาย Vale of Rheidol Railway
วิ่งระหว่าง Aberystwyth กับ Devil's Bridge ในปี 1902

ยังมีพื้นที่ส่วนหนึ่งเป็นที่เป็นทรัพย์สินของ Hafod Estate
เจ้าของเดิมคือ Thomas Johnes ผู้ชื่นชอบกับการล่าสัตว์ในที่ดินส่วนตัว
หลังจากมีการพัฒนาและดัดแปลงที่พักล่าสัตว์หลายครั้ง
ทุกวันนี้เปิดให้บริการอย่างเป็นทางการเป็นโรงแรม Hafod Hotel




Photo credit: James Stringer/Flickr



Photo credit: Ruben Holthuijsen/Flickr



Photo credit: Alex Liivet/Flickr



Devil's Bridge กับ Hafod Arms Hotel ก่อนการสร้างสะพานครั้งที่ 3 ในช่วงปี 1860



จุดชมวิวบน Devil's Bridge ในปี 1781




Hafod Arms Hotel สร้างโดย Thomas Johnes










ภูมิทัศน์ Hafod Estate วาดราวปี 1795 โดย John Warwick Smith





เรียบเรียง/ที่มา


https://goo.gl/6DTKwk
https://goo.gl/GQb3rP








เรื่องเล่าไร้สาระ



มีสะพานเส้นหนึ่งทางไปซัง
ภาษาทัองถิ่นที่เรียก ตรัง
ที่คนมักจะชอบไปถ่ายรูปกันมาก
เป็นสะพานที่สร้างคู่ขนานกับสะพานสร้างใหม่มีทางเบี่ยงข้างทาง
ชื่อ สะพานโค้งประวัติศาสตร์ สร้างในช่วงสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2
ปัจจุบันชาวบ้านแถวนั้นก็ยังคงใช้สะพานแห่งนี้สัญจรไปมาเป็นทางรอง
เป็นสะพานโค้งแห่งแรกของเส้นทางสายพัทลุง-ตรัง
ที่มีเส้นทางตัดผ่านเทือกเขาพับผ้า
ในอดีตเป็นถนนที่เส้นทางเดินทางยากลำบากมาก

ถนนสายพับผ้าเส้นเดิมนี้ตัดขึ้นในรัชสมัยพระปิยะมหาราช
โดย พระยารัษฎานุประดิษฐ์มหิศรภักดี (คอซิมบี้ ณ ระนอง)
เพราะตรังสมัยก่อนจะขาดแคลนข้าวปลาช่วงฤดูมรสุม
ในช่วงพฤษภาคมถึงตุลาคมแถบทะเลฝั่งอันดามันมักจะมีมรสุม
ทะเลฝั่งอ่าวไทยช่วงพฤศจิกายนถึงเมษายนก็จะเป็นช่วงฤดูมรสุม(สลับกัน)
การตัดถนนข้ามเขาพับผ้าจะทำให้คนสองฝั่งทะเล
สามารถข้ามเขาพับผ้าไปซื้อหาอาหารหยูกยากันได้
และมีการซื้อขายแร่ดีบุกกันมากในยุคอดีตจากฝั่งอ่าวไทย
เพื่อนำแร่ดีบุกไปขายที่เกาะหมาก(ปีนัง) มาเลย์ช่วงเป็นเมืองขึ้นอังกฤษ

” เมืองลุง ชุมข้าวชุมปลาและชุมโจรา
มาแต่ซัง ม่ายหนังก้อโนหร่า “
หนังปานบอด เคยเอื้อนเอ่ยไว้


หมายเหตุ

หนังตะลุง มโนราห์ ทั้งคู่ถือว่าเป็นศิลปินท้องถิ่นที่ได้รับการยกย่อง
ในเรื่องเจ้าบทเจ้ากลอนไหวพริบการโต้ตอบและเจ้าพิธีกรรมคาถาอาคม
เป็นผู้ถ่ายทอดเรื่องราว/ข่าวสารต่าง ๆ ในอดีตระหว่างเมืองต่าง ๆ
จากการเป็นนักแสดงที่เดินทางไปแสดงศิลปะในที่ต่าง ๆ
เทียบเท่ามหาวิทยาลัยชาวบ้านในยุคอดีตที่ไม่มีวิถีชีวิตแบบทุกวันนี้
เช่นเดียวกับ หมอลำ ในภาคอีสาน ศิลปินซอล้านนา ในยุคก่อน ๆ
ที่เป็นที่รู้จักและชื่นชอบพอ ๆ กับ ป๋า Bird ธงชัย
หรือในปัจจุบันก็ ตูน Body Slam ฉันใดฉันนั้น

พื้นที่พัทลุงติดกับทะเลน้อยไม่ติดกับอ่าวไทย
โดยมีพื้นที่ติดต่อกับนครศรีธรรมราชกับสงขลา
มีแต่สองจังหวัดนี้ที่มีพื้นที่ติดกับอ่าวไทย
ในอดีตบางครั้งพัทลุงก็เป็นส่วนหนึ่งของนครฯ
บางครั้งก็ปกครองสงขลา บางครั้งก็เป็นส่วนหนึ่งของสงขลา
ทั้งสามจังหวัดนี้ในอดีตมักจะติดต่อค้าขายกัน
การไปจังหวัดตรังผ่านเขาพับผ้าได้ตรงจังหวัดพัทลุง




ในตอนที่สร้างถนนสายตัดผ่านเขาพับผ้าเส้นนี้
ท่านคอซิมบี้ได้นำนักโทษที่รู้เส้นทางหนีทีไล่ในป่า
มาชี้แนะบอกเส้นทาง ถ้าทำดีดีถูกต้อง จะมีรางวัลและลดโทษทัณฑ์ให้
เพราะยุคนั้นพวกโจรมักจะหลบหนีไปมาระหว่างเมืองลุงกับเมืองซัง
ซึ่งการติดตามจับกุมเป็นเรื่องยากลำบากมากในอดีต

ในการตัดถนนสายนี้ ท่านใช้การเกณฑ์แรงงานชาวบ้านตามกฎหมายยุคอดีต
ที่ให้อำนาจเจ้าเมืองและนายอำเภอไว้ ก่อนจะถูกยกเลิกไปในภายหลังปี 2475
และท่านใช้แรงงานนักโทษที่มีความประพฤติดีมาสร้างทางพร้อมลดวันลงโทษให้ด้วย
ซึ่งนักโทษหลายคนก็ชอบเรื่องนี้ด้วยเพราะไม่ต้องติดคุกและมีอิสรภาพบ้างนิดหน่อย

ในะหว่างเส้นทางที่ตัดผ่านเทือกเขาพับผ้า
ท่านให้ใช้วัวเทียมเกวียนแบกขนข้าวปลาอาหาร/ก้อนหินจำลองน้ำหนักจริง
จุดไหนลาดชันมากถ้าวัวเทียมเกวียนแบกขนขึ้นไปไม่รอดก็จะปรับลดหรือตัดทางวนขึ้นลงไป
เวลาเจอก้อนหินขนาดใหญ่ที่ทุบไม่แตกง่าย ๆ
ก็จะกองไม้สุมไฟให้ลุกโชนแล้วเอาน้ำราดให้หินแตก
ทางข้ามลำธารก็จะตัดไม้ในป่ามาทำสะพานข้ามไป
สองข้างทางทุกวันนี้ ถ้าสังเกตดีดีจะเห็นลำธารน้ำใสหลายจุด

สมัยก่อนถนนเส้นทางข้ามเขาพับผ้านี้
การใช้ถนนเส้นนี้จะวิ่งสลับวันกันมีวันคู่วันคี่
ยุคแรก ๆ ใช้วันทางจันทรคติ วันข้างขึ้นข้างแรม
ก่อนจะเปลี่ยนมาใช้วันตามปฏิทินภายหลัง
เพราะสมัยก่อนสื่อสิ่งตีพิมพ์ปฏิทินหายากและมีราคาแพง
ยังไม่มีการแจกจ่ายปฏิทินฟรีที่เคยยอดนิยมกันมากในอดีต
เช่น ปฏิทินแม่โขง น้ำมันเครื่อง เบียร์ ที่ฮือฮายอดนิยมมากในยุคหนึ่ง

ในอดีต ใครไปผิดวันก็ต้องรอจนถึงวันที่ระบุไว้จึงจะข้ามเขาพับผ้าได้
จากซังไปลุง จากลุงไปซัง ถ้าใช้เกวียนหรือรถยนต์
เพราะถนนแคบมากรถรายังวิ่งสวนทางกันไม่ได้
ยกเว้นแต่คนเดินเท้า หรือคนที่แบกของหาบของที่อนุโลมให้ไปได้
โดยจะมีเจ้าหน้าที่กับชาวบ้านช่วยกันกำกับและดูแลที่ปากทางเข้าวันคู่สลับกับวันคี่
ก่อนที่จะตัดถนนอีกสองครั้งจนเป็นสภาพปัจจุบัน
และข้างทางยังมีถนนสายเก่าบางเส้นเลียบข้างทางสลับไปมาไม่ได้ใช้เป็นทางการแล้ว
เป็นเส้นทางยอดนิยมของนักปั่นจักรยาน BigBike และ OffRoad

สะพานโค้งนี้ออกแบบโดยสถาปนิกชาวฮอลแลนด์ ก่อสร้างในปี พ.ศ. 2487
สะพานนี้ถูกตั้งชื่อตามลักษณะของสะพาน
ลักษณะพิเศษของสะพานนี้คือ บริเวณฐานของสะพานจะไม่ใช้เสาค้ำ
แต่จะออกแบบให้มีลักษณะโค้งรับน้ำหนักแทน
ส่วนสะพานเส้นใหม่ที่สร้างคู่ขนานจะก่อสร้างแบบมาตรฐานทั่วไป

สะพานเส้นนี้อยู่ใกล้กับถนนสายพัทลุง-ตรัง
อยู่ในเขตอำเภอศรีนครินทร์ จังหวัดพัทลุง
ใกล้ ๆ กับวัดถ้ำสุมะโน เดิมเป็นบริเวณป่าเขามีถ้ำหลายแห่งภายใน
สถานที่อโคจรที่พวกโจร/นายพราน/ทหารป่าพรรคคอมมิวนิสต์
เคยใช้เป็นที่พักชั่วคราวในอดีต/ที่หลบซ่อนตัวของคนที่ทางการต้องการตัว

ก่อนที่มีพระภิกษุจากอีสานมาพัฒนาจนเป็นวัดทุกวันนี้
พร้อมกับคำบอกเล่าจากบรรดาศิษยานุศิษย์
เพื่อยกย่องอาจารย์ของตนว่ามีอิทธิปาฏิหารย์
นั่งทางในเห็นถ้ำแห่งนี้/มีเทวดามาบอกให้สร้างวัดที่นี่
เห็นถ้ำแห่งนี้ในนิมิตแล้วจึงมาสร้างเป็นวัดถ้ำสุมะโน
สุมะโน มาจาก สุมโน สมณะ ผู้สงบหรือภิกษุ
หรือเล่นคำ สุ ดีงาม มะโน ความคิด/จิตใจ















Photo Credit : https://goo.gl/QBaogu



Create Date : 27 กุมภาพันธ์ 2561
Last Update : 28 กุมภาพันธ์ 2561 8:26:36 น. 0 comments
Counter : 2271 Pageviews.

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

ravio
Location :
สงขลา Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 32 คน [?]




เกิดหาดใหญ่ วัยเด็กเรียนหนังสือโรงเรียน Catholic คณะ Salesian มีนักบุญประจำโรงเรียน Saint Bosco, Saint Savio ชอบอ่านหนังสือ godfather เกี่ยวกับ Mafio ของพวกซิซีเลียน เคยเล่นเกมส์ Mario แล้วได้คะแนนนำเลยนำสระโอมาต่อท้ายชื่อเป็น Ravio ได้กลิ่นอายแบบ Italino เคยเดินทางเข้ากรุงเทพฯ เพื่อเรียนวิชาชีพทำมาหากิน แต่ไม่ใช่วิชาที่ชื่นชอบมากนัก เรียนอยู่กว่าเจ็ดปี ต้องกลับมาทำงานเป็นกรรมกรที่บ้านเกิด จนเริ่มเกิดความหลงรักชีวิตบ้านนอก และวิถีชิวิตชุมชนท้องถิ่นที่ตนอยู่และไปร่วมวงเสวนา

เกิดเดือนมีนาคม แต่ลัคนาราศรีตุลย์ ชอบไปทุกเรื่อง สุดท้ายทำอะไรที่ได้เรื่องไม่กี่เรื่อง แต่ส่วนมากมักไม่ได้เรื่อง

ชอบขับรถยนต์ท่องเที่ยวชมภูเขา ป่าไม้ น้ำตก แต่ไม่ชอบทะเลหรือชายหาด เพราะรู้สึกอ้างว้าง โดดเดี่ยว เมื่อคิดถึงชีวิตตนเองที่มาเปรียบเทียบกับสองสิ่งสองอย่างนี้ รู้สึกว่ามนุษย์เป็นเพียงชีวิตที่เล็กน้อยมากที่มาอยู่อาศัยในโลกใบนี้

ชอบอ่านหนังสือ ท่องเที่ยวใน Internet ชอบเดินทางท่องเที่ยวแถว ในละแวกท้องถิ่นบ้านเกิด นาน ๆ ครั้งจะขึ้นไปเยี่ยมเพื่อนที่กรุงเทพฯ หรือไปหาซื้อหนังสือแถวสยามสแควร์ ถิ่นเก่าที่อยู่และที่เรียน






Friends' blogs
[Add ravio's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.