กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว
 
ว่าด้วยลักษณะการปกครองประเทศสยามแต่โบราณ





สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ
เสด็จตรวจราชการหัวเมือง



....................................................................................................................................................


ลักษณะการปกครองประเทศสยามแต่โบราณ


๑. เมื่อเสนาบดีกระทรวงธรรมการตรัสชวนข้าพเจ้าให้มาแสดงปาฐกถาในสามัคยาจารย์ โปรดอนุญาตให้ข้าพเจ้าคิดหาเรื่องมาแสดงตามสมควร ข้าพเจ้านึกขึ้นถึงเรื่องการศึกษาในประเทศสยามแต่โบราณกับเรื่องลักษณะการปกครองประเทศสยามแต่โบราณ ซึ่งข้าพเจ้าได้มีโอกาสศึกษามาเมื่อครั้งรับราชการอยู่ในกระทรวงธรรมการและกระทรวงมหาดไทย ทูลถวายพระองค์เจ้าธานีนิวัติแล้วจะทรงเลือก เธอเลือกเรื่องหลัง ข้าพเจ้าจึงเตรียมมาแสดงเรื่องลักษณะการปกครองประเทศสยามแต่โบราณเป็นปาฐกถาให้ท่านทั้งหลายฟังในวันนี้


๒. ท่านทั้งหลายผู้มาฟังปาฐกถา ที่อยู่ในพระราชสำนักได้เคยฟังพระภิกษุถวายเทศน์ก็คงมี(๑)แต่ผู้ที่ไม่เคยฟังเห็นจะมีมากกว่า อันลักษณะถวายเทศน์นั้น เมื่อผู้จะเทศน์ขึ้นธรรมาสน์ถวายศีลและบอกศักราชแล้ว ท่านย่อมถวายพระพรทูลความเริ่มต้นว่า ถ้าหากท่านเทศน์ไม่ถูกต้องตามโวหารและอรรถาธิบายแห่งพระธรรมแต่บทใดบทหนึ่งก็ดี ท่านขอพระราชทานอภัย ด้วยเป็นผู้มีสติปัญญาอันน้อยดังนี้ แล้วจึงถวายเทศน์ต่อไป แม้สมเด็จพระสังฆราชถวายเทศน์ก็ทูลขออภัยเช่นว่า ซึ่งพระสงฆ์องค์ใดจะละเลยหามีไม่ แต่มิได้เป็นประเพณีที่คฤหัสจะพึงกระทำ ถึงกระนั้นก็ดี มีความอยู่ข้อหนึ่งซึ่งควรจะกล่าวเป็นอารัมภกถา คล้ายๆกับภิกษุท่านกล่าวคำถวายพระพรขออถัย ด้วยปาฐกถาที่ข้าพเจ้าจะแสดงให้ท่านทั้งหลายฟังวันนี้ เป็นเรื่องโบราณคดี หรือถ้าจะว่าอีกนัยหนึ่ง คือเล่าเรื่องก่อนเกิดตั้งหลายร้อยปี ย่อมพ้นวิสัยที่จะรู้ให้ถ้วนถี่ไม่มีบกพร่องหรือจะไม่พลาดพลั้งบ้างเลยได้ การแถลงเรื่องโบราณคดี แม้ในบทพระบาลีมีชาดกเป็นต้น เมื่อท่านจะแสดงอดีตนิทานก็มักใช้คำขึ้นต้นว่า "กิร" แปลว่าได้ยินมาอย่างนั้นๆ บอกให้ทราบว่าเรื่องที่จะแสดงเป็นแต่ท่านได้สดับมา ข้อสำคัญอันเป็นความรับผิดชอบของผู้นำเรื่องโบราณคดีมาแสดง อยู่ที่ต้องแถลงตามตนเชื่อว่าจริง และชี้หลักฐานที่ทำให้ตนเชื่อนั้นให้ปรากฏ ข้อใดเป็นแต่ความคิดวินิจฉัยของตนเองก็ควรบอกให้ทราบ ให้ผู้ฟังมีโอกาสเอาเรื่องเเละหลักฐานที่ได้ฟังไปพิจารณาช่วยค้นคว้าหาความรู้ให้ถ่องแท้ยิ่งขึ้นในคดีเรื่องที่แสดงนั้น การที่ข้าพเจ้าแสดงปาฐกถาขอให้ท่านทั้งหลายเข้าใจว่าตั้งใจจะให้เป็นอย่างว่ามานี้


๓. ที่นี้จะว่าด้วยลักษณะการปกครองประเทศสยามแต่โบราณต่อไป อันแดนดินที่เป็นประเทศสยามนี้เดิมเป็นบ้านเมืองของชนชาติลาว ซึ่งยังมีอยู่ในประเทศสยามจนทุกวันนี้ แต่มักเรียกกันว่า ละว้า หรือ ลัวะ มีแดนดินของชนชาติอื่นอยู่สองข้าง ข้างฝ่ายตะวันตกเป็นบ้านเมืองของพวกมอญ ข้างฝ่ายตะวันออกเป็นบ้านเมืองของพวกขอม (คือเขมรนั่นเอง แต่โบราณมาชาวประเทศอื่นเรียกว่าขอม พวกเขาเรียกกันเองว่าเขมร) ส่วนชนชาติไทยแต่ชั้นดึกดำบรรพ์นั้นยังรวบรวมกันอยู่ที่บ้านเมืองเดิม อันเป็นประเทศใหญ่อยู่ข้างเหนือ ในระหว่างประเทศธิเบศกับประเทศจีน เรื่องพงศาวดารประเทศสยามตอนสมัยดึกดำยรรพ์นั้นรู้ได้ในปัจจุบันนี้ แต่ด้วยอาศัยสังเกตโบราณวัตถุที่มีปรากฏอยู่ ประกอบกับเรื่องตำนานในพื้นเมือง

ได้ความว่าประเทศลาวเคยถูกพวกมอญและขอมเข้ามามีอำนาจครอบงำหลายคราว ยังมีเมืองโบราณซึ่งพึงสังเกตได้ว่าพวกมอญได้มาตั้งปรากฏอยู่หลายแห่ง เช่นเมืองเพชรบุรีเก่า (ข้างตอนวันมหาธาตุ) เมืองราชบุรีเก่า ฝ่ายเหนือขึ้นไปก็มี เช่นเมืองชากังราว ซึ่งภายหลังเรียกว่าเมืองนครชุม (อยู่ที่ปากคลองสวนหมาก ตรงหน้าเมืองกำแพงเพชรข้ามฟาก) และเมืองตากเก่า เมืองเหล่านั้นล้วนตั้งวทางฝั่งตะวันตก เอาแม่น้ำไว้ข้างหน้าเมืองเพื่อกีดกันศัตรูอันอยู่ทางฝ่ายตะวันออก จึงสันนิษฐานว่าพวกแผ่อาณาเขตเข้ามาจากฝ่ายตะวันตกมาสร้างไว้ ถ้าผู้สร้างเป็นพวกที่อยู่กลางประเทศ (อย่างกรุงเทพฯ) ก็คงสร้างทางฝั่งตะวันออกเหมือยอย่างเมืองราชบุรีใหม่และเมืองกำแพงเพชร ซึ่งย้ายมาตั้งทางฝั่งตะวันออกตรงข้ามฟากกับเมืองเก่าดังนี้ นอกจากเมืองโบราณยังมีศิลาจารึกภาษามอญอันตัวอักษรเป็นชั้นเก่าแก่ปรากฏอยู่ทั้งที่เมืองลพบุรีและที่เมืองลำพูน เรื่องตำนานในพื้นเมืองมีเรื่องจามเทวีวงศ์เป็นต้น ก็แสดงให้เห็นเค้าเงื่อนว่ามอญว่ามอญได้มาครอบงำถึงประเทศนี้ ข้อที่รู้ว่าพวกขอมได้เข้ามามีอำนาจครอบงำประเทศลาวนั้น มีหลักฐานยิ่งขึ้นไปกว่ามอญ ด้วยมีวัตถุสถานบ้านเมืองซึ่งพวกขอมได้สร้างไว้ปรากฏอยู่เป็นอันมาก มักมีทางฝ่ายตะววันออก นอกจากนั้นยังมีปรางค์ปราสาทหิน พระพุทธรูป เทวรูป ลวดลายอันเป็นแบบขอม ตลอดจนตัวหนังสือขอมซึ่งเขียนคัมภีร์พระไตรปิฎกอยู่เป็นหลักฐาน

ส่วนเรื่องพงศาวดารของชนชาติไทยนั้น มีเค้าเงื่อนว่าตั้งแต่พุทธศักราชราว ๕๐๐ ปี ประเทศไทยเดิมถูกพวกจีนบุกรุกชิงเอาดินแดนไปเป็นอาณาเขตเป็นอันดับมา มีพวกไทยที่รักอิสระไม่อยากยอมอยู่ในอำนาจจีนพากันทิ้งเมืองเดิมอพยพไปหาบ้านเมืองอยู่ใหม่ทางทิศตะวันตกพวกหนึ่ง ไปตั้งภูมิลำเนอยู่ต่อแดนพม่า ต่อมามีไทยอีกพวกหนึ่งอพยพจากเมืองเดิมด้วยเหตุอันเดียวกัน แต่พวกนี้แยกมาทางข้างทิศใต้ ไทยทั้งสองพวกจึงได้นามต่างกัน พวกที่อพยพไปตั้งบ้านเมืองอยู่ทางทิศตะวันตกได้นามว่าไทยใหญ่ (ในปัจจุบันนี้เรียกกันว่า "เงี้ยว" หรือ "ฉาน") พวกที่อพยพมาตั้งบ้านเมืองทางทิศใต้ได้นามว่าไทยน้อย ไทยเราชาวสยามอยู่ในพวกไทยน้อย แรกมาตั้งภูมิลำเนาเป็นบ้านเมืองในแว่นแคว้นซึ่งยังเรียกว่าสิบสองเจ้าไทย(๒) แล้วพากันหาที่ตั้งภูมิลำเนาต่อลงมาข้างใต้โดยลำดับจนแขวงสิบสองปันนาและลานช้าง บางพวกก็ข้ามแม่น้ำโขงลงมาอยู่ในแขวงลานนา (คือมณฑลพายัพบัดนี้) และมีบางพวกเลยลงมาอยู่จนถึงแดนเมืองสุโขทัย เมืองลพบุรี ตลอดจนเมืองอู่ทองตั้งแต่สมัยเมื่อพวกมอญยังปกครองอยู่ข้างฝ่ายเหนือ และพวกขอมยังปกครองอยู่ข้างฝ่ายใต้ มีจำนวนไทยทั้งที่อพยพมาและมาเกิดใหม่ในประเทศนี้มากขึ้นเป็นอันดับมา

ครั้นถึงสมัยเมื่ออำนาจมอญและขอมเสื่อมลงด้วยกัน พวกไทยที่ลงมาตั้งบ้านเมืองอยู่ในแขวงสุโขทัยก็ตั้งเป็นอิสระขึ้นตาม พวกไทยในแขวงลานนาตั้งเมืองชัยปราการ อันอยู่ในแขวงจังหวัดเชียงแสนบัดนี้เป็นที่มั่น แล้วลงมาสร้างเมืองเชียงรายเป็นราชธานี พยายามปราบปรามพวกมอญขยายอาณาเขตลงมาทางเมืองลพบุรี ไทยพวกที่ตั้งเป็นอิสระ ณ เมืองสุโขทัยสามารถแผ่อาณาเขตได้กว้างใหญ่ไพศาลไปจนประเทศอื่น และได้ปกครองเป็นเจ้าของประเทศสยามสืบมาจนกาลบัดนี้ จึงนับว่าเมืองสุโขทัยเป็นปฐมราชธานีแห่งประเทศสยามตั้งแต่เป็นสิทธิ์แก่ชนชาติไทยในราวเมื่อ พ.ศ. ๑๘๐๐ เป็นต้นมา


๔. เหตุที่ชนชาติไทยจะได้เป็นใหญ่ในประเทศสยาม เพราะมีกำลังมากกว่าชนชาติอื่นซึ่งปกครองอยู่ก่อนนั้นเป็นธรรมดา แต่ที่ชนชาติไทยสามารถปกครองประเทศสยามมาได้ช้านานถ้าจะนับเวลาก็เกือบถึง ๗๐๐ ปีเข้าบัดนี้ จำต้องอาศัยคุณธรรมอย่างอื่นอันมีอยู่ในอุปนิสัยของชนชาติไทยด้วย ข้าพเจ้าพิจารณาดูตามหลักฐานที่ปรากฏในพงศาวดาร เห็นว่าชนชาติไทยมีคุณธรรม ๓ อย่างเป็นสำคัญ จึงสามารถปกครองประเทศสยามมาได้ คือ ความจงรักอิสระของชาติอย่าง ๑ ความปราศจากวิหิงสาอย่าง ๑ ความฉลาดในการประสานประโยชน์อย่าง ๑ หรือถ้าจะเรียกเป็นคำอังกฤษก็คือ Love of National Independence, Toleretion, and Power of Assimilation เหล่านี้เป็นสำคัญยิ่งกว่าคุณธรรมอย่างอื่น ซึ่งยังมีอีกหลายอย่าง จะกล่าวอธิบายให้เห็นเป็นลำดับต่อไป

ที่ว่าอุปนิสัยชนชาติไทยรักอิสระของชาตินั้น พึงเห็นได้ตั้งแต่ที่พากันทิ้งเมืองเดิมมา เพราะไม่อยากอยู่ในอำนาจชนชาติอื่น และเมื่อมาได้ครอบครองประเทศสยามแล้ว ในสมัยต่อมา แม้ต้องตกทุกข์ได้ยากด้วยชนชาติอื่นซึ่งมีกำลังมากกว่าเข้ามาย่ำยี บางคราวจนถึงบ้านแตกเมืองเสียยับเยินก็ยังพยายามแม้จนเอาชีวิตเข้าแลก กู้อิสระของชาติกลับคืนได้อีกทุกครั้ง ปรากฏมาในเรื่องพงศาวดารดังว่านี้เป็นหลักฐาน

ที่ว่านิสัยไทยปราศาจากวิหิงสานั้น คือที่อารีต่อบุคคลจำพวกอื่นซึ่งอยู่ในปกครอง กรือแม้แต่จะมาอาศัย ความข้อนี้มีหลักฐานปรากฏตั้งแต่ครั้งกรุงสุโขทัยเป็นราชธานี ดังแจ้งอยู่ในศิลาจารึกของพระเจ้ารามคำแหงมหาราช และปรากฏในสมัยอื่นสืบมา พึงเห็นได้ดังเช่นชนชาติอื่นหรือพวกที่ถือศาสนาอื่นๆอยู่ในประเทศสยาม ไทยก็มิได้รังเกียจเบียดเบียน กลับชอบสงเคราะห์แม้จนศาสนานั้นๆ ด้วยถือว่าศาสนาย่อมให้ความสุขแก่ผู้เลื่อมใสเหมือนกันหมดทุกศาสนา เพราะเหตุนี้แต่โบราณมา สมเด็จพระเจ้าแผ่นดินสยามจึงย่อมทรงช่วยอุปการะในการสร้างวัดคริสตังและสร้างสุเหร่าอิสลาม ด้วยมีพระราชประสงค์จะพระราชทานความสุขแก่ไพร่ฟ้าข้าแผ่นดินซึ่งเลื่อมใสศาสนานั้นๆ การเช่นนี้ไม่ปรากฏมีเหมือนในประเทศอื่น มีแต่ในประเทศสยามและยังมีสืบลงมาจนในสมัยปัจจุบันนี้ จะยกตัวอย่างดังเช่นพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวพระราชทานที่ดินริมถนนสาธร ให้สร้างวัดไครสเชิช และในการพิธีของแขกเจ้าเซ็นก็ยังมีของหลวงพระราชทานช่วยอยู่ทุกปีจนบัดนี้ คุณธรรมความปราศจากวิหิงสาที่กล่าวมา มิใช่จะมีแต่ไทยชั้นผู้ปกครองเท่านั้น เป็นอุปนิสัยตลอดไปจนถึงไทยที่เป็นราษฎรพลเมือง ข้อนี้ท่านทั้งหลายที่เคยเที่ยวเตร่แม้ที่เป็นชาวต่างประเทศ คงจะได้สังเกตเห็นว่าเมื่อไปตามหมู่บ้านราษฎรไม่ว่าแห่งใดๆ ถ้าไม่ประพฤติร้ายต่อเข้าแล้ว คงได้พบการต้อนรับอย่างเอื้อเฟื้อ โดยมิได้คิดเอาเปรียบอย่างหนึ่งอย่างใดทั่วไปในประเทศสยาม ความปราศจากวิหิงสาคงเป็นข้อสำคัญอันหนึ่ง ซึ่งทำให้ชนชาติอื่นมีพวกขอมเป็นต้น ไม่รังเกียจการปกครองของชนชาติไทยมาแต่เดิม

ที่ว่าไทยฉลาดในการประสานประโยชน์นั้น ก็พึงเห็นได้ตั้งแต่สมัยเมื่อแรกไทยได้ปกครองประเทศสยาม ในสมัยนั้นพวกขอมยังมีอยู่เป็นอันมาก แทนที่จะกดขี่ขับไล่ ไทยกลับคิดเอาใจพวกขอมให้เข้ากับไทยด้วยประการต่างๆ ยกตัวอย่างดังเช่นพระเจ้ารามคำแหงมหาราชทรงคิดตั้งแบบหนังสือไทย ให้ใช้เขียนได้ทั้งภาษาไทยและภาษาขอมด้วยตัวอักษรอย่างเดียวกัน และจารีตประเพณีของขอมอย่างใดดี ไทยก็รับมาประพฤติเป็นประเพณีของไทยไม่ถือทิฐิ คุณธรรมที่ฉลาดประสานประโยชน์อันนี้ คงเป็นปัจจัยสำคัญอันหนึ่งในโบราณสมัย ซึ่งทำให้ขอมกับไทยกลายเป็นชาวสยามพวกเดียวกัน แม้ในสมัยภายหลังมา เมื่อมีพวกจีนพากันเข้ามาตั้งทำมาหากินในเมืองไทย มาอยู่เพียงชั่วบุรุษหนึ่งหรือสองชั่วก็มักกลายเป็นชาวสยามไปด้วยคุณและมีความนิยมก่อนชาวประเทศอื่นๆที่ใกล้เคียงกัน และได้รับประโยชน์จากอารยธรรมนั้นสืบมาจนทุกวันนี้ ก็เพราะความฉลาดประสานประโยชน์อันมีในอุปนิสัยของชนชาติไทย จึงเห็นว่าคุณธรรมทั้ง ๓ อย่างที่พรรณนามา ควรนับว่าเป็นอัศจรรย์ในอุปนิสัยของชนชาติไทยมาแต่โบราณด้วยประการฉะนี้


๕. ลักษณะการปกครองประเทศสยามชั้นสมัยดึกดำบรรพ์ เมื่อลาวยังเป็นใหญ่อยู่โดยลำพังก็ดี หรือในชั้นเมื่อมอญเข้ามาอำนาจครอบงำก็ดี จะเป็นอย่างไรข้าพเจ้าหาทราบไม่ เห็นเค้าเงื่อนปรากฏแต่ลักษณะการปกครองของขอมและของไทย พอสังเกตได้ว่าวิธีการปกครองมาแต่คติต่างกัน คือพวกขอมปกครองงตามคติซึ่งได้มาจากชาวอินเดีย พวกไทยปกครองตามคติของไทยซึ่งพามาจากเมืองเดิม มิได้เอาอย่างชาวอินเดีย เรื่องตำนานการปกครองของขอมกับของไทยที่เอามาใช้ในประเทศสยามก็ต่างกัน คือเมื่อพวกขอมเข้ามามีอำนาจในประเทศสยามนั้นมิได้ปกครองเองทั่วทั้งประเทศ ข้อนี้พึงสังเกตได้ด้วยโบราณวัตถุอันเป็นแบบอย่างช่างขอมสร้างมีปรากฏขึ้นไปฝ่ายเหนือเพียงเมืองสวรรคโลกเท่านั้น เหนือนั้นขึ้นไปหามีไม่ คงเป็นเพราะตอนข้างเหนือพวกอื่นยังปกครองเป็นประเทศราชขึ้นต่อขอม ในเรื่องตำนานโยนกก็ปรากฏว่าในสมัยเมื่อพวกขอมเข้ามาครอบงำนั้น ทางเมืองหริภุญชัยพวกมอญยังปกครอง ทางเหนือขึ้นไปตามชายแม่น้ำโขงยังมีเจ้าลาวราชวงส์ลาวจักราชครอบครองอยู่อีกช้านาน

ครั้นพวกไทยได้แดนลาวทางฝ่ายเหนือก็ปกครองตามจารีตประเพณีของไทยลงมาทางข้างเหนือ เพราะฉะนั้นในสมัยเมื่อไทยได้เป็นใหญ่ ณ เมืองสุโขทัย วิธีการปกครองประเทศสยามจึงมีอยู่เป็น ๒ อย่าง เมืองทางฝ่ายใต้ปกครองตามประเพณีขอม ก็แต่ประเพณีการปกครองของขอมกับของไทยเหมือนกันอย่างหนึ่ง ซึ่งถืออาญาสิทธิ์ของพระเจ้าแผ่นดินเป็นหลักในการปกครอง มาผิดกันที่พวกขอมถือลัทธิตามชาวอินเดีย สมมติว่าพระเจ้าแผ่นดินเป็นพระโพธิสัตว์หรือเป็นพระอิศวรพระนารายณ์แบ่งภาคลงมาเลี้ยงโลก และอาศัยพราหมณ์เป็นเจ้าตำราในการปกครอง ลักษณะการที่พวกขอมปกครองราษฎรจึงคล้ายนายปกครองบ่าว ตรงกับภาษาอังกฤษซึ่งเรียกว่า Autocratic Government

ส่วนวิธีปกครองของไทยนั้น นับถือพระเจ้าแผ่นดินเช่นบิดาของประชาชนทั้งปวง วิธีการปกครองก็เอาลักษณะการปกครองสกุลมาเป็นคติ เป็นต้น แต่ถือว่าบิดาเป็นผู้ปกครองครัวเรือน (คำว่า "พ่อครัว" เดิมทีเดียวเห็นจะหมายความว่าผู้ปกครองครัวเรือน อันธรรมดาย่อมร่วมครัวไฟกัน ถายหลังมาจึงเข้าใจคำว่า พ่อครัว กลายเป็นผู้ประกอบอาหาร) หลายครัวเรือนรวมกันเป็นบ้านอยู่ในปกครองของ "พ่อบ้าน" ผู้อยู่ในปกครองเรียกว่า "ลูกบ้าน" หลายบ้านรวมกันเป็นเมือง ถ้าเป็นเมืองขึ้นอยู่ในปกครองของ "พ่อเมือง" ถ้าเป็นเมืองประเทศราช เจ้าเมืองเป็น "ขุน" หลายเมืองรวมกันเป็นประเทศอยู่ในปกครองของพระเจ้าแผ่นดิน แต่โบราณเรียกว่า "พ่อขุน" ข้าราชการตำแหน่งต่างๆได้นามว่า "ลูกขุน" ดังนี้ จึงเห็นได้ว่า วิธีการปกครองของไทยเป็นอย่างบิดาปกครองบุตร หรือเรียกตามภาษาอังกฤษว่า Paternal Government ยังใช้เป็นหลักวิธีปกครองประเทศสยามสืบมาจนทุกวันนี้


๖. เมื่อไทยได้ปกครองประเทศสยามในเวลายังมีการปกครองเป็น ๒ อย่างดังกล่าวมา น่าสันนิษฐานว่าคงจะเกิดเป็นปัญหาขึ้นแก่กษัตริย์ราชวงศ์พระร่วงตั้งแต่แรก ว่าจะปกครองประเทศสยามทั่วไปด้วยวิธีอย่างใดจะเหมาะดี และน่าลงมติว่าคงคิดเห็นด้วยอุปนิสัยสามารถในการประสานประโยชน์ ว่าควรเลือกเอาการที่ดีทั้งสองฝ่ายมาปรุงใช้เป็นวิธีปกครองประเทศสยาม แต่ในสมัยชั้นแรกนั้นไทยยังไม่ได้ศึกษาทราบคุณและโทษในวิธีการปกครองของขอมมากนัก จึงใช้กระบวนปกครองโดยวิธีของไทยมาก่อน ค่อยเลือกวิธีปกครองของขอมเพิ่มขึ้นโดยลำดับ ข้อนี้พึงเห็นได้ในศิลาจารึกของพระเจ้ารามคำแหงมหาราช ถ้อยคำเป็นภาษาไทยเกือบไม่มีอื่นปน พระเจ้าแผ่นดินก็วางพระองค์แต่เป็นอย่างบิดาของประชาชน เช่นผูกกระดึงไว้ที่ประตูพระราชวัง ใครมีทุกข์ร้อนก็ให้ไปสั่นกระดึงร้องทุกข์ได้ดังนี้ แต่ในจารึกของพระมหากษัตรย์รัชกาลหลังต่อมา ปรากฏถ้อยคำภาษาขอมและมีพิธีมากขึ้นเป็นอันดับมา

แต่วิธีปกครองอาณาเขตเมื่อครั้งกรุงสุโขทัยเป็นราชธานี ดูประหลาดที่วงอาณาเขตซึ่งการบังคับบัญชาอยู่ในรัฐบาลราชธานีปกครองเอง แคบหนักหนา คือเอาเมืองสุโขทัยเป็นราชธานีที่พระเจ้าแผ่นดินเสด็จประทับ แล้วมีเมืองลูกหลวงครองรักษาหน้าด่านอยู่ ๔ ด้าน คือเมืองศรีสัชนาลัย ซึ่งเดี๋ยวนี้เรียกว่าเมืองสงวรรคโลก อยู่ด้านเหนือ เมืองสองแคว ซึ่งเดี๋ยวนี้เรียกว่าเมืองพิษณุโลก อยู่ด้านตะวันออก เมืองสระหลวง ซึ่งเดี๋ยวนี้เรียกว่าเมืองพิจิตรอยู่ด้านใต้เมืองกำแพงเพชร อยู่ด้านตะวันตก ระยะทางแต่เมืองหน้าด่านเดินถึงราชธานีเพียงภายใน ๒ วันทุกด้าน

นอกนั้นออกไป แม้เมื่อพระราชอาณาเขตสยามกว้างขวางอย่างยิ่งในรัชกาลของพระเจ้ารามคำแหงมหาราช ก็ให้เป็นเมืองปกครองกันเองเป็นประเทศราชเช่น เมืองอู่ทองเป็นต้นบ้าง เป็นเมืองพ่อ เมืองครองงบ้าง อาจเป็นด้วยมีความจำเป็นในสมัยนั้น เพราะไทยกำลังปราบขอมแผ่อำนาจลงมาข้างใต้ แต่วิธีควบคุมอาณาเขตด้วยระเบียบการปกครองปล่อยให้เมืองขึ้นมีอำนาจมากอย่างนั้น ย่อมมั่นคงแต่เมื่อพระเจ้าแผ่นดินอันทรงอานุภาพมาก ถ้าพระเจ้าแผ่นดินอ่อนอานุภาพเมื่อใด ราชอาณาเขตก็อาจแตกได้โดยง่าย เรื่องพงศาวดารกรุงสุโขทัยก็เช่นนั้น พอล่วงรัชกาลพระเจ้ารามคำแหงมหาราชแล้ว หัวเมืองซึ่งเคยอยู่ในอาณาเขตกรุงสุโขทัยก็ตั้งต้นแยกกันไปโดยตั้งต้นเป็นอิสระบ้าง ตกไปเป็นเมืองขึ้นของก๊กอื่นบ้าง

กรุงสุโขทัยอ่อนกำลังลงเป็นอันดับมา จน พ.ศ. ๑๘๙๔ พระเจ้าอู่ทองก็รวบรวมหัวเมืองทางข้างใต้ตั้งเป็นอิสระขึ้น ณ กรุงศรีอยุธยา พระมหาธรรมราชาลิไทย ราชนัดดาของพระเจ้ารามคำแหงมหาราชก็ไม่สามารถปราบได้ ต้องยอมเป็นไมตรีอย่างประเทศที่เสมอกัน ครั้งต่อมาถึงรัชกาลสมเด็จพระบรมราชาธิราชพงัวยกกองทัพขึ้นไปปราบปราม กษัตริย์สุโขทัยองค์หลังสู้ไม่ได้ ก็ต้องยอมเป็นประเทศราชขึ้นต่อกรุงศรีอยุธยา รวมเวลาที่กรุงสุโขทัยได้เป็นราชธานีประเทศสยามอยู่ไม่เต็มร้อยปี


๗. วิธีการปกครองประเทศสยามเมื่อกรุงธยาเป็นราชธานี มีเค้าเงื่อนทราบความได้มากขึ้น ด้วยยังมีหนังสือเก่าซึ่งอาจจะอาศัยค้นคว้าหาความรู้ได้นอกจากศิลาจารึก คือหนังสือเรื่องพระราชพงศาวดาร และหนังสือกฎหมายเก่าฉบับพิมพ์เป็นสองเล่มสมุดนั้นเป็นต้น ทั้งมีหนังสือจดหมายเหตุซึ่งฝรั่งแต่งไว้ตั้งแต่สมัยในรัชกาลพระเจ้าทรงธรรมเป็นต้นมาอีกจำนวนหนึ่ง แต่ก็ยังต้องอาศัยสันนิษฐานประกอบอีกเป็นอันมาก ถึงชั้นนี้สังเกตได้ว่าพวกไทยชาวเมืองอู่ทองเคยได้รับความอบรมและเลื่อมใสในประเพณีขอมมากกว่าพวกเมืองสุโขทัย เพราะไทยที่ลงมาอยู่ข้างใต้ได้อยู่ปะปนกับพวกขอมมาช้านาน ข้อนี้จะพึงเห็นได้ในกฎหมายซึ่งตั้งขึ้นในสมัยนี้ ชอบใช้ถ้อยคำภาษาเขมรและภาษาสันกฤต ซึ่งพวกขอมชอบใช้ยิ่งกว่างหนังสือซึ่งแต่งครั้งกรุงสุโขทัย จารีตประเพณีก็ชอบใช้ตามคติขอมมากขึ้น มีข้อสำคัญเป็นอุทาหรณ์ เช่นเรื่องทาสกรรมกร ประเพณีไทยแต่เดิมหามีไม่

พวกไทยที่ลงมาอยู่ข้างใต้ได้รับประพฤติการใช้ทาสตามประเพณีขอม มีความปรากฏในบานแผนกกฏหมายลักษณะลักพาบทหนึ่ง ว่าเมื่อครั้งกรุงศรีอยุธยากับกรุงสุโขทัยเป็นไมตรีกันนั้น มีผู้ลักพาทาสในกรุงศรีอยุธยาหนีขึ้นไปเมืองเหนือ พวกเจ้าเงินกราบทูลพระเจ้าอู่ทองขอให้ไปติดตามเอาทาสกลับมาว่าเพราะ "เมืองท่านเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันแล้ว" ดังนี้ แต่พระเจ้าอู่ทองหาทรงบัญชาตามไม่ ดำรัสสั่งให้ว่ากล่าวเอาแก่ผู้ขายนายประกัน และมีคำซึ่งยังใช้กันมาปรากฏอยู่คำหนึ่ง ซึ่งเรียกผู้พ้นจากทาสว่า "เป็นไท" ดังนี้ พึงสันนิษฐานได้ว่าเพราะแต่เดิมชนชาติไทยไม่มีที่จะเป็นทาส และไทยมารับใช้ประเพณีทาสกรรมกรจากขอม ทาสจึงได้มีสืบมาในประเทศสยาม จนกระทั่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดฯให้เลิกเสียเมื่อในรัชกาลที่ ๕

ถึงกระนั้นการปกครองกรุงศรีอยุธยาก็ยังเอาแบบของไทยใช้เป็นหลัก เป็นต้นว่าการปกครองอาณาเขตเมื่อชั้นแรกก็วางแบบแผนทำนองเดียวกันกับครั้งกรุงสุโขทัยเป็นราชธานี คือเอาพระนครศรีอยุธยาเป็นราชธานีอยู่กลาง มีเมืองหน้าด่านทั้ง ๔ ด้าน เมืองลพบุรีอยู่ด้านเหนือ นครนายกอยู่ด้านตะวันออก เมืองพระประแดงอยู่ด้านใต้ เมืองสุพรรณบุรีอยู่ด้านตะวันตก ระยะทางไปมาถึงราชธานีได้ภายใน ๒ วันเช่นเดียวกัน หัวเมืองนอกจากนั้นก็ยังให้ปกครองกันเองทั่วไป

วิธีการปกครองกรุงศรีอยุธยามาแก้ไขมากเมื่อรัชกาลสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ เหตุด้วยเมื่อรัชกาลก่อนได้อาณาเขตกรุงสุโขทัย ซึ่งลดศักดิ์ลงเป็นประเทศราชอยู่นั้นมาขึ้นกรุงศรีอยุธยา และตีได้เมืองนครธมซึ่งเป็นราชธานีของประเทศขอมเมื่อปีฉลู พ.ศ. ๑๙๗๖ ในสมัยนั้นข้าราชการเมืองสุโขทัยและชาวกรุงกัมพูชา ทั้งพวกพราหมณ์ พวกเจ้านาย ท้าวพระยา ซึ่งชำนาญการปกครองมาไวเนกรุงศรีอยุธยาเป็นอันมาก ได้ความรู้ขนบธรรมเนียมราชการบ้านเมืองทั้งทางกรุงสุโขทัย และกรุงกัมพูชาถ้วนถี่ดีกว่าที่เคยรู้มาแต่ก่อน จึงเป็นเหตุให้แก้ไขประเพณีการปกครอง เลือกทั้งแบบแผนในกรุงสุโขทัยและแบบแผนขอมในกรุงกัมพูชามาปรุงเป็นวิธีการปกครองกรุงศรีอยุธยาตั้งแต่ในรัชกาลสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ และต่อมาในรัชกาลสมเด็จพระรามาธิบดีพระองค์ที่ ๒ ซึ่งเป็นราชโอรสสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ วิธีการปกครองที่ปรุงขึ้นเมื่อระหว่าง พ.ศ. ๑๙๙๑ จน พ.ศ. ๒๐๗๒ ใน ๒ รัชกาลที่กล่าวมาจึงได้เป็นหลักของวิธีปกครองประเทศสยามสืบมา ถึงงแก้ไขบ้างในบางสมัยก็เป็นแต่แก้พลความ ตัวหลักวิธียังคงอยู่จนถึงกรุงรัตนโกสินทร์


๘. ทีนี้จะว่าด้วยลักษณะการปกครอง ซึ่งได้เป็นแบบสมบูรณ์ครั้งกรุงศรีอยุธยาพรรณนาทีละแผนกต่อไป ลักษณะการปกครองอาณาเขตนั้น มีเค้าเงื่อนปรากฏอยู่ในกฎมนเทียรบาลและทำเนียบศักดินาหัวเมือง ว่าเลิกแบบที่มีเมืองลูกหลวง ๔ ด้านราชธานีอย่างแต่ก่อน ขยายเขตการปกครองของราชธานีกว้างขวางออกไปโดยรอบ ถ้าจะเรียกนามตามท้องที่ในปัจจุบันนี้ ก็คือการรวมมณฑลราชบุรี มณฑลนครชัยศรี มณพลนครสวรรค์(เพียงเมืองชัยนาท) มณฑลปราจีน เข้าอยู่ในวงราชธานี กำหนดบรรดาเมืองซึ่งอยู่ในวงราชธานีเป็นเมืองจัตวา มีผู้รั้งกับกรมการเป็นพนักงานปกครอง ขึ้นอยู่ในอำนาจเจ้ากระทรวงต่างๆที่ในราชธานี หัวเมืองซึ่งอยู่ภายนอกราชธานีออกไป คงเป็นเพราะอยู่ไกลจะปกครองจากราชธานีไม่สะดวก หรือเพราะอยู่หน้าด่านชายแดน จึงจัดเป็นเมืองพระยามหานครชั้นเอก ชั้นโท ชั้นตรี โดยลำดับกันตามขนาดและความสำคัญของเมือง เมืองชนิดนี้ต่อมาเรียกว่า "หัวเมืองชั้นนอก" ต่างมีเมืองขึ้นอยู่ในอาณาเขตทำนองเดียวกับวงราชธานี

และบรรดาเมืองชั้นนอกนั้น สมเด็จพระเจ้าแผ่นดินทรงตั้งพระราชวงศ์หรือข้าราชการชั้นสูงศักดิ์เป็นผู้สำเร็จราชการเมือง มีอำนาจบังคับบัญชาสิทธิ์ขาดอย่างเป็นผู้ต่างพระองค์ทุกอย่าง และมีกรมการพนักงานปกครองทุกแผนกอย่างเช่นในราชธานี หัวเมืองต่อนั้นออกไปซึ่งเป็นเมืองต่างชาติต่างภาษา อยู่ชายแดนต่อประเทศอื่นให้เป็นเมืองประเทศราช มีเจ้านายของชนชาตินั้นเองปกครองตามจารีตประเพณีของชนชาตินั้นๆ เป็นแต่ใครจะเป็นเจ้าเมืองต้องบอกเข้ามาทูลขอ ให้สมเด็จพระเจ้าแผ่นดิน ณ กรุงศรีอยุธยาทรงตั้ง และเมืองนั้นต้องถวายต้นไม้ทอง เงิน กับเครื่องบรรณาการมีกำหนด ๓ ปีครั้ง ๑

ส่วนการปกครองท้องที่ภายในเขตเมืองอันหนึ่งนั้น มีเค้าเงื่อนอยู่ในกฎหมายหลายบทคือ พระราชกำหนดเก่าเป็นต้น การปกครองตั้งต้นแต่ "บ้าน" มีผู้ใหญ่บ้านซึ่งผู้ว่าราชการเมืองเลือกตั้งเป็นหัวหน้า หลายบ้านรวมกันเป็น "ตำบล" มีกำนันเป็นหัวหน้า ตัวกำนันมักได้รับบรรดาศักดิ์เป็น "พัน" หลายตำบลรวมเป็น "แขวง" มีหมื่นแขวงเป็นผู้ปกครอง หลายแขวงรวมเป็นเมือง มีผู้รั้งหรือพระยามหานครเป็นผู้ปกครอง เป็นที่สุดระเบียบการปกครองท้องที่ดังนี้


๙. ทีนี้จะพรรณนาว่าด้วยวิธีการปกครองคนตามลักษณะการปกครองประเทศสยามแต่โบราณต่อไป เนื่องในเรื่องที่กล่าวตอนนี้ข้าพเจ้ายังจำได้ว่าเมื่อครั้งสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดให้ตั้งพระราชบัญญัติลักษณะเกณฑ์ทหารเมื่อรัตนโกสินทร์ศก ๑๒๒ (พ.ศ. ๒๔๔๖) มีคนเข้าใจกันโดยมากว่ารับเอาประเพณีฝรั่งมาใช้ ผู้ที่ไม่เห็นชอบด้วยบางคนก็กล่าวว่า ไม่ควรจะเกณฑ์ผู้คนเป็นทหารทั้วทั้งบ้านเมือง รัฐบาลอยากจะมีทหารเท่าใดก็ควรจ้างเอาอย่างทหารอังกฤษ ความเข้าใจเช่นว่าจะยังมีอยู่หรือไม่ข้าพเจ้าไม่ทราบแน่ แต่ความจริงการที่เกณฑ์ชายฉกรรจ์ทุกคนเป็นทหารนั้น เป็นประเพณีของไทยใช้มาเก่าแก่ ดูเหมือนก่อนตั้งกรุงสุโขทัยก็ว่าได้

ใช่แต่เท่านั้น ถึงวิธีการปกครองประเทศสยาม ถ้าว่าด้วยส่วนปกครองผู้คนก็ใช้วิธีปกครองอย่างทหารมาแต่ดั้งเดิม การฝ่ายพลเรือนเหมือนแต่อย่างฝากไว้ให้ทหารช่วยทำ จะยกตัวอย่างให้เห็นง่ายๆเช่นเจ้ากระทรวงการพลเรือน แต่ก่อนก็ล้วนเป็นนายพลยังเรียกว่า "เสนาบดี" อันแปลว่านายพลติดอยู่จนทุกวันนี้ เพราะเหตุที่วิธีการปกครองประเทศสยามแต่เดิมที่ใช้วิธีการทหารเป็นหลัก ครั้นเมื่อสมัยต่อมาการที่ต้องทำศึกสงครามห่างลง และมีการต่างๆอันเป็นฝ่ายพลเรือนทวีขึ้น ก็ผ่อนผันหันการทหารเข้าประสานการพลเรือนมากขึ้นเป็นอันดับ ลักษณะการทหารแต่เดิมจึงเลือนไป แต่ยังคงเป็นหลักอยู่หาได้เลิกไม่ ที่คนเข้าใจผิดไปก็ด้วยแต่โบราณยังไม่มีวิธีพิมพ์หนังสือ การตั้งหรือแก้ไขพระราชกำหนดกฎหมายอันใด ก็เป็นแต่เขียนลงบนแผ่นกระดาษ เอาไปป่าวร้องโฆษณาแล้วลอกลงเล่มสมุดรักษาไว่ไม่กี่ฉบับ ผู้ที่จะได้อ่านก็น้อย ครั้นผู้ที่ได้อ่านหมดตัวไป ก็มิใคร่มีใครรู้เรื่องราวและเหตุผลต้นปลายว่า ดารเรื่องนั้นๆเป็นมาอย่างไร

หลักแห่งวิธีปกครองของไทยแท้จริงมีความ ๒ ข้อนี้เป็นสำคัญ คือพระราชอาญาสิทธิ์ของพระเจ้าแผ่นดินข้อ ๑ กับการที่บังคับให้บรรดาชายฉกรรจ์มีหน้าที่ต้องเป็นทหารสำหรับช่วยรักษาบ้านเมืองอีกข้อ ๑ ใช้คำว่า "ทำราชการ" แปลว่าการของพระเจ้าแผ่นดิน เพราะเหตุที่พระเจ้าแผ่นดินผู้ทรงอาญาสิทธิ์เป็นประมุขแห่งการรักษาบ้านเมือง หน้าที่อันนี้ถือว่ามีทั่วกันหมดทุกชั้นบรรดาศักดิ์ ผิดกันแต่ที่ให้การต่างกันตามความสามารถของบุคคลต่างชั้นต่างจำพวก เพื่อให้ได้ผลดีอย่างยิ่งแก่บ้านเมือง ถ้าว่าแต่โดยส่วนชายฉกรรจ์ที่เป็นไพร่พลเมืองนั้น มีหน้าที่ดังจะกล่าวโดยสังเขปต่อไปดังนี้ คือ

๑. เมื่อมีอายุได้ ๑๘ ปี ต้องเข้าทะเบียนเป็น "ไพร่สม" ให้มูลนายฝึกหัดและใช้สอย (จะมีกำหนดกี่ปียังค้นหาหลักฐานไม่พบ เพราะชั้นหลังมากลายเป็นอยู่ตลอดอายุของนายไปเสีย ข้าพเจ้าสันนิษฐานว่าเดิมจะมีกำหนด ๒ ปี) ครั้นอายุได้ ๒๐ ปี (ปลดจากไพร่สม) ไปเป็น "ไพร่หลวง" มีหน้าที่รับราชการแผ่นดิน ผู้อื่นจะเอาไปใช้สอยไม่ได้ อยู่ในเขตรับราชการไปจนอายุได้ ๖๐ ปีจึงปลดด้วยเหตุชรา หรือมิฉะนั้นแม้อายุยังไม่ถึง ๖๐ ปี ถ้าส่งบุตรเข้ารับราชการ ๓ คน ก็ปลดบิดาให้พ้นจากราชการเหมือนกัน

๒. ชายฉกรรจ์ทุกคนต้องเข้าสังกัดอยู่ในกรมใดกรมหนึ่ง จะลอยตัวอยู่ไม่ได้ ลูกหลานเหลนซึ่งสืบสกุลก็ต้องอยู่ในกรมนั้นเหมือนกัน จะย้ายกรมได้ต่อได้รับอนุญาต เพราะเหตุนี้ถ้าสังกัดกรมในราชธานี ไพร่กรมนั้นก็ต้องตั้งถิ่นฐานอยู่ในวงหัวเมืองราชธานี ถ้าเป็นไพร่คงเมืองชั้นนอก เมืองไหนก็ต้องอยู่ในแขวงเมืองนั้น ทั้งนี้เพื่อประโยชน์ในเวลามีการสงครามเกิดขึ้น จะได้เรียกระดมคนได้ทันท่วงที รวมคนในวงราชธานีเป็นกองทัพหลวง และรวมคนในเมืองชั้นนอกเป็นเมืองและกองพล หรืออย่างอื่นตามกำลังของเมืองนั้นๆ

๓. ในเวลาปรกติไพร่หลวงในวงราชธานีต้องเข้าประจำราชการปีละ ๖ เดือน ได้อยู่ว่างปีละ ๖ เดือน กำหนดเวลามาประจำราชการเช่นว่านี้ เรียกว่าเข้าเวร ต้องเอาเสบียงของตนมากินเองด้วย เมื่อถึงสมัยกรุงธนบุรีลดเวลาลงคงแต่ ๔ เดือน ครั้นต่อมาถึงสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ลดลงอีกเดือนหนึ่ง คงต้องมาเข้าเวรประจำราชการแต่ปีละ ๓ เดือน

มีความข้อหนึ่ง เนื่องต่อการที่ชายฉกรรจ์ต้องมาเข้าเวรดังกล่าวมา ซึ่งคนทั้งหลายยังไม่รู้หรือเข้าใจผิดอยู่โดยมาก ควรจะกล่าวอธิบายแทรกลงตรงนี้ คือเมื่อตอนกลางสมัยกรุงศรีอยุธยา รัฐบาลต้องการตัวเงินใช้ยิ่งกว่าได้ตัวคนมาเข้าเวร จึงยอมอนุญาตให้ไพร่ซึ่งไม่ปรารถนาจะเข้าเวรเสียเงิน "ค่าราชการ" เหมือนอย่างจ้างคนแทนตัวได้ เมื่อมาถึงรัชกาลที่ ๑ กรุงรัตนโกสินทร์ ข้าราชการต้องเสียเงินปีละ ๑๘ บาท มีผู้สมัครเสียเงินค่าราชการแทนเข้าเวรเป็นพื้น ครั้นถึงรัชกาลที่ ๕ เมื่อตั้งพระราชบัญญัติลักษณะการเกณฑ์ทหารแล้ว โปรดให้ผู้ซึ่งไม่ต้องถูกเกณฑ์เป็นทหารคงเสียเงินค่าราชการแต่ปีละ ๖ บาท เท่ากับมีหน้าที่ต้องเข้าเวรรับราชการปีละเดือนหนึ่ง ต่อมาในรัชกาลที่ ๖ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงแก้ไขให้เรียกว่า รัชชูปการ และโปรดให้พวกชายฉกรรจ์ซึ่งเคยได้รับความยกเว้นด้วยปราศจากเหตุอันสมควรต้องเสียด้วย แม้ที่สุดจนพระองค์เองก็ทรงยอมเสียค่ารัชชูปการปีละ ๖ บาทเหมือนกับคนอื่นๆ เงินค่ารัชชูปการมิได้เป็นภาษีอากรที่ตั้งขึ้นใหม่ เป็นเรื่องแก้ไขลดหย่อนลงจากค่าราชการอันมีประเพณีดังแสดงมา

จะกลับกล่าวถึงวิธีเกณฑ์ไพร่รับราชการตามประเพณีโบราณต่อไป ส่วนหัวเมืองพระยามหานครนั้น ในเวลาปรกติไม่ต้องการตัวไพร่เข้าประจำราชการมากเหมือนที่ในราชธานี รัฐบาลจึงคิดให้มีวิธีส่งส่วยแทนเข้าเวร เพราะหัวเมืองเหล่านั้นมีป่าดงและภูเขา อันเป็นที่มีหรือที่เกิดสิ่งขิงต้องการใช้สำหรับราชการบ้านเมือง ยกตัวอย่างดังดินประสิวที่สำหรับทำดินปืน ต้องใช้มูลค้างคาวอันมีในถ้ำตามหัวเมือง และดีบุกสำหรับทำกระสุนอันมีมากในมณฑลภูเก็ตเป็นต้น จึงอนุญาตให้ไพร่ในท้องที่นั้นๆหาสิ่งของซึ่งรัฐบาลต้องการใช้มาส่ง โดยกำหนดปีละเท่านั้นๆแทนที่ต้องมาเข้าเวรรับราชการ จึงเกิดมีวิธีเกณฑ์ส่วยด้วยประการฉะนี้

คราวนี้จะว่าด้วยบุคคลซึ่งเป็นชั้นนายสำหรับควบคุมบังคับบัญชาไพร่ อันต้องเป็นคนมีความสามารถยิ่งกว่าไพร่พลสามัญ ก็ในสมัยโบราณนั้นยังไม่มีโรงเรียนซึ่งใครสมัครเรียนวิชาอย่างไรจะอาจเรียนได้ตามชอบใจ บุคคลทั้งหลายได้อาศัยศึกษาวิชาการต่างๆในสกุลของตนเป็นประมาณ เป็นต้นว่าบุคคลซึ่งเกิดในตระกูลผู้ปกครอง เช่น ราชสกุลก็ดี สกุลเสนาบดีและเจ้าบ้านภารเมืองก็ดี ย่อมได้โอกาสศึกษาวิธีการปกครองมากกว่าบุคคลจำพวกที่เกิดในสกุลทำสวน ทำนา หาเลี้ยงชีพ เพราะเหตุนั้นในวิธีการควบคุมคนแต่โบราณผู้เป็นชั้นนายจึงมักอยู่ในสกุลซึ่งได้คุ้นเคยแก่ราชการที่ทำสืบกันมา เป็นอย่างนี้ตลอดลงไปจนนายชั้นต่ำที่เรียกว่าขุนหมื่น แต่จะได้มีกฎหมายให้เป็นนายและเป็นไพร่ตามชั้นบุคคลนั้นหามิได้

มีกฎหมายลักษณะอันหนึ่งตั้งขึ้นเมื่อในรัชกาลสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ เรียกว่า "พระราชกำหนดศักดินา" ว่าด้วยกรรมสิทธิ์ถือที่นา ให้บุคคลเป็นเจ้าของที่นาได้มากและน้อยกว่ากันตามยศ เป็นต้นว่าพระมหาอุปราชจะมีนาได้เพียงแสนไร่เป็นอย่างมาก และเจ้าพระยาจะมีนาได้ไม่เกินหมื่นไร่และลดอัตราลงมาตามยศบุคคลโดยลำดับ จนถึงไพร่สามัญกำหนดให้มีนาได้เพียงคนละ ๒๕ ไร่เป็นอย่างมากดังนี้ มูลเหตุเดิมก็เห็นจะประสงค์เพียงห้ามมิให้ใครหวงที่นาไว้เกินกว่ากำลังที่จะทำให้เกิดผลได้ แต่ภายหลังมาเกณฑ์เอาศักดินาตามกฎหมายนี้ไปใช้เป็นหลักในการอย่างอื่นอีกหลายอย่าง ที่สำคัญนั้นคือเอาไปใช้เป็นอัตราสำหรับปรับไหม ดังเช่นผู้ทำความผิดในคดีอย่างเดียวกัน ถ้ามียศเป็นนายพลต้องเสียเงินค่าปรับมากกว่านายพัน เพราะศักดินามากกว่ากัน หรือถ้าปรับไหมให้แก่กันในคดีอย่างเดียวกัน ถ้าไพร่กระทำผิด ปรับขวัญตามศักดินาไพร่ ถ้าไพร่กระทำผิดต่อขุนนาง ต้องเอาศักดินาขุนนางปรับไพร่ แต่ถ้าขุนนางกระทำผิดต่อไพร่ ก็เอาศักดินาขุนนางนั้นเองปรับทำขวัญไพร่ดังนี้

อีกอย่างหนึ่งนั้น ในการที่เป็นความกันในโรงศาล ยอมให้ผู้มีศักดินาตั้งแต่ ๔๐๐ ไร่ขึ้นไปแต่งทนายว่าความแทนตัวได้ ประโยชน์ที่ได้ด้วยศักดินายังมีต่อไปจนถึงเข้าลำดับในที่เฝ้าและอย่างอื่นๆอีก จึงเป็นข้อสำคัญอันหนึ่งซึ่งทำให้คนปรารถนายศศักดิ์ แต่บุคคลซึ่งเป็นนายตามประเพณีโบราณต้องรับราชการเป็นนิจและไม่พ้นราชการได้เมื่ออายุถึง ๖๐ เหมือนอย่างไพร่ และไม่ได้รับผลประโยชน์โดยตรงจากรัฐบาล (เช่นรับเงินเดือนกันทุกวันนี้) ผลประโยชน์ที่ได้ในตำแหน่งได้จากอุปการะจากไพร่ที่อยู่ในบังคับบัญชาของคน คือได้อาศัยใช้สอยพวกสมพล และได้สิ่งของซึ่งพวกไพร่หลวงเพาะปลูก หรือทำมาหาได้แบ่งส่วนมาให้กำนัลโดยใจสมัคร และถ้าตัวนายเป็นตำแหน่งทำราชการอันเกิดธรรมเนียม เช่นค่าประทับตราตำแหน่งเป็นต้น ก็ได้ค่าธรรมเนียมเป็นประโยชน์ในตำแหน่งด้วย ผู้ว่าราชการตามหัวเมืองยังได้ค่าปรับอันเป็นภาคหลวง เรียกว่า "เงินพินัย" เป็นผลประโยชน์ด้วยดังนี้

ตำแหน่งข้าราชการทั้งปวงมีทำเนียบเป็นกำหนดมาแต่โบราณ ทุกวันนี้ก็ยังใช้อยู่ แต่ไม่ตรงกับเช่นใช้ในโบราณสมัย ในทำเนียบนั้นกำหนดศักดิ์อีก ๓ อย่าง นอกจากศักดินาที่กล่าวมาแล้ว คือ "ยศ" เช่นเป็น เจ้าพระย พระยา พระ หลวง ขุน หมื่น อย่าง ๑ "ราชทินนาม" เช่นที่เรียกว่า เจ้าพระยามหาเสนาบดี พระยาราชนุกูล พระอินทรเทพ หลวงคชศักดิ์ ขุนมหาสิทธิโวหาร เป็นต้นอย่าง ๑ "ตำแหน่ง" เช่น เป็นเสนาบดี หรือปลัดทูลฉลอง เจ้ากรม ปลัดกรม สมุห์บัญชี เป็นต้นอย่าง ๑ แต่โบราณศักดิ์ทั้ง ๓ กับทั้งศักดินารวมอยู่ในตัวบุคคลเดียว และเฉพาะแต่ในกระทรวงและกรมเดียวด้วย เป็นต้นว่าใครได้ราชทินนามว่า "มหาเสนา" คงต้องเป็นเจ้าพระยา แต่เป็นตำแหน่งอัครมหาเสนาบดีกระทรวงกลาโหม หรือโปรดให้ใครเป็นอัครมหาเสนาบดีกลาโหม ก็คงต้องมีนามว่า "มหาเสนา" และมียศเป็นเจ้าพระยาด้วยดังนี้ ข้าราชการตำแหน่งอื่นและชั้นอื่น กระทรวงอื่น ก็เป็นเช่นเดียวกัน ตลอดถึงข้าราชการหัวเมือง เช่นผู้ว่าราชการเมืองพิษณุโลกก็คงเป็นเจ้าพระยา(หรือพระยา)สุรสีห์ ผู้ว่าราชการเมืองสุพรรณบุรีก็คงเป็นพระยา(หรือพระ)สุนทรสงคราม ถึงเปลี่ยนตัวคน ชื่อก็คงอยู่กับตำแหน่ง ไม่มีกิจที่จะต้องถามว่า เดี๋ยวนี้ใครเป็นเสนาบดีกระทรวงกลาโหม หรือว่าใครเป็นปลัดทูลฉลองกระทรวงมหาดไทย เพราะคงชื่อว่าเจ้าพระยามหาเสนา และพระราชวรานุกูลอยู่เป็นนิจ

ประเพณีเช่นว่ามาในโบราณสมัย ทำนองจะแลเห็นประโยชน์อย่างนี้ คือให้คนทั้งหลายต้องศึกษาเพียงทำเนียบที่ตั้งไว้ ก็อาจจะรู้ได้ว่าใครเป็นใครทุกตำแหน่งทุกกระทรวง มิพักต้องขวนขวายยิ่งกว่านั้น แต่ลักษณะการตั้งข้าราชการแต่โบราณ เป็นแต่อาลักษณ์รับสั่งแล้วมีหมายบอกไปยังเจ้ากระทรวง ต่อในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงทรงพระราชดำริให้มีสัญญาบัตรพระราชทานต่อพระหัตถ์เป็นประเพณีสืบมา


๑๐. ทีนี้จะแสดงอธิบายระเบียบกระทรวงธุรการแต่โบราณต่อไป ได้กล่าวมาแล้วว่าวิธีการปกครองประเทศสยามแต่โบราณเอาการทหารเป็นหลัก การพลเรือนเอาแต่อาศัยใช้ทหารทำหลักของวิธีนี้ยังใช้มาปรากฏจนในรัชกาลที่ ๕ กรุงรัตนโกสินทร์ เช่นเมื่อคราวยกกองทัพไปปราบพวกฮ่อ ครั้งปีกุน พ.ศ. ๒๔๑๘ ตัวแม่ทัพคือเจ้าพระยาภูธราภัยก็ดี เจ้าพระยามหินทรศักดิ์ธำรงก็ดี ก็เป็นข้าราชการตำแหน่งพลเรือน พวกนายทัพนายกองและไพร่พลก็รวมกันทั้งกรมฝ่ายทหารและกรมฝ่ายพลเรือน มิได้เกณฑ์แต่กรมฝ่ายทหารฝ่ายเดียว เห็นได้ชัดว่าหลักเดิมถือว่าบรรดาคนทั้งหลยต้องเป็นทหารด้วยกันหมด แท้จริงเพิ่งมาแยกการฝ่ายพลเรือนขาดจากทหารเมื่อตั้งพระราชบัญญัติลักษณะเกณฑ์ทหารใน พ.ศ. ๒๔๔๖

ลักษณะการพลเรือนแต่โบราณจัดเป็น ๔ แผนกเรียกว่า เมือง วังคลัง นา หรือเรียกรวมกันว่า "จตุสดมภ์" แปลว่าหลักทั้ง ๔ ลักษณะที่จัดระเบียบการฝ่ายพลเรือนเป็น ๔ แผนกนั้น สันนิษฐานว่าจะเป็นตำรามาแต่อินเดีย ด้วยประเทศอื่นที่ใกล้เคียงกับพม่าก็ดี เขมรก็ดี ตลอดจนชาวชวา มลายู แบ่งเป็น ๔ แผนกทำนองเดียวกันทั้งนั้น ไทยเราคงได้แบบมาจากพวกขอม เหตุที่แบ่งเป็น ๔ แผนกนั้น บางทีจะเอาหลักทางทหารมาใช้นั่นเอง คือให้เสนาบดีผู้เป็นหัวหน้าจตุรงคเสนา ทำการพลเรือนคนละแผนก จะกล่าวอธิบายลักษณะการพลเรือนทีละแผนกต่อไป


เสนาบดีกรมเมือง เป็นพนักงานปกครองท้องที่ รักษาสันติสุข บังคับบัญชาบรรดาไพร่บ้านพลเมืองเมื่ออยู่ในท้องที่ถิ่นฐานภูมิลำเนาของตนทั่วไป


เสนาบดีกรมวัง เป็นหัวหน้าในพระราชสำนักและเป็นเจ้ากระทรวงยุติธรรมด้วย จึงมีนามว่า "ธรรมาธิกรณ์" อันเหตุที่กระทรวงวังจะได้ว่าการกระทรวงยุติธรรมด้วยนั้น เพราะประเพณีโบราณถือเป็นคติเหมือนกันหมดทุกประเทศ แม้จนในยุโรป ว่าพระเจ้าแผ่นดินเป็นผู้ที่ประทานยุติธรรมแก่ไพร่ฟ้าข้าแผ่นดิน หรือถ้าจะว่าอย่างเข้าใจง่ายๆ พระเจ้าแผ่นดินเป็นผู้ทรงบัญญัติให้ราษฎรประพฤติอย่างไร หรือห้ามมิให้ประพฤติอย่างไร กับทั้งเมื่อราษฎรเกิดคดีด้วยเบียดเบียนกันก็ดี หรือด้วยเกี่ยงแย่งกันก็ดี ใครนำความกราบทูลพระเจ้าแผ่นดิน ๆ เป็นผู้ซึ่งจะชี้ว่าผู้ใดผิด และบังคับให้ต้องรับโทษตามสมควรแก่ความผิดนั้น ลักษณะการเช่นนั้นพระเจ้าแผ่นดินซึ่งทรงปกครองพระราชอาณาเขตกว้างขวาง ก็พ้นวิสัยที่จะทรงปฏิบัติได้ แม้เช่นนั้นบางพระองค์ ดังเช่นพระเจ้ารามคำแหงมหาราชก็พอพระราชหฤทัยจะประพฤติ จึงผูกกระดึงที่ประตูพระราชวัง เพื่อให้ราษฎรมาสั่นกระดึงถวายฎีกาได้ แต่ก็ได้ประโยชน์แก่ราษฎรที่อยู่ในเมืองสุโขทัย หาเป็นประโยชน์แก่ผู้อยู่ห่างไกลไม่ ด้วยเหตุนี้พระเจ้าแผ่นดินจึงต้องแบ่งพระราชอำนาจให้มีผู้อื่นช่วยในการรักษาความยุติธรรม แต่เพื่อจะเอาการนั้นไว้ให้ใกล้พระเนตรพระกรรณ จึงโปรดให้เสนาบดีกระทรวงวังซึ่งเป็นผู้ใกล้ชิดพระองค์เป็นเจ้าหน้าที่กระทรวงยุติธรรม และมีอำนาจตั้งยกกระบัตรออกไปอยู่ตามหัวเมืองเมืองละคน สำหรับบอกรายงานการรักษาความยุติธรรมในเมืองนั้นๆ เข้ามาให้พระเจ้าแผ่นดินทรงทราบด้วย วิธีการศาลยุติธรรมแต่โบราณเป็นอย่างไร จะแสดงอธิบายในที่อื่นต่อไปข้างหน้า


เสนาบดีกระทรวงพระคลัง เป็นพนักงานรับจ่ายและเก็บรักษาพระราชทรัพย์อันได้มาแต่ส่วยสาอากร หรือที่เราเรียกกันทุกวันนี้ว่าภาษีอากร เมื่อสมัยกรุงศรีอยุธยาปรากฏว่ากำหนดเป็น ๔ ประเทภ เรียกว่าจังกอบประเภท ๑ อากรประเภท ๑ ส่วยประเภท ๑ ฤชาประเภท ๑ อธิบายมีอยู่ในกฎหมายลักษณะพระธรรมนูญบ้าง ในลักษณะอาญาหลวงบ้าง อยู่ในหนังสือมองสิเออร์ เดอลาลูแบร์ราชทูตฝรั่งเศสแต่งบ้าง จะรวมมาชี้แจงเป็นสังเขป

ที่เรียกว่าจังกอบนั้น คือ เก็บชักสินค้าเป็นส่วนลด หรือเก็บเงินเป็นอัตราตามขนาดยานพาหนะซึ่งขนสินค้าเมื่อผ่านด่านขนอน ประเพณีจังกอบเห็นจะมีมาแต่ก่อนไทยได้เป็นใหญ่ในประเทศสยาม ด้วยปรากฏในจารึกของพระเจ้ารามคำแหงว่า โปรดเลิกจังกอบในเมืองสุโขทัย แต่ภาษีอากรอย่างอื่นประเภทใดจะตั้งเมื่อใดไม่ทราบแน่

ที่เรียกว่าอากรนั้น คือเก็บชักส่วนผลประโยชน์ซึ่งราษฎรทำมาหาได้ด้วยประกอบการต่างๆ เช่นทำเรือกสวนเป็นต้น หรือโดยได้รับสิทธิจากรัฐบาล เช่นอนุญาตให้ขุดหาแร่และเก็บของในป่าหรือจับปลาในน้ำหรือต้มกลั่นสุราเป็นต้น

ที่เรียกว่าส่วยนั้น คือยอมอนุญาตให้บุคคลบางจำพวกส่งสิ่งของ ซึ่งรัฐบาลต้องการใช้แทนแรงงานคนที่จะต้องเข้ามาประจำทำราชการโดยเหตุดังกล่าวมาแล้วที่อื่น

ที่เรียกว่าฤชานั้น เรียกจากการต่างๆ ซึ่งระฐบาลต้องทำให้เฉพาะตัวบุคคล คือที่เราเรียกกันทุกวันนี้ว่าค่าธรรมเนียมตลอดจนเบี้ยปรับ ก็พระราชทรัพย์ที่ได้นั้นเป็นตัวเงินบ้าง เป็นสิ่งของต่างๆบ้าง มีคลังสำหรับเก็บแยกกันตามประเภท เช่น คลังมหาสมบัติสำหรับเก็บเงินทองเป็นต้น จึงมีคำเรียกกันว่าสิบสองท้องพระคลัง

ที่เรียกว่าภาษี ดูเหมือนจะเกิดแต่ให้ผู้รับประมูลกันส่งเงินหลวง ภาษีอย่างใดใครรับประมูลส่งเงินมากกว้าเพื่อนผู้นั้นก็ได้เป็นเจ้าภาษี ได้ยินว่าเพิ่งขึ้นเมื่อรัชกาลที่ ๒ กรุงรัตนโกสินทร์

ที่กรมพระคลังได้ว่าการต่างประเทศด้วยนั้น มีมูลมาแต่ตอนกลางสมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี เหตุด้วยเมื่อมีชาวต่างประเทศแล่นเรือเข้ามาค้าขาย เป็นหน้าที่ของกรมพระคลังจะต้องซื้อสิ่งของมี่ต้องการใช้ในราชการ และขายของส่วยซึ่งมีอยู่พระคลังเหลือใช้สอย ความเกี่ยวข้องในระหว่างชาวต่างประเทศกับกรมพระคลังเกิดแต่ด้วยเรื่องการค้าขายเป็นมูล และเลยมาถึงภารธุระอย่างอื่นซึ่งเกี่ยวกับชาวต่างประเทศ เหตุด้วยกรมพระคลังคุ้นเคยกับชาวต่างประเทศยิ่งกว่ากรมอื่น จึงเลยมีหน้าที่เป็นพนักงานสำหรับบรรดาการที่เกี่ยวข้องกับชาวต่างประเทศอีกแผนกหนึ่ง เรียกว่า "กรมท่า" เพราะบังคับการท่าที่เรือต่างประเทศเข้ามาค้าขาย การพระคลังกับการต่างประเทศรวมอยู่ในเสนาบดีคนเดียวกันมาจนกรุงรัตนโกสินทร์ เพิ่งแยกเป็นต่างแผนกเมื่อปลายรัชกาลที่ ๔ และมากำหนดเป็นกระทรวงเสนาบดีต่างกันเรียกว่ากระทรวงการต่างประเทศกระทรวงหนึ่ง กระทรวงพระคลังกระทรวงหนึ่ง เมื่อในรัชกาลที่ ๕


เสนาบดีกรมนานั้น แต่โบราณมีหน้าที่เป็นพนักงานตรวจตราการทำไร่นา และออกสิทธิ์ที่นาซึ่งถือว่าเป็นการสำคัญอย่างยิ่ง ด้วยการทำนาเป็นอาชีพของราษฎรในประเทศนี้ยิ่งกว่าการอย่างอื่น แต่หาได้เกี่ยวข้องถึงให้กรรมสิทธิ์ที่บ้านที่สวนไม่ ที่บ้านกรมเมืองเป็นผู้ให้กรรมสิทธิ์ ที่สวนกรมพระคลังเป็นผู้ให้สิทธิ์ หน้าที่กรมนาอีกอย่างหนึ่งนั้น คือเก็บหางข้าวขึ้นฉางหลวง ซึ่งนับว่าเป็นการสำคัญ ด้วยเสบียงอาหารเป็นกำลังของรี้พลสำหรับป้องกันบ้านเมือง แต่โบราณมิได้เรียกเป็นเงินค่านา ใครทำนาได้ข้าวต้องแบ่งเอามาส่งขึ้นฉางหลวงไว้สำหรับใช้ราชการจึงเรียกว่าหางข้าว ต่อถึงรัชกาลที่ ๓ กรุงรัตนโกสินทร์ โปรดให้เปลี่ยนเก็บเป็นตัวเงินแทนข้าวเปลือก เพื่อมิให้ราษฎรได้ความลำบากต้องขนข้าวมาส่งถึงฉางหลวง จึงได้เรียกว่าค่านาแต่นั้นมา(๓)


ลักษณะการที่แบ่งเป็น ๔ กระทรวง ดังกล่าวแล้ว มีมาแต่แรกตั้งกรุงศรีอยุธยา หรือบางทีจะมีมาก่อนนั้นขึ้นไปอีกก็ได้ เมื่อถึงรัชกาลสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ ทรงตั้งเสนาบดีเพิ่มขึ้นอีก ๒ ตำแหน่ง ในหนังสือพระราชพงศาวดารใช้คำว่า "เอาทหารเป็นสมุหพระกลาโหม เอาพลเรือนเป็นสมุหนายก" ดังนี้ คือตั้งกระทรวงกลาโหมเป็นหัวหน้าราชการฝ่ายทหารทั่วไปกระทรวงหนึ่ง กระทรวงมหาดไทยเป็นหัวหน้าราชการฝ่ายพลเรือนทั่วไปกระทรวงหนึ่ง เสนาบดีหัวหน้า ๒ กระทรวงนี้มียศเป็นอัครมหาเสนาบดีสูงกว่าเสนาบดีจตุสดมภ์ทั้งสี่ ดูเหมือนจะมีหน้าที่ทำนองอย่างเสนาธิการฝ่ายทหารคน ๑ ฝ่ายพลเรือนคน ๑ เป็นที่ทรงปรึกษาราชการ ถ้าและราชการฝ่ายทหารเกิดขึ้น สมุหพระกลาโหมก็ได้เป็นประธานที่ประชุมข้าราชการฝ่ายทหารปรึกษาข้อราชการนั้น นำมติขึ้นกราบบังคมทูลฯ และเมื่อมีพระราชโองการดำรสั่งราชการอันใด ถ้าและการนั้นเป็นฝ่ายทหาร กรมวังผู้ต้นรับสั่งก็หมายบอกมายังกลาโหม ๆ หมายสั่งไปยังกรมทหารทั้งปวง ส่วนราชการฝ่ายพลเรือนก็เป็นหน้าที่ของสมุหนายกมหาดไทยอย่างเดียวกัน

และอัครมหาเสนาบดีทั้ง ๒ นี้ มีหน้าที่เป็นผู้บังคับบัญชาการหัวเมืองได้อีกอย่างหนึ่ง การบังคับหัวเมืองมีปรากฏในหนังสือมองสิเออร์เดอลาลูแบร์ ราชทูตฝรั่งเศสแต่งเมื่อครั้งรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์ ว่ามหาดไทยบังคับการฝ่ายพลเรือน กลาโหมบังคับการฝ่ายทหารทุกหัวเมือง จึงสันนิษฐานว่าแบบเดิมจะเป็นเช่นนั้น แต่เมื่อภายหลังรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์มา บางทีจะเป็นด้วยหัวเมืองเป็นกบฏในรัชกาลสมเด็จพระเพทราชา หรือเป็นด้วยเห็นว่าสั่งการก้าวก่ายกันนัก จึงเปลี่ยนเป็นให้แบ่งหัวเมืองออกเป็น ๒ ภาค หัวเมืองฝ่ายเหนือให้สมุหนายกมหาดไทยบังคับการทั้งฝ่ายทหารและพลเรือน หัวเมืองภาคใต้ก็ให้สมุหพระกลาโหมบังคับบัญชาเช่นเดียวกัน ครั้นต่อมา(จะเป็นในรัชกาลไหนไม่ทราบแน่) สมุหพระกลาโหมคน ๑ มีความผิด โปรดให้เอาหัวเมืองซึ่งกลาโหมเคยว่ากล่าวนั้นไปขึ้นในกรมท่าคือเสนาบดีพระคลัง มาจนเมื่อตั้งกรุงรัตนโกสินทร์จึงโปรดให้คืนหัวเมืองให้กลาโหม คงให้กรมท่าแต่เหล่าหัวเมืองปากอ่าว หัวเมืองแยกกันขึ้นอยู่ใน ๓ กระทรวง มาจนเมื่อจัดมณฑลเทศาภิบาลในรัชกาลที่ ๕ จึงโปรดให้เปลี่ยนเอาการเป็นหลักบังคับหัวเมือง คือมหาดไทยบังคับการปกครองท้องที่ กลาโหมบังคับฝ่ายทหาร และกระทรวงอื่นๆบังคับราชการในกระทรวงนั้นๆทั่วพระราชอาณาเขต

นอกจากกรมกลาโหม มหาดไทย และกรมเมือง วัง คลัง นา มีกรมที่เป็นชั้นรองลงมาสำหรับราชการต่างๆอีกมาก จะพรรณนาให้พิสดารในปาฐกถานี้เวลาหาพอไม่ ท่านผู้ใดใคร่จะทราบพิสดาร จงไปดูทำเนียบศักดินาในหนังสือกฎหมายเก่านั้นเถิด


Create Date : 21 มีนาคม 2550
Last Update : 21 มีนาคม 2550 11:28:25 น. 1 comments
Counter : 4108 Pageviews.  
 
 
 
 
(ต่อ)


๑๑. ทีนี้จะพรรณนาถึงระเบียบการปกครองประเทศสยามแต่โบราณทางฝ่ายตุลาการ คือว่าด้วยกฎหมายก่อน แล้วจะว่าด้วยลักษณะการพิจารณาและพิพากษาคดีต่อไป อันกฎหมายย่อมมีพร้อมกันกับการปกครอง ที่การปกครองประชุมชนจะปราศจากกฎหมายนั้นหาได้ไม่ เป็นแต่ต่างประเทศหรือต่างสมัยย่อมต่างกันเพียงลักษณะการตั้งวิธีใช้กฎหมาย กับทั้งตัวบทกฎหมายเอง เราท่านทั้งหลายย่อมทราบอยู่ว่าในประเทศของเราทุกวันนี้ ถ้าตั้งพระราชกำหนดกฎหมายอันใดขึ้นใหม่ ย่อมพิมพ์โฆษณาในหนังสือราชกิจจานุเบกษา หนังสือราชกิจจานุเบกษาแพร่หลายไปถึงไหน ก็ทราบคงวามไปถึงนั่นว่ามีบทกฎหมายอย่างนั้นๆ เจ้าพนักงานที่จะรักษาการหรือพิพากษาคดีให้ถูกต้องตามพระราชกำหนดกฎหมาย ก็ได้อาศัยอ่านหนังสือพิมพ์ราชกิจจานุเบกษาเป็นสำคัญ ก็การพิมพ์หนังสือไทยเพิ่งพิมพ์ได้ยังไม่ถึง ๘๐ ปี ขอให้ท่านทั้งหลายลองนึกดูว่าเมื่อครั้งยังไม่มีการพิมพ์หนังสือไทยได้แต่เขียนด้วยมือนั้น การที่คนทั้งหลายแม้จนผู้บังคับบัญชา และผู้พิพากษาตุลาการจะรู้บทกฎหมายได้ด้วยยากสักปานใด

ยิ่งกว่านั้นยังมีอีก ขอให้ลองนึกถอยหลังขึ้นไปเมื่อก่อนพระเจ้ารามคำแหงมหาราชทรงบัญญัติหนังสือไทยขึ้น ยังไม่มีหนังสือที่จะเขียนภาษาไทย การที่จะตั้งและจะให้รู้กฎหมายบ้านเมืองจะทำกันอย่างไร ข้อนี้ประหลาดที่มีเค้าเงื่อนพอจะทราบได้ ด้วยมีตัวอย่างกฎหมายเก่ากว่าสองพันปีมาแล้ว ซึ่งตั้งขึ้นด้วยไม่ใช้หนังสือยังปรากฎอยู่ คือพระวินัยพระพุทธเจ้าทรงบัญญัติ พระสงฆ์ยังท่องจำสวดพระปาฏิโมกข์กันอยู่ทุกวันนี้ แสดงให้เห็นว่ากฎหมายซึ่งตั้งขึ้นเมื่อก่อนใช้หนังสือคงใช้การท่องจำเป็นสำคัญ และพึงคิดเห็นได้ต่อไปว่า ผู้ซึ่งท่องจำไว้ได้ถ้วนถี่คงมีน้อย เพราะเหตุนี้ความเชื่อถือยุติธรรมในตัวผู้ปกครอง ตั้งแต่ผู้ปกครองครัวเรือนขึ้นไป จึงเป็นข้อสำคัญและเป็นหลักอันหนึ่งในวิธีปกครองของไทยแต่โบราณ

กฎหมายซึ่งตั้งครั้งกรุงสุโขทัยเป็นราชธานี แม้เมื่อมีหนังสือไทยแล้วหามีเหลืออยู่จนบัดนี้ไม่ มีปรากฏแต่กฎหมายซึ่งตั้งครั้งกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี แม้ในรัชกาลพระเจ้าอู่ทองก็ยังเหลืออยู่หลายบท พอสังเกตลักษณะการตั้งและการรักษากฎหมายสำหรับบ้านเมืองแต่โบราณได้ อันลักษณะการตั้งกฎหมายนั้น แรกทำเป็นประกาศอย่างพิสดาร ขึ้นต้นบอกวันคืน และบอกว่าพระเจ้าแผ่นดินประทับอยู่ที่ไหนๆ ใครเป็นผู้กราบทูลคดีเรื่องอันใดขึ้นเป็นมูลเหตุ พระเจ้าแผ่นดินทรงพระราชดำริเห็นอย่างไรๆ จึงโปรดให้ตราพระราชบัญญัติไว้อย่างนั้นๆ รูปกฎหมายทีแรกตั้งยังมีปรากฏหลายบท จะพึงเห็นได้ในกฎหมายเก่าฉบับพิมพ์ ๒ เล่ม ตอนพระราชกำหนดเก่า พระราชกำหนดใหม่ และกฎหมายพระสงฆ์

กฎหมายซึ่งตั้งขึ้นชั้นแรกดังกล่าวมามีความส่วนบานแพนก ซึ่งเล่าเรื่องมูลเหตุยืดยาว เรื่องมูลเหตุนั้นไม่ต้องการใช้เมื่อยกบทกฎหมานมาพิพากษาคดี จึงมีวิธีทำกฎหมายย่ออีกอย่าง ๑ คือตัดความที่ไม่ต้องการออกเสีย กฎหมายอย่างย่อนี้ยังปรากฏอยู่ในบท ซึ่งเรียกว่ากฎหมายสามสิบห้าข้อ และเรียกพระราชบัญญัติในกฎหมายพิมพ์ ๒ เล่ม

แม้ย่ออย่างนั้นแล้ว เมื่อจำเนียรกาลนานมามีบทกฎหมายมากเข้าก็ค้นยาก จึงตัดลงอีกชั้นหนึ่ง ดูเหมือนพวกพราหมณ์ชาวอินเดียจะมาสอนให้ทำอนุโลมตามแบบมนุธรรมศาสตร์ ซึ่งเป็นหลักกฎหมายในอินเดีย คือตัดความส่วนอื่นออกหมด คงไว้แต่ที่เป็นตัวบังคับ(๔) เอาเรียงลำดับเป็นมาตราแล้วแยกออกเป็นลักษณะต่างๆกัน เช่น ลักษณะโจรและลักษณะกู้หนี้เป็นต้น กฎหมายเก่าจึงปรากฎอยู่เช่นนี้เป็นพื้น

หนังสือกฎหมายไทยสูญเสียไปเสียครั้งกรุงศรีอยุธยาแก่พม่าข้าศึกเมื่อ พ.ศ. ๒๓๑๐ เป็นอันมาก ถึงรัชกาลที่ ๑ กรุงรัตนโกสินทร์เมื่อปีชวด พ.ศ. ๒๓๔๗ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก โปรดให้รวบรวมฉบับกฎหมายมาตรวจชำระเลือกแต่ที่จะให้คงใช้ เขียนเป็นฉบับหลวงขึ้น ๓ ฉบับ ประทับตราพระราชสีห์ พระคชสีห์ และบัวแก้วเป็นสำคัญทุกเล่มสมุด แล้วโปรดให้รักษาไว้ที่หอหลวงฉบับ ๑ ที่ศาลาลูกขุนในฉบับ ๑ ที่ศาลหลวงฉบับ ๑ ผู้เป็นเจ้าหน้าที่จะขอลอกคัดเอาสำเนาไปก็ได้ แต่ในการชี้ขาดถือเอาฉบับหลวงเป็นสำคัญ กฎหมายเพิ่งได้พิมพ์เมื่อในรัชกาลที่ ๔ กรุงรัตนโกสินทร์

วิธีพิจารณาและพิพากษาคดีในประเทศสยามตามแบบครั้งกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี ยังใช้ต่อมาในกรุงรัตนโกสินทร์ จนกระทั่งตั้งกระทรวงยุติธรรมในรัชกาลที่ ๕ เป็นวิธีแปลกที่เอาแบบอินเดียมาประสมกับแบบไทย ด้วยความฉลาดในการประสานประโยชน์อันพึงเห็นได้ในเรื่องนี้อีกอย่างหนึ่ง จึงเป็นประเพณีที่ไม่มีเหมือนในประเทศอื่น คือใช้บุคคล ๒ จำพวกเป็นพนักงานตุลาการ จำพวกหนึ่งเป็นพราหมณ์ชาวต่างประเทศซึ่งเชี่ยวชาญนิติศาสตร์ เรียกว่าลูกขุน ณ ศาลหลวงมี ๑๒ คน หัวหน้าเป็นพระมหาราชครูปุโรหิตคน ๑ พระมหาราชครูมหิธรคน ๑ ถือศักดินาเท่าเจ้าพระยา หน้าที่ของลูกขุน ณ ศาลหลวงสำหรับชี้บทกฎหมาย แต่จะบังคับบัญชาอย่างใดไม่ได้ อำนาจการบังคับบัญชาทุกอย่างอยู่กับเจ้าพนักงานที่เป็นไทย ดังจะพึงเห็นได้ในวิธีพิจารณาความซึ่งจะกล่าวต่อไปนี้

คือถ้าใครจะฟ้องความ จะเขียนหนังสือฟ้องไม่ได้ ต้องไปร้องต่อจ่าศาล ว่าประสงค์จะฟ้องความเช่นนั้นๆ จ่าศาลจดถ้อยคำลงเป็นหนังสือแล้วมอบให้พนักงานประทับฟ้องนำขึ้นปรึกษาลูกขุน ณ ศาลหลวง ว่าเป็นฟ้องต้องตามกฎหมายควรรับพิจารณาหรือไม่ ถ้าลูกขุนเห็นว่าควรรับ พนักงานประทับรับฟ้องหารือลูกขุนอีกชั้นหนึ่งว่าหมายเรียกตัวจำเลยมาถามคำให้การ แล้วส่งคำหาคำให้การไปปรึกษาลูกขุนให้ชี้สองสถาน คือว่าข้อใดรับกันในสำนวนและข้อใดจะต้องสืบพยาน ตุลาการจึงไปสืบพยานตามคำลูกขุน ครั้นสืบเสร็จแล้วส่งสำนวนไปยังลูกขุน ลูกขุนชี้ว่าฝ่ายไหนแพ้คดีเพราะเหตุใดๆ ตุลาการก็นำคำพิพากษาไปส่งผู้ปรับ ผู้ปรับวางโทษว่า ควรปรับโทษเช่นนั้นๆส่งให้ตุลาการไปบังคับ ถ้าคู่ความไม่พอใจในคำพิพากษาถวายฎีกาได้ แต่การที่ถวายฎีกานั้น ผู้ถวายจำต้องระวังตัว ถ้าเอาความเท็จไปถวายฎีกา อาจจะถูกพระราชอาญาเพราะเหตุนั้นจึงเป็นเครื่องป้องกันมิให้ถวายฎีกาพร่ำเพรื่อ

ศาลต่างๆตามธรรมเนียมโบราณมี ๔ ประเภท คือ ศาลความอาญา ศาลความแพ่ง ๒ ประเภทนี้ขึ้นอยู่ในกระทรวงวัง ศาลนครบาลสำหรับชำระความโจรผู้ร้ายเสี้ยนหนามแผ่นดินขึ้นอยู่ในกระทรวงนครบาล นอกจากนี้อีกประเภท ๑ เป็นศาลการกระทรวง คือคดีเกิดขึ้นเนื่องในหน้าที่ราชการกระทรวงไหน ศาลกระทรวงนั้นได้พิจารณา ใช้วิธีพิจารณาดังกล่าวมาเหมือนกันหมดทุกศาล ศาลตามหัวเมืองก็อนุโลมตามวิธีศาลในกรุงฯ แต่ที่ประชุมกรมการทำการส่วนลูกขุน เพราะอยู่ไกลจะส่งเข้ามาหารือในกรุงไม่สะดวก กับอีกอย่างหนึ่ง ในการปรับโทษผู้แพ้คดี ให้ส่งคำพิพากษาไปให้เมืองที่ใกล้เคียงกันเป็นผู้ปรับ ถ้าคู่ความไม่พอใจในคำพิพากษาอาจอุทธรณ์เข้ามาได้ ถึงเจ้ากระทรวงผู้บังคับบัญชาหัวเมืองนั้นๆ ลักษณะการปกครองทางตุลาการแต่โบราณเป็นดังแสดงมา


๑๒. ได้แสดงลักษณะการปกครองทางธุรการและฝ่ายตุลาการมาแล้ว ยังมีการปกครองอีกแผนกหนึ่ง คือ ฝ่ายศาสนา สมควรจะแสดงด้วยให้ครบทุกฝ่ายในการปกครองประเทศสยามแต่โบราณ อันชนชาติไทยมิได้ปรากฏว่าถือศาสนาอื่น นอกจากพระพุทธศาสนามาแต่ดึกดำบรรพ์ สันนิษฐานว่าเดิมทีเดียวก็เห็นจะถือผีเช่นเดียวกับมนุษย์จำพวกอื่น ซึ่งยังมิได้ประสพศาสนาอันมีพระธรรมเป็นหลัก ครั้นพระพุทธศานาแผ่มาถึงพวกไทยก็พากันเลื่อมใสศรัทธาถือพระพุทธศาสนามาจนตราบเท่าทุกวันนี้ แต่ไทยจะได้รับพระพุทธศาสนาไปจากเมืองมอญหรือได้รับมาทางเมืองจีนข้อนี้ยังไม่พบหลักฐานที่จะรู้ได้แน่

อย่างไรก็ดีเมื่อชนชาติไทยลงมาสู่ประเทศสยามนั้นถือพระพุทธศาสนามาแล้ว ศาสนาซึ่งพวกลาว มอญ และขอมถือกันอยู่เมื่อก่อนพวกไทยจะลงมายังประเทศสยามนั้น มีโบราณวัตถุปรากฏอยู่เป็นเค้าเงื่อน ว่าชาวอินเดียได้มาสอพระพุทธนศาสนาในประเทศเหล่านี้ ตั้งแต่เมื่อราวพระพุทธศักราชได้ ๔๐๐ ปี และลัทธิพระพุทธศาสนาซึ่งมาสอนในชั้นแรกนั้น เป็นอย่างเก่าซึ่งถือกันในมคธราฐ คือที่มักเรียกกันว่า "ลัทธิหินยาน" ใช้ภาษาบาลีจารึกพระธรรม มีโบราณวัตถุสมัยนี้อยู่ทางตะวันตก คือที่พระปฐมเจดีย์เป็นสำคัญ จึงสันนิษฐษนว่าพระพุทธศาสนาที่แผ่มาถึงประเทศสยามชั้นแรก เนื่องจากครั้งพระเจ้าอโศกมหาราชให้เที่ยวสั่งสอนพระพุทธศานาในนานาประเทศ ผู้สอยพระศาสนาจึงมาจากมคธราฐและมาทางเมืองมอญจนถึงประเทศนี้ ครั้นภายหลังมาถึงสมัยเมื่อพระพุทธศาสนาที่ในอินเดียเกิดมี "ลัทธิมหายาน" ซึ่งสมมติว่าพระพุทธเจ้าเป็นหลายภูมิ์และนับถือพระโพธิสัตว์ต่างๆว่าเป็นผู้บำรุงโลก เปลี่ยนใช้ภาษาสันสกฤตจารึกพระธรรม

ข้างฝ่ายศาสนาพราหมณ์ซึ่งถือลัทธิไตรเพทอยู่ก่อน ก็เกิดลัทธิไสยศาสตร์ซึ่งถือพระอิศวร พระนารายณ์ ขึ้นตามกัน มีชาวอินเดียอีกพวกหนึ่งพาลัทธิมหายานของพระพุทธศาสนากับศาสนาไสยศาสตร์ของพราหมณ์มาสั่งสอนที่เกาะสุมาตรา เกาะชวา และประเทศจามประเทศขอม ชาวประเทศเหล่านั้นรับนับถือแล้ว พวกชาวเมืองศรีวิชัยในเกาะสุมาตราพาลัทธิศาสนามาทางมณฑลนครศรีธรรมราชทาง ๑ พวกขอมพาเข้ามาจากกรุงกัมพูชาอีกทาง ๑ จึงมาแพร่หลายในประเทศสยามนี้ มีในศิลาจารึกที่เมืองลพบุรีแผ่นหนึ่งกล่าวว่าที่เมืองลพบุรีในสมัยเมื่อเป็นเมืองหลวงของพวกขอมปกครองอยู่นั้น มีทั้งพระสงฆ์ลัทธิหินยานและมหายานอยู่ในเมืองลพบุรีด้วยกัน ลัทธิมหายานและไสยศาสตร์มิได้แพร่หลายขึ้นไปถึงท้องที่ซึ่งพวกมอญและไทยปกครองอยู่ข้างฝ่ายเหนือ ข้อนี้มีเค้าเงื่อนที่โบราณวัตถุเป็นรูปพระโพธิสัตว์อย่างลัทธิมหายาน และเทวรูปพระอิศวร พระนารายณ์พบปะแต่ข้างใต้ หามีขึ้นไปถึงมณฑลพายัพไม่

ครั้นถึงสมัยเมื่อพระพุทธศานาในอินเดียเสื่อมลง เหตุด้วยพวกถือศาสนาอื่นได้เป็นใหญ่ นานาประเทศก็ขาดทางติต่อกับอินเดียด้วยเรื่องพระพุทธศาสนา ต่างประเทศต่างถือมาตามนิยมของตน จนเมื่อราว พ.ศ. ๑๖๙๖ มีกษัตริย์สิงหฬพระองค์หนึ่ง ทรงพระนามว่าพระเจ้าปรักกรมพาหุมหาราช ทรงศรัทธาเลื่อมใสอุปถัมภ์พระศาสนา ให้ทำสังคายนาพระไตรปิฎก และบำรุงสงฆมณฑล ให้ร่ำเรียนพระธรรมวินัยฟื้นพระพุทธศาสนารุ่งเรืองขึ้นในลังกาทวีป เกียรติคุณนั้นแพร่หลายเลื่องลือมาถึงประเทศรามัญประเทศสยามและปะเทศกัมพูชา มีพระสงฆ์ทั้งมอญไทยและเขมรพากันไปยังลังกาทวีป ไปศึกษาลัทธิธรรมวินัยที่ฟื้นขึ้นใหม่ แล้วบวชแปลงเป็นพระสงฆ์ลังกาวงศ์ พาลัทธิพระพุทธศานาลังกาวงศ์มายังประเทศของตน เรื่องนี้มีแจ้งอยู่ในจารึกกัลยาณีของพระเจ้ารามาธิบดีปีฎกธร เมืองหงสาวดี และในหนังสือชินกาลมาลินีที่แต่งขึ้น ณ เมืองเชียงใหม่ พวกพระสงฆ์มอญนำลัทธิลังกาวงศ์มาตั้งที่เมืองเมาะตะมะ แล้วพาลัทธิลังกาวงศ์เข้ามาประเทศนี้ทางเมืองเชียงใหม่ พวกพระสงฆ์ไทยนำลัทธิลังกาวงศ์มาตั้งที่เมืองนครศรีธรรมราช และแพร่หลายขึ้นมาถึงเมืองสุโขทัยอีกทางหนึ่ง ในสมัยเมื่อไทยได้เป็นใหญ่ในสยามประเทศ กำลังลัทธิลังกาวงศ์แรกเข้ามารุ่งเรืองในประเทศนี้ ไทยก็รับนับถือลัทธิลังกาวงศ์ ข้อนี้มีปรากฏอยู่ในจารึกของพระเจ้ารามคำแหงมหาราช ว่างสังฆนายกในกรุงสุโขทัยล้วนมาแต่เมืองนครศรีธรรมราช ก็คือพระสงฆ์ที่ถือลัทธิลังกาวงศ์นั้นเอง

พระพุทธศานาลัทธิลังกาวงศ์นั้นถือคติอย่างหินยาน พระไตรปิฎกก็เป็นภาษามคธ เมื่อไทยรับถือลัทธิลังกาวงศ์ พระสงฆ์ไทยจึงเลิกศึกษาพระธรรมวินัยในภาษาสันกฤตอย่างแต่ก่อน เปลี่ยนเป็นศึกษาภาษามคธแต่นั้นมา แต่ภาษาสันกฤตยังคงใช้อยู่ในฝ่ายฆราวาส ข้อนี้พึงเห็นเค้าเงื่อนได้จนสมัยใกล้กับปัจจุบัน เช่นในการแปลพระปริยัติธรรม แปลศัพท์ "สตฺถา" ว่า "พระศาสดา" ดังนี้ ก็คือแปลภาษามคธที่ใช้ขึ้นใหม่เป็นภาษาสันกฤตซึ่งใช้มาแต่เดิมเห็นได้เป็นสำคัญ ส่วนสงฆมณฑลนั้น เมื่อผู้คนนับถือลัทธิลังกาวงศ์มากขึ้น แม้ในประเทศสยามพระเจ้าแผ่นดินมิได้บังคับให้พระสงฆ์นิกายเดิมบวชแปลงเป็นลังกาวงศ์เหมือนอย่างเช่นบังคับในประเทศรามัญก็ดี เมื่อจำเนียรกาลนานมาพระสงฆ์ที่ถือลัทธิตามนิกายเดิมก็น้อยลงทุกที จนที่สุดรวมเป็นนิกายเดียวกัน (คือที่เราเรียกกันทุกวันนี้ว่า "มหานิกาย") ถึงกระนั้นลักษณะการที่จัดสงฆมณฑลแต่โบราณก็ยังโบราณก็ยังปรากฏเค้าเงื่อนอยู่ตามเรื่องตำนานที่กล่าวมาที่แบ่งเป็น "คณะเหนือ" คือพวกนิกายเดิมคณะ ๑ "คณะใต้" คือพวกนิกายลังกาวงศ์ที่ขึ้นมาจากนครศรีธรรมราชคณะ ๑ ยังมีเค้าอยู่ทุกวันนี้

ส่วนพระสงฆ์นิกายธรรมยุติกานั้นเพิ่งเกิดขึ้นใหม่ เป็นของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงตั้งขึ้นเมื่อยังทรงผนวชอยู่ในรัชกาลที่ ๓ กรุงรัตนโกสินทร์ เพื่อจะประพฤติพระธรรมวินัยให้ถี่ถ้วนเคร่งครัดกว่าที่พระสงฆ์ประพฤติอยู่เป็นสามัญในสมัยนั้น มีผู้เลื่อมใสบวชเรียนในสำนักพระสงฆ์ธรรมยุติกามาก จึงได้เป็นนิกายหนึ่งต่อมาจนทุกวันนี้ ลักษณะการปกครองคณะสงฆ์แต่โบราณ พระเจ้าแผ่นดินทรงตั้งพระเถรานุเถระให้มียศและราชทินนาม และโปรดให้มีอำนาจที่จะปกครองบังคับบัญชาพระภิกษุสงฆ์ผู้น้อย มีทำเนียบสงฆ์อยู่ส่วนหนึ่ง คล้ายกับทำเนียบตำแหน่งกระทรวงราชการฝ่ายฆราวาส คือมีสมเด็จพระสังฆราชเป็นใหญ่ในสมณมณฑล รองลงมาสมเด็จพระราชาคณะเจ้าคณะใหญ่ แล้วถึงพระราชาและพระครูฐานานุกรมเป็นอันดับกัน กำหนดสงฆ์เป็น ๒ ฝ่านตามพระพุทธนิยม คือฝ่ายคันถธุระและฝ่ายวิปัสนาธุระ ฝ่ายคันถธุระถือเป็นหน้าที่ที่จะสั่งสอนพระพุทธสานาให้แพร่หลายถาวร หลักของพระพุทธศานาก็คือคัมภีร์พระไตรปิฎกเป็นมคธภาษา เพราะฉะนั้นเบื้องต้นของการที่จะบำเพ็ญกิจฝ่ายคันถธุรระจึงต้องเรียนพระไตริฎกเป็นมคธภาษา เพราะฉะนั้นเบื้องต้นของการที่จะบำเพ็ญกิจฝ่ายคันถธุระจึงต้องเรียนภาษามคธเป็นสำคัญดังกล่าวมา พระเจ้าแผ่นดินจึงทรงอุกหนุนทำนุบำรุงการเล่าเรียนภาษามคธ พระภิกษุองค์ใดเล่าเรียนรอบรู้สอบได้ก็ทรงตั้งเป็นมหาบาเรียนเป็นชั้นตามคุณธรรม และทรงเลือกพระสงฆ์ในพวกเปรียญเป็นพระราชาคณะเป็นพื้น ส่วนวิปัสนาธุระนั้นถือกิจที่จะกระทำจิตให้ผ่อนพ้นกิเลสความเศร้าหมองเป็รที่ตั้ง พระภิกษุสงฆ์องค์ใดรอบรู้วิธีสมถะภาวนาสามารถในทางวิปัสนาธุระ พระเจ้าแผ่นดินก็ทรงตั้งแต่งเป็นพระราชาคณะฝ่ายสมถะ คนทั้งหลายก็พากันนิยม แต่มักนับถือไปในทางว่าศักดิ์สิทธิ์

ถ้าว่าถึงการปกครองที่เกี่ยวข้องกันในระหว่างศาสนากับบ้านเมือง มีหลักเรียกว่าพุทธจักรอย่าง ๑ อาณาจักรอย่าง ๑ พุทธจักรคือการรักษาพระธรรมวินัยให้ถูกต้องตามพระพุทธเจ้าบัญญัตินั้นเป็นใหญ่อยู่แก่คณะสงฆ์ แม้พระเจ้าแผ่นดินก็ไม่ใช้พระราชอำนาจบังคับบัญชา ข้อนี้พึงเห็นเช่นการทีพระราชปุจฉา ถ้าพระสงฆ์พร้อมกันถวายวิสัชนาว่าพระธรรมวินัยเป็นอย่างไร ถึงไม่ทรงพระราชดำริเห็นชอบก็ทรงอนุมัติตามไม่ฝ่าฝืน จะยกเป็นตัวอย่าง ดังเมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกทรงพระราชดำริจะเอาพระพุทธรูปพระศรีสรรเพชญพระยืนองค์ใหญ่ในกรุงศรีอยุธยา ซึ่งพม่าเผาทำลายลงเหลือแต่ซาก มาหล่อเป็นพระพุทธรูปองค์ใหม่ มีพระราชปุจฉา พระราชาคณะทั้งปวงถวายวิสัชนาว่าถึงทำลายก็ยังเป็นรูปพระพุทธเจ้าอยู่ จะเอามาทำลายหล่อหลอมนั้นไม่ควร ก็ทรงปฏิบัติตาม ส่วยอาณาจักรนั้นคือ การปกครองในทางโลกเบื้องต้นแต่การตั้งตำแหน่งพระสงฆ์ ตลอดจนการที่พระสงฆ์จะต้องประพฤติตามพระราชกำหนดกฎหมายบ้านเมืองอยู่ในพระราชอำนาจของพระเจ้าแผ่นดินทั้งสิ้น ยกตัวอย่างดังเช่นผู้ประพฤติเป็นโจรผู้ร้ายเสี้ยนหนามแผ่นดิน หรือฝ่าฝืนพระราชกำหนดกฎหมายด้วยประการอย่างอื่น ถึงจะถือเพศเป็นพระภิกษุก็หาพ้นพระราชอาญาไปได้ไม่

ส่วนศาสนาไสยศาสตร์ของพวกพราหมณ์นั้น มีหลักฐานปรากฏว่าได้รับความทำนุบำรุงตั้งแต่ครั้งกรงุสุโขทัยเป็นราชธานี สืบมาจนปัจจุบันนี้ เหตุด้วยไสยศาสตร์ที่มาถือกันในประเทศนี้ มิได้เป็นปฏิปักษ์กับพระพุทธศาสนา หรือจะว่าเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันกับพระพุทธศาสนาก็ว่าได้ พระสงฆ์ในฝ่ายพระพุทธศานาสั่งสอนในทางธรรมปฏิบัติ ฝ่ายพราหมณ์สั่งสอนขนบธรรมเนียมบ้านเมืองและนิติศาสตร์ราชประเพณีเป็นประโยชน์ในทางโลก แม้พระเป็นเจ้าในศาสนาไสยศาสตร์เช่น พระอิศวร พระนารายณ์ ไทยก็รับนับถืออย่างเช่นเทวดาในชั้นฟ้าอันมีในคติพระพุทธสาสนาไม่ขัดข้องกัน จึงได้สร้างเทวรูปเหล่านั้น และทำเทวสถานสำหรับบ้านเมืองมีสืบมาจนกาลบัดนี้


....................................................................................................................................................

(๑) ในวันนั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จไปทรงฟังปาฐกถาด้วย

(๒) คือ สิบสองจุไทย

(๓) จตุสดมภ์ ศึกษาเพิ่มเติมได้ที่
แผ่นดินทอง - แผ่นดินสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ

(๔) จึงเรียกว่า ประมวลกฎหมาย ครับ


........................................................................................................................................................


ทรงแสดงปาฐกถาที่สามัคยาจารย์สมาคม เมื่อวันที่ ๘ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๗๐
ชุมนุมพระนิพนธ์ในสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ
ว่าด้วยลักษณะการปกครองประเทศสยามแต่โบราณ
 
 

โดย: กัมม์ วันที่: 21 มีนาคม 2550 เวลา:11:29:59 น.  

Name
* blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Opinion
*ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet

กัมม์
 
Location :


[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 41 คน [?]




วิชา ความรู้จะมีค่าเมื่อถูกถ่ายทอด
[Add กัมม์'s blog to your web]

MY VIP Friend

 
pantip.com pantipmarket.com pantown.com