ศาสนา เป็นองค์คุณอันสำคัญ
โดยช่วยให้ชีวิตนี้ มีความสดชื่น เยือกเย็น พอที่จะเป็นอยู่ ไม่ร้อนเป็นไฟ
เช่นเดียวกับน้ำ เป็นเครื่องหล่อเลี้ยง พฤกษาชาติ ให้สดชื่น งอกงาม ตลอดเวลา ฉันใดฉันนั้น
ทางเดินของชีวิต - พุทธทาสภิกขุ


ชีวิตคนเรานั้น แท้จริงคือ การเดินทางชนิดหนึ่ง ซึ่งเดินจาก ความเต็มไปด้วยความทุกข์ ไปยัง ที่สุดจบสิ้นของความทุกข์ ที่ตนเคยผ่านมาแล้ว นั่นเอง ไม่รู้ว่า ผู้นั้นจะ ทราบหรือไม่ทราบ รู้สึกหรือไม่รู้สึก ชีวิตก็ยังคงเป็น การเดินทาง เรื่อยอยู่นั่นเอง เมื่อเดินไป ทั้งไม่ทราบ ก็ย่อมมีความ ระหกระเหิน บอบช้ำเป็นธรรมดา

การเดินทางของชีวิตนี้ มิใช่เป็น การเดินทางด้วยเท้า ทางของชีวิต จึงมิใช่ ทางที่จะเดินได้ด้วยเท้า อีกเช่นเดียวกัน บัณฑิตทั้งหลายในกาลก่อน ได้พากันสนใจใน "ทางชีวิต" กันมากเป็นพิเศษ ในฐานะที่เป็นทางของจิต อันจะวิวัฒน์ไปในทางสูง ซึ่งจะไปได้สูงกว่าทางวัตถุหรือทางกาย อย่างที่จะเทียบกันไม่ได้เลย

สิ่งที่เรียกกันว่า ทางๆ นั้น แม้จะมีสายเดียว ก็จริง ตามธรรมดา ต้องประกอบ อยู่ด้วย องค์คุณ หลายประการ เสมอ ทางเดินเท้า ทางไกล แรมเดือน สายหนึ่ง จะต้องประกอบด้วย สะพาน ร่มเงา ที่พักอาศัย ระหว่างทาง การอารักขา คุ้มครองในระหว่างทาง การหาอาหาร ได้เสมอไป ในระหว่างทาง ฯลฯ ดังนี้เป็นต้น ฉันใด ทางชีวิต แม้จะสายเดียว ดิ่งไปสู่ ความพ้นทุกข์ ก็จริง แต่ก็ต้อง ประกอบไปด้วย องค์คุณ หลายประการ ฉันนั้น

ศาสนา เป็นองค์คุณอันสำคัญ โดยช่วยให้ชีวิตนี้ มีความสดชื่น เยือกเย็น พอที่จะเป็นอยู่ ไม่ร้อนเป็นไฟ เช่นเดียวกับน้ำ เป็นเครื่องหล่อเลี้ยง พฤกษาชาติ ให้สดชื่น งอกงาม ตลอดเวลา ฉันใดฉันนั้น

ปรัชญา เป็นองค์คุณ ที่ช่วยให้เกิด อุดมคติ อันมีกำลังแรง ในการที่จะ กระตุ้น ให้ปฏิบัติ ตามศาสนา หรือ หน้าที่อื่นๆ ทำให้เกิด ความเชื่อ ความเพียร และคุณธรรมอื่นๆ ที่เป็นตัวกำลังสำคัญ ด้วยกันทั้งนั้น อย่างมากพอ ที่จะไม่เกิด การท้อถอย หรือ โลเล หรือ หันหลังกลับ โดยสรุปก็คือ ช่วยให้มีความเป็น นักปราชญ์ หรือ มีปัญญา เครื่องดำเนินตน ไปจนลุถึง ปลายทางที่ตนประสงค์

วิทยาศาสตร์ ช่วยให้เป็น ผู้รู้จักเหตุผล ให้รู้จัก ใช้เหตุผล และให้อยู ่ในอำนาจ แห่งเหตุผล เพื่อให้ชีวิตนี้ ไม่หลับหู หลับตา เดินไปอย่าง โง่เง่า งมงาย ซึ่งจะทำให้ เดินไม่ถึง หรือถึงช้า และไม่ได้รับผลเป็นที่พอใจ

ศิลปะ โดยเฉพาะก็คือ ศิลปะแห่งการครองชีวิต หรือ การบังคับตัวเองได้ ช่วยให้ชีวิตนี้ ดูแจ่มใส งดงาม น่าชื่นใจ น่ารักใคร่ นำมา ซึ่งความ เพลิดเพลิน ในการก้าวหน้า ไปด้วยความรู้ และการกระทำที่ดูงาม ทั้งในเบื้องต้น ท่ามกลาง และเบื้องปลาย

ภูมิธรรม คือ ธรรมสมบัติ หรือ ความดี ความจริง ความยุติธรรม ที่ประกอบ อยู่ที่เนื้อที่ตัว ช่วยเหลือ ให้เกิด บุคคลิกลักษณะ อันนำมา ซึ่งความเลื่อมใส ความไว้วางใจ ความน่าคบหา สมาคมจาก ชีวิตรอบข้าง ทำให้ชีวิตนั้น ตั้งอยู่ ในฐานะเป็น ปูชนียบุคคล เป็นที่พึ่งแก่ตนเองได้ และเป็นเครื่อง ยึดเหนี่ยว ของชีวิต ทั้งหลาย

ความรู้ ช่วยให้มีความสามารถ ในการที่จะใช้ความคิด และการวินิจฉัย สิ่งต่างๆ ได้อย่างกว้างขวาง ในการตัดสินใจ การค้นคว้าทดลอง การแก้ไข อุปสรรค และอื่นๆ ในอันที่จะให้เกิด ผลในการครองชีพ การสมาคม และอื่นๆ ที่จำเป็นทุกประการ โดยสมบูรณ์

สติปัญญา ช่วยให้เกิดสมรรถภาพ หรือ ปฏิภาณ ในการดำเนินงานของชีวิต ให้สำเร็จ ลุล่วงไปได้ ตามแนว ของความรู้ ทำให้ งานของชีวิต ทุกชนิด ทุกระดับ ดำเนินไป ได้โดยง่าย โดยเร็ว โดยสมบูรณ์ และปลอดภัย โดยประการทั้งปวง

อนามัย ช่วยให้มีกำลังกาย อันเป็น บาทฐาน แห่งกำลังใจ มีความแคล่วคล่อง ว่องไว อาจหาญ ร่าเริง สะดวกกาย สบายใจ ในการ เป็นอยู่ของตน ทำกายนี้ ให้เป็นเหมือน ม้าที่เจ้าของเลี้ยงดู อย่างถูกต้อง ที่สุดแล้ว สามารถเป็นพาหนะ นำเจ้าของ ไปสู่ที่มุ่งหมายได้ ฉันใดก็ฉันนั้น

องค์คุณ ๘ ประการนี้ กำลังรวมกันเป็น ทางสายเดียว ของข้าพเจ้า ช่วยให้ชีวิตของข้าพเจ้า ดำเนินไปได้ อย่างเป็นที่ พอใจมาก จนถึงกับ นึกอยากจะยืนยัน แก่เพื่อนร่วม เกิด แก่ เจ็บ ตาย ทั้งหลายว่า จงลอง เดินทางสายนี้ อันประกอบด้วย องค์คุณ ๘ อย่างนี้ ดูบ้างเถิด ผลในโลกนี้ ก็คือ ทรัพย์ ชื่อเสียง และมิตรภาพ ก็ตาม ผลในโลกหน้า คือ สุคติก็ตาม และผลอันสูงสุด พันจากโลกทั้งปวง คือ นิพพาน ก็ตาม จักเป็นที่หวังได้ ครบถ้วน โดยไม่ต้องสงสัยเลย

องค์คุณทั้ง ๘ นี้ ต้องมีครบถ้วน พอเหมาะส่วน และเข้ากันสนิท พร้อมที่จะ ส่งเสริม ซึ่งกันและกัน อยู่ตลอดเวลา จึงจะสำเร็จเป็นตัวทาง และ เป็นการเดินทาง ในตัวมันเอง อยู่แล้วทุกขณะ ไม่มีการถอยหลัง

โลกทุกวันนี้ มีอะไรๆ มากเกินไป ในทางที่จะผูกพันชีวิตนี้ ให้ตกอยู่ ภายใต้อำนาจ ของสิ่งที่บีบคั้น เผาลน เผลอไปเพียงนิดเดียว ก็จักลื่นไถล ลงไปในกองเพลิง ชนิดที่ยาก ที่จะถอนตัว ออกมาได้ และถึงกับตาย อยู่ในกองเพลิงนั้น เป็นที่สุด เพราะเหตุนั้น จึงเป็นการสมควร หรือจำเป็น สำหรับชีวิตทุกชีวิต ที่จะต้องแสวงหาทาง และมีทางของตน อันถูกต้อง ปลอดภัย เพื่อก้าวหน้า ไปสู่ความสะอาด หมดจด สว่างไสว และ สงบเย็น สมตาม ความปรารถนา ไม่เสียที ที่ได้เวียนมา ในเกลียว แห่งวัฎสงสาร จนกระทั่งมามีชีวิต ในวันนี้ กะเขา ด้วยชีวิตหนึ่ง

โลกทุกวันนี้ มากไปด้วย ขวากหนาม อันเป็นอันตรายมาก ยิ่งขึ้นเพียงใด ชีวิตนี้ ก็ยิ่งต้องเพียบพร้อม ไปด้วยคุณธรรม และสมรรถภาพ อันจะเป็น เครื่องป้องกัน และแก้ไข อันตรายนั้นๆ มากขึ้นเพียงนั้น เพราะฉะนั้น อย่างน้อยที่สุด เขาจะต้องมี หนทาง อันประกอบไปด้วย องค์แปดประการ ดังกล่าว ทางไปของชีวิต ในด้านจิต หรือ วิญญาณ ของเขาผู้นั้น จึงจะก้าวไปด้วยดี คู่กันไปได้ กับการก้าวหน้า ในทางวัตถุ หรือทางกาย ของโลกแห่งสมัยนี้ อันกำลังก้าวไป อย่างมากมาย จนเกินพอดี หรือผิดส่วน ไม่สมประกอบ จนทำให้โลก ระส่ำระสาย เป็นประจำวัน อยู่แล้ว

ทางชีวิตแห่งสมัยนี้โลดโผน โยกโคลง ขรุขระ ขึ้นๆ ลงๆ ยิ่งกว่า สมัยเก่าก่อน เกินกว่าที่จะ ดำเนินไปได้ง่ายๆ โดยการใช้วิธีการ ที่ง่ายๆ สั้นๆ เหมือนที่แล้วมา นับว่าเป็นโชคดี ของพุทธบริษัท ที่เรามี พระพุทธศาสนา อันแสนประเสริฐ ของเรา ซึ่งอาจจะอำนวย สิ่งต่างๆ อันเป็น องค์คุณ ๘ ประการนั้น ให้แก่เราได้ อย่างครบถ้วน พุทธศาสนาของเรา มีเหลี่ยมพราย อันสมบูรณ์ แล้วแต่เรา จะเพ่งดูกัน ในเหลี่ยมไหน ก็มีให้ดู เป็นให้ได้ ครบทุกอย่าง ทุกเหลี่ยม

พุทธศาสนา ในฐานะที่ เป็นทั้งศาสนา เป็นทั้งปรัชญา เป็นวิทยาศาสตร์ เป็น ศิลปะแห่งการครองชีวิต เป็นภูมิธรรม ที่พึงประสงค์ ของมนุษยชาติ เป็นความรู้ที่ครบถ้วน เป็นสติปัญญา ที่คล่องแคล่ว และเป็นอนามัย ทั้งทางกาย และทางจิต เหล่านี้แต่ละเหลี่ยมๆ นั้น เอง นับเป็น องค์คุณ ครบทั้ง ๘ ประการ ที่รวมกันเข้า เป็นตัวทาง และเป็นการเดินทาง พร้อมกันไปในตัว ดังที่กล่าวแล้ว

ข้าพเจ้าขอชักชวน เพื่อนร่วม การเกิดแก่เจ็บตาย ทั้งหลาย ให้สนใจ ในทางอันเอก อันเป็นทาง ดิ่งไปสู่ความสิ้นทุกข์ ของบุคคลผู้เดียว แต่ละคนๆ ทางนี้ ข้าพเจ้า ขอชักชวน ให้พร้อมใจกัน ต่อสู้ โดยทุกวิถีทาง เพื่อให้ทางๆ นี้ยังคงเปิดเผย ปรากฏอยู่ เป็นทางเดิน ของสัตว์ทั้งหลาย ข้าพเจ้า ขอชักชวน มิตรสหาย ทั้งหลาย ให้ สละแม้กระทั่งชีวิต เพื่อป้องกันหนทาง อันนี้เอาไว้ ให้ยังคงอยู่ เป็นทางรอดของตน และของเพื่อนสัตว์ ทั้งหลาย ตลอดกาล อันไม่มีที่สิ้นสุด ในนามแห่ง พระพุทธองค์ ผู้ทรงประกาศ ความจริงสากล แก่มนุษย์ชาติ ทั้งมวล.

โมกขพลาราม

๑ กันยายน ๒๔๙๕

จาก หนังสือ ชุมนุมข้อคิดอิสระ พุทธทาสภิกขุ

พิมพ์ ครั้งที่ ๕ พ.ศ. ๒๕๓๘ โดย สำนักพิมพ์สุขภาพใจ

บทความจาก
//www.buddhadasa.com




Create Date : 24 กรกฎาคม 2549
Last Update : 24 กรกฎาคม 2549 22:19:32 น. 0 comments
Counter : 990 Pageviews.

สายน้ำระริน
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




Group Blog
 
 
กรกฏาคม 2549
 1
2345678
9101112131415
16171819202122
23242526272829
3031 
 
24 กรกฏาคม 2549
 
All Blogs
 
Friends' blogs
[Add สายน้ำระริน's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.