"หน้าตึงแต่กระเป๋าแฟบ ของแพงมันดีกว่างั้นหรือ?" สับแหลกเบื้องหลังคำโฆษณาสินค้า Anti-Aging
บทความนี้เกิดขึ้นจากความไม่ตั้งใจที่เริ่มต้นมาจากการหาข้อมูลสารสกัดจากสาหร่าย ว่ามีประสิทธิภาพในการเป็น Anti-Aging ได้จริงหรือไม่อย่างไร เพื่อใช้เป็นข้อมูลในการสับแหลกครีมสาหร่ายยี่ห้อหนึ่งทว่าหาเท่าไหร่ก็หาไม่เจอ กลายเป็นว่าได้ข้อมูลของบรรดาสาร Anti-Aging ต่าง ๆ มากมาย รวมถึง Fact Sheet ที่ตีพิมพ์ใน Aesthetic Surgery Journal ฉบับเดือนสิงหาคม ปี 2007 ที่ให้ข้อมูลไว้เยอะมาก กระผมเลยคิดว่าไหน ๆ ก็ไหน ๆ แล้ว เอามารวบรวมกับข้อมูลที่กระผมมีในหนังสือเอาแปลและสรุปมาให้ทุกท่านได้อ่านกันดีกว่านะขอรับ "อุตสาหกรรมเครื่องสำอางเป็นธุรกิจที่มีเงินหมุนเวียนจำนวนมหาศาล" จากข้อมูลจากนิตยสาร Time เมื่อปี 2000 บอกไว้ว่า ในประเทศอเมริกาประเทศเดียว ผู้คนใช้เงินมากถึง 2 พันล้านดอลล่า ในการซื้อเครื่องสำอางกลุ่ม Anti-Aging" เครื่องสำอางประเภทนี้ทั้งหมดใช้คำกล่าวอ้างและคำโฆษณาว่าสามารถ "ให้ผลที่น่าพึ่งพอใจ" "สังเกตุเห็นได้ชัด" และเมื่อไม่นานมานี้ เทรนด์ล่าสุดคือที่กำลังมาแรงคือ "เครื่องสำอางทดแทนการศัลยกรรม" บ้างก็ว่าได้ผลเหมือนการฉีด Derma filler บ้างก็ว่าได้ผลเทียบเท่า Botox ซึ่งเป็นคำกล่าวอ้างที่เกินความเป็นจริงมาก~~~~~ก (และก็มีคนจำนวนมากเช่นกันหลงเชื่อ) ครีมเหล่านี้มาในหลายรูปแบบ หลายราคา มีตั้งแต่ไม่กี่ร้อย ไม่กี่พัน ยันราคาแพงกว่าการฉีด Botox หรือศัลยกรรมจริง ๆ เสียอีก ซึ่งผู้ที่มีอันจะกิน (บางคนก็ไม่มีอันจะกินแต่กระเสือกกระสนจะใช้) ต่างไว้เนื้อเชื่อใจให้ความเชื่อถือ ถอยมาใช้กันอย่างครึกโครม มีคำถามคือ... "มันคุ้มค่ากับเงินที่เสียไปหรือไม่?" "ของราคาแพงใช้ได้ผลกว่าของราคาถูกงั้นหรือ?" ถ้าถามปูเป้รึขอรับ... หลังจากการที่กระผมเริ่มศึกษาส่วนผสมและดูคุณภาพของเครื่องสำอางจากสิ่งที่อยู่ภายใน ไม่ใช่แพคเกจสวยหรือ หรือแบรด์สุดไฮโซแล้ว กระผมขอบอกว่า "มันไม่เป็นความจริง และ เหลวไหลสิ้นดี" "ถูก ประทะ "แพง" ขอยกตัวอย่างที่ปูเป้รู้สึกว่าเห็นได้ชัดก่อนนะขอรับ เพราะว่าเคยใช้มาทั้งคู่แล้ว"Olay Regenerist Eye Lifting Serum" อายเซรั่มราคาถู๊ก~ถูก คุณป้า "เสงี่ยม" แม่ค้าขายยำไข่มดหน้าตลาดสดบ้านโคกอีแร้ง พบเซรั่มตัวนี้ถูกวางสุมกองเบียดเสียดในชั้นวางของ คุณป้าเกิดเล็งเห็นแววจึงส่งเข้าประกวด เซรั่มเนื้อเนียนละเอียดด้วยซิลิโคนตัวนี้ให้ความชุ่มชื้นดีในระดับหนึ่ง อุดมไปด้วยคุณค่าของ Niacinamide ที่พิสูจน์แล้วว่าช่วยปรับสภาพผิวโดยรวมทำให้ผิวแข็งแรงมีสุขภาพดี Vitamin B5 ช่วยเร่งกระบวนการซ่อมแซมผิว นอกจากนี้ยังมี Palmitoyl Pentapeptide-3 ซึ่งเป็นสาร Anti-Aging น้องใหม่มาแรงในตอนนี้ ทั้งยังอุดมไปด้วยสารแอนติออกซิแดนท์อย่าง Vitamin E และชาเขียว และมี Allantoin เป็นสารลดการระคายเคือง แถมด้วย Mica, Titanium Dioxide และ Iron Oxides ให้ผลทางคอสเมติคช่วยกระจายแสงให้ผิวรอบดวงตาดูสว่างขึ้นในทันที บรรจุในแพคเกจขวดปั้มพลาสติคทึบแสง และไม่มีน้ำหอมและไม่มีน้ำหอมให้ผิวรอบดวงตาระคายเคืองได้ง่ายแต่อย่างใด ขอให้ผู้เข้าประกวดอวดส่วนผสมโดยละเอียดเพื่อให้กรรมการได้ลงคะแนนด้วยนะขอรับIngredients: Cyclopentasiloxane, Water, Glycerin, Polymethylsilsesquioxane, Dimethicone, Niacinamide, Dimethicone Crosspolymer, Stearyl Dimethicone, Butylene Glycol, Panthenol, Propylene Glycol, Palmitoyl Pentapeptide-3, Tocopheryl Acetate, Camellia Sinensis Leaf Extract, Cucumis Sativus (Cucumber) Fruit Extract, Allantoin, Petrolatum, Cetyl Ricinoleate, Peg-10 Dimethicone Crosspolymer, Sucrose Polycottonseedate, Bis-Peg/Ppg-14/14 Dimethicone, Benzyl Alcohol, Peg-10 Dimethicone, Peg-100 Stearate, Ethylparaben, Methylparaben, Propylparaben, Disodium Edta, Triethoxycaprylylsilane, Mica, Titanium Dioxide, Iron Oxides หมายเลข 2 Sisley Sisleÿa Eye and Lip Contour Cream อายครีมกระปุกน้อยหอยสังข์สุดหรูหราราคามหาโหด ประทับตรา S ตัวเขื่องยืนยันความเป็นแบรนด์ดัง คุณผู้หญิง "ทรัพย์มีบารมีเจิด" เซเลบไฮโซคนดัง ไปเห็นอายครีมตัวนี้ตั้งโชว์เด่นเป็นสง่าบนเคาเตอร์หรูมีไฟส่องดูเหมือนเป็นดาราฮอลลีวู้ด คุณนายไม่รอช้าติดต่อเอเจนซี่เพื่อเป็นแม่ยกดันเข้าประกวดทันที อายครีมเนื้อข้นคลั่กตัวนี้มี Shea butter เป็นตัวเด่นชูโรงเดินนำบรรดาสาร Thickening Agent และ Oil จำนวนมาก ที่ตามติดเป็นขบวนพาเหรด สารสกัดธรรมชาติอย่าง chamomile และ Licorice ช่วยต้านอาการระคายเคือง มีวิตามิน B5 ที่ช่วยเสริมประสิทธิภาพในการเยียวยาผิว สารแอนติออกซิแดนท์หลักคือ Vitamin E และสารสกัดสาหร่าย ส่วน Vitamin F เป็นเพียงแค่ Fatty Acid ที่ช่วยเป็นมอยซ์เจอไรเซอร์เท่านั้น ทั้งหมดนี้ถูกบรรจุลงในกระปุกสวยใสแต่ไร้ประสิทธิภาพในการรักษาสารบำรุง ส่วนน้ำหอมในรูปของน้ำลอยดอกส้มและดอกกุหลาบที่อาจก่อการระคายเคืองได้ก็ถูกกลบไปด้วยความเข้มข้นของเนื้อครีมจึงไม่น่ามีผลเสียอะไร ขอให้ผู้เข้าประกวดอวดส่วนผสมโดยละเอียดเพื่อให้กรรมการได้ลงคะแนนด้วยนะขอรับIngredients: Water, Shea Butter Oil, Glycerin, Orange Flower Water, Rosa Centifolia Flower Water, Glyceryl Stearate, Isopropyl Palmitate, Sorbitol, Algae Extract-Paraffin, Propylene Glycol, Dicaprylate/Dicaprate, Oleyl Alcohol, Cetyl Phosphate, Propylene Glycol, Licorice Extract, Wheat Germ Extract, Triethanolamine, Stearyl Alcohol, Sesame Seed Oil, Tocopheryl Acetate, Carrot Root Extract, Matricaria Extract, Cetearyl Alcohol, Panthenol, Polyacrylamide, Carbomer, Phenoxyethanol, Ceteareth-33, C13-14 Isoparaffin, Sodium Methylparaben, Sorbic Acid, Tetrasodium Edta, Octoxynol-13, Peg-40 Hydrogenated Castor Oil, Laureth-7, Methylparaben, Butylparaben, Ethylparaben, Propylparaben ผลจากการใช้และความคิดเห็นส่วนตัว ทั้งสองตัวก็ถือว่ามีจุดดีจุดด้อยที่แตกต่างกัน ทางด้าน Olay Regenerist Eye Lifting Serum มีเนื้อแบบเซรั่ม ให้ความชุ่มชื้นอยู่ในระดับหนึ่ง มีเม็ดสีที่ช่วยกลบรอยคล้ำได้นิดนึงด้วย ส่วน Sisleÿa Eye and Lip Contour Cream มีเนื้อที่เข้มข้นและให้ความรู้สึกดีเมื่อทา ถ้ามีผิวแห้งมาก ๆ ก็น่าจะชอบ Sisleÿa ตัวนี้มากกว่า Olay ปูเป้ยังไม่มีปัญหาเรื่องริ้วรอย แต่จะกังวลเรื่องรอยคล้ำใต้ตาบ้างเวลาที่พักผ่อนน้อยหรือใช้สายตาอย่างหนัก ซึ่งผลิตภัณฑ์ทั้งสองตัวนี้ก็ไม่ได้ช่วยปัญหาเรื่องรอยคล้ำใต้ตาได้แม้แต่น้อย แต่วิธีที่แก้ปัญหาได้ผลจริงก็คือ "นอนให้พอ" "เลิกขยี้ตา" และ "ไม่เล่นคอมพิวเตอร์แบบ non-stop" กระผมจึงขอเลือก Olay ดีกว่า เพราะจ่ายเงินแพงเพิ่มอีก 10 เท่าก็ไม่เห็นผลอะไรที่แตกต่างชัดเจน ส่วนท่านผู้อ่านจะคิดเห็นอย่างไร จะให้ใครเป็นผู้ชนะก็ต้องตัดสินใจเลือกกันเองว่าจะเลือกเสียเงินอย่างคุ้มค่าจาก "ส่วนผสม" หรือซื้อสินค้าด้วยความรู้สึกที่ "แบรนด์" ให้คุณ เครื่องสำอางแบรนด์แพง ๆ ที่บางทีปูเป้ก็คิดว่ามันตั้งราคาได้ไร้ศีลธรรมน่าดู หลายตัวทีเดียวที่มีส่วนผสมธรรมดา ๆ พื้น ๆ บางตัวส่วนผสมสู้เครื่องสำอางราคาถูกไม่ได้เสียด้วยซ้ำ แต่ที่มันยังคงขายดิบขายดีมีคนแซ่ซ้องสรรเสริญก็เพราะมันเป็น แฟชั่น!!! มันเลิศ!!! มันหรู!!! ใช้แล้วไฮโซ!!! ดูมีรสนิยม!!! คงต้องยอมรับความจริง สังคมปัจจุบันเป็นสังคมของทุนนิยม ที่ตัดสินคุณค่าสิ่งของจากตัวเงิน เรื่องของแบรนด์มันเป็นเพียงแค่การตลาดเท่านั้นแหล่ะขอรับ ไม่ได้เป็นคุณค่าที่แท้จริงของสิ่ง ๆ นั้นแต่อย่างใด มือถือยี่ห้อ Vertu เครื่องละเป็นแสน มันก็ไม่ได้ดีไปกว่า Nokia ราคาหมื่นนิด ๆ เท่าไหร่ในแง่ของการใช้งาน ต่างกันแค่แบรนด์ไหนให้คุณค่าทางใจกันคุณได้มากกว่าเท่านั้นริ้วรอยเกิดขึ้นได้อย่างไร? การจะอธิบายเรื่อง "Anti-Aging" ที่ถูกวงการเครื่องสำอางสร้างความปั่นป่วนสับสนวุ่นวายจากคำโฆษณาเกินจริง คำอวดอ้างสวยหรู และการตลาดอันเข้มข้น จำเป็นต้องอธิบายเรื่องที่พื้นฐานที่สุดเสียก่อนขอรับ นั่นคือ "ปัจจัยการที่ก่อให้เกิดความเสื่อมชราและริ้วรอยเหี่ยวย่น" ปัจจัยที่ทำให้เกิดความเสื่อชราและริ้วรอยมาจาก 2 ปัจจัยหลัก ๆ นั่นคือ "ปัจจัยภายใน" และ "ปัจจัยภายนอก" ปัจจัยภายใน (Intrinsic Factors) ปัจจัยนี้เกิดขึ้นจากกระบวนการเสื่อมถอยตามธรรมชาติของร่างกาย (genetically induced) ทำให้เกิดเป็นริ้วรอยลึก ความหย่อนคล้อย ซึ่งกระผมเคยเกริ่นไว้บ้างแล้วในบทความก่อน ๆ แต่ก็จะขออธิบายซ้ำเผื่อท่านอื่น ๆ ที่ยังไม่ได้ดูนะขอรับ รวมถึงจะอธิบายเพิ่มด้วย โดยที่ยกมานี้เป็นตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจนนะขอรับ จริง ๆ มันมีมากกว่านี้อีก- การลดลงของเซลล์ไขมันใต้ผิวหนัง (Fat deplettion) จุดที่จะสังเกตุเห็นผลกระทบจากปัจจัยนี้ได้อย่างชัดเจนคือ บริเวณ แก้ม แนวกราม และคาง เมื่ออายุมากขึ้นเซลล์ไขมันที่เคยอุดมสมบูรณ์ทำให้ผิวหนังเต่งตึงก็จะหดหายไป ทำให้ผิวเหี่ยว หย่อนยานเหมือนกฏระเบียบบ้านเมืองเรา ซึ่งวิธีการเยียวยาแก้ไขนั้นมีเพียงการฉีดสารเพื่อเข้าไปเติมเต็มส่วนที่ลดลง อาธิเช่นการการเติมด้วยไขมันของตนเอง (LipoFil) หรือการฉีดด้วยสารเติมแต่งอื่น ๆ ที่รับรองแล้วว่าปลอดภัย (Derma Filler) ผู้ใดที่ยั่งหมายมั่นปั้นใจว่าถ้าใช้พวกลิฟท์ติ้งครีมยกกระชับผิวแล้วจะสามารถดึงหนังที่เดิมเคยอยู่บนแก้มทว่าบัดนี้ตกไปอยู่ตรงกรามให้กลับมาเต่งตึงดึ๋งดั๋งได้ดั่งเดิม คงฝันสลายตั้งแต่ยังไม่ได้เข้านอนด้วยซ้ำนะขอรับ- กรรมพันธุ์ (Genetic) มนุษย์เรามีโครงสร้างทางพันธุกรรมที่ต่างกัน ดังนั้นการที่คนนึงจะมะดูแก่เร็วกว่าอีกคนหนึ่ง ก็เป็นเรื่องกรรมพันธ์ ที่แก้ไขอะไรไม่ได้นะขอรับ ต้องยอมรับและทำใจ- อนุมูลอิสระ ( Free Radical ) ปูเป้ยกมาแบบนี้หลาย ๆ ท่านคงสงสัยว่าครีมสมัยนี้มีสารต้านอนุมูลอิสระตั้งมากมาย มันใช้ไม่ได้ผลหรืออย่างไรกัน? ครีมเหล่านั้นสามารถช่วยได้ครับ แต่เฉพาะอนุมูลอิสระที่มาจากปัจจัยภายนอกเท่านั้น ถึงแม้ว่าเราจะไม่ได้ไปล้มลุกคลุกฝุ่น ตากแดดหรือไปอบมลพิษในเมือง ร่างกายของเราก็มีการสร้างอนุมูลอิสระนี้ขึ้นมาอยู่แล้วนะขอรับ ภายในเซลล์ของเราจะมีแหล่งพลังงานที่เหมือนเครื่องกำเนิดไฟฟ้าที่เรียกว่า ไมโทคอนเดรียล (Mitochondrial) ซึ่งใช้สารอาหารและออกซิเจนในการผลิตพลังงานให้กับเซลล์ ของเสียที่ออกมาจากกระบวนการนี้ก็คืออนุมูลอิสระนั่นเอง นี่จึงเป็นเหตุผลว่าทำไมการรับประทานอาหารที่มีประโยชน์และมีสารต้านอนุมูลอิสระก็จำเป็นไม่แพ้การทาภายนอกเลย (จริงๆ มันสำคัญกว่าด้วยนะขอรับ แต่การทำควบคู่กันไปย่อมได้ผลดีที่สุดอย่างไม่ต้องสงสัย)- การเสื่อมของเซล์ (Cell Sentence) เมื่ออายุเรามากขึ้น เซลล์จะเสื่อมประสิทธิภาพในการสร้างและแบ่งตัวลงไปเรื่อย ๆ จนกระทั่งไม่สามารถแบ่งตัวเพื่อสร้างเซลล์ใหม่ได้ กระบวนการนี้เรียกว่า "Hayflick pheonomenon" ตั้งชื่อตาม Dr. Leonard Hayflick ผู้สามารถระบุกระบวนการนี้ได้เป็นคนแรกเมื่อปี คศ. 1956 กระผมเคยดูสารคดีทางช่อง NGC เขาอธิบายให้เห็นภาพไว้ง่าย ๆ ว่า กระบวนการนี้ก็เหมือนเขื่อนพลังน้ำที่ผลิตไฟฟ้าอยู่ตลอดเวลา แต่เมื่อเวลาผ่านไปก็เกิดรูรั่วขึ้นทำให้แรงน้ำที่จะมาผลิตกระแสไฟฟ้ามันลดลงเรื่อย ๆ จนกระทั่งน้ำก็รั่วไปตรงจุดอื่นหมดเขื่อนก็ไม่สามารถผลิตกระแสไฟฟ้าได้อีก ถ้าสามารถหาวิธีอุดรูรั่วนี้ได้ เซลล์ก็จะไม่มีวันเสื่อม คนเราจะไม่มีวันแก่และก็ไม่มีวันตาย มะเร็งที่ว่าร้ายก็รักษาง่ายเหมือนกดสิว แขนขาดขาขาดไปก็ทำให้งอกขึ้นมาใหม่ได้เหมือนจิ้งจกตุ๊กแกยังไงอย่างงั้นเลยปัจจัยภายนอก (Extrinsic Factors) ปัจจัยภายนอกนี่ปูเป้ว่าหลาย ๆ ท่านน่าจะรู้กันดีนะขอรับแต่ก็จะขออธิบายคร่าว ๆ เอาไว้เผื่อท่านที่เป็นมือใหม่หัดสวย หัดหล่อ ได้รู้ไว้สักเล็กน้อย- ความเสียหายจากแสงแดด (Sun Damage) รังสี UV ในแสงอาทิตย์เป็นต้นเหตุของความเสื่อมชราอันดับหนึ่งของผิว ปัยหาผิวที่พบได้ส่วนใหญ่มาจากรังสี UV ทั้งนั้น ไม่ว่าความเสียหายจากอนุมูลอิสระ ความเสียหายที่ลึกถึงในระดับเซลล์ผิว สีผิวไม่สม่ำเสมอ กระ ฝ้า จุดด่างดำ ผิวลอก ไหม้ แสบ แดง และร้ายแรงสุดก็มะเร็งผิวหนัง - มลภาวะ / สารพิษ (Polution / Toxic) การสัมผัสสิ่งเหล่านี้ทุกวันทำให้เกิดอนุมูลอิสระ และไปรบกวนการทำงานของผิว ทำให้ผิวอ่อนแอ เรื่องพวกนี้เป็นเบสิคพื้นฐานที่กระผมมั่นใจว่าใครๆ ก็รู้นะขอรับ เลยไม่ขออธิบายมากมาย จะเยิ่นเย้อเสียเปล่า ๆ(Sources: Gendler EC. Analysis and treatment of the aging face. Dermatol Clinic 1997;5:561-567.;Hantke B, Lahmann C, Venzke K, Fischer T, Kocourek A, Windsor LJ, et al. Influence of flavonoids and vitamins on the MMP- and TIMPexpression of human dermal fibroblasts after UVA irradiation. Photochem Photobiol Sci 2002;1:826-833.; Current Molecular Medicine, March 2005, pages 171-177; Cutis, February 2005, Supplemental, pages 5-8; Rejuvenation Research, Fall 2004, pages 175-185; Journal of Dermatology, August 2004, pages 603-609.; //www.encyclopedia.com.; //www.wikipedia.com.) เมื่อความจริงปรากฏ จากข้อมูลที่กระผมสรุปมาให้ทุกท่านได้ทราบกัน หลายท่านคงน่าจะเริ่มระลึกความเป็นจริงที่มักถูกมองข้าม(ถูกชี้นำให้มองข้าม)นี้ได้ไม่มากก็น้อยนะขอรับ ว่าความเป็นจริงแล้ว เครื่องสำอางที่อ้างว่าสามารถให้ผลได้เหมือนการทำทรีตเม้นท์โดยแพทย์ผิวหนังหรือทดแทนการศัลย์กรรมโดยไม่ต้องพึ่งมีดหมอ มัน... ไม่มีหรอกขอรับ... อย่างน้อยก็ในตอนนี้ถ้ามองโลกในแง่ดี (แบบดีมั่กม๊ากกก) แต่ใช่ว่าทั้งหมดนั้นจะเป็นข่าวร้ายเสียทีเดียว วงการเครื่องสำอางก็เปรียบเสมือน "กล่องแพนดอร่า" ขอรับ ที่แม้จะมีสิ่งเลวร้าย หลอกลวงมากมาย แต่สิ่งสุดท้ายที่ยังเหลือตกค้างในก้นกล่องคือ "ความหวัง" ที่เปล่งประกายเรืองรอง ความหวังที่ว่านี้คือ เครื่องสำอางสามารถให้ผลเป็น Anti-Aging ที่มีประสิทธิภาพแก่ทุกท่านได้ขอรับ ตราบใดที่ไม่คาดหวังผลลัพธ์จากมันซะโอเว่อร์เกินไป ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับการตีความหมายของคำว่า Anti-Aging ถ้าหากจะแปลว่า "ต่อต้านริ้วรอย" "ลบริ้วรอย " แบบว่าใช้แล้วจะสวยคงกระพันเป็นพันปีอันนี้คงจะไม่ไหว ปูเป้คิดว่าความหมายที่ดีที่สุดของมันคือ "ชะลอริ้วรอย" นะขอรับ เพราะกระผมว่าการที่เราบำรุงผิวกันอย่างหนักหน่วงทุกวันนี้ ก็เพื่อยืดเวลาให้ความเต่งตึงมันอยู่คู่กับเราให้นานที่สุด และชะลอให้ร้ิวรอยให้เกิดขึ้นช้าที่สุด วันนี้ปูเป้จะมาสับแหลกสาร Anti-Aging ที่บรรดาบริษัทเครื่องสำอางเอามากล่าวอ้างว่าให้ผลโคตรวิเศษให้ทุกท่านได้รู้กันว่า จริง ๆ แล้วมันเป็นอย่างไร อันไหนใช่้ได้จริง อันไหนเป็นแค่ราคาคุยMoisturizers อย่าพึ่งสับสนหรือแปลกใจไป มอยซ์เจอไรเซอร์ธรรมดาที่ไม่มีสารบำรุงนี่แหล่ะขอรับ ที่ช่วยลดเลือนริ้วรอยเล็ก ๆ ได้ เพราะว่าความชุ่มชื้นนั้นจำเป็นอย่างยิ่งต่อสภาพผิวโดยรวมของเรา เมื่อผิวสูญเสียความชุ่มชื้นก็จะเกิดเป็นริ้วรอยเล็ก ๆ สีผิวไม่สม่ำเสมอ หยาบกร้าน ในผิวหนังของเรามีส่วนประกอบของมอยซ์เจอไรเซอร์หลัก ๆ อยู่สองส่วน คือส่วนที่เป็น Lipid membrance เปรียบเสมอเกราะคุ้มกันไม่ให้ผิวสูญเสียน้ำ (Transepidermal water loss) อีกส่วนหนึ่งคือโมเลกุลที่ละลายน้ำได้ (Water-Solube) ที่เรียกว่า "Natural Moisturizing Factors" สารพวกนี้ทำหน้าที่ในการดึงและโอบอุ้มความชุ่มชื้นเอาไว้ในผิว การทำงานร่วมกันของสารทั้งสองประเภทนี้ทำให้ผิวของเราอ่อนนุ่ม อิ่มเอิบ และยืดหยุ่น ผลิตภัณฑ์มอยซ์เจอไรเซอร์ที่เราใช้กันอยู่ทั่วไปนั้นมีส่วนประกอบที่ทำหน้าที่หลัก ๆ ต่างกัน 3 ส่วนคือ Occlusives, Humectants, Emolients- Occlusives หรือสารเคลือบผิว สารพวกนี้ทำหน้าที่เคลือบผิวเพื่อป้องกันการสูญเสียน้ำ ตัวอย่างเช่น petroleum,lanolin, mineral oil, vegetable oil และ waxes รูปแบบต่าง ๆ- Humectants หรือสารที่ช่วยเพิ่มความชุ่มชื้นให้กับผิว สาร Natural Moisturizing Factors เช่น amino acids, ceramides, hyaluronic acid, cholesterol, fatty acids, triglycerides, phospholipids, glycosphingolipids, urea, linoleic acid, glycosaminoglycans, glycerin, mucopolysaccharide, sodium PCA ที่เป็น Humectants ตามธรรมชาติ สารอื่น ๆ ที่มีคุณสมบัติเป็น Humectants และเห็นได้บ่อยในส่วนผสมเครื่องสำอาง เช่น propylene glycol เป็นต้น- Emolients หรือสารทำให้ลื่นผิว สารพวกนี้ไม่มีคุณสมบัติในการเพิ่มความชุ่มชื้นให้กับผิวแต่จะไปเติมเต็มร่องหลุมบนผิวเพื่อให้พื้นผิวของเราเนียนเรียบขึ้น สารพวกนี้ก็ได้แก่พวกโพลิเมอร์และซิลิโคนทั้งหลาย นอกจากนี้สารหลาย ๆ ตัวก็มีคุณสมบัติเป็นทั้ง Occlusives และ Emolients ได้ในตัวเช่นกัน จากที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ มอยซ์เจอไรเซอร์เนื้อเข้มข้นที่ให้ความชุ่มชื้นสูงธรรมดา ๆ ราคาย่อมเยาก็สามารถช่วยให้ริ้วรอยจากความแห้งกร้านจางลงได้ขอรับ ไม่จำเป็นต้องไปทุปกระปุกหรือฮุบเงินกงสีเพื่อซื้อครีมสาหร่ายนาซ่าราคาแพงกระเป๋าฉีกมาใช้แต่อย่างใด (Source : Loden M. Role of topical emollients and moisturizers in the treatment of dry skin barrier disorders. Am J Clin Dermatol 2003;4:771-788.97. Kraft JN, Lynde CW. Moisturizers: what they are and a practical approach to product selection. Skin Therapy Lett 2005;10:1-8.; Glaser DA. Anti-aging products and cosmeceuticals. Facial Plat Surg Clin N Am 2003;11:219-227.99. Madison K.C. Barrier function of the skin: la raison detre of the epidermis. J Invest Dermatol 2003;121:231-241.; Glaser DA. Anti-aging products and cosmeceuticals. Facial Plast Surg Clin N Am 2004;12:363-372.; Loden M. The increase in skin hydration after application of emollients with different amounts of lipids. Acta Derm Venereol 1992;72:327-331.; //www.cosmeticscop.com.; en.wikipedia.org/wiki/Humectant) Retinoid / Vitamin A Retinoid เป็นชื่อเรียกรวม ๆ ของสารกลุ่มวิตามินเอ รูปแบบที่มีประสิทธิภาพที่สุดของวิตามินเอ คือ retinoic acid หรือ tretinoin (Retin-A, Renova) ซึ่งเป็นที่ยอมรับกันแล้วว่ามีประสิทธิภาพในการฟื้นฟูเซลล์ผิว ทำให้ริ้วรอยตื้น ๆ จางลง ลดเลือนสีผิวไม่สม่ำเสมอและจุดด่างดำ ทั้งมีช่วยปรับสภาพของรูขุมขนให้ทำงานได้เป็นปกติช่วยลดการเป็นสิวและอุดตันได้ ข้อเสียคือ ไม่ใช่ทุกคนสามารถใช้หรือทนกับตัวยานี้ได้ เพราะสามารถระคายเคืองได้ง่ายและมีผลข้างเคียงเยอะพอสมควร ปัจจุบันมีการนำ tretinoin มาพัฒนาเพื่อและลดผลข้างเคียงให้น้อยลง เช่น tazarotene (Tazorac) และ adapalene (Differin) เนื่องจากกรดวิตามินเอที่กล่าวมาทั้งหมดลงทะเบียนในรูปแบบของยา จึงไม่สามารถนำมาใส่ในเครื่องสำอางได้ ทางเลือกที่เหลือคือการเอาวิตามินเอที่อยู่ในรูปที่มีประสิทธิภาพน้อยกว่าและสามารถใส่ลงในเครื่องสำอางได้ นั่นคือ Retinol, Retinaldehyde และ Retinyl palmitate ซึ่งทางทฤษฏีแล้วจะเปลี่ยนไปเป็น retinoic acid เมื่อทาและซึมลงไปในผิว และปัจจุบันก็มีผลการวิจัยสนับสนุนในเรื่องนี้พอสมควร การทดลองทา Retinol 1% บนผิวของกลุ่มทดสอบอายุ 80 ปี เป็นเวลา 7 วัน ผลพบว่า retinol สามารถช่วยเสริมประสิทธิภาพ fibroblast ในการเร่งกระบวนการสร้าง collagen ได้ เมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มทดลองที่ไม่ได้ทาด้วย retinol (Reference : Varani J, Warner RL, Gharaee-Kermani M, Phan SH, Kang S, Chung JH, et al. Vitamin A antagonizes decreased cell growth and elevated collagen-degrading matrix metalloproteinase and stimulates collagen accumulation in naturally aged human skin. J Invest Dermatol 2000;114:480-486.) อีกการทดสอบหนึ่งใช้ Retinaldehyde 0.5% กับกลุ่มอาสาสมัครเป็นเวลา 18 สัปดาห์ และตรวจสอบด้วยวิธีการ Optical Profilometry พบว่ามีประสิทธิภาพในการลดเรือนริ้วรอยและความหยาบกร้านบริเวณตีนกา (Reference : Creidi P, Vienne MP, Ochonisky S, Lauze C, Turlier V, Lagarde JM, et al. Profilometric evaluation of photodamage after topical retinaldehyde and retinoic acid treatment. J Am Acad Dermatol 1998;39:960-965.) สำหรับ Retinyl palmitate ยังไม่มีการทดสอบมากพอที่จะสามารถสรุปหรือยืนยันเรื่องประสิทธิภาพได้เทียบเท่าอนุพันธ์ของวิตามินเอตัวอื่น แต่โดยรวมแล้วมีแนวโน้มไปในทางที่ดีสรุป คือ วิตามินเอที่ใส่ลงไปในเครื่องสำอางนั้นสามารถยืนยันและพิสูจน์ได้แล้วว่า มีคุณสมบัติเป็นทั้ง Antioxidant ที่ต่อต้านอนุมูลอิสระ เป็นทั้ง Cell Singaling Substance ที่ช่วยส่งสัญญาญให้เซลล์ทำงานได้ดีขึ้น และยังสามารถช่วยลดเลือนริ้วตื้น ๆ ได้อีกด้วย(Sources: Archives of Dermatology, May 2007, pages 606-612; Cosmetic Dermatology, supplement, Revisiting Retinol, January 2005, pages 1-20; Dermatologic Surgery, July 2005, pages 799-804; Plastic and Reconstructive Surgery, April 2005, pages 1156-1162; Mechanisms of Ageing Development, July 2004, pages 465-473; and Journal of Dermatology , November 2001, pages 595-598.) Vitamin B รูปแบบหนึ่งของวิตามินบีที่เป็นที่ใช้กันอย่างแพร่หลายคือ Vitamin B3 หรือ Niacinamide เป็นสารที่ช่วยให้เซลล์ทำงานทำงานได้เป็นอย่างเป็นปกติ (Cell Singnaling Substance) โดยช่วยกระตุ้นกระบวนการเมตาบอลิซึมของเซลล์ เสริมการสร้าง lipid ในชั้น stratum corneum และเพิ่มระดับ ceramide ในชั้นผิว epidermis ซึ่งช่วยลดการสูญเสียน้ำในเซลล์และเสริมชั้นเกราะป้องกันของผิว ดังนั้น Vitamin B3 จึงมีส่วนช่วยลดเลือนริ้วรอยจากความแห้งกร้านได้เช่นกัน ปัจจุบันมีการคิดค้นวิตามินบีในรูปแบบใหม่ที่มีชื่อว่า 2-dimethylaminoethanol (DMAE) ขึ้นมาใหม่ และการวิจัยล่าสุดเมื่อปี 2005 ทดสอบโดยใช้ 2-dimethylaminoethanol 3% ใน Gel base กับกลุ่มทดสอบเป็นเวลา 16 สัปดาห์ ผลทดสอบพบว่าสามารถช่วยลดเลือนริ้วรอยที่เห็นชัด (coarse wrinkles) รอยหมองคล้ำใต้ดวงตา และความหย่อยคล้อย อย่างไรก็ดี ยังต้องใช้การทดลองอีกมากเพื่อจะสามารถยืนยันประสิทธิภาพของ 2-dimethylaminoethanol ในการลดเลือนริ้วรอย (Reference : Grossman R. The role of dimethylaminoethanol in cosmetic dermatology. Am J Clin Dermatol 2005;6:39-47.) สรุป คือ Niacinamide สามารถช่วยลดเลือนริ้วรอยจากความแห้งกร้านได้ และเสริมประสิทธิภาพของผิวโดยรวม เมื่อใช้ในความเข้มข้น 2 - 5 % ขึ้นไป(Sources: British Journal of Dermatology, October 2003, page 681, and September 2000, pages 524-531; Journal of Cosmetic Dermatology, April 2004, page 88; Dermatologic Surgery, July 2005, pages 860-865; Experimental Dermatology, July 2005, pages 498-508; Journal of Radiation Research, December 2004, pages 491-495; and Journal of Dermatological Science , volume 31, 2003, pages 193-201.) Vitamin C วิตามินซี เป็นวิตามินที่ได้รับการวิจัยและทดสอบมากที่สุดชนิดนึง รูปแบบมาตรฐานของวิตามินซี คือ ascorbic acid ซึ่งไม่เสียรเอาเสียเลย จึงมีการพัฒนารูปแบบของวิตามินซีขึ้นให้เสถียรขึ้น ได้แก่ magnesium ascorbyl phosphate, L-ascorbic acid, tetrahexyldecyl ascorbate, ascorbyl palmitate, ascorbyl glucosamine, ascorbyl tetraisopalmitate โดย magnesium ascorbyl phosphate เป็นรูปที่เสถียรที่มีประสิทธิภาพมากที่สุด นอกจากประสิทธิภาพในการเป็นสาร Antioxidants ทรงประสิทธิภาพแล้ว การวิจัยมากมายยังสามารถยืนยันประสิทธิภาพของวิตามินซีในการเสริมประสิทธิภาพในการสังเคราะห์คอลาเจน (collagen I และ collagen III) เมื่อใช้ในความเข้มข้น 2 - 10% นอกจากนี้ยังช่วยเสริมประสิทธิภาพของเกราะปกป้องผิว ลดการอักเสบของผิว และมีคุณสมบัติเป็นไวท์เทนนิ่งอีกด้วย (ทดสอบด้วย magnesium ascorbyl phosphate 10 %)สรุป คือ เครื่องสำอางที่มีปริมาณวิตามินซีเข้มข้นเพียงพอ สามารถช่วยลดเลือนริ้วรอยเล็ก ๆ ได้ ปรับสภาพผิวโดยรวมและทำให้ผิวแข็งแรงขึ้น(Source : Fitzpatrick RE, Rostan EF. Double-blind, half-face study comparing topical Vitamin C and vehicle for rejuvenation of photodamage. Dermatol Surg 2002;28:231-236; Nusgens BV, Humbert P, Rougier A, Colige AC, Haftek M, Lambert CA, et al. Topically applied vitamin C enhances the mRNA level of collagens I and III, their processing enzymes and tissue inhibitor of matrix metalloproteinase I in the human dermis. J Invest Dermatol 2001;116:853-859.; Humbert PG, Haftek M, Creidi P, Lapiere C, Nusgens B, Richard A, et al. Topical ascorbic acid on photoaged skin. Clinical, topographical and ultrastructural evaluation: double-blind study vs placebo. Exp Dermatol 2003;12:237-244.) Vitamin E วิตามินอี เป็นสารแอนติออกซิแดนท์ที่ใช้กันอย่างแพร่หลาย และด้วยความที่มันเป็นวิตามินที่ละลายในน้ำมัน มันจึงมีประสิทธิภาพในการต่อต้านอนุมูลอิสระที่จะมาทำร้าย Lipid cell membrane ได้ ยังมีการทดสอบที่พิสูจน์แล้วด้วยว่าวิตามินซีจะเสริมประสิทธิภาพของวิตามินอี เมื่อใช้ควบคู่กัน นอกจากนี้วิตามินอียังเสริมประสิทธิภาพของสารกันแดดและป้ิองกันการสูญเสียน้ำของเซลล์อีกด้วย โดยรูปแบบที่มีประสิทธิภาพที่สุดของวิตามินอีคือ Alpha tocopherol สรุป คือ ถึงแม้วิตามินอีจะไม่มีประสิทธิภาพในการเป็น Anti-Aging โดยตรง แต่ก็มีประโยชน์โดยรวมในการทำให้ผิวแข็งแรงซึ่งเป็นพื้นฐานของการชะลอริ้วรอย(Sources: Dermatologic Therapy, September-October 2007, pages 314-321; International Journal of Immunopathology and Pharmacology, July-September 2005, pages 497-502; Experimental Dermatology, September 2005, pages 684-691; International Journal of Biological Macromolecules, July 2005, pages 116-119;) Alpha-Hydroxy Acids glycolic acids กับ lactic acids เป็นรูปแบบของ AHA ที่ใช้กันกว้างขวางที่สุด โดย glycolic acids นั้นมีประสิทธิภาพมากที่สุดเพราะมีโมเลกุลเล็กกว่า AHA แบบอื่น ๆ จึงซึมลงไปในผิวได้ดีกว่า AHA เป็นสารที่มีประโยชน์รอบด้าน คุณสมบัติที่เป็นที่รู้กันดีคือช่วยผลัดเซลล์ผิวเก่าที่ตายแล้วออกไป AHA ยังมีสามารถกระตุ้นกระบวนการผลิตเซลล์ผิวใหม่ให้เร็วขึ้น นอกจากนี้ glycolic acids กับ lactic acids ยังมีคุณสมบัติเป็น เป็นสารอุ้มน้ำหรือ water-binding Agent อีกด้วย และมีการทดสอบยืนยันอีกด้วยว่า AHA ในปริมาณ 5% ขึ้นไปสามารถช่วยกระตุ้นการสร้างคอลาเจนได้ โดยผลการทดสอบเทียบกันระหว่าง 5% AHA เทียบกับ 12% AHA พบว่าทั้งคู่ให้มีประสิทธิภาพในการในการปรับปรุงผิวชั้นนอกได้เหมือนกัน แต่ในระดับผิวที่ลึกกว่านั้น 12% AHA สามารถเพิ่มความหนาแน่นของคอลาเจนในผิวได้ดีกว่า(Reference : Berardesca E, Distante F, Vignoli GP, Oresajo C, Green B. Alphahydroxyacids modulate stratum corneum barrier function. Br J Dermatol 1997;137:934-938.) FDA กำหนดให้เครื่องสำอางมี AHA ได้มากสุดถึง 15% สำหรับความเข้มข้นที่ 16 - 40 % นั้นให้กระทำได้โดยผู้เชี่ยวชาญตามสถาบันเสริมความงาม สำหรับความเข้มข้นที่มากกว่า 40% ขึ้นไปจะต้องกระทำโดยแพทย์ผู้เชี่ยชาญเท่านั้น ค่า pH 3.5 - 4 นั้นเป็ช่วงที่ AHAs มีประสิทธิภาพในการผลัดเซลล์ผิวกำลังดี หากค่าต่ำกว่านี้ก็จะมีความเป็นกรดมากเกินไปจึงเพิ่มอันตราการระคายเคืองได้ หากค่ามากกว่านี้ ประสิทธิภาพในการผลัดเซลล์ผิวก็จะถูกจำกัดลดน้อยลงไปเรื่อย ๆ จนเมื่อค่า pH 4.5 - 6.5 หรือเป็นกลาง ประสิทธิภาพของ AHA ก็จะหมดไป ดังนั้นครีมบำรุงผิวที่มีส่วนผสมของ AHA จึงควรมีค่า pH ที่เหมาะสมจึงจะมีประสิทธิภาพในการผลัดเซลล์ผิวได้ ซึ่งส่วนใหญ่มักมีค่า pH ไม่ถูกต้อง ทั้งสูงเกินไป หรือต่ำเกินไป สำหรับการตรวจสอบค่า pH ของผลิตภัณฑ์นั้นกระทำได้โดยการใช้ กระดาษทดสอบค่า pH หรือกระดาษลิตมัส (litmus paper) นะขอรับสรุป แล้ว ผลิตภัณฑ์ AHA ที่มีค่า pH และความเข้มข้นที่เหมาะสม มีคุณสมบัติเป็น Anti-Aging ได้ขอรับ(Source : Van Scott E, Ditre CM, Yu RJ. Alpha-hydroxyacids in the treatment of signs of photoaging. Clin Dermatol 1996;14:217-226.; Plastic and Reconstructive Surgery, April 2005, pages 1156-1162; Skin Pharmacology and Applied Skin Physiology, May-June 1999, pages 111-119; Archives of Dermatologic Research, June 1997, pages 404-409; and Dermatologic Surgery, May 1998, pages 573-577) Peptide เปปไทด์เป็นโพลีเมอร์ของกรดอมิโนที่ต่อรวมกันเป็นสาย มีทั้งขนาดเล็กและใหญ่ โดยทำหน้าที่ต่างกันในส่วนต่างภายในร่างกาย เปปไทด์นั้นจำเป็นใจการทำให้เรามีสุขภาพดี คำกล่าวอ้างที่ว่าการทาเปปไทด์ลงไปบนผิวเพื่อช่วยในการเยียวยารักษาบาดแผลหรือเสริมสร้างเกราะป้ิงกันผิวให้แข็งแรงนั้นยังเป็นที่กังขากันอยู่มาก เนื่องจากโดยธรรมชาติของเปปไทด์นั้นเป็นสาร hydrophilic หรือเป็นสารที่ "ชอบน้ำ" มันจึงไม่สามารถซึมลงในผิวซึ่งมีชั้นต่างๆ ที่เป็นน้ำมันได้ อย่างไรก็ดี ได้มีการดัดแปลงให้เปปไทด์มีความเป็น lipophilic เพื่อให้สามารถซึมลงไปบนผิวได้ด้วยการเชื่อมโมเลกุลของเปปไทด์เข้ากับ palmitic acid และได้มีการจดสิทธิบัตรในชื่อ Palmitoyl-lysine-threonine-threonine-lysine-serine หรือ Palmitoyl Pentapeptide-3 โดยสารตัวนี้เป็นที่สนใจอย่างมากในวงการเครื่องสำอาง Palmitoyl Pentapeptide-3 ถูกนำเสนอใน World Congress of Dermatology ครั้งที่ 20 เมื่อปี 2002 โดยระบุผลการทดสอบ 2 ชิ้น ผลการทดลองชิ้นที่ 1 ได้ทำการเปรียบเทียบประสิทธิภาพของครีมที่มีส่วนผสมของ Palmitoyl Pentapeptide-3, 100-ppm กับครีมที่มีส่วนผสมของครีมที่มี 5% Vitamin C ทดลองกับคน 10 คนเป็นเวลา 6 เดือน ผลออกมาว่า Palmitoyl Pentapeptide-3 มีประสิทธิภาพดีกว่าวิตามินซีในการลดเลือนริ้วรอย ผลการทดลองชิ้นที่ 2 ได้ทำการเปรียบเทียบประสิทธิภาพของครีมที่มีส่วนผสมของ Palmitoyl Pentapeptide-3, 100-ppm กับครีมที่มีส่วนผสมของครีมที่มี 0.07% Retinol โดยการเปรียบเทียบช่วงเดือนที่สองของการทดลอง Palmitoyl Pentapeptide-3 มีประสิทธิภาพมากกว่า ในการลดเลือนริ้วรอย แต่เมื่อตรวจสอบผลการทดลองของเดือนที่ 4 ปรากฏว่า Retinol มีประสิทธิภาพดีกว่าในทุก ๆ ด้าน(Reference :Lintner K. Cosmetic or dermopharmaceutical use of peptides for healing, hydrating and improving skin appearances during natural or induced ageing (heliodermia, pollution). US Patent 6620419, 2003.) อย่างไรก็ผลการทดสอบนี้ถูกเผยแพร่ในลักษณะของเอกสารประกอบการประชุม (Conference Paper) ซึ่งเทียบไม่ได้กับการการวิจัยเพื่อตีพิมพ์ลงในวารสารทางการแพทย์ (Medical journal) ซึ่งมีมาตรฐานและมีความน่าเชื่อถือมากกว่า สารอีกตัวนึงคือ acetyl hexapeptide-8 ที่ผลิตโดย Centerchem (www.centerchem.com) ที่มีจุดขายเป็นสารทดแทน Botox อีกเช่นกัน ทว่ามีผลการทดสอบมีเพียงเอกสารของบริษัทผู้ผลิตเท่านั้น จึงไม่สามารถเชื่อถือหรือยืนยันประสิทธิภาพได้แต่อย่างใดสรุป คือ Palmitoyl Pentapeptide-3 อาจจะมีคุณสมบัติเป็น Anti-Aging ได้ แต่คงจะต้องมีการทดสอบมากกว่านี้ในอนาคตเพื่อยืนยันประสิทธิภาพ สำหรับ acetyl hexapeptide-8 ที่อ้างว่าสามารถทดแทน Botox นั้นก็ไม่สามารถหาข้อมูลที่น่าเชื่อถือมาพิสูจน์ได้ ผู้ที่ใช้ครีมที่อวดอ้างว่าใช้แทน botox ได้เหล่านี้สุดท้ายก็ยังคงต้องให้หมอเอาเข็มจิ้มอยู่ดีแหล่ะขอรับSeaweed / Algae Extract สาหร่ายมีมากมายกว่า 20,000 ชนิด (เท่าที่คนค้นพบ) โดยส่วนใหญ่แล้วจะมีคุณสมบัติในการเป็น ตัวทำให้ส่วนผสมข้นขึ้น (thickening agents), เป็นตัวช่วยอุ้มน้ำ (water-binding agents) และเป็นสารแอนติออกซิแดนท์ สาหร่ายบางชนิดอย่างเช่นสาหร่ายสีน้ำเงินแกมเขียว ก็มีคุณสมบัติในการต้านอาการระคายเคืองเพิ่มขึ้นมา สารอาหารหลัก ๆ ที่สาหร่ายมีก็ประกอบไปด้วย คาราจีแนน โปรตีน วิตามิน น้ำตาล แป้ง เหล็ก เกลือ ฟอซฟอรัส แมกนีเซียม แคลเซียม และ สังกะสี ซึ่งทำหน้าที่เป็นสารแอนติออกซิแดนท์และมอยซเจอไรเซอร์ จากความพยายามค้นหาเอกสารการวิจัยเพื่อพิสูจน์ว่าสารสกัดจากสาหร่ายมีคุณสมบัติในการลดเลือนริ้วรอยหรือไม่นั้น ผลคือไม่มีเอกสารทางการแพทย์ที่สามารถยืนยันได้คำกล่าวอ้างนี้ได้แต่อย่างใด สรุป คือ ไม่มีผลการทดสอบใด ๆ ที่ยืนยันได้ว่าสารสกัดจากสาหร่ายมีคุณสมบัติเป็น Anti-Aging คุณสมบัติที่น่าพึ่งพอใจที่สุดคือเป็นสาร Antioxidant ที่ช่วยลดความเสียหายจากรังสี UV ได้ (Source: Bulteau AL, Moreau M, Saunois A, Nizard C, Friguet B. Algae extractmediated stimulation and protection of proteasome activity within human keratinocytes exposed to UVA and UVB irradiation. Antioxidant Redox Signaling 2006;8(1-2):136-143.; Lyons NM, OBrien NM. Modulatory effects of an algal extract containing astaxanthin on UVA-irradiated cells in culture. J Dermatol Sci 2002;30:73-84.;Current Issues in Molecular Biology, January 2002, pages 111; Journal of Agricultural Food Chemistry, February 2002, pages 840845) Coenzyme Q10 / CoQ10 ชื่ออย่างเป็นทางการคือ ubiquinone เป็นสารตามธรรมชาติที่พบได้ในผิวของคนเรา มีลักษณะเป็น lipophilic คือละลายในน้ำมันได้ มีหน้าที่เป็นตัวช่วยในทำงานของเอ็มไซม์ในร่างกาย CoQ10 นั้นทำงานร่วมกับ ไมโทคอนเดรียล (Mitochondrial) ในการผลิตพลังงานให้กับเซลล์ นอกจากนี้ CoQ10 ยังเป็นสารแอนติออกซิแดนท์ตามธรรมชาติโดยการทำการสละอิเลคตรอนเพื่อทำลายอนุมูลอิสระ (donate electrons and neutralize the Reactive Oxygen Species) และเมื่อคนเราอายุมากขึ้นร่างกายจะสามารถสร้าง CoQ10 จะลดน้อยลงทำให้กระบวนการผลิตพลังงานของเซลล์ก็เสื่อมถอยตามลงไป ปัจจุบันจึงมีการนำ ubiquinone และ Idebenone ( Idebenone เป็นสารที่สังเคราะห์ขึ้นเพื่อมาเลียนแบบการทำงานของ CoQ10) มาใส่ลงไปในครีม Anti-Aging และอ้างว่าสามารถเพิ่มปริมาณ CoQ10 ในผิวได้ แต่ผลจากการทดสอบพบว่า การทา ubiquinone และ Idebenoneไม่สามารถเพิ่มปริมาณ Coenzyme Q10 ในร่างกายได้แต่อย่างใด และสำหรับการทา ubiquinone และ Idebenone เพื่อลดริ้วรอยก็ไม่มีการทดสอบกับมนุษย์อีกด้วย มีเพียงการทดลองที่ใช้ 1% ubiquinone และ 1% Idebenone ทาลงบนผิวของสุกรเป็นเวลา 4 วัน และไม่พบความเปลี่ยนแปลงสรุป คือ การทา Coenzyme Q10 บนผิวไม่สามารถเพิ่มปริมาณ Coenzyme Q10 ในร่างกายได้ คำกล่าวอ้างว่าสามารถช่วยให้ผิวกลับมาเต็มเปี่ยมไปด้วยพลังในการต่อต้านริ้วรอยนั้นจึงแค่คำโฆษณาเท่านั้น อย่างไรก็ดี Coenzyme Q10 เมื่อทาลงบนผิวอาจจะมีคุณสมบัติเป็นสาร Antioxidant ได้บ้างขอรับ(Sources: Tournas JA, Lin FH, Burch JA, Selim MA, Monteiro-Riviere NA, Zielinski JE, et al. Ubiquinone, idebenone, and kinetin provide ineffective photoprotection to skin when compared to a topical antioxidant combination of Vitamins C and E with ferulic acid. J Invest Dermatol 2006;126:1185-1187.; Biofactors, September 1999, pages 371378; Zeitschrift für Gerontologie und Geriatrie, April 1999, pages 8388) Kinetin Kinetin เป็นฮอร์โมนที่เกี่ยวของกับการเจริญเติบโตของพีช มีชื่อทางเทคนิคว่า N6-furfuryladenine ผลการทดสอบในหลอดแก้ว ( In vitro) พบว่า เมื่อใส่ N6-furfuryladenine ลงไป เซลล์จะเสื่อมช้าลง นอกจากนั้นก็เป็นการทดสอบกับ สุกร และกับ สุนัขไร้ขน (hairless dog) ซึ่งให้ผลไม่เป็นที่ชัดเจน ยังไม่มีใครเข้าใจว่าในทางปฏิบัติแล้วว่า Kinetin ถูกเซลล์นำไปใช้งานได้อย่างไร และยังไม่มีผลการทดสอบใด ๆ กับมนุษย์เพื่อรับรองประสิทธิภาพ สรุปคือ Kinetin ยังไม่มีความน่าเชื่อถือในการเป็นสาร Anti-Aging และคุณสมบัติอื่น ๆ ในการทาลงบนผิวโดยตรงก็ยังไม่มีทำการพิสูจน์ได้ คงต้องรอให้มีการทดสอบยืนยันมากกว่านี้ในอนาคต(Source: Dermatologic Clinics, October 2000, pages 609-615.; Kimura T, Doi K. Depigmentation and rejuvenation effects of kinetin on the aged skin of hairless descendants of Mexican hairless dogs. Rejuvenation Res 2004;7:32-39.) ทิ้งท้าย... การป้ิองกันและชะลอริ้วรอยที่ดีที่สุดคือการปกป้องผิวจากแสงแดด ครีมกันแดดที่มีค่า SPF 15 ขึ้นไป ที่สามารถกันได้ทั้ง UVA/UVB จึงเป็นครีม Anti-Aging ที่ทรงประสิทธิภาพที่สุด และของถูกก็ให้ผลได้ไม่ต่างกับของแพง และการใช้ครีมที่มีส่วนผสมดีเลิศมากมายก็คงเสียเปล่าถ้าคุณไม่ได้ปกป้องผิวจากแสงแดด ที่เครื่องสำอาง Anti-Aging ยังคงขายได้แม้ว่าราคามันจะแพงมหาศาลรวมไปถึงการโฆษณาเกินจริง ที่ใช้ทั้งสารพัดยุทธวิธีทางการตลาดและภาพลักษณ์เข้าล่อลวงโดยใช้ความปรารถนาและความหวังของผู้คนที่เชื่อมั่นเป็นเหยื่ออันโอชะ ให้ผู้บริโภคคล้อยตาม การที่จะได้ผลลัพธ์ที่ดีและคุ้มค่าที่สุดจากผลิตภัณฑ์เหล่านี้ คงต้องดูจากแก่นของมันแล้ววิเคราะห์จากความเป็นจริง มากกว่าจะมองเพียงผิวภายนอกและคำโฆษณา... ปูเป้คิดอยู่เสมอว่า การที่บริษัทเครื่องสำอางหลายบริษัทยังออกผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมธรรมดา ๆ และขายในราคาที่แพงมหาศาลได้อยู่ทุกวันนี้ ก็เพราะว่าถึงมันจะเป็นอย่างนั้น ยอดซื้อก็ยังคงถล่มทลาย เพราะผู้บริโภคส่วนใหญ่มักถูกล่อลวงด้วยคำโฆษณาสวยหรู มีนิตยสารแฟชั่นคอยเป่าหู และมีผู้ให้ข้อมูลผิด ๆ สร้างความสับสนมากมาย สิ่งเหล่านี้กระผมเห็นว่ามันทำให้วงการเครื่องสำอางมันไม่ค่อยพัฒนาไปมากเท่าไหร่ หากผู้บริโภคได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง และไม่เป็นหลงเป็นเหยื่อของการตลาดกันอย่างที่เป็นอยู่กันทุกวันนี้ บริษัทเครื่องสำอางคงไม่สามารถนำสินค้าห่วย ๆ มาขายได้อย่างแน่นอน และผลคือเครื่องสำอางจะต้องถูกยกเครื่องส่วนผสมและปรับปรุงให้มีประสิทธิภาพดีจริง ๆ เสียที แต่ก็ได้แค่คิดนะขอรับ ตัวกระผมว่ามันเป็นไปไม่ได้หรอก... เพราะมันมีเรื่องของ "แฟชั่น" เข้ามาเกี่ยวด้วยเสียแล้วสิ... ปล. ปูเป้คงเข็ดกับการแปลวารสารทางการแพทย์ไปอีกนานเลยขอรับ เข้าใจย๊ากยาก
Create Date : 23 พฤษภาคม 2551
Last Update : 1 กรกฎาคม 2552 15:50:52 น.
41 comments
Counter : 13537 Pageviews.