"ความรู้" คู่ "ความงาม"
Group Blog
 
 
เมษายน 2558
 
 1234
567891011
12131415161718
19202122232425
2627282930 
 
12 เมษายน 2558
 
All Blogs
 
[Skincare Basics Special] Understanding SPF in Your Sunscreen


แม้ว่าดวงอาทิตย์จะเป็นแหล่งหลังงานที่สำคัญต่อสิ่งมีชีวิตบนโลกของเรา แต่การเผชิญรังสี UV จากดวงอาทิตย์ที่มากเกินไปจะก่อให้เกิดผลเสียกับผิว โดยเฉพาะอย่างยิ่งในคที่ชั้นบรรยากาศที่ช่วยกรองรังสีอันตรายเหล่านี้เริ่มร่อยหรอลง ซึ่งกว่า 80% ของปัญหาผิวอย่างริ้วรอย ดูแก่ก่อนวัย ความหยาบกกร้าน จุดด่างดำ สีผิวไม่สม่ำเสมอ มาจากสัมผัสกับรังสี UV และสะสมมากขึ้นเรื่อย ๆ 



 photo Apply Sunscreen.png


วิธีหนึ่งที่มนุษย์เราพัฒนาขึ้นเพื่อปกป้องผิวที่เราหวงแหนจากรังสี UV คือยากันแดด หรือ Sunscreen นั่นเอง แต่ในขณะที่มีการใช้ยากันแดดกันอย่างแพร่หลายในปัจจุบัน แต่ผู้บริโภคยังคงมีความสับสนเกี่ยวความหมายของค่า SPF และประสิทธิภาพในการป้องกันผิวจากรังสี UV ของผลิตภัณฑ์ นอกจากนี้ยังใช้ยากันในแดดในปริมาณที่น้อยกว่าปริมาณที่แนะนำ ซึ่งส่งผลต่อประสิทธิภาพในการป้องกันรังสี UV ที่ลดลง ซึ่งจะลดลงแค่ไหนนั้นก็มีข้อมูลที่ขัดแย้งกันและมีปัจจัยมากมายที่เกี่ยวข้อง ซึ่งปูเป้ได้รวบรวมมาทำเป็นบทความให้ในวันนี้



แต่ก่อนอื่นขอแนะนำคำศัพท์ที่ควรรู้เอาไว้อย่างคร่าว ๆ นะฮับ

- Fitzpatrick Skin Type : การจำแนกสีผิวเป็น 6 ประเภทตามการตอบสนองต่อแสงแดด ผิวขาวมากคือ Type I ไล่ไปจนถึงผิวเข้มมากเป็น Type VI

- Erythema: อาการแดงของผิว

- MED (Minimal Erythema Dose) : ปริมาณของรังสี UV ต่ำสุดที่ทำให้เกิดอาการแดงของผิว

- Exponential : ในเชิงสถิติหมายถึงการเปลี่ยนแปลงในลักษณะเป็นเส้นโค้ง

- Linear : ในเชิงสถิติหมายการเปลี่ยนแปลงที่มีลักษณะเป็นเส้นแนวตรง

 photo SPF.png


ค่า SPF คืออะไร?



SPF ย่อมาจาก Sun Protection Factor ซึ่งเป็นค่าที่บ่งบอกว่าผลิตภัณฑ์ตัวนั้นมีประสิทธิภาพในการป้องกันรังสี UVB ในระดับไหน 



รังสี UVB ทำให้เกิดอาการ Burn หรือไหม้ และผิวแดง (Erythema) ซึ่งผิวแต่ละประเภทก็มีระยะเวลาไม่เท่ากันหลังจากตากแดดแล้วจะมีอาการแดงเกิดขึ้น ผิวที่ขาวมาก มีเมลานินน้อย (Fitzpatrick Skin Type I - II)ก็อาจจะมีอาการไหม้แดงหลังจากสัมผัสรังสี UV ในเวลาเพียง 10 - 15 แต่ในรายที่มีผิวสีเบจถึงผิวสีน้ำผึ้ง (Fitzpatrick Skin Type III - V) มีปริมาณเม็ดสีเมลานินที่คอยดูดซับรังสี UV มากกว่าก็จะใช้เวลานานขึ้น อาจจะ 20 - 30 นาทีก่อนจะเริ่มมีอาการไหม้แดง ส่วนผิวที่เข้มมากจนอย่างคนแอฟริกัน (Fitzpatrick Skin Type VI) อาจจะไม่เกิดอาการไหม้ใด ๆ เลย


ลองดูว่าคุณมี Skin Type แบบใดตามมาตรฐานของ Fitzpatrick คลิกที่นี่.



ตามทฤษฏีแล้ว ค่า SPF15 จะช่วยให้ผิวทนต่อรังสี UVB ได้นานกว่าปกติ 15 เท่า ก่อนที่จะเกิดอาการ Burn ซึ่งถ้าคิดง่าย ๆ สมมุติว่าผิวเราเริ่มมีอาการแดงหลังจากตากแดดไป 20 นาทีก็แปลว่า SPF 15 จะช่วยให้ผิวเราทนต่ออาการไหม้แดงได้นานถึง 300 นาที หรือ 5 ชั่วโมง

แต่ว่าในทางปฏิบัตินั้นไม่เหมือนกับทฤษฏี เราไม่มีทางที่จะระบุระยะเวลาที่แนอนได้ว่ากันแดด SPF 15 จะกันแดดได้ 5 ชั่วโมง ด้วยตัวแปรหลายประการ

 photo UVB Latitude.png


ประการแรกคือค่าความเข้มข้นของรังสี UV นั้นผันแปรไปตามตำแหน่งที่ตั้งทางภูมิประเทศตามแนวละติจูด และความสูงของพื้นดินเมื่อเทียบกับระดับน้ำทะเลก็มีผลด้วยเช่นกัน ยิ่งสูงจากระดับน้ำทะเลมากขึ้นเท่าไหร่ก็จะยิ่งมีความเข้มข้นของรังสี UV มากขึ้นตามไปด้วย


 photo UVB Time of Day.png


นอกจากนี้ความเข้มข้นของรังสี UVB นั้นมีมากน้อยไม่เท่ากันในแต่ละช่วงเวลา จะเข้มข้นสูงสุดในช่วงเที่ยงและบ่าย และเข้มข้นน้อยในช่วงเช้าและตกเย็น ไม่นับเรื่องสภาพอากาศ เช่นเมฆมากฟ้าครึ้มก็จะทำให้มีรังสี UVB น้อยลง



จะเห็นได้ว่าปริมาณรังสีที่เราได้รับนั้นแปรผันไปตามตัวแปรที่ยกตัวอย่างมา ผิวเราจะไหม้แดดได้ง่ายกว่าเมื่ออยู่ในพื้นที่สูงหรือออกไปตากแดดในช่วงเที่ยงวันหรืออยู่ในเขตใกล้เส้นศูนย์สูตร รวมไปถึงสีผิวของเราก็ทำให้เราทนต่อรังสี UV ได้ไม่เท่ากัน คนผิวเข้มจะไหม้แดดยากกว่าคนผิวสีอ่อน ซึ่งทั้งหมดส่งผลต่อระยะเวลาที่กันแดดสามารถปกป้องผิวของเราได้


ดังนั้นในทางวิทยาศาสตร์แล้วเราจะไม่ใช้ระยะเวลาเป็นหน่วยในการวัด แต่จะใช้ MED (Minimal Erythema Dose) ซึ่งเป็นการวัดปริมาณของรังสีต่ำสุดที่ทำให้เกิดอาการแดงของผิว และใช้เครื่องฉายรังสี UV เพื่อควบคุมตัวแปรเรื่องความไม่แน่นอนของปริมาณรังสีจากดวงอาทิตย์

(Source : sunscreen’s labeled sun protection factor may overestimate protection at temperate latitudes: a human in vivo study.)


ค่า SPF บนผลิตภัณฑ์ได้มาอย่างไร?

ค่า SPF ถูกวัดขึ้นด้วยมาตรฐานเดียวกันทั่วโลก โดยทดสอบกับคนที่มีผิว Type I, II หรือ III นำมาทาผลิตภัณฑ์กันแดดที่จะทำการทดสอบในปริมาณ 2 มิลลิกรัม ต่อ 1 ตารางเซนติเมตร (2 mg/cm2) ลงบนบริเวณพื้นที่ ๆ มีความเรียบตรงช่วงส่วนกลางของหลังไปจนถึงแนวบั้นเอว ซึ่งต้องไม่มีความผิดปกติของสีผิว และต้องหลีกเลี่ยงบริเวณที่เป็นร่องกลางหลังหรือส่วนนูนจากแนวสันกระดูกอันจะมีผลต่อความคลาดเคลื่อนในการวัดผล

 photo SPF Test.png


การทาผลิตภัณฑ์จะทาโดยใช้น้ำหนักเบาด้วยนิ้วที่สวมถุงมือเอาไว้ ระยะเวลาในการเกลี่ยผลิตภัณฑ์อยู่ที่ 20 วินาที และจะถูกทิ้งเอไว้ให้แห้งเป็นระยะเวลา 15 - 30 นาทีก่อนที่จุดที่ทำการทดสอบจะถูกฉายรังสี UV ด้วย Solar Simulator ตามมาตรฐานที่กำหนดไว้ โดยกรองคลื่นไว้ในช่วง 290 - 400 นาโนเมตร ซึ่งเป็นช่วงของรังสี UVB-UVA 



ค่า SPF จะถูกวัดโดยเทียบหาค่ากลางที่ได้จากผลทดสอบ 10 - 20 ราย โดยค่าที่ได้จากมาจากระยะเวลา (หน่วยวินาที) ที่เกิด MED บนจุดที่ได้รับการปกป้องจากยากันแดด(MEDp) มาหารด้วย MED ที่ไม่ได้รับการปกป้องใด ๆ เลย (MEDu)


นี่เป็นขั้นตอนคร่าว ๆ ของการทดสอบค่า SPF ซึ่งต้องใช้เครื่องมือเฉพาะตามมารฐานที่กำหนดไว้และผู้ตรวจสอบที่ได้รับการฝึกอบรมมาเป็นอย่างดี


แต่สรุปง่าย ๆ ว่า หากเราต้องทาได้ค่า SPF ตามที่ระบุเอาไว้บนฉลาก เราจะต้องใช้ผลิตภัณฑ์ในปริมาณ 2มิลลกรั่ม ต่อ 1 ตารางเซนติเมตร หรือปรมาณ 1.5 มิลิลิตร ในการทาใบหน้าในแต่ละครั้ง (คิดจากค่าเฉลี่ยขอพื้นที่ใบหน้า ใครหน้าใหญ่ก็ทาเยอะขึ้นนะจ๊ะ) ซึ่งปริมาณก็เท่ากับมากกว่า 1/4 ช้อนชาอยู่นิดหน่อย (1/4 ช้อนชา = 1.25 มิลิลลิตร)



การทาในปริมาณที่น้อยกว่านั้นจะทำให้ได้ค่า SPF ที่น้อยลง ส่วนจะน้อยลงขนาดไหนนั้นก็มีข้อมูลที่แย้งกันเอง ซึ่งจะอธิบายในส่วนต่อไป (แต่มันน้อยลงแน่ๆ ล่ะ) นอกจากนี้ระบบการทดสอบค่า SPF ยังมีข้อบกพร่องที่ปัจจุบันเริ่มมีการพูดถึงกันมากขึ้นซึ่งจะอธิบายต่อไปในบทความนี้





(Source : INTERNATIONAL SUN PROTECTION FACTOR (SPF) TEST METHOD )


เราทากันแดดในปริมาณที่มากพอหรือไม่?




จากการศึกษาที่ผ่านมาทั้งหมดพูดไปในทางเดียวกันว่าผู้บริโภคใช้กันแดดในปริมาณที่น้อยกว่าที่กำหนดมากทีเดียว โดยปริมาณที่เราใชกันในแต่ละวันเฉลี่ยอยู่ที่เพียง 0.5 mg/cm2 - 1.0 mg/cm2 เท่านั้น ซึ่งเท่ากับปริมาณเพียง 1/4 ถึง 1/2 ของปริมาณที่แนะนำ

(Source : Sunscreens used at the beach do not protect against erythema: a new definition of SPF is proposed.
, Sunscreen application by photosensitive patients is inadequate for protection., Application of sunscreen--theory and reality.)

ความสัมพันธ์ของปริมาณกันแดดที่ทา กับค่า SPF ที่ได้

การทากันแดดในปริมาณที่น้อยกว่าที่แนะนำนั้นจะส่งผลให้ค่า SPF ที่ได้จริงๆ นั้นลดลง ซึ่งจะลดเท่าไหร่นั้นในทางทฤษฏีแล้วค่า SPF น่าจะสัมพันธ์กับปริมาณที่ทาในแนวระนาบ (Linear) แต่ในทางปฏิบัตินั้นพบว่ามีข้อมูลบ่งชี้ถึง 3 แบบ ซึ่งได้แก่



- Exponential กล่าวคือ ค่า SPF มีความสัมพันธ์กับปริมาณที่ทาในแนวโค้ง (ทากันแดด SPF 50 ปริมาณ 2mg / 1cm2 ได้ SPF 50 แต่เมื่อทาเหลือครึ่งหนึ่ง หรือ 1mg / 1cm2 อาจจะได้ค่า SPF แค่ 10 หรือ 15 เป็นต้น)



- Linear กล่าวคือ ค่า SPF มีความสัมพันธ์กับปริมาณที่ทาในแนวราบ (ทากันแดด SPF 50 ปริมาณ 2mg / 1cm2 ได้ SPF 50 แต่เมื่อทาเหลือครึ่งหนึ่ง หรือ 1mg / 1cm2 อาจจะได้ค่า SPF ประมาณ 30)


- Both Linear & Exponential กล่าวคือ ค่า SPF ที่มีความสัมพันธ์กับปริมาณที่ทาได้ทั้งในแนวราบและเส้นโคง ขึ้นอยู่กับระดับของค่า SPF ของผลิตภัณฑ์


1. Exponential

ผลการศึกษาค่าเกี่ยวกับความสัมพันธ์ของปริมาณกันแดดที่ทากับค่า SPF ที่ได้นั้นส่วนใหญ่จะได้ผลออกมาแบบนี้ ยกตัวอย่างการศึกษาในรุ่นใหม่ ๆที่พึ่งตีพิมพ์มาในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ได้แก่



 photo Eponential 01.png


การศึกษากันแดด SPF4 กับอาสาสมัครตำนวน 20 คน ตีพิมพ์ในปี 2006 จากประเทศเดนมาร์ค ได้ผลเป็นกราฟ Exponential แบบโค้งขึ้น

(Source : 

Relationship between sun-protection factor and application thickness in high-performance sunscreen: double application of sunscreen is recommended.)

 photo Exponential 03.png


การศึกษากันแดด SPF15 และ SPF30 กับอาสาสมัคร 40 คน จากประเทศบราซิลที่ตีพิมพ์ในปี 2009 นั้นได้ผลแบบ Exponential แบบโค้งขึ้น

(Source : The influence of the amount of sunscreen applied and its sun protection factor (SPF): evaluation of two sunscreens including the same ingredients at different concentrations.)

 photo Eponential 02.png


การศึกษากันแดดสองชนิด SPF 30 และ 35 ด้วยสมัครจำนวน 15 คน ในประเทสเกาหลี ตีพิมพ์ในปี 2009 ก็ให้ผลแบบ Exponential แบบโค้งขึ้นเช่นกัน

(Source : The relation between the amount of sunscreen applied and the sun protection factor in Asian skin.)

 photo Exponential 04.png


การศึกษาครีมกันแดด SPF50 กับอาสาสมัครชาวญี่ปุ่น 23 คน ให้ผล ให้ผลแบบ Exponential แต่เป็นแบบคว่ำลงแทน 

การทดสอบนี้น่าสนใจเพราะถึงแม้ผลสรุปจะออกเป็นแบบ Exponential แต่เทรนด์ของดราฟเริ่มขัดแย้งกับข้อมูลที่เคยมีมาก่อน แต่จุดด้อยของการศึกษานี้คือมีการวัดค่าที่ปริมาณในการทาเพียง 3 ระดับ (0.5 / 1.0 และ 2.0 มิลลิกรัม ต่อตารางเซนติเมตร) ซึ่งต่างกับการศึกษาที่ยกมาก่อนหน้าที่ทดสอบกันที่ 4 ระดับ (0.5 / 1.0 / 1.5 และ 2.0 มิลลิกรัม ต่อตารางเซนติเมตร) และการศึกษานี้สนับสนุนโดยบริษัท KOSÉ

(Source : Relationship between sun-protection factor and application thickness in high-performance sunscreen: double application of sunscreen is recommended.)


2. Linear



มีผลการศึกษา 2 อันที่ให้ผลออกมาในลักษณะนี้






 photo Linear 01.png


การศึกษาที่ตีพิมพ์ในปี 2007 จัดขึ้นโดย DGK ซึ่งเป็นสมาคมของนักวิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษาและพัฒนาด้านเครื่องสำอางของเยอรมัน ได้มีการทดสอบครีมกันแดดที่มีขายในท้องตลาด 3 ชนิด จาก 2 แบรนด์ ค่า SPF 20 กับ 20 และ 25 มาทดสอบด้วยห้องแลป 3 แห่ง โดยในแต่การทดสอบจะมีอาสาสมัครไม่ต่ำกว่า 10 คน ผลที่ได้มีแนวโน้มของกราฟแบบ Linear

จุดแข็งของการศึกษานี้คือมีการทดสอบจากห้องแลปถึง 3 ที่ แต่การที่มีกลุ่มบริษัทผู้ผลิตเครื่องสำอางให้การสนับสนุนด้วยก็มีผลต่อการลดความน่าเชื่อถือไปบ้าง

(Source : Influence of applied quantity of sunscreen products on the sun protection factor--a multicenter study organized by the DGK Task Force Sun Protection.)

 photo Linear 02.png



การศึกษาที่ตีพิมพ์ไนปี 2012 ซึ่งทดสอบกันแดดในท้องตลาดถึง 6 ชนิด ค่า SPF 30 - 100 โดยกลุ่มทดสอบที่มากถึง 237 คน ให้ผลของกราฟแบบ Linear จากข้อมูลที่หามาได้นั้น นี่เป็นการศึกษาที่มีจำนวนผู้ทดสอบเยอะที่สุด แต่การที่บริษัท Johnson & Johnson เป็นผู้สนับสนุนการศึกษานี้ และกันแดดที่นำมาทดสอบก็ล้วนมาจากแบรนด์ Neutrogena และ Coppertone ซึ่งเป็นแบรนด์ในเครือ Johnson & Johnson ก็ลดความน่าเชื่อถือของการศึกษานี้ลงไปหน่อย

(Source : High-SPF sunscreens (SPF ≥ 70) may provide ultraviolet protection above minimal recommended levels by adequately compensating for lower sunscreen user application amounts.)


3. Linear & Exponential

 photo Both 01.png


การศึกษาที่น่าสนใจจากประเทศจีน ตีพิมพ์ในปี 2012 ทำการทดสอบครีมกันแดด 4 ตัว โดยค่า SPF 4 เป็นสูตรกันแดดมาตรฐานในการทดสอบของ US FDA กันแดด SPF 15 เป็นสูตรมาตรฐานในการทดสอบของที่กำหนดโดย EU ส่วน SPF 30 และ SPF 55 ที่นำมาทดสอบนั้นเป็นครีมกันแดดที่วางจำหน่ายในท้องตลาด จำนวนผู้ทดสอบทั้งหมด 40 คน

ผลที่ออกมาคือค่า SPF ที่สูงนั้น ผลที่ได้จะมีแนวโน้มเป็นแบบ Exponential แต่ค่า SPF ต่ำนั้นมีแนวโน้มจะเป็นแบบ Linear ล่ะคุณ!!!

(Source : Sunburn protection as a function of sunscreen application thickness differs between high and low SPFs.)

 photo Check Sunscreen.png




นอกจากนี้ยังมีข้อมูลที่น่าสนใจที่พบว่าเมื่อนำครีมกันแดดที่วางขายในท้องตลาดมาทดสอบค่า SPF ในห้องแลปแล้ว ค่า SPF ที่ได้จริง ๆ ก็ต่ำกว่าที่ระบุไว้บนฉลากอีกต่างหาก

โอ้ววว นี่มันแย่มากเลยนะจอร์จ!!! (โอ้ววววว ฟังแล้วก็จะเป็นลมเหมือนกันนะซาร่าห์~~~)

แต่มันมีเหตุผลเบื้องหลังว่าทำไมผลที่ออกมามันถึงได้ขัดแย้งกันเองขนาดนี้...

(Source : Determination of Sun Protection Factor by UV-Vis Spectrophotometry)


ปัจจัยที่มีผลต่อความผันผวนของค่า SPF ที่ทดสอบหรือวัดได้


การที่ผลการศึกษาหลายอันให้ผลที่ขัดแย้งกันเอง หรือแม้แต่การนำผลิตภัณฑ์มาทดสอบค่า SPF ได้ผลทั้งมากกว่าที่ระบุ และน้อยกว่าที่ระบุบ้างมันมาจากตัวแปรยิบย่อยมหาศาลจนชนิดที่ว่า ในวงการเครื่องสำอางนั้นถึงกับมีการพยายามผลักดันให้การทดสอบ SPF เป็นแบบ In-Vitro บนเครื่องมือทดสอบ แทนที่จะเป็นแบบ In-Vivo บนผิวหนังมนุษย์ซึ่เป็นมาตรฐานในปัจจุบันนี้กันเลยนะ

ตัวอย่างตัวแปรที่มีผลต่อค่า SPF ที่วัดได้ ได้แก่



- ปริมาณในการทานั้นส่งผลต่อความหนาของชั้นกันแดดที่ทาลงไป และเนื่องจากผิวหนังของเรานั้นมีร่องหลุมไม่ใช่พื้นที่เรียบ ดังนั้นส่วนที่เป็นร่องจะมีความหนาของชั้นกันแดดมากกว่าและส่วนที่นูนจะมีชั้นของกันแดดที่บางกว่าซึ่งทำให้แสง UV แทรกผ่านได้มากกว่า



 photo Uneven Application.png


- อุณหภูมิของพื้นผิว แรงที่ใช้ในการทา วิธีที่ใช้ในการทา ล้วนมีผลต่อการเกิดฟิลม์ของชั้นกันแดด จากการศึกษาเราพบว่าคนส่วนใหญ่ทากันแดไม่สม่ำเสมอเอาเสียเลย และส่วนของใบหน้าที่ถูกละเลยในการทาครีมกันแดดมากที่สุดคือบริเวณขมับและใบหู

(Source : Sunscreen application by photosensitive patients is inadequate for protection.)

- นอกจากนี้เชื้อชาติยังมีผลต่อค่า ​SPF ที่ทดสอบได้อีกด้วย (ปัญหานี้จะคุ้นเคยกันดีเมื่อแลปในเอเชียทดสอบผลิตภัณฑ์กันแดดที่นำเข้าจากยุโรป) นั่นก็เพราะว่า การจำแนกแบบ Fitzpatrick–Pathak skin typing system อาจนำมาใช้กับคนเอเชียไมไ่ด้ทั้งหมด การทดสอบของคนญี่ปุ่นพบว่า ประเภทผิวที่ MED น้อย (คือผิวไหม้ง่ายมาก) มาทดสอบได้ค่า SPF ที่สูงกว่าคนที่มี MED สูง (ผิวไหม้ยากกว่า)

(Source : The relationship of sun protection factor to minimal erythema dose, Japanese skin type, and skin color.)

 photo UVA.png


- UVA นั้นมีผลต่อการเกิดการแดงของผิวเมื่อสัมผัสกับแสงแดดด้วย การศึกษาชิ้นหนึ่งพบว่า ถึงแม้การวัดค่า SPF นั้นจะวัดค่าการปกป้องผิวจากรังสี UVB แต่สูตรของกันแดดที่มีความสามารถในการปกป้องผิวได้ครบทั้งรังสี UVB และ UVA (Board Spectrum) นั้นจะจะทำให้เกิด MED น้อยกว่ากันแดดที่มีแต่สารกรองรังสี UVB แต่เพียงอย่างเดียวเมื่อได้รับปริมาณรังสีที่เท่ากัน

(Source : sunscreen’s labeled sun protection factor may overestimate protection at temperate latitudes: a human in vivo study.)


- ความเสถียรของสารกันแดด อุณหภูมิที่ทำการทดสอบ มาตรฐานของอุปกรณ์ เช่น Solar Simulator นั้นมีผลอย่างมากต่อผลที่ได้ออกมา

(Source : The long way towards the ideal sunscreen--where we stand and what still needs to be done.)

 photo Men Sunbath.png


ครีมกันแดดที่บอกว่า
ปกป้องผิวยาวนาน 8 ชั่วโมง 12 ชั่วโมง ทำได้จริงรึ?



ในทางปฏิบัติแล้ว ไม่มีใครสามารถระบุระยะเวลาที่แน่นอนได้ว่ากันแดดที่เราทาลงไปบนผิวมันจะกันแดดได้นานเท่าไหร่ เนื่องจากตัวแปรหลายอย่าง เช่น



- กันแดดสามารถเลื่อนหลุดหรือละลายเมื่อโดนกับน้ำ เหงื่อ น้ำมันที่ขับออกมาทางรูขุมขน การซับ เช็ด ขัด ถู เสียดสี ปัจจัยเหล่านี้ลดประสิทธิภาพในการปกป้องผิวลง

- สีผิวหรือปริมาณเมลานินในผิวเราไม่เท่ากัน จึงทำให้การไหม้แดดของเราใช้เวลาไม่เท่ากัน



- ผลิตภัณฑ์ที่เคลมว่าปกป้องยาวนาน 8ชั่วโมง 12 ชั่วโมง อาจจะเคลมโดยใช้ผลทดสอบความเสถียรของสารกันแดดว่าคงอยู่ได้นานเท่าไหร่บนเครื่องมือทดสอบ แต่ไม่ได้หมายความว่าในการใช้งานจริงกันแดดจะปกป้องผิวเราได้นานขนาดนั้น เพราะถ้ากันแดดมันละลาย เลื่อน หลุด ก็จะด้อยประสิทธิภาพลง ต้องทาซ้ำอยู่ดี โดยหากทำกิจกรรมกลางแจ้งที่มีเหงื่อ หรือโดนน้ำ เราต้องทากันแดดซ้ำทุก ๆ 2 ชั่วโมงเป็นอย่างต่ำ

นอกจากนี้การศึกษาพบว่าการทากันแดดอย่างเดียวนั้นยังไม่เพียงพอหากคุณไม่ต้องการเป็นมะเร็งผิวหนัง การหลบเลี่ยงแดด กางร่ม และหาร่มเงาเท่าที่จะทำได้ การงดออกกลางแจ้งในช่วงที่มีรังสี UVB เข้มข้น (ช่วงเที่ยงวัน)

(Source : Sunscreen is not enough to prevent deadly skin cancer)


กันแดดที่บอกว่าปกป้องผิวได้ทันทีไม่ต้องรอ 20 นาที นี่ทำได้จริงหรือ?



ตามหลักสากลโลกนั้น การทากันแดดควรรอ 20 นาทีก่อนไปสัมผัสแดด

เหตุผลเพราะว่าเมื่อเราทากันแดดลงไปบนผิวนั้น ต้องใช้ระยะเวลาให้ฟิลม์ของกันแดดแห้งเซ็ทตัวดีก่อนที่จะมีประสิทธิภาพในการกันแดดได้ดีที่สุด (ย้ำว่ากันแดดที่เซ็ทตัวบนพื้นผิว ไม่ได้ต้องซึมลงไปในผิว)



กันแดดที่เคลมว่าปกป้องผิวได้ทันทีที่ทานั้น อาจจะใช้ส่วนผสมของสารกันแดดแบบ Inorganic หรือ Physical Sunscreen ที่เราคุ้นเคยอย่าง Titanium Dioxide และ Zinc Oxide ซึ่งทำหน้าที่ที่ในการสะท้อนและกระเจิงแสง (การศึกษาใหม่ ๆ พบว่ามันทำหน้าที่ดูดซับด้วย) ซึ่งคุณสมบัติเหล่านี้ทำได้ทันทีก็จริง แต่การเซ็ทตัวของฟิลม์กันแดดที่สมบูรณ์จะทำให้การเรียงตัวของอนนุภาคเหล่านี้แน่นขึ้นและปกป้องผิวได้ดีกว่าการทาลงไปใหม่ๆ อยู่ดี



ดังนั้นเพื่อความชัวร์ จงรอ 20 นาทีก่อนไปออกแดด


เราต้องทากันแดดในปริมาณเท่าไหร่จึงจะเหมาะ?

การทาครีมกันแดดเพื่อให้ได้การปกป้องที่ดีที่สุดก็คือ ต้องใช้กันแดดในปริมาณที่แนะนำ 2 mg/cm2
 ซึ่งทั่วใบหน้าเราจะใช้ปริมาณเฉลี่ย 1.5ml หรือปริมาณมากกว่า 1/4 ช้อนชานิดหน่อย

ถ้าไม่อยากใช้ช้อนตวง ก็ใช้กันแดดปริมาณ 2 ข้อนิ้ว สำหรับกันแดดเนื้อครีมหรือเนื้อที่ค่อนข้างอยู่ตัวหน่อย สำหรับกันแดดที่เหลวเป็นน้ำให้ทาด้วยปริมาณเท่าเหรีญ 5 บาท 2 เหรียญ 



 photo Double Application.png


การแบ่งกันแดดเป็นสองส่วนโดยทาส่วนแรกและรอให้เซ็ทตัวเล็กน้อยก่อนที่จะทาส่วนที่สองซ้ำนั้นจะะเป็นการทำให้เราได้ปริมาณของกันแดดที่ใกล้เคียงกับปริมาณที่แนะนำที่สุดจากการศึกษา ซึ่งนี่เป็นวิธีที่ปูเป้ใช้ประจำในชีวิตประจำวัน โดยทากันแดดส่วนแรกทั่วใบหน้า และส่วนที่สองนั้นจะทาเน้นตรงจุดที่เป็นไฮไลท์ของผิวอย่างหน้าผาก โหนกแก้ม จมูก คาง ซึ่งเป็นจุดที่รับแสงมากและมักจะเกิดปัญหาจุดด่างดำและไหม้แดดได้ง่ายกว่าจุดอื่น ๆ



หากใครที่ทากันแดดในปริมาณที่น้อยกว่านี้ ค่ากันแดดที่ได้จะเหลือเท่าไหร่นั้น ปัจจุบันยังมีข้อมูลที่ขัดแย้งกันอยู่ ซึ่งผู้อ่านทุกคนต้องนำข้อมูลไปตัดสินกันเอาเองว่าจะเชื่อแบบไหน


(Source : Relationship between sun-protection factor and application thickness in high-performance sunscreen: double application of sunscreen is recommended.)

บทสรุป



เป็นที่แน่ชัดว่าคนทั่วไปทากันแดดในปริมาณที่น้อยกว่าที่แนะนำ 2 - 4 เท่า เนื่องจากความเข้าใจของผู้บริโภคที่มีต่อการใช้กันแดดนั้นยังไม่ดีพอ แต่ปัจจุบันเรามีความเข้าใจเรื่องของการใช้กันแดดที่ดีขึ้น เข้าใจถึงความสำคัญของปริมาณที่มีผลต่อค่า SPF ที่ได้จริง (อย่างน้อยอ่านมาหมดนี่ก็ต้องรู้แล้วป่ะ?) 



ในอดีตนั้นกันแดดมีเนื้อที่หนัก เหนียว ทำให้ผิวมัน หรือไม่ก็ทำให้ผิวขาวลอย ทำให้การทากันแดดในปริมาณที่แนะนำนั้นอาจจะทำไม่ได้ในชีวิตจริง แต่เทคโนโลยีของเครื่องสำอางและสารกันแดดในปัจจุบันนั้น ทำให้ผลิตภัณฑ์กันแดดก้าวข้ามขีดจำกัดเหล่านี้ไปได้ กันแดดยุคใหม่นั้นสามารถมอบเนื้อสัมผัสที่ทางเบา ไม่เหนอะหนะ ติดผิวได้ทนนาน ไม่ทำให้ผิวขาวลอย ทำให้การทากันแดดในปริมาณที่แนะนำนั้นไม่ได้ยากเย็นหรือเป็นเพียงเรื่องในอุดมคติอีกต่อไป ปัจจัยที่เหลือคงเป็นเรื่องของราคา ซึ่งก็น่าดีใจที่เดี๋ยวนี้ก็มีกันแดดคุณภาพดี เนื้อสัมผัสเลิศในราคาที่ไม่สูงจนเกินไปมาให้เลือกใช้กันมากขึ้น



ก็หวังว่าบทความนี้จะทำให้เราเข้าใจเรื่องของ SPF และเหตุผลว่าทำไมเราจึงต้องทากันแดดในปริมาณที่เยอะพออีกด้วยนะจ๊ะ ขอให้ทุกคนสนุกท่ามกลางแสนอาทิตย์อย่างปลอดภัย กลับมาตัวไม่ไหม้ ยังสวยฉ่ำหล่อเฟี้ยวเหมือนเดิมทุกคน

 photo Men.png


ยังมีเนื้อหาเกี่ยวกับการเลือกครีมกันแดดที่น่าสนใจตามนี้จ้า

- Skincare Basic #11-1 :Sun Survival Tips for Healthy Skin
- Skincare Basic #11-2 : Sunscreen Ingredients - Part1
- Skincare Basic #11-2 : Sunscreen Ingredients - Part2
- Skincare Basic #11-3 : 5 'S' For Selecting Sunscreen
- Skincare Basic #11-4 : How to use Sunscreen / Misleading Claims / Sunscreen FAQs




Create Date : 12 เมษายน 2558
Last Update : 15 เมษายน 2558 15:27:42 น. 9 comments
Counter : 48424 Pageviews.

 
เข้ามา้เพราัรูปค่ะพี่


โดย: ตามหารองเท้าแก้วที่หายไป IP: 203.144.144.172 วันที่: 14 เมษายน 2558 เวลา:15:47:22 น.  

 
ข้อมูลเน้นมัก อ่านเพลินเลย


โดย: R.Thanasak IP: 49.230.163.135 วันที่: 16 เมษายน 2558 เวลา:13:44:32 น.  

 
ชอบข้อมูลคุณปูเป้มากค่ะ
มีหา article from Pubmed ด้วย
อ่านแล้วเพลิน แถมฐานข้อมูลแน่น

พอดีเรียนทางสายสุขภาพอยู่แล้ว
แต่ไม่มีเวลามานั่งรีวิวส่วนประกอบเครื่องสำอางเอง
ขอบคุณจริงๆค่ะ :D



โดย: เตย IP: 171.96.177.21 วันที่: 6 พฤษภาคม 2558 เวลา:12:44:24 น.  

 
ขอบคุณสำหรับความรู้ดีๆค่ะ


โดย: หนิง IP: 94.23.252.21 วันที่: 21 พฤษภาคม 2558 เวลา:15:53:00 น.  

 
ข้อมูลแน่นจริงและมีประโยชน์มาก ขอบคุณค่ะ


โดย: KunnuChinn IP: 182.255.9.56 วันที่: 25 พฤษภาคม 2558 เวลา:11:45:29 น.  

 
ข้อมูลแน่น น่าติดตามมาก ๆ เลยค่ะคุณปูเป้ ขอบคุณมากเลยนะคะ ^____^


โดย: claire IP: 103.10.228.239 วันที่: 6 กรกฎาคม 2558 เวลา:23:37:15 น.  

 
อยากทราบวิธีการวัดค่า PA ค่ะ


โดย: k IP: 110.168.168.84 วันที่: 21 กันยายน 2558 เวลา:11:11:16 น.  

 
สุดยอดมากค่ะ เด็กวิทย์อย่างเรานับถือ ข้อมูลมีpaperแบคอย่างดีค่ะ


โดย: pat n. IP: 171.96.182.250 วันที่: 4 ตุลาคม 2558 เวลา:10:35:27 น.  

 
www.facebook.com/sunscreen.idol


โดย: mangpor IP: 1.47.163.65 วันที่: 3 ธันวาคม 2559 เวลา:21:10:07 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

PuPe_so_Sweet
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 1829 คน [?]




Advertisement


About Pupe_so_Sweet
Pupe_so_Sweet on facebook
Pupe_so_Sweet on Youtube
vr AHA project


หากมีคำถามหรือต้องการคำปรึกษา
สามารถทิ้งคำถามไว้ได้ที่หน้า Wall ของ Facebook ครับ



Web Counter


Counter Start on 29 September 2008


Search by Google

ค้นหาข้อมูลและรีวิวผลิตภัณฑ์ที่ต้องการภายในBlog ของปูเป้ได้ไม่ยากด้วย Google Search Box ด้านล่างนี้เลยขอรับ

Custom Search

Friends' blogs
[Add PuPe_so_Sweet's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.