Group Blog
All Blog
<<< "รากฐานของจิตใจ" >>>









“รากฐานของจิตใจ”

การทำบุญทำทานเป็นรากฐาน

ของความเจริญรุ่งเรืองของจิตใจ

 เป็นเหมือนกับรากฐานของตัวอาคาร

 อาคารจะสร้างได้ใหญ่ได้สูงมากน้อยเพียงไร

ขึ้นอยู่ที่รากฐานของตัวอาคาร

 อาคารยิ่งสูงยิ่งใหญ่ รากฐานก็ต้องมีกำลังมาก

เพื่อที่จะรองรับน้ำหนักของตัวอาคาร

ถ้ารากฐานไม่แข็งแรงพอ

สร้างตัวอาคารสูงขึ้นไปเกินน้ำหนัก

 เกินกำลังของรากฐาน

ที่จะรับน้ำหนักของตัวอาคารได้

ตัวอาคารก็ต้องทรุดลงมา เอียงหรือล้มลงไป

 จิตใจจะเจริญขึ้นไปถึงระดับของพระอริยบุคคล

 ถึงระดับของพระอรหันต์ พระพุทธเจ้าได้

 จำเป็นต้องอาศัยรากฐานที่แข็งแรง

 คือ การทำบุญทำทาน การเสียสละ การแบ่งปัน

การเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ต่อเพื่อนร่วมโลก

 ถ้ามีความตระหนี่ มีความหวงในทรัพย์สมบัติ

ข้าวของเงินทองที่มีอยู่เกินความจำเป็น

จะทำให้จิตใจไม่สามารถ

พัฒนาก้าวหน้าให้สูงขึ้นไปได้

เหมือนกับรากฐานของตัวอาคาร

ถ้าไม่มีรากฐาน ไม่สามารถที่จะสร้างตัวอาคารได้

 เวลาสร้างบ้านสร้างเรือน ไม่ว่าจะขนาดไหน

 ต้องมีการขุดดินออกก่อน

เพื่อจะได้วางรากฐานรองรับต้นเสา

นี่คือการทำบุญทำทาน ต้องวางรากฐาน

ให้แก่จิตใจก่อน ให้จิตใจมีความเมตตากรุณา

 เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ต่อเพื่อนร่วมโลก

 ถ้าจิตใจมีการให้ มีการเสียสละ มีการแบ่งปัน

จิตใจก็จะเป็นจิตใจที่พร้อม

ที่จะพัฒนาขึ้นสู่ระดับที่ ๒ ได้

ระดับที่ ๒ ก็คือระดับของการไม่เบียดเบียนผู้อื่น

 คือการรักษาศีล ๕ นี่เป็นการพัฒนาจิตใจ

สร้างจิตใจให้ใหญ่ขึ้น ให้สูงขึ้น ให้เจริญขึ้น

 ให้มีความสุขมากขึ้น เหมือนกับการสร้างอาคาร

การสร้างอาคารก็ต้องสร้างเป็นขั้นเป็นตอนไป

 สร้างรากฐานแล้วถึงจะขึ้นเสา

ขึ้นโครงของตัวอาคาร

เสร็จแล้วถึงจะมีการทำพื้นทำอะไรต่างๆ

 ของตัวอาคาร เพิ่มน้ำหนักเพิ่มความสูง

ของตัวอาคารขึ้นไปตามลำดับ

จนถึงชั้นสูงสุดของตัวอาคาร

จิตใจจะพัฒนาจากปุถุชนให้ไปสู่พระอริยบุคคล

 ก็จำเป็นที่จะต้องมีการพัฒนาเป็นขั้นเป็นตอนไปก่อน

 ถ้าข้ามขั้นตอนก็อาจจะล้มเหลวได้

 เช่น ถ้าไม่มีรากฐานที่แน่นหนามั่นคง

 เดี๋ยวสร้างตัวอาคารให้สูงขึ้นไป

 พอน้ำหนักมากขึ้น รากฐานที่ไม่แข็งแรง

ก็อาจจะไม่สามารถรองรับน้ำหนัก

ของตัวอาคารได้ ตัวอาคารก็ต้องพังลงมา

การพัฒนาจิตใจก็เหมือนกัน

 ถ้ายังไม่มีรากฐานที่แข็งแรง

 คือ มีความเมตตากรุณา มีการทำบุญให้ทาน

 มีการแบ่งปันช่วยเหลือกันและกัน

 ก็จะไม่สามารถรักษาศีลให้บริสุทธิ์ได้

 เพราะผู้ที่ไม่มีความเสียสละแบ่งปัน

 มักจะเป็นคนที่เห็นแก่ตัว เห็นแก่ได้

เมื่อเวลาอยากได้อะไรขึ้นมา

ก็อาจจะไม่คำนึงถึงความเสียหาย

 ความเดือดร้อนของผู้อื่น พออยากได้สิ่งนั้นสิ่งนี้

 หรืออยากทำอย่างนั้นหรืออย่างนี้

ก็จะไม่คิดถึงผลกระทบต่อผู้อื่น

มุ่งไปสู่ความต้องการเพียงอย่างเดียว

 ก็มักจะทำอะไรที่ผิดศีลผิดธรรม

เพื่อให้ได้สิ่งที่อยากได้

แต่ผู้ที่ได้ทำบุญทำทานเป็นนิสัย

 มีอุปนิสัยชอบทำบุญทำทาน ชอบช่วยเหลือผู้อื่น

 ชอบให้ความสุขแก่ผู้อื่น เวลาทำอะไร

เวลาอยากได้อะไร อยากทำอะไร

 ก่อนที่จะทำนี้ต้องวิเคราะห์ดูก่อนว่า

ถ้าทำไปแล้วจะสร้างความเสียหาย

สร้างความเดือดร้อนให้แก่ผู้อื่นหรือไม่

 เพราะถ้าทำแล้วเกิดความเสียหาย

 ก็จะไม่อยากทำ เพราะมีอุปนิสัยไม่ชอบ

สร้างความเดือดร้อนให้กับใคร

ชอบสร้างความสุข สร้างความสะดวก

ความสบายให้แก่ผู้อื่น

นี่คือความสำคัญของทานที่พระพุทธเจ้า

ทรงสอนให้พุทธศาสนิกชน

หมั่นทำกันอย่างสม่ำเสมอ

 ถ้ามีกำลังที่จะทำได้ การกระทำบุญทำทานนี้

ก็ไม่ใช่อยู่ที่เพียงแต่การให้ทรัพย์สมบัติ

ข้าวของเงินทองเท่านั้น

 การทำบุญด้วยวิธีอื่นก็ยังทำได้

 ถ้าไม่มีทรัพย์สมบัติข้าวของเงินทอง

 จะทำด้วยกายคือกำลังกายก็ได้

หรือทำด้วยความคิดก็ได้ คือความรู้

 เช่น ถ้าเรามีความรู้วิชาต่างๆ

 แล้วมีผู้ที่อยากเรียนรู้จากเรา

 ถ้าเราสอนเขาโดยเราไม่คิดเงินทอง

 ไม่ต้องการรับผลตอบแทน

 อันนี้ก็เป็นเหมือนกับการให้ข้าวของเงินทอง

เพียงแต่ว่าเปลี่ยนจากข้าวของเงินทอง

 มาเป็นวิชาความรู้ เช่น การเปิดการสอนพิเศษ

ให้แก่นักเรียน เรียนวิชา กวดวิชาบางวิชา

 เช่น คณิตศาสตร์ เคมี อะไรเป็นต้นเหล่านี้

 ทำโดยไม่คิดเงินคิดทองของผู้มาร่ำเรียน

 อันนี้ก็เป็นการทำบุญทำทานอย่างหนึ่ง

 ท่านเรียกว่า “วิทยาทาน”

หรือการใช้กำลังถ้าไม่มีความรู้

 แต่มีเวลาว่าง มีกำลังกาย ร่างกายแข็งแรง

ก็อาจจะไปเป็นอาสาสมัครทำงาน

ให้แก่องค์กรสาธารณกุศล

 ที่ต้องการอาสาสมัครมาช่วยกิจกรรม

ของทางองค์กร อย่างวันนี้ที่วัด

มีผู้หลักผู้ใหญ่มาทำบุญ มีบรรดาจิตอาสา

 เป็นพวกข้าราชการที่ทำงาน

 แล้วก็รับเป็นจิตอาสาเวลามีงานอะไร

ที่ต้องการคนมาช่วยเหลือกันเยอะๆ

 ก็เสียสละเวลามาทำประโยชน์ให้แก่ส่วนรวม

นี่ก็เป็นวิธีการทำบุญเหมือนกัน

ไม่จำเป็นที่จะต้องใช้เงินใช้ทองเพียงอย่างเดียว

ใช้เวลาว่างที่เรามีอยู่มาทำประโยชน์ให้แก่ผู้อื่นก็ได้

 อย่างทีมงานที่มาช่วยถ่ายทอดสดนี่

ก็เป็นการทำบุญทำทาน เป็นการเสียสละ

บางท่านก็ช่วยซื้ออุปกรณ์ กล้องถ่ายทอดเสียง

 บางท่านก็จ่ายค่าโทรศัพท์ ค่าอินเตอร์เน็ต

 บางท่านก็ต้องมานั่งติดตั้งระบบทุกวัน

 มาโดยที่ไม่ได้เก็บเงินเก็บทอง

 ไม่ได้เอาเงินเอาทอง มาทำทุกวัน

 นี่ก็เป็นการทำบุญทำทานเหมือนกัน

 จะเรียกว่า “ธรรมะทาน” ก็ได้

เพราะว่าเป็นการช่วยเผยแพร่

ธรรมะให้แก่ผู้ที่อยู่ไกล

 การเผยแผ่ ธรรมะสมัยนี้

เราสามารถแผ่ไปได้อย่างกว้างขวาง

มีผู้รับชมติดตามนี้ก็ ๔๐ กว่าประเทศ

แต่ไม่ได้หมายความว่าติดตามกันทุกวันนะ

 ทุกประเทศ แต่เท่าที่ได้ทำสถิติว่า

ใครที่ประเทศไหนบ้างที่ติดตามฟังและชม

 ก็ได้ประมาณ ๔๐ กว่า

ในประเทศไทยก็มีเกือบ ๖๐ กว่าจังหวัด

ทุกวันนี้มีคนส่งข้อความเข้ามา

ประมาณ ๔๐๐-๕๐๐ คน

 ตามสถิติของ Facebook เขาเขียนไว้

มีผู้แสดงความคิดเห็น ๔๐๐-๕๐๐ คน

มีผู้รับชม ๗,๐๐๐-๘,๐๐๐ คน

 มีผู้เข้าถึง ๔๐,๐๐๐-๕๐,๐๐๐

 คำว่ารับชม กับการเข้าถึง นี้

ไม่ทราบเขาแบ่งแยกอย่างไร ถ้าเท่าที่ได้ฟัง

 ถ้าเพียงแต่รับชมไม่ถึงนาทีหรือนาทีหนึ่ง

 ก็ถือว่าเพียงแต่เข้าถึง แต่ถ้าเกินก็เรียกว่ารับชม

 แต่ที่แน่ๆ พวกที่ส่งข้อความเข้ามา ๔๐๐-๕๐๐ คน

 นี้คิดว่ารับชมตลอดรายการ

 เพราะบางคนก็มีการเขียนความคิดเห็นเข้ามาด้วย

 บางคนก็ส่งคำถามเข้ามา

อันนี้ก็เป็นการทำบุญทำทานเหมือนกัน

 ดีกว่าเอาเวลาไปนั่งกินเหล้า หรือนั่งเล่นการพนัน

 ไปเที่ยวตามแหล่งบันเทิงต่างๆ

 เอาเวลามาทำประโยชน์ แล้วก็ได้มีโอกาส

ด้ฟังเทศน์ฟังธรรมไปในตัวด้วย

 แล้วได้ฟังบ่อย การฟังบ่อยๆ นี้ไม่เสียหาย

 เพราะธรรมะเป็นวิชาความรู้ที่ยากต่อการเข้าใจ

ฟังครั้งสองครั้งนี้อาจจะไม่เข้าใจ

 เพราะเป็นศัพท์อะไรต่างๆ

 ที่เราไม่เคยได้ยินได้ฟังมาก่อน

กว่าจะเข้าใจว่าศัพท์มีความหมายคืออะไร

 ก็ต้องใช้เวลาฟังหลายๆ รอบ

หรืออาจจะต้องไปเปิดค้นหาตามดิกชั่นนารีว่า

 คำนี้มีความหมายว่าอย่างไร

“ทาน” มีความหมายว่าอย่างไร

“คีล” มีความหมายว่าอย่างไร

“ภาวนา” มีความหมายว่าอย่างไร

 อันนี้ก็ต้องฟังหลายๆ ครั้ง ฟังเรื่อยๆ ฟังบ่อยๆ

 สมัยพุทธกาล พระพุทธเจ้า

ก็ให้ฟังอาทิตย์ละหนึ่งครั้ง

 เพราะว่ามันทำได้เพียงเท่านั้น

 เนื่องจากเงื่อนไขในสมัยพุทธกาล

ไม่เนื่องต่อการฟังธรรม

อย่างต่อเนื่องเหมือนกับสมัยนี้

 สมัยพุทธกาลจะไปฟังธรรม

ก็ต้องรอให้หยุดทำงาน

 ชาวนาชาวไร่ก็ต้องหยุดงาน

เพื่อที่จะไปวัด ต้องไปฟังที่วัด

 เพราะพระจะแสดงธรรมที่วัด ไม่มีสื่ออย่างอื่น

 เช่น หนังสือ หรือสื่อบันเทิงบันทึกเสียง

 บันทึกภาพ เหมือนสมัยนี้ ดังนั้น ก็ต้องรอวันหยุด

 จะหยุดทุกวันก็ไม่ได้เพราะต้องทำมาหากิน

 ต้องไปไร่ไปนา ก็อาจจะหยุดได้วันหรือสองวัน

 ส่วนใหญ่ก็จะหยุดกันวันหนึ่ง แล้วก็ไปวัดกัน

ถึงจะมีโอกาสฟังธรรมสักครั้ง

แต่ปัจจุบันนี้เรามีสื่อมีการบันทึกธรรมะ

คำสอนต่างๆ ของครูบาอาจารย์ต่างๆ

ไว้ในสื่อต่างๆ มีทั้งแบบถ่ายทอดสด

และมีบันทึกเก็บเอาไว้ดูย้อนหลัง

เราสามารถฟังธรรมได้หลายครั้งต่อหนึ่งวัน

 ยิ่งฟังธรรมแล้วก็จะยิ่งเกิด

ความเข้าอกเข้าใจดีขึ้นไปตามลำดับ

 จะทำให้ความสงสัยความไม่เข้าใจ

ในธรรมะคำสอนของพระพุทธเจ้า

 ค่อยหมดไปตามลำดับ

 แล้วจะทำให้เกิดปัญญาขึ้นมา

 คือ ความเห็นที่ถูกต้อง เห็นตามความเป็นจริง

 ที่ตอนนี้พวกเราเห็นไม่ชัดเจน.

พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต

......................................

สนทนาธรรมบนเขา

วันที่ ๗ สิงหาคม ๒๕๖๑








ขอบคุณที่มา fb. พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต
ขอบคุณเจ้าของภาพค่ะ




Create Date : 16 พฤศจิกายน 2561
Last Update : 16 พฤศจิกายน 2561 6:08:14 น.
Counter : 406 Pageviews.

0 comments
ชื่อ :
Comment :
 *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

tangkay
Location :
ชลบุรี  Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 55 คน [?]



(•‿•✿) พออายุเลยเลขหกฉันยกเครื่อง
มอบทุกเรื่องที่เคยรู้คู่ความเห็น
มอบประสบการณ์ผ่านพบจบประเด็น
ไม่ยากเย็นเรื่องความรู้ตามดูกัน
ฉันคนเก่าเล่าความหลังยังจำได้
แต่ด้วยวัยที่เหลือน้อยค่อยสร้างสรร
ยอมรับเรื่องเนตโซเชียลเรียนไม่ทัน
อย่าโกรธฉันแค่สูงวัยแต่ใจจริง
ด้วยอายุมากมายอยากได้เพื่อน
หลากหลายเกลื่อนทุกวัยทั้งชายหญิง
คุยทุกเรื่องแลกเปลี่ยนรู้คู่ความจริง
หลากหลายสิ่งฉันไม่รู้ดูจากเธอ ....
สิบปีผ่านไป.......
อายุเข้าเลขเจ็ดไม่เผ็ดจี๊ด
เคยเปรี้ยวปรี๊ดก็ต้องถอยคอยเติมหวาน
ด้วยเคยเกริ่นบอกเล่ามาเนิ่นนาน
ก็ยังพาลหมดแรงล้าพากายตรม
ด้วยชีวิตผ่านมาพาเป็นสุข
ยังสนุกกับการให้ใจสุขสม
อยากบอกเล่ากล่าวอ้างบางอารมณ์
แม้คนชมจะร้องว้า....ไม่ว่ากัน
ปัจจุบันเขียนน้อยค่อยเหินห่าง
ระบบร่างเปลี่ยนแปลงเหมือนแกล้งฉัน
เราคนแก่ตามแก้ไม่ค่อยทัน
ยักแย่ยันค่อยศึกษาหาข้อมูล
แต่ด้วยคิดถึงแฟนคลับกระชับมิตร
จึงต้องคิดตามต่อไปไม่ให้สูญ
ส่งความรู้คู่ธรรมะทวีคูณ
เพื่อเพิ่มพูนให้รู้กันฉันสุขใจ