Group Blog
All Blog
<<< "โลกุตตรสมาธิ เข้าสู่โลกุตตรธรรม" >>>










( ตอนที่1)

โลกุตตรสมาธิ เข้าสู่โลกุตตรธรรม


*********

การประพฤติปฏิบัติธรรมนี้เป็นของละเอียดอ่อน

 เราก็ต้องเข้าใจหลายๆอย่าง ตามพระธรรมคำสอน

ที่พระพุทธองค์ทรงตรัสสอนไว้ และเราจึงก็ต้องอาศัยผู้รู้

ครูบาอาจารย์ที่ท่านมีประสบการณ์ มาชี้แนะอีกทีหนึ่ง

ชีวิตทั้งหมดของเราที่เกิดมาเหมือนกับถูกจองจำไว้

 เพราะมีอะไรบางอย่างควบคุมเอาไว้

มีธรรมชาติที่ควบคุมตัวเราหรือจิตใจของเรา

ให้อยู่ในอำนาจของโลกนี้

 เมื่อเราเฟ้นหาความเป็นจริงของชีวิตด้านความอิสระแล้ว

 แทบจะไม่มีความเป็นอิสระเลย

 เราเกิดมาไม่อยากให้มีความแก่ ความเจ็บ และความตาย

ก็หาได้เป็นไปตามความต้องการของเราไม่

 แม้แต่จิตใจดวงนี้เราก็ไม่สามารถจะควบคุม

ให้อยู่ในอำนาจของเราได้ แม้เราจะทำสมาธิ

ให้จิตหยุดนิ่งในตัวมันเอง ด้วยหวังให้จิตหยุดพัก

ระหว่างการเดินทางอันยาวนาน

จิตหยุดพักได้ก็ทำไปอย่างทุลักทุเล

เพราะดูเหมือนว่าถูกอะไรบางอย่างที่ครอบงำอยู่

ทำให้เจตนาของเราไม่สัมฤทธิ์ผล

 แล้วเรามีสิทธิตรงไหนของชีวิตนี้

หมายถึงว่าเราถูกจองจำก็ไม่ผิดนัก สิ่งจองจำเรา ก็คือ

กิเลสที่มีอยู่ในตัวเราอยู่ในจิตใจของเรา

 อันได้แก่ ราคะ โทสะ โมหะ ซึ่งมีอยู่ในใจของเรามาก่อนแล้ว

 เราเกิดมาเราก็ไม่รู้ว่าเรามาจากไหนอย่างไร

 เพียงแต่รู้ว่า จิตใจของเรามีกิเลส ๓ ตัวนี้อยู่

 กิเลสสามตัวนี้ก็บงการชีวิตของเรา

ให้เป็นไปตามอำนาจของเขา ในที่นี้คือ

อำนาจของธรรมชาตินั่นเอง อำนาจกิเลสครอบงำ

แล้วก็ผลักดันให้เราไปตามวิถีทางเดินของเขา

 เราก็จะเดินตามอย่างทาสผู้ซื่อสัตย์

เป็นผู้รับใช้อำนาจเหล่านี้มาโดยตลอด

จนถึงวาระเวลานี้เราก็เป็นทาสรับใช้เขาอยู่

ชีวิตของเราจึงไม่มีอิสระเลย

ทำให้เกิดความคิดอยากจะออกจากธรรมชาติเหล่านี้

อยากจะออกจากกิเลส จุดหมายปลายทาง

ของการประพฤติปฏิบัติก็เพื่อการละกิเลสนั่นเอง

การละกิเลสเป็นที่มาของการต่อสู้กับธรรมชาติ

ที่ครอบงำเราอยู่ ถ้าอาศัยแต่สติปัญญาที่เรามีอยู่

ไม่สามารถที่จะแก้ปัญหาชีวิตของเราได้

จึงเป็นปมปริศนาซ่อนเงื่อนหรือปิดบังความรู้ของเรา

ที่ไม่สามารถจะแหวกว่ายออกจากอุปสรรคเหล่านี้

ออกจากสิ่งที่ร้อยรัดจิตใจของเราได้

 ต้องอาศัยผู้รู้หรือพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า

 และการฟังธรรมประพฤติปฏิบัติธรรมในที่นี้

การที่คนเราเป็นไปตามอำนาจของธรรมชาติเหล่านี้

มีมาตั้งแต่เมื่อไหร่นั้นเราไม่ทราบ

 เราไม่ต้องรู้ว่ามันมีมาตั้งแต่เมื่อไหร่

 แต่บัดนี้มีอยู่เราจะแก้อย่างไรตรงนี้

 ธรรมชาติเหล่านี้มีแล้วเราเดินตามกระแสที่ชักจูงเราไป

ตามเส้นทางของกิเลสที่วางไว้

ผู้รู้ผู้มีสติปัญญาเมื่อพิจารณา

ไปตามสิ่งต่างๆของธรรมชาติแล้ว

 เห็นโทษในสิ่งเหล่านั้นเห็นว่า

สิ่งเหล่านั้นเป็นเครื่องผูกมัดแล้ว

การเดินตามอย่างทาสผู้ซื่อสัตย์นั้น

เหน็ดเหนื่อยเหลือเกิน

 เพราะเราต้องเดินทางอยู่ตลอด

ตามที่กิเลสเขาวางเอาไว้

 คือ เดินทางใจ เดิน ! เดิน ! จนไม่รู้คำตอบว่า

จะสิ้นสุด ณ ที่ตรงไหน จิตเดินทางตลอดไม่เคยหยุด

 แม้ว่าร่างกายของเราจะเดินทางขึ้นเหนือล่องใต้

เรายังหยุดได้ ณ ที่ใดที่หนึ่ง แต่ใจหาได้หยุดไม่

 และจะเดินต่อไปอีก และตรงไหนจะเป็นที่สิ้นสุดของเขา

 ตรงนี้จึงเป็นที่มาของความเหน็ดเหนื่อยเป็นทุกข์มาก

 เพราะไม่มีความเป็นอิสระไม่เป็นไทแก่ตัวเอง

 จึงเป็นที่มาของการคิดอยากจะทำลายกิเลส

เราเป็นผู้ประพฤติปฏิบัติจงเข้าใจเถิดว่า

กิเลสในที่นี้ก็คืออารมณ์ทั้งหมดของจิต

 โดยไม่ยกเว้นไม่แยกแยะว่า อารมณ์ใดเป็นกิเลส

 อารมณ์ใดไม่เป็นกิเลส พระพุทธองค์ทรงตรัสว่า

 บุคคลใดผู้มีจิตไหลไปทางความยินดี

กามาสวะหรือมานานุสัยย่อมตามนอน

เนื่องในจิตของบุคคลนั้น

 บุคคลใดที่จิตเลื่อนไหลไปในทางดีใจและเสียใจ

 ดีใจก็ไปทางกามานุสัยย่อมตามนอน

เนื่องในจิตของบุคคลนั้น ถ้าจิตนั้นเป็นไปในทางยินร้าย

ความโกรธหรือปฏิฆานุสัยก็ตามนอน

เนื่องในจิตของบุคคลนั้น

ถ้าบุคคลนั้นถูกอารมณ์ดีใจก็ไม่ใช่ เสียใจก็ไม่ใช่

อวิชชานุสัยก็ตามนอนเนื่องในจิตของบุคคลนั้น

 ฉะนั้น จิตใจของคนเราในวันหนึ่งๆ

คิดดีใจ เสียใจ และกลางๆ เรียกว่า “อทุกขมสุข”

 เป็นลักษณะของอารมณ์กลางๆ

วันหนึ่งๆ อารมณ์ของจิตก็มีอยู่สามอย่างนี้เท่านั้น

 คือ คิดชอบ ไม่ชอบ แล้วก็กลางๆ (เฉยๆ)

ทั้งหมดเป็นรูปของอารมณ์ทั้งหมด

ทำให้จิตแกว่งไกวตลอดเวลา

ทำให้จิตไม่สามารถที่จะหยุดนิ่งอยู่ได้

ถ้าเกิดว่าบุคคลนั้นทำสมาธิขึ้นมาก็จะเรียนรู้สิ่งต่างๆ

 ได้อย่างละเอียดถี่ถ้วนไปตามลำดับๆไป

สมาธิในที่นี้เป็นการทำจิตให้นิ่งลงไป

เราได้ปฏิบัติตามครูบาอาจารย์สอน คือ การทำจิตให้นิ่ง

สมาธิ คือ อะไร ? สมาธิในที่นี้ คือ

 เราจะเอาจิตดวงนี้หยุดพัก

 เหมือนเราเดินทางอยู่ตลอดเวลา

 แล้วเราเอาจิตของเราหยุดพักกลางทางนั้น

 สมาธิ คือ การเอาจิตตั้งมั่น เป็นการหยุดพักผ่อน

 เราเคยได้ยินครูบาอาจารย์สอนให้กำหนดรู้ลมหายใจ

 ลมหายใจเข้าพุท ลมหายใจออกโธ

หรือกำหนดรู้ที่ท้อง หรือปลายจมูก

หรือกำหนดตัวรู้ โดยอุบายใดอุบายหนึ่ง

 เพื่อให้จิตหยุดตัวมันเองไม่ให้เคลื่อนไหว

 ทั้งๆที่ก่อนหน้านั้นจิตได้เดินทางเคลื่อนไหวอยู่

 สมาธินี้เป็นการจับจิตดวงนี้ให้หยุดลงให้ตัวจิตดูตัวมันเอง

 เราจะเอาตัวรู้ดูตัวรู้ให้นิ่งอยู่

แล้วก็ละอารมณ์ทั้งหมดออกเสีย โดยทำจิตให้นิ่งอยู่

 อาการอย่างนี้เป็นการทำสมาธิให้จิตตั้งมั่นขึ้น

 จากที่จิตแกว่งให้จิตมั่นขึ้น

 แรกๆของการฝึกจิตจะทำได้ยาก

 เพราะจิตดวงนี้ไม่เคยหยุดมาก่อน

จิตกว่าจะหยุดได้ก็ยากเย็นแสนเข็ญ

เราต้องบังคับให้จิตหยุดลงโดยอุบายต่างๆ

 ครูบาอาจารย์สอนหลายอุบายเราก็เฟ้นหาว่า

 จะเอาอุบายไหนดีก็ทดลองทำไปต่างๆ นานา

 อุบายใดก็แล้วแต่ทำให้จิตสงบเป็นอันว่าใช้ได้

เราบังคับจิตฝึกจิตให้เป็นสมาธิบ่อยๆ จิตถูกฝึกบ่อยๆ

 ความชำนิชำนาญก็เกิดขึ้น

 ทำให้เรายังจิตดวงนี้ให้สงบลงได้บ้าง ทำบ่อยๆ

 เมื่อจิตสงบนิ่งลงไปในตัวเอง

จิตสงบลงมากหรือน้อยแล้วแต่กำลังของการกระทำ

 หรือการประคองจิตไว้มากน้อยเท่าไหร่

แล้วแต่ความสามารถ สติปัญญา

และความเพียรของแต่ละคน 

เมื่อจิตสงบลงไปธรรมชาติอย่างหนึ่ง

ที่เราจะได้สัมผัสคือความสุข จิตทุกคนเมื่อสงบลงแล้ว

จะมีความสุขในตัวของจิตเอง เราได้ลิ้มรสความสุขในตัวจิต

 เมื่อก่อนเราจะต้องให้จิตวิ่งไล่หาความสุขข้างนอก

 คือ รูป รส กลิ่น เสียง โผฏฐัพพะ(สัมผัส)

 และธรรมารมณ์ต่างๆ คือ กามคุณ ๕

เช่น วันนี้อยากจะไปทานอันนี้ อยากจะไปฟังเสียงเพลงนั้น

 เป็นความสุขข้างนอกที่เหมือนเหยื่อล่อให้เราวิ่งไล่ตะครุบ

ในสิ่งเหล่านั้น สิ่งใดที่ไม่ได้ก็เสียใจ

ได้มาแล้วก็ต้องรักษาหวงแหน

สิ่งเหล่านั้นตั้งอยู่ได้ไม่นาน ก็เสื่อมสลายหายไป

ตามกฎของไตรลักษณ์ คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา

ทำให้เกิดเป็นภาวะโศกเศร้า เสียใจ

 ร้องไห้ ร่ำไรรำพันต่างๆ นานามากมาย

จิตเราต้องสงบก่อนจึงจะเห็น ทีแรกเราจะไม่เข้าใจ

เพราะเป็นสิ่งเข้าใจยาก รู้ว่าจิตคิดไป ฟุ้งแล้วเครียด

รู้ว่าทุกข์แต่จิตยังไม่ละเอียดพอ

ถ้าเราฝึกจิตให้สงบลงไปจะเห็นความแตกต่าง

ธรรมชาติของระหว่างจิตที่สงบลงไปใหม่ๆ

 กับธรรมชาติของจิตที่เราเคยมีอยู่แล้วอย่างเดิมๆ

 คือจิตไม่สงบเราจะคิดไปเป็นอย่างหนึ่ง

 แต่พอจิตสงบลงไปแล้ว เราก็เห็นว่า

การที่จิตสงบนั้นเป็นความสุข

อย่างที่ไม่เคยมีมาก่อนในชีวิตของเรา

 แล้วความสุขอันนี้ไม่ต้องวิ่งไล่ตะครุบที่ไหน

 กลับเป็นความสุขที่จิตนิ่งลงไปในตัวเอง

 ความสุขใหม่ที่เกิดจากความสงบจากการทำสมาธิ

 เป็นความสุขที่เข้ามาแทรกในชีวิต

เราไม่เคยพบมาก่อน เป็นความสุขใหม่ที่ประณีต

 และนิ่งสงบระงับ เย็นใจ สบายใจ

สบายกายต่างกับความสุขข้างนอกของโลกที่มีอยู่

ทำให้เราได้รับรู้ว่า ความสุขที่โลกที่มีอยู่

คือความสุขแบบใด จิตที่ลิ้มรสความสงบคือสุขแบบใด

 แล้วเราจะเห็นโทษในความสุขของโลกว่า

เป็นความสุขที่เหน็ดเหนื่อย เราต้องวิ่งไล่

เพราะถูกสิ่งเหล่านี้ชักจูงใจตลอดเวลา

เป็นความสุขที่ไม่น่าปรารถนา

และเป็นความสุขที่น่ากลัว นำมาซึ่งทุกข์โทษต่างๆ

แต่ความสุขใหม่ที่เกิดจากจิตสงบ

เป็นความสุขที่หาโทษไม่ได้

 แล้วเราก็อยากมีความสุขเช่นนี้มากขึ้น

 เพราะความสุขเป็นธรรมชาติอย่างหนึ่ง

ที่ทุกคนเกิดมาในโลกนี้ใฝ่หาอยากได้อยากมี

มีคำถามว่า คนเราเกิดมาต่างแสวงหาสิ่งต่างๆ

ในโลกไปเพื่ออะไร? สุดท้ายจริงๆ

ก็เพื่อความสุขมิใช่หรือ?

ฉะนั้น ความสุขจึงเป็นยอดปรารถนาของทุกคน

หรือความต้องการของสิ่งมีชีวิตทั้งหมด

 แม้คำว่า “นิพพาน” ซึ่งเป็นชื่อความสุขในพระพุทธศาสนา

 คือความดับกิเลสทั้งปวงเป็นความสุข

 “นิพพานัง ปรมังสุขขัง” นิพพานเป็นสุขอย่างยิ่ง

 เป็นความสุขชนิดหนึ่ง

ที่เป็นความสุขอย่างยิ่งที่เราปรารถนา

 แต่จิตดวงนี้เมื่อเราประคับประคองให้นิ่งลงไปเป็นสมาธิ

ก็นิ่งได้ไม่นาน นิ่งได้สักระยะหนึ่งก็ออกจากความสงบนั้น

แล้วกลับไปคิดอีก เราบังคับให้จิตสงบ

เขาก็สงบแบบบังคับมีเวลาแบบจำกัด

 ทำให้เราเสียดายว่าน่าจะสงบอย่างนี้นานๆ

ชีวิตคนเราน่าจะมีความสุขแล้ว

 แต่จิตก็หยุดได้ชั่วระยะหนึ่งก็ไปคิดอีก

หลังจากทำความสงบออกมาแล้ว ทำไม? จิตต้องคิดอีก

 เพราะว่าธรรมชาติเดิมของจิตต้องคิดอยู่แล้ว

 ปรุงแต่งอยู่แล้ว แต่เรามานั่งสมาธิ

ขาขวาทับขาซ้าย ตัวตรง หลับตานอก ลืมตาใน

ทำใจให้สงบ การสำรวมตัวสำรวมใจถูกการกระทำ

อันเป็นรูปแบบที่เราจะต้องทำ

เพื่อเอื้ออำนวยให้จิตเป็นสมาธิ

 แต่การนั่งหรือการบังคับในอิริยาบถนั้น

ไม่ใช่เป็นอิริยาบถที่เราจะต้องอยู่ทั้งวันทั้งคืน

 แต่เป็นอิริยาบถชั่วเวลาหนึ่ง ตรงนี้เราพอทำให้สงบได้บ้าง

 แต่เวลาที่มีอยู่ต้องยืน เดิน นั่ง นอน

ที่จะต้องสัมผัสสัมพันธ์กับโลก ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ

มีอยู่เขาก็ทำงานของเขาทำให้จิตของเรามีสมาธิไม่ได้

 และตรงนี้เป็นพื้นเพของชีวิตคนเรา

ที่เกิดมาเป็นเครื่องอาศัยของชีวิตประจำวันมากที่สุด

การนั่งสมาธิเพียงอย่างเดียว

ทำให้เราประคับประคองจิตให้อยู่ในสมาธิไม่ได้

และจิตก็วิ่งออกไปตามทวารทั้ง ๖

 คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ทำให้เกิดความไม่สงบ

 การวิ่งออกไปของจิตนำมาซึ่งภาวะ

ที่บีบคั้นเสียดแทงใจตัวเอง

 เราจะรับรู้รสชาติการปรุงแต่ง

คิดไปเรื่อยๆไม่มีความสุขเลย

ชอบให้จิตนิ่งอยู่จึงเป็นสุข จึงเป็นที่มาของการทำสมาธิ

 แต่ช่วงเวลานั้นน้อยเหลือเกินและทำได้ยาก

เราทำแล้วจิตสงบลงไปบางเวลาเท่านั้น

ชีวิตนี้เราอยากมีความสุขตลอดเวลาจะเป็นไปได้ไหม?

 ทั้งในสมาธิก็สงบและออกจากสมาธิก็สงบจะได้ไหม?

 มีทางไหม? ที่จะปฏิบัติไปสู่การที่จะเป็นไปอย่างนั้น

 เพราะเราต้องการให้จิตสงบก็เพียงพอแล้ว

สำหรับชีวิตนี้ ความจริงแล้วจิตสามารถทำได้

เราสามารถอบรมจิตให้มีสมาธิอยู่ตลอดเวลาได้

ทั้งเวลาทำสมาธิก็สงบ ออกจากสมาธิก็สงบ

และสงบอยู่ตลอดเวลาทั้งคืนทั้งวันได้แน่นอน

 ปฏิปทามีอยู่ บุคคลที่ปฏิบัติตามแล้วได้ผลเช่นนี้มีอยู่

 แต่เราจะรู้วิธีเหล่านั้นได้อย่างไร?

 และการประพฤติปฏิบัติอย่างนั้นได้อย่างไร?

เท่ากับว่า เราจะต้องต่อสู้ทั้งหมด

กับอารมณ์ที่มีอยู่ในจิตให้เหลือจิตดวงเดียว

คือ กำจัดอารมณ์เหล่านั้นออกจากจิต

เหลือจิตที่ไม่มีอารมณ์ ความต้องการของทุกคน

ที่มาประพฤติปฏิบัติ คือความต้องการเช่นนี้

การที่จิตสงบอยู่ตลอดเวลาก็พอใจแล้ว

เราคงจะมีความสุขมาก 

การประพฤติปฏิบัติที่นำไปสู่ความไม่ปรุงแต่งนั้น

ทำได้อย่างไร ทีแรกพระพุทธองค์ทรงสอน

ให้ทำสมาธิให้จิตสงบ ด้วยการบังคับก่อน

 แต่การบังคับจิตให้สงบเป็นการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า

 เหมือนเราจับโจรผู้ร้ายติดคุกหรือขังเขาไว้

 แต่เปล่อยไปแล้วเขาก็จะทำอย่างเดิมอีกเพราะอะไร?

 เพราะว่าเราขังแต่ตัวเขาแต่เรายังไม่ได้

เปลี่ยนนิสัยเดิมๆของเขาเลย

เท่ากับการบังคับจิตให้สงบลงไป

 แต่นิสัยความเคยชินต่างๆยังไม่ได้เลิกรา

ดังนั้น การจับตัวผู้ร้ายเอามาขังไว้ในคุก

เพื่อเป็นการลงโทษ จึงเป็นการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า

เมื่อปล่อยเขาไปแล้วเขาก็มีพฤติกรรมเช่นเดิม

 เพราะการแก้นิสัยของเขาไม่มี

การจับผู้ร้ายมาแล้วจะขังแต่ตัวของเขาอย่างเดียวไม่ได้

 เราจะต้องเปลี่ยนนิสัยเปลี่ยนอุดมการณ์ของเขาให้ได้

นี่คืองานหนักที่สุดยิ่งกว่าขังอีก

จิตดวงนี้อุปมาเหมือนว่าเมื่อยังไม่ได้อบรมก็เหมือนผู้ร้าย

 เราจะเห็นว่าธรรมชาติจิตของเราเหมือนสัตว์ป่า

ที่ยังไม่ได้ฝึกที่ควรแก่การงาน

พระพุทธองค์ทรงฝึกบุรุษเหมือนนายสารถี

ที่ฝึกสัตว์ทั้งหลายให้ควรแก่การงานฉันนั้น

ดังบทสวดสรรเสริญพระพุทธคุณว่า

 “สัตถา เทวะ มนุสสานัง”

 พระองค์ทรงฝึกมนุษย์และเทวดาให้เป็นคนดีได้

 คือเราจะเห็นว่าถ้าเราจับจิตบังคับให้สงบอย่างเดียว

ก็เหมือนจับตัวผู้ร้ายไปขังคุกไว้อย่างเดียว

 แต่เวลาปล่อยออกไปนิสัยเดิมก็ออกอีกแล้ว

 จับตัวเขาได้แต่นัยอุดมการณ์ความคิดความอ่านต่างๆ

 ที่ตัวของเขาเราไม่ได้ชะล้าง

ทำให้จิตวิ่งไปสู่กระแสเดิมๆ ของเขาอีก

ฉะนั้น สมาธิจะแบ่งเป็นข้างในและข้างนอก

ให้เขาเป็นจิตที่ดีได้ เป็นจิตที่เห็นโทษภัยทั้งหลาย

 จึงละอารมณ์เหล่านั้นได้ อันนี้ยากมาก

เป็นขั้นตอนต่อไปที่ยากมาก เราต้องการให้จิตของเรา

มีสมาธิตลอดเวลา เราจะต้องทำลายอุดมการณ์

หรือความคิดอ่านของจิตดวงนั้น

และทำให้หายจากสิ่งที่ไม่ดีของเขา

พึงละเสียให้ตัวมันเองเห็น และละสิ่งเหล่านั้นเสีย

 เราจะได้ไม่ต้องห้าม เมื่อจิตรู้และเข้าใจแล้วจิตก็ไม่ไปอีก

 ฉันใดก็เหมือนกัน โจรผู้ร้ายเราจับมาแล้ว

 เราจะกักขังเขาอย่างเดียวไม่ได้

เราจะต้องเปลี่ยนนิสัยพฤติกรรมของเขาให้ได้

 ให้เขาเห็นโทษในการกระทำของเขาว่า

 สิ่งเหล่านี้เป็นโทษ จนกว่าเขาจะยอมรับ

ว่าพฤติกรรมของเขาเป็นโทษจริงๆ

เขายอมรับในตัวของเขาเองด้วย

 และเขาก็ยอมรับว่าต่อไปเขาจะเลิกทำอย่างนั้น

 จะกลับใจเป็นพลเมืองดี จึงปล่อยไปเลยหรืออยู่ที่ไหน

 เขาก็จะไม่มีพฤติกรรมอย่างเช่นที่เคยทำมาอีก

 นี่คือ การแก้ปัญหาอย่างถาวร 

จิตนี้ก็เหมือนกันว่า เราจะบังคับจิตให้นิ่งเพียงอย่างเดียวแล้ว

 หวังว่าความนิ่งอย่างนั้น จะทำให้อารมณ์ทั้งหมด

หายออกจากจิตก็ไม่ได้ ยามสงบจิตก็สงบ

 เอาอารมณ์วางไว้ก่อนเอาจิตเข้าไปสงบหลบอยู่ข้างใน

เหมือนเราทำงานในห้องแอร์ อากาศร้อนๆ

แล้วเราเข้าไปทำงานในห้องแอร์ก็เย็นสบาย

 แต่ห้องแอร์ไม่ได้หมายถึง ทั้งหมดของชีวิตจะไปอยู่ตรงนั้น

 เป็นเพียงชั่วระยะเวลาหนึ่งของชีวิตเท่านั้น

หลายๆเวลาของชีวิตอยู่ในส่วนอื่นๆ

 ที่ไม่ใช่ตรงนั้นเยอะแยะไปหมด

 ส่วนอื่นๆ ที่ไม่ใช่ห้องแอร์ตรงนั้น

เป็นอากาศที่อยู่ตามธรรมชาติ ร้อนบ้าง หนาวบ้าง เย็นบ้าง

 แล้วแต่สภาพที่เป็นอยู่ แต่ห้องแอร์นั้นเย็นแน่นอน

 อุปมาว่าจิตของเราเมื่อทำความสงบนิ่งเข้าไปในสมาธิ

 แน่นอนย่อมเกิดความสุข ความสบาย เย็นกาย เย็นใจ

เหมือนอยู่ในห้องแอร์ แต่ตรงนั้นไม่ใช่ธรรมชาติ

ที่เราต้องอยู่ตลอดเวลา เพราะเราหนีอารมณ์ต่างๆ

 แล้วก็หลบอยู่ตรงนั้น เวลาออกจากห้องแอร์

พบกับอากาศร้อน สภาพอากาศต่าง ๆ

 ที่จะต้องพบกับการที่เราจะต้องต่อสู้กับสิ่งเหล่านั้น

 ทำให้จิตไม่สามารถที่จะรักษาอำนาจของสมาธินั้นได้

 ทำให้จิตรับอารมณ์เหล่านั้นไม่ได้

 จำเป็นต้องไหลไปตามกระแสอารมณ์เหล่านั้น

ขั้นตอนแรก การทำสมาธิให้สงบแล้วยังไม่พอ

ขั้นตอนที่สอง คือ การอบรมจิตให้เห็นโทษ

ในพฤติกรรมของเขาให้ได้

 เป็นการเปลี่ยนอุดมการณ์ของเขาให้ออกจากจิตให้ได้

แล้วจะทำอย่างไร? ขั้นตอนนี้ เรียกว่า

 “วิปัสสนากัมมัฏฐาน”

เราจะเห็นว่าธรรมชาติของจิตสงบนั้นอยู่ที่หนึ่ง

 แต่ระหว่างที่จิตไม่สงบนั้นอยู่อีกที่หนึ่ง

 จิตที่ไม่สงบคือจิตที่อยู่ในฐานะ

ที่อยู่ในพื้นฐานที่ต่ำที่สุดของชีวิต

 อยู่ในอารมณ์ธรรมดาๆหรือปกติ

นั่นคือทำเลของอารมณ์ต่างๆ เกิดแล้วจะงอกงามที่สุด

 เหมือนกับว่าเราอยู่ตรงนี้อารมณ์เย็น ร้อน อ่อน แข็ง

 อย่างไรก็อยู่ตรงนี้ สภาพอากาศอย่างไรก็อยู่ตรงนี้

แต่เมื่อเข้าห้องแอร์ก็เป็นอีกที่หนึ่ง ไม่ใช่ตรงนี้

 และก็ไม่ใช่อุณหภูมินี้ 

ถ้าเราทำจิตให้สงบเหมือนกับว่าเราวางอารมณ์ไว้ตรงนี้

 แล้วก็เอาจิตออกไปอยู่อีกที่หนึ่ง

 อารมณ์สงบของจิตนั้นอยู่อีกที่หนึ่ง

อารมณ์ที่ไม่สงบนั้นอยู่คนละตำแหน่งกัน

ถ้าเราอยู่ในสมาธิอยู่ตรงนั้นเราก็สงบ

เมื่อออกนอกสมาธิแล้วเราสู้ไม่ได้อารมณ์มีมาก

 จะดึงจิตฟุ้งไปเลย ทำไมเราต้องออกมา

 เพราะวิถีชีวิตของเรามาอยู่ข้างนอกมากกว่า

 ในสมาธิเป็นเพียงการที่เราหลบเข้าไปอยู่ตรงนั้น

 เราอาศัยห้องแอร์ชั่วขณะหนึ่ง

 แต่ไม่ได้หมายถึงว่าชีวิตทั้งชีวิต

จะอยู่ในห้องแอร์นั้นตลอด

แสดงว่าทำเลปกติไม่ใช่ห้องแอร์

 สภาพอากาศภายนอก คือ ธรรมดาของชีวิต

ที่เราต้องอาศัยอยู่ตรงนั้น เราหลบเข้าไปอยู่ในห้องแอร์

แน่นอนเย็นกายเย็นใจ แต่เมื่อออกมาแล้ว

ทำให้เรายังสมาธิให้คงอยู่ไม่ได้ ทำไปทำมาก็วนอยู่แค่นี้

 บางครั้งก็มีสมาธิ บางครั้งก็ไม่มีสมาธิ บางครั้งจิตสงบดี

แต่บางครั้งทำสมาธิไม่ได้เลย

การกระทำของเราจึงลุ่มๆ ดอนๆ อยู่ตลอดเวลา

 ทำให้เกิดการงงสงสัยว่าคนเราจะพัฒนาจิตไปสู่ทางไหน ?

จงเข้าใจเถิดว่า การกระทำสมาธิเช่นนั้น

เป็นเพียงการกระทำขั้นต้น

มิได้หมายถึงว่าผิดก็ไม่ใช่ ถูกก็ไม่ใช่

แต่เป็นสิ่งที่เราจะต้องทำเพื่อการเรียนรู้ในธรรมชาตินั้น

 แต่ถ้าเราฝึกวิธีเดิมอยู่อย่างนั้น

เราก็ไม่สามารถจะพัฒนาจิตของเรา

ให้สูงขึ้นไปกว่านั้นได้อีก

 ความรู้ที่เราจะต้องรู้เพื่อพัฒนาจิตของเราให้ยิ่งๆ ขึ้นไป

 เราจะทำอย่างไร?

คนร้ายเราจับขังไว้ในกรงเขาอยู่ได้

แต่ปล่อยแล้วนิสัยเดิมของเขาก็ออกมาอีก

 เราจะต้องเปลี่ยนนิสัยของเขาให้ได้

จิตก็เหมือนกันเราจะจับให้จิตนิ่งอย่างเดียวก็ได้แค่นี้

เราจะเปลี่ยนนิสัยของเขาได้

 เราจะต้องเปลี่ยนนิสัยทั้งหมด

ให้เขาเลิกละการกระทำของเขาว่า ทางนั้นไม่ดี

ให้เลิกเสียแล้วให้จิตสงบอยู่ตรงนี้

ให้จิตยอมรับด้วยตัวของเขาว่า การเดินทางของเขา

ที่เป็นไปอย่างเก่าก่อนเป็นทางที่ไม่ดี

 เป็นทางนำมาซึ่งทุกข์ แล้วตัวของเขาเห็นโทษ

ในตัวของเขาเอง แล้วเขาจะไม่ไปทางเส้นนั้นอีกแล้ว

 จิตจะอยู่ในตัวของเขาเอง จิตยอมเองว่าจะหยุด

การประคองก็ง่าย เมื่อคนร้ายกลับใจเปลี่ยนนิสัยแล้ว

 การที่จะคุมเขาก็ไม่ต้องคุม เพราะเขาเปลี่ยนนิสัยไปแล้ว

การเปลี่ยนนิสัยของจิตใจของเรายากเย็นเหลือเกิน

 แต่เวไนยสัตว์ทั้งหลายไม่มีจิตชนิดไหน

ที่ทนทานดื้อดึงจนพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า

สอนไม่ได้นั้นไม่มี สอนได้ทุกคน สอนได้ทุกจริต

ทุกนิสัยได้แน่ๆมีอยู่

 แต่เราจะเฟ้นหาอุบายเหล่านั้นได้อย่างไร?

 นี่คือ ที่มาว่าเราจะต้องฝึกใจดวงนี้เสียแล้ว

 ฝึกให้ควรแก่การงาน ฝึกให้รู้ในสิ่งที่เขาจะต้องรู้

ถ้าเราจะบังคับจิตให้สงบเช่นนี้เพียงอย่างเดียวก็ได้แค่นี้

 เราจึงต้องฝึกจิตไปอีกรูปแบบหนึ่ง 

ขั้นตอนแรก เราฝึกจิตโดยบังคับจิตให้สงบ

 ขั้นตอนต่อไป ฝึกอีกอย่างหนึ่งไม่ใช่เหมือนเดิมเสียแล้ว

 ฝึกอย่างไรล่ะ ! ก่อนที่พระพุทธองค์จะตรัสรู้

ทรงแยกแยะปัญหาเหล่านี้ การที่ทรงเรียนจาก

ท่านอาฬารดาบสและท่านอุทกดาบสว่า

การทำให้จิตสงบลงไปในตัวเอง

ได้รูปฌานจนถึงอรูปฌาน(สมาบัติ ๘) จิตสงบมากที่สุด

จิตนิ่งดิ่งลึกที่สุดถึงตัวรู้ พระพุทธองค์ทรงทำได้

เพราะทรงสร้างสมบุญญาธิการมามาก

 ที่สุดของจิตเมื่อถึงความสงบเต็มที่แล้ว

 ถึงเวลาก็จะออกจากสภาวะเช่นนั้นมาสู่ภาวะปกติ

จิตก็เริ่มออกไปอีกแล้ว นิสัยเดิมก็ออกมาทุกอย่าง

 กิเลสมีทุกอย่าง การสงบอย่างนั้น

ไม่สามารถจะแก้ปัญหาของจิตได้ แก้ไม่ได้

เพราะในสภาวะนั้น ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ไม่ได้ถูกใช้งาน

 เอาแต่ตัวจิตเองไปนิ่งอยู่ ทำให้จิตสงบได้

แต่เวลาออกจากสมาธิแล้ว จิตมีอาตยนะ

คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เป็นประตูออก

จิตก็ออกไปหมดเลย เป็นจิตปรุงแต่งออกไปอีก 

พระพุทธองค์ทรงเห็นความปรุงแต่งเหล่านี้

 ทรงจับมาพิจารณาว่า จะทำอย่างไรดี

ถ้าเราคิดปรุงแต่งขึ้นมา เราคิดไปทางไหน?

 ทางนั้นจิตก็วิ่งออกไป ทีนี้ข้างนอกไม่ให้คิด

เราสังเกตดูว่าจิตของเราคิดเรื่องใดอยู่

เราก็พยายามคิดเรื่องนั้นซ้ำเข้าไปอีก

 จิตก็วิ่งตามกระแสอารมณ์มากขึ้นจนเป็นกำลัง

จนบางครั้งดับอารมณ์ไม่อยู่คือจิตฟุ้งนั่นเอง

 บางครั้งเราคิดเรื่องอะไรที่เราหนักอกหนักใจ

 เราคิดไปๆพยายามเพิ่มความคิดให้มากๆ

ผลที่สุดจิตออกไปไม่หยุดก็เครียด

 เราอยากจะหยุดแล้ว ! ไม่ไหวแล้ว ! เหนื่อยแล้ว !

 เครียดมากแล้วหยุดไม่ได้

 จึงเป็นที่มาของความทุกข์มากมาย

 ความบีบคั้นของจิตใจดวงนี้ แรกๆ ก็คิดน้อยๆ

 แล้วคิดหนักเข้าๆ เหมือนกับไฟเดิมกองเล็กๆ

 เติมฟืนเข้าไปเรื่อยๆ กองไฟก็ใหญ่ขึ้นมา

 เติมฟืนเข้าไปอีก กองไฟใหญ่ขึ้นมาอีก

 แล้วก็ดับไม่ลง เราจะเห็นธรรมชาตินี้ว่า

 จิตถ้าเราเติมอะไรเข้าไปมากๆ

ก็เหมือนกับการเติมเชื้อไฟเข้าไป

ความปรุงแต่งของจิต จะไปในทางยินดี ยินร้าย และเฉยๆ

 สามอย่างนี้ จิตคิดในอารมณ์ใดอันเป็นที่ตั้ง

แห่งความยินดีขึ้นมา เช่น คิดไปทางราคะ

จิตจะสร้างภาพขึ้นมาในตัวจิตเอง เราจะดูอารมณ์

ดูกิเลสของเราว่ามีหน้าตาเป็นอย่างไร?

 เวลาเกิดขึ้นมาเกิดอย่างไร ? เราต้องดูก่อน

 ตอนนี้เราไม่ต้องเข้าสมาธิ แต่เราจะดูว่า

ความปรุงแต่งมีหน้าตาเป็นอย่างไร?

เพราะเป็นปัญหาเหลือเกิน จับตัวมันเองมาดูว่า

 ตัวละครเหล่านี้ คือ อะไร? เราจะเห็นว่าความปรุงแต่งแรกๆ

 จะนึกถึงภาพใดภาพหนึ่ง นึกถึงเรื่องใดเรื่องหนึ่งก่อน

เวลาที่จิตนึกไปจะเกิดภาพขึ้นมาทางใจขึ้นมาก่อน

 แล้วภาพนั้นเป็นที่ตั้งแห่งกิเลสชนิดใด

การปรุงแต่งในทางยินดีเป็นราคะ

 เป็นความปรุงแต่งชนิดหนึ่ง เช่น หญิงนึกถึงชาย

 ชายนึกถึงหญิงที่ตนมีจิตปฏิพัทธ์คือมีความชอบตามเพศ

 ตามโลกที่มีกิเลสชนิดนี้อยู่ คิดไปเป็นภาพขึ้นมาก่อน

 แล้วเรานึกภาพนั้นแล้วขยายความต่อ

การนึกอารมณ์ครั้งแรกเรียกว่า “นิมิต”

เป็นเครื่องหมาย แล้วขยายนิมิตให้แตกกิ่งก้านสาขา

ออกไปมากมาย นึกถึงนิมิตแล้วขยายนิมิต

ให้เป็นวงกว้างออกไปเรียกว่า “อนุพยัญชนะ”

เมื่ออนุพยัญชนะขยายวงกว้างออกไป

กลายเป็นความปรุงแต่งที่มากขึ้นอีก

 ทีแรกกองฟืนเล็กๆ เป็นไฟดวงเล็กๆ

แต่เราเติมฟืนเข้าไปมากขึ้นๆ

 แล้วก็ไฟนี้จะเป็นไฟกองใหญ่

 ไฟ คือ ราคะ โทสะ โมหะ สุมจิตใจดวงนี้ให้ร้อนเร่า

แล้วบีบบังคับให้เจ้าตัวดิ้นไปตามเกมส์ที่คิดเอาไว้

จึงเกิดการคิดที่จะแสวงหาสิ่งที่ตัวเองคิดไว้นั้น

 นี่คือกลไกที่เป็นไปของกิเลส

ทำให้ทุจริต ๓ เกิดขึ้นตามมา

เกิดเป็นการกระทำขึ้นมา เรียกว่า “กรรม”

 คือ การกระทำทั้งที่เป็นกุศล(สุจริต) และอกุศล(ทุจริต)

 ฉะนั้น คนเราและสัตว์โลกทั้งหลายก็เดินไปตามกรรม

วิถีกรรมเกิดจากความปรุงแต่งเป็นเหตุ

อันนี้คือหน้าตา จิตใจคนเราต้องดูว่า กิเลสเกิดอย่างไร?

แล้วหน้าตาของกิเลสเป็นอย่างไร?

ต้องรู้ประวัติความเป็นมา และตัวละครของเขา

มีองค์ประกอบอะไรบ้าง? เพื่อให้เราแยกแยะ

และคิดหาวิธีแก้ไข คนเราที่คิดไปคืออำนาจของกิเลสต่างๆ

 เช่น กิเลสเกี่ยวกับราคะ จะเห็นได้ต้องนึกภาพก่อน

 นึกภาพทีแรกกิเลสเราก็ไม่ได้โน้มเอียงไปคิดขึ้นมาลอยๆก่อน

 หรือเจตนาคิดของเราเกิดขึ้นก่อน

 การขยายนิมิตให้กว้างออกไป จะเห็นอารมณ์ต่างๆ

ที่เกิดขึ้นในใจของเรานึกภาพขึ้นมาก่อน

 แล้วเราก็ขยายภาพมากขึ้นไปๆ ความคิดก็จะรวดเร็วขึ้น

 รุนแรงขึ้นๆ ทวีกำลังมากขึ้นตามลำดับ

ทีแรกเป็นไฟกองน้อยๆ แต่เราไปเติมเชื้อไฟ

ก็เป็นไฟกองใหญ่ขึ้นมา เมื่อคิดถึงสิ่งใดมากจิตก็เร่าร้อน

 บีบบังคับให้เจ้าตัววิ่งหาสิ่งนี้ให้ได้

 แล้วการวิ่งของเราเป็นการแสดงออกทางใจก่อน

การแสดงออกทางกาย และวาจาก็ตามมา

 กริยาที่ตามออกไปเรียกว่า ทุจริต ๓

คือ กายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริต

 เกิดจากมโนเป็นตัวเริ่มแรก 

กรรมอันเกิดจากการกระทำ เป็นเครื่องหมุนให้สรรพสิ่ง

 และสรรพสัตว์ทั้งหลายหมุนไปตามกรรม

 เป็นวงจรล้อหมุนไปในวัฏสงสารอันยาวนาน

ความคิดของเราหยุดไม่ได้เลย เพราะเกิดจากเหตุเช่นว่านี้

กิเลสประเภทใดก็บีบบังคับให้เกิดกรรมประเภทนั้น

บีบบังคับให้วิ่งตามกระแสเหล่านั้น

ก็แสดงออกทางกาย วาจา ใจ

ไปตามการกระทำของจิตนั้นก่อน

การกระทำทั้งหลายอันเกิดจากการกระทำของตนก็เกิดขึ้น

 นี่คือที่มาของกิเลสต่างๆ เราจะเห็นว่า

การดำเนินการเป็นไปตามกระแสที่เป็นไปตามลักษณะนี้

 พระพุทธองค์ทรงแยกแยะและทรงค้นว่า

อะไรเอ่ย? ที่ทำให้กามฉันทะที่ยังไม่เกิดให้เกิดขึ้น

 อะไรเอ่ย? ที่ยังให้กามฉันทะที่เกิดแล้วให้งอกงามไพบูลย์

 อะไรเอ่ย? ที่ทำให้กามราคะที่ไม่เกิดย่อมไม่เกิด

 แล้วอะไรเอ่ย? ยังให้กามฉันทะที่เกิดแล้วบรรเทาลง

เราจะมาดูว่า ราคะ โทสะ โมหะ ที่ไม่เกิดย่อมเกิด

 เมื่อเกิดแล้วย่อมงอกงามแล้ว นัยตรงข้ามคือ

อะไรเอ่ย? ที่ทำให้กามฉันทะที่ไม่เกิดย่อมไม่เกิด

 และที่เกิดแล้วงอกงามแล้ว จะถูกบรรเทาลงผ่อนคลายลง

 อันนี้เป็นเครื่องแก้ ธรรมชาติเดิมที่เป็นจริงของจิตที่เกิดอยู่

 จิตคิดไปแล้วเติมความคิดให้มาก

เกิดนิมิตแล้วขยายความเป็นอนุพยัญชนะ

ทำให้จิตฟุ้งซ่านออกไปตามกระแสอันนั้น

นี่คือธรรมชาติเดิมแท้ๆเป็นสถานะเดิม

ที่เราเป็นเช่นนี้อยู่ก่อนแล้ว แต่ธรรมชาติเป็นอยู่เช่นนี้

 พระพุทธเจ้าทรงสอนว่า สิ่งเหล่านี้คือธรรมชาติ

ที่เป็นอยู่แก้อย่างไร?ธรรมชาติอีกอย่างหนึ่ง

คือธรรมะคำสอนของพระพุทธเจ้า

 สอนให้แก้สิ่งที่มีอยู่แล้วให้ดีขึ้น หรือให้ถูกทางขึ้น

 ธรรมชาตินี้เป็นสิ่งแก้ได้

และธรรมชาตินั้นเป็นของที่มีอยู่แล้ว

พระพุทธองค์ทรงกล่าวว่า

 อะไรเอ่ย? ที่ทำให้กามฉันทะที่ไม่เกิดย่อมไม่เกิด

 เกิดแล้วถูกบรรเทาลง เริ่มแรกของจิตที่เกิดกิเลสราคะ

 คือ การนึกถึงสิ่งที่มีความงาม นึกถึงสิ่งที่เราชอบ

การนึกครั้งแรกเป็นนิมิตที่งาม

คือ สุภนิมิต(นิมิต แปลว่า เครื่องหมาย, สุภะ แปลว่า งาม)

อะไรเอ่ย? ที่ทำให้กามฉันทะที่ไม่เกิดย่อมเกิดขึ้น

 ที่เกิดแล้วย่อมเป็นไปเพื่อความงอกงาม

 ธรรมนี้แลทำให้กามฉันทะที่ไม่เกิดให้เกิดขึ้น

 เกิดแล้วจะงาม เมื่องามแล้วเพิ่มพูนมากขึ้น

กลายเป็นกำลังของกิเลสชนิดนี้ ก็คือ สุภนิมิต

 เมื่อนึกถึงสิ่งที่เราชอบ ภาพนั้นก็จะปรากฏออกมา

 แล้วอะไรเอ่ย? เป็นเครื่องแก้

 ตอนนี้เราไม่ได้นั่งสมาธิแล้ว

 ทีแรกทำสมาธิให้จิตนิ่งก่อน

แต่ตอนนี้มาวินิจฉัยใคร่ครวญ

ถึงความเป็นจริงของสิ่งที่มีอยู่

และจะดำเนินลุล่วงไปโดยกรรมวิธีที่เข้าใจนั้น

การตรึกตรองการพิจารณาเรียกว่า “ตั้งความเห็นใหม่”

แสดงว่าความเห็นเก่าๆ นั้นใช้ไม่ได้

เรียกว่า “ทิฏฐิ” แปลว่า ความเห็น

ความเห็นที่ใช้ไม่ได้ เรียกว่า “มิจฉาทิฏฐิ”

การตั้งความเห็นให้ตรง และถูกต้อง

ตามทำนองคลองธรรมหรือคำสอนของพระพุทธเจ้า

เรียกว่า “สัมมา” กลายเป็นคำว่า “สัมมาทิฏฐิ”

 จะเริ่มมีมรรคมีองค์แปด ได้แก่

สัมมาทิฏฐิ(ความเห็นชอบ)

สัมมาสังกัปโป(ความดำริชอบ)

สัมมาวาจา(การพูดจาชอบ)

สัมมากัมมันโต(การทำการงานชอบ)

สัมมาอาชีโว(การเลี้ยงชีวิตชอบ)

 สัมมาวายาโม (ความพากเพียรชอบ)

 สัมมาสติ(ความระลึกชอบ)

สัมมาสมาธิ(ความตั้งใจมั่นชอบ)

 เป็นการอบรมมรรค

มรรคหรือมรรคา แปลว่า ทางเดิน ทางเดิน ๘ ทางนี้

จะเป็นการพัฒนาจิตไปอีกรูปแบบหนึ่ง

 ไม่ได้หมายถึงว่า การทำสมาธิแล้วซ้ำซากอยู่ตรงนั้นก็ไม่ใช่

 เป็นการวางฐานะของตนเองไปตามลำดับ

ว่าจะวางจิตไว้อย่างไร ก่อนอื่นจะกระทำสิ่งใด

ควรศึกษาสิ่งที่มีอยู่ให้ละเอียดก่อน

คือ ศึกษาตัวละครทั้งหมดให้เห็นชัดเจนก่อน

 แล้วจะเข้าใจว่าแก้อย่างไร?

ประการที่ ๑ ธรรมชาติที่มีอยู่นั้นมีอยู่แล้ว

ประการที่ ๒ ธรรมะคำสอนของพระพุทธเจ้าทรงสอนอะไร

 ที่จะนำไปแก้ธรรมชาติเหล่านี้

ดังนั้น กามฉันทะที่ไม่เกิดจะไม่เกิด

ที่เกิดแล้วจะถูกบรรเทาลงด้วยธรรมชนิดไหน 

เราเข้าใจแล้วว่าสุภนิมิต

เป็นเครื่องหมายอันเป็นความงาม

 เป็นที่เกิดของราคะ นึกภาพอันเป็นที่ตั้งสุภนิมิต

ตั้งแล้วชอบใจว่าเป็นของงามราคะจะเกิด

เกิดแล้วจะงามแต่ธรรมอะไรที่จะมาหักล้างตรงนี้ได้

 ก็คือนึกถึงสิ่งใดเราตัดภาพนั้นทิ้งทันที

ภาพข้างนอกตัดทิ้งให้หมดไม่ให้นึกถึง

 เวลาจะนึกไม่ให้นึก ที่นึกถึงแล้วให้ตัดทิ้ง

แล้วนึกภาพของเราแทน

แต่มีปัญหาว่านึกภาพตัวเองไม่ออก

 เป็นปัญหาอีกแล้วตรงนี้เป็นเรื่องใหญ่

 หลับตาแล้วพิจารณาให้เห็นตัวเอง

 ปรากฏว่านึกไม่ได้จริงๆ แต่ทำไมนึกถึงคนอื่นได้

 ทำไมนึกถึงตัวเองไม่ได้ แปลกไหม?

 เราจะเห็นสิ่งต่าง ๆ ที่เป็นธรรมชาติของจิตนี้มีอยู่ 

ถ้าเรานึกเห็นภาพตัวเองตลอด

เห็นตัวเราแจ้งชัดเจนเหมือนกับที่เรานึกถึงคนอื่นได้

จิตก็มีภาพอันเดียว คือ ตัวเราคนเดียว

 เรียกว่า “กายเดียว จิตเดียว”

แต่เรานึกไปข้างนอกนึกเห็นคนหลากหลายในโลกนี้

จนนับไม่ถ้วนก็จะเป็นหลายอารมณ์

ข้างนอกหลากหลายกับเป้าหมายของจิต

ที่จะต้องวิ่งไปหา แต่ภาพของตัวเอง

เป็นเพียงเป้าหมายเดียว

 มากเป้าหมายก็คือมากด้วยอารมณ์

 เป็นที่มาของอารมณ์ต่างๆ อย่างนับไม่ถ้วน

ที่เรามานั่งสมาธิแล้วไม่สงบเลย

 มีแต่อารมณ์มาจากการที่จิตนึกหลากหลาย

 ถ้าจิตนึกภาพเราได้ขึ้นมา มีตัวเราอย่างเดียว

 อารมณ์ก็จะเป็นอารมณ์เดียวได้

ถ้าคนนั้นมองอย่างนี้แล้ว ชื่อว่า “มองทางถูกต้องแล้ว”

 แหลมคมพอที่จะมองปัญหาออกว่า

 ที่ถูกต้องทำอย่างนี้หรือ?

พระพุทธองค์ทรงตรัสสอนให้ทำสมาธิว่า

 “ภิกษุทั้งหลายยังจิตให้เป็นสมาธิเถิด

 เมื่อจิตเป็นสมาธิจะรู้ตามความเป็นจริง”

 คือ ให้พิจารณาร่างกายสังขารตั้งแต่

เกสา โลมา นะขา ทันตา ตะโจ และอาการทั้ง ๓๒ ประการ

บางครั้งสอนให้ทำสมาธิบางครั้งสอนให้พิจารณากาย

 ควรยึดแนวทางใด เพราะถ้าทำกิจใดอยู่

 อีกอย่างหนึ่งต้องปล่อยไป จะทำไปพร้อมกันไม่ได้

 ต้องเลือกที่จะทำอันใดอันหนึ่งเป็นอย่างๆไป

 เราเคยได้ยินอย่างนี้มิใช่หรือว่า

บางครั้งก็สอนอย่างนั้น บางครั้งก็สอนอย่างนี้

 เรียงลำดับไม่ถูกเอง จงเข้าใจเถิดว่าแรกๆ

 เราทำสมาธิก็ทำไปก่อนไม่เป็นไร ให้ทำอย่างเดิม

เมื่อทำอย่างเดิมแล้วหวังว่า การทำอย่างนี้ซ้ำซาก

ให้จิตสงบก็สงบได้ แต่ก็ได้แค่นั้นเอง

จิตเองมีความลึกลับซับซ้อนในตัวเอง

 เราจะต้องแก้ปัญหานั้นอีกปมหนึ่ง

การจับจิตให้นิ่งอยู่อย่างเดียว

ก็เหมือนการจับโจรไปติดคุก

 แล้วปล่อยไปนิสัยเดิมไม่ได้เปลี่ยน

จิตเราเมื่อฝึกทำมากๆแล้วเป็นสมาธิได้

 แต่เมื่อถึงเวลาออกจากสมาธิ จิตคอยจะออกอยู่แล้ว

 จิตนิ่งนานไม่ค่อยจะได้

เหมือนเราจับเด็กที่ซุกซนนิ่งได้ครู่เดียว

ลิงก็เหมือนกันจับให้อยู่นิ่งไม่ได้

 เพราะธรรมชาติไม่นิ่งอยู่แล้ว

เวลานิ่งแล้วนิสัยเดิมก็ออกอีก

 หลังจากทำให้จิตสงบแล้ว นิสัยเดิมก็มีเหมือนเดิม

 เพราะนิสัยเดิมไม่ได้ล้างออก

 การที่จะล้างนิสัยเดิมต้องอบรมจิตอีกขั้นหนึ่ง

 โดยการเปลี่ยนตำแหน่งจิตแทนที่จิตจะคิดไปข้างนอก

 จิตคิดเป็นภาพขึ้นมา เราตัดภาพนั้นทิ้ง

 นั่นคือ การเปลี่ยนพฤติกรรม

ไม่ให้จิตอาศัยตำแหน่งเดิมอยู่

เพราะทำเลนั้นเป็นที่งอกงามของกิเลสในลักษณะที่ว่า

 ทำเลเหล่านั้นกิเลสทั้งสามตัวจะงอกงาม

 เขาจะงามตรงนั้น แต่จะไม่งามในอีกที่หนึ่ง

เปรียบเหมือนพืชสองชนิด

 พืชบางชนิดอยู่ในน้ำงอกงาม

 อยู่บนบกจะไม่งาม แต่พืชบางอย่างอยู่บนบกโตได้

อยู่ในน้ำจะเน่าเสีย เหมือนผักบุ้งอยู่ในน้ำจะงาม

อยู่บนบกไม่ค่อยงอกงาม

ถ้าความชื้นไม่พอก็แห้งตาย

แต่ต้นไม้บางอย่างปลูกบนบก

ห้ามลงน้ำเวลาน้ำท่วมตาย

แสดงว่าพืชสองอย่างอาศัยต่างถิ่นกัน

 แล้วก็งอกงามต่างถิ่นกัน 

เราก็มาดูพฤติกรรมของจิตว่า กิเลสทั้งหมดที่มีอยู่

จะงอกงามไปเรื่อยๆ ถ้าเราเอาจิตส่งออกนอก

แล้วก็ซ้ำเติมเข้าไปอีก เขาปรุงแต่งอยู่ข้างนอก

แล้วเราก็เพิ่มความปรุงแต่งมากขึ้นๆ

 กิเลสต่างๆ จะงามในที่นั้น

 แล้วกิเลสต่างๆ จะไม่งาม เมื่อเรามามองดูตัวเราเอง

 จะมีวันที่เหี่ยวเฉาไปทุกขณะ

และสมาธิที่ไม่เกิดยังให้เกิด เมื่อเกิดแล้วจะงอกงาม

 ขณะที่จิตน้อมมาดูตัวนี่เอง สมาธิจะเกิดฝ่ายนี้

แต่จะไม่เกิดฝ่ายโน้น การทำสมาธิเช่นนี้

เราวินิจฉัยได้ว่า การตั้งจิตให้เป็นสมาธิ

ให้จิตนิ่งอย่างเดียว

 เป็นการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าเท่านั้นเอง

 แต่การจะแก้ปัญหาของจิตให้ยั่งยืนถาวร

เป็นสมาธิที่มั่นคง ต้องไปแก้อีกระบบหนึ่ง

ทำอย่างนี้อย่างเดียว ไม่เช่นนั้น

เราก็ไม่สามารถหาทางออกได้

 ถ้าเราทำอย่างนี้นานเข้าๆ เราจะเห็นชัดว่า

กิเลสของตนที่มีอยู่บางลงจริงๆ

 ราคะ โทสะ โมหะ ก็เบาลง 

แสดงว่ากิเลสแก้ตรงนี้เองหรือ?

 ทำไมถึงตื้น และตื้นมากด้วย

อารมณ์เหมือนคนธรรมดาทั่วไป

แต่เปลี่ยนที่เท่านั้นเองระหว่างนอกกับใน

 จะเข้าสมาธิลึกๆก็ไม่ใช่ จะส่งจิตออกนอกก็ไม่ใช่

 เป็นระหว่างกึ่งกลางนั่นแหละ

ตรงนั้นเองกิเลสดับตรงนั้น ตาลืม ๆ

นี่แหละ ลืมก็ได้หลับก็ได้ ไม่ได้เข้าสมาธิอะไรเลย

 เขาแก้ตรงนี้ ทำไมมาแก้ตรงนี้

 เพราะว่ากิเลสเกิดตรงนี้ อุณหภูมินี้ ทำเลนี้

 เราก็แก้ตรงนี้ เพราะผู้ร้ายอยู่ตรงนี้ เราไปจับที่ไหนล่ะ

 เขาอยู่ตรงไหนก็ฆ่าเขาที่นั่น ถูกไหม?

ทำไปทำมาก็เป็นสตินี่เอง เป็นทางสายเอก

 ที่พระพุทธองค์ทรงตรัสว่า เป็นทางเส้นเดียว

ที่ยังหมู่สัตว์ทั้งหลายให้ลุถึงมรรคผลนิพพานได้

 คือ สติปัฏฐาน ๔ ไม่ได้เรียกว่าสมาธิปัฏฐาน ๔

 อันนี้เราอบรมไปก่อน มีคนทำสงสัยว่าผิดหรือเปล่า?

ถูกหรือเปล่า? คนนั้นว่าอย่างนี้ คนนี้ว่าอย่างนั้น

 ความสงสัยทำให้เราเปลี่ยนการกระทำอยู่เรื่อยไม่ดี

 ทำลงไปก่อนผิดถูกไม่ว่า เราก็ผิดมาแล้วไม่รู้กี่ภพกี่ชาติ

 ทำผิดทำถูกจะเป็นอะไรไป ทำไปก่อน

 ทำแล้วแก้ได้แน่นอน

เพราะว่าเราตัดผลเพิ่มของกิเลส

 สมมุติว่าไฟกำลังลุก แต่เราไม่เติมฟืนเข้าไป

 นานเข้าๆ ไฟนั้นก็มอด ทีแรกเรานึกถึงตัวเองจะไม่เห็น

 แต่นึกไปก่อนนึกสร้างภาพขึ้นมา ต้องสร้างภาพขึ้นมา

จะให้เห็นเองนั้น ไม่เห็น อันเดียวกับจินตนาการก็ว่าได้

 แต่จินตนาการนั้นเป็นอุบายชนิดหนึ่ง

ที่ทำให้จิตอยู่ได้แล้วเป็นสมาธิได้

 บางคนคิดว่ามองไปเรื่อยๆ

 การที่เราสร้างภาพของตัวเองขึ้นมา

 เพื่อให้จิตไม่มีโอกาสสร้างภาพข้างนอกขึ้นมา

 ตรงนี้บางคนคิดว่าเราจินตนาการว่า

เป็นวิปัสสนึกหรือเปล่า? ไม่รู้ทั้งนั้น ทำไปก่อน

 ดีกว่าปล่อยจิตให้เที่ยวไปเฉยๆ ไม่ได้ประโยชน์อะไร 

การพิจารณาและการสร้างภาพของตัวเองขึ้นนั้น

ถูกต้องแล้ว รู้เบื้องปลายโน่นว่าถูกหรือผิด

 จับผิดจับถูกไปก่อน ไม่เป็นไร

เพราะทางมืด ไม่รู้จะทำอย่างไร ให้จิตหยุดได้

แต่จิตหยุดได้ หยุดได้เมื่อเราพิจารณาตัวเองอยู่ซ้ำซาก

 การพิจารณาตัวเองต้องสร้างอารมณ์ขึ้นมาด้วย

ไม่ได้หมายถึงการพิจารณาตัวเองจะมองเพ่งอยู่เฉยๆนั้น

ไม่ใช่ ! เราจะต้องสร้างอารมณ์ร่วมให้เกิดให้มีขึ้นมาด้วย

 เช่น เรามองตัวเองแล้วนึกถึงว่า

 สักวันหนึ่งเราจะต้องตาย (มรณานุสติ)

 ถ้าเขาไม่ฉีดยาเราตัวเราจะขึ้นอืดตัวพองขึ้น

น้ำเลือดน้ำเหลืองไหล เป็นการสร้างอารมณ์ร่วม

สร้างสัญญาสำทับลงไปที่จิตอีกทีหนึ่ง

จิตกลมกล่อมชักชวนจิตให้โน้มเอียง

ไปทางวิราคะ (วิ แปลว่า ไม่) วิราคะ คือ ออกจากราคะ

 นึกถึงข้างนอกเป็นราคะ นึกถึงข้างในเป็นวิราคะ

 ความปราศจากกามราคะ หนีออกจากกามราคะได้

เป็นวิราคธรรม เป็นการถ่ายถอน เป็นการสำรอก

ถ้าเรานึกอยู่เป็นประจำแล้วสร้างเรื่องราว

พิจารณาตัวเองให้อยู่ในไตรลักษณ์อย่างเดียว

นึกถึงความไม่เที่ยง นึกถึงเรื่องตาย

 นึกแต่เรื่องตาย นึกจริงๆ ถ้านึกถึงความตายแล้ว

จิตจะวนอยู่ในตัวเรา แต่ถ้านึกว่าเราอยากได้นั้นได้นี่

 อยากเป็นนั่นเป็นนี่ จิตจะวิ่งออกนอก

ใครจะมีกำลังกว่ากัน

 ระหว่างจิตที่จะถูกดึงออกข้างนอก

กับจิตที่คิดเรื่องตายนี้

เป็นการสร้างขึ้นมาโดยเจตนาของเรา

 จะให้เป็นเองนั้นไม่เป็น

ดังที่พระพุทธองค์ทรงตรัสสอนว่า

 “จงเจริญสตินึกถึงความตายอยู่ตลอดเวลา”

 พิจารณาความตาย พิจารณาอสุภะต่างๆ

 นั้นคือการให้จิตพรรณนาถึงความไม่เที่ยงของตน

 เป็นของที่จะต้องแตกดับสลายหาความยั่งยืนไม่ได้

 พิจารณาแต่เรื่องตาย สรุปลงที่ตาย

 ความตายเป็นสิ่งที่ชาวโลกเขาไม่นึกกัน

ทางธรรมเขาจะนึกถึงเป็นสิ่งตรงข้ามหมด

 นึกถึงสิ่งที่เขาไม่นึกกันนั่นแหละ

 แล้วก็ไม่นึกถึงสิ่งที่เขานึกกัน สิ่งที่ชาวโลกนึกกัน

เราจะไม่นึกถึงสิ่งนั้น กลับด้านหมดเลย

 ทำไมเราต้องนึกกลับด้านอย่างนี้

 เพราะทำให้เกิดสมาธิทุกอย่างได้

 วันหนึ่งๆ เราไม่ให้โอกาสจิตคิดข้างนอกเลย

 คิดแต่ข้างใน เวลาทำความสงบถูกขัดเกลามาทั้งวันแล้ว

 มานั่งชั่วโมงนี้ก็ง่ายขึ้น แต่ถ้าเราปล่อยจิตออกไปทั้งวัน

 แล้วมาทำสมาธิบังคับให้จิตสงบ

จิตท่องเที่ยวจนสุดกู่แล้วบังคับให้จิตสงบ

 จะสงบได้อย่างไร? กำลังมันเยอะเที่ยวจนเพลินแล้ว

ระหว่างที่เที่ยวไม่คุมจิตเลย สุดท้ายจิตไม่สงบ

ก็ล้มเลิกแล้วปล่อยไปอีก พรุ่งนี้มาทำอีกก็อย่างเดิม

 มะรืนนี้ก็อย่างเดิม ไม่อาจทำจิตให้สงบเป็นสมาธิได้

 จะเป็นได้อย่างไรมันไม่มีระบบ

เขาจะต้องอบรมทั้งวัน แล้วจิตมันเป็นเอง

สมาธิแย่งจะเป็นเสียด้วยซ้ำ เพราะการขัดเกลาตลอด

 ไม่ให้จิตรั่วไหลไปไหน 

การอบรมกายคตาสติเอาจิตพิจารณาตัวเรา

ซ้ำไปซ้ำมาอยู่อย่างนั้น นานเข้าๆ

จิตจะเริ่มคุกรุ่นเป็นสมาธิขึ้นมา เราจะรู้สึกว่า

จิตเริ่มเป็นสมาธิแล้ว สมาธิมากขึ้นๆ ในตัวมันเอง

ทั้งๆ ที่ตัวเราเองคิดแต่เรื่องตายๆ

สิ่งเหล่านี้คิดไปแล้วจะยังให้เกิดสมาธิ

แต่การคิดข้างนอกคิดเท่าไหร่ก็ไม่เป็นสมาธิ

การคิดในตัวเองจะเป็นสมาธิได้

 ความคิดเหมือนกันแต่อยู่คนละที่

ทำไมข้างในต้องคิดด้วย เพราะเราจะต้องให้จิตรู้

 และเข้าใจความไม่เที่ยงของตัวเอง เพื่อเป็นการแก้

 และไม่ให้โอกาสความคิดข้างนอกเกิดขึ้น

 การอบรมเช่นนี้ทั้งกลางวันกลางคืน นานเข้าๆๆ

เราก็เห็นตัวเองชัดขึ้นๆ แล้วเอาความเห็นตัวเองนั้น

เป็นเครื่องอยู่ของจิต นานเข้าๆความชำนิชำนาญมีมาก

 แล้วจิตดวงนี้ถูกอบรมอยู่กับที่มากๆ

จะสว่างไสวในตัวเองเกิดเป็นสมาธิขึ้นมาในตัวเอง

 และเป็นสมาธิแบบใหม่ที่เราไม่เคยมีมาก่อน

 เมื่อก่อนเป็นสมาธิที่จิตนิ่งในตัวเอง

 แต่บัดนี้เห็นร่างกายชัดเจนในความสว่างไสวนั้น

นิ่งด้วย เห็นด้วย แต่สมาธิแบบจิตสงบ

ทีแรกนั้นสว่างไสวแต่ไม่เห็นตัวเอง

จิตนิ่งเห็นแต่ตัวจิต

(จิตเห็นตัวจิตเองเป็นสมาธิแบบโลกีย์)

 การพิจารณากายเป็นสมาธิแบบโลกุตตระ

 เป็นสมาธิอีกแบบหนึ่ง สมาธิสองอย่างนี้ไม่เหมือนกัน 

การที่จิตเห็นจิตเป็นสมาธิเกิดขึ้นแต่แก้กิเลสไม่ได้

 การเอาจิตมาพิจารณาดูตัวเราในอาการ ๓๒ แก้กิเลสได้

 ฉะนั้น เราจำเป็นต้องสร้างภาพตัวเองขึ้นมาเพื่ออะไร?

 เพื่อแก้ปัญหาที่จิตจะสร้างภาพข้างนอกไม่ให้สร้างแล้ว

 สร้างภาพข้างในแล้วล็อกความเห็นภาพข้างในนั้นไว้

โดยวิธีเห็นตัวเองให้แจ้งชัดเจนแล้ว

เอาความเห็นนั้นเป็นเครื่องอยู่ของจิตดวงนี้

 เท่านั้นเองจิตของเราจะไม่อยู่ข้างนอกเลย

 แผนอันนี้วางไว้แล้วด้วยสติปัญญา

คนๆนั้นมองรูปการออกว่า งานชิ้นนี้ถ้าทำสำเร็จได้

 จิตนั้นจะหลุดออกจากภาวะทางโลกได้

อารมณ์จะไม่เหลือเลยในโลกนี้ เพราะมองเห็นแล้ว 

ถ้าเราทำมากๆเข้า งมผิดงมถูกทำไปก่อน

 จะเชื่อก็ไม่ใช่ ไม่เชื่อก็ไม่ใช่ ทำก่อน

 ขออย่างเดียวเราชนะอารมณ์ได้ก็พอแล้ว

 จะถูกหรือผิดก็ช่างเถอะ ขอให้จิตของเรา

เป็นหนึ่งเดียวได้ก็พอแล้วชีวิตนี้ ทำอย่างไร จะทำได้

 ทำวิธีนี้แหละทำได้ ผิดถูกไม่มีใครพยากรณ์

 นอกจากความพึงพอใจในผลงาน

 เราลูกกำพร้าพ่อแม่ทิ้งมรดกไว้ ปล่อยให้งมเอาเอง

 พระพุทธองค์ทรงค้นหาสัจธรรมไว้แล้ว

ก็ทรงปรินิพพานไปแล้ว เราก็เอามรดกที่ทรงให้ไว้

เอามาตีให้แตก พระองค์ไม่สามารถที่จะดูแลเราตรงนี้

 แต่เรานำพระธรรมคำสอน

ของพระพุทธองค์มาดูแลตัวเราเอง

 หากเราฟังธรรมแล้วน้อมนำมาประพฤติปฏิบัติได้

 ถ้าเราทำไปๆ จะเริ่มเห็นตัวเองชัดขึ้นไปๆ

 ชัดขนาดไหน ที่ไม่ชัดให้ชัด เน้นให้เห็น

 ที่ไม่เห็นให้เห็น แล้วรักษาไว้

 ที่ยังไม่เห็นให้สร้างความเห็นเพิ่ม

ที่เห็นแล้วรักษาตำแหน่งที่เห็นนั้นไว้ไปเรื่อยๆ

เช่นเราเห็น ผม เล็บ ฟัน หนัง ก็พยายามรักษาไว้

แล้วค่อยๆ รุกล้ำเข้าไปกินเนื้อที่ไปเรื่อยๆ

จนทั้งตัวไม่เว้นแม้แต่นิดเดียว แล้วเอาความเห็นนี้

เป็นเครื่องอยู่ของจิต จิตมีหนึ่งเดียว

ถ้าอยู่ข้างในได้ก็ไม่อยู่ข้างนอก

ถ้าอยู่ข้างนอกก็ไม่อยู่ข้างใน จิตมีดวงเดียว

 เก้าอี้มีตัวเดียว ถ้าคนหนึ่งนั่ง อีกคนหนึ่งก็ไม่ได้นั่ง

 จิตมีดวงเดียวถ้ามัวแต่คิดข้างนอก ข้างในก็ไม่ได้คิด

 จึงไม่เป็นสมาธิ แต่ถ้าอยู่ข้างใน

จิตไม่มีโอกาสที่จะออกไปคิด

เท่ากับว่าจิตมีอารมณ์เดียว

 อารมณ์ข้างนอกก็รอค้างอยู่ จิตมีดวงเดียว

จิตไม่วิ่งไปหาอารมณ์ข้างนอก 

ความจริงเราเป็นผู้ผิด อารมณ์เขาอยู่ข้างนอก

โปรยปรายไว้ในโลกอยู่แล้ว

 จิตของเราวิ่งออกไปหาอารมณ์ข้างนอกเอง

 แล้วก็กล่าวหาว่าสิ่งเหล่านั้นกวนเรา

การแก้นี้แก้ตรงที่เรามีสิทธิ

ที่จะส่งจิตออกหรือไม่ส่งจิตออก

 แต่ถ้าส่งจิตออกไปแล้ว เขารุมจิตเราผูกจิตเราไว้

เราก็ไม่มีอำนาจ เพียงแต่เราจะส่งจิตไปหรือเปล่า?

ตัดสินใจให้ดี ! จะส่งจิตไปข้างนอกหรือให้เข้าข้างใน

 บางคนคิดว่าเราไม่มีสิทธิอะไรเลยหรือ?

ดูว่าจิตนี้เบื้องต้นบอกกับตัวเองว่า

 ตัวเราขออย่าแก่ อย่าเจ็บ อย่าตายเลย

เราก็ไม่มีสิทธิอะไร อีกกรณีหนึ่ง

เราพยายามบังคับจิตให้สงบ

อย่าไปให้นิ่งอยู่ อย่าคิดเลย

 เราบอกจิตของเราอย่างนั้น แต่จิตก็หาได้ฟังไม่

จิตไม่เชื่อฟังจิตจึงไม่สงบ แสดงว่าเจตนาของเรา

ไม่มีผลเหมือนกับเราเรียกร้องสิทธิตรงนี้ไม่ได้เลย

การเรียกร้องสิทธิของเราว่างเปล่าไม่มีประโยชน์

 เราไม่มีอำนาจอะไรเลย บอกให้หยุดก็ไม่หยุด

บอกให้คิดดีๆ จะคิดแต่ชั่วๆ บอกให้อยู่ก็จะไป

เขาไม่ขึ้นตรงต่อเราเลย เราไม่อำนาจอะไรเลย

จิตนี้ควบคุมไม่ได้ ถ้าอย่างนั้นคนนี้

ก็ไม่สามารถจะทำอะไรได้เลย

การค้นพบโดยชอบก็มีขึ้นไม่ได้

 เพราะไม่มีอำนาจคุมอะไรได้เลย บางคนสงสัยว่า

เราก็ทำให้พ้นทุกข์ไม่ได้ หาทางออกไม่ได้

 เพราะเราไม่มีสิทธิไม่มีอำนาจในตัวเอง

 ความจริงนั้นมีอยู่เป็นช่องนิดเดียว 

เราบอกจิตให้หยุดแต่จิตไม่หยุด

จริงอยู่จิตไม่ได้ขึ้นตรงต่อเรา แต่เมื่อสังเกต

เราจะเห็นจิตเราส่งไปหาอารมณ์เอง

แล้วก็ถูกอารมณ์นั้นมัดเอาไว้ เหมือนเรามีลูกคนหนึ่ง

แล้วปล่อยออกจากบ้านไปเล่นกับเพื่อนๆ

ข้างนอกบ้าน แล้วประพฤติไม่ดีต่างๆ นานา

 ตามเด็กที่มีนิสัยเกเรเสี้ยมสอนเอาไว้

 เราก็บ่นว่าลูกเราไม่ขึ้นตรงต่อเรา เกเรนิสัยไม่ดี

ถูกเพื่อนๆ ชักจูงไปในทางไม่ดี

 เราโทษว่าเราไม่มีอำนาจอะไรที่จะเลี้ยงลูกเราได้

 สอนมันก็ไม่เอาเป็นเด็กไม่ดี แต่ลืมนึกไปว่า

เราปล่อยลูกออกจากบ้านเอง ตรงนี้เรามีสิทธิไม่ใช่หรือ?

 ที่จะปล่อยลูกออกไปหรือไม่ให้ออกไป

ถ้าปล่อยออกจากบ้านแล้วเราไม่มีอำนาจ

 เด็กๆจะคลุกคลีกันแล้วประพฤติเสียหาย

 แต่ถ้าเราไม่ปล่อยลูกไป ลูกเราก็จะเสียคนไม่ได้

ตรงนี้เองเรามีสิทธิ จะปล่อยลูกของเราไปหรือไม่?

หรือจะให้ลูกอยู่ในบ้านแล้วเสี้ยมสอนใหม่ 

จิตของเราก็เหมือนกัน การที่จะรู้พระธรรมคำสอน

ของพระพุทธเจ้านั้น มีช่องนิดเดียว

การที่ถูกครอบงำไปหมด

เพราะจิตของเราปล่อยออกข้างนอก

 เราจะให้จิตอยู่ข้างในหรือจะอยู่ข้างนอกดี

เราจะปล่อยจิตออกไปตามนิสัยเดิมๆ

 หรือเราจะขังจิตไว้ข้างใน ตรงนี้เรามีสิทธิ์

 เรามีสิทธิตรงนี้เอง จงเอาช่องนิดเดียวนี้

ให้เป็นโอกาสของเราเอาชนะข้าศึกได้ 

เราไม่ได้สิ้นอำนาจทั้งหมดก็หาไม่ เพียงแต่อำนาจเรามี

แต่ถูกครอบงำอยู่ แล้วก็วางตำแหน่งระบบที่ผิดเอาไว้

 ทำให้เราไม่มีอำนาจ อำนาจมีเหมือนไม่มี

 แล้วช่องทางอันน้อยนิดเราจะฉวยโอกาสนี้

ให้เป็นทางเดินที่จะนำไปสู่การพ้นทุกข์ได้

เท่ากับว่าเราจะไม่ปล่อยจิตดวงนี้

ออกไปข้างนอกอย่างเก่าก่อน นี่คือสิทธิของเรา

 แล้วก็ใช้สติประคับประคองจิตของเรา

ให้อยู่ข้างในอย่างเดียวได้ เมื่อเป็นอย่างนี้แล้ว

ก็มีแวว ถ้าไม่อย่างนั้นก็ตัน จะเอาอะไรไม่ได้เลยชีวิตนี้

 อะไรก็ไม่ขึ้นต่อเราเลย แล้วเรามีชีวิตเพื่ออะไร

มีชีวิตเหมือนไม่มี เพราะไม่มีอะไรขึ้นตรงต่อเรา

แล้วลองถามตัวเองว่า สิทธิทั้งหมดเรา

จะเป็นผู้ครอบครองทั้งหมด

ไม่ขึ้นตรงต่อเขาทั้งหมดเลยมีไหมอย่างนั้น

 ในเมื่อกิเลสครองหัวใจเรามาก่อน แต่ตอนนี้เราจะเปลี่ยน

 เราจะไม่ให้เขามีอำนาจแม้แต่นิดเดียว

แล้วเราจะครอบครองทั้งหมดได้ไหมอย่างนั้น

 ตอบให้ก็ได้ว่า ได้ ! ได้ ! แน่นอน

นั่นคือการพ้นทุกข์แล้ว มีสิทธิทุกอย่างในตัวของเราได้

เท่ากับว่าเราไม่เป็นทาสแล้ว

คำสอนของพระพุทธเจ้าเมื่อน้อมนำมาปฏิบัติ

 เราก็จะเกิดการปฏิวัติขึ้นจัดระบบการปกครองใหม่ทั้งหมด

 แล้วเราจะปกครองเอง โค่นอำนาจเดิมให้หมดขนาดนั้นเลย

จัดระเบียบใหม่แล้วเราขอปกครองชีวิตของเราเอง

ไม่ขึ้นตรงต่อใคร อำนาจนี้ครอบงำเรามานมนานแล้ว

 ระบบนี้ปกครองในหัวใจเรามานานแล้ว

เราเหนื่อยเหลือเกินกับความเป็นธรรมชาติอย่างนี้

 เราขอเป็นอิสระบ้าง นี่คือที่มาของการต่อสู้

เพื่ออิสรภาพของตัวเอง แต่ถ้าไม่มีคำสอนของพระพุทธเจ้า

แล้วเราทำไม่ได้ เพราะไม่มีความรู้

สติปัญญาของเรารู้เองไม่ได้ เล่ห์เหลี่ยมทั้งหมดของกิเลส

ไม่มีใครชี้แนะเราได้ นอกจากพระพุทธเจ้า 

คนในโลกนี้ ถ้าไม่มีการอุบัติขึ้นมา

ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้ว จะไม่มีใครเลยที่จะทำได้

ความรู้นี้พระองค์ทรงถ่ายทอดให้สู้สิ่งเหล่านี้ได้

 แสงสว่างที่สุดในโลกนี้ที่เราได้รับคือพระธรรมคำสั่งสอน

ของพระพุทธเจ้า เหลือเพียงแต่ว่าเราจะน้อมมาปฏิบัติ

หรือไม่เท่านั้นเอง เราจะอบรมตัวเองเช่นนี้

ทั้งกลางคืนกลางวัน ตลอดเวลาจนจิตเห็นตัวเองชัดขึ้นมาๆ

ตามเจตนาที่สร้างขึ้นมาเองอย่างซ้ำซากแล้ว

อาศัยความเห็นนั้นเป็นเครื่องอยู่ของจิตดวงนี้

 และพยายามพอกพูนสิ่งที่ไม่เห็นยังให้เห็น

 สิ่งที่เห็นแล้วยังให้ความเห็นนั้นมากขึ้น

และเพียรละอารมณ์ข้างนอกไม่ให้มีโอกาสเกิด

 ไม่มีโอกาสคิด ทำให้ตรงนั้นไม่มีทางเส้นเดิม

โค่นระบบเดิมแล้วจัดระบบใหม่ขึ้นมา

 ทำแล้วดูว่า จะเป็นอย่างไรจิตดวงนี้

เดี๋ยวจะมีผลออกมาตามลำดับให้เราเห็นตลอดเวลา

 ผิดถูกไม่รู้ทำไปก่อน ทำทั้งกลางคืนกลางวัน

ทำมากขึ้นๆๆ เราจะเห็นตัวเองชัดขึ้นๆ

จิตจะสว่างไสวออกมา ทั้งแสงสว่างในตัวมันเองด้วย

 เหมือนแสงหลอดไฟและการเห็นตัวเองชัดขึ้นมาด้วย

 จิตเป็นสมาธิอีกแบบหนึ่ง และสมาธิตรงนี้ตื้นมาก

 เป็นสมาธิที่จิตดิ่งเข้าไปในตัวรู้ก็ไม่ใช่

จิตจะออกไปคิดข้างนอกก็ไม่ใช่

แต่เป็นสติที่คาบเกี่ยวระหว่างนอกกับในเป็นแค่สติ

แต่เมื่อสติเกิดหนาแน่นมากๆ สตินั้นจะเป็นตัวสมาธิออกมาเอง

 สมาธิตรงนี้รู้ยากเหลือเกิน เป็นไปตามกลไก

หรือระบบเหล่านี้เท่านั้น ที่จะผลิตสมาธิอย่างนี้

ออกมาให้เห็นได้ และตัวสมาธิเองมิได้หมายถึง

จิตจะนิ่งอย่างเดียวก็หาไม่ นิ่งด้วยและเห็นขึ้นมาด้วย

เรียกว่า “ญาณทัสสนะ”

(ญาณ แปลว่า รู้, ทัสสนะ แปลว่า เห็น)

 เท่ากับว่าดวงตาข้างในเราเปิดขึ้นมาก็ถูกต้อง

 ตาในเปิดนึกถึงตัวเองเรื่อยๆ ต่อมาเห็นจริงๆ

เห็นแล้วก็ลุกลามขึ้นไปทั่วตัวมากขึ้นๆ

 แล้วก็รักษาความเห็นนั้น เอาไว้เป็นเครื่องอยู่ของจิต

 ทำไมจึงต้องเป็นเครื่องอยู่ เพราะธรรมชาติจิต

เป็นของเลื่อนไหล เราจะปล่อยลอยอยู่กลางอากาศ

หรือจะวางอยู่ในตำแหน่งไหน? จิตมักจะเลื่อนไหล

ไปตามสิ่งที่ต่ำกว่าหรือลาดลุ่มกว่าเหมือนน้ำ

 วางตรงไหนจะไหลไปเรื่อย แต่ถ้าเรามีภาชนะขึ้นมา

 น้ำนั้นก็ตั้งอยู่ได้ ภาชนะนั้นเป็นรูปใดน้ำก็เป็นรูปนั้น

 ถ้าเป็นแก้วก็เป็นรูปแก้ว ถ้าเป็นขวดก็เป็นรูปขวดที่บรรจุ

 แต่ตัวของเราเป็นรูปอาการ ๓๒ จิตนั้นก็เป็นรูป

คือ อาการ ๓๒ จิตนั้นเหมือนน้ำเหมือนกับว่า

ตัวเราทุกอณูของทุกขุมขนหรืออาการ ๓๒

ถูกคลุกเคล้าด้วยตัวรู้ของจิต และตัวรู้ตัวเห็นของจิต

คลุกเคล้าอวัยวะทุกส่วนของร่างกาย สมาธิเป็นสติ

เป็นสัมปชัญญะ รู้ตัวทั่วพร้อม กลายเป็นสติปัฏฐาน ๔

 และสมาธิประเภทนี้เกิดยากรู้ยาก

เมื่อเกิดแล้วจะคงทนความเป็นสมาธิอยู่นานมาก

 ทำไปทำมาเป็นสมาธินานตลอด ๒๔ ชั่วโมงก็ว่าได้

 เป็นสมาธิที่ไม่เสื่อมหายไม่คลอนแคลน

 พร้อมที่จะมั่นคงถาวรไปตามลำดับๆ

 ของอินทรีย์หรือว่าการประพฤติปฏิบัติเพิ่มพูนขึ้น

 สมาธิอย่างนี้เป็นสมาธิที่เรียกว่า “โลกุตตรสมาธิ”

เป็นสมาธิที่ไม่เสื่อม

การทำจิตให้มีสมาธิลึกๆ (สมาธิแบบโลกีย์)

 จิตแนบแน่นมากกลับเสื่อมได้

ถ้ามีอารมณ์เกิดขึ้นมากๆก็เสื่อมได้

แต่เราทำจิตตื้นๆ ตื่นๆ แบบรู้ตัวทั่วพร้อม

 รู้เห็นตัวเองชัดขึ้นมาเป็นแค่สติ

ตื้นกว่ากลับเป็นของเสื่อมไม่ได้

 เพราะสติตื่นรู้นั้นหนาแน่นมากขึ้นจนกลายเป็นมหาสติ

 ถ้าใครรู้สมาธิทั้งสองอย่างในตัวคนเดียว

 คนนั้นแหลมลึกด้วยปัญญาจริงๆ เฟ้นสิ่งที่ไม่เกิดให้เกิด

สิ่งที่ไม่มีให้มี และมีแล้วรู้จักธรรมชาตินั้นดี

ด้วยสติปัญญาของตน สมาธิอย่างนี้จะงอกงามขึ้น

 พร้อมกับรู้เห็นแจ้งในสรีระของเราตลอดเวลา

 เห็นตั้งแต่ศีรษะถึงปลายเท้าของเราตลอด

ทั้งกลางคืนกลางวัน เห็นแล้วให้เป็นเครื่องอยู่

 และอยู่ตรงนั้นตลอดไป จิตห้ามออกเอาสิจะปิดให้ตายเลย

 จิตดวงนี้ไม่ให้หลุดไปข้างนอกเลย

 ให้อยู่ข้างในอย่างเดียว แล้วก็อาศัยความเห็นนั้น

เป็นเครื่องอยู่ของจิตเหมาะเจาะจริงๆเลย

อบรมจิตอย่างนั้นทั้งกลางคืนกลางวัน

กลายเป็นว่าตัวของเรากับจิตคลุกเคล้า

เป็นสิ่งหนึ่งเดียวอยู่ในตัวเอง สมาธินี้จะไม่เสื่อม

จะปรากฏอยู่ทั้งกลางคืนกลางวัน เรียกว่า “ญาณทัสสนะ”

 รู้แจ้งสรีระร่างกายของเราตั้งแต่ศีรษะถึงปลายเท้า

จนเห็นแจ้ง เห็นในที่นี้คือจิตเห็นขึ้นมา

ตามเจตนาของเราที่ตั้งเอาไว้

อบรมมาตามลำดับ เมื่อจิตเห็นแจ้งสรีระของเรา

ตามเป็นจริงอย่างนั้น ย่อมเห็นความไม่เที่ยงในตน

ในขณะเดียวกันนั้นด้วย เห็นความตายอยูตลอดเวลา

 เห็นตัวเองเหมือนซากศพ เห็นข้างนอกข้างใน

เห็นแล้วก็สลดสังเวชใจว่า ตัวเราแท้จริงไม่มีอะไร

 เป็นแค่ธาตุ ๔ ดิน น้ำ ลม ไฟ

รวมตัวกันเข้าเป็นร่างกายของเรา

 การเห็นอย่างนี้เป็นอุบายอย่างเดียวในโลก

ที่จิตจะยอมรับ และเลิกพฤติกรรม

ล้มล้างอุดมการณ์เดิมได้ โดยเหตุผลอันเดียวนี้เท่านั้น

 ไม่ว่าจิตชนิดใด ถ้าคิดจะไปไหนแล้ว

มีอันต้องเลิกไปอย่างเดียว เปลี่ยนทัศนคติใหม่

 นิสัยเดิมที่เกเรอยู่ เป็นนิสัยที่จะต้องเปลี่ยน

ตัวเราแท้จริงแล้วเป็นของว่างเปล่า

 รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ

อันเกิดจากการเห็นแจ้งของตนที่อบรมมาตามลำดับ

เป็นพยานให้รู้เห็นอยู่ จิตดวงนั้นจะยอมจำนนต่อเหตุผล

 เห็นแล้วจะเอาความเห็นนั้นเป็นพยานในตัวเองว่า

 จะดื้อไปถึงไหน ดูสิตัวเรามีอะไร

ความดื้อดึงคึกคะนองไปตามอารมณ์ของกิเลส

ที่มีอยู่เหมือนสัตว์ป่าที่ไม่ได้ถูกฝึก

เมื่อเขาเห็นตรงนั้นเขาจะสลดสังเวชว่า

จริงๆแล้วนึกว่าตัวของเรามีตัวตน ตัวของตนอยู่ในที่นั้น

 ความเห็นเดิมของจิตดวงนี้มีความสำคัญมั่นหมาย

และคิดว่า ตัวของเราทั้งหมดจะมีอะไรสักอย่าง

ที่เป็นตัวของตน ความคิดความเข้าใจเดิมทีของจิตดวงนี้

จะเข้าใจอย่างนี้มาก่อน

ครั้นจิตเห็นจริงๆจากการค้นดูแล้วประจักษ์กับจิตของตน

ว่าตัวตนไม่มี การเห็นตรงนี้ทำให้จิตเป็นพยานในตัวเองว่า

 ไม่มีตัวตนของตน แต่ที่มีอยู่กลับเป็นของว่างเปล่า

 จิตจึงได้เข้าใจว่า ชีวิตตัวตนของเราจริงๆ

ไม่มีหรือนี่ ! เดิมจิตไม่เข้าใจตรงนี้

เป็นเหตุแห่งความยุ่งยากสับสน

ก่อให้เกิดปัญหาเรื่องราวต่างๆตามมา

เพราะความไม่เข้าใจตรงนี้

ที่คิดไม่จบเนื่องจากเหตุนี้เอง

 พระพุทธองค์ทรงตรัสว่า

 “ภิกษุทั้งหลาย รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ

เที่ยงหรือไม่เที่ยง ภิกษุทั้งหลายกราบทูลว่า

ไม่เที่ยงพระพุทธเจ้าข้า เมื่อไม่เที่ยงแล้ว

ควรหรือที่จะยึดถือเป็นของเราเป็นตัวตนของเรา

ภิกษุทั้งหลายกราบทูลว่า ไม่ควรพระพุทธเจ้าข้า”

เมื่อประจักษ์แจ้งกับจิตตนแล้วย่อมเบื่อหน่าย

 เมื่อเบื่อหน่ายก็คลายกำหนัด เมื่อคลายกำหนัด

จิตก็หลุดพ้น เมื่อหลุดพ้นแล้ว

ก็มีญาณหยั่งรู้ว่าหลุดพ้นแล้ว รู้ชัดว่าชาติสิ้นแล้ว

อยู่จบพรหมจรรย์แล้ว ทำกิจที่ควรทำเสร็จแล้ว

 ไม่มีกิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้อีกต่อไป

ซึ่งมีกล่าวไว้มากในพระไตรปิฎก

ความจริงจิตเบื่อหน่ายในเบญจขันธ์(ขันธ์ ๕)

แต่ก่อนที่จะเบื่อหน่ายให้เอาจิตไปเห็นแจ้งก่อน

จะเบื่อหน่ายของที่ยังไม่เห็นจะเป็นไปได้อย่างไร

 การทำให้แจ้งย่อมมีขึ้นด้วยประการฉะนี้

ต้องทำให้เห็นแจ้ง ทำให้ตาในมองเห็นชัด

 เราต้องอบรมจิต จำเป็นจะต้องจินตนาการ

สร้างภาพขึ้นมา เดิมจิตไม่ได้อยู่ตรงนั้น

จิตเปลี่ยนไปตามเนื้องานที่มีอยู่เราต้องเข้าใจไปตามนั้น

ไม่ใช่สิบปีผ่านไปก็พุทโธอยู่นั่นแหละ

 ทำจิตนิ่งบังคับให้จิตสงบอยู่ การวิวัฒนาการ

หรือลำดับของการปฏิบัติก็เป็นไปไม่ถูก

 ผลจะออกมาได้อย่างไร แต่ผู้ปฏิบัติต้องสนใจจริงๆ

 แบบกัดไม่ปล่อย ทำแล้วไม่ทอดทิ้งถึงไหนถึงกัน

 ตายเป็นตายจะไม่ทอดธุระในการงานนี้

ชาตินี้ทั้งชาติทำดูซิ ! ทำก็ทุกข์ ไม่ทำก็ทุกข์ ทุกข์ไปหมด

จะเอาอย่างไร? เอาดีสักชาติหนึ่งลองดู

ผิดถูกไม่ว่าทำไปก่อน มืดมนเหลือเกิน ทำไปๆ

 แจ้งจนได้หาทางออกได้ 

เราพิจารณาตนเองไปแล้ว

เราจะเห็นสรีระของตนเองตลอดเวลา

 เอาความเห็นนั้นเป็นเครื่องอยู่ ทำไปแล้วเห็นแจ้ง

แล้วต้องเอาเป็นเครื่องอยู่ด้วย

บางคนสงสัยถามว่าถ้าเป็นเช่นนั้น

ก็เท่ากับยึดมั่นสรีระของตนเองก็เป็นอุปาทานนะสิ

ที่เข้าใจอย่างนั้นนั่นไม่ใช่ !

จิตมีเครื่องอยู่กับความเห็นนั้นแล้ว

 มีปัญญาเป็นเครื่องออก

เหมือนเราอาศัยเรือข้ามฟากอาศัยอยู่

แต่ถึงฝั่งก็ต้องทิ้งเรือ

ระหว่างที่ยังไม่ถึงฝั่งอย่าทิ้งเรือ

 เพราะกายของเรายังไม่ตายต้องใช้งานอยู่

จิตมีความเห็นกายเป็นเครื่องอยู่ แต่มีปัญญาคิดได้ว่า

 กายที่เป็นเครื่องอยู่นี้ก็ไม่ใช่ของเรา

 เราอาศัยกายเป็นเครื่องอยู่แล้ว

มีปัญญาเป็นเครื่องออกด้วย ไม่ต้องเกรงว่า

จะเป็นการยึดมั่นถือมั่นเป็นอุปาทาน

 เพราะการที่จิตไม่มีเครื่องอยู่จิตจะเลื่อนไหล

(ในภาวะจิตปกติก็จะเลื่อนไหลไปสู่กามคุณ ๕

ถ้าจิตเป็นสมาธิก็จะลอยตัวไปสู่นิมิตต่างๆ)

ขอให้ทำจริงก็จะได้ผลขึ้นมา จะให้จิตอยู่

หรือจะปล่อยให้จิตเที่ยว จะเลือกเอาอันไหนดี

 จิตออกเที่ยวจิตก็ไม่สงบ หากจิตมีเครื่องอยู่ก็สงบ

ในกายของเรา อยากสงบไม่ใช่หรือ?

นี่ให้แง่คิด ให้พิจารณาดู !

เมื่อจิตมีเครื่องอยู่ในกายจิตจะแจ้งตลอดเวลา

 ความแจ้งนี้ไม่ได้หายไปเลย ถ้าเกิดขึ้นกับผู้ใด

ความแจ้งอันนี้จะแจ้งตลอดเวลา ๒๔ ชั่วโมง

สว่างไสวทั้งคืนทั้งวัน ทั้งเดือนทั้งปี

 ทั้งหลายๆ สิบปีไปจนถึงวันตาย

 ความแจ้งนี้จะไม่หายเลย ไม่เว้นแม้แต่วินาทีหนึ่ง

ที่จะไม่เห็นแจ้ง แม้ไม่เจตนาก็เห็นแจ้งอยู่อย่างนั้น

ความแจ้งสว่างไสวนั้นจะปรากฏอยู่

ทำให้จิตถูกปิดทางไม่ให้มีโอกาสออกข้างนอก

 เพราะเราไม่ให้โอกาสเกิด

 การที่จิตออกไปข้างนอกนานแล้ว

 ทำให้เกิดไฟราคะ โทสะ โมหะ

กองไฟเหล่านั้นจะมอดลงไป

จิตอยู่แต่ข้างในจะไปประหารข้างนอกอีกทีหนึ่ง

ความจริงประจักษ์แจ้งในจิตแล้วว่า

 ตัวของเราไม่มีตัวตนที่แท้จริง คือ ว่างเปล่า

ความสุขในโลกนี้ก็ว่างเปล่า เมื่อจิตเห็นขันธ์ ๕

 ตามความเป็นจริง ความเห็นแจ้งนั้นก็เปิดตลอด

 เดิมตาในของเราปิดอยู่ไม่ถูกเปิดออกมา

 เมื่อตาในเปิดแล้วก็มองเห็นตัวเราทั้งหมดหลับตาก็เห็น

 ลืมตาก็เห็น เห็นชัดยิ่งกว่าตาเนื้อ

 ตั้งแต่ศีรษะจรดปลายเท้าจนถึงฝ่าเท้า

 ตานอกจะหลับก็ช่างจะลืมตาก็ช่าง

 แม้อยู่ในที่มืดหรือที่สว่างก็เห็นแจ้งอยู่อย่างนั้น

 เป็นอมตะทั้งที่เมื่อก่อนไม่เคยปรากฏดังเช่นว่านี้

 การปรากฏการเห็นแจ้งขึ้นมาทำให้จิตดวงนี้

ยอมจำนนต่อเหตุผล เพราะญาณนั้นเป็นพยานให้ว่า

 “เราไม่มีอะไรเลยในโลกนี้”

 รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ เป็นของว่างเปล่า

 ตัวตนเพียงน้อยนิดในตัวของเราก็หามีไม่ 

การไม่มีตัวตน เป็นของว่างเปล่าเช่นนี้

ความคิดที่เราคิดอยู่ข้างนอก

ในกามคุณทั้ง ๕ สุข ทุกข์ ราคะ โทสะ โมหะ ก็ดี

 ถ้าตัวเราไม่เที่ยงแล้ว สิ่งเหล่านั้นจะไม่เที่ยงได้อย่างไร

 ควรหรือที่เราจะเอาจิตไปผูกพันกับสิ่งเหล่านั้น

 จิตสอนตัวเอง และให้แง่คิดแก่ตัวเอง

 ให้เห็นพฤติกรรมที่จิตท่องเที่ยวอยู่ว่าเป็นสิ่งที่ถูกหรือผิด

 ควรหรือไม่ควรทำเช่นนั้นต่อไป

จิตจะวินิจฉัยเองแล้วตัวจิตจะถ่ายถอนออกมา

นี่จึงเป็นการล้างอุดมคติหรืออุดมการณ์เดิมออก

ให้จิตยอมรับตัวเองและเลิกพฤติกรรมเดิมนั้น

 ดีกว่าที่เราจะบังคับให้จิตเลิก

เพราะการบังคับจะดีเองไม่ได้

เพราะจิตดื้อจิตยังไม่ยอมรับ เมื่อจิตยอมรับด้วยเหตุผล

ที่ถูกต้องตามความเป็นจริงก็จะยอมจำนนและเลิกเอง

 จึงจะเป็นจิตที่ดีได้ นี่เป็นการแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน 

จิตที่ถูกอบรมเช่นนี้จะเห็นพฤติกรรมของตน

ที่คึกคะนองอยู่ในโลกว่า ล้วนแต่เป็นทางผิดทั้งสิ้น

 เมื่อเข้าไปรู้ว่าขันธ์ ๕ ไม่ใช่ตัวตน

 ถ้าอย่างนี้การคิดไปก็ไม่ได้อะไร

 เพราะคิดไปก็เพื่อปรนเปรอตนเอง

คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณนั่นเอง

 ให้มีความสุขขึ้นมา แต่จิตก็ผิดหวังเมื่อประจักษ์ว่า

 ตนเป็นของไม่เที่ยง เป็นของว่างเปล่า

รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณนั้นจะเที่ยงได้อย่างไร?

ควรหรือที่เราจะวิ่งไปตามกระแสอย่างเดิมนั้น

จิตบอกกับตนเองว่า ถ้าอย่างนั้นเลิกเถอะ

 เลิกเที่ยวเลย เปล่าประโยชน์หาความเป็นสาระไม่ได้

 จิตถามแล้วตอบเอง เพราะพยานความเห็นแจ้งสว่างไสวนั้น

 เป็นตัวบ่งบอกและแก้ปัญหา อวิชชาถูกโค่นทิ้ง

ความไม่รู้ถูกปลิดทิ้ง ความรู้เข้ามาแทนที่

จิตดวงนั้นจะเป็นจิตที่เลิกพฤติกรรมเดิม ด้วยอุบายนี้ 

จิตเลิกพฤติกรรมได้เราก็ประคองได้ง่าย

ทีแรกเราประคองจิตอย่างเดียว จิตคิดไปตัดออกๆ

 จิตเริ่มรู้ตัวเองว่าที่คิดนั้นผิดแล้วจึงสมัครใจที่จะหยุด

และจะไม่ไปแล้ว เมื่อก่อนจิตยังไม่รู้เราต้องควบคุมไว้

 เพราะจิตจะไปอย่างเดียว เราก็เหนื่อยเหลือเกิน

กับการสกัดจิตดวงนี้ไม่ให้ออกไป

 จิตเปลี่ยนความเห็นใหม่เช่นนี้ เราก็เบาแรง

 จิตจะเปลี่ยนนิสัยที่เกเรออกไปตามลำดับ

การที่จิตรู้ว่าพฤติกรรมเดิมๆที่ทำอย่างนั้นไม่ดี

ความละอาย(หิริ-โอตตัปปะ)ก็เกิดขึ้นในจิต

สันดานของตนว่า เป็นสิ่งนี้ไม่ควรแก่เรา

เป็นความน่าละอาย น่าเกรงกลัวในการกระทำผิดเช่นนั้น

 จิตจะพัฒนาตนเองให้อยู่ในความดีได้

 โดยอุบายความเห็นแจ้งขันธ์ ๕ ทำให้จิตเปลี่ยนนิสัยได้

จิตเปลี่ยนจากจิตดื้อเป็นจิตดี นิสัยก็เปลี่ยนเป็นดีได้

 จิตนี้เป็นของฝึกได้ เราก็อัศจรรย์

ในคำสอนของพระพุทธเจ้าว่าแหลมลึกเหลือเกิน

 นึกไม่ถึงว่าจิตเป็นของที่ฝึกได้อย่างน่าอัศจรรย์แท้

ที่จริงเราก็อยากจะเป็นคนดีคนหนึ่ง

ไม่ใช่อยากเป็นคนไม่ดี

 เราก็เกลียดความไม่ดีในตนเหมือนกัน

จิตอยากจะดีแต่ดีได้ยาก

เพราะจิตไม่เอื้ออำนวยให้เราดีได้

จิตดีไม่ได้เพราะอุบายไม่มีก็ดีไม่ได้

 เจ้าตัวเองก็อยากจะดี แต่บัดนี้มาเห็นช่องทาง

ว่าจิตนี้พัฒนาได้เป็นของสุดยอด

 การพัฒนาจิตให้ดีก็ง่ายขึ้นไปตามลำดับ

 เท่ากับว่าความเพียรละอกุศลธรรมทั้งหลาย

 และเพียรทำกุศลธรรมทั้งหลายให้บริบูรณ์ขึ้นได้

 ทำจิตให้ขาวรอบได้ จะตรงกับคำสอน

ของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย ในโอวาทปาติโมกข์ 

ลึกๆแล้วจิตอยากจะดี แต่ไม่มีอุบายให้จิตจำนนต่อเหตุผล

ที่จะทำให้จิตดีได้ การจำนนต่อเหตุผล

อยู่บนพื้นฐานของความรู้แจ้ง ถ้าไม่เห็นแจ้ง

ตัวเราจิตไม่ยอมจำนน จิตดื้อถึงจะมีสมาธิมาก

ความดื้อก็ไม่หาย ดุจดังเราจับโจรขังคุกไว้นานเท่าไหร่

นิสัยเดิมก็ไม่หาย แต่การเห็นแจ้งในขันธ์ ๕

จิตจะยอมรับยอมจำนนต่อเหตุผลเป็นโจรกลับใจ

ถูกเปลี่ยนนิสัยให้เป็นคนดีได้โดยไม่ต้องถูกจับขัง

 ฉะนั้น จึงไม่ต้องเข้าสมาธิ

 แต่ให้ใช้สติพิจารณากายของตนให้เห็นแจ้งเท่านั้น

 เพราะการเข้าสมาธิดิ่งลึกจะทำให้เสียเวลา

 เพราะไม่ได้ช่วยให้เห็นแจ้งขันธ์ ๕

ผลออกมาจิตก็กลับไปเป็นอย่างเดิม

ไม่สามารถเปลี่ยนให้เป็นจิตที่ดีได้

เมื่อเห็นแจ้งกายของตนชัดเจนแล้ว

 ค่อยไปทำสมาธิในภายหลัง 

การพิจารณากายทำให้เกิดญาณทัสสนะ

 เป็นการเจริญญาณนำไปสู่ความสำเร็จมรรคผลนิพพาน

ในแบบ “ปัญญาวิมุตติ”

เป็นการหลุดพ้นจากทุกข์ด้วยปัญญา

 ส่วนการเข้าสมาธิแบบดิ่งลึกแน่วแน่จิตเป็นหนึ่งเดียว

 กระทำได้ในภายหลังเป็นการขยายผล

ไปสู่การเจริญจิตให้เป็นพุทธะในแบบ “เจโตวิมุตติ”

เป็นการหลุดพ้นทางจิตทั้งสองแบบนี้สามารถ

มีอยู่ในพระอริยบุคคลเดียวกันได้

บุคคลผู้นั้นจะเป็นผู้ที่มีความแตกฉาน

มีปัญญากว้างขวางมากกว่าผู้สำเร็จมรรคผลนิพพาน

 ด้วยการหลุดพ้นทางจิตเพียงอย่างเดียว.

 พระอธิการจรัญ ทักขญาโณ

...................

พระธรรมเทศนา พระอธิการจรัญ ทักขญาโณ

วัดหลวงขุนวิน ต.ดอนเปา อ.แม่วาง จ.เชียงใหม่

.................................................

ลองอ่านดูนะ บทธรรมะนี้มีคุณประโยชน์มาก

 เหมาะสำหรับนักปฏิบัติ






ขอบคุณที่มา fb. ไม้ขีด ครับ
ขอบคุณเจ้าของภาพค่ะ




Create Date : 13 กุมภาพันธ์ 2561
Last Update : 13 กุมภาพันธ์ 2561 11:51:29 น.
Counter : 494 Pageviews.

3 comments

ผู้โหวตบล็อกนี้...
คุณชมพร, คุณnewyorknurse

  
ทึกการโหวต Blog ในวันนี้

ผู้เขียน Blog หมวดเนื้อหา Blog ได้รับโหวต
VELEZ Photo Blog ดู Blog
wicsir Travel Blog ดู Blog
mariabamboo Parenting Blog ดู Blog
woottank Diarist ดู Blog
tangkay Dharma Blog ดู Blog
ระบบจะบันทึกคะแนนโหวต เฉพาะการโหวต 10 ครั้งล่าสุดในแต่ละวันเท่านั้น
โดย: ชมพร วันที่: 13 กุมภาพันธ์ 2561 เวลา:11:29:23 น.
  
คุณได้ทำการแปะ ให้กับคุณ tangkay เรียบร้อยแล้วนะคะ

คุณเหลือ อีก 5 ดวง สำหรับ
โดย: ชมพร วันที่: 13 กุมภาพันธ์ 2561 เวลา:11:31:35 น.
  

มาอ่านธรรมะค่ะ

แปะใจค่ะ

โดย: newyorknurse วันที่: 17 กุมภาพันธ์ 2561 เวลา:4:37:29 น.
ชื่อ :
Comment :
 *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

tangkay
Location :
ชลบุรี  Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 55 คน [?]



(•‿•✿) พออายุเลยเลขหกฉันยกเครื่อง
มอบทุกเรื่องที่เคยรู้คู่ความเห็น
มอบประสบการณ์ผ่านพบจบประเด็น
ไม่ยากเย็นเรื่องความรู้ตามดูกัน
ฉันคนเก่าเล่าความหลังยังจำได้
แต่ด้วยวัยที่เหลือน้อยค่อยสร้างสรร
ยอมรับเรื่องเนตโซเชียลเรียนไม่ทัน
อย่าโกรธฉันแค่สูงวัยแต่ใจจริง
ด้วยอายุมากมายอยากได้เพื่อน
หลากหลายเกลื่อนทุกวัยทั้งชายหญิง
คุยทุกเรื่องแลกเปลี่ยนรู้คู่ความจริง
หลากหลายสิ่งฉันไม่รู้ดูจากเธอ ....
สิบปีผ่านไป.......
อายุเข้าเลขเจ็ดไม่เผ็ดจี๊ด
เคยเปรี้ยวปรี๊ดก็ต้องถอยคอยเติมหวาน
ด้วยเคยเกริ่นบอกเล่ามาเนิ่นนาน
ก็ยังพาลหมดแรงล้าพากายตรม
ด้วยชีวิตผ่านมาพาเป็นสุข
ยังสนุกกับการให้ใจสุขสม
อยากบอกเล่ากล่าวอ้างบางอารมณ์
แม้คนชมจะร้องว้า....ไม่ว่ากัน
ปัจจุบันเขียนน้อยค่อยเหินห่าง
ระบบร่างเปลี่ยนแปลงเหมือนแกล้งฉัน
เราคนแก่ตามแก้ไม่ค่อยทัน
ยักแย่ยันค่อยศึกษาหาข้อมูล
แต่ด้วยคิดถึงแฟนคลับกระชับมิตร
จึงต้องคิดตามต่อไปไม่ให้สูญ
ส่งความรู้คู่ธรรมะทวีคูณ
เพื่อเพิ่มพูนให้รู้กันฉันสุขใจ