Group Blog
 
All blogs
 
Lethrinops ปลาสวยถูกใจ แต่ไม่ค่อยมีใครรู้จัก



“ คุณชอบปลาหมอเพราะอะไร? ”

เป็นคำถามง่ายๆ ที่ทำเอาผมนิ่งไปหลายนาที

คำถามนี้เกิดขึ้นที่ร้านลาบริมทาง แถวสะพานพุทธ ในคืนที่ฝนตกพรำๆ อากาศเย็นแต่เฉอะแฉะไปหน่อย เมื่อเจอคำถามนี้เข้าไป หัวผมถึงกับออกอาการมึนๆ ด้วยคำตอบนั้นมันพรั่งพรูออกมามากมาย จนปากไม่รู้จะเลือกคำตอบไหนมาตอบผู้ถาม

เรานั่งกินตับหวานรสชาติดี กับน้ำตกหมู ไก่ย่าง ข้าวเหนียวจนอิ่มหนำ ท้องก็อิ่มแล้ว คำถามในวันนั้นได้รับคำตอบไปแล้ว ผมไม่รู้ว่าผู้ถามจะจำมันได้หรือเปล่า แต่คำถามที่เขาถามผมมานั้น มันติดอยู่ในหัวของผม ราวกับพริกที่ติดฟัน



ทุกวันที่นึกถึงคำถามนั้นขึ้นมา คำตอบมันก็จะออกมาจากสมองเสมอ แต่ทำไมคำตอบมันถึงได้มากมายหลากหลายเหลือเกิน อันนี้ผมเองก็ไม่ทราบได้นะครับ

คำตอบที่ออกมาเช่น เลี้ยงง่าย สีสวย มีให้เลือกหลายขนาด หลายสายพันธุ์ เลี้ยงเดี่ยวก็สวย เลี้ยงเป็นฝูงก็ดี มีทั้งนิสัยน่ารักหน่อมแน้มยันดุบ้าบอ อำมหิตสุดจะพรรณนา แถมราคาค่าตัวก็ไม่ได้แพงอะไรมากมาย เลี้ยงเล่นก็ได้ เลี้ยงจริง(จัง)ก็ดี เพาะก็ง่าย เป็นต้น

นั่งหาคำตอบจนเริ่มได้คำตอบแปลกๆ มาก็มีนะครับ เช่น แฟนชอบเลี้ยง ขอเพื่อนได้ ก็มี

จนเมื่อไม่กี่วันมานี้ ผมได้อีกเหตุผลมาใหม่ อาจจะไม่ใหม่สำหรับหลายๆ คน แต่สำหรับผมแล้ว มันใหม่พอๆ กับรัฐบาลชุดนี้เลยทีเดียวนะครับ

เหตุผลนั้นคือ “ ผมชอบลักษณะการหากินของปลา “

โอ้..... เหตุผลนี้ผมชอบนะ ฟังดูเหมือนผมเป็นผู้รู้เกี่ยวกับปลาหมอยังไงไม่รู้ ทั้งที่จริงๆ ผมมันก็แค่ผู้เลี้ยงธรรมดาๆ เดินดินกินข้าวแกงไปวันๆ



พวกเพื่อนๆ ที่เลี้ยงปลาหมอเขาจะรู้ว่าผมชอบปลาหมอสกุล Geophagus เป็นพิเศษ ถ้าให้ผมเป็นกรรมการจัดว่าปลาหมอชนิดไหนสวยที่สุด น่าเลี้ยงที่สุด ผมก็คงบอกว่า ปลาหมอสกุลนี้แหละครับ

แต่เมื่อไม่กี่วันมานี้ผมได้ปลาหมอชนิดหนึ่งมาเลี้ยงแบบฟรีๆ ด้วยน้ำใจของเพื่อนที่เพิ่งรู้จักกันไม่นานนี้เอง แต่เผอิญคุยถูกคอ เลยยกมาให้ผมซะชุดนึง ปลาหมอชนิดนี้นั้น มีพฤติกรรมการกินที่คล้ายๆ กับปลาหมอสกุล Geophagus ที่ผมชอบ แต่กลับอยู่ไกลกันคนละทวีปเลยทีเดียว

หลายท่านอาจบอกว่า “ไม่แปลก” ก็ขนาดคนเรายังกินข้าวทางปากเหมือนกันเลย ไม่เห็นมีคนทวีปไหนเขากินทางรักแร้ อันนี้ผมไม่เถียง แต่อย่าเพิ่งขัดได้ไม๊ครับ คนกำลังโม้เพลินๆ



ปลาหมอที่จะนำเสนอในตอนนี้คือ ปลาหมอสกุล Lethrinops เหตุที่จะบอกเล่าเพียงแค่สกุลนั้นก็เพราะว่า ปลาชนิดนี้ มีมากมายหลายชนิดครับ เรียกได้ว่ามากพอๆกับปลาหมอสกุล Aulonocara เลยทีเดียว
ไอ้ครั้นจะบอกทีละชนิดก็ดูกระไรอยู่ เลยขอยกยอดรวมทั้งสกุลเลยก็แล้วกัน

Lethrinops เป็นปลาหมอที่มีอยู่ทั่วในทะเลสาบมาลาวี ว่ายผลุบๆโผล่ๆตั้งแต่เหนือ ใต้ ออก ตก ที่ได้พบเจอ และแยกชนิดออกมาแล้วกว่า 30 ชนิด และปัจจุบัน ยังพบเจอสายพันธุ์ใหม่ๆ ที่อยู่ในระดับน้ำลึกเรื่อยๆ และยังมีอีกหลายชนิดที่ยังทำการแยกไม่สำเร็จ เลยยังมี sp. อยู่หลังชื่อสกุล เช่น Lethrinops sp. Red cap (Itungi) เป็นต้น


* คำว่า Itungi เป็นชื่อสถานที่พบปลาชนิดนี้ครับ ส่วนคำว่า Red cap เป็นการเรียกลัษณะเด่นที่พบในปลาชนิดนี้ คือจะมีสีแดงที่หัว ฝรั่งแขนลายทั้งหลายเลยเรียกซะเสียรังวัดว่า หมวกแดง แน๊....มันคิดไปได้



Lethrinops มาจากภาษากรีก คำว่า lethros หมายถึง ส่งผลให้ยาว ops หมายถึง หน้า แปลรวมๆ แบบลูกชาวสวนว่า หน้ายาวก็แล้วกันนะครับ (อันนี้ผมสรุปเอง อย่าเชื่อมาก)

Lethrinops
นั้นมีลักษณะคล้ายกับปลาหมอสกุล Aulonocara เพียงแต่ Lethrinops จะมีโครงร่างลึกว่า บางชนิดจะมีหน้ายาว บางชนิดจะมีหน้าสั้น

ในความต่างนี้เอง Eccles และ Trewavas ได้จัดการแยกสกุล Lrthrinops ออกเป็นสองสกุล คือ Taeniolethrinops และ Tramitichromis ในปี ค.ศ.1989

โดยดูจากลักษณะโครงสร้างภายนอก และจำนวนฟันของปลา ในกลุ่มของ Taeniolethrinops จะมีลักษณะหน้ายาว ตัวใหญ่กว่า ส่วน Tramitichromis หน้าสั้นหักลง และมีขนาดเล็กกว่า
แต่ก็ไม่ได้รับการตอบรับเท่าใดนัก เพราะส่วนใหญ่ยังใช้ชื่อเรียกรวมๆ ว่า Lethrinops อยู่ ส่วนการแยกชนิดจะใช้ชื่อที่ได้รับการบรรยาย และชื่อแหล่งที่จับมาได้นั่นเองครับ



ส่วนใหญ่แล้วปลาพวกนี้จะมาขนาดตั้งแต่ 12-20 ซม. ขึ้นอยู่กับชนิด แต่ที่เข้ามาขายในบ้านเราส่วนใหญ่จะมีขนาดราวๆ 12-20 ซม. ครับ

จากที่ผมหาข้อมูลมาได้พบว่า ในเมืองนอกนั้น Lethrinops ที่มีขายมากได้แก่ พวกที่อาศัยอยู่ในระดับน้ำไม่ลึกมาก ส่วนพวกที่เข้ามาที มีคนฮือฮา แห่กันไปยืนน้ำลายไหลยืดอยู่หน้าตู้ จะเป็นพวกที่มาจากน้ำลึกนั่นเอง

แม้จะไม่มีสีสันสวยงามอะไร ด้วยความที่หายาก ทำให้ราคาค่าตัวสูงกว่าพวกสีสวยๆเยอะเลยครับ แถมขนาดยังใหญ่กว่าอีกด้วย แต่ในเมืองไทย ไม่ว่าจะน้ำลึก น้ำตื้น ก็ใช่ว่าจะหาซื้อกันได้ง่ายๆ นะครับ

เหตุที่หาซื้อไม่ได้ง่ายๆนั้น ก็เพราะว่า ปลาในกลุ่มนี้เข้ามาในระยะหลัง และกระแสปลาหมอลูกผสมได้เข้ามาสร้างความฮือฮาจนกลบความงามของปลาหลายชนิด (ไม่ใช่เฉพาะปลาหมอด้วยกัน)

จึงทำให้ผู้นำเข้าไม่ค่อยจะกล้านำเข้ามา เพราะกลัวขายไม่ออก ประกอบกับปลาหมอมาลาวีที่นิยมกัน ก็ขายไม่ค่อยออกกันอยู่แล้ว

อีกประการหนึ่งคือ ปลากลุ่มนี้เพาะพันธุ์ยากกว่าปลาหมอกลุ่มอื่นที่ติดตลาดแล้วนั่นเอง (ระยะเวลากว่าจะผสมพันธุ์ได้นานกว่าปลากลุ่มอื่นเป็นต้น) ทำให้มีเพียงผู้ที่ชื่นชอบจริงๆ เท่านั้นที่จะรู้จัก และได้ครอบครองปลากลุ่มนี้ครับ

** ในบ้านเราที่มีขายบ้างได้แก่ Lethrinops aff. sp. “Yellow Collar” ส่วนที่เป็นสายพันธุ์จาก Cape Maclear หรือ Masimbwe อันนี้ผู้เขียนก็ไม่แน่ใจครับ อีกชนิดหนึ่งที่เห็นคือ Lethrinops sp. Redcap จาก Itungi เท่านั้นเองครับ



ปลาเพศผู้จะมีสีสันสวยงาม มีจุดไข่หลอกที่ครีบทวาร มีขนาดตัวใหญ่กว่าเพศเมีย ครีบหลังและครีบทวารจะยาวแหลมกว่า ส่วนเพศเมียและลูกปลาจะมีสีเงิน และเมื่อถึงช่วงผสมพันธุ์เพศผู้จะมีสีสันสวยงามมากขึ้น ส่วนเพศเมียจะมีสีเหลือบทองแดงครับ



ในธรรมชาติ Lrthrinops จะออกหากินไปตามพื้นทราย โดยจะจิกทรายเข้าปากเพื่อกรองเอาอาหารลงคอ ส่วนทรายก็จะออกมาทางปากและเหงือก ซึ่งคล้ายๆ กับปลาหมออเมริกาใต้กลุ่ม Eartheater ซึ่งลักษณะปากจะอยู่ต่ำคอยตักทรายเข้าปากได้โดยไม่ต้องโน้มตัวตั้งฉาก ซึ่งผมคิดว่าปลามันคงเหนื่อยน่าดู

อาหารที่ปลากินนั้นได้แก่ สัตว์ไม่มีกระดูกสันหลัง ตัวอ่อนแมลงน้ำ ต่างๆ แต่ในที่เลี้ยงปลากลุ่มนี้มิได้เกี่ยงงอนอาหารสำเร็จรูปแต่อย่างใด อาหารควรเป็นอาหารที่จมน้ำ นานๆทีอาจเสริมด้วยไรทะเลล้างสะอาดๆ หรือหนอนแดงแช่แข็งก็ดีมิใช่น้อย



แต่ถ้าใครขยันอยากให้ปลากินของดีราคาไม่แพง ผมแนะนำให้ขโมยอาหารปลาเพื่อนมาปรนเปรอปลาเรา สบายๆ ง่ายๆ ไม่เปลือง
แต่ต้องระวังเพื่อนมันมาเห็นอาจโดนตบหัวคะมำ อาหารปลาหกกระจาย จำนนด้วยหลักฐาน อันนี้ผู้เขียนขอไม่มีเอี่ยวด้วย เมียใช้มาซื้อน้ำปลา



ในการเลี้ยงปลากลุ่มนี้ เรื่องขนาดของตู้นั้นสำคัญมากๆ ผมแนะนำให้ใช้ตู้ ขนาด 30-36 นิ้ว สำหรับปลาขนาดเล็ก 5-7 ตัว และตู้ 48 นิ้วขึ้นไปสำหรับปลาขนาด 3-4 นิ้ว ปูกรวดละเอียดบางๆ หรือจะใช้ปะการังบดก็ไม่เลว เพราะจะทำให้ค่าน้ำเป็นด่าง ซึ่งปลาจะชอบ ph อยู่ที่ราวๆ 7.5-8.0 อุณหภูมิราวๆ 25-28 องศา แต่อย่าให้เกิน 30 เป็นดี

*** ในเรื่องของกรวดนั้นควรเลือกใช้กรวดที่มีขนาดเล็ก แต่ไม่ใช่ทรายนะครับ หากเราเลือกกรวดขนาดใหญ่ ปลามักจะเกิดอาการ “หน้าลาย “ เพราะเมื่อปลาคุ้ยกรวดอันเป็นนิสัยของเขานั้น คมของกรวดอาจไปบาดหน้าบาดตาเขาได้ ทำให้ปลาไม่สวยงามอย่างที่ควรจะเป็น

**** การนำปลาใหม่เข้ามานั้นผมอยากให้นำปลาไปพักไว้ในตู้โล่ง ติดตั้งระบบกรองฟองน้ำไว้ก่อนซัก 7-14 วัน เพื่อให้ปลาได้ปรับตัวและการเลี้ยงตู้โล่งในระยะแรกนั้นจะเป็นการดีกว่าตู้ที่ตกแต่งไว้แล้ว เพื่อที่เราจะได้สังเกตุปลาว่าปรับตัวได้หรือไม่ ทั้งกับค่าน้ำ อุณหภูมิ




เมื่อปูกรวดเรียบร้อยแล้วก็จัดการวางหินก้อนกลางๆ ไม่ต้องใหญ่มาก หินที่ใช้ก็ไม่ควรมีมุมแหลมด้วยนะครับ วางไว้ด้านหลังตามสะดวก เหลือที่ว่างให้ปลาได้ว่ายซัก 70-80%

เพราะปลากลุ่มนี้ไม่ได้ต้องการกองหินมากนัก ออกจะชอบอยู่ที่โล่งๆ เสียมากกว่า
ยกเว้นถ้าหากโดนไล่ก็มักจะแอบๆ บ้างครับ ในการเลี้ยงนั้น ผมแนะนำให้เลี้ยงปลาตัวผู้ราวๆ 3 ตัวต่อตัวเมีย 5 ตัวขึ้นไปครับ

เพราะผู้เลี้ยงจะได้เห็นปลาแสดงสีสันอย่างเต็มที่ แม้ว่าในเวลาปกติเมื่อปลาโตขึ้นจะมีสีสันสวยงามตามอายุอยู่แล้ว แต่ถ้าอยากให้งามกว่านั้นก็ต้องใส่ตัวเมียเข้าไปด้วยครับ



การเลี้ยงอีกแบบที่ผู้เลี้ยงหลายๆ คนนิยมคือ การเลี้ยงเดี่ยวครับ อันนี้ผมก็เห็นด้วยเพราะปลาจะสวยสมบูรณ์ขึ้น เนื่องจากไม่ต้องคอยแย่งอาหารจากตัวอื่น และจะโตเร็วกว่าการเลี้ยงรวมด้วยครับ

การเปลี่ยนถ่ายน้ำนั้นถือว่าเป็นสิ่งสำคัญทีเดียว เพราะปลาหมอจากทะเลสาบทั้งหลายแหล่จะไวต่อค่าของเสียในน้ำมาก

ควรเปลี่ยนถ่ายน้ำเป็นประจำที่ 20-30% ทุก 3-7 วัน เพื่อปลาจะได้มีสุขภาพที่ดี ไม่เจ็บป่วยให้ผู้เลี้ยงต้องเซ็งจิต รวมไปถึงการทำความสะอาดกรวด การขัดตู้บ้างในบ้างครั้งซึ่งผู้เลี้ยงไม่ควนลืมเป็นอันขาด



ระบบกรองนั้นก็สำคัญไม่ต่างจากเรื่องน้ำแต่อย่างใด ถึงขนาดมีคำกล่าวที่ว่า “เลี้ยงปลาไม่มีกรอง เหมือนละครไม่มีผู้กำกับ“ ดู๊ ดูมันเปรียบซะ ฟังครั้งแรก เล่นเอาผมมึน อยากเอาตะเกียบไปดีดปากคนพูด

ระบบกรองก็ควรมีขนาดใหญ่เพื่อบำบัดของเสียได้เพียงพอ เช่นกรองบน กรองนอก กรองข้าง วัสดุกรองก็อาจจะใช้หินพัมมิส ผสมปะการังก็ได้ครับ



ปลากลุ่ม Lrthrinops ไม่ใช่ปลาที่มีนิสัยดุร้าย ออกจะเป็นปลารักสงบเสียด้วยซ้ำ จะมีบ้างก็ตอนผสมพันธุ์ที่ตัวผู้จะดุขึ้นมาหน่อย อันนี้ไม่แปลกครับ เป็นแทบทุกชนิด

ปลาที่สามารถเลี้ยงรวมกันได้นั้นควรเป็นปลาที่ไม่มีนิสัยดุร้ายมากนัก ปลาหมอในทะเลสาบมาลาวีที่เลี้ยงร่วมตู้กันได้เช่น

ปลาหมอกล้วยหอม (Labidochromis caeruleus)
ปลาหมอสกุล Aulonocara
ปลาหมอคาดังโก้ (Copadichromis kadago)
ปลาหมอฟีโนชิลัส (Placidochromis Phenochilus)
ปลาหมอบลูดอลฟิน (Cyrtocara moorii)
ปลาหมอลินนาย (Nimbochromis linni) <<< ตัวนี้หายไปนานเลย อยากเลี้ยงจริงๆ

ปลาจากแหล่งอื่นๆ ก็สามารถเลี้ยงร่วมได้เช่นกัน ขอแค่อย่ามีนิสัยดุร้าย เป็นพอครับ ผมเองก็เลี้ยงร่วมกับปลาหมอจูรูพารี และ อัลติฟรอน ก็อยู่ด้วยกันได้อย่างดี มิมีตบตีให้ผมต้องร้อนใจ



ปลาตัวเมียจะวางไข่ราวๆ 30-50 ฟอง ขึ้นอยู่กับความสมบูรณ์ของแม่ปลา แต่ส่วนใหญ่แล้วจะน้อยกว่านั้นมาก
แต่ใช่ว่าปลากลุ่มนี้จะไข่กันได้ง่ายๆ จากข้อมูลที่หามาได้ เขาว่าต้องเป็นตู้ที่สงบ อันนี้ผมคิดว่าคงหมายถึงตู้เลี้ยงเฉพาะที่ไม่มีปลาอื่นมาคอยรังควาน น้ำดี อาหารถึง






ตอนนี้ผมมีความสุขกับปลาหมอ Lethrinops sp. Red cap (Itungi)
ที่แวกว่ายไปมาในตู้ 36 มากๆ ครับ
แม้ตอนนี้ยังไม่มีสีสันอะไรนอกจากสีเงินๆ เหลือบแดง แต่ผมเชื่อว่าซักวันการรอคอยของผมจะคุ้มค่า เมื่อปลาได้แสดงสีสันสดสวยให้ผมได้ชื่นชม



สวัสดี






ปล.1 บทความนี้ลงตีพิมพ์ในนิตยสาร The Fish Guideline เล่มไหนจำไม่ได้ ติดตามดูเอานะจ๊ะ

ปล. 2 รูปทั้งหมดหาเอาจากเน็ต ขออนุญาต และขอบคุณด้วยนะครับ




Create Date : 08 พฤษภาคม 2551
Last Update : 13 พฤษภาคม 2551 15:33:36 น. 12 comments
Counter : 4748 Pageviews.

 
แจ่มดีครับ แต่หาเลี้ยงยาก


โดย: หมู IP: 58.9.16.241 วันที่: 8 พฤษภาคม 2551 เวลา:22:25:45 น.  

 
คุณบอย บทความดีๆอีกแล้ว สวยงามมากครับ

ส่วนปลาหมอ ชอบสุดของผมคือฟรอน ชอบที่มันเป็นปลาที่วงจรชีวิตยาว ยิ่งอายุมาก ยิ่งสวย และมันขลังดี ยิ่งเลี้ยงเองตั้งแต่ขนาดนิ้วจนได้ร่วมฟุต ยิ่งรู้สึกผูกพัน แม้จะแค่บูรุนดีก็เหอะ


โดย: เจ IP: 58.64.81.128 วันที่: 8 พฤษภาคม 2551 เวลา:23:05:22 น.  

 
สวัสดีครับ พี่หมู(ในเวปเก๋าใช่ป่าวหว่า....)
ปลาตัวนี้ก็อย่างที่ว่า หายาก แต่สวยงามเหลือเกิน


สวัสดีครับ พี่เจ
ในบรรดาฟรอน ผมเองก็ชอบ บุรุนดิ ที่สุดแล้วครับ ไม่รู้ทำไม ผมว่าพี่เจกับผมนี่คล้ายๆ กันเนอะ เรื่องการเลี้ยงปลาเนี่ย


โดย: ปลาระเบิด IP: 124.121.185.26 วันที่: 9 พฤษภาคม 2551 เวลา:8:07:12 น.  

 
ปลาสวยครับ อิอิ


โดย: Isfishaqurium IP: 58.64.71.137 วันที่: 11 พฤษภาคม 2551 เวลา:23:52:20 น.  

 
ว้าวววววว

รุตมาด้วยหรอเนี่ย อิอิ


โดย: ปลาระเบิด IP: 124.121.191.20 วันที่: 12 พฤษภาคม 2551 เวลา:10:23:56 น.  

 
หวัดดีครับ ผมก็เลี้ยงสายพันธ์แท้อยู่เหมือนกัน ชอบมากๆ มีเจ้า Lethinops อยู่ตัวนึงในบ่อ ไว้คุยกันครับ ถามหน่อยครับจูรูพารีนี่หาได้จากไหนอะครับg_pagorn@hotmail.com


โดย: jack IP: 58.9.157.135 วันที่: 14 พฤษภาคม 2551 เวลา:20:12:02 น.  

 
ตอนนี้หมดไปแล้วครับ หาไม่ได้เลย ได้ข่าวว่าคนขายเขาเอากลับไปขุนครับ

คาดว่าอีกซักพัก น่าจะมีมาขายในขนาดที่ใหญ่กว่า และราคาแพงกว่าเดิมครับ

ผมได้มา คู่นึง ได้มาแบบฟลุ๊คๆ ด้วยซ้ำครับ


โดย: ปลาระเบิด IP: 124.121.191.194 วันที่: 21 พฤษภาคม 2551 เวลา:11:44:19 น.  

 
สุดยอดครับ

ขอบคุณมากครับสำหรับบทความดีๆ


โดย: nyassae IP: 61.7.165.195 วันที่: 7 มิถุนายน 2551 เวลา:0:19:10 น.  

 
สวยมากกกกกกกกกกกกก


โดย: น้องพลอยค่ะ IP: 125.27.192.38 วันที่: 31 สิงหาคม 2551 เวลา:12:01:38 น.  

 
สวยมากค่ะ


โดย: ploy IP: 125.27.192.38 วันที่: 31 สิงหาคม 2551 เวลา:12:04:36 น.  

 
55555555555+


โดย: 55555555555+ IP: 58.9.169.137 วันที่: 10 สิงหาคม 2552 เวลา:19:42:58 น.  

 
เจ๋งสุดๆ อยากได้มากกกกกกกกกก


โดย: คนรักปลาหมอ IP: 203.144.144.165 วันที่: 23 มกราคม 2553 เวลา:8:51:45 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

ลายเส้นหลังเขา
Location :


[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 3 คน [?]




กี่โมงกันแล้วหน๋อ..... หลงเข้ามาแล้วอยู่นานๆ หน่อยนะจ๊ะ
Friends' blogs
[Add ลายเส้นหลังเขา's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.