บอนเอ๋ยบอนสีที่บ้านฉัน

บอนเอ๋ยบอนสีที่บ้านฉัน


          บ้านเดิมที่ภาคใต้ของฉันมีต้นบอนหลายขนาดหลายสี  มีทั้งบอนเล็กบอนใหญ่  ใหญ่ขนาดไหนนั้นก็ขนาดที่แม่เล่าว่าสมัยเด็กๆ เขาตัดใบบอนถือกันฝนแทนร่มกันได้  เสียดายที่เกิดไม่ทันบรรยากาศนั้น  แต่ยังได้เห็นใบเบ้อเริ่มเทิ่มของต้นบอนขนาดยักษ์นั่นล่ะ  บางต้นก้านเขียว  บางต้นก้านดำใบเขียวก็มี  ไม่แน่ใจว่ามีบอนแบบที่แกงได้อยู่ในเขตบ้านรึเปล่า  เพราะไม่เคยเห็นแม่แกงให้กินสักที  เคยกินแต่แกงเอาะที่คนอื่นเขาทำขาย  บอนขึ้นชื่อเรื่องความคัน  คนทำไม่ระวังทำไม่ดีคนกินจะพาลเดือดร้อน  เพราะงั้นถึงพลาดแกงบอนไปสักอย่าง  ฉันก็ไม่นึกเสียดายเท่าไรนัก  ยิ่งเมื่อเร็วๆ นี้อ่านเจอข่าวแม่ค้าแกงบอนขายและน่าจะใช้บอนผิดชนิด  ทำให้ลูกค้ากินแล้วมีอาการแพ้อย่างรุนแรง  แต่แม่ค้ายังเสียดายแทนที่จะทิ้งแกงนั้นไปยังวางขายต่อได้  เขายอมแลกชีวิตลูกค้ากับจำนวนเงินที่จะเข้าสู่กระเป๋าได้ลงคอ

          บอนเล็กที่มีอยู่เป็นพวกบอนสี  ซึ่งมีสีสันและลวดลายสวยงาม  เมื่อครั้งยังเด็กพ่อของฉันชื่นชอบพวกว่านและไม้มงคล  ส่งผลให้มีว่านเต็มบ้าน  และมีหนังสือภาพประกอบไม้มงคลสีสันสดในให้ลูกช่างอ่านอย่างฉันได้พลิกสะกดอ่านอย่างตื่นตาตื่นใจ 

          บอนสีเป็นไม้ประดับ  ทรงใบคล้ายรูปหัวใจ  เมื่อแต่งแต้มสีสันนานาก็ยิ่งงามน่าหลงใหล  พันธุ์โปรดของพ่อคือสไบแพรที่สีชมพูสดขนาดลงทุนเอาไปวางประดับที่ทำงานให้คนอื่นได้ชมด้วย  แต่แม่จะชอบแบบพันธุ์ใบกลมสีเส้นเขียวแต้มขาวเล็กๆ น่ารักมากกว่า  ทรงใบของบอนสีแม้ส่วนใหญ่จะเห็นเป็นรูปหัวใจแต่จริงแล้วก็มีหลายแบบแบ่งได้เป็น  ใบไทย  ใบกลม  ใบยาว  ใบกาบ  และใบไผ่



          ด้วยความเป็นใบไม้หลากสีเหมือนจะดึงเอาความงามของกลีบดอกมาใส่ใบตัวเอง  ก็น่าดึงดูดใจให้คนเลือกซื้อไปประดับบ้านพอแล้ว  แต่เขายังจัดบอนสีให้อยู่ในกลุ่มไม้มงคลด้วย  ฉันจึงพยายามค้นคว้าหาว่าเขาถือว่าเป็นสิริมงคลในแง่ไหน  เพราะอะไร  จนได้คำตอบว่าบอนสีนั้นถูกยกให้เป็นไม้มงคลเพราะถือว่าเป็นพรรณไม้ในราชสำนัก  ใครมีไว้จะมั่งคั่งร่ำรวย อยู่เย็นเป็นสุข   เชื่อกันว่าบอนสีน่าจะถูกนำเข้ามายังประเทศไทยตั้งแต่สมัยโบราณ  แต่ที่มีหลักฐานแน่ชัดคือพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้นำเข้ามาเมื่อกลับจากเสด็จประพาสยุโรป  สิ่งใดที่พระเจ้าแผ่นดินทรงโปรดก็กลายเป็นของมีค่า  พระราชทานให้ใครก็ถือเป็นสิริมงคลด้วยมิใช่ของที่ได้มาโดยง่าย  แรกเริ่มเดิมทีก็เลี้ยงกันไว้แต่ในหมู่ขุนนางราชสำนัก  ต้องประคบประหงมดูแลอย่างยิ่งยวด  กว่าจะสามารถเพาะเลี้ยงขยายพันธุ์กันได้ทั่วไปอย่างในปัจจุบัน 

          ในกลุ่มคนไทยผู้ที่มีชื่อเสียงในการประกวดและเพาะพันธุ์บอนสีก็คือ  คุณพิเชษฐ  สุดธูป  ซึ่งเล่าให้ฟังว่าได้รับความรู้มาจากคุณพ่อของเขาอีกต่อหนึ่ง  ด้วยใจรักต้นไม้เมื่ออิ่มตัวกับงานประจำแล้วจึงหันมายึดอาชีพเพาะเลี้ยงบอนสีจำหน่าย  มีการเพาะพันธุ์ส่งประกวด  และเมื่อได้พันธุ์ใหม่ก็ไปแจ้งจดทะเบียนใหม่เอาไว้  ทำให้เป็นที่รู้จักในวงการบอนสี  มีสินค้าจำหน่ายทั้งในและต่างประเทศ 

          สหรัฐอเมริกามีตลาดบอนสีอยู่ที่ฟลอริด้า  มีพื้นที่ผลิตหัวพันธุ์บอนสีหลายพันไร่  ประเทศศรีลังกาก็เป็นประเทศหนึ่งที่ผลิตบอนสีส่งไปจำหน่ายยังสหรัฐอเมริกา  แต่ความหลากหลายสายพันธุ์ยังน้อยเมื่อเทียบกับประเทศไทย

          ฉันเดินถ่ายรูปบอนสีเท่าที่หลงเหลืออยู่ เพราะย้ายบ้านบ่อยมาก  เจ้าต้นน้อยๆ นี่ ประวัติคุณเธอเดินทางมาไกลมิใช่ย่อยเชียว





Create Date : 08 มีนาคม 2562
Last Update : 8 มีนาคม 2562 12:51:25 น.
Counter : 2019 Pageviews.

6 comments

ผู้โหวตบล็อกนี้...
คุณmcayenne94, คุณฟ้าใสวันใหม่, คุณสันตะวาใบข้าว, คุณสองแผ่นดิน

  
คุณเพรางาย หายไปนาน
เอาบอนสีมาอวดหลายต้น สีสวยงามค่ะ
คนเล่นบอน ยุคคนเล่นโป๊ยเซียนค่ะ น่าจะสูงวัยมากๆแล้วนะคะ7-80 ขึ้น ตอนเด็กเย็นเคยเห็นคุณย่าทำแกงบอนอยู่ค่ะ แต่ไม่ชอบทานเพราะเนื้อบอนต้มแล้วเละๆ
โดย: mcayenne94 วันที่: 8 มีนาคม 2562 เวลา:13:33:43 น.
  
ชอบบอนสีเหมือนกันค่ะ
ที่บ้านเลี้ยงไปเลี้ยงมา ใบเล็กลง ๆ
อยากเห็นบอนใบใหญ่เท่าร่มอย่างที่ จขบ. ว่าจัง
เคยเห็นแต่พวกบอนกระดาษ นั่นน่ะใบใหญ่จริง ๆ
โดย: ฟ้าใสวันใหม่ วันที่: 8 มีนาคม 2562 เวลา:13:38:24 น.
  
บอนเอ๋ยบอนสีที่บ้านเธอ
สวยนะเออ...สะดุดตาน่าหลงใหล
สีชมพูสดละม้ายคล้ายหัวใจ
พึ่งรู้ชื่อจดจำไว้"สไบแพร"

สงสัยคุณงาย...งานยุ่งหายไปเลยนะคะ...
โดย: สันตะวาใบข้าว วันที่: 8 มีนาคม 2562 เวลา:14:00:08 น.
  
บอนสีสวย..มาก ๆ เมื่อก่อนคุณตาเลีั้ยง
ไว้เยอะมาก..

เรื่องแกงบอนผิด นี่มีหลายคนที่กิน
เข้าไปแล้ว แพ้ คออักเสบ เสียงแหบแห้งไปนาน น่าจะใช่คุณตฤณ ปลายแป้นพิมพ์..
โดย: ไวน์กับสายน้ำ วันที่: 8 มีนาคม 2562 เวลา:17:21:51 น.
  
มาชมบอนสีหลากสีครับ
ปลูกไม้ใบมีสีก็ดีเหมือนกันครับ ไม่ต้องรอดอก
โดย: สองแผ่นดิน วันที่: 8 มีนาคม 2562 เวลา:23:12:05 น.
  
ขอบคุณที่แวะไปเยี่ยมบล๊อกนะครับ
โดย: wicsir วันที่: 9 มีนาคม 2562 เวลา:9:22:40 น.
ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
 *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

เพรางาย
Location :
ชุมพร  Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 11 คน [?]



คนที่กำลังไล่ตามความฝัน ท่ามกลางความผกผันของวันเวลา
มีนาคม 2562

 
 
 
 
 
1
2
3
4
5
6
7
9
10
11
12
13
14
15
16
17
18
19
20
21
22
23
24
25
26
27
28
29
30
31