บล๊อกของลุง กับป้า ที่ชอบการท่องเที่ยว
Group Blog
 
<<
เมษายน 2561
1234567
891011121314
15161718192021
22232425262728
2930 
 
6 เมษายน 2561
 
All Blogs
 
ตอน 15-1 ชาวนาบาเทียน และ มหานครเปตรา (The Nabateans & Petra)



ปลายเดือนพฤศจิกายนอากาศที่เปตราหนาวกว่าที่ไคโรมาก แต่ความตื่นเต้นที่จะได้เห็นนครเปตรา 

ก็ออกจากที่พักกันแต่เช้า เจ้าของโรงแรมไปส่งถึงที่ มีนักท่องเทีี่ยวกันอยู่บ้าง ค่าเข้าชม 1 วัน 

คนละ JD21,  (1,155 บาท ขณะนั้น)..  2 วัน JD26 ค่ะ 

เรื่องราวของมหานครเปตราเริ่มขึ้นเมื่อก่อนคริสตกาล

มหานครเปตรา (Petra มาจากภาษากรีก แปลว่าหิน ) เป็นนครโบราณที่มีชื่อเสียงที่สุดในโลก

ที่ตัดและแกะสลักเข้าไปในภูเขาหินทราย  ซ่อนตัวอย่างลึกลับในหุบเขาวาดิ มูซา 

ระหว่าง Dead sea  กับอ่าว Aqaba  ตั้งอยู่ทางตอนใต้ของประเทศจอร์แดน 



นครเปรตาและหุบเขาวาดิ มูซา

เมืองที่เป็นศูนย์กลางของอารยธรรมที่เจริญรุ่งเรืองในอดีตกว่า 2,000 ปี มาแล้ว ความมั่งคั่งเห็นได้

จากอาคารหินที่ที่โดดเด่นงดงามที่ปรากฎอยู่ทั่วเมือง ... ผู้ที่ทำให้มหานครเปตราได้รับการยกย่อง


ให้เป็นมรดกโลก .. ดังคำว่า "เป็นหนึ่งในสิ่งที่ล้ำค่ามากที่สุดของมนุษยชาติ  มรดกทางวัฒนธรรม
แห่งมวล (one of the most precious cultural properties of man's cultural heritage)
   จากองค์การยูเนสโก  เมื่อปี คศ. 1985  และได้รับคัดเลือกให้เป็น 1 ใน 7สิ่งมหัศจรรย์ของโลก
ยุคใหม่  .. มื่อ 7 กรกฏาคม 2007   คือ ชาวนาบาเทียน

เรื่องของชาวนาบาเทียนเป็นเรื่องน่าอัศจรรย์ และเป็นส่วนสำคัญยิ่งของเรื่องราวของนครเปตรา
ชาวนาบาเทียน (Nabataeans หรือ Nabateans  มาจากภาษาอาหรับ Antaba  แปลว่าค้นหาน้ำ)
เป็นหนึ่งในชนเผ่าเร่ร่อนชาวเบดูอิน Bedouin ที่รอนแรมในทะเลทรายทางตอนเหนือของ
ซาอุดิอาราเบีย พร้อมฝูงสัตว์  เพื่อหาทุ่งเลี้ยงสัตว์และแหล่งน้ำ เมื่อเวลาผ่านไปก็คุ้นเคยกับ
พื้นที่และสามารถดิ้นรนที่จะรักษาชีวิตไว้ ในช่วงเวลาที่เลวร้ายที่ปราศจากน้ำฝนได้




เส้นทางเดินชมนครเปตรา  (ภาพจาก internet) 

นักโบราณคดีมีข้อมูลว่าชาวนาบาเทียนได้เข้ามาอยู่ที่นครเปตราอย่างน้อย 312 ปีก่อนคริสตกาล  
เมื่อเพตราเจริญถึงขีดสูงสุด ในช่วง 50 ปี ก่อนคริสตกาล จนถึงคริสต์ศักราชที่ 70 นั้น   
อาณาจักรของชาวนาบาเทียนแผ่ขยาย จนรวมบางส่วนของประเทศจอร์แดน  อิสราเอล อียิปต์ 
ซีเรีย และซาอุดิอาระเบีย  นครหลวงของอาณาจักรนาบาเทียน คือ นครเปตรา ...
                    เมืองที่ชาวนาบาเทียนแกะสลักด้วยมือจากหน้าผาหินทรายสีแดงกุหลาบ  

       แม้ปัจจุบัน นักท่องเที่ยวที่เข้าไปยังนครเปตรา ก็ทราบว่านครเปตราซ่อนตัวอยู่ในหุบเขา 

จะเข้าถึงได้ ก็โดยเดินผ่านเส้นทางมหัศจรรย์ ทีี่เรียกกันว่า  Al Siq (shaft -อุโมงค์ หรือปล่อง)

ซอกทางเดินนี้ยาวราว 1.207 กม. และกว้างเพียง 3 - 4 เมตร (9.8 - 13.1 ฟุต) ที่เกิดจากการแยกตัว

ของเปลีอกโลก และการซัดเซาะของน้ำเมื่อหลายล้านปีก่อน จนเป็นกำแพงหินทรายสูงหลายร้อยฟุต





    สิ่งอัศจรรย์ที่นักประวัติศาสตร์พบเกี่ยวกับชาวนาบาเทียน คือ ช่วงเวลาก่อนคริสตกาล 
ชาวนาบาเทียนได้เปลี่ยนชีวิต จากชนเผ่าเร่ร่อนไปเป็นผู้อาศัยในเมืองที่มีฐานะดี  ไม่เพียง
แต่การเปลี่ยนแปลงอย่างน่าทึ่งนี้  ชาวนาบาเทียน ยังทำให้นักโบราณคดี ในอีก 2,000 ปีต่อมา
   ประหลาดใจในฝีมือของเขา ในฐานะสถาปนิก วิศวกร ช่างแกะสลักหิน และศิลปิน ...

ความมั่งคั่งของนครเปตรา (นครเปตราอาจเป็นเมืองที่ร่ำรวยมากที่สุดเมืองหนึ่งของโลกในยุคนั้น)  
ในท่ามกลางสภาพอากาศที่เลวร้ายที่สุดแห่งหนึ่งของโลก   ... อาจเป็นเรื่องที่เล่าลือกันไป  
แต่สถาปัตยกรรมต่าง ๆ ที่ นครเปตรา (นครหินที่สูญหาย - PetraLost City of Stone)  
ได้บอกเล่าเรื่องราว และเปิดเผยอารยธรรมที่น่าอัศจรรย์ของอาณาจักรนาบาเทียนนี้

น้ำ .... เรื่องราวเริ่มต้นจากน้ำ ซึ่งเป็นสิ่งที่ล้ำค่าที่สุดอย่างหนึ่งในทะเลทราย  ในพื้นที่ที่มี

ฝนตกเฉลี่ยอยู่ที่ 6 นิ้วต่อปี  ชาวนาบาเทียนมีความสามารถควบคุมปริมาณน้ำฝน และแหล่งน้ำ

ถึงขีดสูงสุด  จนมีแหล่งน้ำดื่มที่คาดว่ามีขนาดใหญ่ พอสำหรับ คน 100,000 คน 

(ขณะที่มีประชากรเพียง 20,000 คน)  ...การเพาะปลูกก็มีวิธีการพิเศษ วิธีหนึ่งคือ ขุดพื้นดิน

ให้เป็นร่องน้ำตื้น ๆ และปลูกต้นไม้ผลแต่ละต้น ระหว่างกลางร่องน้ำก่อนถึงฤดูฝน ซึ่งอาจมี

ฝนตกเพียง 1 – 2 ครั้งเท่านั้น พื้นดินบริเวณลานปลูกต้นไม้ จะแห้งแตกระแหง ...เมื่อฝนตก

 น้ำฝนทั้งหมดที่ไหลผ่านร่องน้ำ ก็จะผ่านไปยังต้นไม้ผล และซึมลงไปในดินที่แตกระแหง 

ซึ่งจะรับน้ำไว้ต่อไป










ประตูน้ำ และร่องน้ำ ที่เห็นได้ตลอด Al Siq













ร่องน้ำทั้ง 2 ด้านที่ ASiq (ร่องน้ำทางด้านใต้ขุดเป็นร่องจะปิดด้วยหินทรายหรือหินปูนเพื่อกัน

น้ำระเหยและการปนเปื้อน ทางด้านเหนือทำด้วยดินเผา เป็นท่อที่เชื่อมต่อกัน) เป็นทางรับน้ำ

ที่ไหลมาจาก Ain Musa  (Spring of Moses – น้ำพุของโมเสส)  ห่างจากเมืองไป 2 - 3 กม.

ทางตะวันออก แม้จะได้น้ำจากหลายทาง  แต่ Ain Musa  ก็เป็นแหล่งน้ำหลักที่ส่งน้ำผ่าน

เส้นทางน้ำวาดิมูซา (Wadi Musu – Stream of Moses) ไปยังอ่างเก็บน้ำที่อยู่รอบ ๆ เมือง

แต่เดิมเส้นทางน้ำวาดิ มูซานี้ ก็ผ่านไปยัง  Al Siq โดยตรง ...แต่ชาวนาบาเทียน หันเหเส้นทางน้ำบ้าง 

เพื่อกันไม่ให้น้ำท่วมตัวเมือง




       

ความสำเร็จของวิศวกรรมอย่างน่าอัศจรรย์นี้ เป็นการจัดการที่ซับซ้อน ผ่านช่องทางน้ำ สระน้ำ 

และถังน้ำ (อ่างเก็บน้ำ) ที่กักน้ำและส่งผ่านเข้ามาในเมือง นักโบราณคดีคาดว่าระบบส่งน้ำนี้

สามารถส่งน้ำจากแหล่งน้ำได้ราว 12 ล้านแกลลอนต่อวัน ...จากการค้นพบท่อส่งน้ำดินเผา 2 ท่อ 

ที่เป็นส่วนหนึ่งของระบบส่งน้ำ แต่ละท่อมีความยาว 16 นิ้ว มีเส้นผ่าศูนย์กลาง 7 นิ้ว และเชื่อม

กับระบบส่งน้ำโดยมีข้อต่อรูปคล้ายระฆังและก๊อกน้ำ ซึ่งเป็นวิธีการที่ยังใช้อยู่ในปัจจุบัน  

ทำให้ทราบว่าชาวนาบาเทียนมีความสามารถจัดการระบบชลประทาน ที่นำไปสู่ความรุ่งเรือง

ในทะเลทราย เหมือนกับการสร้างโอเอซิสเทียมขึ้นมา

เมื่อนครเปตราร้างผู้คน ทั้งร่องน้ำที่กั้นน้ำ ก็ไม่มีผู้ใดบำรุงรักษา ทำให้เกิดน้ำท่วมผ่าน 

Al Siq เข้ามา และทำลายภาพแกะสลักเกือบทั้งหมดและท้ายที่สุด โคลนเลนก็ได้ทับถม  

Al Siq เรื่อยมา จนสูงกว่า 6 ฟุต ปัจจุบันมีการขุดโคลนเลนออกไปจากเส้นทาง 

พร้อมทั้งบูรณะซ่อมแซมระบบชลประทานโบราณด้วย


กองคาราวานและการค้า ในการอพยพเข้ามาของชาวเผ่านาบาเทียนก็ถูกชนเผ่าอื่น ๆ ต่อต้าน 

แต่ก็สู้ไม่ได้ จึงต้องยกทรัพย์สิน ที่ดิน และอูฐเป็นของกำนัล และเมื่อเข้ามายึดครองดินแดน

แถบนี้แล้ว ก็พบว่านครเปตราตั้งอยู่บนจุดตัดของเส้นทางการค้าอยู่ 2 เส้นทาง เส้นหนึ่งทอดยาว

ไปทางตะวันตกจากเอเชีย ..ส่วนอีกเส้นไปทางเหนือจากทางตอนใต้ของอาระเบีย


ชาวนาบาเทียนเป็นนักธุรกิจที่ชาญฉลาด เมื่อพบว่านครเปตราเป็นสถานที่ดีที่สุดแห่งหนึ่ง ที่มีทั้งน้ำ

และสถานที่พักที่ปลอดภัย สำหรับพ่อค้าและกองคาราวาน (ประมาณว่ามีอูฐมากเป็นหลายร้อย 

หรือเป็น 1,000 ตัว เดินเรียงรายกันยาวถึง 5 ไมล์) ใช้เส้นทางผ่านนี้ ขนสินค้านานาชนิดจาก

เมืองเมกกะ ขึ้นไปจนถึงฝั่งทะเลตะวันออกของทะเลเมดิเตอเรเนียน และจากดามัสกัสไป

จรดทะเลแดง จึงเรียกเก็บค่าธรรมเนียมสำหรับบริการ ทั้งยังเก็บภาษีสินค้าที่ผ่านทางทะเลแดง

เข้ามาในเขตพื้นที่ของตนเองอีกด้วย






ภาพแกะสลักของคาราวาน ที่  Al Siq  เป็นภาพอูฐ 5 ตัว และเจ้าของอูฐ มีขนาดเท่าของจริง 

เพื่อเป็นการเฉลิมฉลองเส้นทางค้าขาย ที่ทำให้ชาวนาบาเทียนมั่งคั่งและมีอิทธิพลขึ้น ... 

ปัจจุบันภาพสึกกร่อนไปมาก เหลือเพียงร่องรอยบางของรอยเท้าอูฐ และส่วนล่างของคนขี่อูฐ


นครเปตรากลายเป็นศูนย์กลางการค้าขนาดใหญ่ จนทำให้นักเดินทางชาวกรีกมักนำเรื่องความ

มั่งคั่งมาเล่า  ..ตามบันทึกของสตราโบ นักภูมิศาสตร์ชาวกรีกได้อธิบายไว้ว่า เมืองเปตราเป็น

ตลาดซื้อ-ขายสินค้า ที่สำคัญที่สุดของโลกตะวันออก ยาง ไม้หอม กำยาน ทองแดง เหล็ก 

เครื่องปั้นดินเผา รูปปั้น โลหะมีค่า งาช้าง ปะการัง เกลือเครื่องเทศของชาวอาหรับ ผ้าย้อมของ

ชาวฟินิเซียน และทาส ล้วนถูกลำเลียงผ่านเมืองเปตรา ไปสู่ทะเลเมดิเตอร์เรเนียนและชาวเปอร์เซีย

ชาวนาบาเทียนจึงมีฐานะดีขึ้น จากการควบคุมการค้าเครื่องหอมของอาระเบียในช่วงเวลา 100 ปี

ก่อนคริสตกาล  และได้ใช้ความมั่งคั่งนี้สร้างอารยธรรมของตนเอง คือ นครเปตราที่น่าทึ่ง 

(นักประวัติศาสตร์กล่าวว่า ความมั่งคั่งของชาวนาบาเทียน หมายถึงมีสิ่งอำนวยความสะดวก

สบายอย่างยิ่ง)

ก่อนที่โรมันมีชัยชนะ และครอบครองอาณาจักรนาบาเทียน..ชาวนาบาเทียนได้ควบคุมบริเวณ

กว้างใหญ่ไพศาลของของตะวันออกกลาง จากอิสราเอลในปัจจุบันและจอร์แดนไปถึง

คาบสมทรอาระเบียตอนเหนือ ทุกวันนี้ก็ยังพบวัตถุพยานถึงเครือข่าย การจัดการน้ำที่เป็น

นวัตกรรมใหม่ ทั้งการกักเก็บ การขนส่ง และระบบชลประทานในพื้นที่ที่เคยเป็นที่ครอบครอง

ของชาวนาบาเทียนเหล่านี้


นครเปตรา นครแห่งศิลา

นครเปตรา   หลังจากมีฐานะดีขึ้นจนสามารถสร้างอายธรรมของตนเองขึ้นมาได้ ตลอด 3 ศตวรรษ

ต่อมา ชาวนาบาเทียนจึงได้ขุด แกะสลักเข้าไปในภูเขาเพื่อสร้างวิหาร หลุมฝังศพ ถนนหนทาง 

โดยผสมผสานอารยธรรมทั้งของตนเอง กับแรงบันดาลใจจากอารยธรรมอัสซีเรียอียิปต์ กรีก และโรมัน

ปัจจุบันจากประตูทางเข้านครเปตรา ผ่านทางเดินกรวด จะพบกับภูมิทัศน์ของโดมหินสีขาว

และหน้าผา และ Djinn Blocks ที่ปรากฏขึ้นราง ๆ เรียกว่า Bab as-Siq (Gate of the Siq - ประตู

ทางเข้า Al Siq)  เมื่อเดินผ่าน Al Siq จะเห็นร่องน้ำที่ขุดขึ้นไปตลอดทาง




Bab as-Siq และ Djinn Blocks

Djinn Blocks – มาจากภาษาอารบิก หมายถึง จิตวิญญาณ (spirit) เป็นสถานที่เกี่ยวกับพิธีกรรม

ในงานศพ สร้างใน ศต.1 พบราว ๆ 28 แห่งในเปตราและอาณาบริเวณ 



Obelisk Tomb และ Triclinium

  เมื่อผ่าน Al Siq เข้าไปไม่ไกล จะพบอนุสรณ์สถานแรกของชาวนาบาเทียน แกะสลักในช่วงเวลา

ที่ต่างกัน คือ Obelisk Tomb สร้างใน ศต.1 .. (ตามรูปจะอยู่ด้านบน) มีเสาโอบิลิกซ์ทรงปิรามิด 4 เสา 

เหมือนเป็นยามเฝ้าทางเข้าไปในสุสาน ..ที่อยู่ต่ำกว่าคือ Triclinium (คศ. 28-75) เป็นห้องโถงเดี่ยว 

มีเก้าอี้หิน 3 ด้านของกำแพง ใช้สำหรับจัดงานเลี้ยงเพื่อบูชาเทพ และเป็นเกียรติ์แก่บรรพบุรุษ




Al Siq เดิมเป็นเส้นทางสำหรับขบวนแห่ทางศาสนา เพื่อนำผู้ตายไปยังนครเปตรา


การขุดค้นได้พบภาพแกะสลักของคาราวานอูฐ และ niches เป็นจำนวนมาก 
















Niches - ซอกที่แกะสลักเข้าไปในหิน เป็นรูปบูชาเพื่ออุทิศแก่เทพเจ้า โดยเฉพาะเทพ Al-Uzza 

เทพธิดาแห่งน้ำ

นครเปตราเจริญถึงขีดสูงสุดในช่วง 50 ปีก่อนคริสตกาลจนถึง คศ. 70 ในช่วงเวลานี้ ปกครอง

ด้วยกษัตริย์นามอารีตัสที่ (Aretas IV) ผู้ที่ชาวกรีกยกย่องว่าเป็นฟิโลเดมอส ซึ่งแปลว่า 
"ผู้รักประชาชน"  ด้วยความมั่งคั่งของเปตรา ความเป็นเมืองที่อยู่ห่างไกล และชัยภูมิอันยากแก่การพิชิต
 จึงทำให้เมืองมีโอกาสเจริญเติบโตได้อย่างง่ายดาย โดยไม่ต้องกลัวศัตรูจากภายนอก  ... 

ใน ศต. ที่ 1 ก็เริ่มสร้างมหาวิหารศักดิ์สิทธิ์เอล-คาซเนท์ (Al-Khazneh) หรือ Treasury 




นักท่องเที่ยวปัจจุบัน เมื่อเริ่มจะผ่านพ้นทางคดเคี้ยวของ Al Siq  มักจะตื่นตลึงกับแสงเงาที่

งดงามมาก ที่ผ่านมาที่ Al Siq และแล้วเงาแสงสีชมพูของมหาวิหารศักดิ์สิทธิ์เอล-คาซเนท์  

(Al Khazneh)  จะค่อย ๆ ปรากฎแก่สายตา




แสงอาทิตย์ที่มากระทบด้านหน้าของ Al Khazneh ทำให้อาคารด้านหน้าเปลี่ยนสีไปในแต่ละช่วงเวลา 

ตอนเช้าจะเป็นสีลูกพีช บ่ายเป็นสีหลาบแวววาว .. ยามเย็นเป็นสีแดงทับทิม



Al Khazneh กว้าง 28 ม. สูง 39 ม. สร้างในต้นศต.ที่ 1 ช่วงการปกครองของ Aretas IV

กษัตริย์ที่ปกครองเปตรา ราว 9 ปี ก่อนคริสตกาล จนถึงปี คศ. 40 โครงสร้างที่สูงอลังการเป็น

จุดเริ่มต้นของวิหารทั้งปวง แกะสลักและตัดตรงเข้าไปในภูเขาหินทรายหลากสี

 (แดง ขาว ชมพู) ทั้งลูก



























Al Khazneh เป็นสถานที่มีสภาพสมบูรณ์ที่สุดในเปตรา แม้จะตัดเข้าไปในภูเขา และตั้งอยู่ในหุบเขา

ที่มีลม ฝน และพายุทราย อีกทั้งเผชิญการบุกรุกของชาวเบดูอินในระยะต่อมา ที่พยายามทำลาย

ส่วนบน เพราะเข้าใจว่าเป็นที่เก็บขุมทรัพย์สมัยฟาโรห์อียิปต์ ..อันเป็นที่มาของคำว่า Al Khazneh

ในภาษาอารบิก หรือ The Treasury - ขุมทรัพย์ นั่นเอง











ภายใน Al Khazneh ประกอบด้วย 3 ห้อง คือ ห้องโถงใหญ่ตรงกลาง ห้องเล็กทางด้านซ้ายและ
ขวา และมีห้องที่ต้องลงบันไดไปอีก (ไม่ได้ลงไปดูค่ะว่า มีหลายห้องหรือไม่ หรือมีขนาดเท่าไร)  

ภายหลังได้มีการขุดพบทางเข้าหลุมฝังศพที่หน้าวิหารแห่งนี้ .. ทำให้นักประวัติศาสตร์และนัก
โบราณคดีลงความเห็นตรงกันว่า การสร้าง Al Khazneh ขึ้นมา เพื่อเป็นการเฉลิมฉลองให้กับ
ผู้ปกครองเมือง ใช้เป็นสถานที่ทำพิธีกรรมทางศาสนา และเป็นสุสานของราชวงศ์นาบาเทียน






Al Khazneh  มีรูปแบบที่โดดเด่นในลักษณะของ Hellenistic style (Hellenistic หมายถึงการแผ่ขยาย

ของอิทธิพลกรีก  ซึ่งเป็นการเผยแพร่หลังการสวรรคตของพระเจ้าอเล็กซานเดอร์มาหาราช) 

ออกแบบโดยได้รับอิทธิพลของศิลปหลายชาติด้วยกัน  เช่น อียิปต์ กรีก และนาบาเทียน 

ลานกว้างหน้า Al Khazneh .. มีอูฐแท๊กซี่ รอบริการนักท่องเที่ยว

สุสานที่เพตราเป็นสถาปัตยกรรมที่มีทั้งความสง่างามและศักดิ์สิทธิ์ หลายสุสานสูงขึ้นไปหลาย

ร้อยฟุต บางสุสานก็เป็นเพียงชั้นหินระดับพื้น การขุดแกะสลักสุสานมีการออกแบบ และลง

รายละเอียดบนพิมพ์เขียวไว้ล่วงหน้า  เริ่มงานด้วยการแกะสลักขอบ หรือแนวที่ยื่นออกมาจาก

หน้าผา จากนั้นจึงไล่งานลงมาเรื่อย ๆ  จนถึงชั้นพื้นดินด้านล่าง.. ด้านหน้าของแต่ละสุสานบ่งบอก

ลักษณะเฉพาะของตนเอง เห็นได้จากความแตกต่างของบัวประดับเชิงชายคา และเสาค้ำที่ยิ่งใหญ่

สง่างามที่มีการแกะสลักอย่างประณีต

เลย Al Khazneh ไป เป็น Outer Siq - (ทางเข้าด้านนอก) ที่เรียกว่า Street of Facades 

เรียงรายด้วยสุสานหลายชั้นลดหลั่นกันไป ทางซ้ายเป็นสุสานทีี่ยังไม่เสร็จสมบูรณ์

 มีด้านบนเป็น nefesh (แท่งหินที่มีรูปทรงแบบโอบิลิกซ์ มักหมายถึงดอกไม้/การผลิดอก) 

 หรือมงกุฎ  ทางขวาบางสุสานสึกกร่อนและเสียหายมาก เนื่องจากจมอยู่ในโคลนเลนหลัง

น้ำท่วมมาเป็นเวลานาน  หน้าผาบางส่วนมีหลุมศพขนาดเล็กหลายหลุม เป็นหลุมของ

ผู้ที่มีฐานะธรรมดา

 

 สุสานด้านซ้ายอยู่เหนือสุสานขวาขึ้นไป เหมือนเป็นภาพที่ทับซ้อนกัน   ซึ่งเป็นรูปแบบที่เป็น  

"มาตรฐาน" ของเปตรา 

   

Lower Siq มีลักษณะเป็นแอ่งใหญ่ เป็นกลางเมืองนครเปตรา ซึ่งสถานที่ประกอบพิธีกรรม จะมอง

เห็นหลุมศพรอบด้าน 

 

จาก Street of Facades จะมีบันไดหินขึ้นไปถึง High Place of Sacrifice ณ ที่นี้ บนลานหินของ

ชาวนาบาเทียน (Nabatean Quarry)  เป็นที่ตั้งเสา Obelisks 2 ต้น ซึ่งอุทิศแก่เทพ  Dushana 

และ al-Kuzza  ..Dushana คือ เทพแห่งพละกำลัง และ al-Kuzza  คือเทพธิดาแห่งน้ำ

และความอุดมสมบูรณ์  

ชาวเบดูอินพร้อมม้าและลาคู่ใจสู่ High Place

  
   
บน High Place of Sacrifice  สามารถมองเห็นทัศนียภาพและหุบเขาเบื้องล่าง ไปไกลถึง 200 เมตร  
(เห็นไกลถึงวาดิ มูซา)  บริเวณนี้ประกอบด้วยลานสี่เหลี่ยมผืนผ้าที่มีม้านั่ง แท่นบูชาอยู่ทางทิศตะวันออก
เพื่อวางสัตว์ที่ประกอบพิธีกรรม ทางซ้ายเป็นที่ประกอบพิธีกรรม มีอ่างสลักเพื่อรับเลือด และอ่างสำหรับ
การทำให้บริสุทธิ์
นั่งชมทัศนียภาพเบื้องล่างและไกลโพ้น ตากับหลานอยู่กันคนละโขดหิน

จากตรงนี้จะมีทางลง ผ่าน Street of Facades อีกครั้ง แล้วก็ถึง Petra theatre  หรือ  

Roman theatre (โรงละครเปตรา หรือโรงละครโรมัน) ภายใต้การปกครองของโรมัน 

เรื่องราวของ "ชาวนาบาเทียนและนครเปตรา" ช่วงแรกต้องตัดแค่นี้ คือ จริง ๆ ก็เขียนไปเรื่อย ๆ 

พอถึงขั้นหนึ่ง ก็ save ไม่ได้ มีคำเตือนขึ้นมาว่า เนื้อหายาวเกินไป ต้องแก้ไข ตัดโน่นตัดนี่ 

อะไรก็แล้ว ก็ยัง save ไม่ได้ ก็ขอแบ่งเป็น 2 ตอนค่ะ

ขอบคุณข้อมูลจากวิกิพีเดีย และ

https://www.art-and-archaeology.com/jordan/petra/siq/si01.html

https://www.lonelyplanet.com/jordan/the-ancient-city/attractions/qasr-al-bint/a/poi-sig/1446308/1332397



Create Date : 06 เมษายน 2561
Last Update : 5 พฤษภาคม 2561 15:57:56 น. 2 comments
Counter : 3366 Pageviews.

ผู้โหวตบล็อกนี้...
คุณ**mp5**


 
ตามไปเที่ยวชมด้วย ภาพสวยครับ


โดย: **mp5** วันที่: 4 พฤษภาคม 2561 เวลา:16:36:07 น.  

 
สุดยอดมากครับ อ่านแล้วตื่นตาตื่นใจ มีโอกาสจะไปบ้างครับ


โดย: **mp3** IP: 118.172.127.45 วันที่: 7 มีนาคม 2563 เวลา:11:24:08 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

สมาชิกหมายเลข 1920579
Location :
เชียงใหม่ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 8 คน [?]




New Comments
Friends' blogs
[Add สมาชิกหมายเลข 1920579's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.