การเดินทางของจิตวิญญาณใน Life of Pi


วันนี้ได้ดูหนังเรื่อง Life of Pi อีกครั้ง หลังจากหนังเข้ามาน้านนาน หนังของอังลีที่ทำออกมาได้ชวนตั้งคำถามจนนอนไม่หลับ มันเป็นการเดินทางทางจิตวิญญาณของตัวละครเอกที่ค่อย ๆ พัฒนาจากความเป็นเด็กไร้เดียงสา เข้าไปสู่การตั้งคำถามมากมายในชีวิตและการแสวงหาความหมายที่แท้จริงของการดำรงอยู่ จนต้องลุกขึ้นมาเขียนนี่แหละครับ มันสร้างคำถามปลายเปิดที่ตอบยังไงก็ไม่ถูก ตอบยังไงก็ไม่ครบสมบูรณ์ สมชื่อ Pi ซึ่งเป็นจำนวนอตรรกยะที่ไม่มีสิ้นสุด จะเรียกว่าเป็นหนังปรัชญา หนังศาสนา หรือวิทยาศาสตร์ หรืออะไรก็ได้ ชาวพุทธดูแล้วอาจเกิดคำถามในใจมากมาย แต่ในที่นี้ผมขอมองจากในแง่ศาสนานะครับ


ขอเริ่มต้นที่ชื่อของพระเอก ไพ  Pi คืออะไร? ในหนังกล่าวว่าพาย มาจากคำว่า piscine ซึ่งเป็นชื่อสระว่ายน้ำที่มีชื่อเสียงแห่งหนึ่งในฝรั่งเศส เนื่องจากลุงของเขาเป็นนักว่ายน้ำ และกล่าวกับเขาว่าสระว่ายน้ำแห่งนี้มีน้ำที่ใสสะอาดมาก จนผู้ที่ลงไปว่ายน้ำในสระแห่งนี้อาจจะมองเห็นจิตวิญญาณของตนเองได้ อย่างไรก็ตาม ในที่สุดภาพยนตร์ก็แสดงออกมาให้เห็นอย่างจะแจ้งว่า การเข้าถึงจิตวิญญาณที่แท้จริงของไพ ไม่ได้เกิดขึ้นในสระว่ายน้ำขนาดเล็กอันราบเรียบเงียบสงบ แต่เกิดขึ้นภายใต้พายุอันน่าสะพรึงกลัวของสระว่ายน้ำที่ใหญ่ที่สุดในโลก ที่แทบจะไร้ขอบเขตคือมหาสมุทรแอตแลนติก


เมื่อไพเข้าโรงเรียน เขามีปัญหากับชื่อของเขาเพราะเพื่อนๆมักจะล้อว่า ไพ นั้นแปลว่า “ฉี่” เขาจึงพยายามค้นหาความหมายอื่นมาอธิบายชื่อของเขาเสียใหม่ นี่เป็นครั้งแรกที่ไพพยายามหาความหมายให้กับชีวิตของตัวเอง ที่สื่อออกมาในรูปสัญลักษณ์ของการค้นหาความหมายของชื่อตัวเอง


ในที่สุดเขาก็พบความหมายของชื่อ ไพ ในเชิงคณิตศาสตร์ ไพ เป็นจำนวนอตรรกยะที่ไม่มีวันสิ้นสุด 3.1428….. ไปเรื่อย ๆ ยิ่งคิดก็ยิ่งยาวยืด มันเปรียบเหมือนกับความคิดของพระเอกคือ Pi ที่แสวงหาสัจธรรมจากศาสนาเทวนิยมสามศาสนา ที่ถือว่าเป็นศาสนาหลักใหญ่ในอินเดีย คือ ฮินดู คริสต์ และอิสลาม เขาทดลองไปเรื่อยๆ แต่ก็ยังไม่ได้รับคำตอบที่อิ่มเอมเป็นที่พอใจ ทั้งยังเกิดความสับสนมากยิ่งขึ้น เนื่องจากในครอบครัวของเขานั้น บิดาเป็นผู้ที่ไม่เชื่ออะไรเลย ทั้งยังต่อต้านความเชื่อเหนือธรรมชาติ ขณะที่มารดานั้น นับถือศาสนาฮินดูตามครอบครัวและมีทัศนะที่ค่อนข้างอนุรักษ์นิยม ศาสนาในทัศนะของมารดานั้นเป็นเสมือนการเชื่อมโยงตัวเองกับอดีตและความสัมพันธ์ของตระกูล มากกว่าจะให้คำตอบในการแสวงหาความหมายในชีวิตอย่างแท้จริง แต่ไพก็ได้พบแนวทางการทำความดีจากศาสนาทั้งสาม


อย่างไรก็ดี ชื่อของ Pi ดันไปพ้องกับคำว่าฉี่ ก็เหมือนกับตัวเขาเองที่ถูกเพื่อน ๆ ล้อเลียนเพราะเรื่องชื่อ และถูกครอบครัวล้อเรื่องการนับถือศาสนาไปทั่วไม่จบสิ้น ในภาพยนตร์เรื่องนี้ สัจธรรมกับเรื่องตลกไร้สาระจึงปนกันอยู่อย่างมีนัยยะ แล้วแต่มุมมองของผู้ชม ว่ามีแนวคิดแบบสสารนิยมหรือจิตนิยม


ในเมืองดาร์จิลิง บาทหลวงท่านหนึ่งได้ถามเขาขณะที่แอบเข้าไปดื่มน้ำมนต์ในโบสถ์ว่า “กระหายไหม” แล้วหยิบแก้วน้ำมาให้ ไพแค่จิบ ไม่ได้ดื่มทั้งหมด ทั้ง ๆ ที่ในใจเขากระหายที่จะรู้สัจธรรมที่ไม่มีสิ้นสุด เหมือนจำนวนอตรรกยะ เหมือนเขายังไม่ไว้วางใจพอที่จะดื่ม เขายังไม่ได้พิสูจน์หรือทดลอง หรืออันที่จริงแล้วเขาอาจจะต้องการเพียงการหยิบยืมส่วนดีของแต่ละศาสนาอย่างละนิดละหน่อยมาผสมผสานกัน

ไพมหัศจรรย์ใจกับความอลังการและลึกลับของศาสนาฮินดู ความรักของศาสนาคริสต์ และความศรัทธาของอิสลาม อย่างไรก็ตาม บาทหลวงบอกไพว่า “มนุษย์ไม่อาจเข้าถึงพระเจ้าได้ด้วยการทำความดี แต่เข้าถึงได้เมื่อผ่านความทุกข์ยากไปแล้ว” ซึ่งไพจะเข้าใจความหมายนี้เมื่อเขาอยู่ท่ามกลางมหาสมุทร เมื่อเขาเข้านอน เขากล่าวขอบคุณพระกฤษณะที่ทำให้เขารู้จักพระเยซู


บ้านของเขาทำกิจการสวนสัตว์ในเมืองปอนดีเชอรี่ อาณานิคมเก่าของฝรั่งเศสในอินเดีย ไพก็เกิดและเติบโตขึ้นในสวนสัตว์ ซึ่งในภาพยนตร์เปิดเรื่องขึ้นมาด้วยรูปงูที่กำลังไต่อยู่บนต้นไม้ ชวนให้ระลึกถึงปีศาจที่ปลอมแปลงมาในรูปงู มาล่อลวงมนุษย์ให้หลงผิด ซึ่งปรากฏในบทปฐมกาลจากพระคัมภีร์ไบเบิล ผู้เขียนอาจต้องการสื่อว่าไพเติบโตขึ้นมาในสภาวะแวดล้อมที่ใสบริสุทธิ์อยู่กับธรรมชาติอย่างแท้จริง เสมือนอาดัมกับเอวามนุษย์คู่แรกที่อยู่ในสวนเอเดน ซึ่งยังไม่รู้จักความบาป ความชั่วหรืออารมณ์ในเชิงลบใดๆ


วันหนึ่งไพแอบไปเล่นกับเสือตัวใหม่ชื่อริชาร์ด ปาร์กเกอร์ เขาโดนพ่อดุอย่างรุนแรงที่มาเล่นเสี่ยงอันตรายกับเสือที่ไม่มีวันเชื่อง ไพบอกกับพ่อว่า “เสือมันก็มีวิญญาณความรู้สึก ผมเห็นมันในดวงตา” พ่อกลับตอบว่า “สัตว์มันไม่มีวิญญาณหรอก สิ่งที่เห็นในตาเป็นเพียงแค่อารมณ์ของเราเท่านั้น” แล้วก็เอาแพะมาให้เสือกินต่อหน้าลูกชายวัยเด็ก เพื่อสอนความจริงที่โหดร้ายของโลก ตั้งแต่นั้นมาโลกของพายก็มีได้บริสุทธิ์ใสสะอาดอีกต่อไป ผมคิดว่าการที่ไพเข้าไปเล่นกับเสือร้ายในกรงขัง เป็นครั้งแรกในชีวิตของเขาที่จะต้องเผชิญหน้ากับอารมณ์ความรู้สึกแปลกปลอม ที่ตัวเองไม่เคยสัมผัสมาก่อน อย่างไรก็ดี เขาไม่มีโอกาสที่จะได้ทำความรู้จักกับเสือร้ายอันเป็นอุปมาของอารมณ์เช่นนี้เลย ด้วยว่า เขาถูกปกป้องดูแลจากครอบครัว ที่ไม่เปิดโอกาสให้เขาเรียนรู้การอยู่ร่วมกับอารมณ์อันแปลกปลอมเลย เสือร้ายของไพจึงเป็นเพียงแต่เสือที่อยู่ในกรง ไม่มีโอกาสได้ออกมาโลดเล่นภายนอก ตั้งอยู่ใน Comfort Zone ซึ่งอาจเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้มนุษย์ไม่อาจรู้จักความรู้สึกภายในของตนเองอย่างแท้จริงก็เป็นได้

.

.

วันหนึ่ง เกิดการเปลี่ยนแปลงในบ้านเมือง กิจการสวนสัตว์ของครอบครัวกำลังจะล้มละลาย เขากับครอบครัวต้องย้ายไปอยู่ในแคนาดา ขนสวนสัตว์ไปขายที่นั่นด้วยทางเรือ ระหว่างทางเรือประสบกับพายุรุนแรงพายุ เรือของเขาล่มลงกลางแปซิฟิก เมื่อพายุสงบลง ไพติดอยู่ในเรือชูชีพกับสัตว์ห้าตัว คือ ม้าลาย ไฮยีน่า ลิงอุรังอุตัง และเสือ ซึ่งทั้งหมดน่าจะเป็นจินตนาการของการมองโลก เพื่อการปลอบประโลมใจตัวเอง เพราะสัตว์ทุกตัวจริง ๆ แล้วควรจะเป็นมนุษย์เรือแตก ที่เข่นฆ่ากันเองเพราะความขัดสนในเรือชูชีพ รวมทั้งแม่ของเขาที่ถูกฆ่าด้วย ไพเลือกที่จะมองความจริงไปในอีกลักษณะหนึ่ง คือ ไม่ได้มองตามความเป็นจริงที่ตาเห็น ซึ่งความจริงนั้นอาจจะฆ่าเขาให้ตายด้วยความรู้สึกเศร้าสะเทือนใจสิ้นหวัง เขากลับเลือกที่จะมองเหมือนที่พ่อของเขาเคยพูดคือ “สัตว์มันไม่มีวิญญาณ สิ่งที่เห็นเป็นเพียงอารมณ์เท่านั้น” ไพเลือกที่จะมองทุกอย่างบิดเบี้ยวออกไป เพื่อสร้างกลไกปกป้องตัวเองจากความเลวร้ายที่แสดงออกจากตัวมนุษย์ในยามคับขัน


แต่อย่างไรก็ดี สุดท้ายตัวของเขาเองก็ได้ระเบิดอารมณ์ออกมาด้วยการสร้าง “เสือ” ที่กระโจนออกมาฆ่าไฮยีน่า (ตัวแทนของพ่อครัวที่ฆ่าแม่) ในชีวิตที่ผ่านมา ไพไม่เคยทำบาป เขาเป็นฮินดูมังสวิรัติที่เคร่งครัด การปล่อยเสือทะยานออกมาจากตัว เป็นอารมณ์ใหม่ที่เขาไม่คุ้นเคย เขาไม่สามารถจัดการมันได้ ทำให้ไพต้องจมปลักอยู่กับเสือนั้นไปตลอดการเดินทาง ไม่ว่าเสือนั้นจะเป็นอะไรก็ตาม อาจจะเป็นอารมณ์ความโกรธแค้นที่พ่อครัวฆ่าแม่ หรือความสำนึกผิดของเขาต่อบาปที่ฆ่าพ่อครัวให้ตาย หลังจากลองผิดลองถูกมานาน ไพตัดสินใจจะจัดการกับเสือดุร้ายโดยการค่อย ๆ ฝึกให้มันเชื่อง ตรงนี้ถ้าจะคิดแบบพุทธ ๆ ก็คงคล้ายกับการตระหนักรู้สติของตนเอง อย่างไรก็ตาม ไพ ทำให้มันเชื่องไม่ได้ เพราะสุดท้ายมันก็กลับเข้าไปหลบในหลังคาผ้าใบเรือเพียงชั่วคราว นั่นเท่ากับเขาซุกซ่อนเก็บความโกรธแค้นและความรู้สึกผิดเอาไว้ โดยมิได้รู้เท่าทันหรือจัดการกับอารมณ์อย่างเกิดประสิทธิผล


ไพเขียนไดอารี่ทุกวัน จนวันหนึ่ง ไดอารี่ปลิวตามลมไปในพายุ เขารำพึงว่า “โลกแห่งความจริงและโลกแห่งความฝันมันแยกกันไม่ออกเสียแล้ว” เพราะไดอารี่ที่จับต้องได้คือความจริงที่เป็นพยานทำให้เขาระลึกถึงอดีตและความจริงในเรือที่แตก  ถึงตอนนี้ความจริงไม่มีความหมายกับเขาอีกต่อไป


แต่เมื่อ Diary พัดไปพร้อม กับพายุที่ทำให้เขาเกือบตาย เขากลับพบว่าในความ “ไม่จริง” นั้น พายุไม่ได้เอาชีวิตเขาไปด้วย เขากล่าวขอบคุณพระเจ้าที่ไว้ชีวิตเขาไว้ พายุซึ่งอาจเป็นสัญลักษณ์ของความว้าวุ่นกระวนกระวายใจ แต่เมื่อเขายอมรับความทุกข์ที่เข้าในชีวิต ด้วยการขอบคุณพระเจ้าในภาวะทุกข์ทรมานได้ เขาก็ได้พบกับการจัดการอารมณ์แบบใหม่ที่ตามมา คือระหว่างพายุนี้ เสือริชาร์ดปาร์กเกอร์ก็สิ้นฤทธิ์ลง เป็นครั้งแรกที่ไพเข้าไปใกล้ตัวมัน กระทั่งยกหัวของมันขึ้นมาหนุนบนตักได้ นั่นอาจจะหมายถึงการเข้าใจอารมณ์ของตนเองเป็นครั้งแรก ไพสามารถทำให้อารมณ์ของเขากลับมาเชื่องได้แล้ว หลังผ่านความสับสนวุ่นวายใจครั้งใหญ่ในรูปของพายุที่ทำลายทุกอย่าง แต่กลับให้ชีวิตใหม่แก่เขา

.

.

สิ่งที่ตามมาหลังพายุก็คือทะเลที่สงบเงียบจนสะท้อนแผ่นฟ้าสีทอง เรียบราบราวกับกระจก อุปมาเหมือนจิตใจของไพที่เข้าสู่ความสงบแล้ว เพราะเขาปราบเสือร้ายจนเชื่อง ที่ท้ายเรือ เสือตัวนั้น (อารมณ์) นั่งมองลงไปที่ก้นสมุทร เขามองตามลงไป และมองเห็นจักรวาลทั้งหมดทั้งมวล ปลาใหญ่กินปลาเล็ก ปลาหมึกที่กินปลาวาฬ สัตว์ต่าง ๆ ที่จมน้ำตาย ปลาที่เปลี่ยนร่างไปชั่วพริบตาให้ความรู้สึกราวกับการเวียนว่ายตายเกิด หน้าของแม่ และเรือที่จม มันช่างเหมือนกับจักรวาลที่อยู่ในปากของพระกฤษณะในนิทานภาพที่เขาเห็นตอนเด็ก ๆ (พระกฤษณะแสดงองค์เป็นนารายณ์วิศวรูป จักรวาลทั้งมวลอยู่ในพระองค์ และพระองค์ทรงเป็นจักรวาล) ไพเริ่มตระหนักแล้วว่า หลังจากจัดการกับอารมณ์ที่สับสนวุ่นวายภายในจิตใจของเขาแล้ว ตนเองกำลังเข้าถึงความจริงของจักรวาล ตัวเขาเองก็เป็นส่วนหนึ่งอันเล็กจ้อยในความยิ่งใหญ่นั้น โดยเฉพาะเมื่อเปรียบเทียบกับความเวิ้งว้างกว้างใหญ่ของมหาสมุทร


ต่อมาไม่นาน เรือมาเกยตื้นบนเกาะมหัศจรรย์แห่งหนึ่ง มันมีชีวิตและเต็มไปด้วยต้นไม้ประหลาด มีฝูงตัวเมียร์แคตไร้เดียงสานับล้าน มีบ่อน้ำจืดใสแจ๋วที่เขาลงไปเล่นด้วยความกระหาย แต่เมื่อค่ำลง บ่อน้ำนั้นกลับกลายเป็นกรดที่ฆ่าปลาทุกตัว และต้นไม้นั้นก็กลายเป็นไม้กินคน เขาพบฟันมนุษย์ซี่หนึ่งในดอกบัวประหลาดกลางป่า เขาตระหนักได้ว่านี่คือเกาะกินคนเสียแล้ว (ดอกบัวที่อยู่กลางป่านั้น เป็นท่ารำแบบอินเดียของนางเอก ถ้าจะวิเคราะห์ก็คือ การค้นพบความจริง (ดอกบัว) ท่ามกลางอวิชชา ภายในดอกบัวมีฟัน อันอาจหมายถึงความตายถูกห่อหุ้มปลอมแปลงด้วยสิ่งสวยงามและสับสนในโลก ถ้าพูดแบบพุทธ ๆ ก็คือนิรวาณ อันแปลว่า ไม่มีป่าอีกต่อไป)


ไพรำพึงกับตัวเองว่า “เมื่อตอนกลางวันพระเป็นเจ้าทรงให้ชีวิต แต่พอตกกลางคืนพระองค์ก็ทวงมันกลับไป” เป็นวัฏจักรที่เกิดขึ้นทุกวันบนเกาะแห่งนี้ อย่างไรก็ตาม บนเกาะแห่งนี้เขาก็ได้พบกับการพักผ่อนและอาหารมากพอที่จะยังชีพและเดินทางต่อได้ ไพเอ่ยขอบคุณพระเจ้าอีกครั้งว่า

“ในยามที่พระเป็นเจ้าดูเหมือนจะละทิ้งเขาไป พระองค์เฝ้าดูแลอยู่”

“ในยามที่ประสบความทุกข์ยาก พระองค์เฝ้าดูแลอยู่”


ชั่วขณะที่เขาอยู่บนเกาะนั้น เขาจึงพบทั้งสัจธรรมของการเกิดดับ และการพักผ่อนในพระเป็นเจ้า แต่เขาก็ตัดสินใจเดินทางต่อไป เมื่อเขาถอยออกห่างจากเกาะนั้นในระยะพอสมควรจึงเห็นว่า ตัวเกาะมีสัณฐานเป็นรูปพระนารายณ์บรรทมสินธุ์ ซึ่งเป็นทั้งผู้สร้างและผู้ทำลาย การเกิดและการดับเป็นปกติของโลกที่ไม่ควรตั้งคำถามหรือชวนให้เกิดความโศกเศร้า หรือตีโพยตีพาย บ่นว่าต่อพระเจ้าขอให้พระองค์ช่วยทำให้สิ่งที่ “เป็นปกติ” ผ่านพ้นไปตามวิสัยความอ่อนแอตามประสามนุษย์ เพราะทุกอย่างล้วนถูกสร้างและถูกทำลายเป็นปกติทุกเมื่อเชื่อวัน ด้วยนัยยะนี้ไพได้ทำความเข้าใจพระเป็นเจ้ามากขึ้นอีกครั้ง เขาอำลาตัวเมียร์แคท ซึ่งไร้เดียงสาเสียจนไม่กลัวคนและไม่รู้จักกลัวเสือ ในที่นี้ผมเองก็ตีความว่า เมียร์แคทน่าจะหมายถึง วิญญาณทั้งปวงที่รวมอยู่ในปรมาตมัน เป็นวิญญาณบริสุทธิ์ไร้เดียงสา ที่ไม่รู้จักแม้แต่อารมณ์ (คือเสือที่ดุร้าย) ผู้ที่กลับไปรวมกับพระผู้เป็นเจ้าย่อมเป็นผู้ที่บริสุทธิ์ไร้เดียงสา ไม่รู้จักแม้แต่ความดีและความชั่ว แต่ในตอนนี้ก็ไม่ใช่เวลาที่ไพจะกลับไปรวมกับปรมาตมัน เขาจึงเลือกที่จะเดินทางต่อไป

.

.

เรือชูชีพของไพและเสือมาขึ้นที่หาดเม็กซิโก ที่นั้น ริชาร์ด ปาร์กเกอร์ เสือที่เป็นทั้งมิตรและศัตรูเดินจากเขาเข้าไปในป่าโดยไม่หันกลับมามอง และเขาก็ไม่ได้เจอริชาร์ดอีกเลย เสมือนว่าอารมณ์ความรู้สึกต่าง ๆถูกสลัดทิ้งไปแล้ว เมื่อเขารอดชีวิตและกลับมาถึงฝั่งพร้อมกับความศรัทธาใหม่ เขาได้พบพระเจ้าที่ไม่ได้มาจากการปฏิบัติศาสนกิจอันเรียกว่าความดี ที่มีความแตกต่างกันไปตามแต่ละศาสนา แต่เป็นพระเจ้าในธรรมชาติที่พบหลังจากฝ่าฟันอุปสรรคความทุกข์ยากและการตั้งคำถามมากมายต่างหาก ภายไม่ได้พบพระเป็นเจ้าในสระว่ายน้ําขนาดเล็กจ้อยอันราบเรียบ แต่พบพระองค์ผ่านทางการใช้ชีวิตประเชิญหน้ากับความทุกข์ยากในสระว่ายน้ำอันดุร้ายด้วยพายุและไร้ขอบเขตของมหาสมุทร





Create Date : 09 มกราคม 2561
Last Update : 10 มกราคม 2561 9:00:06 น.
Counter : 1761 Pageviews.

1 comments
  
ชอบเรื่องนี้มากครับ
โดย: คนขับช้า วันที่: 27 มกราคม 2561 เวลา:22:02:59 น.
ชื่อ :
Comment :
 *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

ปลาทองสยองเมือง
Location :
  

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 23 คน [?]



New Comments