เที่ยวไปกับหริ่งน้อย

ปราสาทตาควาย จังหวัดสุรินทร์

สถานที่ท่องเที่ยว : ปราสาทตาควาย จังหวัดสุรินทร์, สุรินทร์ Thailand
พิกัด GPS : 14° 21' 19.50" N 103° 19' 16.20" E


ปราสาทตาควาย (ប្រាសាទ​តា​ក្របី)

ถัดจากอุทยานประวัติศาสตร์กลุ่มปราสาทตาเมือนและปราสาทศีขรภูมิ ไปทางทิศตะวันออก ที่บ้านไทยนิยมพัฒนา ตำบลบักได อำเภอพนมดงรัก จังหวัดสุรินทร์ ยังมีปราสาทงามอีกหลังที่สวยงามตั้งตระหง่านอยู่บนยอดเขา นั่นคือ "ปราสาทตาควาย" หรือในภาษาเขมรออกเสียงเป็น "ปราสาท​ตา​กฺรบี"






















การเดินทางมาเที่ยวชมปราสาทตาควายนั้น จะมีความเข้มงวดกว่าทุกปราสาทในเมืองไทย คนขับรถหรือตัวแทนนักท่องเที่ยวจะต้องแสดงบัตรประจำตัวประชาชน / ใบขับขี่รถยนต์ บริเวณป้อมรักษาการณ์ก่อนขึ้นปราสาท เจ้าหน้าที่ทหารจะเก็บบัตรประชาชนไว้และคืนให้เมื่อขากลับ พร้อมจดทะเบียนรถยนต์ไว้อีกครั้งเป็นข้อมูล และเมื่อไปถึงบริเวณตีนเขา อาจจะมีการถ่ายรูปกับเจ้าหน้าที่อีกครั้ง 

ตลอดทางจากป้อมรักษาการณ์จะเป็นป่าสวนยางสลับกับป่าธรรมชาติอย่างสวยงาม มีถนนลาดยางขึ้นไปจนถึงบริเวณทางขึ้นปราสาท จะมีสิ่งอำนวยความสะดวกพื้นฐานบริการนักท่องเที่ยว เช่นห้องน้ำสาธารณะ ร้านขายเครื่องดื่ม ที่จอดรถ ซึ่งปัจจุบันอยู่ภายใต้การดูแลของ ร้อย ทพ.2602 ฉก.กรม พท.26








ทางขึ้นปราสาทจะชันนิด ๆ และเป็นทางเดินธรรมชาติ 



เมื่อเรามาถึงตัวปราสาท ความเหนื่อยจากการเดินขึ้นมาก็หายเป็นปลิดทิ้ง ด้วยบรรยากาศท่ามกลางป่าไม้ ร่มรื่น เรียกได้ว่าปราสาทแห่งนี้ยังเป็นปราสาทที่สด อยู่มาก เมื่อเทียบกับอีกหลายปราสาทในเมืองไทย

ตัวปราสาทตาควายเป็นปราสาทหลังเดี่ยว ตั้งอยู่บนฐานศิลาแลงหันหน้าไปทางทิศตะวันออก มีชานชาลารูปกากบาทสั้น ๆ ยื่นออกมา รอบตัวปราสาทไม่มีกำแพงแก้ว โคปุระ สระน้ำ หรือปราสาทบริวาร  



ตัวปราสาทตาควายก่อด้วยหินทราย แต่ยังสร้างไม่เสร็จ เพียงแค่ขึ้นโครงสร้างไว้ ไม่มีลวดลายสลักอื่นใด แต่จุดที่น่าสนใจอีกอย่างของปราสาทตาควายคือ ชั้นหลังคา ที่ยังอยู่ครบ และสวยสมบูรณมาก เพียงแต่ไม่มี นาคปัก พรรพแถลง หรือกลีบขนุน ตัวปราสาทมีมุขขนาดสั้นยื่นออกมาทั้งสี่ด้าน มีผังเพิ่มมุม และประตูทางเข้าทั้งสี่ด้าน 

ภายในห้องครรภคฤหะแท่งหินธรรมชาติคล้ายศิวลึงค์ตั้งอยู่ แต่ไม่พบจารึก หรือหลักฐานภายในอาคารอื่นใดกล่าวถึงการสร้างปราสาทตาควายแห่งนี้ 

ดังนั้นจึงยังไม่สามารถสรุปได้ว่าปราสาทตาควายแห่งนี้สร้างขึ้นเพื่อวัตถุประสงค์ใด หากแท่งหินธรรมชาติ ที่พบในห้องครรภคฤหะนั้น เป็นศิวลึงค์จริงอาจกล่าวได้ว่าปราสาทตาควายสร้างขึ้นเพื่อเป็นศาสนสถานในศาสนาพราหมณ์ และเป็นสวยัมภูลึงค์อันศักดิ์สิทธิ์เช่นเดียวกันกับที่ปราสาทตาเมือนธม

เมื่อดูจากผังโดยรวมของตัวปราสาทแล้ว พบว่ามีแบบแผนการสร้างปราสาทเหมือนปราสาทหินในสมัยเมืองพระนครทั่วไป เช่น ผังเพิ่มมุม มีมุขทางเข้าทั้งสี่ด้าน จึงพอกำหนดอายุทำได้เพียงคร่าวๆ ว่าปราสาทตาควายมีอายุอยู่ระหว่างพุทธศตวรรษที่ 16 - 18 ช่วงยุคนครวัดคาบเกี่ยวกับต้นยุคบายน 






ปราสาทตาควายกับความขัดแย้ง

"ตามที่มีรายงานข่าวว่าทหารกัมพูชาได้นำกำลังเข้ามาตั้งอยู่ในบริเวณปราสาทตาควายของไทยเมื่อช่วงต้นเดือนกันยายน 2551 นั้น เมื่อวันที่ 16 กันยายน 2551 เวลา 17.00 น. นายวีระศักดิ์ ฟูตระกูล ปลัดกระทรวงการต่างประเทศ ได้เชิญเอกอัครราชทูตกัมพูชาประจำประเทศไทยมาที่กระทรวงการต่างประเทศ เพื่อมอบบันทึกช่วยจำประท้วงกรณีทหารกัมพูชารุกล้ำดินแดนไทยบริเวณปราสาทตาควาย อำเภอพนมดงรัก จังหวัดสุรินทร์ สาระสำคัญของบันทึกช่วยจำดังกล่าวสรุปได้ดังนี้ 

         1. วันที่ 6 กันยายน 2551 หน่วยทหารกัมพูชาจำนวนประมาณ 70 นาย ได้เข้ามายึดครองพื้นที่บริเวณปราสาทตาควายซึ่งอยู่ในดินแดนไทย (หลังจากที่เคยเข้ามาครั้งหนึ่งแล้วจำนวน 30 คนระหว่างวันที่ 3-6 สิงหาคม 2551) ส่วนราชการท้องถิ่นของไทยจึงได้จึงขอให้หน่วยทหารกัมพูชาดังกล่าวถอนกำลังออกไปจากพื้นที่โดยทันที แต่หน่วยทหารกัมพูชากลับเพิกเฉยอยู่หลายวัน และได้ถอนกำลังออกไปจากปราสาทตาควายและพื้นที่บริเวณดังกล่าวก็เมื่อส่วนราชการท้องถิ่นของไทยได้ประท้วงซ้ำแล้วซ้ำอีก

         2. การกระทำของหน่วยทหารกัมพูชาดังกล่าวเป็นการละเมิดอธิปไตยและบูรณภาพแห่งดินแดนของราชอาณาจักรไทย กระทรวงการต่างประเทศจึงได้ประท้วงอย่างเป็นทางการและขอให้ฝ่ายกัมพูชาทำอย่างเต็มที่เพื่อหลีกเลี่ยงที่จะไม่ให้เหตุการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นอีกในอนาคต

         3. ฝ่ายไทยยึดมั่นในเจตนารมณ์ที่จะร่วมมือกับกัมพูชาภายใต้กลไกคณะกรรมาธิการเขตแดนร่วมไทย-กัมพูชา เพื่อแก้ไขปัญหาเขตแดนอย่างยุติธรรมและโดยสันติวิธีกับกัมพูชาตามกฎหมายระหว่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศขอยืนยันว่าปราสาทตาควายอยู่ในดินแดนไทย โดยในขณะนี้ไทยกับกัมพูชากำลังสำรวจและจัดทำหลักเขตแดนร่วมกันตลอดแนวเขตแดน 798 กิโลเมตร ตามที่ตกลงกันไว้ในบันทึกความเข้าใจไทย-กัมพูชา พ.ศ. 2543  การดำเนินการดังกล่าวมีความคืบหน้าเป็นอย่างดี และเป็นช่องทางที่มีไว้สำหรับการแก้ไขปัญหาเขตแดนทุกกรณี รวมทั้งกรณีนี้

ที่มา: กองการสื่อมวลชน กรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ โทร. 643-5170 โทรสาร. 643-5169 E-mail : div0704@mfa.go.th"



อย่างไรก็ตาม เมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2556 การไปรษณีย์กัมพูชา ได้พิมพ์ดวงตราไปรษณียากรชุด Khmer Culture ออกจำหน่าย จำนวน 4 ดวงชุด ซึ่งหนึ่งในนั้น ก็คือ ภาพปราสาทตาควาย 




















แหล่งข้อมูลอ้างอิง 
  1. Philately Cambodia Post. KHMER CULTURE.(ออนไลน์). สืบค้นเมื่อ 12 ตุลาคม 25ุ60, จาก https://stamps.kh.post/collections/collections-2012/products/khmer-culture-1

  2. รุ่งโรจน์ ธรรมรุ่งเรือง. (วันพฤหัสที่ 20 กรกฎาคม พ.ศ.2560) [ออนไลน์]. ประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมที่ปราสาทตาเมือนธมและปราสาทตาควาย. ศิลปวัฒนธรรม ฉบับ มิถุนายน 2554. สืบค้นเมื่อ 15 กุมภาพันธ์ 25ุ61, จาก https://www.silpa-mag.com/club/art-and-culture/article_10813

  3. วิชญดา ทองแดง. [ออนไลน์]. บันทึกช่วยจำ : กาลครั้งนั้นที่  “ปราสาทตาควาย”. สืบค้นเมื่อ 16 กุมภาพันธ์ 25ุ61, จาก https://www.muangboranjournal.com/บันทึกช่วยจำ-กาลครั้งน/

  4. เอ เวิลด์. [ออนไลน์]. ย้อนรอยกาลเวลาตามหาอารยธรรมขอม ณ ดินแดนอีสานใต้ บุรีรัมย์...สุรินทร์ เมืองต้องห้าม...พลาด พลัส. สืบค้นเมื่อ 16 กุมภาพันธ์ 25ุ61, จาก https://aworldconnect.com/index.php/checkin/202-2017-06-11-16-33-05

  5. ป.ปิตะรังษี. (04/05/2017 17:13:21). [ออนไลน์]. ปราสาทงามนาม “ตาควาย”. สืบค้นเมื่อ 17 กุมภาพันธ์ 25ุ61, จาก https://khobjaithailand.com/architecture_detail.php?idget=40



Create Date : 15 กุมภาพันธ์ 2561
Last Update : 17 กุมภาพันธ์ 2561 22:27:25 น. 1 comments
Counter : 2075 Pageviews.  

ผู้โหวตบล็อกนี้...
คุณKavanich96


 
ขอบคุณที่แบ่งปัน


โดย: Kavanich96 วันที่: 18 กุมภาพันธ์ 2561 เวลา:2:41:28 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิกช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

LoveUBP
Location :


[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




[Add LoveUBP's blog to your web]