ธันวาคม 2561

 
 
 
 
 
 
1
2
3
4
5
7
8
9
10
11
12
13
14
15
16
18
19
20
21
22
23
24
25
26
27
28
30
31
 
 
All Blog
ทฤษฎีจีบเธอ JittiRain เขียน
 
นิยายในหมวดนี้เป็นเรื่องราวความรักระหว่างชายกับชาย
 
 
 
ทฤษฎีจีบเธอ
JittiRain เขียน
สำนักพิมพ์ everY  ในเครือแจ่มใส
419 บาท  562 หน้า
 
หลังปก
 
เวลาหรือสถานการณ์ไหนบ้างที่ทำให้คุณอยากสบถคำว่าบัดซบออกมาที่สุด
ใช่ตอนที่กำลังเดินอยู่ข้างถนนแล้วโดนรถสักคันเหยียบน้ำกระเซ็นใส่คุณมั้ย
หรือเป็นตอนที่ไปดูหนังสักเรื่องด้วยความคาดหวังแล้วพบว่ามันไม่เป็นอย่างที่คิดหรือเปล่า
 
สำหรับผม มันคือตอนที่รู้ตัวว่าเผลอให้ใจกับใครบางคน ทุ่มเทไปทั้งหมดที่มี
แต่คนคนนั้นดันเป็นเพื่อนสนิทในกลุ่มที่ไม่เคยหันกลับมามองผมเลย
ตื่นเช้ามาได้เจอหน้าและใกล้ชิดกันทุกวันเพื่อเห็นมันหิ้วสาวกลับห้องไปทุกคืน
คุณรู้มั้ยว่ามันเป็นสถานการณ์ที่โคตรไม่โอเคแค่ไหน…
 
แต่ไม่ว่าจะต้องสบถอีกกี่คำ เปิดเพลงเศร้าและยืนใต้สายน้ำจากฝักบัวย้อมใจอีกกี่ครั้ง
 
พรุ่งนี้ความลับก็จะยังคงเป็นความลับ ผมทำได้เพียงปิดปากเงียบและแอบรักข้างเดียวต่อไป
 
ทั้งหมดก็เพราะเราเป็นเพื่อนกัน (ไม่ได้อีกแล้ว)
 
 
คุยกันหลังอ่าน
 
เพื่อนรัก รักเพื่อน เพียงสลับตำแหน่ง ความรู้สึกก็ต่างไปจากเดิม
 
ด้วยกลัวว่าจะสูญเสียแม้แต่ตำแหน่งเพื่อนสนิท เติร์ดจึงไม่กล้าบอกความรู้สึกที่แท้จริงต่อค่าย เฝ้าแต่กักเก็บไว้ คอยมองเพื่อนเปลี่ยนคู่ควงคนแล้วคนเล่า 
 
เจ็บทุกครั้ง แต่ไม่เข็ดสักครั้ง
 
ความรักที่ห้ามแล้วไม่ฟัง ช่างไม่รักดี
 
+++
 
เกริ่นมาเหมือนจะเศร้า แต่โทนเรื่องด้วยรวมค่อนข้างตลก ไม่จริงจัง มีช่วงปล่อยมุกเรื่อย ๆ ซึ่งจะเป็นมุกขำขัน หรือมุกไม่ฮาพาเพื่อนเครียดนี่ก็แล้วแต่จะรู้สึกกัน ดราม่าในเรื่องก็มีมาเรื่อย ๆ เหมือนกัน เป็นดราม่าเรื่องความเข้าใจผิด เข้าใจไม่ตรงกัน ไม่ฟังที่อีกคนพูด ไม่เชื่อในตัวอีกคน และไม่ยอมพูดปรับความเข้าใจกันตั้งแต่ต้น 
 
การดำเนินเรื่องจะเป็นแบบสลับมุมมองแบบไม่มีแบบแผน เริ่มแรกด้วยนายเอก เติร์ด เป็นคนเล่าประมาณ 30% ของเรื่อง ต่อมาจึงเปลี่ยนเป็นมุมมองของค่าย ถึง 50% แล้วกลับมาเป็นของเติร์ดอีกครั้งจนจบ ตอนพิเศษเริ่มที่มุมมองค่าย เปลี่ยนเป็นเติร์ดและกลับมาเป็นค่ายอีกครั้ง
 
ตัวละครหลัก
 
นายเอก เติร์ด เป็นฝ่ายแอบรักเพื่อนก่อน รักแล้วก็ไม่กล้าบอก เป็นคนจริงจัง เข้มงวดต่อตนเองและคนรอบข้าง ชอบคิดมาก ค่อนข้างเอาแต่ใจพอสมควร
 
พระเอก ค่าย หน้าตาดี ชอบหลีหญิง คบใครไม่เคยยืด เปลี่ยนแฟนบ่อยยิ่งกว่าเปลี่ยนชุด ไม่ฉลาด ชอบทำตัวเป็นเด็กเอาแต่ใจ ใช้อารมณ์มากกว่าสมอง
 
ตัวละครประกอบ ทูกับโบน สองเพื่อนซี้ที่อยู่ในกลุ่มเดียวกันของพระนาย เปลี่ยนหญิงเป็นว่าเล่น เพราะฉะนั้นในกลุ่มจะมีเติร์ดคนเดียวที่เป็นพ่อพระ คอยเอ็ดเด็กไม่รักดีที่เหลือ
 
ตัวละครอยู่ในช่วงมหาวิทยาลัย เรียนนิเทศศาสตร์ เอกฟิล์ม ในเรื่องก็จะมีพูดถึงภาพยนตร์เรื่องต่าง ๆ ประปราย
 
เนื้อเรื่องส่วนใหญ่จะพูดถึงเรื่องวุ่นวายของพระนายและผองเพื่อน เรื่องความรักที่ไม่ลงตัว
 
ภาษาที่ใช้เป็นภาษาวัยรุ่น มีคำหยาบและภาษาวิบัติพอสมควร
 
 
นึกข้อเท็จจริงไม่ออกแล้ว เอาเป็นว่าเริ่มที่ความคิดเห็นเลยละกัน
 
 
 
ในตัวอย่างที่โอยกมาหรือหยิบมาพูดถึงจะเปิดเผยเนื้อหาบางส่วน เตือนแล้วนะจ๊ะ *Spoiler Alert*
 
 
อย่างที่โอโพสต์ในเพจไปก่อนหน้าแล้ว ว่าตัวเองไม่โอเคกับเรื่องนี้
 
 
อย่างแรก โอไม่เข้าใจว่าทำไมต้องใช้ตัวหนาเน้นประโยค (ที่คิดว่า) เด่นหรือดี ในเรื่อง
 
โอเกลียดการเน้นตัวหนาแบบนี้มาก
 
โอไม่เห็นถึงข้อดีของการทำแบบนี้เลยสักอย่าง
 
หนึ่ง เพราะมันดึงสายตา หน้ากระดาษสีขาว ตัวหนังสือปกติ ถ้ามีตัวหนา คุณเห็นทันทีที่เปิดหน้าแน่นอน ถึงพยายามจะไม่อ่าน แต่เรารู้ล่วงหน้าแล้วว่ามีอะไรสักอย่างรออยู่ จังหวะที่ควรจะเป็น ลำดับที่ค่อย ๆ ใส่มา ที่คนอ่านควรจะรู้สึก จะถูกเปลี่ยนไปหมดเลย เพราะเราอยากจะรู้เร็ว ๆ ว่าประโยคที่เน้นนั้นคืออะไร หรือ ถ้าคุณเป็นคนอ่านเร็ว และข้อความที่ถูกเน้นหนานั้นสั้นพอ คุณจะกวาดสายตาไปเจอประโยคนั้นโดยอัตโนมัติ อะไรที่ควรจะลุ้น ควรจะรู้สึกเมื่อถึงเวลา ก็จะไม่รู้สึกอีกต่อไปแล้ว 
 
เราอ่านนิยาย เพื่อซึมซับความรู้สึก ค่อย ๆ รับรู้เรื่องราว การทำอย่างนี้เท่ากับทำลายอรรถรสที่ควรจะได้รับจากตัวนิยาย
 
การรับรู้ความสำคัญของข้อความเป็นเรื่องของคนอ่าน 
 
ถ้าประโยคนั้นดี ข้อความนั้นเด่น มันจะดีและเด่นได้ด้วยตัวเอง โดยไม่จำเป็นต้องชี้นำ
 
สอง เมื่อคุณทำตัวหนาให้ข้อความของคุณ เท่ากับคุณพยายามบอกเราอ้อม ๆ ว่านี่ ประโยคนี้ของฉันนั้นเด็ดนะ เธอลองอ่านดู ซึ่งจะทำให้เกิดความคาดหวังต่อข้อความนั้นอย่างช่วยไม่ได้ ถ้าทำดี เสมอตัว ถ้าไม่ดี ติดลบนะคะ และความรู้สึกที่โอมีต่อทุกข้อความ ทุกประโยคที่เน้นตัวหนา คือติดลบทั้งหมด ไม่มีประโยคใดดี หรือจี๊ดพอเลย
 
 
อันดับสอง บทสนทนาอ่านยากว่าใครเป็นคนพูด ผู้เขียนชอบเกริ่นลอย ๆ ผ่านไปสี่ห้าประโยคถึงพอเดาออกแล้วต้องอ่านทวนย้อนกลับ ถึงจะเข้าใจว่าใครพูดประโยคใด ซึ่งในแง่ของกลวิธีการเขียนไม่ได้ผิด คุณจะเขียนแบบไหนก็ได้ เป็นสิทธิ์ของคุณอยู่แล้ว แต่ผลลัพธ์ของมันเป็นไปในทางที่ไม่ดีมากกว่า โอจึงอยากให้พิจารณาปรับแก้ใหม่ เมื่อคนอ่านไม่เข้าใจประโยคทันที ทำให้สารที่สื่อออกมาคลุมเครือและไม่มั่นคง โดยเฉพาะข้อความที่มีผลต่ออารมณ์และความรู้สึก เมื่อไม่ชัดเจนว่าใครเป็นคนพูด อารมณ์ที่ได้ แทนที่จะ ตึ๊ง เข้ามาในใจทันที กลับเป็น เอ นี่ใครพูดนะ เดี๋ยวขออ่านก่อน อ่านทวนย้อนใหม่ อืม อ๋อ คนนี้พูด แล้วถึงค่อยเข้าใจใจความที่ต้องการสื่อออกมา อารมณ์ที่ได้รับจะช้าและไม่ตอบโจทย์ ณ ตอนนั้นแล้ว ซึ่งบทสนทนาอ่านยากนี่ไม่ได้เป็นแค่บางช่วง แต่เป็นแทบทั้งเรื่องเลย คุณไม่จำเป็นต้องอธิบายว่าใครเป็นคนพูดทุกคำ แต่ต้องไม่น้อยพอที่จะเดาไม่ออกในประโยคที่สองหรือสาม ลักษณะบทสนทนาที่ผู้เขียนชอบใช้ นอกจากการเกริ่นลอย ๆ แล้วก็มีบทสนทนาล้วนที่ไม่มีคำอธิบาย บางครั้งยาวเป็นหน้า เลยหน้าก็มี เมื่อหมดหน้า บางทีโอไม่รู้ละว่าหน้าที่แล้วจบที่ใคร หน้าใหม่เริ่มต้นที่ใคร อารมณ์ผู้ชายพูดกันต่างจากพูดกับผู้หญิง คุณจะไม่มีทางเดาได้เลยว่าใครพูดถ้าไม่มีคำใบ้หรืออะไรบ่งชี้ บางครั้งบทสนทนาไม่ใช่สลับหนึ่งต่อหนึ่ง แต่เป็นสลับแบบหนึ่งต่อหนึ่งต่อสอง คุณก็จะไม่มีทางรู้อีกว่าแท้จริงแล้วใครเป็นคนพูด นอกจากเดาจากเนื้อความ
 
 
โอหยิบบทสนทนาที่โอคิดว่าเป็นปัญหาและเห็นชัดดีมาเป็นตัวอย่าง 
 
 
หน้า 202 
 
"ได้ข่าวว่ามึงเลิกแล้ว" จู่ ๆ เสียงทุ้มต่ำก็ถามขึ้น เป็นประโยคลอย ๆ ที่ดูจับต้นชนปลายไม่ถูก
 
"เลิกอะไร"
 
"มั่ว" ผมก็ไม่ได้บอกใครเรื่องนี้นะ แต่คนวงในก็คงรู้ดี ตอนนี้กูถอดเล็บละ
 
"ชีวิตมันก็ต้องจริงจังบ้าง โตแล้วปะวะ"
 
"ได้ยินแบบนี้ก็ดี แต่ส่วนใหญ่คนที่คิดจะหยุดมันไม่ได้หยุดได้ในทีเดียวหรอก มึงก็เห็น ๆ กันอยู่ เหี้ยกันจนเป็นสันดาน"
 
"เหมือนพี่มึงอะนะ" 
 
"ฮ่า ๆ กูเหี้ยน้อยกว่ามึงอีก" ฉิบหาย กลายเป็นว่าตอนนี้ผมและมันต่างแข่งกันว่าใครจะพ่นคำด่าได้เจ็บแสบกว่ากันซะมากกว่า
 
 
บทสนทนาข้างบน ไม่มีประโยคใดเลยที่บอกว่าใครเป็นคนพูด ผู้อ่านต้องเดาจากคำพูดอย่างเดียว แต่ปัญหาที่โอพบว่ามียิ่งกว่า คือประโยคที่ขีดเส้นใต้ มันเป็นคำอธิบายของตัวคนเล่าที่มีต่อตัวคนพูด ปกติเขาจะไม่ต่อท้ายอธิบายประโยคที่ตัวเองไม่ได้พูดแบบนี้ แต่จะใช้วิธีขึ้นบรรทัดใหม่ แล้วอธิบายความรู้สึกตัวเองไปเลย  โดยปกติ คำอธิบายท้ายประโยคคำพูด จะเป็นคำอธิบายความรู้สึกของผู้พูดเอง เพื่อขยายความคำพูดตัวเองตอนนั้น เจอแบบนี้ตอนแรกโอไม่เข้าใจเลย งงมาก
 
 
หน้า 211
 
 
"ช่วงนี้อยากดูเรื่องอะไรบ้างวะ" นับเป็นคำถามที่โพล่งขึ้นในรอบสิบห้านาทีเลยก็ว่าได้
 
"ยังไม่รู้เลยวะ ก็เลือกไปเรื่อย ๆ บางเรื่องดูแล้วอยากเก็บแผ่นก็มี" สักพักไอ้เติร์ดก็เดินกลับมาพร้อมหนังเรื่อง The Silence of the Lambs ตรงชั้นหนังปี 1991 และสมุดรายชื่อหนังของทางร้าน
 
"เดี๋ยวนี้ชอบอะไรจิต ๆ เหรอ"
 
"ไม่เหมือนมึง มีแต่แผ่นหนัง AV" จึก! แม่งวกเข้าสู่อดีตที่มืดสนิทของกูอีกจนได้ มันเลยมาซึ่งคำถามที่เผลอพลั้งปากพูดออกไปอย่างลืมตัว
 
 
บทสนทนาข้างบน พูดครั้งที่สี่ ถึงพอเดาได้ว่าใครเป็นคนพูด ซึ่งสำหรับโอมันช้ามาก ช้าเกินไปสำหรับการรับรู้และแปรสารเพื่อส่งความรู้สึก และปัญหาในรูปแบบเดิมคือ คำอธิบายท้ายประโยคไม่ใช่ของผู้พูดเอง
 
และ นำมาซึ่งคำถาม เป็นคำที่สูงเกินกว่าระดับปกติ สูงเกินประโยคที่ใช้ และโดดออกมาจากข้อความนี้ เดี๋ยวเรื่องนี้โอจะหยิบมาพูดเป็นอันดับสาม
 
 
หน้า 295
 
"ก็ดีแค่กับบางคน" ไม่พูดเปล่าผมหันไปมองคนข้าง ๆ ที่นั่งดื่มด้วย เดิมไอ้เติร์ดมันเป็นคนตลกครับแต่พออยู่กับผมไม่รู้ทำไมต้องคีพเคร่งขรึมตลอดเวลาด้วย เซ็ง (ค่าย)
 
"กากก็ยอมรับว่ากาก ไม่เห็นต้องอายเลย" (เพื่อนในกลุ่ม)
 
"เออกูยอมรับว่ากูแม่งเหี้ย กาก สำส่อน โง่ ไม่เอาไหน แต่หน้าตาดี" (ค่าย)
 
"จนได้อะมึง ไอ้ควาย" (เพื่อนในกลุ่ม)
 
"โธ่...ปรีชา" (เพื่อนในกลุ่ม)
 
"ไอ้สัดนั่นพ่อกู" แม่งเล่นจนพ่อนอนจามอยู่บ้านแล้วมั้ง เกลียดฉิบหายนิสัยล้อชื่อพ่อแม่เนี่ย แถมพวกมันยังสนุกหัวเราะกันอย่างมีความสุขอีก (ค่าย)
 
 
ในวงเล็บโอใส่ให้เอง บทสนทนาบนไม่ใช่สลับกันพูดแบบสลับหนึ่งต่อหนึ่งแบบจังหวะปกติ มันเป็นจังหวะที่อยู่ ๆ ก็เปลี่ยน ถึงเราจะพอเดาได้จากคำพูดตัวละคร แต่ก็ทำให้อ่านสะดุดเหมือนกัน
 
 
หน้า 356-357
 
"น่ารักเนอะ ทำไมโง่มาตั้งนาน" (ค่าย)
 
"หนังสงครามน่ารักตรงไหน" (เติร์ด)
 
"ไม่ได้หมายถึงหนัง แต่เป็นมึง" (ค่าย)
 
"เงียบ" (ค่าย)
 
"ไม่อินเหรอ" (ค่าย)
 
"เออ" (เติร์ด)
 
"โนแลนดีกว่ากูตรงไหน" (ค่าย)
 
"ทุกตรง" (เติร์ด)
 
ในวงเล็บโอใส่เอง เดาได้จากคำพูด จังหวะไม่ใช่สลับหนึ่งต่อหนึ่งเช่นกัน
 
 
หน้า 374
 
"เติร์ดกูขอโทษ"
 
"..."
 
"กู...ขอโทษ" ข้อมือที่ผมจับอยู่กำลังสั่น ไอ้ค่ายเอ่ยขอโทษผมทั้งน้ำเสียงสั่นเครือ และตอนนี้ผมก็กำลังเห็นว่าใบหน้าแดงก่ำของมัน...มีน้ำตาไหลออกมา
 
ร้องไห้ทำไมไอ้ค่าย ไม้ต้องร้องให้คนอย่างกูเหรอก ไม่มีประโยชน์ที่ต้องทำอย่างนั้น
 
"กูสามารถจูบกับคนอื่นที่ไม่ใช่มึงได้"
 
"..."
 
"กูสามารถมีอะไรกับคนอื่นที่ไม่ใช่มึงได้ กูอยากเป็นเหมือนมึงที่ไม่ต้องรักใคร ไม่ต้องเสียใจที่ต้องสูญเสียไปเหมือนตอนนี้ มึงรู้สึกเสียใจบ้างมั้ยที่กำลังเสียกูไป มึงรู้สึกเสียใจบ้างมั้ยที่กูจูบคนอื่น"
 
"เติร์ดกูขอโทษ"
 
 
ประโยคที่ขีดเส้นใต้เป็นประโยคใจความสำคัญของบทสนทนานี้ แต่เรากลับไม่เข้าใจในทันที่ว่าใครเป็นคนพูด จนอ่านมาถึงท้ายที่สุด ถ้าเป็นโอ โอจะเติมคำอธิบายลงไปในท้ายประโยคนั้น
 
เช่น "กูสามารถจูบกับคนอื่นที่ไม่ใช่มึงได้" น้ำเสียงของผมสั่นเครือจนแทบฟังไม่เป็นภาษา แต่เมื่อดูสีหน้ามันก็เดาออกว่ามันเข้าใจ
 
 
อันดับสาม คือเรื่องภาษา สำหรับโอ ภาษาเรื่องนี้ไม่ผ่าน การเรียบเรียงประโยค การเลือกใช้คำยังไม่ดี
 
มีการใช้คำวิบัติและศัพท์วัยรุ่นจนเฝือ โอไม่ได้ว่าใช้ไม่ได้ แต่ถ้ารักษาระดับที่พอดีได้ ก็หมายความว่ากลุ่มคนที่อ่านได้จะมีมากขึ้นเช่นกัน ขอให้เข้ากับตัวละคร เข้ากับเนื้อเรื่อง เป็นธรรมชาติก็พอ บางคำเป็นคำหยาบ แล้วจงใจสะกดคนละแบบให้วิบัติเพื่อเลี่ยงคำนั้น ซึ่งสำหรับโอไม่เห็นต้องเลี่ยงเลย คำหยาบเมื่ออยู่ในนิยายก็เป็นคำคำหนึ่ง เมื่อจะใช้แล้วก็ใช้ไปเลย ไม่จำเป็นต้องเลี่ยงให้วิบัติไปกันใหญ่ คำเขียนที่วิบัติโอว่าน่าอายกว่าอีก ส่วนวิบัติเพื่อเสียงอะไรนั่นโอไม่ใส่ใจอยู่แล้ว เมื่ออยู่ในรูปแบบคำพูด ตัวละครก็อาจพูดอะไรก็ได้ ขอให้เสียงถูกต้อง สื่อใจความได้เท่านั้น
 
อีกปัญหาที่พบคือ ผู้เขียนเลือกคำที่ไม่ปกติ เพื่อจงใจให้สวยงาม มาใช้ในประโยคธรรมดา ระดับของคำจึงไม่เท่ากัน และใช้ไม่ตรงความหมายในบางครั้ง
 
โอจดคำที่ผู้เขียนมักใช้มาด้วย สับเท้า ม่านสายตา ร่างสูง หนา บาง ขาว มือหนา บาง ขาว 
 
ถ้าสามารถเปลี่ยนไปใช้คำที่หลากหลายได้มากกว่านี้ก็จะดี โดยเฉพาะศัพท์สูง หนา บาง 
 
หน้า 15
 
ผมกับมันเรียนนิเทศฯ เราคบกันหมดไม่ว่าจะเพศไหนเพราะต้องทำงานร่วมกัน ยิ่งปีท้าย ๆ ยิ่งไม่ต้องพูดถึง งานกลุ่ม โปรเจ็กต์กลุ่มดาหน้าเข้ามาให้ทำจนล้นมือ
 
ใจความข้างบนต้องการสื่อถึงอะไรคะ กำลังเรียนอะไรอยู่ ต้องเจออะไรบ้าง หรือคบเพศไหนก็ได้
 
โอว่ามันสื่อความออกมาสับสนว่าจะมุ่งประเด็นไหนกันแน่
 
 
โอลองเปลี่ยนนะ
 
ผมกับมันเรียนนิเทศฯ เราต้องทำงานร่วมกันเสมอ ยิ่งปีท้าย  ๆ ยิ่งไม่ต้องพูดถึง งานกลุ่ม โปรเจ็กต์กลุ่มดาหน้าเข้ามาให้ทำจนล้นมือ
 
หรือ
 
ผมกับมันเรียนนิเทศฯ เราคบกันหมดไม่ว่าจะเพศไหนเพราะต้องทำงานร่วมกัน ไม่แปลกเลยที่จะเห็นเราคนใดคนหนึ่งเฮฮาอยู่กับเพื่อนต่างแก๊ง หรือแม้แต่กับสาวสวย แต่ก็เป็นเพื่อนกันทั้งนั้น เพราะเราถือคติไม่ยุ่งกับเพื่อน
 
หน้า 205 "ก็บอกมาสิ!" น้ำเสียงที่เปล่งออกไปฉายแววโกรธจัด

ฉายแวว หมายถึง มีแวว ส่อเค้าให้เห็น

เราเห็นน้ำเสียงไม่ได้นะคะ

ดวงตาฉายแววโกรธ ได้ เพราะเรามองเห็น
เด็กคนนี้ฉายแววฉลาด ได้ เพราะเด็กคนนี้อาจจะแสดงให้เราเห็นความสามารถ หรือทักษะบางอย่าง

 
ตอนโอโพสต์ในเพจ คุณ Jakkri แสดงความเห็นแย้งไว้ โอเลยขออนุญาตยกมาลงเพื่อประโยชน์ของผู้อ่านด้วยเลย
 
เรื่องฉายแวว โวหารแบบนี้ ทางวรรณคดีเราเรียกกันว่า สหลักษณ์ นะครับ คือสัมผัสข้ามลักษณะ (พบเห็นได้ในวรรณคดีไทย แต่ไม่มาก) อารมณ์เดียวกับ เพลง กลิ่นของความรัก ของ บี พีระพัฒน์ นะครับ (ซึ่งความรักก็ไม่มีกลิ่น) เราเลยไม่ได้ติดใจอะไรกับประเด็นนี้
 
ซึ่งสำหรับโอ โอดูไม่ออกว่านี่เป็นโวหาร อย่างที่บอกไว้ว่ามันจะมีระดับของคำซึ่งควรจะอยู่ในระดับเดียวกันถึงจะดี โวหารก็เช่นกัน เมื่อใช้แล้วก็จะดูได้จากข้อความแวดล้อม ณ ตอนนั้น
 
แต่มันก็มีความเป็นไปได้เหมือนกัน และข้อความนี้ก็เป็นประโยชน์ จึงอยากให้อ่านและพิจารณาตามความเห็นของแต่ละคนเลยค่ะ
 
หน้า 207 

"อันนี้เช็ดหัว กูไม่อนุญาตให้มึงเอาไปเช็ดหรรม" มันโวยวายเต็มที่

"เช็ดที่ไหนก็เหมือนกันนั่นแหละ พูดมากน่ามคาญ"

"ผืนใหม่ก็มีในตู้ ทำไมไม่รู้จักใช้วะ สันดาน"

"เป็นเมียอ่อมาสั่ง"

โอจะไม่พูดถึง หรรม กับ น่ามคาญ นะ (อันหลังนี่เอามาจากเจี๊ยบใช่ไหม)

อ่อ ออกเสียงเดียวกับ ก่อ ลองออกเสียงตามจะรู้ว่าคุณไม่สามารถใช้ในประโยคได้ เพราะเสียงไม่ได้ ต่อให้คุณอยากจะใช้ภาษาพูดแบบวัยรุ่นแค่ไหนก็ตาม

อ๋อ ใกล้เคียงที่สุด เสียงเดียวกับ หรอ ซึ่งมาจาก เหรอ อีกที
 
หน้า 271 ที่ผ่านมากูดูแต่หนังเหนื่อยจนตาจะปิดฉิบหายแต่ก็ยังหันไปมองโทรศัพท์มือถือที่วางอยู่ข้าง ๆ แต่กลับไร้สัญญาณวี่แววใด ๆ จากคนที่รอ
 
เลือกคำใดคำหนึ่งค่ะ ไร้สัญญาณ หรือ ไร้วี่แวว
 
ส่วน เหนื่อยฉิบหาย เป็นภาษาพูด
 
กลับไร้วี่แวว เป็นภาษาเขียนสวย ๆ ละ เห็นได้ว่าภาษาอยู่คนละระดับกัน
 
หน้า 301 เห็นตอนนี้เจ้าตัวไดัแต่ทำตาโปนอยู่ผมก็หลุดเสียงหัวเราะออกมาทันที คนเกรี้ยวกราดทำไมน่ารัก

ตาโปนเป็นลักษณะทางกายภาพ คือ นูนออกมา เช่น ปลาตาโปน หมาปั๊กตาโปน
ในที่นี้ควรใช้ ถลึงตา หรือ ขึงตา

หน้า 321 

"มึงกับกูเราเลยจุดจะดูแลกับเหมือนเพื่อนไปแล้ว"

"มันต่างกับที่มึงทำกับกูเมืื่อก่อนตรงไหน" บอกตามตรงว่าตอนนี้ผมไม่มีสมาธิในการขับรถเลย เพราะเอาแต่จมจ่อมกับการฟังคำตอบจากคนข้าง ๆ มากกว่า

จมจ่อม ไม่ใช่คำที่ใช้ในภาษาปกติ หมายความประมาณว่า ตกอยู่ จมอยู่ ดิ่งลึก ใช้เมื่อตกอยู่ในภวังค์ลึก อยู่ในห้วงคำนึงบางอย่าง ใช้ความคิดอยู่กับตัวเองจนไม่รู้สึกถึงรอบข้าง เช่น จมจ่อมในความรักครั้งอดีต จมจ่อมในความผิดหวัง 

แน่นอนว่าถ้าจมจ่อมตอนขับรถคือคุณตายแน่ 

ในสถานการณ์นี้ ควรใช้ จดจ่อ

ถ้าอยากใช้ จมจ่อม ตัดไปขึ้นย่อหน้าใหม่เลย แล้วเลือกคำสวย ๆ ที่อยู่ในระดับเดียวกันไปด้วยกัน คำจะไม่โดดออกมา และที่สำคัญ ไม่ควรใช้ตอนขับรถด้วย
 
 
อันดับสี่ จังหวะ เรื่องนี้จะมีจังหวะตลก ๆ อยู่บางช่วง
 
อย่างตอนที่อยู่ ๆ โบนก็วิ่ง (มาจากไหนไม่ทราบ) เข้ามากอดเติร์ด
นึกภาพตาม ดูหนังรักเรื่องหนึ่ง พระนางกำลังมีปัญหากัน อยู่ ๆ ตัวประกอบก็โผล่มาจากไหนไม่ทราบวิ่งมากอดนางเอก แล้วก็วิ่งหายไปจากจอ
 
อันดับห้า ตัวละคร นอกจากพระนาย ตัวละครประกอบหลักอย่างเพื่อนสนิททั้งคู่ โบนกับทู สองคนนี้แทบหาความแตกต่างไม่เจอเลย พวกเขาแทบจะเป็นตัวละครฝาแฝดในแบบที่คนหนึ่งสนิทกับอีกฝั่งหนึ่งมากกว่า ซึ่งมันแบนมากไป เรารู้จักพวกเขาได้น้อยเกินไปมาก เมื่อเทียบกับความสำคัญในแง่ของเพื่อนซึ่งปรากฏในนิยาย หรือในแง่ของคนคนหนึ่ง หรือในแง่ที่เทียบกับความหนาของนิยาย
 
อันดับหก ตรรกะ ในเรื่องจะมีตรรกะประหลาด ๆ ของตัวละคร ที่เราจะไม่พบในชีวิตจริง
 
อย่างตอนที่เติร์ดโดนเพื่อนยุให้สารภาพรักกับค่าย แล้วก็เลยตกลงไปสารภาพโดยเลียนแบบฉากหนัง ตอนแรกโอไม่ติดฉากนี้เพราะจังหวะการเล่าเรื่องเป็นแบบปล่อยแก๊ก คือเล่าแบบตลก ไม่จริงจัง คราวนี้พออยู่ ๆ เรื่องก็บิดมาเข้าดราม่า โอก็เฮ้ย มันไม่ใช่แก๊กแล้วอะ ใจความมันเป็นของจริง คราวนี้โอรู้สึกติดขัดทันทีเลย เพราะ อยู่ ๆ คนที่แอบรักมาตั้งนาน โดนเพื่อนยุทีเดียวก็ไปสารภาพ มันยาก ไม่เท่านั้น สารภาพโดยเลียนแบบฉากหนังมันเป็นอารมณ์ที่ไม่ตั้งต้นมาจากความจริงจังอยู่แล้ว
 
หรือตอนที่ค่ายแกล้งเมาจูบเติร์ดแล้วเอ่ยชื่อแฟนเก่าก็ประหลาด กลัวเสียเพื่อนเลยไม่คุยตรง ๆ แต่ไปจูบกับเพื่อนที่ตัวเองคิดว่าไม่มีวันรักเนี่ยนะ คิดว่าจูบกับเขาแล้วจะไม่เสียเพื่อนเหรอ ทำไมต้องทำให้ยาก ให้ยุ่ง 
 
หรือตอนที่เติร์ดจูบโบนประชดก็เหมือนกัน
 
หรือการที่อยู่ ๆ ค่ายก็เปลี่ยนใจไปจีบเติร์ด แต่แทนที่จะพูดจากันให้เข้าใจตั้งแต่ต้นว่าตัวเองเปลี่ยนความรู้สึกแล้วนะ ก็มาแอบหาทางจีบลับ ๆ ล่อ ๆ ขวางคนนั้น โกรธคนนี้
 
เหมือนตัวเรื่องจริง ๆ ไม่ได้ดราม่า แต่ผู้เขียนกำลังสร้างบทเหนือจริงเพื่อให้เกิดเรื่องดราม่าขึ้น ส่งผลให้ตัวละครมีตรรกะที่ประหลาด ซึ่งโอจะโยงไปถึงอันดับที่เจ็ด
 
อันดับเจ็ด เรื่องไม่ตั้งอยู่บนความจริง ฉากทุกฉาก เหตุการณ์ทุกเหตุการณ์ เป็นการสร้างขึ้นเพื่อให้เกิดดราม่า ให้เกิดฉากรัก หวังให้เกิดความประทับใจ แต่กลับไม่มีความจริงใจอยู่ในนั้น อารมณ์ความรู้สึกของตัวละครนั้นไม่มีอยู่จริง บทคำพูดก็ไม่ใช่บทที่มาจากความรู้สึกตัวละคร แต่เป็นบทที่ตั้งใจใส่ไว้ ไม่ธรรมชาติ ไม่มีเหตุผลในตัว
 
นิยายทุกเรื่องเป็นเรื่องราวสมมติ เรื่องนี้ก็เช่นกัน แต่สิ่งที่ทำให้เราเชื่อมโยงกับนิยายได้คืออารมณ์ความรู้สึก ที่มาจากตัวละครและเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น กลั่นออกมาเป็นคำพูด เชื่อมโยงเป็นความคิด ส่งเสริมสนับสนุนกันและกัน ไปพร้อมกัน
 
ในเมื่อทุกสิ่งเป็นสิ่งที่สร้างขึ้นแม้แต่อารมณ์ความรู้สึก แล้วจะเหลือความจริงอะไรให้ยึดเหนี่ยว
 
ความรู้สึกจริงหรือไม่จริงเชื่อมโยงกับความคิดพื้นฐาน เป็นไปได้หรือไม่ พอจะเป็นไปได้หรือไม่ หรือไม่มีทางเป็นไปได้เลย โอพบว่าเหตุการณ์ในเรื่องเป็นไปในทิศทางที่ไม่เชื่อมโยงกับความจริง
 
โอยกตัวอย่างเดอะเฟซซีซันสาม ดราม่าในซีซันนี้ไม่น่าเชื่อถือ เรารู้สึกว่ามันเป็นบท อยู่ ๆ คนนี้ก็โกรธ คนนั้นก็โมโห เหวี่ยงใส่คนนู้นคนนี้ ทั้ง ๆ ที่เราดูอยู่ทางบ้านไม่ได้รู้สึกว่ามีอะไรให้เป็นสาเหตุให้โกรธหรือโมโหเลย มันเป็นดราม่าสร้างซีน แต่เป็นซีนที่ไม่มีเหตุมีผลรองรับเพียงพอ ผลที่ได้แทนที่จะทำให้คนเกิดอารมณ์ร่วม กลับกลายเป็นรู้สึกว่าเป็นซีซันที่เหลวไหลออกนอกลู่ออกนอกทาง ทุกคนเล่นใหญ่แบบไม่มีสาเหตุ เป็นเพียงตลกฉากหนึ่งเท่านั้น
 
เรื่องนี้ก็เหมือนกัน เป็นความเล่นใหญ่แบบไม่มีเหตุผลรองรับที่เพียงพอ อยากจะให้ตัวละครมีการกระทำที่โอเวอร์เกินจริงก็ได้ แต่คุณต้องใส่อะไรที่ทำให้เชื่อว่าเขาสามารถพอจะทำ
 
ฉากค่ายขับรถเร็วแล้วรถล้ม แต่ยังลากร่างเดินมาหาเติร์ด เป็นฉากที่ตลกมาในความรู้สึกโอ เหตุผลที่คุณขับรถเร็วคืออะไร โกรธเติร์ดใช่หรือไม่ เหตุผลที่คุณกลับมารับเติร์ดคืออะไร กลัวเขาไม่มีคนรับกลับเหรอ เหตุผลรองรับไม่เพียงพอเกินไป ไม่สอดคล้องกันเกินไป
 
ฉากรอเพื่อนที่ชานชาลาก็เหมือนกัน สำหรับโอมันคือฉากที่ตลก เป็นดราม่าสร้างซีนเรียกร้องความสนใจซีนหนึ่ง 
 
จริง ๆ ความผิดพลาดอาจเริ่มตั้งแต่แรก
 
เรื่องเริ่มด้วยความเป็นมุกแก๊ก เติร์ดเอ่ยถึงความรักสลับปล่อยมุก เขาเล่าด้วยคำพูดที่ให้น้ำหนักกับความรักที่เขามีได้ไม่น่าเชื่อถือเกินไป ดราม่าที่พยายามดันเข้ามาในฉากต่อไปจึงไม่น่าเชื่อถือ
 
โอนึกสงสัยว่าทำไมนิยายเรื่องอื่นถึงสามารถทำให้เกิดดราม่าจริง ๆ ผสมกับหัวเราะท้องแข็งโดยไม่รู้สึกขัดได้ คำตอบแรกที่โอมี คือ มุกตลกที่เขาปล่อย ฉากตลกที่เขามี ไม่ได้เล่นกับความรู้สึกของตัวละคร หรือถ้าเป็นไปในทางนั้น ก็จะเป็นเสียดสีจิกกัดตัวเองแบบตลกร้าย กัดแต่เจ็บปวดข้างใน 
 
แต่ความรู้สึกของเติร์ดไม่ได้ไปในทางนั้นแต่แรก โอเลยรู้สึกไม่จริงกับความรักของเขาเช่นกัน
 
ความรู้สึกของค่ายก็เหมือนกัน โอไม่รู้สึกถึงความรักจากเขาเลย
 
การที่เขาจะเปลี่ยนใจมันต้องใช้หลายอย่างบ่มเพาะ มากกว่าเวลาไม่กี่วันแล้วอยู่ ๆ มาตามตื๊อ หาวิธีบ้า ๆ มาตามจีบเขา มันต้องใช้ความรู้สึกที่มากพอที่จะเปลี่ยน
 
อันดับแปด สองคนนี้ไม่ใช่ตัวละครในแบบที่ตัวโอจะชอบเลย มีความเป็นเด็กสูงมาก ไม่ฟังคนอื่น เอาแต่ใจตัวเอง ทำตามใจตัวเองโดยไม่สนคนรอบข้าง ทำเรื่องง่ายให้เป็นเรื่องยุ่ง สร้างปัญหามากกว่าแก้ปัญหา ไม่ให้เกียรติคนรัก ไม่มีเหตุผล ไม่รู้จักพูดจาปรับความเข้าใจ ใช้ตัวเองเป็นหลักในการแก้ปัญหา
 
โอเกลียดฉากจูบในเรื่องมาก 
 
ครั้งแรกจูบจงใจให้เลิกรัก
ครั้งที่สองแอบจูบตอนหลับ (ในมหาวิทยาลัยด้วย)
ครั้งที่สามจูบต่อหน้าเพื่อน ๆ ในห้องซ้อม (ในมหาวิทยาลัยเช่นกัน)
 
มันเป็นจูบที่เห็นแก่ได้ และน่ารังเกียจที่สุด
 
โอเกลียดตัวละครแบบค่าย ที่แสดงความเป็นเจ้าของคนที่แม้ตนจะรัก แต่ตอนนั้นยังไม่มีสิทธิ์ แบบเห็นแก่ตัว 
 
โอเกลียดตัวละครแบบเติร์ด ที่ไม่ยอมพูดจากัน เจอปัญหาก็เอาแต่หลบหลีก แถมยังเอาตัวเองเป็นจุดศูนย์กลาง ตัดสินใจแทนคนอื่น
 
นิสัยและการกระทำของตัวละครที่โอจะสามารถหงุดหงิดได้ มารวมอยู่ในตัวสองคนนี้ทั้งหมด
 
และโอไม่ชอบการจูบในสถานศึกษาเลย ไม่ใช่ที่ที่คุณควรจะมาประกาศให้โลกรู้นะ รักกันก็ทำให้ถูกที่ ถูกเวลา อย่างเหมาะสม 
 
 
อันดับเก้า จุดมุ่งหมายของเรื่องนี้คืออะไรคะ
 
โอเรียงลำดับสิ่งที่โอคิดออกเมื่อนึกถึงเรื่องนี้ และเป็นน้ำหนักส่วนใหญ่ในเรื่อง
 
มั่วหญิง เหล้า นม คนโง่ เพื่อนสนิทคิดไม่ซื่อ ผองเพื่อนชวนวุ่น ละครเวที หนัง เรียน
 
แต่จริง ๆ มันควรจะเป็น
 
หนัง เพื่อนสนิทคิดไม่ซื่อ ผองเพื่อนชวนวุ่น ละครเวที เรียน ที่เหลือควรเป็นส่วนประกอบย่อยหรือเปล่า
 
ให้น้ำหนักผิดไปไหม
 
ทำไมพอเป็นเรื่องวัยมหาวิทยาลัยทีไรต้องมีแต่เหล้ากับมั่ว เพราะมีแต่เรื่องนี้ หรือเราไม่มองสิ่งอื่น ไม่ยอมนำเสนอสิ่งอื่นกันแน่ 
 
 
อันดับสิบ การดำเนินเรื่องยังสับสน ซ้ำซ้อน ไม่กระชับอย่างที่ควร
 
การสลับมุมมองในเรื่องโอไม่พบว่าเกิดประโยชน์อะไรนอกจากค้นพบความไม่มั่นคงของผู้เขียน ตอนสลับเป็นค่าย แล้วเปลี่ยนเป็นเติร์ดอีกครั้ง เติร์ดคราวนี้มีความดิบของค่ายติดมา และความตลกแบบช่วงต้นหายไป กลายเป็นผู้ชายอารมณ์ร้อน ๆ ร้าย ๆ 
 
จังหวะที่สลับมุมเปลี่ยนจากเติร์ดเป็นค่ายครั้งแรก ผู้เขียนเล่าเหตุการณ์ซ้ำโดยไม่จำเป็น มันคือฉากเดิมที่เปลี่ยนคนเล่า ถ้าไม่มีอะไรเปลี่ยนมาก การเล่าฉากเดิมซ้ำทำให้เรื่องน่าเบื่อ และซ้ำซาก
 
 
น่าจะหมดแล้ว พูดรวม ๆ อีกที โอรู้สึกว่า 30% หลัง ทำได้ดีกว่า 70% แรก แต่ก็ดีเพราะช่วงแรกนั้นไม่ดีอย่างมาก เมื่อไรก็ตามที่เอ่ยถึงดราม่าหรือความรัก โอรู้สึกว่าเรื่องนี้ไม่จริงทุกครั้ง เพราะเรื่องนี้ไม่สามารถให้ความรู้สึกที่แท้จริงแก่โอได้ เมื่อไรที่เป็นมุกตลก เรื่องนี้ทำได้ในเกณฑ์ปกติ ไม่ดีไม่แย่ เพราะมุกตลกไม่จำเป็นต้องใช้ความรู้สึก แต่จังหวะที่ปล่อยมุกก็ยังไม่ค่อยดี เมื่อไรที่เป็นคำพูดธรรมดา เมื่อนั้นโอเริ่มรู้สึกถึงอารมณ์ตัวละครที่เริ่มเผยออกมา
 
และ โอชอบตอนพิเศษของทู นี่แหละธรรมชาติที่โอพิมพ์มาแทบตายตอนต้น เรื่องที่มีอารมณ์ความรู้สึกของตัวละคร เรื่องที่ตัวละครมีส่วนร่วมได้เล่าเรื่อง บทสนทนามาเองโดยไม่ต้องจับยัด ไม่ต้องพยายามจนล้น ไม่ต้องกังวลว่าจะต้องให้มีดราม่าถึงจะดี เป็นแค่ผู้ชายสองคนที่มีความรู้สึกดี ๆ ให้แก่กัน (แต่ถึงงั้นโอก็เกลียดตัวหนาในตอนพิเศษนี้อยู่ดี)
 
 
1 ดาว แต่อย่างที่ทุกคนรู้ หรือถ้าไม่รู้ก็ขอบอกไว้ตรงนี้เลย ความเห็นของโอไม่ใช่ความเห็นของคนทั้งโลก และแน่นอนว่าไม่ใช่จุดสิ้นสุดของทุกอย่าง 
 
 





เรื่องนี้มี e-book ด้วยค่ะ

 
Thumbnail Seller Link
ทฤษฎีจีบเธอ
JittiRain
www.mebmarket.com
เวลาหรือสถานการณ์ไหนบ้างที่ทำให้คุณอยากสบถคำว่าบัดซบออกมาที่สุดใช่ตอนที่กำลังเดินอยู่ข้างถนนแล้วโดนรถสักคันเหยียบน้ำกระเซ็นใส่คุณมั้ยหรือเป็นตอนที่ไปด...



Create Date : 17 ธันวาคม 2561
Last Update : 22 มกราคม 2564 12:37:26 น.
Counter : 6970 Pageviews.

4 comments

ผู้โหวตบล็อกนี้...
คุณสาวไกด์ใจซื่อ

  
ตรงที่พูดความรู้สึกนึกคิดนั่นพี่เก็ทนะ คิดว่าคงเป็นสไตล์การเขียนเค้าน่ะ

บันทึกการโหวตเรียบร้อยแล้วค่ะ



บันทึกการโหวต Blog ในวันนี้

ผู้เขียน Blog หมวดเนื้อหา Blog ได้รับโหวต
กะว่าก๋า Literature Blog ดู Blog
kae+aoe Parenting Blog ดู Blog
ออโอ Book Blog ดู Blog
ระบบจะบันทึกคะแนนโหวต เฉพาะการโหวต 10 ครั้งล่าสุดในแต่ละวันเท่านั้น
โดย: สาวไกด์ใจซื่อ วันที่: 18 ธันวาคม 2561 เวลา:9:12:16 น.
  
ความนึกคิดท้ายประโยคเหรอคะ โอว่าไม่แปลกถ้าประโยคนั้นคนพูดเป็นคนคิด แต่ที่แปลกคือคนพูดไม่ได้คิด คนคิดคือคนเล่า โดยปกติมักจะแยกคนที่แตกต่างกันออกจากกันคนละย่อหน้าไปเลย เหมือนแยกส่วนความคิด ส่วนคนคิด ออกจากกัน เปลี่ยนย่อหน้าก็เปลี่ยนคน เปลี่ยนความคิด เหมือนจัดระบบให้งานน่ะค่ะ ขอบคุณที่โหวตให้โอนะคะ
โดย: ออโอ วันที่: 26 ธันวาคม 2561 เวลา:12:51:07 น.
  
รีวิวได้ตรงใจเราค่อนข้างมากเลยค่ะ เราไม่ชอบเรื่องนี้อย่างนึงตรงการพยายามนำเหตุการณ์หรือความรู้สึก การใช้ตัวหนาเป็นสิ่งที่เราไม่ชอบเลย มันคือการพยายามดึงให้เห็นว่าตรงนั้นสำคัญทั้งๆที่เนื้อเื่องควรจะทำให้เราอินได้เองโดยไม่ต้องพยายาม อีกอย่างคือการคิดได้ของค่ายว่ารักเติร์ด นั่นเราไม่อินเลย เพราะเราไม่เห็นความรักจากค่ายที่มีให้เติร์ดแบบคนรักมาก่อนเลย ถ้ามีก็คือบางมา
โดย: คนที่ผ่านมา IP: 223.24.150.3 วันที่: 11 มิถุนายน 2562 เวลา:22:01:10 น.
  
คุณ คนที่ผ่านมา ขอบคุณที่มาแชร์ความเห็นนะคะ มีเพื่อนที่เห็นเหมือนกันแล้ว มีทั้งคนเห็นด้วยและไม่เห็นด้วยกับโอเลยค่ะสำหรับเรื่องนี้
โดย: ออโอ วันที่: 5 กันยายน 2563 เวลา:12:54:32 น.
ชื่อ :
Comment :
 *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

ออโอ
Location :
  

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 49 คน [?]



โอเป็นคนชอบอ่านหนังสือมาก อ่านได้ทุกแนว เสาะแสวงหาเรื่องสนุกๆ แนวใหม่ๆ ตลอด หลายเรื่องไม่มั่นใจก็ค้นหารีวิว ถ้าชอบถ้าใช่ก็ลอง ลองแล้วชอบแล้วประทับใจก็อยากบอกต่อ บางครั้ง อ่านครั้งแรกรู้สึกอย่างนี้ อยากเก็บไว้เพื่อเป็นเรื่องราว บันทึกไว้กันลืม กลับมาย้อนอ่านก็จะได้รู้ว่า ครั้งหนึ่งที่เราเคยอ่าน เรารู้สึกอย่างนี้ เวลาผ่านไป เมื่อกลับมาอ่านอีกครั้ง ก็อาจจะได้มุมมองใหม่ๆ มากยิ่งขึ้น "ขอให้ทุกคนสนุกกับการอ่าน" รู้สึกดีที่โลกนี้มีหนังสือ-โอ
New Comments