สัมมาสมาธิในอริยมรรค ๘ ไม่ใช่สมาธิแบบหินทับหญ้า 🌷 สัมมาสมาธิในอริยมรรค ๘ ไม่ใช่สมาธิแบบหินทับหญ้า วันอังคารที่ ๓๑ สิงหาคม ๒๕๖๔ เป็นวันพระแรม ๘ ค่ำ เดือน ๙ เจริญสุข สวัสดี สาธุชนทั้งหลาย ได้เวลาที่จะฟังพระธรรมเทศนา จงพากันตั้งจิตตั้งใจฟังธรรมด้วยดี เพราะวันพระนี้จะพูดถึงเรื่องที่เป็นของยากเหมือนยาขม สำหรับบุคคลผู้ที่ยังใหม่อยู่ หรือผู้ที่ผ่านการปฏิบัติธรรมกรรมฐานภาวนามาบ้างแล้ว ส่วนบุคคลผู้ที่มีพื้นฐานเรื่องการปฏิบัติธรรมกรรมฐานภาวนามาแล้วพอสมควรนั้น ก็เป็นเรื่องที่พอเข้าใจได้ไม่ยากนักเลย แต่การจะเข้าถึงฐานที่ตั้งนั้น เป็นอีกเรื่องที่หนักหนาสาหัสพอสมควรเลยทีเดียว เรื่องที่ว่านั้นคือ การปฏิบัติธรรมกรรมฐานภาวนาในอริยมรรคมีองค์ ๘ อันมีสัมมาสมาธิที่เป็นใหญ่เป็นประธาน ไม่ใช่การเอาหินไปทับหญ้า แต่เป็นการเอามีดไปถากหญ้านั่นเอง เมื่อกล่าวถึงเรื่องกรรมฐาน มักเข้าใจกันไปว่าต้องหากรรมฐานกัน ตามวัดวาอาราม สำนักสงฆ์ หรือศูนย์ปฏิบัติธรรมต่างๆ ที่มีการฝึกฝนอบรมการปฏิบัติธรรมสมาธิกรรมฐานภาวนาอยู่อย่างมากมาย และมักได้ยินได้ฟังจนเป็นที่คุ้นหู จากบุคคลผู้ผ่านการปฏิบัติธรรมกรรมฐานภาวนาทั้งหลาย ที่ได้เข้ารับการฝึกฝนอบรมปฏิบัติธรรมมาแล้วว่า ได้องค์ภาวนามาแล้วบ้าง ได้ผ่านกรรมฐานมาแล้วบ้าง ได้วิปัสสนากรรมฐานมาแล้วบ้าง ได้ฐานที่ตั้งมาแล้วบ้าง ฯลฯ เป็นความเข้าใจกันไปเอง ตามมติความรู้สึกนึกคิดของนักปริยัติ ที่ยังยึดติดอยู่กับตำราอย่างเหนียวแน่น โดยเพียงแค่ได้ฟังจากบุคคลอันน่าเชื่อถือตามๆ กันมา ก็ปลงใจเชื่อไปเสียแล้วว่าใช่ ซึ่งเรื่องนี้มีมาในกาลามสูตร ที่พระพุทธองค์ได้ทรงตรัสเตือนไว้ให้ชาวกาลามะฟัง เรื่องความเชื่อ ๑๐ ประการ ดังนี้ ๑. มา อนุสฺสเวน อย่าเพิ่งปลงใจเชื่อโดยฟังตามๆ กันมา ๒. มา ปรมฺปราย อย่าได้ปลงใจเชื่อโดยถือสืบๆ กันมา ๓. มา อิติกิราย อย่าได้ปลงใจเชื่อโดยบุคคลตื่นข่าว ๔. มา ปิฏกฺสมฺปทาเนน อย่าได้ปลงใจเชื่อโดยอ้างตำราหรือคัมภีร์ ๕. มา ตกฺกเหตุ อย่าได้ปลงใจเชื่อโดยถือเหตุนึกเดาเอา (ตรรกะ) ๖. มา นยเหตุ อย่าได้ปลงใจเชื่อโดยใช้การคาดคะเนเอา (อนุมาน) ๗. มา อาการปริวิตกฺเกน อย่าได้ปลงใจเชื่อโดยความตรึกตามอาการ ๘. มา ทิฏฺฐินิชฺฌานกฺขนฺติยา อย่าได้ปลงใจเชื่อโดยชอบใจว่านั่นต้องกันกับลัทธิของตน ๙. มา ภพฺพรูปตาย อย่าได้ปลงใจเชื่อว่า ผู้พูดมีความน่าเชื่อถือ ๑๐. มา สมโณ โน ครูติ อย่าได้ปลงใจเชื่อโดยนับถือว่า สมณะผู้นี้เป็นครูของเรา แต่ในปัจจุบันนี้ ควรจะนำสิ่งที่ได้ยินได้ฟังหรือได้อ่าน มาพิจารณา ตริตรอง ตรวจสอบ สอบสวน เทียบเคียงอย่างรอบคอบก่อน กับพระพุทธพจน์ในพระธรรมวินัย ที่พระพุทธองค์ได้ทรงตรัสวางหลักเกณฑ์ต่างๆ ในการปฏิบัติธรรมกรรมฐานภาวนาไว้ด้วยดีแล้ว ค่อยเชื่อก็ยังไม่สาย ส่วนบุคคลผู้ที่ยังยึดติดอยู่กับตำรับตำรา ที่มีการรจนาเสริมแต่งขึ้นมาใหม่ในภายหลังอย่างมากมายนั้น มักกล่าวว่า การปฏิบัติธรรมกรรมฐานภาวนานั้น เป็นเพียงสมถะกรรมฐาน เป็นกรรมฐานแบบหินทับหญ้า ติดสุข เมื่อยกหินที่ทับหญ้าออกเมื่อไร หญ้าก็กลับงอกงามขึ้นมาได้ใหม่อีก ด้วยสมถะกรรมฐานนั้น ไม่เกิดปัญญา ไม่อาจตัดกิเลสได้ เป็นพวกที่เอาแต่ติดสุขอยู่กับความสงบในฌาน ไม่สามารถที่จะเจริญวิปัสสนาปัญญา เพื่อตัดกิเลสให้เกิดขึ้นมาได้เลย ซึ่งเป็นความเข้าใจผิด อย่างไม่น่าให้อภัยเลยจริงๆ ที่ไม่รู้จักแยกแยะว่า กรรมฐานที่มีอยู่ระหว่างศาสนาพุทธกับศาสนาพราหมณ์นั้น มีความแตกต่างกันอย่างไร ประมาณไหน แต่กลับเหมารวมเอาเข้าไปไว้ด้วยกัน เพราะมีตำรารุ่นหลังๆ ได้รจนาเอาไว้ เป็นการเข้าใจที่คลาดเคลื่อนไปจากความเป็นจริง ในหลักการที่ถูกต้องทางพระพุทธศาสนา ทั้งๆ ที่มีพระพุทธพจน์ที่พระพุทธองค์ได้ทรงตรัสรับรองไว้แล้วอย่างชัดเจน คำว่า “กรรมฐาน หรือ กัมมัฏฐาน” ประกอบไปด้วยคำว่า “กรรม” รวมกับคำว่า “ฐาน” ซึ่งแปลได้ความว่า “ฐานที่ตั้งแห่งการงานทางจิต” ทำไมถึงต้องมีฐานที่ตั้งแห่งการงานทางจิตด้วยล่ะ? เพราะกาย วาจา ใจของเรานั้น ล้วนมีการกระทำหรือเคลื่อนไหวส่งออกไปตามอารมณ์ความรู้สึกนึกคิดที่ผัสสะอยู่ ภายใต้อำนาจการบังคับบัญชาของจิต เป็นกายกรรม วจีกรรม มโนกรรม ของจิตที่ยังมีราคะ โทสะ โมหะครอบงำ การแสดงออกจึงเป็นไปตามอำนาจของกิเลส กรรม วิบากนั่นเอง กรรมฐานเป็นเรื่องของจิตล้วนๆ เรื่องราวต่างๆ ที่เกิดขึ้น มีขึ้น ให้เป็นไปตามเหตุ ตามปัจจัย ล้วนมี อวิชชา ตัณหา อุปาทานเป็นตัวชักนำทั้งสิ้น ไม่ว่าเรื่องติดข้องอยู่ในโลก หรือเรื่องที่พ้นจากโลก ต้องมีกรรมฐานเข้ามาเกี่ยวข้องทั้งสิ้น เรื่องติดข้องอยู่ในโลก เป็นเรื่องของจิตที่มีอาการซัดส่าย สับสน วุ่นวาย สุข ทุกข์ ฯลฯ ไปตามอารมณ์ความรู้สึกนึกคิดที่เกิดขึ้น เป็นฐานที่ตั้งให้จิตมีการงานด้วยตัณหา อุปาทาน ความยึดมั่นถือมั่น เอาสิ่งต่างๆ เหล่านั้นมาเป็นตน เป็นของๆ ตน จนเกิด เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ เป็นอาการของจิต เป็นวัฏฏะวน ทำให้ต้องเวียนตาย เวียนเกิดไม่มีวันจบสิ้น เพื่อแสวงหาชาติภพใหม่ตามอำนาจแห่งอวิชชา ตัณหา อุปาทาน เรื่องที่พ้นจากโลก เป็นเรื่องของจิตที่หมั่นฝึกฝนอบรมสร้างสติให้มีขึ้น ให้เกิดขึ้น จนจิตของตนสงบตั้งมั่น ไม่หวั่นไหวไปตามอารมณ์ความรู้สึกนึกคิดที่เข้ามากระทบ ทำให้ชาติภพลดน้อยลง ด้วยการหมั่นฝึกฝนอบรมจิตให้รู้จักปล่อยวาง ตัณหา อุปาทาน ความยึดมั่นถือมั่น ลงไปได้ตามลำดับชั้น จนถึงที่สุดแห่งทุกข์ได้ เมื่อละสังขารไปแล้ว จิตย่อมไม่เวียนว่ายตายเกิดกลับเข้ามาในโลกที่สับสนวุ่นวายอีกแล้ว เรียกว่า จิตบริสุทธิ์หลุดพ้น ด้วยปัญญาอันชอบ จึงปรากฏมีพวกนักบวช ที่เกิดความเบื่อหน่ายต่อทางโลก ด้วยประสงค์จะออกจากกิเลสกาม และอกุศลธรรม กรรม วิบากทั้งหลาย ได้ออกบวช ถือบวช ปลีกวิเวก ทรมานตนด้วยวิธีการต่างๆ มากมาย เพื่อค้นหาอุบายธรรม การปฏิบัติในรูปแบบต่างๆ กันออกไป นำมาประพฤติปฏิบัติ เพื่อหาวิธีขจัดปัดเป่ากิเลสกาม และอกุศลธรรม กรรมวิบากทั้งหลายให้หมดสิ้นไปจากจิต จึงมีเจ้าลัทธิเกิดขึ้นมากมายในสมัยนั้น ก่อนที่พระพุทธองค์จะทรงอุบัติขึ้นมาในโลกเสียอีก มีด้วยกันหลายลัทธิ หลายความเชื่อที่แตกต่างกันออกไป เจ้าลัทธิทั้งหลายล้วนมีการอวดอ้างสรรพคุณของตนอย่างมากมายหลายวิธี ว่าลัทธิของตนนั้นสามารถหลุดพ้นจากทุกข์ กิเลสกาม และอกุศลธรรม กรรมวิบากทั้งหลาย ประกาศตนว่า เป็นลัทธิที่สามารถบรรลุคุณธรรมชั้นสูงได้ ส่วนพระพุทธองค์ได้ทรงผ่านการค้นคว้าศึกษาจากเจ้าลัทธิเหล่านั้นมาแล้ว และได้รู้ด้วยปัญญาอันชอบของตนเองว่า ความเชื่อทั้งหมดของเจ้าลัทธิทั้งหลายนั้น ยังไม่ใช่หนทางแห่งการพ้นทุกข์ที่แท้จริง เป็นเพียงการปฏิบัติธรรมกรรมฐานแบบหินทับหญ้าเอาไว้เท่านั้น ทำให้กิเลสเบาบางลงได้จริง แต่ไม่สามารถตัดกิเลสให้ขาดจนหมดสิ้นไปจากจิตของตนได้เลย ดังมีพระพุทธพจน์ในจูฬทุกขักขันธสูตรว่า “เราก็เว้นจากกาม เว้นจากอกุศลธรรม ไม่บรรลุปีติและสุข หรือกุศลธรรมอื่นที่สงบกว่านั้น (เป็นปีติ สุขที่เกิดขึ้นจากอามีสสัญญา) เราจึงปฏิญาณว่าเป็นผู้ไม่เวียนว่ายมาในกาม มิได้ก่อน” เมื่อพระพุทธองค์ทรงตรัสรู้แล้ว ทรงตรัสว่า “เราก็เว้นจากกาม เว้นจากอกุศลธรรม บรรลุปีติและสุข และกุศลธรรมอื่นที่สงบกว่านั้น (สัมมาสมาธิ เป็นปีติ สุขที่เกิดแต่วิเวก ปราศจากอามีส) เมื่อนั้นเราจึงปฏิญาณได้ว่า เป็นผู้ไม่เวียนว่ายมาในกาม” เมื่อมาพิจารณาจากพระพุทธพจน์ จะเห็นว่าทรงเว้นจากกาม เว้นจากอกุศลธรรมเช่นกัน แต่ไม่บรรลุปีติและสุข หรือกุศลธรรมอื่นที่สงบกว่านั้น เพราะปีติและสุขที่มีอยู่นั้น เป็นปีติและสุขที่เกิดจากอามีสสัญญา ยังต้องคอยระวังรักษาสัญญาอารมณ์เหล่านั้นไว้ เกรงว่าจะจืดจางไปนั่นเอง ส่วนที่พระองค์ทรงได้ตรัสรู้นั้น ทรงบรรลุปีติและสุขอันเกิดจากสัมมาสมาธิในองค์อริยมรรค เป็นปีติและสุขอันเกิดแต่วิเวก ปราศจากอามีส และสงัดจากกาม สงัดจากอกุศลธรรม ในช่วงที่พระพุทธองค์ได้ทรงตรัสรู้ใหม่ๆ ได้ทรงปรารภถึงธรรมที่จะนำไปสั่งสอนว่า เป็นธรรมอันลึกซึ้ง เห็นได้ยาก เข้าถึงได้ยาก รู้ตามได้ยาก สงบประณีต ไม่เป็นวิสัยแห่งตรรกะ ละเอียด บัณฑิต (ผู้ที่มีกิเลสน้อย) เท่านั้นจึงจะรู้ได้ ทำให้พระองค์ทรงระลึกถึงอาจารย์ทั้งสอง คือ อาฬารดาบสกาลามโคตร ผู้ซึ่งได้อรูปฌานที่ ๗ คือ อากิญจัญญายตนะ และอุทกดาบสรามบุตร ผู้ซึ่งได้อรูปฌานที่ ๘ คือ เนวสัญญานาสัญญายตนะ ว่าอาจารย์ทั้งสองนั้นเป็นบัณฑิต ฉลาดเฉียบแหลม มีปัญญา มีธุลีในจักษุน้อยมานานแล้ว เธอทั้งสองจักรู้ธรรม (ดวงตาเห็นธรรม) นี้ได้โดยฉับพลัน เมื่อเธอทั้งสองได้ฟังธรรมนี้ของพระองค์ เมื่อพิจารณาจากที่พระพุทธองค์ได้ทรงตรัสรู้ไว้ดีแล้ว จะเห็นว่า รูปฌาน อรูปฌานที่เป็นกรรมฐานอันมีมาก่อนแล้วในเวลานั้น เป็นเพียงกรรมฐานที่ทำให้จิตสงบตั้งมั่น แต่ยังยึดติดอยู่กับอารมณ์ฌานนั้นๆ เป็นสุขที่ละเอียดอย่างเหนียวแน่น แต่บุคคลผู้ปฏิบัติรูปฌาน อรูปฌาน ยังมีความหวั่นไหวเกรงกลัวไปว่า อารมณ์ฌานที่ตนเองได้เข้าถึงอยู่นั้น ยังต้องจืดจางลงไปตามกาลเวลา เนื่องจากเป็นฌานที่เกิดแต่สัญญาอารมณ์ เป็นฌานที่เอารูป อรูปที่ปราศจากกาม เป็นการเอาอารมณ์ภายนอกกาย มาเป็นองค์กรรมฐาน ยังต้องอาศัย "สัญญา" คอยจดจำอารมณ์ฌานอยู่ตลอดเวลา ไม่สามารถสิ้นสุดหยุดลงด้วยปัญญา เพื่อความหลุดพ้นจากทุกข์ได้เลย ฌานดังกล่าวจึงเป็นแบบ "หินทับหญ้า" ถ้าอารมณ์ฌานที่เกิดจากสัญญาจืดจางลงไปเมื่อไหร่ ความฟุ้งซ่าน สับสน วุ่นวาย สุขทุกข์ ฯลฯ อาจหวลคืนกลับมาได้ เปรียบเสมือนหินทับหญ้าไว้ เอาหินออกเมื่อไหร่ หญ้ากลับมางอกงามได้อีกครั้ง เพราะ "สัญญา" ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ไม่ใช่ตน (อันเป็นที่พึ่งที่อาศัย) แต่เป็นหนึ่งในขันธ์ ๕ (รูปนาม) เท่านั้น เมื่อมีบุคคลใดกล่าวถึงการปฏิบัติธรรมสมาธิกรรมฐานภาวนา มักถูกทึกทักเอาว่า นั่นเป็น "สมถะ" เป็นเรื่องของพวกพราหมณ์ ฤาษี ชีไพร เป็นพวกติดสุขในฌาน หรือสมาธิหัวตอ ซึมๆ แข็งๆ ทื่อๆ ไม่เกิดปัญญา ต้อง "วิปัสสนา" เท่านั้น ทั้งๆ ที่ในอริยมรรคมีองค์ ๘ ไม่ได้ระบุถึง "สัมมาวิปัสสนา" เลย ในอริยมรรคมีองค์ ๘ นั้น แบ่งออกเป็น ในหมวดของ "ศีล" ประกอบด้วย สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะ ในหมวดของ "สมาธิ" ประกอบด้วย สัมมาวายามะ สัมมาสติ สัมมาสมาธิ ในหมวดของ "ปัญญา" ประกอบด้วย สัมมาทิฏฐิ สัมมาสังกัปปะ เป็นที่ชัดเจนอย่างยิ่งว่า ในอริยมรรคนั้น มี "วิปัสสนาปัญญา" อยู่ในองค์อริยมรรคแล้ว มรรคจึง "สมังคี" ได้ โดยเฉพาะ สัมมาทิฏฐิ สัมมาสังกัปปะ เป็นการรู้เห็นอย่างวิเศษ คือรู้เห็นอริยสัจ ๔ ตามความเป็นจริง ว่านี่ทุกข์ นี่เหตุแห่งทุกข์เกิด นี่ความดับทุกข์ นี่ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ ทำให้ดำริที่จะออกจากกาม และออกจากอกุศลธรรม ต่อเมื่อลงมือปฏิบัติในหมวดของสมาธิ ในองค์อริยมรรค ซึ่งมี "วิปัสสนา" เป็นเบื้องหน้า คือการรู้เห็นอย่างวิเศษในตัวเองอยู่แล้ว เมื่อพิจารณาหมวดของสมาธิดู จะเห็นว่า "สัมมาสมาธิ" นั้น เป็นเช่น "มีดถากหญ้า" ไม่ใช่แบบ "หินทับหญ้า" โดยเฉพาะข้อแห่งสัมมาวายามะนั้น ชัดเจนว่า - ไม่ให้หญ้า (อกุศลธรรม) ที่ยังไม่เกิด ไม่ให้เกิดขึ้น - หญ้าที่เกิดอยู่แล้ว (อกุศลธรรม) ที่มีอยู่แล้ว ให้หมดไป - ด้วยความเพียรเพ่ง คือ กุศลที่ยังไม่เกิด ให้เกิดขึ้น - เพียรเพ่งจนเข้าสู่ระดับฌาน คือ กุศลที่เกิดขึ้นแล้ว ให้เจริญยิ่งๆ ขึ้นไป เพราะมีสัมมาสติ คอยระลึกรู้อยู่ที่ฐานที่ตั้งของสติทุกลมหายใจเข้าก็รู้ ลมหายใจออกก็รู้ รู้ตลอดทุกลมหายใจ ย่อมปิดกั้นเหล่าอกุศลธรรมทั้งหลายไม่ให้เกิดขึ้นมาได้เลย ส่วน "มีดถากหญ้า" นั้น จะมีความคมกริบ (ปัญญา) ได้เท่าไร ก็ขึ้นอยู่กับบุคคลผู้ลงมือปฏิบัติธรรมกรรมฐานภาวนา กระทำให้มาก เจริญให้มาก ในหมวด "สมาธิ" แห่งองค์อริยมรรค เพราะความคมกริบของมีดนั้น สามารถตัดเงื่อนต่อของอุปกิเลสทั้งหลายได้เด็ดขาดฉับพลัน โดยไม่ต้องเสียเวลาใดๆ เลย มีพระพุทธพจน์ที่ได้ทรงตรัสไว้ชัดเจนว่า "ดูกรภิกษุทั้งหลาย เปรียบเหมือนแม่น้ำคงคา ไหลไปสู่ทิศปราจีน หลั่งไปสู่ทิศปราจีน บ่าไปสู่ทิศปราจีน ฉันใด ภิกษุเจริญ กระทำให้มากซึ่งฌาน ๔ ย่อมเป็นผู้น้อมไปสู่นิพพาน โน้มไปสู่นิพพาน โอนไปสู่นิพพาน ฉันนั้นเหมือนกัน" เมื่อพิจารณาจากพระพุทธพจน์ จะเห็นได้ว่า การเจริญให้มาก กระทำให้มากซึ่งฌาน ๔ ในสัมมาสมาธิ ย่อมเป็นบุคคลผู้เข้าถึงนิพพานได้ แสดงว่า การปฏิบัติ "สัมมาสมาธิ" จนสามารถเข้าออกฌานได้อย่างคล่องแคล่วชำนิชำนาญเป็น "วสี" ต้องอาศัย "ปัญญา" เท่านั้นจึงกระทำได้ เพราะฌานในสัมมาสมาธินั้น ไม่ใช่ทั้งรูปฌานและอรูปฌานนั่นเอง มีพระบาลีซึ่งพระพุทธโฆษาจารย์รจนาไว้ว่า "นตฺถิ ฌานํ อปญฺญสฺส นตฺถิ ปญฺญา อฌายิโน ยมฺหิ ฌานญฺจ ปญฺญาจ เสว นิพฺพาน สนฺติเก ฌานย่อมไม่มีในผู้ที่ไม่มีปัญญา ปัญญาย่อมไม่มีในผู้ที่ไม่มีฌาน ผู้ที่มีทั้งฌานและปัญญา จึงจะอยู่ใกล้พระนิพพาน" ทำไมต้องใช้องค์กรรมฐานในมหาสติปัฏฐานสูตร? เนื่องจากกรรมฐานในสติปัฏฐาน ๔ นั้น พระพุทธองค์ได้ทรงตรัสกับอัคคิเวสนะว่า “เมื่อได้ติดตามพิจารณากายในกาย เวทนาในเวทนา จิตในจิต และธรรมในธรรมทั้งหลาย เป็นผู้มีความเพียรเผากิเลส มีสติ มีสัมปชัญญะ กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกเสียได้ จิตของเธอย่อมเป็นสมาธิ เธอย่อมละอุปกิเลสทั้งหลายได้ และย่อมกำหนดนิมิตแห่งจิตได้” สติปัฏฐาน ๔ เป็นองค์กรรมฐานที่เกิดขึ้น ณ ภายในกาย อาศัยกายสังขารเป็นองค์กรรมฐานภาวนา ทำให้จิตของบุคคลผู้ปฏิบัติเห็นอาการของจิตได้อย่างชัดเจน เห็นไตรลักษณ์ปรากฏออกมาให้พิจารณาในขณะปฏิบัติภาวนาเจริญกรรมฐานอยู่ ดังที่พ่อแม่ครูบาอาจารย์ หลวงปู่แหวน สุจิณโณ ท่านได้กล่าวไว้ว่า “สติปัฏฐาน ๔ สติมีเพียงตัวเดียว นอกนั้นจัดไปตามอาการของเวทนา ของจิต ของธรรม แต่ทั้ง ๔ มารวมอยู่ที่จุดเดียว คือ เมื่อสติกำหนดรู้กายแล้ว นอกนั้นคือ เวทนา จิต และธรรม ก็รู้ไปด้วยกัน เพราะมีอาการเป็นอย่างเดียวกัน” เช่น เวทนาที่ปรากฏขึ้นในขณะปฏิบัติธรรมกรรมฐานภาวนาอยู่นั้น ทำให้จิตได้พิจารณาเห็นความไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ไม่ใช่ตน (คือจิต) เป็นเพียงอาการของจิตที่เข้าไปยึดถือเอาเวทนานั้นมาเป็นตน ทั้งที่ไม่ใช่ตน เพราะเวทนาเป็นเรื่องของกายล้วนๆ ส่วนที่กระทบมาถึงจิตจนมีอาการของจิตออกมาได้นั้น เนื่องจากขณะนั้นจิตขาดสติกำกับ จึงไปยึดมั่น ถือมั่น เอาเวทนาที่ปรากฏอยู่นั้น มาเป็นตน เป็นของๆ ตนนั่นเอง จึงเกิดอาการทุรนทุรายไปกับเวทนาที่เกิดขึ้นในขณะปฏิบัติธรรมกรรมฐานภาวนาอยู่นั้น ต่อเมื่อสามารถเพียรเพ่งประคองจิตของตน ให้อยู่กับองค์ภาวนาได้ด้วยปัญญาอันยิ่งที่เกิดจากความสงบ มีสติ มีสัมปชัญญะ จิตตั่งมั่นไม่หวั่นไหวไปกับอาการที่เกิดขึ้นในขณะนั้นได้ ย่อมปรากฏ “ธรรมอันเอก” ผุดขึ้นมาให้พิจารณา จิตเห็นจิตได้อย่างชัดเจน จิตรู้ชัดซึ่งอาการของจิตที่เกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไปจากจิต เห็นธรรมในธรรมทั้งสองฝั่งอย่างชัดเจน อันมีธรรมฝ่ายเกิดคือ อวิชชา ตัณหา อุปาทาน และธรรมฝ่ายดับ คือความสิ้นไปของราคะ โทสะ โมหะ ด้วยวิราคธรรม แยกเป็นฝ่ายสงบตั้งมั่นไม่หวั่นไหว กับ ฝ่ายขัดข้อง สับสน วุ่นวาย อีกมากมาย เมื่อบุคลผู้ปฏิบัติธรรมกรรมฐานในหมวด “สมาธิ” แห่งองค์อริยมรรค ด้วย “สัมมาวายามะ” เพียรประคองจิตให้ตั้งมั่น ไม่หวั่นไหว ด้วย “สัมมาสติ” คอยระลึกรู้อยู่ที่ฐานที่ตั้งของสติอย่างต่อเนื่องเนืองๆ อยู่ จิตย่อมรวมลงเป็น “สมาธิ” มีสติสงบตั้งมั่นไม่หวั่นไหว เป็น “อุเปกขา สติ ปาริสุทธิง” จิตมีสติบริสุทธิ์กุมเฉยอยู่ มีพระพุทธพจน์รับรองไว้ดังนี้ “ภูเขาล้วนแล้วด้วยศิลา ไม่มีช่อง ไม่มีโพรง เป็นแท่งทึบอันเดียวกัน แม้หากลมฝนอย่างแรง พัดมาแต่ทิศตะวันออก… แม้หากลมฝนอย่างแรง พัดมาแต่ทิศตะวันตก …. แม้หากลมฝนอย่างแรง พัดมาแต่ทิศเหนือ …. แม้หากลมฝนอย่างแรง พัดมาแต่ทิศใต้ ก็ยังภูเขานั้นให้หวั่นไหวสะเทือนสะท้านไม่ได้เลย แม้ฉันใด จิตของภิกษุนั้น อันอารมณ์ไม่ทำให้เจือติดอยู่ได้ เป็นธรรมชาติตั้งมั่นไม่หวั่นไหว ฉันนั้น เหมือนกันแล” จิตย่อมรู้ชัด “เอตํ สนฺตํ เอตํ ปณีตํ ยทิทํ สพฺพสงฺขารสมโถ สพฺพูปธิปฏินิสฺสคฺโค ตณฺหกฺขโย วิราโค นิโรโธ นิพฺพานํ ที่นี่สงบหนอ ที่นี่ประณีตหนอ ที่นี่สิ่งปรุงแต่งทั้งปวงดับเงียบ คืนความยึดติดทั้งปวงออกไป สิ้นตัณหา สิ้นความยินดี กิเลสดับ เป็นพระนิพพาน (สิ้นทุกข์)” เป็นการพิจารณาเห็นกายในกายเป็นภายในบ้าง ตรึกธรรมที่มีมาเฉพาะหน้า พิจารณาเห็นกายในกายเป็นภายนอกบ้าง จิตของบุคคลผู้ปฏิบัติธรรมกรรมฐานอยู่นั้น ย่อมพิจารณารู้ชัดว่า ถึงความแตกต่าง ระหว่าง ที่นี่วุ่นวายหนอ ที่นี่ขัดข้องหนอ กับ ที่นี่สงบหนอ ที่นี่ประณีตหนอ เปรียบเหมือน “มีดถากหญ้า” ที่บุคคลผู้ปฏิบัติธรรมกรรมฐานคอยลับให้คมอยู่อย่างสม่ำเสมอ เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับตัดเงื่อนต่อแห่งอารมณ์ความรู้สึกนึกคิดทั้งหลายที่เข้ามากระทบ ให้ร่อนออกไปในทันที ที่กระทบจิตของตน อารมณ์ไม่สามารถเจือติดที่จิตของบุคคลผู้นั้นได้เลย ย่อมมีจิตหลุดพ้นโดยชอบ เพราะเห็นความเกิดและความดับแห่งอายตนะ สาธุ. พระภัทรสิทธิ์ อภินันโท เทศนาธรรมวันพระ ๓๑ สิงหาคม ๒๕๖๔ |
ในความฝันของใครสักคน
Rss Feed Smember ผู้ติดตามบล็อก : 4 คน [?] หน้าแรก Blog ธรรมภูต - พระภัทรสิทธิ์ Group Blog All Blog
|
||
Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved. |