อินทรีย์ ๕ 🌷 อินทรีย์ ๕ วันศุกร์ที่ ๑๒ พฤศจิกายน ๒๕๖๔ เป็นวันพระขึ้น ๘ ค่ำเดือน ๑๒ ณ บัดนี้ ให้พากันตั้งใจฟังพระธรรมเทศนา นั่งขัดสมาธิภาวนาสำรวมจิตของตน ให้มีสติสงบตั้งมั่นอยู่กับกายของตน อย่าส่งจิตออกไปอยู่กับอารมณ์ความรู้สึกนึกคิด ซึ่งเป็นธัมมารมณ์ที่ผุดขึ้นมา หรือส่งจิตออกไปภายนอกกายของตน นำเอาสติมาแนบกาย ทุกคนควรทำความรู้สึกตัวทั่วพร้อม ให้มีสติ มีสัมปชัญญะ และพิจารณาไปตามกระแสธรรมที่เกิดขึ้น ธรรมทั้งหลายนี้ล้วนมาจากพระพุทธพจน์ทั้งสิ้น สำหรับบุคคลผู้ที่ไม่หมั่นประกอบความเพียร ในการฝึกฝนอบรมจิตของตน ให้มีสติ มีสัมปชัญญะ แต่มีความปรารถนาว่า ไฉนหนอ ขอให้จิตของเรานั้น พึงพ้นจากอาสวะกิเลส เพราะความไม่ยึดมั่นถือมั่นเถิด ดังนี้ก็จริงอยู่ ถึงอย่างนั้น จิตของเธอ ย่อมไม่อาจพ้นไปจากอาสวะกิเลสได้ เพราะไม่ยึดมั่นถือมั่นเลย เราจะเห็นว่า บุคคลผู้ที่ไม่มีความหมั่นประกอบความเพียร ในการฝึกฝนอบรมจิตของตน ให้มีสติ มีสัมปชัญญะ ด้วยการประกอบภาวนานุโยคแล้ว จิตของเธอ ย่อมจะไม่มีพลังจิตในการปล่อยวางอารมณ์ความรู้สึกนึกคิดที่เกิดขึ้นออกไปได้เลย เมื่อบุคคลเหล่านั้น เพียงแค่ได้ยินได้ฟังได้อ่าน และนำความรู้ที่ได้ยินได้ฟังได้อ่านเหล่านั้น มาขบคิด เมื่อขบคิดแล้ว คิดเล่า เฝ้าแต่คิด พิจารณาความรู้ที่ได้มานั้น จนความรู้เหล่านั้นตกผลึก เกิดเป็นความเข้าใจในธรรมที่ตนเองได้ยินได้ฟังมา จึงเข้าใจไปว่าความรู้ที่เกิดขึ้นเหล่านั้น เป็นความรู้ที่นำมาใช้ประโยชน์จริงได้ ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว ความรู้เหล่านั้นยังเป็นแค่สัญญาอารมณ์ ซึ่งมักจืดจางลงไปตามกาลเวลา ถ้าเราไม่ได้นำความรู้เหล่านั้นมาทบทวน ยังเป็นปัญญาทางโลกอยู่นั่นเอง ก็เมื่อบุคคลเหล่านั้นอิ่มใจ หรือมีความอิ่มใจ เต็มปรารถนากับแค่ความรู้ ความเข้าใจที่เกิดจากความคิดที่ตกผลึกเช่นนั้น ก็เป็นที่น่าเสียดายอย่างมาก ที่ผลักตนเองให้ออกห่างไปจากมรรคผลนิพพาน ดังมีพระบาลีธรรมบท กล่าวไว้ ดังนี้ "โยคาเว ชายเต ภูริ อโยคา ภูริ สงฺขโย เอตํ เทฺวตปถํ ญตฺวา ภวาย วิภาวย จตถตฺตานํ นิเวเสยฺย ยถา ภูริ ปวฑฺฒติ ปัญญาย่อมเกิดขึ้นได้ เพราะการประกอบ เมื่อไม่ประกอบ ปัญญาก็สูญสิ้นไป บุคคลผู้รู้ทางแห่งความเจริญและความเสื่อม ย่อมตั้งตนเองไว้ในทางที่ปัญญาจะเจริญ" จากพระธรรมบทนั้น เมื่อบุคคลรู้ทางแห่งความเจริญและความเสื่อมแล้ว พึงตั้งตนเองไว้ในทางที่ปัญญาจะเจริญ คือ เป็นทางแห่งการปฏิบัติสมาธิกรรมฐานภาวนา เป็นภาวนามยปัญญา เพราะปัญญาที่ได้ที่เกิดจากการปฏิบัตินั้น ย่อมเป็นปัญญาที่รู้เห็นตามความเป็นจริงว่า "ที่นี่สงบหนอ ที่นี่ประณีตหนอ ที่นั่นขัดข้องหนอ ที่นั่นวุ่นวายหนอ" ปัญญาที่เกิดขึ้นจากการหมั่นประกอบความเพียร ฝึกฝนอบรมจิตของตน ให้รู้จักการปล่อยวางอารมณ์ความรู้สึกนึกคิด ที่ทำให้เกิดความยินดี ยินร้าย สุข ทุกข์ กุศล และอกุศล ให้ออกไปจากจิตของตน นั่นต้องเริ่มจากการมีความหมั่นประกอบฝึกฝนอบรมจิตของตนบ่อยๆ เนืองๆ ต่อเนื่องอยู่ อย่าปล่อยให้การปฏิบัติธรรมกรรมฐานภาวนานั้น ขาดช่วงขาดตอน ขาดความต่อเนื่องเนืองๆ เพราะการปล่อยให้ขาดช่วงขาดตอน ขาดความต่อเนื่องนั้น ทำให้เหมือนกับต้องเริ่มต้นใหม่ทุกครั้งไป เพราะที่เราทิ้งช่วงไปนั้น ทำให้เราจะจำทางเดินของจิต ซึ่งเราปฏิบัติอยู่นั้นไม่ได้ เพราะฉะนั้นในการวางจิตของตน ให้สงบตั้งมั่นเข้าสู่ลมละเอียดได้อย่างรวดเร็วนั้น ไม่ได้ แม้แต่พระบรมศาสดาเองยังทรงเน้นย้ำพร่ำสอน ให้ปฏิบัติธรรมกรรมฐานภาวนา อันเป็นภาวนามยปัญญานั้นโดยมาก มีพระธรรมบทที่ทรงตรัสแก่พระอานนท์ ดังนี้ว่า "ดูก่อนอานนท์ เราจักแสดงการเจริญอินทรีย์ อย่างไม่มีวิธีอื่นที่ยิ่งกว่า ในธรรมวินัยของพระอริยะ จักแสดงให้พระเสขะ ผู้ที่ยังปฏิบัติอยู่ จักแสดงให้พระอริยะ ผู้เจริญอินทรีย์แล้ว ด้วยประการฉะนี้" จึงทำให้มารและเสนามารหลง และอวิชชา ตัณหา อุปาทาน ไม่อาจเข้าครอบงำจิตของบุคคลผู้ปฏิบัติได้ นั่นก็เพราะว่า การปฏิบัติธรรมกรรมฐานนั้นเป็นอริยมรรค เป็นทางเดินของจิตนำไปสู่พรหมจรรย์ "ดูก่อนอานนท์ กิจใดอันพระศาสดาผู้แสวงหาประโยชน์เกื้อกูล ผู้อนุเคราะห์ อาศัยความอนุเคราะห์ พึงกระทำแก่สาวกทั้งหลาย กิจอันนั้นเราได้ทำแล้วแก่พวกเธอ ดูก่อนอานนท์ นั่นราวป่า นั่นโคนไม้ นั่นที่ว่างจากเรือน พวกเธอทั้งหลาย จงเพียรเพ่งฌาน อย่าได้ประมาท อย่าได้เป็นผู้เดือดร้อนในภายหลัง นี่เป็นคำพร่ำสอนของเราแก่พวกเธอทั้งหลาย" จากพระธรรมบทนั้น พระองค์ได้ทรงเน้นย้ำพร่ำสอนให้พระสาวกทั้งหลาย เพียรเพ่งฌาน พวกที่ปฏิบัติธรรมบางกลุ่มนั้น มักกลัวมากกับคำว่า เพ่งฌาน เพราะเข้าใจไปว่าเป็นเรื่องของพวกดาบสฤาษีชีไพร ทั้งที่คำว่า เพ่งฌาน นั้นเป็นการปฏิบัติธรรม ที่เรารู้อยู่กับองค์ภาวนาอย่างต่อเนื่องเนืองๆ ไม่ขาดสาย เพราะการรู้อะไรอย่างต่อเนื่องเนืองๆ โดยไม่ขาดสายนั้นก็คือการเพ่ง การเพ่ง ก็คือ การรู้อย่างต่อเนื่อง ผู้ปฏิบัติรู้อยู่ เห็นอยู่ ตลอดสายของการปฏิบัติธรรมกรรมฐานภาวนา รู้เห็นถึงการดิ้นรนทุรนทุรายของจิต และในการที่จะพรากจิตของตนออกจากอารมณ์ความรู้สึกนึกคิดหล่านั้น จนกระทั่งจิตว่างจากอารมณ์ความรู้สึกนึกคิดทั้งหลาย และอารมณ์เหล่านั้นไม่สามารถครอบงำจิตหรือปรุงแต่งจิตของตนได้เลย จิตก็จะสงบประณีต ตั้งมั่นไม่หวั่นไหวไปกับอารมณ์ความรู้สึกนึกคิดเหล่านั้น บุคคลผู้ไม่ประมาท มีสติรู้อยู่ทุกลมหายใจเข้าออกได้นั้น จิตย่อมรวมลงตั้งมั่นเป็นสมาธิ จิตมีสติบริสุทธิ์กุมเฉยอยู่อย่างนี้ อุเบกขา สติปาริสุทธิง บุคคลนั้นย่อมเป็นผู้ไม่เดือดร้อนในภายหลังอย่างแน่นอน บุคคลเช่นนั้นเมื่อกระทำอะไรลงไป ย่อมมีสติคอยกำกับคอยควบคุมอยู่ตลอด เมื่อมีสติคอยควบคุมอยู่ คอยกำกับอยู่ ย่อมมีความยับยั้งชั่งใจ เมื่อมีความยับยั้งชั่งใจ กุศลธรรมฝ่ายต่างๆ ทั้งหลายย่อมมารวมกันอยู่ที่นั่น บุคคลเช่นนี้ ย่อมเป็นผู้ที่ไม่เดือดร้อน และก็ไม่สร้างความเดือดร้อน ไม่สร้างความรำคาญ ไม่สร้างความสับสนวุ่นวายให้กับคนรอบข้างอย่างแน่นอน ไปอยู่ที่ไหน ย่อมยังประโยชน์และความสุขให้เกิดขึ้นที่นั่น นอกจากนี้แล้ว พระพุทธองค์ยังทรงได้สั่งสอนเรื่อง ธรรมที่มีกำลังมาก หรือมีพละมาก หรือธรรมที่เป็นใหญ่เฉพาะ ธรรมนั้นคือ อินทรีย์ ๕ ให้กับภิกษุทั้งหลาย พร้อมทั้งพระอาจารย์สารีบุตรก็ได้กล่าวอรรถาธิบายเพิ่มเติมในธรรมเหล่านั้นด้วย ทรงตรัสว่า "ผู้ที่ยังอินทรีย์ ๕ ให้เกิดขึ้น ให้เจริญ ให้บริบูรณ์ บุคคลนั้นก็จะได้ชื่นชมอรหันตผล ส่วนบุคคลที่กระทำให้ เจริญอินทรีย์ ๕ ได้บางส่วน ก็ได้ชื่นชมอริยผลที่เหลือ กล่าวได้ว่า การเจริญอินทรีย์ ๕ นั้น ไม่ว่าเจริญมาก กระทำให้มากได้ตามสติกำลังของตนเท่าไหร่ ย่อมไม่เป็นหมันเลย ย่อมได้ผลแห่งการกระทำเหล่านั้นด้วย" มารู้จักอินทรีย์ ๕ กัน อินทรียสัมปันโน คือผู้ถึงพร้อมด้วยอินทรีย์ ได้ตรัสแก่ภิกษุทั้งหลายว่า "เพราะได้กระทำให้มาก เจริญให้มาก ซึ่งอินทรีย์ ๕ ภิกษุจึงกระทำให้แจ้งซึ่งเจโตวิมุตติ ปัญญาวิมุตติ เป็นคุณธรรมของพระอรหันต์ ด้วยปัญญาอันยิ่งในปัจจุบัน" ซึ่งพระองค์ได้เปรียบอินทรีย์ ๕ กับอานาปานสติ มีการกล่าวถึงอานาปานสติไว้ว่าเป็นธรรมอย่างเดียว แต่ยังให้ธรรมอีกหลายอย่างสำเร็จลงได้ มีพระบาลี ดังนี้ "อานาปานสติ ภิกฺขเว ภาวิตา พหุลีกตา มหปฺผลา โหติ มหานิสํสา อานาปานสติ ภิกฺขเว ภาวิตา พหุลีกตา จตฺตาโร สติปฏฺฐาเน ปริปุเรนฺติ จตฺตาโร สติปฏฺฐานา ภาวิตา พหุลีกตา สตฺต โพชฺฌงฺเค ปริปุเรนฺติ สตฺต โพชฺฌงคา ภาวิตา พหุลีกตา วิชฺชา วิมุตฺตึ ปริปุเรนฺติ แปลว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย พวกเธอทั้งหลายจงยังสติให้ระลึกรู้อยู่ทุกลมหายใจเข้าออก เมื่อพวกเธอเจริญให้มาก กระทำให้มากแล้ว ย่อมยังให้เกิดผลใหญ่ มีอานิสงส์ใหญ่ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย พวกเธอทั้งหลายจงยังสติให้ระลึกรู้อยู่ทุกลมหายใจเข้าออก เมื่อพวกเธอเจริญให้มาก กระทำให้มากดีแล้ว ย่อมยังให้สติปัฏฐานสี่นี้บริบูรณ์ สติปัฏฐานสี่นี้บริบูรณ์ดีแล้ว เมื่อพวกเธอเจริญให้มาก กระทำให้มาก ย่อมยังให้โพชฌงค์เจ็ดนี้บริบูรณ์ โพชฌงค์เจ็ดนี้บริบูรณ์ดีแล้ว เมื่อพวกเธอเจริญให้มาก กระทำให้มาก ย่อมยังให้เกิดวิชชา วิมุตติ จิตหลุดพ้น เป็นไปเพื่อละสังโยชน์ เป็นไปเพื่อถอนอนุสัย เป็นไปเพื่อสิ้นอาสวะ" เราก็จะเห็นแล้วว่า จากพระบาลีในพระธรรมบทนั้น การเจริญให้มาก กระทำให้มาก ซึ่งอานาปานสติ เมื่อทำให้ต่อเนื่องเนืองๆ ไม่ขาดสายแล้ว ย่อมยังให้สติปัฏฐาน ๔ ยังให้โพชฌงค์ ๗ บริบูรณ์ไปด้วย พระองค์ถึงได้เปรียบอินทรีย์ ๕ กับอานาปานสติ เรามารู้จักอินทรีย์ ๕ กันว่ามีองค์ธรรมอะไรบ้าง ๑. ศรัทธา ความเชื่อ ๒. วิริยะ ความเพียร ๓. สติ ความระลึกได้ ๔. สมาธิ ความรู้ตัวทั่วพร้อม ๕. ปัญญา ความรู้ทั่วชัด ที่เรียกคำเหล่านี้ว่าอินทรีย์ เพราะแต่ละอย่างนั้นเป็นใหญ่ในการทำหน้าที่ของตน หน้าที่ในที่นี่นั้น คือ การกวาดล้างอกุศลธรรมที่เป็นฝ่ายตรงข้าม อันได้แก่ - ศรัทธา กวาดล้างความไร้ศรัทธา - วิริยะ กวาดล้างความเกียจคร้าน - สติ กวาดล้างความประมาท - สมาธิ กวาดล้างความฟุ้งซ่าน - ปัญญา กวาดล้างความโง่ ความหลง ธรรมหมวดนี้มีชื่ออีกอย่างหนึ่งว่าพละ เพราะทำให้มีพลัง ทำให้เกิดความมั่นคง โดยอกุศลธรรมฝ่ายตรงข้ามไม่สามารถครอบงำได้ อินทรีย์แต่ละอย่างนั้น มีชื่อเรียกเต็มๆ ว่า สัทธินทรีย์ วิริยินทรีย์ สตินทรีย์ สมาธินทรีย์ และปัญญินทรีย์ พระองค์ยังเปรียบอินทรีย์ ๕ ว่าหวังผลได้เช่นเดียวกับสติปัฏฐาน ๔ ที่นิคมชื่ออาปณ ในแคว้นอังคะ พระพุทธองค์ทรงตรัสกับพระสารีบุตรว่า "อริยสาวกผู้มีศรัทธาแน่วแน่เลื่อมใสในตถาคต ไม่พึงเคลือบแคลงหรือสงสัยในตถาคต หรือในคำสั่งสอนของตถาคตเลย" เมื่อพระสารีบุตรแจ้งในพระดำรัสนั้น และได้กราบทูลว่า "อริยสาวกผู้มีศรัทธา ก็หวังได้ว่า จักระดมความเพียร เพื่อละอกุศล เพื่อยังกุศลให้ถึงพร้อม มีกำลังความมุ่งมั่น ไม่ทอดธุระในกุศลธรรมทั้งหลาย" เพราะศรัทธาในอินทรีย์ ๕ นั้นเป็นศรัทธาที่หมดความสงสัยในคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า เป็นความเชื่อแบบหมดหัวใจ จึงเป็นศรัทธาที่นำไปสู่วิริยะ วิริยะของพระอริยสาวกนั้นเป็นวิริยินทรีย์ พึงหวังได้ว่าจะเป็นผู้มีสติ เพราะวิริยินทรีย์ เมื่อเรานำมาเทียบได้กับ สัมมาวายามะ ซึ่งเป็นองค์มรรคองค์ที่ ๖ ในอริยมรรค ๘ มีดังนี้ - เพียรละอกุศล ที่ยังไม่เกิด ไม่ให้เกิดขึ้น - เพียรละอกุศล ที่เกิดแล้ว ให้หมดไป - ยังกุศล ที่ยังไม่เกิด ให้เกิดขึ้น - ยังกุศล ที่เกิดขึ้นแล้ว ให้เจริญยิ่งๆ ขึ้น นี่คือ วิริยะนำไปสู่สติ สติของพระอริยสาวกนั้นเป็นสตินทรีย์ พึงหวังได้ว่าจะเหนี่ยวนำเอาพระนิพพานมาเป็นอารมณ์ คือเหนี่ยวเอาอุเบกขา สติปาริสุทธิง หรือสติบริสุทธิ์กุมเฉยอยู่ ซึ่งได้จากสัมมาสมาธิ จิตอิสระรวมลงเป็นหนึ่ง สติหรือสตินทรีย์นี้ที่จะเหนี่ยวนำเอาอารมณ์เหล่านั้นมาได้ ต้องระลึกรู้อยู่ที่ กาย เวทนา จิต และธรรม ในสติปัฏฐาน ๔ คือ พิจารณากายในกาย เป็นภายในบ้าง พิจารณากายในกาย เป็นภายนอกบ้าง พิจารณากายในกาย ทั้งภายในและภายนอกบ้าง พิจารณาเวทนาในเวทนา เป็นภายในบ้าง พิจารณาเวทนาในเวทนา เป็นภายนอกบ้าง พิจารณาเวทนาในเวทนา ทั้งภายในและภายนอกบ้าง พิจารณาจิตในจิต เป็นภายในบ้าง พิจารณาจิตในจิต เป็นภายนอกบ้าง พิจารณาจิตในจิต ทั้งภายในและภายนอกบ้าง พิจารณาธรรมในธรรม เป็นภายในบ้าง พิจารณาธรรมในธรรม เป็นภายนอกบ้าง พิจารณาธรรมในธรรม ทั้งภายในและภายนอกบ้าง เช่นนี้ สตินำไปสู่สมาธิ สมาธิของอริยสาวกนั้นเป็นสมาธินทรีย์ พึงหวังได้ว่าจักรู้จักหรือรู้จักชัดถึงสังสารวัฏ อันหาเงื่อนต้นเงื่อนปลายไม่ได้ สำหรับผู้มีอวิชชาขวางกั้นจิต มีพระบาลีธรรมบทกล่าวไว้ว่า "อนมตคฺโคยํ ภิกฺขเว สงฺสาโร ปุพฺพาโกฏิ น ปญฺญายติ จิตที่เวียนว่ายอยู่ในสังสารจักรนี้ มีอยู่ก่อนนานมาแล้ว ผู้มีปัญญาไม่อาจตามรู้ได้เลยว่ามีมาตั้งแต่เมื่อไหร่ และจะไปสิ้นสุดเอาตอนไหน" เป็นการดับอวิชชาได้โดยสิ้นเชิง สมาธินำไปสู่ปัญญา ปัญญาของอริยสาวกนั้นเป็นปัญญินทรีย์ เมื่อพูดถึงปัญญาแล้ว บุคคลทั่วไป มักคิดไปว่าการได้ปัญญามานั้น ปัญญาที่ได้มานั้นจะทำให้รู้จักคิด เป็นคนฉลาด ประสบความสำเร็จอย่างมากมาย มีความทรงจำดี ซึ่งเป็นการเข้าใจปัญญาผิดไปจากความเป็นจริง เพราะปัญญาที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ นั่นเป็นเพียงโลกียปัญญา ส่วนปัญญาในทางธรรมนั้น เป็นปัญญาที่เกิดจากมีสติ มีสมาธิ มีความสามารถในการปล่อยวางอารมณ์ความรู้สึกึกคิดทั้งหลายออกไป เมื่อกระทบอารมณ์ปั๊บ สามารถปล่อยวางอารมณ์ความรู้สึกึกคิดออกไปได้ทันที ปัญญานั้นจึงเป็นโลกุตตรปัญญา เพราะปัญญาเป็นปัญญาที่เกิดจากความรู้ยิ่งเห็นจริง ในธรรมฝ่ายกุศลกรรมและอกุศล เป็นการรู้ชัดถึงธรรมทั้งหลาย เป็นการรู้ชัดอย่างทั่วถึง ทั้งการไม่ยึดมั่นถือมั่น เป็นปัญญาที่เกิดจากวิมุตติธรรม เมื่อเป็นเช่นนี้ อริยสาวกทั้งหลายได้มีศรัทธา มีวิริยะ มีสติ มีสมาธิ มีปัญญา ส่งทอดกันมาอย่างนี้ ก็ย่อมเชื่อมั่นว่า ธรรมเหล่านี้ก็คือธรรมที่ตนได้เคยได้ยินได้ฟังมาแล้วนั่นเอง ซึ่งบัดนี้ ตนได้สัมผัสด้วยนามกาย คือ จิตตัวใน หรือ อชฺฌตฺตํ สมยํ จิตฺตํ และได้เห็นแจ้งแทงตลอดด้วยปัญญา จากนั้นพระพุทธองค์ยังได้ทรงสอนให้รู้ว่า รู้ได้อย่างไรว่า บุคคลเป็นเสขะ หรือเป็นอเสขะ ในเสขะสูตรโฆสิตา พระพุทธองค์ทรงตรัสแก่ภิกษุทั้งหลายว่า เหตุที่ทำให้ภิกษุรู้ตัวเองว่าเป็นเสขะหรือเป็นอเสขะ ดังนี้ ผู้เป็นเสขะย่อมรู้ชัดตามเป็นจริงในอริยสัจ ๔ คือ รู้จักทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค และพิจารณาเห็นว่าไม่มีสมณะหรือพราหมณ์ภายนอกอื่นใด ที่แสดงธรรมอันจริงแท้แน่นอนเหมือนพระผู้มีพระภาคเจ้า หรือรู้ชัดซึ่งอินทรีย์ ๕ ว่า มีอะไรเป็นเป้าหมายสูงสุด แม้จะยังไม่ได้สัมผัสอินทรีย์ ๕ เหล่านั้นด้วยนามกาย คือยังไม่เข้าถึงจิตตัวในอย่างชัดเจน แต่ก็เข้าใจแจ่มแจ้งด้วยปัญญา ตามกำลังของตนที่ได้ปฏิบัติมา ส่วนบุคคลผู้เป็นอเสขะนั้น ย่อมรู้ชัดซึ่งอินทรีย์ ๕ ว่า มีอะไรเป็นเป้าหมายสูงสุด ทั้งได้สัมผัสด้วยนามกาย คือสัมผัสได้ด้วยจิตตัวใน อชฺฌตฺตํ สมยํ จิตฺตํ สนฺติ เมวา ธิคจฺฉติ ผู้ที่ปฏิบัติจนเห็นจิตตัวในแล้ว จิตย่อมเข้าสู่ความสงบ และเห็นแจ้งแทงตลอดด้วยปัญญา อีกประการหนึ่ง อริยสาวกย่อมรู้ชัดด้วยอินทรีย์ ๖ อินทรีย์ ๖ ในที่นี้ เป็นอินทรีย์ที่หมายถึง อายตนะภายใน อันมี ตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ ซึ่งคอยรับอารมณ์จากอายตนะภายนอก อันมี รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส และธัมมารมณ์ และรู้ชัดว่า อินทรีย์ ๖ เหล่านี้จักดับหมดสิ้นไม่เหลือ และอินทรีย์ ๖ เหล่าอื่นจักไม่เกิดขึ้นในภพไหนๆ อีก คือ วิมุตติหลุดพ้นแล้ว จิตไม่เวียนว่ายเข้ามาในสังสารจักรอีกแล้ว จึงได้ชื่อว่า อเสขะบุคคล จากสมุทยสูตร ความเกิดแห่งจิตมี เพราะมีนามรูป จิตไม่มี ก็เพราะไม่มีนามรูป ความเกิดแห่งธรรมมี เพราะมีมนสิการ ธรรมไม่มี ก็เพราะไม่มีมนสิการ ความเกิดแห่งจิต ทำให้เกิดอาการของจิตขึ้น อันมีนาม ๔ คือ เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ เป็นอาการของจิตที่กระทำตอบต่ออารมณ์นั้นๆ รูปมีช่องทางในการทำงานรับรู้อารมณ์ของรูป มีด้วยกัน ๕ ช่องทาง อันมีตา หู จมูก ลิ้น กาย เมื่อทำงานรับรู้อารมณ์ผ่านช่องทางดังกล่าวแล้ว ก็ส่งอาการยินดียินร้ายไปเก็บไว้ที่จิตหรือที่เรียกว่าใจ อีกช่องทาง รวมแล้วเป็น ๖ ช่องทาง คืออายตนะ ๖ ที่เรียกว่าอินทรีย์ ๖ ในปฏิจสมุปปบาท เรียกว่าสฬายตนะ มี ๖ ประการเช่นกัน ๑. จักขวายตนะ (อายตนะคือตา) ๒. โสตายตนะ (อายตนะคือหู) ๓. ฆานายตนะ (อายตนะคือจมูก) ๔. ชิวหายตนะ (อายตนะคือลิ้น) ๕. กายายตนะ (อายตนะคือกาย) ๖. มนายตนะ (อายตนะคือใจ) เรียกว่าอายตนะภายใน ๖ เมื่อกระทบรูปารมณ์ สัททารมณ์ คันธารมณ์ รสารมณ์ โผฏฐัพพารมณ์ ธัมมารมณ์ เรียกว่าอายตนะภายนอก ๖ ย่อมทำให้เกิดวิญญาณ ความรับรู้อารมณ์ที่เข้ามากระทบ แบ่งเป็น ๖ ช่องทางตามช่องทางที่รับรู้อารมณ์ คือ - จักขุวิญญาณ รับรู้อารมณ์ทางตา - โสตวิญญาณ รับรู้อารมณ์ทางหู - ฆานวิญญาณ รับรู้อารมณ์ทางจมูก - ชิวหาวิญญาณ รับรู้อารมณ์ทางลิ้น - กายวิญญาณ รับรู้อารมณ์ทางกาย - มโนวิญญาณ รับรู้ธัมมารมณ์ ย่อมเป็นปัจจัยให้เกิดผัสสะ ภิกษุผู้ไม่รู้ชัดถึงความเกิดความดับ ส่วนดีส่วนเสีย และวิธีสลัดพ้นจากผัสสายตนะ ๖ ตามความเป็นจริง ก็หมายถึงยังไม่จบพรหมจรรย์ ได้ชื่อว่าเป็นผู้ไกลจากธรรมวินัยนี้ ฝ่ายเกิดแห่งทุกข์ อาศัยตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ และรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธัมมารมณ์ถึงกัน วิญญาณผัสสะและเวทนาที่เกิดจากผัสสะ ผัสสะเป็นปัจจัยให้เกิดเวทนา เพราะเวทนาเป็นปัจจัยจึงเกิดตัณหานี้ คือความเกิดแห่งทุกข์ ฝ่ายความดับแห่งทุกข์ เมื่อตัณหาที่เกิดจากผัสสายตนะดับ เพราะละความใคร่ (วิราคะ) โดยสิ้นเชิง อุปาทานก็ดับ เมื่ออุปาทานดับ ภพก็ดับ เมื่อภพดับ ชาติก็ดับ เมื่อชาติดับ ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ โทมนัส อุปายาสก็ดับ กองทุกข์ทั้งปวงดับ ด้วยอาการอย่างนี้ บุคคลผู้ไม่สำรวม จักขุนทรีย์ โสตินทรีย์ ฆานินทรีย์ ชิวหินทรีย์ กายินทรีย์ มนินทรีย์ เป็นต้น จิตย่อมแส่สายไปในรูปทั้งหลายที่ตามองเห็น ในเสียงที่หูได้ยิน ในกลิ่นที่จมูกสูดดม ในรสที่ลิ้นได้ลิ้ม ในโผฏฐัพพะที่กายได้ถูกต้อง แส่ส่ายไปในธัมมารมณ์ที่ใจรู้ได้ เมื่อจิตแส่สายไปแล้ว ปราโมทย์ (ปีติอย่างอ่อน) ก็ไม่มี เมื่อปราโมทย์ไม่มี ปีติก็ไม่มี เมื่อปีติไม่มี ปัสสัทธิ (ความสงบระงับกายใจ ความเยือกเย็น) ก็ไม่มี บุคคลผู้นั้นก็อยู่เป็นทุกข์ จิตของผู้เป็นทุกข์ย่อมไม่ตั้งมั่น (ไม่เป็นสมาธิ) เมื่อจิตไม่ตั้งมั่น ธรรมทั้งหลาย (สมถะและวิปัสสนา) ก็ไม่ปรากฏ เพราะธรรมทั้งหลายไม่ปรากฏ บุคคลนั้นก็ได้ชื่อว่า เป็นผู้อยู่ด้วยความประมาทอย่างแท้จริง ทั้งนี้เป็นเพราะอารมณ์ทั้งหลายที่จะเข้ามาที่จิตนั้น จะต้องผ่านเข้ามาทางฐานกาย เมื่อกระทบอายตนะทางกายแล้ว ก็ย่อมเกิดความรู้สึกทุกข์สุขทางฐานเวทนา เมื่อรู้สึกสุขทุกข์ทางฐานเวทนาแล้ว ก็ย่อมปรุงแต่งฐานจิต ให้ยินดียินร้ายขึ้น เมื่อฐานจิตเกิดยินดียินร้าย ก็ย่อมมีสิ่งต่างๆ จากภายนอกมาประกอบเป็นฐานธรรมขึ้น ซึ่งจะช่วยให้จิตละวางอารมณ์ทั้งหลายออกไปให้หมดสิ้น มีพระบาลีรับรองไว้ดังนี้ "อปฺปมาโท อมตํ ปทํ ปมาโท มจฺจุโน ปทํ อปฺปมตฺตา น มียนฺติ เย ปมตฺตา ยถา มตา แปลว่า ความไม่ประมาทเป็นทางอันไม่ตาย ความประมาทเป็นทางแห่งความตาย ผู้ไม่ประมาทย่อมไม่ตาย คนที่ประมาทเหมือนคนที่ตายแล้ว" เอวัง. พระภัทรสิทธิ์ อภินันโท เทศนาธรรม ๑๒ พฤศจิกายน ๒๕๖๔ |
ในความฝันของใครสักคน
Rss Feed Smember ผู้ติดตามบล็อก : 4 คน [?] หน้าแรก Blog ธรรมภูต - พระภัทรสิทธิ์ Group Blog All Blog
|
|||
Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved. |