สัมมาวายามะ ความเพียรชอบ


🌷  สัมมาวายามะ ความเพียรชอบ

วิริเยน ทุกฺขมจฺเจติ
บุคคลจะล่วงทุกข์ได้ เพราะความเพียร

เมื่อพิจารณาจากพระบาลี ควรปลุกใจทำความรู้จักกับคำว่า ทุกข์ ทุกข์ คือ สภาพธรรมที่บีบคั้น เบียดเบียน มีความลำบากกาย มีความคับแค้นใจ อันมีเหตุมาจากความไม่สมปรารถนา ไม่ได้ดั่งใจ ได้สิ่งของมาแล้วไม่ถูกใจ ตลอดถึงการพลัด พรากจากสิ่งที่ตนรักชอบใจ เป็นเหตุแห่งความทุกข์ สรุปให้เข้าใจง่ายๆ ว่า “ความไม่สบายกาย ความไม่สบายใจ” ที่เรียกว่าสังขารร่างกายนี้ ล้วนเป็น “ทุกข์”

ทุกข์ทางกาย คือ การเกิด แก่ เจ็บ ตาย หรือที่เรียกว่า สภาวทุกข์ นั้น ไม่มีใครที่ไม่รู้ว่าตนเอง เมื่อเกิดมาแล้วต้องเจริญเติบโตขึ้นตามกาลเวลา จนกระทั่งแก่เฒ่าเข้าวัยชรา ในระหว่างทางนั้น ต้องมีความเจ็บไข้ได้ป่วยด้วยกันทุกคนไม่มากก็น้อย และต้องตกตายไปตามสภาวะอันควรแห่งกรรมกำหนดโดยไม่มีการยกเว้นให้ใครคนใดคนหนึ่งเลย

สภาวทุกข์ที่ต้องเกิดขึ้นด้วยกันทุกคนนั้น แม้รู้อยู่แก่ใจตนเองดี แต่ก็ยังไม่วายที่อยากจะยึดโยงให้อยู่กับสภาวะนั้นไปนานๆ สำหรับในพวกที่โชคดีมีบุญนำกรรมแต่งให้อยู่อย่างสุขกาย ส่วนพวกต้องทนทุกข์ยากลำบากกายที่มีวิบากแห่งกรรมกำหนดไว้ ก็อยากจะสลัดมันให้ออกไปให้ไกลๆ โดยเร็ว

ทุกข์ทั้งหลายไม่ว่าทุกข์ทางกายหรือทุกข์ทางใจ ล้วนมาจากเหตุ คือ อวิชชา – ความโง่ ไม่รู้จักทุกข์ ตัณหา – ความต้องการ ทะยานอยาก อุปาทาน – ความยึดมั่นถือมั่นเอาขันธ์ ๕ เป็นตน โดยบทบาลีว่า “สงฺขิตฺเตน ปญฺจุปาทานกฺขนฺธาทุกฺขา โดยย่นย่อแล้ว การยึดถือขันธ์ ๕ เป็นทุกข์ ดังนี้” โดยมี อวิชชา ตัณหา อุปาทาน ที่ครอบงำจิตของตนอยู่ ทำให้เกิดทุกข์ทางใจ เรียกว่า ปกิณกะทุกข์

มีบทกลอนของท่านพ่อแม่ครูบาอาจารย์กล่าวไว้ดังนี้

ร้อนอะไร ในมนุษย์ ที่จุดจบ
ไม่ร้อนลบแรงราดซ้ำซากเผา
เพลิงตัณหา ราคา มิซาเซา
ร้อนรุมเร่า ลุกลน ไปจนตาย

อันร้อนกาย ไข้หนัก พอรักษา
ใช้หยูกยา ถูกตรง ก็คงหาย
แต่ร้อนจิต ติดแน่น สุดแคลนคลาย
เป็นโรคร้าย เรื้อรัง ไม่ฟังยา


ทุกข์ มีเหตุเกิดจากจิตเข้าไปยึดครองเอารูปร่างกายที่ตนได้อาศัยอยู่ว่าเป็นตน เป็นของๆ ตน โดยลืมไปว่ารูปร่างกายที่ปรากฏอยู่นี้ เป็นบิดา มารดาให้มา ส่วนชีวิตินทรีย์เกิดขึ้นจากบุญนำกรรมแต่ง ส่งให้ธาตุรู้หรือวิญญาณธาตุที่เรียกว่า “จิต” เข้าไปปฏิสนธิด้วยรูปร่างกาย เป็นปฏิสนธิจิตเข้ามาอาศัยถือครองสกลกายที่อาศัยนี้อยู่

จากพระบาลีที่พระพุทธองค์ได้ตรัสไว้ดีแล้วว่า บุคคลจะล่วงทุกข์ได้ เพราะความเพียร เราต้องพิจารณาเป็นมิติที่ทับซ้อนลงไป มิติแรกเป็นการล่วงทุกข์แบบโลกๆ คือ ความบากบั่นอุตสาหะฟันฝ่าต่อสู้ดิ้นรน เพื่อสร้างตนเองให้มีฐานะความเป็นอยู่ที่สุขสบายกายดีขึ้น ด้วยความเพียรพยายามนั้น เป็นการล่วงพ้นทุกข์ ที่ยังมีความสุขและความทุกข์ เวียนเกิดเวียนดับสลับกัน มีทั้งทุกข์มีทั้งสุขเจือปนกันไป ขึ้นอยู่กับสภาวะธรรมที่เกิดขึ้นมาในขณะนั้นๆ

โดยมองข้าม ทุกขอริยสัจ ที่ซ้อนเร้นอยู่ ซึ่งเป็นการล่วงทุกข์ในมิติที่ทับซ้อน ที่พระพุทธองค์ทรงตรัสสั่งสอนเน้นย้ำไว้ทุกๆ ที่ คือ อริยสัจ ๔ เป็นวิธีการที่จะพ้นทุกข์แบบถาวร ที่พระพุทธองค์ได้ทรงวางหลักเกณฑ์ไว้สำหรับแก้ทุกข์ที่เหตุแห่งทุกข์ เพื่อให้จิตบริสุทธิ์หลุดพ้นจากทุกข์ทั้งปวง เรียกว่า “อริยมรรค” คือเสันทางเดินของจิตเพื่อความเป็นอริยะ

เส้นทางที่ว่ามานั้น เป็นการฝึกฝนอบรม “จิตของตน” ไม่ใช่จิตของใครอื่น และอบรมจิตให้กันไม่ได้เสียด้วยสิ จิตใครจิตเค้า ที่ต้องแก้ไขไปตามจริตนิสัยที่จิตของตน ได้สั่งสมพฤติกรรมต่างๆ มาอย่างยาวนานนับไม่ถ้วน

เมื่อมีการกล่าวถึงเรื่อง “ตน” มักเกิดการถกเถียงกันออกไปอย่างกว้างขว้าง เป็นด้วยมายาคติที่ได้ครอบงำความรู้สึกนึกคิดอยู่ว่า เรื่องตน ต้องเป็นเรื่องของอัตตาตัวตนเสมอไป เป็นการยึดมั่นถือมั่นล้วนๆ ขึ้นชื่อว่า “ตน” แล้ว เชื่อว่าต้องมีการยึดมั่นถือมั่นทั้งสิ้น

ส่วน “ตน” ที่พระพุทธองค์ได้ทรงตรัสไว้ในที่อื่นๆ ในหลายๆ พระสูตร ซึ่งเป็น “ตน” ในความหมายที่ทรงหมายถึง ตนที่เป็นที่พึ่งที่อาศัย เช่น ดูก่อนอานนท์ เธอจงมีตนเป็นเกาะ มีตนเป็นที่พึ่ง พระพุทธองค์ทรงหมายถึงจิตของพระอานนท์ที่ได้อบรมฝึกฝนมาดีแล้ว จิตของตนย่อมเชื่อถือได้ เชื่อมั่นได้ว่าอุดมไปด้วยศีล สมาธิ และปัญญา

เมื่อพระพุทธองค์ได้ทรงตรัสให้เห็นถึงความเข้าใจผิดของสามัญชนทั่วไป ที่ยังยึดมั่นถือมั่นในอุปาทานขันธ์ ๕ ว่าเป็นตัวเป็นตน เป็นของๆ ตน ไม่รู้จักเบื่อหน่าย ถ่ายถอน ซึ่งใน อนัตตลักขณสูตร นั้น พระพุทธองค์ทรงตรัสชี้ชัดลงไปว่า อุปาทานขันธ์ ๕ นั้น ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ไม่ใช่ตัวตน (เป็นอนัตตา)

ลองพิจารณาพระบาลีคำว่า “อนัตตา” ให้ดีๆ ในความหมายชัดๆ คือ ไม่ใช่ตน คำว่า “ไม่ใช่” เป็นคำปฏิเสธสิ่งนั้นคือขันธ์ ๕ ว่า “ไม่ใช่ตน” แสดงว่าที่ “ใช่ตน” ต้องมี

เพื่อเป็นข้อเปรียบเทียบให้ชัดเจน ท้ายพระสูตรพระบาลีมีปรากฏคำว่า “อตฺตมนา ปญฺจวคฺคิยา ภิกฺขู” เมื่อพิจารณาจากพระบาลีคำว่า อัตตะมะนา มาจากคำว่า “อัตตา” รวมกับคำว่า “มโน” หมายความว่า มี “ใจเป็นตน” เข้าถึงตนอันเป็นที่พึ่งที่แท้จริงที่อยู่ ณ ภายใน

ซึ่งสอดคล้องกับพระบาลีในบัณฑิตวรรคแห่งพระธรรมบท กล่าวไว้ชัดเจนว่า
ปริโยท เปยฺย อตฺตานํ, จิตฺตกิเลเสหิ ปณฺฑิโต
บัณฑิตพึงชำระตนคือจิต ให้บริสุทธิ์ปราศจากกิเลส

สรุปได้ว่า ความเพียรสูงสุด คือ เพียรชำระจิตของตน ให้บริสุทธิ์หลุดพ้นจากเครื่องเศร้าหมองทั้งหลาย เป็น วิริเยน ทุกฺขมจฺเจติ ขั้นปรมัติ สาธุ

เจริญในธรรมที่สมควรแก่ธรรมทุกๆ ท่าน
พระภัทรสิทธิ์ อภินันโท



Create Date : 07 พฤษภาคม 2564
Last Update : 7 พฤษภาคม 2564 10:36:18 น.
Counter : 1014 Pageviews.

0 comments
ชื่อ :
Comment :
 *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

ในความฝันของใครสักคน
Location :
กรุงเทพฯ  Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 4 คน [?]



สารบัญ Blog ธรรมภูต - พระภัทรสิทธิ์



หน้าแรก Blog ธรรมภูต - พระภัทรสิทธิ์
All Blog