แก่นแท้ของพระพุทธศาสนา


แก่นแท้ของพระพุทธศาสนา


🌷 น้อมถวายเป็นพุทธบูชาเนื่องในวันมาฆบูชา ๑ มีนาคม ๒๕๖๑

สมาธิในพระพุทธศาสนา หรือที่เรียกว่า สัมมาสมาธิ ๑ ในสิกขา ๓ เป็นทางเดินของจิตนำไปสู่ความเป็นอริยะเจ้า เป็นหัวใจสำคัญในการเข้าถึงแก่นของพระพุทธศาสนา มีประโยชน์อย่างยิ่งสำหรับผู้ที่ลงมือปฏิบัติแบบจริงจัง เป็นสมาธิที่สงัดจากกาม สงัดจากอกุศลธรรมทั้งหลายอันเกิดแต่วิเวก ทำให้จิตมีพลังในการสลัดปล่อยวางอารมณ์ และความยึดถือในความรู้สึกนึกคิดทั้งหลาย (อาการของจิต)ออกไป ในขณะที่มีอารมณ์ความรู้สึกนึกคิดเข้ามากระทบจิต

ผู้ใดสามารถฝึกฝนอบรมจิต ปฏิบัติธรรมสัมมาสมาธิจนชำนาญคล่องแคล่วดีแล้ว อารมณ์ทั้งปวง ไม่ว่าที่ดีหรือที่ชั่ว สุขหรือทุกข์ ย่อมไม่สามารถครอบงำจิต ปรุงแต่งจิตของผู้นั้น ให้กระสับกระส่าย สับสนวุ่นวาย ฟุ้งซ่านซัดส่ายไปตามอารมณ์ได้อีกต่อไป

สัมมาสมาธิฌานที่ ๔ นั้น มีคุณลักษณะดังนี้ คือ "ไม่มีทุกข์ ไม่มีสุข เพราะละสุข ละทุกข์และดับโสมนัสโทมนัสแต่เก่าก่อนๆ ได้ มีอุเบกขาเป็นเหตุให้สติบริสุทธิ์อยู่" เป็นสภาวะธรรมที่เรียกว่า รู้สักแต่ว่ารู้ จิตมีพลังปล่อยวางสลัดอารมณ์ความรู้สึกนึกคิดออกไป เป็นเหตุให้จิตหลุดพ้นจากทุกข์ทั้งปวงได้ เป็นตทังควิมุตติ เข้าสู่ความสงบตั้งมั่น เยือกเย็น ในพระพุทธศาสนาได้โดยแท้จริง

ดั่งมีพระพุทธพจน์กล่าวไว้ใน "สมาธิสูตร" ดังนี้
"สมาธึ ภิกฺขเว ภาเวถ สมาหิโต ยถาภูตํ ปชานาติ
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย พวกเธอจงยังสมาธิให้เกิดขึ้นเถิด
ผู้ที่มีจิตตั้งมั่นดีแล้ว ย่อมรู้เห็นตามความเป็นจริง ดังนี้"


เมื่อพิจารณาจากพระพุทธพจน์อย่างรอบคอบ จะเห็นได้ว่า บุคคลที่มีจิตสงบตั้งมั่นดีแล้ว ย่อมรู้เห็นตามความเป็นจริง คำว่า "รู้เห็นตามความเป็นจริง" นั้น คือ "วิปัสสนา" เป็นการรู้เห็นอย่างวิเศษ รู้เห็นอย่างไรจึงเรียกว่า "รู้เห็นอย่างวิเศษ" คือ รู้เห็นอริยสัจ ๔ ตามความเป็นจริงว่า อารมณ์ทั้งปวง ไม่ว่าดี ชั่ว สุข ทุกข์ หยาบ ละเอียด (รูปฌาน อรูปฌาน) ล้วนเป็นทุกข์ เมื่อรู้แล้วว่า "อารมณ์ทั้งหลาย" ที่จิตเข้าไปยึดมั่นถือมั่นล้วนเป็นทุกข์ ควรละความทะยานอยาก (สมุทัย)-เหตุแห่งทุกข์เหล่านั้นเสีย เพื่อถึงนิโรธ-ดับทุกข์ทั้งปวงได้ ด้วยมรรค-ทางดำเนินไปเพื่อความดับทุกข์

คำว่า "สมถะ" และ "วิปัสสนา" เป็นคำที่เกิดขึ้นมาในภายหลัง แต่กลับถูกนำไปใช้ในทางแบ่งแยกของผู้ปฎิบัติธรรมให้ออกจากกันอย่างชัดเจน ทั้งๆ ที่พระสูตรเองก็ยังเขียนไว้อย่างรัดกุมรอบคอบ ไม่ได้ถูกแบ่งแยกให้ออกจากกันแต่อย่างไร จนเกิดเป็นสาย "สมถะภาวนา" หรือสาย "วิปัสสนาภาวนา" อย่างทุกวันนี้ ทำให้เกิดความเข้าใจผิดไปจากความเป็นจริงของพระสูตรที่วางหลักไว้ดีแล้ว

เพราะคำว่า "และ" ในพระสูตรนั้น ก็ชัดเจนอยู่แล้วในตัวว่า ต้องร่วมกันให้เกิดขึ้น ขาดจากกันไม่ได้ แสดงว่า "สมถะ" และ "วิปัสสนา" นั้นเป็นเรื่องที่ต้องกระทำควบคู่กัน พร้อมกันไป ในขณะจิตเดียวกัน ต่างกันแต่สภาวะที่เกิดขึ้น ของเหตุปัจจัยที่มีมาให้พิจารณา ขณะประคองจิตอยู่ (ตรึกธรรม) เฉพาะหน้าในเวลานั้นๆ

เช่นเดียวกันกับคำว่า สติ สมาธิ ปัญญา ซึ่งต้องเกิดขึ้นร่วมกันไปขาดกันเสียไม่ได้ ที่เรียกว่า "อัญญะ-มัญญะ" ปัจจัย เป็นสิ่งที่เกิดขึ้น มีขึ้น หนุนเนื่องต่อกัน และอาศัยกันและกันเกิดขึ้นอย่างไม่ขาดสาย หากเราสามารถสร้างสติประคองจิตไว้ที่ฐานที่ตั้งของสติ (สติปัฎฐาน) ได้อย่างต่อเนื่องเนืองๆแล้ว จิตของตนย่อมสงบตั้งมั่นเป็นสมาธิ เมื่อประคองจิตที่มีสติให้สงบตั้งมั่นเป็นสมาธิได้ต่อเนื่อง จิตย่อมรู้เห็นตามความเป็นจริง (วิปัสสนา) ดังนี้

เพราะในการปฏิบัติธรรมกรรมฐานเพียรประคองจิตของตนอยู่นั้น บางครั้งบางขณะที่จิตระลึกรู้ (สติ) อยู่ จิตอาจจะเกิดเผลอไผลส่งออกไปในอารมณ์ที่ยินดีน่ารักใคร่ หรืออารมณ์ที่ไม่น่ายินดี จะมาจากภายนอกก็ดี หรือที่เกิดขึ้นจากสัญญาอารมณ์ความรู้สึกนึกคิด ณ.ภายในจิตเองก็ดี เมื่อระลึกนึกขึ้นมาได้และสามารถดึงจิตให้ออกจากอารมณ์ความรู้สึกนึกคิดในขณะนั้น และยกจิตของตนที่ส่งออกไปจากฐานที่ตั้ง ให้กลับมาวางอยู่ที่ฐานแห่งความสงบ(สติ)ดังเดิมได้เป็นวิปัสสนา

ฐาน คือ ที่ตั้งของสติที่ระลึกรู้อยู่ในขณะนั้นๆ (สติปัฏฐาน) อันมีลมหายใจ หรือองค์ภาวนาต่างๆ ที่เป็นอุบาย (กายสังขาร) เพื่อให้จิตของตนได้ฝึกฝนเกาะเกี่ยวจนเป็นสมาธิ การยกจิตของตนให้กลับมาสู่ฐานที่ตั้งของสติที่ได้เคยอุปโลกน์ไว้นั้น ย่อมได้ชื่อว่า เกิด "ปัญญา" สามารถสลัดปล่อยวางอารมณ์ความรู้สึกนึกคิดในขณะที่จิตยึดอยู่นั้นออกไปได้ กลับมาสู่ฐานของสติอีกครั้ง แม้จะเป็นเพียงปัญญาเล็กๆ น้อยๆ ในขณะที่ฝึกอบรมใหม่ๆ แต่เมื่อฝึกฝนอบรมจิตให้กระทำบ่อยๆ กระทำให้มาก เจริญให้มากปัญญาที่เกิดขึ้นย่อมแหลมคมยิ่งๆขึ้นไปเอง

ขณะที่เราสามารถยกจิตกลับมาตั้งไว้ที่ฐานสติได้อย่างแม่นยำต่อเนื่องเนืองๆ จนกระทั่งจิตเข้าสู่ความสงบตั้งมั่นเป็น "สมาธิ" จิตของตนย่อมรู้เห็นอย่างวิเศษ (วิปัสสนา) ว่าขณะนี้จิตของตนเป็นสุขที่เกิดขึ้นจากความสงบตั้งมั่นอยู่นั้น ต่างจากเมื่อครู่ที่จิตของตนได้ซัดส่ายวุ่นว่ายส่งออกไปยึดอารมณ์ความรู้สึกนึกคิดที่เป็นแขกจรเข้ามา ย่อมรู้ชัดถึงความแตกต่างระหว่างจิตที่มีความสงบตั้งมั่น กับจิตที่ซัดส่าย สับสน วุนว่าย ได้ตามความเป็นจริง ดังนี้

เมื่อกระทำให้มาก กระทำบ่อยๆ เจริญให้เกิดขึ้น จนคล่องแคล่วชำนาญดีแล้ว ก็นำผลที่ได้ปฏิบัติมาใช้ในการดำรงชีวิต เพื่อให้รู้เห็นตามความเป็นจริง (วิปัสสนา) ขณะที่อยู่ในชีวิตประจำวัน เมื่อกระทบอารมณ์ทางอายตนะ ๖ มีอาการของจิตเกิดขึ้น กระเพื่อมไปตามอารมณ์ความรู้สึกนึกคิด ยินดี ยินร้าย รัก ชอบ ชัง จิตย่อมระลึกรู้เห็นตามความเป็นจริง (วิปัสสนา) ว่าขณะนี้จิตสับสน ซัดส่าย วุ่นวายไปตามอารมณ์เหล่านั้น (สุข ทุกข์) ให้รีบนำจิตกลับมาสู่ความสงบตั้งมั่นให้ได้อย่างรวดเร็ว ด้วยกำลังสติขณะแห่งจิตที่เป็นสมาธินั้น (ขณิกสมาธิ)โดยนำจิตของตนมาวางไว้ที่ฐานแห่งความสงบ มีสติตั้งมั่น ที่จิตของตนได้เคยฝึกฝนอบรมมาดีแล้ว

ใครที่ยังคิดว่า สมถะและวิปัสสนา ต้องแยกกันปฏิบัตินั้น เป็นการเข้าใจที่คลาดเคลื่อนไปจากความเป็นจริง เมื่อจิตรู้จักความสุขที่เกิดแต่ความสงบตั้งมั่นอย่างแท้จริงแล้ว ย่อมต้องรู้ชัดถึงสภาวะจิตที่กระเพื่อมซัดส่าย ส่งออก สับสนวุ่นวาย ว่าต่างกันอย่างไร จึงเป็นวิปัสสนาที่เกิดจากจิตที่รู้จักฐานสติสงบตั้งมั่นเป็นอย่างดี

เมื่อมีอารมณ์มากระทบทางอายตนะทางใดทางหนึ่ง จิตย่อมสามารถสลัดปล่อยวางอารมณ์ออกไปได้ในทันทีทันใด นี่จึงเป็นปัญญาที่แท้จริงในพระพุทธศาสนา ไม่ใช่ปัญญาที่เข้าใจกันผิดๆ ไปจากความเป็นจริง อันเกิดจากการนึกคิดที่คิดแล้วคิดเล่า เฝ้าแต่คิดจนความนึกคิดเหล่านั้นตกผลึก อันนั้นเราเรียกว่า "สัญญาอารมณ์"

ส่วน "ปัญญาวิปัสสนา" ที่จิตของตนสามารถสลัดปล่อยวางอารมณ์ความรู้สึกนึกคิดออกไปได้อย่างรวดเร็ว อันเกิดจากการรู้เห็นตามความเป็นจริงของจิตที่มีกำลังสติเป็นสมาธิสงบตั้งมั่นดีแล้ว เมื่อกระทำให้มาก เจริญให้มาก กระทำบ่อยๆ จนชำนาญคล่องแคล่วในการปล่อยวางย่อมละสังโยชน์ได้

"สัญญาอารมณ์" ที่เกิดจากความรู้สึกนึกคิดบ่อยๆ จนจำได้อย่างแม่นยำเป็นถิรสัญญา ผลที่ได้คือ "สักๆ แต่ว่ารู้" เป็นการเปลี่ยนผ่านอารมณ์ความรู้สึกนึกคิดอย่างรวดเร็ว ทำเป็นว่าไม่ได้สนใจในอารมณ์เหล่านั้น ทั้งที่ในความเป็นจริง จิตได้รับและยึดอารมณ์เหล่านั้นไปแล้ว เพียงแต่ไม่ได้แสดงออกมาทางสีหน้าให้เห็นถึงอาการของจิตที่กระเพื่อมอยู่ ณ.ภายในจิตของตน พูดหรือแสดงออกให้ดูดีด้วยวาจาเพราะๆ ด้วยคำว่า "สักแต่ว่า"

กล่าวถึงปัญญาวิปัสสนาแล้ว มีพระพุทธพจน์ตรัสรองรับไว้อย่างชัดเจนโดยไม่ต้องตีความใดๆ เลย ตรัสพระคาถาดังนี้ว่า :-

"โยคาเว ชายเต ภูริ อโยคา ภูริ สงฺขโย
เอตํ เทฺวตปถํ ญตฺวา ภวาย วิภาวย
จตถตฺตานํ นิเวเสยฺย ยถา ภูริ ปวฑฺฒติ

ปัญญาเกิดขึ้นเพราะความประกอบ
ไม่ประกอบ ปัญญาก็หมดสิ้นไป
บุคคลรู้ทางแห่งความเจริญ และความเสื่อม ทั้ง ๒ ทางนี้ แล้ว
พึงตั้งตนไว้ในทางที่ปัญญาจะเจริญ"


ยังมีพระสูตรที่ทรงตรัสรองรับและเชื่อมโยงกัน ไว้ว่า
"เมื่อภิกษุประกอบภาวนานุโยคอยู่ ถึงจะไม่เกิดความปรารถนาอย่างนี้ว่า "ไฉนหนอ ขอจิตของเราพึงพ้นจากอาสวะเพราะไม่ถือมั่น ดังนี้"... ก็จริงอยู่ ถึงอย่างนั้น จิตย่อมพ้นจากอาสวะเพราะไม่ถือมั่น" (นาวาสูตร)

สรุปสุดท้ายว่า การศึกษาพระพุทธศาสนานั้น ให้ยึดหลัก "กาลามสูตร" เป็นหลัก อย่าเพิ่งเชื่ออะไรง่ายๆตามที่พระพุทธองค์ตรัสไว้ดีแล้ว ๑๐ ประการ ให้ฟังด้วยดี นำที่ได้ยินได้ฟังมาศึกษา ตรวจสอบ สอบสวน เทียบเคียง และสมาทานลงมือปฏิบัติธรรมตามอย่างจริงจัง ผลที่ออกมาเป็นประโยชน์ ผู้รู้ไม่ติเตียน นำผลที่ได้ไปใช้ได้จริง (ปัจจัตตัง) ค่อยเชื่อก็คงไม่สาย

"บุคคลรู้ทางแห่งความเจริญ และความเสื่อม ทั้ง ๒ ทางนี้ แล้ว พึงตั้งตนไว้ในทางที่ปัญญาจะเจริญ" ความหมายของ "ปัญญา" ในทางพระพุทธศาสนาแตกต่างไปจากความเฉียวฉลาด (ปัญญา) ในทางโลกอย่างสิ้นเชิง ปัญญาในทางพระพุทธศาสนานั้น เป็นความสามารถของจิตในการสลัดปล่อยวางอารมณ์ความรู้สึกนึกคิดออกไปได้อย่างรวดเร็ว

ที่เรียกว่า "รู้เห็นตามความเป็นจริง" คือ รู้ว่าที่นี่วุ่นวายหนอ ที่นี่ขัดข้องหนอ สามารถนำจิตของตนสู่ ที่นี่ประณีตหนอ ที่นี่สงบหนอ ได้ในทันทีทันใด เป็นการรู้เห็นตามความเป็นจริง (วิปัสสนา) ตามที่พระสูตรได้กล่าวไว้ จิตของตนต้องได้รับการฝึกฝนอบรมสมาธิมาอย่างจริงจังต่อเนื่อง จนจิตเข้าสู่ความสงบตั้งมั่นได้อย่างรวดเร็ว เพียงแค่ลัดนิ้วมือเดียว จิตก็เข้าสู่ความสงบตั้งมั่นได้ในทันทีชั่วขณะจิตเดียว สติ สมาธิ ปัญญา จึงเป็นเรื่องเดียวกัน


เจริญในธรรมทุกๆ ท่าน
ธรรมภูต






Create Date : 01 มีนาคม 2561
Last Update : 19 กุมภาพันธ์ 2562 18:24:31 น.
Counter : 560 Pageviews.

0 comments
ชื่อ :
Comment :
 *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

ในความฝันของใครสักคน
Location :
กรุงเทพฯ  Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 4 คน [?]



สารบัญ Blog ธรรมภูต - พระภัทรสิทธิ์



หน้าแรก Blog ธรรมภูต - พระภัทรสิทธิ์