Group Blog
 
All blogs
 
คิดแบบ VI โดย ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร


สิ่งสำคัญที่สุดของการลงทุน คือ ความคิด ไม่มีกิจกรรมทางเศรษฐกิจอะไร ที่ความสำเร็จหรือล้มเหลวขึ้นอยู่กับความคิดมากเท่ากับ การลงทุน คำพูดที่ว่า "คิดแล้วรวย" เป็นความจริงที่สุดในเรื่องการลงทุนเมื่อเราคิดถูก แต่ถ้าคิดผิด นอกจากจะไม่รวยแล้ว เราก็จะจนลงด้วย ดังนั้น หากจะเป็นนักลงทุนที่ประสบความสำเร็จ ต้องคิดให้ถูก แต่ก่อนจะถึงจุดนั้น ควรรู้ว่าคิดอย่างไรหรือคิดแบบไหน ข้อเสนอของผมคือ ถ้าจะรวยจากตลาดหุ้นแบบ Value Investor ควรจะคิดแบบ VI ซึ่งมีวิธีคิดดังนี้

ข้อแรก สำคัญมาก คือ ความคิดของเราต้องไม่ลำเอียง เพราะถ้าเราลำเอียงแล้ว เราจะคิดผิดได้ง่าย ความลำเอียงมักเกิดขึ้นจากความรู้สึกชอบ หรือเกลียด ที่มีต่อสิ่งที่เราคิด เกิดจากการเลี้ยงดูอบรม และยังอาจเกิดขึ้น เพราะเราไม่ได้คิดเอง แต่ถูกชักนำโดยคนอื่นที่มีความคิดที่ลำเอียง

ตัวอย่างง่ายๆ ถ้าเราเป็นคนที่มีฐานะค่อนข้างดี มักจะใช้สินค้าที่มีคุณภาพสูง มีบริการดี ดังนั้นจึงมักจะเข้าห้างที่เน้นขายสินค้าในระดับเดียวกัน เรารู้สึกพอใจกับสินค้าและบริการ แม้ราคาจะสูงขึ้นบ้าง สรุปว่าห้างนี้ "ดี" แต่บางครั้ง เราไปห้างที่ขายสินค้าให้กับคนที่มีรายได้ต่ำกว่าเรา เราก็พบว่าสินค้าที่ต้องการมี "ไม่ค่อยครบ" คุณภาพก็ "ดูไม่ดีไ บริการก็ "ไม่ประทับใจ" เรารู้สึกว่าห้างนี้ "ไม่ดี" ถ้าไม่จำเป็นคงไม่มาใช้บริการ และใจก็คงคิดว่า คนอื่นจะคิดเหมือนเรา เราลืมไป หรืออาจไม่ทันคิดว่า ราคาสินค้านั้น อาจถูกกว่าร้านที่เราใช้ประจำ แต่ถึงจะรู้ ก็ "ไม่น่าสนใจ" คนอื่นคงไม่สนใจเหมือนกัน ว่าที่จริง เวลาที่คุยกับคนอื่นที่เป็นเพื่อนกัน เขามีความเห็นคล้ายๆ กันว่าห้างแรกดีแต่ห้างหลังห่วย สิ่งนี้ยืนยันกับเราว่า ความคิดของเราเกี่ยวกับสถานะของห้างทั้งสองแห่งถูกต้อง แต่เราลืมคิดไปว่า คนที่เราคุยด้วย มีสถานะทางเศรษฐกิจและสังคมคล้ายๆ กับเรา เขาเองก็ลำเอียง ถ้าไปคุยกับคนที่มีฐานะทางเศรษฐกิจต่ำกว่าเรา อาจจะได้อีกภาพหนึ่งที่ตรงกันข้าม นั่นคือ "ห้างหลังดีกว่าห้างแรก" น้อยครั้งที่เราจะได้คุยกับคนที่มีฐานะทางเศรษฐกิจ และสังคมที่ต่างกับเรามากถ้าคุณไม่ตั้งใจจริงๆ

คิดแบบ VI ข้อสอง ผมคิดว่าต้อง คิดยาว และหลายชั้น มองทะลุให้เห็น "พื้นฐาน" จริงๆ เหตุผลคือ สิ่งที่เห็นชัดเจน ส่วนใหญ่เป็นผล หรือเป็นเรื่องปลายทาง หรือบางทีเป็น "ยอดของภูเขาน้ำแข็ง" ที่โผล่ขึ้นมาเหนือน้ำทะเล ถ้าวิเคราะห์เฉพาะสิ่งที่เห็น จะไม่เข้าใจพลัง หรือปัจจัยสำคัญที่กำหนดให้เป็นอย่างนั้น การวิเคราะห์ย้อนหลังจนถึงพื้นฐานสำคัญอย่างเดียวไม่พอ ต้องวิเคราะห์ต่อไปข้างหน้า หรือมองไปในอนาคตด้วยว่าจะเป็นอย่างไร ถ้าพื้นฐานไม่แน่น อนาคตคงไม่แน่นอน ตรงกันข้าม ถ้าพื้นฐานใหญ่มาก อนาคตคงยากที่จะเปลี่ยนได้ง่าย ลองนึกภาพดูว่า ถ้าเห็นก้อนน้ำแข็งอยู่เหนือน้ำ อาจเป็นก้อนน้ำแข็งที่ไม่มีฐานเลยและพร้อมจะล่องลอยไปมา หรืออาจเป็นปลายภูเขาน้ำแข็งที่ไม่มีทางเคลื่อนไปไหนได้เลยก็ได้

การคิดยาวและหลายชั้น จะทำให้รู้ว่า การเติบโตและผลประกอบการของบริษัทในระยะยาวจะเป็นอย่างไร ซึ่งทำให้เราตัดสินใจได้ว่าหุ้นของบริษัทคุ้มค่าไหม เมื่อเทียบกับราคาหุ้นที่เห็นด้วยความมั่นใจที่สูง เพราะมีพื้นฐานแข็งแกร่งและใหญ่โตรองรับ ตรงกันข้าม ถ้าวิเคราะห์พบสิ่งที่เราเห็น แม้ดูยิ่งใหญ่ แต่พื้นฐานจริงๆ ง่อนแง่น อนาคตยากที่จะทำนาย แบบนี้การลงทุนก็เสี่ยง การให้มูลค่าก็ต้องไม่สูง และเราต้องเข้าใจถ้าจะซื้อหุ้น ก็อาจเป็นเรื่อง "เก็งกำไร"

คิดแบบ VI ข้อสาม คือ คิดเรื่องการแข่งขัน นี่เป็นเรื่องสำคัญ เพราะธุรกิจทุกประเภท โดยเนื้อหาจริงๆ แล้ว คือการแข่งขัน "ผู้ชนะ" มักจะร่ำรวยมั่งคั่งและเติบโตขึ้น "ผู้แพ้" จนลง หรือล้มหายตายจากไป ไม่ใช่เฉพาะธุรกิจ แทบทุกอย่างที่มีชีวิตในโลกนี้ต่างต้องแข่งขัน หรือต่อสู้เอาตัวรอดและเติบโตขึ้น คนบางคนหรือบางธุรกิจอาจบอกว่า "ไม่ต้องหรือไม่ได้แข่งขันกับใคร" นี่เป็นคำพูดที่มีความเป็นจริงน้อยมาก เขาอาจไม่ตระหนักว่า กำลังแข่งขัน เพราะไม่มีคู่แข่งให้เห็นชัดเจน เช่น ดารานักแสดง ในชีวิตอาจดูเหมือนไม่ได้แข่งประกวดกับใคร แต่จริงๆ แล้วทุกคนแข่งขันกันหนักมากในการที่จะ "แย่งชิงคนดู"

การวิเคราะห์โดยใช้โมเดลการแข่งขัน จะทำให้เรารู้และเข้าใจธุรกิจและชีวิตที่ดีขึ้นมาก ประเด็นสำคัญ คือ ทำให้รู้ว่าใครเฟื่องฟูและใครตกต่ำในอนาคต หัวใจคือ คนที่มีความสามารถในการแข่งขันสูง เพราะมีความ "ได้เปรียบ ก็จะเติบโต ส่วนคนที่เสียเปรียบก็ถดถอย หน้าที่ของเรา คือ วิเคราะห์หรือค้นหาว่า อะไรทำให้การแข่งขันแต่ละเรื่องเป็นสิ่งสำคัญ ที่จะทำให้ได้เปรียบและสิ่งนั้นเป็นเรื่องที่คงทนถาวรแค่ไหน เช่น ถ้าเป็นการแข่งขันของดารานักแสดง ปัจจัยสำคัญ คือ ความสวย หรือความหล่อและรูปร่างที่สูงเพรียวได้สัดส่วน หรือถ้าเป็นธุรกิจ ก็คือ ขนาด นั่นคือ บริษัทขนาดใหญ่กว่าคู่แข่งมาก จะได้เปรียบค่อนข้างมาก เป็นต้น

คิดแบบ VI ข้อสุดท้ายที่ผมจะพูด คือ การคิดโดยตัดอารมณ์ร่วมหรืออารมณ์หมู่ ที่ขยายความรุนแรงของปัญหา หรือทำให้ภาพดูสดใสเกินจริง ที่ชัดเจนที่สุด คือวิกฤติทั้งหลาย เช่น วิกฤติเศรษฐกิจ การเมือง และวิกฤติภัยธรรมชาติอย่างน้ำท่วมใหญ่ที่เกิดขึ้น สิ่งๆ เหล่านี้ ช่วงที่กำลังเกิดขึ้น คนมักจะกล่าวถึง และวิจารณ์กัน ซึ่งส่วนมากจะมองภาพที่เลวร้ายสุดๆ แต่เมื่อเวลาผ่านไป ก็มักจะพบว่า ผลกระทบนั้นไม่ได้รุนแรงเท่ากับที่พูด หรือคาดกัน ลองนึกย้อนหลังตั้งแต่วิกฤติเศรษฐกิจปี 2540 ที่เราสงสัยกันตอนนั้นว่า ประเทศไทยจะรอดหรือไม่ ไล่มาจนถึงปัญหาทางการเมืองที่รุนแรง จนคนคิดว่าเมืองไทยจะหมดอนาคตไม่มีใครมาลงทุน การปิดสนามบินที่คนพูดกันว่าความเสียหายหลายแสนล้านบาท

ทุกอย่างที่พูดถึง นับถึงวันนี้ผมมองว่า เราผ่านมาได้โดยที่ความเสียหายต่ำกว่าที่เคยกลัวกัน ล่าสุดขณะนี้ที่คนบอกว่าความเสียหายจะมโหฬาร จนทำให้เศรษฐกิจหดตัวลงค่อนข้างมาก ซึ่งก็คงจะต้องดูกันต่อไปว่าเป็นจริงแค่ไหน ไม่ว่าจะเป็นอย่างไร ผมคิดว่า VI ไม่ควรคิดตามคนหมู่มากที่กำลังอยู่ในอารมณ์ร่วมที่รุนแรง ตรงกันข้าม เราควรคิดว่าในสถานการณ์แบบนี้ อาจเห็นโอกาสที่เกิดขึ้นจากการที่คนกลัวเกินเหตุ ทำให้หุ้นมีราคาตกลงมามากเกินกว่าความเสียหายก็ได้

แหล่งที่มา กรุงเทพธุรกิจ โดย ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

อยากให้อ่านเรื่องนี้ด้วยครับ



ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

girdpol
Location :


[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 15 คน [?]




Friends' blogs
[Add girdpol's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.