Group Blog
 
All blogs
 
ผลกระทบจากน้ำท่วมใหญ่ โดย ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร


เหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ครั้งนี้ ถ้าจะวิเคราะห์ผลกระทบต่อบริษัทจดทะเบียนให้เห็นภาพชัดเจนขึ้น เราควรแยกความเสียหายเป็น 2 ด้าน นั่นคือ ความเสียหายจากทรัพย์สิน และความเสียหายจากธุรกิจ โดยเฉพาะยอดขายที่ลดลงในระยะสั้นและระยะยาว ซึ่งทั่วไปบริษัทมักจะเสียหายทั้ง 2 ด้าน คือทรัพย์สินเสียหาย ตามด้วยธุรกิจถดถอยลง บางบริษัททรัพย์สินเสียหายบ้าง แต่ธุรกิจไม่ได้ด้อยลง อาจดีขึ้นด้วยซ้ำ เช่นเดียวกัน บางบริษัททรัพย์สินไม่ได้เสียหาย แต่ธุรกิจด้อยลง ลองมาดูกันว่าธุรกิจแต่ละอย่างถูกกระทบอย่างไร

บริษัทที่ทำนิคมอุตสาหกรรมและพื้นที่ส่วนใหญ่อยู่ในเขตที่ถูกน้ำท่วม รุนแรง ต้องถือว่าเป็นผู้ที่เสียหายหนัก ทั้งด้านทรัพย์สินและธุรกิจ ประเด็นการเสียหายด้านทรัพย์สิน มีทั้งด้านสาธารณูปโภคของนิคม เช่น ระบบไฟฟ้า ซึ่งรวมถึงเครื่องปั่นไฟที่บริษัทมักจะผลิตไฟฟ้าขายให้กับบริษัทในนิคม เครื่องทำน้ำประปา ระบบบำบัดน้ำเสีย และอื่นๆ อีกมาก ความเสียหายส่วนนี้ บริษัทมักทำประกันไว้ ดังนั้นจะได้รับการชดเชยบ้าง แต่ทรัพย์สินสำคัญที่น่าจะเสียหายหนัก แต่เราอาจจะยังไม่ตระหนักก็คือ "การลดค่าของที่ดิน" เพราะกลายเป็นทำเลที่ "ไม่เหมาะสมกับการสร้างโรงงาน" เพราะอาจเกิดน้ำท่วมใหญ่ได้อีกในอนาคต ซึ่งการเสียหายแบบหลังนี้น่าจะสูงกว่าแบบแรก รวมถึงข้อเท็จจริงที่ว่ามันเป็นความเสียหายที่ไม่มีการทำประกันไว้

ความเสียหายทางธุรกิจของนิคมอุตสาหกรรมก็น่าจะสูงมาก เพราะลูกค้ารายใหม่ๆ ที่คิดจะซื้อที่ดินสร้างโรงงาน ก็คงหลีกเลี่ยงที่จะซื้อที่ดิน เพราะมีความเสี่ยงเกิดน้ำท่วมซ้ำอีกในอนาคต จริงอยู่ นิคมอาจจะทำระบบกำแพงป้องกันน้ำท่วมแบบแข็งแรงน้ำไม่สามารถเข้าไปท่วมได้ แต่ก็ไม่รับประกันว่า โรงงานที่อยู่ข้างในจะเปิดดำเนินการได้ ถ้าภายนอกถูกล้อมรอบไปด้วยน้ำ และคนและวัตถุดิบต่างๆ ไม่สามารถเข้าไปได้ อีกทั้งการสร้างกำแพงป้องกันก็ต้องลงทุนไม่น้อย ไม่ว่าจะเป็นกรณีใด ราคาขายที่ดินถ้าไม่ลดลงก็คงไม่สามารถปรับขึ้นได้ ดูไปแล้ว ธุรกิจของนิคมอุตสาหกรรมที่ถูกน้ำท่วม คงอยู่ในสถานการณ์ยากลำบากไปอีกนาน อย่างมากที่ทำได้ก็คือ หาทำเลใหม่และเริ่มต้นนับหนึ่งจากทำเลนั้น ซึ่งกว่าจะเริ่มออกดอกผลก็มักต้องใช้เวลานานเมื่อเทียบกับเงินลงทุนที่ต้อง ใส่ลงไป

บริษัททำบ้านจัดสรร โดยเฉพาะที่มีโครงการและที่ดินเหลืออยู่ในทำเลที่ถูกน้ำท่วมหนัก เช่น ย่านบางบัวทอง หรือบางใหญ่ ความเสียหายของทรัพย์สินในทางบัญชีอาจดูเหมือนมีน้อย นี่ก็เหมือนกับกรณีของนิคมอุตสาหกรรม นั่นคือ ไม่ได้รวมถึงความเสียหายที่เกิดจากการลดค่าของที่ดินซึ่งน่าจะมีไม่น้อย ผมไม่ได้มีตัวเลขที่ชัดเจน แต่เมื่อคิดถึงตัวเองที่มีที่ดินจัดสรรอยู่ในเขตน้ำท่วมรุนแรงซ้ำซากแล้ว ถ้าขายได้ครึ่งหนึ่งของราคาเดิมผมก็พอใจแล้ว กรณีของที่ดินในโครงการหมู่บ้านจัดสรรที่โดนน้ำท่วมหนักครั้งนี้ ผมคิดว่าราคาจะลดลง 20-30% น่าจะเป็นไปได้

ส่วนธุรกิจบ้านจัดสรร ผมคิดว่าการขายบ้านที่อยู่ในเขตน้ำท่วมหนักครั้งนี้คงยากขึ้นมาก โดยเฉพาะช่วงปีหรือสองปีนี้ แม้แต่บ้านที่มีการวางมัดจำหรือผ่อนดาวน์ไปบ้างแล้ว น่าจะมีการทิ้งดาวน์ไม่ไปโอนมีอยู่ไม่น้อยเหมือนกัน เหตุผลนอกจากไม่อยากมีบ้านอยู่ในทำเลที่ "ไม่เหมาะกับการอยู่อาศัย" แล้ว อาจจะเป็นเพราะคนที่จองซื้อไว้ อาจมองราคาบ้านคงจะลดลงมา จึงยอมทิ้งดาวน์ และถ้าอยากจะได้จริงๆ ค่อยไปซื้อใหม่น่าจะได้บ้านในราคาที่ถูกกว่า ธุรกิจของบริษัทที่มีโครงการและที่ดินอยู่ในเขตน้ำท่วมหนักอย่างมีนัยสำคัญ คงถูกกระทบค่อนข้างมากช่วง 2-3 ปีข้างหน้า วิธีการแก้ไขต้องไปทำโครงการที่อยู่ในทำเลที่ไม่ถูกน้ำท่วมรุนแรง นี่ก็มีต้นทุนเพิ่มขึ้นและยังต้องใช้เวลาพัฒนาโครงการ

บริษัทที่เป็นโรงงานผลิตสินค้า เช่น ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์และยานยนต์ ที่มีโรงงานหลักอยู่ในเขตน้ำท่วมรุนแรง ความเสียหายจากทรัพย์สินมีไม่น้อย แม้จะมีการประกันภัยไว้ เพราะนอกจากทรัพย์สินแล้ว โรงงานคงมีค่าใช้จ่ายที่ไม่น่าจะเคลมคืนได้เช่น ค่าใช้จ่ายในการป้องกันโรงงาน ค่าแรงคนงานที่ยังต้องจ่ายในระดับถึง 75% ของค่าแรงพื้นฐาน สินค้าและวัตถุดิบที่เสียหาย และค่าใช้จ่ายอื่นๆ อีกมาก

ส่วนความเสียหายด้านธุรกิจ ผมคิดว่า คงมีไม่น้อยเหมือนกัน โดยเฉพาะผู้ผลิตที่เป็นผู้ส่งออกทั้งทางตรงและทางอ้อม นอกจากความเสียหายที่ไม่สามารถขายสินค้าได้ในช่วงที่โรงงานถูกน้ำท่วมเป็น เดือนๆ แล้ว ในระยะยาว หลังจากโรงงานกลับมาดำเนินการใหม่ บริษัทอาจประสบปัญหาในการขายได้เหมือนกันในแง่ ลูกค้าเดิม อาจหันไปหาซัพพลายเออร์รายใหม่ เพราะรอไม่ไหว จริงอยู่ บริษัทน่าจะได้รับออเดอร์กลับมาบ้าง แต่ผู้ซื้อต้องกระจายความเสี่ยง โดยการสั่งซื้อจากที่อื่นมากขึ้น เพราะเขากลัวว่าถ้าเกิดปัญหาน้ำท่วมอีกในอนาคต การผลิตของเขาจะมีปัญหาอีกเช่นในปีนี้

ธุรกิจเช่นพวกผู้ค้าปลีก ความเสียหายจากทรัพย์สินมีไม่มาก เพราะเป็นแค่ร้านค้า หรือศูนย์กระจายสินค้าที่อยู่ในเขตน้ำท่วมหนัก เครื่องมือหรืออุปกรณ์มักมีราคาไม่สูง และมีประกันภัย ส่วนของธุรกิจ ความเสียหายส่วนใหญ่ มาจากยอดขายที่หายไปจากการปิดสาขาที่อยู่ในเขตน้ำท่วมหนัก เมื่อคิดเป็นเปอร์เซ็นต์ของยอดขายรวมแล้ว ก็ยังไม่มากนัก ความเสียหายอีกส่วนหนึ่งน่าจะมาจากการที่สินค้าขาด เพราะระบบจัดส่งสินค้าขัดข้อง เนื่องจากศูนย์กระจายสินค้าถูกน้ำท่วม แต่ยอดขายที่ลดลง จะเป็นเรื่องระยะสั้น เมื่อน้ำลดหรือระบบกระจายสินค้าทั้งที่เป็นศูนย์ชั่วคราวหรือศูนย์เดิมทำงาน ได้แล้ว ยอดขายก็จะกลับมาเป็นปกติ ผลกระทบระยะยาวมีน้อยมาก

สุดท้ายก็คือ บริษัทที่เกี่ยวกับการฟื้นฟูบ้าน หรือสิ่งก่อสร้างหลังน้ำลด รวมถึงผู้ขายวัสดุและผู้รับเหมาก่อสร้าง บริษัทเหล่านี้ส่วนใหญ่มักจะไม่ใคร่ถูกกระทบด้านทรัพย์สินที่เสียหายจากน้ำ ท่วมใหญ่ ด้านธุรกิจช่วงน้ำกำลังท่วม บริษัทอาจจะมียอดขายที่ลดลงบ้าง เพราะปัญหาการคมนาคม ตัวลูกค้า และคนงานที่อาจจะพะวงอยู่กับปัญหาน้ำท่วม แต่หลังจากน้ำลดลงแล้ว ธุรกิจก็จะเฟื่องฟูมากจน "ทำไม่ทัน" และมากกว่ายอดขายที่เสียไป ยอดขายหรือธุรกิจที่ดีขึ้น น่าจะดำรงอยู่อย่างน้อย 1-2 ปีขึ้นไป และต้องถือว่า นี่คือกลุ่มที่ได้ประโยชน์จากน้ำท่วมใหญ่ ขณะที่กลุ่มอื่น โดยรวมแล้วมักจะเสียหาย หรือขาดทุนหรืออย่างมากก็เสมอตัวในเหตุการณ์วิกฤติน้ำท่วมใหญ่ครั้งนี้

แหล่งที่มา กรุงเทพธุรกิจ โดย ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวราก

อยากให้อ่านเรื่องนี้ด้วยครับ



ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

girdpol
Location :


[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 15 คน [?]




Friends' blogs
[Add girdpol's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.