All the girls standing in the line for the bathroom !!!

*** หมายเหตุ : สงวนลิขสิทธิ์ บทความและผลงาน ใน Blog นี้ครับ ***
Group Blog
 
 
ธันวาคม 2561
 1
2345678
9101112131415
16171819202122
23242526272829
3031 
 
9 ธันวาคม 2561
 
All Blogs
 
หรือสงครามการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกากับจีน เริ่มพัฒนาเป็นสงครามเย็น เพื่อครอบครองอำนาจในยุค 5G ?



หลังจากข่าวการจับกุมตัว เมิ่ง ว่านโจว (Meng Wanzhou) CFO ของ Huawei (ที่เป็นลูกสาวของผู้ก่อตั้ง Huawei) โดยรัฐบาลสหรัฐอเมริกาที่สนามบินของแคนาดาเมื่อวันที่ 1 ธันวาคม ที่ผ่านมา ด้วยข้อหาที่คลุมเครือว่า Huawei ละเมิดข้อตกลงคว่ำบาตรอิหร่าน (ที่ไม่น่าจะเป็นการทำผิดกฎหมายข้อใด)

สงครามการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกาและจีน ก็ดูเหมือนจะกลายมาเป็นสงครามเย็นยุคใหม่ไปแล้ว





สงครามเย็นคือการต่อสู้กันระหว่างสองอุมการณ์ทางการเมืองที่ต่างกันระหว่าง “ฝ่ายเสรีประชาธิปไตย” นำโดย สหรัฐอเมริกา และ “ฝ่ายคอมมิวนิสต์” นำโดย สหภาพโซเวียต ซึ่งสงครามเย็นเริ่มตั้งแต่จบสงครามโลกครั้งที่สองช่วงปี 1945 และได้จบลงไปแล้วตั้งแต่ปี 1991








- แล้วทำไมสงครามการค้าถึงจะกลายมาเป็นสงครามเย็นยุคใหม่ ?



ต้องพิจารณากันก่อนว่า สงครามเย็นมีจุดเด่นส่วนหนึ่งก็คือ มันเป็นสงครามที่ไม่มีการรบพุ่งกันโดยตรงระหว่างสองขั้วอำนาจ แต่เป็น “สงครามตัวแทน” ที่เกิดขึ้นในประเทศอื่น เช่น สงครามเกาหลี (สหรัฐอเมริกาสนับสนุนเกาหลีใต้, สหภาพโซเวียตสนันสนุนเกาหลีเหนือ) สงครามเวียดนาม (สหรัฐอเมริกาสนับสนุนเวียดนามใต้, สหภาพโซเวียตสนันสนุนเวียดนามเหนือ) และนอกจากนี้ ยังมีการจารกรรมข้อมูล แข่งขันด้านเทคโนโลยีทางทหารเพื่อคานอำนาจกันไปมา


สงครามการค้าครั้งนี้ไม่ได้มีแค่การกีดกันทางการค้า แต่เป็นการทำสงครามระหว่างสองขั้วมหาอำนาจที่ต่างอุดมการณ์กันเหมือนเดิม และยังมีการใช้รูปแบบสงครามตัวแทนเหมือนเดิม แต่เป็นการใช้ “บริษัท” เป็นตัวแทนในการทำสงครามแทนการใช้ “ประเทศ”


ซึ่งสหรัฐอเมริกาพยายามจะใช้นโยบาย American First เพื่อหนุนเศรษฐกิจในประเทษตัวเอง (แต่คนในชาติก็ต่อต้านเพียบ) ส่วนจีนก็มีนโยบาย Made in China 2025 เพื่อพัฒนาอุตสาหกรรม 4.0 ซึ่งทั้ง 2 นโยบายนี้ต่างก็เป็นการต่อสู้กันผ่านบริษัทเอกชน โดยมีสนามการค้าเป็นสมรภูมิ



นอกจากนี้ยังมีความคล้ายคลึงกันในรูปแบบ เช่น ยังมีการพัฒนาเทคโนโลยีมาใช้ข่มขู่ถ่วงดุลย์กันเหมือนเดิม แต่แทนที่จะแข่งกันสร้าง “อาวุธ” เปลี่ยนมาเป็นการแข่งกันสร้าง “เทคโนโลยี” และแทนที่จะแข่งกันว่า “ใครจะเร็วกว่ากันในการไปสู่อวกาศ” แต่แข่งกันที่ “การพัฒนาความเร็วในการส่งข้อมูล” แทน








- แล้วทำไมต้อง 5G ?



ขอท้าวความให้เห็นก่อนว่า 5G คืออะไร และสำคัญอย่างไร
หลายคนคงรู้จักละคุ้นเคยกับคำว่า Internet of Things กันบ้างแล้ว เมื่อเครื่องมือเครื่องจักรสามารถเชื่อมต่อกันได้, รถยนต์ไร้คนขับสามารถสื่อสารกันได้, บ้านอัจฉริยะที่เชื่อมโยงข้อมูลของเครื่องใช้ไฟฟ้าและระบบต่างๆภายในบ้านกันทั้งหมด, โรงงานที่ใช้เครื่องจักรที่สื่อสารและทำงานประสานกันเองได้ (ในชื่อที่คุ้นหูว่า Industrial 4.0)


สิ่งเหล่านี้จะเกิดขึ้นได้ต้องมีการรับส่งข้อมูลจำนวนมหาศาลที่รวดเร็ว เพราะทุกอย่างจะถูกเชื่อมถึงกันหมด, ค่า Latency (ระยะเวลาที่ใช้ส่งข้อมูลจากอุปกรณ์ไปยังเซิร์ฟเวอร์ปลายทาง หน่วยเป็น millisecond ) ต้องมีค่าน้อยมาก เพื่อความรวดเร็วและทันท่วงที (ลองคิดถึงรถยนต์ขับเคลื่อนอัตโนมัติต้องสั่งเบรคกะทันหัน มันต้องการการประมวลข้อมูลที่มีขนาดใหญ่ เพื่อประมวลผลและสั่งการ และมันต้องตอบสนองได้เร็วในระดับ millisecond ถึงจะเบรคได้ทันก่อนเกิดอุบัติเหตุ)

ซึ่งเทคโนโลยี 4G ยังไม่สามารถทำให้ความต้องการในการเกิด Internet of Things มีประสิทธิภาพเพียงพอ แต่ 5G สามารถทำได้ ด้วยความเร็วในการส่งข้อมูลสูงขึ้นและ Latency ที่มากกว่า 4G แบบเดิมถึง 10 เท่า








- แล้วอะไรจะเกิดขึ้นเมื่อ 5G เกิดขึ้น ?



ลองนึกถึงช่วงเปลี่ยนผ่านระหว่าง 3G (3G เริ่มในปี 2001) มาเป็น 4G (4G เริ่มในปี 2010) มันคือช่วงเปลี่ยนผ่านที่ส่งผลกระทบใหญ่หลวงต่อผู้คนในโลก เช่น การซื้อขาย Online, การดู TV และ Video ผ่าน Internet, รูปแบบการทำงานและการใช้ชีวิตของผู้คนที่เปลี่ยนไป (ขนาดการรวมตัวกันประท้วงรัฐบาลของหลายประเทศยังนัดกันผ่าน social media ที่เป็นเรื่องปกติเข้าถึงทุกคนในยุค 4G)


มองในแง่ธุรกิจ หลายบริษัทที่เคยยิ่งใหญ่ในยุค 3G อย่าง Nokia, Motorola ล้มเหลวถึงขึ้นปิดตัวไปช่วงหนึ่งเพราะปรับตัวไม่ทัน

คนที่เตรียมตัวดีกว่าและเข้ากับ 4G ได้ดีอย่าง Apple และ Samsung จึงขยับขึ้นมาเป็นเจ้าตลาด



ดังนั้นการมาถึง 5G ในปี 2020 ก็เหมือนจะเป็นการล้างไพ่เพื่อเล่นเกมใหม่อีกรอบ โดยบริษัทที่มาแรง 5 อันดับแรกในธุรกิจ 5G ที่กำลังจะมาถึงได้แก่ Huawei, Ericson, Nokia, ZTE และ Samsung (ข้อมูลจาก Forbes, April 2018) ซึ่งจะเห็นว่าใน 5 บริษัทนี้ มีบริษัทของจีนอยู่ 2 บริษัท นั่นก็คือ Huawei และ ZTE ขณะที่บริษัทของสหรัฐอเมริกา อยู่ในลำดับถัดๆไปได้แก่ Qualcomm, Verizon และ Intel



ถ้าตามข่าวมาบ้างเราจะพบว่าตั้งแต่ช่วงต้นปี 2018 ทางสหรัฐอเมริกาและประเทศพันธมิตรอย่าง นิวซีแลนด์ และออสเตรเลียประกาศแบน Huawei และ ZTE ด้วยข้อกล่าวหาว่า “อุปกรณ์ของทั้ง 2 บริษัทแอบติดตั้งอุปกรณ์การสอดแนมข้อมูลเอาไว้ ซึ่งเป็นภัยต่อความมั่นคง”

เป็นไปได้อยู่เหมือนกันว่าอาจจะเป็นเรื่องจริง และถึงไม่ใช่เรื่องจริง ก็ปฎิเสธไม่ได้ว่านี่คือการกีดกันทางการค้า เป็นการเตะสกัดสินค้าจากจีนในอีกหนึ่งช่องทาง



แต่จะว่าไปแล้ว อันที่จริงจีนเองก็แบน Google, Facebook, Amazon, Youtube และ website อื่นๆอีกมากมายจากต่างประเทศมานานแล้ว ซึ่งมีข้อดีก็คือทำให้จีนมีโอกาสพัฒนา social media ของตัวเองอย่าง Baidu (Google เวอร์ชั่นจีน), Weibo (Twitter ผสม Facebook เวอร์ชั่นจีน) รวมถึง Alibaba (Amazon เวอร์ชั่นจีน) เพราะประชากรในจีนที่เป็นฐานลูกค้าจำนวน 1,400 ล้านคน ก็คิดเป็น 19% ของคนทั้งโลกแล้ว ซึ่งใหญ่พอจะทำให้เกิดรายได้ซึ่งจะเป็นเงินทุนในการพัฒนาได้


การรับจ้างผลิตและเรียนรู้เทคโนโลยีจากต่างชาติ รวมถึงการแบน website ต่างๆ เป็นหนึ่งในวิธีที่ทำให้จีนพัฒนาอย่างก้าวกระโดดในเรื่องของเทคโนโลยีที่เป็นอาวุธสำคัญของโลกเศรษฐกิจในอนาคต ซึ่งกว่าสหรัฐอเมริกาจะตามมาสกัดกั้นก็ช้าไปแล้ว





จากข้อมูลทั้งหมด ผมเลยตั้งข้อสังเกตไว้ว่า สงครามการค้าที่เริ่มกลายมาเป็นสงครามเย็นระหว่าง 2 ขั้วมหาอำนาจอย่างสหรัฐอเมริกาและจีน เพื่อชิงความเป็นมหาอำนาจของโลกนั้น ต่างก็เป็นการปูทางในการแย่งกันเป็นมหาอำนาจของโลกในยุคถัดไปที่ 5G จะมีบทบาทสำคัญในการเปลี่ยนแปลงโลก








- แล้วมันยังเป็นสงครามเพื่ออุดมการณ์เหมือนสงครามเย็นหรือไม่ ?



อันที่จริงจะว่าไปแล้ว ต้องยอมรับว่าสงครามเย็นอาจไม่ใช่เรื่องของอุดมการณ์ทางการเมืองเพียงอย่างเดียว มันย่อมมีเรื่องผลประโยชน์เข้ามาเกี่ยวข้องด้วยเสมอ

กับสงครามการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกากับจีนในครั้งนี้ก็เช่นกัน มันก็ไม่ใช่เรื่องเศรษฐกิจเพียงอย่างเดียว มันมีเรื่องการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้องด้วยแน่นอน และมันไม่ใช่การเมืองโลก แต่มันคือการเมืองในบ้านเกิดต่างหาก



สำหรับสหรัฐอเมริกาที่มีการเลือกตั้งประธานาธิบดีทุก 4 ปี และมีการเลือกตั้งกลางเทอมที่เสียงข้างมากในสภาอาจเปลี่ยนขั้วได้นั้น โดนัลด์ ทรัมป์ (Donald Trump) ที่ได้รับเลือกตั้งเข้ามาส่วนหนึ่งเพราะนโยบาย American First ต้องทำให้ผู้ที่เลือกเขาเข้ามาเห็นว่าเขาทำได้ตามที่พูดจริง และสิ่งที่ทรัมป์ต้องทำก็คือ การทำให้เศรษฐกิจของประเทศที่ขาดดุลมาตลอดเปลี่ยนไปในทางที่ดีขึ้น และในฐานะนักธุรกิจที่มองตัวเลขเป็นการชี้วัดความสำเร็จที่จับต้องได้ การประกาศสงครามการค้ากับจีน คือหนึ่งในยุทธวิธีที่ทำให้ตัวเลขทางเศรษฐกิจดีขึ้น ทั้งเรื่องลดการขาดดุลการค้า และเรื่อง GDP ที่โตขึ้น



ส่วนหนึ่งของการออกนโยบายนี้เป็นหนึ่งในวิธีสร้างผลงานให้เขาได้อำนาจในการบริหารประเทศต่อไป








- แล้วสำหรับจีนที่ออกกฏใหม่ว่า "ประธานาธิบดีสามารถดำรงตำแหน่งได้ตลอดชีพจากเดิมที่สามารถดำรงตำแหน่งได้แค่ 2 สมัย" แล้วผู้นำจากพรรคคอมมิวนิสต์อย่าง สี จิ้นผิง (Xi Jinping) จะกลัวอะไร ?



ถึงจีนจะปกครองด้วยระบอบบคอมมิวนิสต์มาช้านาน มีระบบจัดการที่เข้มงวด แต่การที่ต้องควบคุมประชากรกว่า 1,400 ล้านคนให้สงบไม่ใช่เรื่องง่าย


จากย่อหน้าข้างต้นที่ผมพูดว่าจีนอาศัยประโยชน์จากการแบน social media จากต่างชาติเอื้อให้จีนสามารถพัฒนา social media จนแข่งขันได้ในที่สุดนั้น อันที่จริงมีอีกเหตุผลหนึ่งที่สำคัญก็คือ “รัฐบาลจีนต้องการปิดกั้นการรวมกลุ่มกันใน social media ของต่างชาติที่รัฐบาลจีนแทรกแซงไม่ได้”


เพราะถ้ายังจำได้ เหตุการณ์ “อาหรับสปริง” ที่เริ่มต้นในช่วงปลายปี 2010 (ยุค 4G เริ่มต้นพอดี) ที่เป็นการลุกฮือขึ้นมาประท้วงรัฐบาลในกลุ่มประเทศอาหรับนั้น เครื่องมือสำคัญที่กลุ่มผู้ประท้วงใช้ติดต่อสื่อสาร ระดมกำลังกันก็คือ social media นั่นเอง


ถึงรัฐบาลจีนจะมีอำนาจเด็ดขาด แต่ถ้าหากมีผู้ประท้วงรวมตัวกันสำเร็จผ่าน social media ที่ตรวจสอบและแทรกแซงได้ยากของต่างชาติแล้วล่ะก็ มันจะกลายเป็นปัญหาใหญ่ที่ต้องจัดการทันที ด้วยประชากรกว่า 1,400 ล้านคน ถ้าคนแค่ 1% ของประเทศ (ก็ 14 ล้านคนเข้าไปแล้ว) รวมตัวกันเคลื่อนไหวต่อต้านรัฐบาล คงไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะจัดการแน่ๆ

รัฐบาลจีนจึงต้องมีเทคโนโลยีที่ตัวเองควบคุมได้ในมือเพื่อรับมือปัญหานี้



แต่ที่สำคัญที่สุดที่ผู้ปกครองไม่ว่ารัฐบาลไหนรู้ดีก็คือ คนที่ปกครองง่ายคือคนที่อยู่สุขสบายและมีเงินพอใช้ไม่ยากจน ส่วนคนที่จะลุกขึ้นประท้วงคือคนที่เดือดร้อนไม่มีความสุขและขัดสน

รัฐบาลคอมมิวนิสต์จีนจึงต้องการทำให้เศรษฐกิจในชาติดี ผู้คนเดือดร้อนและยากจนมีน้อยที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ (ซึ่งจะว่าไปก็เป็นเรื่อง win-win ของทั้งรัฐบาลและประชาชนอยู่แล้ว)


และด้วยวิสัยทัศน์ของรัฐบาลจีน พวกเขาพบว่าโลกกำลังจะมุ่งหน้าไปในทิศทางใด พวกเขารู้ว่า 5G และเทคโนโลยีการสื่อสารคือกลุ่มที่มีบทบาทสำคัญในโลกอนาคตอันใกล้ และนี่เองที่เรื่องนี้ถูกรวมอยู่ในนโยบาย Made in China 2025








- สรุปแล้ว สงครามการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกาและจีน กำลังจะยกระดับไปสู่สงครามตัวแทนโดยใช้บริษัทเอกชนเป็นคู่สงคราม (คล้ายกับสงครามตัวแทนในยุคสงครามเย็นที่ใช้ประเทศอื่นเป็นคู่สงคราม)

โดยเป้าหมายเพื่อครอบครองพื้นที่ทางเศรษฐกิจและความมั่งคั่งทางการเงิน ซึ่งสมรภูมิที่สำคัญก็คือการแย่งชิงพื้นที่เทคโนโลยีการสื่อสารในยุค 5G ที่จะมีบทบาทมากขึ้นในแทบทุกอุตสาหกรรมในอนาคต



แต่ท้ายที่สุดแล้วมันอาจเป็นแค่เกมการเมืองเพื่ออำนาจในประเทศของตนเองก็เท่านั้น



Create Date : 09 ธันวาคม 2561
Last Update : 9 ธันวาคม 2561 13:36:23 น. 0 comments
Counter : 652 Pageviews.

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

navagan
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 73 คน [?]




นวกานต์ ราชานาค
Navagan Rachanark


สนใจใน ภาพยนตร์, การวิเคราะห์-วิจารณ์ ภาพยนตร์,ดนตรี, งานเขียน และ ศิลปะอื่นๆ

สร้างสรรค์ผลงานภาพยนตร์ทดลอง และ งานดนตรีทดลอง และ งานเขียน


ปัจจุบันทำงานด้านการตลาด การวิจัยและพัฒนายางสังเคราะห์และยางธรรมชาติ

เริ่มจัดเก็บข้อมูลสถิติการเข้าชม

Time 09:00 Date 31/01/2010

by Histats.com

blogger web statistics

ถูกใจบทความ หรืออยากสนับสนุนเจ้าของ Blog

ก็ช่วย click ที่ Link โฆษณาครับ

ขอบคุณครับ

Friends' blogs
[Add navagan's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.