“ในฐานะนักทำหนังคนหนึ่ง ผมปฏิบัติกับหนังของผมประดุจลูกชายและลูกสาว เมื่อผมให้กำเนิดเขา พวกเขาก็มีชีวิตเป็นของตนเอง ผมไม่ใส่ใจว่าผู้คนจะรักหรือเกลียดลูกของผม ตราบใดที่ผมสร้างเขาขึ้นมาด้วยความตั้งใจและความพยายามอย่างสูงสุด ถ้าลูกๆ ของผมไม่สามารถอาศัยอยู่ในประเทศของเขาเองไม่ว่าจะด้วยเหตุผลอันใดก็ตาม ก็ปล่อยเขาเป็นอิสระเถิด เพราะมันยังมีพื้นที่อื่นๆ ที่ต้อนรับเขาอย่างอบอุ่นในแบบอย่างที่เขาเป็น มันไม่มีเหตุผลเลยที่ต้องทำให้พวกเขาพิกลพิการจากระบบแห่งความกลัวหรือความละโมบ มิฉะนั้นแล้วมันก็ไม่มีเหตุผลอันใดที่คนสักคนหนึ่งจะสร้างงานศิลปะต่อไป”
-- อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล
(คำปรารภหลังจาก "แสงศตวรรษ" ผลงานภาพยนตร์จากผู้กำกับคนไทย พูดภาษาไทย ใช้ดาราคนไทย ถูกกองเซนเซ่อประเทศไทยบังคับให้ตัดฉากสำคัญ 4 ฉากออกหากต้องการฉายในโรงภาพยนตร์ของประเทศไทย)




“ผมคิดว่าพระกลุ่มนี้โดนจี้จุดจึงร้อนตัวเกินไป หรือเป็นพวกอยากดัง จึงต้องทำตัวเป็นข่าว อยากถามว่าทำไมไม่ไปเรียกร้องหรือแก้ปัญหาพระที่ออกมาแก้ผ้า มั่วสีกา หรือใช้มีดกรีดร่างกาย หลอกลวงประชาชน ทั้งนี้หากจะฟ้องก็ยินดีให้ฟ้องได้ทุกศาล หรือว่าจะไปฟ้องจตุคาม ศาลเจ้าแม่กวนอิม พระอินทร์ พระอิศวร ก็เชิญ ผมไม่สนใจ แต่เห็นว่าพระกลุ่มนี้ไม่เหมาะสมในสมณะ และเป็นพระหน้าเดิมที่ออกมาเดินขบวนเรียกร้องการบรรจุพระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติ”
-- ถวัลย์ ดัชนี
(คำตอบโต้ภายหลังกลุ่มพระสงฆ์ที่ชุมนุมประท้วง ขู่ฟ้องคดีอาญาต่ออธิการบดีมหาวิทยาลัยศิลปากร นายอนุพงษ์ผู้วาดภาพภิกษุสันดานกาและหมานุษย์ และคณะกรรมการที่ตัดสินรางวัลศิลปกรรมแห่งชาติ ในข้อหาหมิ่นศาสนา)
Group Blog
 
<<
กันยายน 2550
 1
2345678
9101112131415
16171819202122
23242526272829
30 
 
2 กันยายน 2550
 
All Blogs
 
รวม Review ภาพยนตร์ขนาดยาวประจำเดือน สิงหาคม 2550 (1)


Little Children
(สหรัฐอเมริกา, Todd Field, 2006, A)


ด้วยความที่ยังไม่เคยดูทั้ง American Beauty และ In the Bedroom ที่คนส่วนใหญ่ที่ดูแล้วมักจะเอามาเทียบกับ Little Children อาจจะทำให้ความรู้สึกของผมตอนดูเรื่องนี้ค่อนข้าง "สด" พอสมควร (แม้ว่าเรื่องชู้ๆ ผิดศีลธรรม จะไม่ได้ใหม่อะไรมากมายก็ตามที) โดยเฉพาะการตั้งข้อสังเกตและให้เหตุผลถึงการมีคนใหม่ของตัวละครในหนังโดยเอาไปเทียบกับ "มาดามโบวารี่" ทำให้หนังเรื่องนี้มีกลิ่นเฟมินิสต์ล่องลอยอยู่มากพอสมควร

Kate Winslet คือหนึ่งในคุณูปการต่อหนังเรื่องนี้ นอกจากความกล้าเล่นของเธอ(ที่มีมานานแล้ว) และการแสดงขั้นเทพของเธอ แต่อีกประการที่จะลืมไม่ได้เลยคือเธอเป็นคนเสนอชื่อ Jackie Earle Haley ให้ผู้กำกับ Todd Field เพื่อให้เขาได้รับโอกาสสำคัญมาแคสต์บทรอนนี่ และเขาก็ได้บท เขาแสดงได้ในระดับเหนือเทพและเข้าชิงรางวัลออสการ์ ก่อนที่จะแพ้ Alan Arkin จาก Little Miss Sunshine ไปอย่างเปี่ยมข้อกังขา (ถ้าผมเป็นกรรมการ ผมว่าการแสดงของสองคนที่เอามาเทียบกันนั้น น่าจะสลับรางวัลกันเป็นที่สุด!) ด้วยพลังการแสดงของเขา ทำให้ตัวละครรอนนี่เป็นตัวละครที่คนดูจะรู้สึกเสียวสันหลังและหวาดกลัวเพียงในแวบแรกที่เห็น แต่เมื่อเวลาผ่านไปเขาคือตัวละครที่น่าสงสารและน่าเวทนา ไม่ต่างกับ "ไอ้ฟัก" ใน คำพิพากษา

จุดที่น่าเสียดายมากที่สุดของ Little Children ที่ส่งผลต่อระดับความชอบพอสมควรก็คือช่วงท้ายของเรื่องที่ซอฟต์ลง และใจดีจนน่าใจหาย ทั้งๆที่สปีดคงที่มาตลอดค่อนเรื่อง เหมือนกับสะดุดขาตัวเองก่อนเข้าเส้นชัยยังไงยังงั้น (ทำให้อยากดู In the Bedroom ที่เขาว่ากันว่าตอนจบโหดร้ายได้ใจเป็นที่สุด) แต่อย่างไรก็ตาม ผู้กำกับที่ชื่อ Todd Field ก็ถือว่าน่าจับตามอง



Scoop
(สหราชอาณาจักร+สหรัฐอเมริกา, Woody Allen, 2006, B+)


หลังจาก Match Point กู้ชื่อของ Woody Allen กลับมาในสายตานักวิจารณ์ ภาพยนตร์เรื่องต่อมาเขาก็ยังเลือกใช้บริการ Scarlett Johansson เช่นเดิม เพียงแต่คราวนี้ Scoop กลับออกมาไม่ดีนัก (จริงๆแล้ว Scoop ฉายก่อน Match Point แต่เข้าไทยทีหลัง) ผลงานโดยรวมอยู่ในระดับกลางๆ เท่านั้นเอง

หนังเลี้ยงตัวเองด้วยเสน่ห์ของสการ์เล็ตต์ (ที่มีไม่มากเท่า Lost in Translation และ Match Point) และมุขตลกแบบอังกฤษที่วู้ดดี้ อัลเลน ขนมาประเคนผู้ชมแบบแทบหมดบ้าน ผลของมันคือทำให้ผมพอจะขำขำ (Chuckles) เป็นระยะๆ ได้ตลอดจนจบเรื่อง แต่ก็เหมือนดาบสองคม เพราะการเล่าเรื่องแบบนี้ทำให้ผมรำคาญวู้ดดี้ อัลเลนเหลือเกิน Hugh Jackman ก็แสดงได้แข็ง ดูไม่มีมาดผู้ดี (ต่างกับการแสดงใน The Fountain ที่เล่นดีเหลือเชื่อ)

จุดที่ทำให้หนังไม่โดนอีกอย่างคือตอนจบที่เล่นง่ายและ cliche เหลือเกิน...



วิดีโอคลิป aka Video Clip
(ไทย, ภาคภูมิ วงษ์จินดา, 2550, C)


ภาพยนตร์เรื่องนี้คือตัวอย่างชิ้นโบแดงที่ประจักษ์แจ้งแก่สายตาผู้ที่ "หลง" เข้าไปดูว่า การเอาพล็อตหนังดีดีหนึ่งชิ้นมาขยายความเป็นหนังใหญ่ กลับทำให้ออกมาเป็นหนังที่เข้าขั้นห่วยแตกทุเรศทุรังได้อย่างไร

ประการแรกที่สำคัญมากก็คือ ความดีใจเกินเหตุของฝ่ายบาแรมยูและสหมงคลฟิล์ม ที่เหมือนกับพยายามรีบเข็นโปรเจ็คต์นี้ออกมาให้เป็นหนังให้เร็วที่สุด ตีเหล็กต้องตีตอนกำลังร้อน รางวัลได้มาต้องรีบทำหนังไม่งั้นเดี๋ยวกระแสจะซาลง ทำให้ผลงานออกมาสุกๆดิบๆ เหมือนคนไม่ตั้งใจทำ สักแต่ทำเพื่อให้มีของขาย

สืบเนื่องจากประการแรก เมื่อคนมันรีบมันเร่งมันไม่ตั้งใจทำ งานย่อมออกมากะหลั่ว สิ่งที่จะเห็นได้ชัดเจนคือตัวบทภาพยนตร์ (ไม่ใช่ "พล็อต") ที่งี่เง่า ไร้เหตุผล ไม่มีที่มาที่ไป จะยกตัวอย่างชัดๆคือฉากที่ต้าร์บาร์บี้ต้องใส่เสื้อกันฝนสีแดงไปตากฝนตามกฎของตัวร้ายลึกลับ แต่อยากจะถามว่าแล้วไอ้ตัวร้ายมึงเป็นพระพิรุณหรือไงถึงจะรู้ว่าฝนจะตกตอนนั้นเวลานั้นพอดี?? ไม่มีตัวร้ายประเทศไหนวางแผนกับดินฟ้าอากาศที่ตัวเองเขาควบคุมไม่ได้หรอกครับ

ประการที่สอง เมื่อจะขายของในระยะเวลาอันสั้น การยัดทุกสิ่งทุกอย่างที่สามารถปะหน้าแล้วขายได้ก็ย่อมมีผล ดังนั้น วิดีโอคลิป จึงพยายามประเคนทั้งภาพเซ็กส์เว็บแคม คลิปหลุด รวมไปถึงการให้ปีใหม่มาเต้นโคโยตี้และเล่นเลิฟซีน สิริรวมใช้เวลาทั้งหมดสองนาทีถ้วนบนจอภาพยนตร์

ประการที่สามคือการแสดงขั้นต่ำของนักแสดงตัวหลัก ทั้งพระเอกอย่างต้าร์บาร์บี้ที่เล่นราวกับสากกะเบือแช่ช่องฟรีซ นางเอกใหม่น้ำหวานที่ควรจะอยู่เฉยๆ เพราะเมื่อพูดอะไรออกมาซักคำ เธอจะดู immature มากๆ โดยเฉพาะฉากที่เธอเพิ่งจะรอดพ้นจากการถูกข่มขืน แต่หน้าตาเธอยังกับเพิ่งดูหนังเสร็จแล้วแฟนพามาส่งบ้าน(ไม่เข้าใจว่าผู้กำกับปล่อยให้ผ่านมาได้ยังไง) และดีเจโป้งที่แม้จะดูกวนตีนและพลิ้วเมื่อออกวิทยุ แต่เมื่อต้องทำท่าทีค่อนข้างจริงจังก็ทำได้ไม่ดีเท่าที่ควร ยิ่งเมื่อไดอะล็อกต้องการเสียดสีสังคมในหลายๆจุด และพยายามยัดคำพูดเสียดสีให้ตัวละครเจ้าพ่อค้ายาที่ดีเจโป้งเล่นเป็นคนพูด ทำให้คำเสียดสีเหล่านั้นดูธรรมดามาก (ทั้งที่ปกติไม่ค่อยจะมีหนังเรื่องไหนกล้าเสียดสี "คดีห้างทอง" ซักเท่าไหร่)

ด่าไปเยอะแล้ว ที่ต้องชมมีอย่างเดียวคือการถ่ายภาพ ชอบการถ่ายวิวของกรุงเทพผ่านรถไฟฟ้า รวมไปถึงฉากที่ไอ้โรคจิตเข้ามาจับนางเอก ที่ถ่ายผ่านประตูลิฟต์เป็นชั้นๆ ถือว่าทำได้ดี (ประตูลิฟต์ที่ไหนเป็นช่องๆแบบนี้มั่งนะ ไม่เคยเห็นแฮะ)



Hairspray
(สหรัฐอเมริกา, Adam Shankman, 2007, A)


หนังเพลงคือ genre หนึ่งที่ค่อนข้างได้เปรียบ เพราะไม่ต้องเป็นหนังที่สมบูรณ์แบบมากมาย แต่ก็เรียกคะแนนความชอบจากคนดูได้ล้นหลามหากว่ามีเพลงเพราะเสนาะหู (กรณีศึกษาคือ Dreamgirls ที่เพลงเพราะมาก ในขณะที่เนื้อเรื่องยังขาดๆเกินๆอยู่บ้าง และเจ้าของบล๊อกก็ดูในโรงไปสองรอบ) คล้ายๆกับหนังแนววินาศสันตะโรอย่าง Transformers ที่เน้นการทำลายล้างบ้านเมืองให้ฉิบหายกันไปข้างหนึ่ง

Hairspray รีเมคมาจากหนังเวอร์ชั่น 1988 ของ John Waters และละครบรอดเวย์ที่เปิดการแสดงมานับไม่ถ้วนรอบ เนื้อเรื่องในเมืองบัลติมอร์ช่วงต้นยุค 60s ที่สังคมอเมริกันยังมองการเหยียดผิวเหยียดเชื้อชาติเป็นเรื่องถูกต้อง Tracy Turnblad คือเด็กผู้หญิงตัวอ้วนๆกลมๆคนหนึ่งที่ฝันอยากไปเต้นในรายการสุดฮิตอย่าง The Corny Collins Show

แน่นอนว่ากว่าจะปั้นหนังให้ครบสองชั่วโมง(นิดๆ)ได้นั้น แม่หนูเทรซี่ย่อมไม่ได้รับการยอมรับง่ายๆแน่ เพราะทั้งตัวอ้วนฉุ แถมยังมีความคิดเสรีนิยมผิดกับ norm ของบัลติมอร์ในเวลานั้นอีกต่างหาก (ในยุคที่การสัมผัสถูกเนื้อต้องตัวคนผิวดำแทบเป็นอาชญากรรมข้ามชาติ) แต่สิ่งที่น่าเสียดายคือ Hairspray เวอร์ชั่นนี้ให้ความหลั่นล้าร่าเริงเอนเตอร์เทนกับคนดู แต่ขาดความกลมกล่อมของเนื้อหาอีกด้าน เพราะตัวหนังเอื้อให้สะท้อนสังคม แถมตัวเองก็ทำท่าจะสะท้อนเสียดสีสังคมแต่ก็ไม่ได้ทำอะไรกับประเด็นนั้นมากมายนัก

การแสดงของ Nikki Blonsky และ John Travolta คือส่วนที่ดีที่สุดในบรรดาการแสดงทั้งหมด คนแรกทั้งน่ารักน่าหยิกและเต้นได้พลิ้วขัดกับร่างกายอวบอ้วน ส่วนคนหลังก็เล่นได้แรดเสียจนไม่คิดว่านี่คือคนคนเดียวกับมือปืนใน Pulp Fiction



High Fidelity
(สหราชอาณาจักร+สหรัฐอเมริกา, Stephen Frears, 2000, B+)


มีนักดูหนังหลายคนชอบหนังเรื่องนี้มาก แต่โดยส่วนตัวไม่ได้อะไรกันมันมากเท่าไหร่ คงเพราะว่าไม่ได้เคย "บ้า" อะไรมากขนาดนั้น (รึเปล่าวะ?? 55+) เหมือนกับตัวเอกอย่างร็อบ กอร์ดอน ที่หมกมุ่นกับการจัดอันดับ Top5 ของทุกสิ่งทุกอย่างรอบตัวตั้งแต่ซีดีที่ชอบ ไปจนถึงสาวที่หักอกได้แสบสันต์ที่สุดในชีวิต แล้วพอมาจัดอันดับเรื่องนี้ก็เลยออกตามหาแฟนเก่าทีละคนๆ ซะงั้น! (เพราะว่าแฟนคนล่าสุดก็เพิ่งจะมาบอกเลิกไป เหอๆๆ)

ส่วนตัวชอบการแสดงของ John Cusack, Joan Cusack, Jack Black และ Iben Hjejle ที่เล่นเป็นแฟนคนล่าสุดของพระเอกมาก (น่าแปลกว่าหลังจากนี้เธอแทบไม่ได้รับงานแสดงหนังอีกเลย...) ที่เซอร์ไพรส์มากกว่าคือ Catherine Zeta-Jones เล่นเรื่องนี้ด้วย!!



Frailty
(สหรัฐอเมริกา+เยอรมนี+อิตาลี, Bill Paxton, 2001, A+++++++++++)


Frailty คือหนังที่คุณควรดูโดยที่ไม่ต้องรู้อะไรเกี่ยวกับมันทั้งสิ้น เพราะฉะนั้นผมจะเขียนถึงมันสั้นๆ ว่ามันคือหนังที่จะสร้างความเครียดให้กับคุณได้ทั่วทุกส่วนสรรพางค์กาย และสะพรึงใจแทบทุกอณู กับเรื่องราวของคนที่ต้องปฏิบัติหน้าที่ที่ซาตานมอบให้ "กำจัด" คนบาป ลูกคนหนึ่งคิดว่างมงาย แต่ลูกอีกคนกลับศรัทธาพ่อสุดใจ!!



The Bridge on the River Kwai
(สหราชอาณาจักร+สหรัฐอเมริกา, David Lean, 1957, A)


หนังเล่าเรื่องของสงครามมหาเอเชียบูรพา เมื่อญี่ปุ่นต้องการยาตราทัพไปยังชมพูทวีปผ่านประเทศไทยและพม่า จึงต้องเกณฑ์เชลยศึกเชื้อสายคอเคซอยด์ทั้งหลายทั้งยุโรปและออสเตรเลียมาสร้าง "สะพานข้ามแม่น้ำแคว" โดยระหว่างนั้นหนังก็จะพูดถึงความขัดแย้งระหว่างทหารญี่ปุ่นเจ้าระเบียบวินัย และทหารอังกฤษบ้าศักดิ์ศรี รวมถึงทหารอเมริกันผู้ไม่อยากจมอยู่ในสมรภูมิรบอีกต่อไป และทั้งหมดทั้งมวลนี้คือ "ความไร้สาระของสงคราม"

ในช่วงแรกๆของหนัง ผมรู้สึกเกลียดหนังเรื่องนี้มาก เพราะดูจะวางตัวเป็น "สัมพันธมิตร" จนเกินเหตุ วางภาพทหารญี่ปุ่นให้ดูเป็นผู้ร้ายและไม่ใช่มนุษย์ (ก็สร้างหลังสงครามโลกแค่ 12 ปี แถมร่วมทุนอังกฤษกับอเมริกาอีก) แถมเมื่อคนอเมริกันหรืออังกฤษทำอะไรที่ดูดีขึ้นมาซักอย่าง หนังก็จะบรรเลงดนตรีประกอบแนววิกตอรี่ (นึกถึงเสียงประมาณ "แต่น แตน แตน แต๊นนนน") สะเหร่อๆ ขึ้นมาประกอบทุกครั้งจนรำคาญหู และตัดสินไปแล้วว่ากรรมการออสการ์ยุคนั้นคงต้องการอะไรที่เชิดชูชาติตัวเองมากๆ ถึงได้ประเคนออสการ์ให้หนังเรื่องนี้ไปเสีย 7 ตัว

เมื่อทุกอย่างดำเนินมาจนถึงฉากแอ็คชั่นไคลแมกซ์ทุ่มทุนสร้างในช่วงสิบห้านาทีสุดท้าย ทุกสิ่งทุกอย่างที่ผมเกลียดมากนั้นกลับมาพลิกผันเป็นชอบในช่วงท้ายนี่เอง เพราะเวลาแค่สิบห้านาที หนังกลับสรุปความพินาศย่อยยับและความไร้สาระของสงครามที่ผู้คนต่างชาติต่างฝ่ายมาไล่ฆ่าไล่ประหัตประหารกันอย่างไร้เหตุผล ไม่ว่าจะเพื่อสิ่งที่เห็นด้วยตาอย่างดินแดน หรือสิ่งที่ไม่มีใครสัมผัสได้อย่างศักดิ์ศรีของชาติ ท้ายที่สุดแล้วทุกอย่างก็ฉิบหายวายป่วง ก่อนที่ดนตรีแนววิกตอรี่นั้นจะดังขึ้นมาส่งท้ายภาพยนตร์เรื่องนี้!!!

ช่างเป็นตอนจบที่ irony ได้เจ็บแสบเหลือกินดีแท้...



Ratatouille
(สหรัฐอเมริกา, Brad Bird, 2007, A+)


Ratatouille คือผลงานที่น่ายกย่องและน่ายินดีของพิกซาร์ที่ถีบตัวเองก้าวขึ้นมาอีกขั้น ด้วยเนื้อหาที่เติบโตขึ้นกว่าอนิเมชั่นเรื่องก่อนๆ (โดยเฉพาะเรื่องล่าสุดอย่าง Cars ที่ "เด็ก" พอควร) แม้ว่าจะเล่าเรื่องผ่านตัวละครที่เป็นสัตว์อย่างหนูบ้าน และเรื่องราวที่ไม่น่าเป็นไปได้อย่างหนูบ้านที่อยากเป็นเชฟ!!

ภายใต้เรื่องราวที่ออกแฟนตาซีนี้ แท้จริงแล้วอนิเมชั่นเรื่องนี้กลับแฝงแง่มุมเกี่ยวกับสังคมและชนชั้นเอาไว้อย่างคมคาย หนังพูดถึงการแหวกกรอบทางชนชั้นและโอกาสทางสังคม ถ้าจะเปรียบเทียบชัดๆก็คงเหมือนคนวรรณะจัณฑาลที่อยากจะเชิดหน้าชูตาในสังคมแต่ว่า norm ของสังคมอินเดียมันไม่ยอม ก็เหมือนหนูบ้านที่แน่นอนว่าคงไม่มีอยากให้แม้แต่เฉียดเข้าใกล้ครัว ด้วยความที่หนูบ้านโดยธรรมชาติคือสัตว์ที่คลุกคลีกับขยะ

ระหว่างที่ดู Ratatouille ผมก็เลยไพล่นึกถึงเรื่องราวการดิ้นรนทางชนชั้นของ Dr. Bhimrao Ramji Ambedkar ที่ก้าวข้ามผ่านจากความเป็นวรรณะจัณฑาลภายใต้ค่านิยมฮินดูของอินเดีย มาเป็นอาจารย์ผู้ทรงคุณวุฒิที่ได้รับการยอมรับ (ยกเว้นในบรรดาฮินดูเคร่งศาสนา) ซึ่งเคยเรียนในวิชาพระพุทธศาสนาในบทที่เกี่ยวกับพุทธศาสนิกชนคนสำคัญ เรื่องราวของ ดร.เอ็มเบ็ดการ์ นั้นแทบจะเรียกว่าซ้อนทับกับเรื่องราวของเจ้าหนูเรมี่อยู่มากทีเดียว

เริ่มจากการที่เรมี่อยู่ในฐานะหนูบ้านที่ไม่มีใครยอมรับ ก่อนจะได้รับโอกาสจากลิงกวินี่ให้แสดงฝีมือการทำอาหารชั้นเลิศ หากแต่คนที่ได้เครดิตนั้นคือลิงกวินี่ ส่วนเรมี่ก็ต้องแอบอยู่ในหมวกต่อไป เหมือนกับดร.เอ็มเบ็ดการ์ที่ต้องรับความช่วยเหลือจากอาจารย์ในวรรณะพราหมณ์ที่ยอมรับในตัวเขา ให้ได้รับโอกาสทางการศึกษาจนสำเร็จ หากไม่มีคนที่เห็นคุณค่าของพวกเขาทั้งสอง พวกเขาก็คงเป็นแค่หนูบ้านกินซากขยะ หรือว่าคนวรรณะจัณฑาลที่ไม่มีใครกล้าแม้แต่ชายตามอง ไปจนตาย

ในทางกลับกัน แง่มุมที่เศร้าหม่นที่ Ratatouille นำเสนอในอีกแง่ก็คือ ถึงแม้ว่าคนชนชั้นล่างอย่างเรมี่หรือดร.เอ็มเบ็ดการ์ จะมีความสามารถล้นเหลือและฉลาดจริงก็ตาม แต่นอกจากพวกเขาสองคนแล้ว คนที่อยู่ในสภาพเดียวกันอีกจำนวนมากอาจไม่ได้รับเครดิตความสำเร็จของตัวเองก็เป็นได้ คนบางคนอาจต้องตกอยู่ใต้เงาของคนวรรณะสูงกว่าที่ให้โอกาสเขามาตลอดชีวิต ถ้าสังคมอินเดียเป็นฮินดูที่เคร่งมากไปเสียหมด ดร.เอ็มเบ็ดการ์คงไม่อาจขึ้นมาเป็นผู้มีชื่อเสียงในสังคมอินเดีย หรือถ้าลิงกวินี่ไม่รู้ความสามารถตัวเองในท้ายที่สุด เรมี่ก็คงต้องอยู่ในหมวกต่อไปตลอดชีวิต

เรื่องน่าเศร้าที่เราต้องยอมรับก็คือ ยังมีคนจำนวนมากที่ตัดสินคนเพียงแค่ชาติกำเนิดหรือรูปลักษณ์ภายนอก เหมือนกับชาวฮินดูผู้เคร่งศาสนาและประเพณีเหล่านั้น และคนครัวหลายคนที่ส่ายหน้าเดินออกจากร้านกุสโตว์ไปเมื่อรู้ความจริงว่าเรมี่คือคนทำอาหารทั้งหมดตลอดเวลาที่ผ่านมา...



Casablanca
(สหรัฐอเมริกา, Michael Curtiz, 1942, A-)


ผมเคยอ่านหนังสืออ่านนอกเวลาเรื่อง As Time Goes By ตอนมอสี่หรือมอห้า (ฉบับย่อ) เลยพอจะรู้ความสัมพันธ์ของ Rick, Ilsa, Louis และ Victor มาพอสมควร แต่ว่าเนื้อเรื่องในหนังสือเล่มนี้คือตอนต่อจากภาพยนตร์อมตะเรื่อง Casablanca

เมื่อประมาณปีก่อนผมเองก็เคยดู Casablanca เหมือนกันแต่ว่าเป็นภาพวีซีดีเช่า สมาธิก็หลุดๆ เลยดูไม่รู้เรื่องอะไรเท่าไหร่แค่พอจะจับเนื้อเรื่องได้บ้าง พอคราวนี้ลิโด้เอาฟิล์มเก่ามาฉาย แม้จะไม่มีซับไตเติ้ลแต่ก็คุ้มค่าที่จะเข้าไปนั่งดู (ฝรั่งค่อนโรง และคนดูเต็มโรง น่าชื่นใจ)

อาจเป็นเพราะช่วงเวลาที่ห่างกัน 65 ปี ความรู้สึกร่วมที่ผมมีกับภาพยนตร์เรื่องนี้เลยอาจไม่มากนัก ไม่รู้สึกว่าความรักของริคกับอิลซ่ามันช่างโรแมนติกลึกซึ้งกินใจเป็นรักแท้ การที่คนทั้งคู่จากกันมันช่างเป็นความทรงจำที่เจ็บปวด ก่อนที่จะกลับมาพบกันอีกครั้งที่คาซาบลังก้า แต่ถึงกระนั้นเพลง As Time Goes By และประโยค "We'll always have Paris." ก็กินใจในระดับหนึ่ง

ฉากที่ผมชอบที่สุดกลับกลายเป็นฉาก "ดวลเพลงชาติเยอรมันกับฝรั่งเศส" ในผับของริค...

ปล. ผมรำคาญเสียงพูดของ Humphrey Bogart มากๆ - -*



Doctor Zhivago
(สหรัฐอเมริกา, David Lean, 1965, A+)


หนังเล่าถึงชีวิตของหมอหนุ่มชาวรัสเซียยูริ ชิวาโก้ ตั้งแต่สมัยก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 กับชีวิตครอบครัวที่มีความสุข ก่อนที่จะต้องไปปฏิบัติหน้าที่แพทย์สนามท่ามกลางสมรภูมิรบและการปฏิวัติของสมาชิกพรรคบอลเชวิค และพบรักใหม่กลางสนามรบคือพยาบาลอาสานามว่า ลาร่า

พูดกันตามตรงว่าฟังไม่รู้เรื่องเลย (T_T) แต่กลับรู้สึกชอบหนังเรื่องนี้อย่างประหลาด เหมือนมีออร่าบางอย่างแทรกเข้ามาในตัว (ไม่ได้เวอร์นะ) การแสดงของโอมาร์ ชารีฟ กับ จูลี่ คริสตี้ คุมหนังได้อยู่ และในขณะเดียวกัน เยอรัลดีน แชปลินก็สวยหยาดเยิ้มเสียเหลือเกิน (อิอิ)

จะติอย่างเดียวก็เพราะว่าหนังเกิดในรัสเซีย ตัวละครเป็นรัสเซีย แต่ดันพูดภาษาอังกฤษเนี่ยสิ...



Pride and Prejudice
(ฝรั่งเศส+สหราชอาณาจักร, Joe Wright, 2005, B)


จากบทประพันธ์เลื่องชื่อของเจน ออสเตน อันว่าด้วยความเฟมินิสต์ของหญิงสาวในยุคโบราณของอังกฤษ ยุคที่ผู้ชายยังถือสิทธิในการครองทรัพย์สินแต่เพียงฝ่ายเดียว หรือพูดอีกนัยหนึ่งว่าหากผู้หญิงคนไหนไม่รีบหาผัวให้เป็นตัวเป็นตน ชีวิตนี้ก็จะอยู่แบบไม่มีเงินจนแก่ตาย

ดังนั้นเราจะเห็นครอบครัว Bennett ที่แม่พยายามพรีเซนต์ลูกสาวตัวเองให้กับผู้ชายรวยๆ อย่างออกหน้าออกตาไม่อายฟ้าดิน แต่เมื่อดูสภาพสังคมช่วงนั้นก็ไม่ถือเป็นเรื่องแปลก และนอกจากลูกสาวคนโตสองคนคือ อลิซาเบธ และ เจน เบนนเนตต์ แล้ว ลูกสาวคนที่เหลือของครอบครัวนี้ก็รับเชื้อแม่มาอย่างเต็มที่ คือสอดส่ายสายตามองหาแต่ผู้ชายรวยๆ เท่านั้น

Keira Knightley เรื่องนี้เล่นดีสมกับที่ได้เข้าชิงออสการ์ (และแพ้ Reese Witherspoon จาก Walk the Line) กับบทบาทที่ไม่เฟมินิสต์จนเกินเหตุ และที่สำคัญยิ้มตาหยีได้น่ารักที่สุดในโลก (คะแนนพิศวาสส่วนตัว 55+)

เสียอย่างที่ทำให้คะแนนหนังเรื่องนี้ในใจผมลดฮวบคือผมไม่ค่อยเชื่อว่าพระเอกกับนางเอกมันรักกันจริง หรือมันไปรักกันตั้งแต่เมื่อไหร่เนี่ยสิ....



Planet Terror
(สหรัฐอเมริกา, Robert Rodriguez, 2007, A+++++)


เนื้อเรื่องคร่าวๆก็คือเมืองเมืองหนึ่งเกิดโรคระบาดจากสารเคมี ทำให้ผู้คนกลายเป็นซอมบี้ไล่กินเนื้อคนอื่นๆ ส่วนนางเอกของเรื่องก็ต้องตัดขาเพื่อป้องกันไม่ให้ตัวเองกลายเป็นซอมบี้ ก่อนที่ภายหลังจะกลายเป็น "โคโยตี้แข้งปืนกล" ออกไล่ล่าซอมบี้และพาตัวเองกับพรรคพวกให้รอดพ้นจากเมืองนรกแห่งนี้ไปให้ได้

หากคิดถึงเรื่องบท หนังเรื่องนี้แน่นอนว่าต้องเป็นหนังชั้นเลวเป็นแน่เพราะบทขาดทั้งตรรกะ เหตุผล เพียงแต่ว่าจุดประสงค์ของเรื่องนี้คือความสนุกสนานจากสไตล์การเล่าเรื่อง และการคารวะต่อหนังเกรดบีประเภทเน้นเลือดสาดเพื่อความบ้าคลั่งของผู้ชม มันจึงกลายเป็นหนังที่ดีขึ้นมาทันตาเห็น (เอาง่ายๆ นางเอกถูกเอาปืนกลมาติดที่ขา แล้วทำไมยิงได้ทั้งปืน ทั้งบาซูก้า ไม่เห็นต้องเหนี่ยวไกเลย 555+) ด้วยสไตล์ทั้งการทำฟิล์มให้ขูดขีดเป็นรอย ฉายภาพซ้อน หรือแม้กระทั่งทำฟิล์มไหม้ตอนฉากเลิฟซีนถึงพริกถึงขิงของพระเอกนางเอก! (กวนส้นมาก)

ที่สำคัญที่สุด Rose McGowen ช่างหยาดเยิ้มอะไรอย่างนี้ อิอิ...



Gone with the Wind
(สหรัฐอเมริกา, Victor Fleming, 1939, A+)


ภาพยนตร์อมตะอีกเรื่องของอเมริกาชื่อไทยว่า "วิมานลอย" ยังคงมนต์ขลังเอาไว้ไม่เสื่อมคลายแม้จะมีอายุถึง 68 ปีแล้วก็ตามในขณะที่ผมกำลังพิมพ์อยู่นี้ ไม่น่าเชื่อว่าหนังความยาว 4 ชั่วโมงเรื่องนี้จะตรึงผมได้ขนาดนี้ (แม้ในช่วงแรกๆจะมีวูบๆหลับไปบ้าง เพราะหนังต้องใช้เวลาในการปูเนื้อเรื่องช่วงต้นนานพอสมควร)

นอกจากตัวเนื้อเรื่องที่แทบจะเรียกได้ว่าเป็นต้นตำรับให้เรื่องอื่นมาขโมยไปใช้เกลื่อนกลาดไปหมด แต่ว่าก็ยังดูทันสมัยร่วมสมัยพอสมควร ยิ่งคาแรคเตอร์อมตะอย่าง Scarlett O'Hara ซึ่งเป็นนางเอกที่ "ร้าย" เหลือเกิน บวกกับการแสดงขั้นเทพอวตารของ Vivien Leigh ที่ทำให้บทนี้และการแสดงครั้งนี้ยังคงน่าจดจำ และน่าชื่นชม แม้ว่าเวลาจะผ่านมาเกือบเจ็ดทศวรรษแล้วก็ตามที

ตอนนี้มีดีวีดีเรื่องนี้นอนรออยู่ในกองดองที่บ้าน คาดว่าซักวันว่างๆคงได้หยิบมาดูอีกซักที

ปล. ผมรำคาญเสียง Clark Gable มากๆ อีกคนแล้ว...



Death Proof
(สหรัฐอเมริกา, Quentin Tarantino, 2007, A++++++++)


ภาพยนตร์เรื่องที่สองในโครงการ Grindhouse ที่ถูกจับแยกกับหนังพี่หนังน้องอย่าง Planet Terror เพราะไม่ทำเงินในบ้านเกิดเรื่องนี้มีภาษีดีกว่าเรื่องแรก แม้ว่ามันจะหลุดธีมของความเป็น "หนังเกรดบี" เกินไปหน่อย แต่จุดที่มันหลุดออกมานั้นก็คือความเฉลียวฉลาดของตัวหนัง แม้ว่าเนื้อเรื่องทั้งหมดจะวนเวียนอยู่แค่ฆาตกรโรคจิตและผู้หญิงก๋ากั่นกลุ่มเดียวเท่านั้น

Kurt Russell ตีบทแตกละเอียดกับฆาตกรสตันท์แมนโรคจิตที่ชอบขับรถพาสาวๆไปตายห่า ด้วยความกวนส้นตีนของทั้งตัวบทและการแสดงทำให้ตัวละครตัวนี้ดูดีมาก แต่ในขณะเดียวกันก๊วนสาวๆที่หาญกล้า "สู้ฟัด" กับฆาตกรโรคจิตที่ดันมาหาเรื่องไม่ดูตาม้าตาเรือก็เล่นกันได้สะเด็ดสะเด่าเหลือหลาย ทั้ง Vanessa Ferlito, Zoe Bell(ติดอันดับสตันท์หญิงที่กล้าที่สุดคนหนึ่งจากการเล่นเรื่องนี้) และ Rosario Dawson(ดาราหญิงที่ติดอันดับ หน้าตาไม่ดีแต่มีเสน่ห์เป็นเลิศ ของผม)

นอกจากการแสดง ฉากแอ็คชั่นในหนังเรื่องนี้ก็สุดยอด เพราะเป็นการถ่ายแบบไม่มีซีจี เอารถมาบี้กันเห็นๆเป็นคันๆ โดยเฉพาะฉากรถประสานงาแบบ multi-angle ตอนกลางเรื่องที่เรียกได้ว่าเป็น "ความงดงามท่ามกลางความฉิบหาย" ที่ Quentin Tarantino ช่างคิดช่างสรรค์สร้างเสียจริงๆ กับอีกฉากคือฉากขับรถไล่ล่ากันในตอนท้ายเรื่องที่ดุเด็ดสมกับเป็นเฮียเควนติน

และนี่คือข้อพิสูจน์ว่า Quentin Tarantino คือหนึ่งในผู้กำกับที่เก่งที่สุดในโลกตอนนี้



The Good, the Bad and the Ugly aka Il Buono, il Brutto, il Cattivo
(อิตาลี+สเปน, Sergio Leone, 1966, A)


ผมไม่แน่ใจในประวัติศาสตร์ภาพยนตร์เท่าไหร่ แต่อย่างน้อยผมก็รู้ว่าดนตรีประกอบของ Enrico Corrione ในหนังคาวบอยสปาเก๊ตตี้เรื่องนี้ช่างเป็นอมตะ และติดหูคนดูมา 40 กว่าปี และยังมีคนหยิบยืมบางส่วนของดนตรีประกอบของเขาไปประกอบทั้งละคร ภาพยนตร์ หรือว่ารายการทีวีไม่เว้นแม้แต่ของไทยเอง (ถ้าใครได้ไปนั่งดูจะต้องร้องอ๋อในใจแน่ๆ ตอนที่ดนตรีตอนเปิดเรื่องบรรเลงขึ้น เพราะใช้กันบ่อยมาก)

เรื่องราวของ The Good และ The Ugly สองคาวบอยที่ร่วมมือกันหลอกเอาเงินจากทางการเป็นอาชีพ วันหนึ่งจับพลัดจับผลูออกค้นหาสมบัติมหาศาลในพื้นที่ห่างไกลท่ามกลางสงครามกลางเมืองในอเมริกา และต้องขับเคี่ยวกับ The Bad ผู้พยายามขัดขวางคนทั้งคู่ทุกวิถีทาง ก่อนจะนำไปสู่ฉากคลาสสิกตอนท้ายเมื่อคนทั้งสามต้องประจันหน้ากันเป็นสามเหลี่ยมท่ามกลางไอร้อนของทะเลทรายและป้ายบอกชื่อของสุสาน

อีกฉากที่ชอบมากคือตอนที่ The Ugly กำลังอาบน้ำอยู่ แล้วมีศัตรูถือปืนเข้ามากะจะฆ่าแล้วก็มัวแต่ไล่เรียงสาธยายความชั่วที่ The Ugly เคยทำไว้จนโดนยิงแสกหน้า พร้อมกับคำพูดอมตะของ The Ugly ที่ว่า "You just shoot, shoot, shoot. Don't talk!!"

ส่วนตัวเฉยๆกับเรื่องนี้นะ อาจจะเป็นเพราะว่าผมไม่ค่อยอินกับหนังคาวบอยอะไรแบบนี้ซักเท่าไหร่



All About Lily Chou-Chou aka Riri Shushu no subete
(ญี่ปุ่น, Iwai Shunji, 2001, A+++++++++++++++++)


การดูหนังเรื่องนี้รอบแรกในชีวิต (หลังเขามากๆ มันมาฉายโรงบ้านเราตั้ง 3-4 ปีแล้ว) ทำให้เกิดความรู้สึกแปลกประหลาดหลายอย่างขณะที่นั่งจ้องเรื่องราวอยู่ในโรงภาพยนตร์ House RCA

แม้ว่าจะจับเนื้อเรื่อง เรื่องราว และสารที่หนังต้องการสื่อได้ไม่ครบร้อยเปอร์เซนต์ แต่ระหว่างที่เรื่องราวของยูอิจิ โฮชิโนะ และผองเพื่อนดำเนินไปเรื่อยๆ ผมก็เกิดความรู้สึกเหมือนมีก้อนอะไรถ่วงอยู่ในหน้าอกตลอดเวลา บางคราวชีพจรที่ศอกซ้ายก็เต้นตุบๆขึ้นมาแบบไม่มีสาเหตุ และนี่เป็นภาพยนตร์เรื่องแรกในรอบหลายเดือนมาก ที่ดูรวดเดียวจนจบโดยที่ผมไม่ได้ยกนาฬิกาขึ้นมาดูเวลาเลยแม้แต่ครั้งเดียว

หน้าหนังเหมือนจะเป็นหนังรักวัยรุ่นออกแนว Seasons Change (สำหรับคนที่ไม่ได้อ่านเรื่องย่อมาก่อนอย่างผม) เมื่อเข้าไปดูก็มีแต่เรื่องไม่คาดคิดปรากฏขึ้นเรื่อยๆ ความกดดัน ความเครียด และความหม่นเศร้าที่หนังค่อยๆนำเสนอออกมา มันสร้างความรู้สึกที่ไม่สามารถบรรยายได้ และบรรยากาศหม่นๆที่ตลบอบอวลคละคลุ้งอยู่ตลอดเวลา

ความสัมพันธ์ที่เปลี่ยนไป ค่านิยมสังคมที่ตกต่ำ อินเตอร์เน็ตครองโลก และ "อีเทอร์"

พูดแล้วเดี๋ยวหาว่าเวอร์ แต่นี่คือหนังที่ต้องดูให้ได้ซักสองรอบก่อนตาย!!



Hostel
(สหรัฐอเมริกา, Eli Roth, 2005, C+)


หนังเล่าเรื่องของเพื่อนซี้อเมริกันสามคนที่เดินทางไปยังประเทศสโลวะเกีย เพื่อหาดินแดนอันสงบและด้อยพัฒนา เพื่อที่จะเมาเหล้าเมายาและหาผู้หญิงมาเอาเล่นเย็นๆใจแบบไม่สะเทือนกระเป๋าตังค์ ก่อนที่จะพบว่าแท้จริงแล้วดินแดนแห่งนี้คือดินแดนสุดสยองที่ไม่อาจบรรยายได้ และไม่มีชาวอเมริกันคนใดจะรอดชีวิตออกจากดินแดนแห่งนี้ไปได้แน่นอน

จุดประสงค์ของหนังเรื่องนี้คือการขายความคัลต์และโหด เน้นเลือด อวัยวะภายใน และอาวุธมีคมทั้งหลายในการประหัตประหารชีวิตมนุษย์ แน่นอนว่าหนังทำได้ดีและค่อนข้างแปลกใหม่ เพราะมีแม้แต่ฉากใช้กรรไกรตัดลูกตาคนออกมาเป็นลูกๆ ตัดนิ้วสดๆ เอาไฟเผาหน้ากันจะๆ หากแต่หนังเน้นแต่จุดขายจุดนั้นจนลืมเรื่องของบท เพราะทุกอย่างนั้นเริ่มง่าย ไปง่าย และจบง่าย เข้าข่ายมักง่ายสิ้นดี

อีกอย่างที่ทำให้ไม่ปลื้ม Hostel เท่าไหร่ก็เพราะทัศนคติของตัวผู้กำกับ Eli Roth เอง เพราะหนังพยายามสร้างอคติหลายอย่างต่อคนต่างชาติ และดินแดนต่างถิ่น พูดง่ายๆคือหนังเรื่องนี้คนอเมริกันคือผู้ถูกกระทำ คือชนชาติที่น่าสงสารที่สุดในโลก และดินแดนอื่นคือดินแดนเถื่อน โรคจิต ด้อยพัฒนา และมุ่งเอารัดเอาเปรียบคนอเมริกันผู้น่าสงสารแต่ฝ่ายเดียว...


Create Date : 02 กันยายน 2550
Last Update : 16 กันยายน 2550 1:20:33 น. 11 comments
Counter : 1672 Pageviews.

 
คาซาบลังก้า

เป็นหนังที่เราชอบมากกกกก ไม่รู้ดิเราดูแล้วอินโคตรๆ เพลงแอสไทม์โกสบาย ก็ชอบโคตรๆ

ดูแล้วรักริค และคิดว่าผู้ชายอย่างนี้หาไม่ได้ในโลกแล้ว 555
เราว่ามันรักกันอย่างเจ็บๆดีชอบ

กอนวิทเดอะวิน

หนังยาวมากกกกก แต่ดูแล้วจี๊ดๆๆๆๆ

ไพร์ด แอน พรีจูดิซ

เคียร่า น่ารัก แต่ไม่สมควรชิงออสการ์ เ

แรททาทูอี้

เราหวังกับหนังเรื่องนี้มากไปหน่อยเลยไม่รู้สึกว่ามันสนุกเท่าที่ควรอ่ะ

วีดีโอคลิป

มีนารู้สึกว่ามีคนจ้องมองมีนาอยู่ตลอดเวลา
มีนากัว

หน้าตาแอ๊บๆ(นอร์มอล) และเสียงไม่มีควบกล้ำ
กับการที่ต้องทนดูตัวอย่างนี้ราวๆ 30 รอบ

ทำให้เกลียดหนังเร่ื่องนี้จนไม่คิดจะดูเลย


โดย: เพอร์รี่ IP: 58.9.141.252 วันที่: 17 กันยายน 2550 เวลา:0:16:08 น.  

 
+ Little Children - เนื่องจากพี่ยังไม่ได้ดู In the bedroom เช่นกัน ดังนั้นนี่จึงเป็นหนังท็อด ฟิลด์ เรื่องแรกที่ได้ดู ... ชอบตรง ผกก. สามารถควบคุมประเด็นที่หนังต้องการจะสื่อ และยังสามารถผลักหนังทั้งเรื่องให้ดำเนินไปข้างหน้าได้อย่างมีจุดมุ่งหมายและทรงพลัง ทั้งๆ ที่เรื่องที่หนังพูดถึงเป็นประเด็นที่หนักและแรงในสังคม แต่ก็สามารถดูได้แบบไม่อึดอัดเท่าใดนัก ... สุดท้ายการแสดง โดยเฉพาะผู้เข้าชิงออสการ์ทั้ง 2 คน, เคต 1 ในขวัญใจสุดโฮก! ของพี่ (ตั้งแต่หลังจากที่เธอเล่น Titanic นะ ตอนชู้รักเรือล่มไม่นับ อิๆ) กับแจ๊คกี้ เอิร์ล ฮาร์ลีย์ ผู้สามารถทำให้บท รอนนี่ เป็นบุคคลที่ทั้งน่ากลัว และน่าสงสารสุดๆ ไปในคราวเดียวกัน
... และเป็นเพราะพี่ชอบหนังที่จบแบบมีความหวังมั้งครับ ก็เลยดันชอบที่หนังจบแบบนี้ (ผิดกับคนอื่นๆ อ่า แหะๆ)

+ Scoop - ดูได้เพลินๆ ช่วงผีนักข่าวโผล่ดูตลกๆ ช่วงจับฆาตกรก็เล่นง่ายไปหน่อย ... เอาน่ะ มีสการ์เล็ตอยู่ในเรื่องก็คุ้มแว้ว เหอะๆ

+ วีดิโอคลิป - กะอยู่เหมือนกัน ก็เลยไม่ได้ดูครับ

+ Hairspray - ถึงแม้ประเด็นทางสังคมที่หนังพูดถึง ไม่ได้หนักหน่วงเท่าไหร่ (เหมือนต้นฉบับของจอห์น วอลเตอร์ส) แต่ถ้าในแง่ความบันเทิง ความสนุกสนานที่หนังมอบให้แก่คนดู และเพลงที่ไพเราะ รวมทั้งกลุ่มนักแสดงที่ทำหน้าที่ของตัวเองได้ดีแทบทุกคน หนังเรื่องนี้ชนะเลิศครับ
... ฉากที่ชอบสุด 2 ฉาก คือตอนที่คริสโตเฟอร์ วอลเคนร้องเพลงงอนง้อจอห์น ทราโวลต้าตั้งแต่ในบ้านจนถึงลานตากผ้าข้างล่าง (ทั้งร้องทั้งเต้นกันมันส์หยดปนขำกระจาย) กับฉากไคลแม็กซ์ช่วงท้ายบนเวทีที่ปิดด้วยเพลง You can't stop the beat ... ถือเป็นหนังเริ่องนึงของปีนี้ที่ดูจบแล้วมีความสุขมั่กๆ

+ High fidelity - พี่ดูนานจนเริ่มเลือนๆ ไปล่ะ จำได้แต่พระเอกมันบ้าจัดอันดับ ... จอห์น คูแซ็ค เล่นดีเช่นเคย และตอนนั้น ตาอ้วน แจ๊ค แบล็คยังค่อนข้างโนเนมอยู่เลยอ่า

+ Frality - พี่เคยดูใน UBC เรื่องนี้พี่ค่อยอินเท่าไหร่แฮะ ไม่รู้ทำไม แต่บิล แพ็กซ์ตัน เล่นได้จิตสุดๆ ... ส่วนลูกชายคนเล็กที่ศรัทธาในพ่อสุดใจนั่น พอไม่นานถัดมา เจือกได้รับบทเป็น ปีเตอร์แพน!

+ The Bridge on the River Kwai - หนังสงครามกับพี่ไม่ค่อยถูกกันอยู่แล้ว แต่อยากดูเรื่องนี้เหมือนกันเพราะตามท้องเรื่องเป็นเมืองไทยบ้านเรานี่เอง อยากรู้ว่าหนังมันมีประเด็นเกี่ยวกับเมืองไทยยังไงบ้างอ่ะคร้บ

+ Ratatouille - เป็นอนิเมชั่นที่ภาพ (โดยเฉพาะวิวกรุงปารีส) สวยเข้าขั้นเทพ, เนื้อเรื่องที่ค่อนข้างเหมาะกับเด็กโต ช่วงคิดหน่อย จัดเป็นการ์ตูนอีกเรื่องที่พิกซาร์สร้างสรรค์ออกมาได้ดีมั่กๆ

+ Casablanca / Doctor Zhivago - อยากดู แต่อยากรู้เรื่องด้วยอ่ะครับ แหะๆ เกรงใจหูตัวเอง เลยไว้หาโอกาสดูวันหน้าดีกั่ว

+ Pride and Prejudice - จริงๆ พล็อตเรื่องนี้ติดจะ 'น้ำเน่า' มั่กๆ (และคงเป็นต้นแบบของนิยายประโลมโลกย์อีกนับพันนับหมื่นเรื่องในยุคหลังๆ) ... แต่เพราะพี่ชอบหนังพีเรียด เลยรู้สึกชมชอบ 'บรรยากาศ' ที่ ผกก.โจ ไรท์สร้างสรรค์ขึ้นมา ... นางเอกดูเฟมินิสต์ผิดกับพี่สาวผู้หัวอ่อน และน้องๆ ผู้ ... เอ่อ แรดเรียกเจ๊ และถึงแม้การแสดงของไคร่า ไนท์ลี่ จะไม่ถึงกับเด่นขนาด 'ต้อง' เข้าชิงออสการ์ แต่เมื่อ คกก. พิจารณาให้เธอติด 1 ใน 5 คนสุดท้าย ก็ต้องถือเป็นเกียรติประวัติของเธอ

+ Planet Terror - เจ็บใจโคตรๆ โรงเมโทรโปลิสมันดันงดฉายรอบ 4 ทุ่มวันพุธ (วันสุดท้ายของการฉาย) เลยอดดูเลยง่ะ

+ Gone with the Wind - จำได้ว่าเคยเช่ามาดู แล้วเกิดอาการหาวหวอดๆ 555 เหมือนจะดูไม่จบด้วย (ตอนนั้นยังเด็กอยู่มั้งครับ) ... แต่วิเวียน ลีห์ แสดงดีสมกับที่ถูกกล่าวถึงจนทุกวันนี้จากเรื่องนี้

+ Death Proof - ถ้าถือว่า โรเบิร์ต โรดริเกวซ กับเควนติน เป็น ผกก. ขายสไตล์เหมือนกัน ... พี่ชอบสไตล์ของโรดริเกวซมากกว่าแฮะ แบบว่าดูของเฮียเควนตินไม่ค่อยรู้เรื่องอ่า ... กับเรื่องนี้ ก็ยอมรับว่าพี่แกทำได้เจ๋งดีนะ ทั้งการ 'พล่าม' ตามสไตล์พี่แก และฉากขับรถไล่ล่าอันสุดมันส์ และแถมท้ายด้วยตอนจบอันสาแก่ใจคนดูเป็นที่สุด

+ The Good, the Bad and the Ugly - ดูตั้งแต่เดะๆ ในวีดิโอแว้วอ่ะคับ ... ชอบบรรยากาศนะ คลินต์ อีสต์วูด เท่ห์โคตรๆ

+ All About Lily Chou-Chou - เป็นหนังที่ตอนดูรู้สึกเบลอๆ ลอยๆ ระหว่างห้วงความฝันกับความจริง ... แต่พอดูจบแล้วกกลับก่อความรู้สึก 'หลอน' ปนหม่นเศร้าได้เป็นที่สุด ... เป็น 1 ในหนังท็อปเท็นในดวงใจของพี่ครับ

+ Hostel - แหะๆ หนังแนวเชือดๆ กับพี่ไม่ค่อยถูกกันเท่าไหร่อ่ะครับ


โดย: บลูยอชท์ วันที่: 17 กันยายน 2550 เวลา:14:29:27 น.  

 
มาแปะเม้นท์แข่งกับเพ่วิน หึๆ

เอาเฉพาะเรื่องที่ได้ดูแล้วกันครับ
- Little Children เนื่องจากเคยดู In the Bedroom มาแล้ว....พี่ว่า เรื่องล่าสุดของทอด ฟิลด์ เล่าเรื่องสนุกขึ้นไม่อึดอัดเหมือนเรื่อง In the Bedroom อ่ะครับ และส่วนท้ายของเรื่องก็จบสว่างซะจนผิดคาด...ซึ่งทำให้พี่ชอบ เพราะชีวิตช่วงนี้ทั้งของพี่และชาวอเมริกาเขากำลังงุนงง และสิ้นหวังกันอยู่(มั๊ง)....จบแฮปปี้ก็ดีเหมือนกัน...

- Hairspray ดูเพลินๆ สิ่งที่น่าชื่นชมที่สุดก็คือการคัดเลือกนักแสดงแต่ละคนมา เลือกได้เหมาะกับบทมากๆ

- High Fidelity เรื่องนี้มีวีดีโอเทปอยู่ที่บ้านด้วยแหล่ะ แต่เป็นพากย์ไทย เพิ่งได้มาดูแบบเสียงต้นฉบับตอนที่ทำบล็อกบัสเตอร์ เป็นหนังโรแมนติกคอมเมดี้แบบแมนๆ อ่ะครับ ดูแล้วรู้สึกว่า ผู้ชายไม่ว่าจะอยู่ในประเทศไหน ก็คงสันดานเหมือนกันทั่วโลกกับเรื่องหญิงๆ รักๆ นี่ล่ะ

- Frailty ได้ดูอย่างบังเอิญอย่างไม่ได้คาดหวัง แต่เป็นหนังที่รุนแรงมากทั้งๆที่ไม่มีฉากโหดๆ เลือดเยอะมากเท่าไหร่ แต่มันแรงในความรู้สึก ... ตอนจบก็นะ ทำให้นึกถึงหนังของ Bryan Singer เรื่องหนึ่งซะงั้น อิอิ

- Ratatouille ขี้เกียจชื่นชมหนังเรื่องนี้แล้ว เอาเป็นว่า ช๊อบ ชอบ ....ว่าแต่ตี้ได้ดู Iron Giant หรือยัง....พี่ว่าเป็นงานที่ฉายแววผู้กำกับอนิเมชั่นชั้นยอด ของแบรด เบิร์ดได้เลยนะ

- Pride and Prejudice ได้แผ่นผีมาเมื่อ 2 ปีก่อน พอดูแล้วชอบก็วิ่งไปซื้อของแท้มาแทบทันที..... พี่ชอบดูเบื้องหลังในดีวีดีเรื่องนี้อ่ะครับ รู้สึกว่าผู้กำกับท่านนี้ โจ ไร้ท์....เขาละเมียดละไมกับ คีร่า ไนท์ลี่ย์มากๆ หุๆ เป็นหนังที่สวย อย่างอื่นช่างมัน ดูแค่น้องคีร่าก็คุ้มมหาคุ้มแล้วน้องเอ๊ยยย

- Hostel ได้ดูเวอร์ชั่นแม่สาย ภาพชัดไม่มีตัด อืมมม.. เป็นหนังเชือดธรรมดาดีๆ นี่ล่ะ ถ้าตัดโปรดักชั่นเนี๊ยบๆ แบบฮอลลีวู้ดออกไป ก็ไม่ต่างจากหนังเกรดบี(ค่อนซี) ทั่วไปแหล่ะครับ...จะดีหน่อยก็ตรงที่เรื่องนี้(ส่วนใหญ่)เพศชายมักจะเป็นเหยื่อ
โดยส่วนตัวพี่ว่าเขากำลังด่าคนอเมริกาด้วยกันนะ...แต่ก็ด่าชนชาติอื่นด้วยนั่นแหล่ะ


โดย: คำห้วน-lopzang-เฉือนคำรัก วันที่: 18 กันยายน 2550 เวลา:1:52:35 น.  

 
ชอบ Ratatouille มาก
นั่งดูไปแอบมีซึ้งน้ำตาคลอเบ้าตามไปด้วย
ชอบชอตที่เป็นเมืองปารีสยามค่ำคืน
สวยจนขนลุก
รอก่อนนะ...แล้วจะต้องไปให้ถึงไอเฟลให้ได้


โดย: Unravel วันที่: 18 กันยายน 2550 เวลา:21:54:49 น.  

 
Frality

มันเป็นหนังที่ต้องดูก่อนตายจริงๆ เพราะพล็อตมันที่แบบ...ไอ้เชี่ย เอาสมองส่วนไหนมาคิดวะ แล้วตอนจบที่แบบ...เวร มึงเอางี้เลยเหรอ แต่โคตรชอบ ถูกใจตอนจบแบบสิ้นชีวิต

และพอกลับมาบ้าน มานั่งคิดๆว่า โอ๊ย!!โคตรชอบไอ้เด็กที่เล่นเป็นคนน้องเลย และพอนั่งคิดๆสักพัก อ้าว !!!ไอ้เด็กที่เล่นเป็น Peterpan นี่หว่า โฮกกกกกกกก ชอบไปกันใหญ่เลยทีเนี้ย


The Bridge on the River Kwai
คิดเหมือนกันว่ามันจะทำอะไรให้ตัวเองดูดีจังเลย ก็จริงอยู่ว่าอาจจะเป็นงั้นจริงๆที่ญี่ปุ่นมันกดขี่ทำซะเหมือนกับเชลยไม่ใช่มนุษย์ แต่ตัวหนังมันก็เกินไป และสุดท้ายกูก็ดูไม่จบ

Ratatouille
ชอบมาก จะมาแทนที่ ครอบครัวฮีโร่แล้วเนี้ย
แต่แกช่างเปรียบเทียบดีแหะ ชอบๆ


Pride and Prejudice
เรื่องนี้ออกแนวโบราณจริงแหล่ะ พล็อตที่ละครช่องเจ็ดมากๆ ขายลูกกินอะไรเถือกนี้ แต่แบบมันก็มีจริงๆแหล่ะนะสังคมไทยตอนนี้ยังมีเลย ที่สำคัญดูเรื่องนี้แล้วแอบเทิดทูน เคียร่าแหล่ะ เป็นผู้หญิงคนเดียวในเรื่องที่ดูแล้วไม่หงุดหงิด ฉากก็สวย เคียร่าก็น่ารักเว่อร์ เพียงแต่ ไหงมันรักกันง่ายจัง อิผู้ชายเนี้ยมาหลงรักง่ายจริง เฮ้อ!!! ไหงไม่มีใครมาหลงกูง่ายอย่างนี้บ้างฟะ (เออ กูไม่สวยอย่างเคียร่ากูรู้ )

Gone with the Wind
ตอนจบมันน่าสงสารอ่า ฮืออออ ยิ่งคิดยิ่งเศร้า คือเราอะชอบ บุคลิกของโอฮาร่าเว่อร์ๆ ถ้าเราเป็นผู้ชายก็คงไม่วายจะต้องจีบแหงๆ แล้วนะ ตอนนี้เปิดเห็นช่องสาม เรื่องอะไรสักอย่างที่หยาดทิพย์เล่นเป็นนางเอกแบบร้ายๆ อะ ก็ชอบ เราคงแพ้นางเอกที่บุคลิกแบบนี้มั่ง ดูร้ายๆแรงๆแบบ สการ์เล็ตใน Match Point ก็ชอบ


All About Lily Chou-Chou
ยังต้องพูดอีกเหรอเรื่องนี้ คือมันเป็นเรื่องที่แบบ ดูจบรอบแรกมันไม่ค่อยรู้เรื่องอะไรหรอกนะ แค่ด้วยความที่อารมณ์ของหนัง บวกกับหลายๆอย่างอะมันเป้นหนังที่ทำให้เรา"รัก"เลยหล่ะ แล้วตอนเราดูอยู่บ้านนอกนะ ดูพร้อมกับเรื่อง Hana & Alice อะ คือแบบ...จอร์จมาก เราดูสองเรื่องนี้ก่อนจะดู Love Letter ซะอีก ยิ่งตอนฉากที่โฮชิโนะตะโกนนะ แล้วเสียงมันเป็นเพลงคลออะ เราแบบทรมาณไปด้วยเลย แล้วมานึกถึงตัวเราเอง เออ...กูก็เคยมีช่วงเวลาอย่างนี้วะ มันแบบ...บรรยายไม่ถูก คือตั้งแต่เปิดเรื่องเนี้ยมันก็ออกแนวหม่นเลยอะ ทั้งเรื่องที่คนทั่วไปเห็นว่าการที่เด็กปล้นรถเมล์การที่เด็กขโมยของในร้านเป็นเรื่องธรรมดา ดูแล้วแบบ...กูอยู่ในโลกแบบนี้เหรอวะ?? (เอาจริงๆก็อยู่ในโลกเลวๆนี้มานานแล้วหล่ะ) 55+
แล้วตอนดูรอบสองนะ มันจะแบบลึกซึ้งกว่าเดิมและรักกว่าเดิม และมองเห็นว่าผู้ชายในเรื่องนี้มันหล่อทุกคนแลยนี่หว่า ตั้งกะโฮชิโนะ ยูอิจิ พี่นักเคนโด้ บลาบลา


โดย: cheatoneself IP: 125.24.73.195 วันที่: 18 กันยายน 2550 เวลา:23:13:21 น.  

 
หลายเรื่อง อยากดู ยังไม่ได้ดู
หลายเรื่อง มีที่บ้าน ยังไม่ได้ดู
หลายเรื่อง ไม่รู้จัก

หุๆ
ช่างเป็นคอหนังเสียจริงนะนาโน
(ปล. ไม่รู้จะพูดทำไม เพราะบล๊อคนี้มันคือบล๊อคเพื่อการแนะนำหนังเป็นหลัก
เรื่องส่วนตัว แค่เรื่องแทรกเล็กๆ ใช่มะ)


โดย: 125 66 IP: 58.11.121.115 วันที่: 23 กันยายน 2550 เวลา:23:00:47 น.  

 
All About Lily Chou-Chou
ยอมรับโดนดุสดีว่าดูไม่ร้เรื่อง
แต่เป็นคนชอบสีเขียวเลยให้อภัยกับฉากทุ่งหญ้าเป็นฉากที่ชอบที่สุดแล้วสบายตาดี
Hostel
เกลียดมานนนนน
หนังเกรดบี


โดย: poomeeeeeee IP: 58.9.162.53 วันที่: 23 กันยายน 2550 เวลา:23:25:22 น.  

 
Little Children : ชื่อไทยก็น่าจะได้ว่า พ่อบ้านเมียเผลอ

ส่วนเรื่อง Scoop เรื่องนี้ไปดูโดยไม่ศึกษาอะไรทั้งนั้น แรกๆก็คิดว่าดูแล้วมันน่าจะต้องใช้ความคิด (เห็นแว๊บๆว่ามีการฆาตกรรม) แต่ที่ไหนได้ กลับเป็นหนังค่อนข้างเบาสมอง

ข้ามมั่งนะ อิๆ

อย่าง Death Proof ก็น่าจะมี ซีจี นิดหนึ่งนะ
ก็ฉากที่มันปิดไฟขับรถสวน รถพวกผู้หญิงที่ชอบเอาขาพาดหน้าต่างไง
ฉากนั้นมันมีภาพ สโลโมชั่น ที่รถมันเหินชนหลังคา แล้วถากจมูกคนนั่งจนแหว่งไง
อย่าบอกนะ ว่าฉากกนั้นใช้ สตนั้เกิล์ 555


โดย: merf1970 IP: 116.58.231.242 วันที่: 25 กันยายน 2550 เวลา:14:57:47 น.  

 
ขอเมนต์บ้างนะครับ

Little Children
เห็นด้วยว่า คุณเฮลี่ย์ไม่น่าพลาดออสการ์ ยิ่งปีที่ผ่านมาเป็นปีที่ออสการ์สาขาสมทบชายอ่อนมากๆ ทั้งคุณ Eddie Murphy,Mark Wahlberg, Alan Arkin,Djimon Hounsou (คนหลังผมว่าพอกล้อมแกล้ม แต่3คนหน้านี่ คห.ส่วนตัวผมคิดว่า ได้ชิงก็ดีแล้ว!)
ผมว่าเรื่องนี้เขาเขียนบทดีนะ ดูแล้วลื่นมาก ไม่หงุดหงิดทั้งที่ตัวละครในเรื่องนี้เข้าข่ายงี่เง่าทุกคน

Scoop
ยังไม่ได้ดู รอแผ่น

VDO Clip
ไม่คิดจะดู

Hairspray
ดูไม่ทัน ออกหมดแล้ว

High Fidelity
ผมชอบหนังเรื่องนี้มากๆ ครับ ทั้งที่เป็นคนไม่ค่อยจัดอันดับอะไรในชีวิตเท่าไร
ผมชอบลักษณะหนังของมันที่จะขำก็ไม่ขำมาก จะมีสาระก็ไม่เชิง ตัวละครมักจะเป็นคนไม่ค่อยได้เรื่อง เนื้อเรื่องพูดถึงแต่เรื่องความสัมพันธ์ แต่ดูรวมๆ แล้วรู้สึกดี
ตามสไตล์หนังอังกฤษทั่วไปอย่าง About a Boy, Four Weddings and a Funeral
อีกอย่างที่คิดออกคือ หนังเรื่องนี้เป็นหนังแจ้งเกิดJack Black เลยครับ
ตอนดูครั้งแรก ผมฮากับตัวละครตัวนี้มากๆ ขโมยซีนกระจาย ดูจบ ผมคิดในใจ ไอ้นี่ต่อไปดังชัวร์
ปล.คุณเซอร์ไพรซ์กับคุณ Zeta-Jones ผมเซอร์ไพรซ์กับคุณ Tim Robbins มากกว่าครับ ดูจบแล้วยังไม่แน่ใจเลย ใช่หรือเปล่าว้า

Frailty
ผมจะไปหาดูได้ที่ไหนเนี่ย

The Bridge on the River Kwai
ผมชอบนะครับ
ผมว่า แนวคิดหนังมันทันสมัยดีแต่ตัวหนังมันเช้ย...เชย
ไอ้ที่ดนตรีที่คุณว่ามันก็อย่างนึงล่ะ แถมผมว่านักแสดงทุกคนโอเวอร์แอคติ้งหมดเลย (แต่ผมชอบการแสดงของคุณ Alec Guinness นะ)
แต่เนื่องจากผมไม่มีปัญหากับการดูหนังเก่าๆ อยู่แล้ว จึงดูได้อย่างมีความสุข
(ผมชอบหนังเก่าที่เดินเรื่องช้าๆ มากกว่าหนังที่ตัดต่อเร็วๆ ชวนมึงหัวซะอีก)

Ratatouille
แม้พล็อตเรื่องเกี่ยวกับหนูทำอาหารจะชวนให้คิดว่า หนังออกมาต้องเป็นหนังเด็กๆ ไร้สาระ
แต่พอได้ดูจริง ผมกลับพบว่า นี่เป็นหนังของพิกซาร์ที่หม่นที่สุด เป็นผู้ใหญ๋ที่สุด และผมชอบที่สุด (เทียบเท่า The Incredibles ของผกก.คนเดียวกัน)
เป็นบทพิสูจน์ที่ว่า ต่อให้พล็อตเรื่องจะเป็นอย่างไร ถ้าผกก.เขียนบทมือถึง หนังที่ออกมาก็สุดยอดได้
เป็นหนังที่ผมชอบเป็นอันดับสองของปี รองจาก Pan's Labirynth ครับ

Casablanca
เป็นหนังเก่าโอเวอร์แอคติ้งอีกแล้ว แต่บทดีมากๆๆๆๆๆ
ถ้ามีใครถามผมว่า หนังเรื่องไหนที่เขียนบทดี นอกจาก Godfather II แล้ว เรื่องนี้เป็นอีกเรื่องที่ผมคิดถึง
ทำได้อย่างไร ทั้งเรื่องโรแมนติค ชีวิต สืบสวน ผจญภัย สงคราม การเมือง ตลก เอามารวมอยู่ในเรื่องเดียวกันได้อย่างกลมกล่อม แถมสุดยอดในทุกๆ แนว
ผมชอบบทสนทนาของหนังเรื่องนี้มากครับ กวนตีนทุกคำพูด
นางเอกสวยจนน่าตกใจ
ผมว่าสิ่งที่หนังสมัยใหม่สู้หนังเก่าๆ ไม่ได้ ก็คือ นางเอกนี่แหละครับ
ส่วนพระเอก แม้จะเก๊กจนน่าหมั่นไส้ แต่ก็ต้องขอยอมรับว่า พี่แกเท่แบบสุดยอดจริงๆครับ ไม่แปลกใจที่มีคนโหวตให้แกเป็นพระเอกอันดับหนึ่งตลอดกาล

Doctor Zhivago
ผมว่าหนังมันช้า ยิ่งหิมะขาวโพลนทั้งเรื่องแบบนี้ ผมหลับไป 2 รอบกว่าจะดูจบได้
แต่ไม่ใช่ว่าหนังมันไม่ดีนะครับ เนื้อเรื่องแม้จะน้ำเน่าอย่างกะละคร 7 สีแต่เขาก็ทำถึงดี แถมยิ่งดูพวกฉาก บรรดาตัวประกอบ ทำให้รู้เลยว่า หนังมหากาพย์มันเป็นอย่างนี้นี่เอง
หนังถ่ายภาพสวยมาก แถมดนตรีประกอบก็เพราะ ผมยังจำทำนองเพลง Lara's Theme ได้ถึงทุกวันนี้

Pride and Prejudice
โดยส่วนตัวผมเป็นโรคไม่ค่อยถูกกับหนังอังกฤษย้อนยุคสไตล์เมอร์แชนต์-ไอวอรี่อ่ะครับ เลยทำให้ไม่เคยหยิบหนังเรื่องนี้มาดู ทั้งๆ ที่ได้ยินคำชมมามากว่าหนังโคตรดีแถมผมยังเป็นแฟนคลับน้องไนท์ลี่ย์อย่างนี้

Planet Terror+Death Proof
ดูไม่ทันครับ

Gone with the Wind
แม้หนังจะระดมฉากอลังการ ดาราดังคับคั่ง เนื้อเรื่องมากมายขนาดไหน แต่สิ่งที่ทำให้หนังเรื่องนี้สามารถอยู่คงทนและติดตรึงในความทรงจำได้ถึงขนาดนี้คือ นางเอกสการ์เลตต์ โยฮาร่าที่เล่นได้อย่างยอดเยี่ยมโดยคุณวิเวียน ลีห์
หนังดีสุดๆ ใครไม่เคยดู รีบไปหามาดูโดยด่วน
ชอบตอนจบของเรื่องมาก ตอนที่นางเอกกล่าวลานางเอก "Frankly, my dear.I don't give a damn."

The Good, the Bad and the Ugly
เคยดูแต่ A Fistful of Dollar ภาคก่อนของเรื่องนี้อ่ะครับ จำได้ว่า พี่คลิ้นท์นี่เท่สุดๆ

All About Lily Chou-Chou
เป็นหนังที่บีบหัวใจที่สุดเท่าที่ผมเคยดูมา...
คิดเหมือนจขบ.ทุกประการ

Hostel
นับวันหนังสยองขวัญจะยิ่งเห็นภาพทรมานแบบจะๆ มากขึ้นทุกที แต่ความน่ากลัวทางจิตใจแบบลึกๆ กลับยิ่งน้อยลง


โดย: ฟ้าดิน วันที่: 26 กันยายน 2550 เวลา:4:20:50 น.  

 
หวัดเด เพิ่งหลุดมาเจอบล็อกนี้เป็นครั้งแรก เลยเข้ามาเมนท์ + ทักทายอะ

ความจำแม่นสมควรได้รับคำชมเสียจริง หลังๆ ไม่ค่อยได้ดูหนังในโรงเท่าๆไหร่ (เสียดาย)

Hostel - ดูแผ่นลิขสิทธิ์ ง่า มันตัดไป 14 นาที เซ็งโคตร แต่ดูเบื้องหลังแล้วนับถือความพยายามสร้างฉากให้แหวะของหนังอย่างใจจริง

หวังว่าตี้ดูจะเป็นแผ่นสีลมนะ


โดย: kiteki IP: 125.24.4.204 วันที่: 28 กันยายน 2550 เวลา:16:14:56 น.  

 
ชอบPride and Prejudice มากค่ะ >< ดูๆกี่ทีก็ม่ายเคยเบื่อเลย


โดย: ฟิชชี่ IP: 168.120.27.248 วันที่: 6 ตุลาคม 2550 เวลา:0:47:21 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

nanoguy
Location :
กรุงเทพ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




คนในสังคมจารีตที่มีความคิดทางเวลาแบบไตรภูมิจะไม่ให้ความสำคัญแก่เวลาตามประสบการณ์ กล่าวคือไม่ให้ความสำคัญแก่การเปลี่ยนแปลงที่เป็นจริงของชีวิตและสังคมว่าดำเนินมาและดำเนินไปอย่างไร เชื่อในการคลี่คลายเปลี่ยนแปลงของชีวิตและสังคมซึ่งจะต้องเป็นเช่นนั้นตามกฎแห่งเวลาของพุทธศาสนา

- อรรถจักร สัตยานุรักษ์
(จากบทความ "ความเปลี่ยนแปลงความคิดทางเวลาในสังคมไทย" วารสารเศรษฐศาสตร์การเมือง 4 ตุลาคม 2531)




Let this song rhyme our souls
when your voice and mine become one and whole.

Let it carry us high above
When we recite our poetry of love
that when there's love then there's hope.

Your love is my light,
and it'll get us through this lonely night.

- รักแห่งสยาม (ซับไตเติ้ลอังกฤษเพลง กันและกัน ท่อนฮุค)









Friends' blogs
[Add nanoguy's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.