พฤศจิกายน 2561

 
 
 
 
1
2
3
4
5
6
7
8
9
10
11
12
13
14
15
16
17
18
19
20
21
22
23
25
26
27
28
29
30
 
 
วัน ๆ ของบ.ก.ก็แบบนี้แหละ (1) มนุษย์บ.ก. ผู้ปาต้นฉบับลงถังผง?


RECAP - 
มีเรื่องที่ลือกันในวงนอกสำนักพิมพ์ว่า บ.ก. คือบอสใหญ่ที่จะชี้ชะตาว่าต้นฉบับของคุณจะได้เป็น
เบสต์เซลเลอร์ นิวยอร์กไทมส์ หรือลงไปนอนอยู่ในถังผงทันทีที่อ่านสองบรรทัดแรกจบ แต่จริง ๆ แล้ว บ.ก. เหมือนเป็นเด็กตัวกระจ้อยที่ต้องวิ่งขอความร่วมมือและความเห็นจากฝ่ายต่าง ๆ ก่อนถึงจะประมวลผลแล้วสรุปแนวทางให้ทุกฝ่ายได้มากกว่า
                                ------ PUBLISHER's APPRENTICE ------

นักอ่านหลาย ๆ คน พออ่านมาก ๆ เข้าก็มักจะมีความฝันที่จะผันตัวไปเป็น “นักเขียน” หรือ “นักแปล” ตามนักเขียนนักแปลรุ่นพี่ที่ตนเองแอบปลื้ม
ชีวิตคงจะดีไม่น้อยเลยละ ถ้าได้ออกหนังสือของตัวเอง 
หาเงินได้จากการแปลหนังสือที่ตัวเองชอบ
นาน ๆ ทีก็ออกไปแจกลายเซ็นตามงานมหกรรมหนังสือ พบแฟนคลับในงานเปิดตัวหนังสือ แฟนมีตติ้งและงานเสวนา ให้สัมภาษณ์ว่าได้แรงบันดาลใจในการเขียนมาจากไหน จากนั้นก็แอบชื่นชมแฟนฟิคชันของตัวเองในอินเตอร์เน็ตอยู่เงียบ ๆ 
พอยอดขายพุ่งสูง ก็เป็นไปได้ว่าจะได้รางวัลจากการประกวดอะไรสักอย่าง ขายลิขสิทธิ์เรื่องให้ช่องสามเอาไปทำละคร หรือไม่ก็ขายพล็อตทำหนังฮอลลีวู้ดฉายมันให้ทั่วโลก
ภายในสิบปีมีเงินเป็นร้อยล้านจากการทำหนังแฟรนไชส์ ได้รับเชิญไปงาน Comic-Con แคลิฟอร์เนีย แล้วยังมีคนขอซื้อเรื่องที่ดังเป็นพลุแตกของคุณไปทำเกม เครื่องเล่นสวนสนุก และสินค้าพรีเมียมอีกบานตะไท

ทั้งหมดนี้คงเป็นความฝันอันสูงสุดของนักอ่านนักเขียนหลาย ๆ คน
แต่ผมกล้าพูดเลยว่า ยังมีน้อยคนนักที่ฝันถึง หรือแม้แต่จะล่วงรู้ถึงการทำงานเบื้องหลัง
ก่อนที่จะมาเป็นความฝันอันสวยงามทั้งหมดนี้

เรื่องของเราเริ่มต้นขึ้น… ที่สำนักพิมพ์



ในสำนักพิมพ์มีอะไร
สมัยเด็ก ๆ จนถึงก่อนจะมาทำงานเป็นบ.ก. ผมเคยจินตนาการถึงการทำหนังสือไว้ว่า 
โดยพื้นฐานแล้วคงประกอบด้วยคนประมาณสี่กลุ่ม คือนักเขียน นักวาด นักแปล และ บรรณาธิการ  สามฝ่ายแรกชัดเจนตั้งแต่ชื่อแล้วว่าทำอะไร แต่บรรณาธิการล่ะ

มีเรื่องที่ลือกันในวงนอกสำนักพิมพ์ว่า บ.ก. คือบอสใหญ่ที่จะชี้ชะตาว่าต้นฉบับของคุณจะได้เป็น
เบสต์เซลเลอร์ นิวยอร์กไทมส์ หรือลงไปนอนอยู่ในถังผงทันทีที่อ่านสองบรรทัดแรกจบ 
ภาพลักษณ์ของ บ.ก. ในความคิดของคนนอกรวมถึงตัวผมเองด้วยในตอนนั้น คงเป็นเหมือนร่างมนุษย์ของสำนักพิมพ์ ที่รวมเอาทุกตำแหน่งมาไว้ในคนคนเดียวกัน คล้าย ๆ ตัวละคร “อาเธอร์” ในเรื่อง Axis Power Hetalia ที่เป็นตัวแทนของสหราชอาณาจักรทั้งประเทศ ซึ่งจริง ๆ แล้วมันก็เข้าใจได้นะครับ  เพราะสนพ.ส่วนใหญ่ก็ให้บ.ก.ทำหน้าที่โปรเจ็กต์ แมเนเจอร์ของหนังสือเล่มต่าง ๆ นั่นแหละ

เวลานักเขียนติดต่อสำนักพิมพ์ด้วยเรื่องหนังสือ บ.ก.จึงเป็นคนออกมารับหน้า อัพเดตความเป็นไปของต้นฉบับด้วยตัวเอง นอกจากเป็นหน้าตาให้สนพ.แล้ว ก็ยังเป็นที่รู้กันด้วยว่า บ.ก.จะเป็นคนคัดเลือกต้นฉบ้บ คอมเมนต์ และอีดิตงานต่าง ๆ เอง อย่างไรก็ตาม รวม ๆ แล้วสำนักพิมพ์ยังมีหน้าที่และตำแหน่งงานเยอะกว่าแค่สามอย่างนี้มาก และยิ่งเป็นสนพ.ใหญ่ก็ยิ่งประกอบไปด้วยตำแหน่งที่สำคัญมากมาย

สำนักพิมพ์แรกที่ผมทำงานอยู่ เป็นสำนักพิมพ์ขนาดกลาง จัดพิมพ์หนังสือประเภทเดียวคือหนังสือเด็ก ส่วนสำนักพิมพ์แห่งที่สองใหญ่ขึ้นมาอีกและผลิตหนังสือหลายประเภท แน่นอนว่าทั้งสองมีความต่างเรื่องจำนวนคนและสไตล์การทำงาน ความรัดกุม อำนาจการตัดสินใจของบ.ก. ไปจนถึงอุดมการณ์ แต่เรื่องการแบ่งส่วนงานนั้นก็คล้าย ๆ กัน ซึ่งจากที่เคยฟังเพื่อนบ.ก.ที่อื่น ๆ มา ผมเชื่อว่าสนพ.ส่วนมากก็น่าจะมีโครงสร้างไม่หนีไปจากนี้เท่าไหร่หรอกครับ คือต้องมีฝ่ายสำนักพิมพ์ ฝ่ายขาย ฝ่ายบัญชี ฝ่ายประชาสัมพันธ์ ฝ่ายกิจกรรม และฝ่ายคลังนั่นเอง (ไม่ได้เรียงตามลำดับความสำคัญแต่อย่างใด)

ฝ่ายสำนักพิมพ์ คือฝ่ายที่บ.ก.สังกัดอยู่ครับ และเราก็ไม่ได้อยู่คนเดียวนะ แต่มีฝ่ายศิลป์กับฝ่ายจัดหน้า ซึ่งรับผิดชอบเรื่องภาพและเลย์เอาต์ของหนังสือ, ฝ่ายพิสูจน์อักษรที่เปรียบเสมือนตาคู่ที่สองในการคิวซีงานของนักเขียนและบ.ก. และฝ่ายลิขสิทธิ์ผู้ถือครองสัญญานับร้อยนับพันฉบับของสนพ. อาศัยอยู่ด้วย


กลับมาที่เรื่องเดิมว่า แล้วบ.ก.ล่ะทำอะไร

ถ้าเปรียบหนังสือเป็นดารา บ.ก.ก็คงคล้าย ๆ กับผู้จัดการดาราละครับ
คือเราเป็นแมวมอง คอยดึงต้นฉบับที่พอจะเห็นประกายออร่าเข้ามาไว้ในมือก่อน
จากนั้นก็ลงแรงปั้นเด็กน้อยของเราให้ออกมาเป็นไอดอลขวัญใจมหาชน
พอปั้นกันเสร็จแล้วจึงหากำหนดเดบิวต์ปัง ๆ เพื่อให้ได้สาวกเยอะ ๆ
จากตรงนี้จะเห็นได้ว่า บ.ก.มีหน้าที่ควบคุมหลัก ๆ อยู่สองเรื่อง (แต่ไม่ได้มีแค่นี้นะ)
คือ 1.คุณภาพ กับ 2.กำหนดการต่าง ๆ ของหนังสือ
การจะทำสองเรื่องนี้ได้ บ.ก.จะต้องคิดวิธีการทำงานและการแก้ปัญหาต่าง ๆ โดยประสานงานกับ
“ทุกฝ่าย” ในองค์กร รวมถึงฝ่ายอื่น ๆ นอกองค์กรอยู่ตลอดเวลา ฝ่ายนอกองค์กรก็อย่างเช่น นักเขียน นักแปล นักวิชาการ (ที่มาช่วยตรวจทานหนังสือ) ผู้ทรงคุณวุฒิต่าง ๆ (เช่น กรรมการประกวดวรรณกรรม หรือผู้เขียนคำนิยม) และบรรดาฟรีแลนซ์ทั้งหลายทั้งปวง 
ดังนั้นการสรุปว่า 
"เหตุ:
1. บ.ก. เป็นหนอนหนังสือ
2. หนอนหนังสือชอบอยู่เงียบ ๆ ตัวคนเดียว
ผลสรุป: บ.ก.ทำงานตัวคนเดียว" นั้นเป็นการคิดไปเองที่ผิดมาก ๆ ครับ 
เพราะถ้าบ.ก.ไม่คุยกับชาวบ้านเลย มีหวังหนังสือไม่ได้เกิดกันพอดี

เวลาฝ่ายต่าง ๆ มีปัญหา หรือมีคำถามอะไรเกี่ยวกับหนังสือ (หรือโดนลูกค้าด่ามาเรื่องหนังสือบกพร่อง ผิดพลาดอะไรก็ตาม) เขาก็จะมาถามเอากับบ.ก. แล้วให้บ.ก.ตัดสินใจ
ฟังดูเหมือนจะยิ่งใหญ่ ถือไพ่เหนือกว่าใครใช่มั้ยครับ แต่ความจริงน่ะเปล่าเลย
เพราะก่อนจะตัดสินใจได้ บ.ก.ไม่ได้คิดเองฟันธงเองหรอกนะ จริง ๆ เหมือนเป็นเด็กตัวกระจ้อย
ที่ต้องวิ่งขอความร่วมมือและความเห็นจากฝ่ายต่าง ๆ ก่อนถึงจะประมวลผลแล้วสรุปแนวทาง
ให้ทุกฝ่ายได้มากกว่า

เรื่องปกติที่บ.ก.ต้องพบเจอในการทำงานร่วมกับฝ่ายอื่น ๆ ก็เช่น
[เนื้อหาด้านล่างเป็นสถานการณ์สมมติ ไม่ได้มีเจตนาพาดพิงถึงบุคคลใด 
หรือกลุ่มหนึ่งกลุ่มใดทั้งสิ้น]

ฝ่ายผลิต: (ตามจิก) ปิดเล่มเร็ว ๆ สิบ.ก. เดี๋ยวโรงพิมพ์พิมพ์ไม่ทันจะอดปล่อยของช่วงนาทีทองนะ
บ.ก.: ง่ะ จะรีบจ้ะ บ.ก.เองก็อยากปิดเล่มให้ทันอยู่หรอก แต่บางทีแผนงานก็เลื่อนออกไปเพราะโดนแทรกน่ะนะ...

ฝ่ายขาย: (ยังไม่ทันขาดคำ) บ.ก. .... ฝ่ายขายเพิ่งสำรวจคลังหนังสือมา เล่ม xxxบ๋อแบ๋แล้วลูกค้าสั่งของมารีบรีไวส์ / รีปริ๊นต์ด่วนจี๋
บ.ก.: (อ้าวเฮ้ย ไม่เหมือนที่คุยกันไว้นี่หน่า T _ T... 
แต่ก็อยากขายหนังสือให้ได้ เอาวะ แทรกก็แทรก)

ฝ่ายประชาสัมพันธ์: (สะกิด ๆ ) บ.ก.จ๊ะ แล้วแผนออกหนังสือในอนาคตล่ะเสร็จยัง ไม่รีบวางเดี๋ยวเตรียมแผนพีอาร์ไม่ทันนะ เอ้อ แล้วขอจองเวลาให้สัมภาษณ์สื่อ กับวันอบรมฝ่ายขายฝ่ายพีอาร์หน่อยสิ
บ.ก. : (ว้าก!)


บางทีที่งานลั่นแผนล้มแบบสายฟ้าฟาดแบบนี้ บ.ก.ก็อาจต้องบากหน้าน้ำตารื้นไปขอร้องให้ฝ่ายศิลป์ ฝ่ายจัดหน้าช่วยแก้งานที่เร่งหรืออยู่นอกเหนือแผนการให้ หรือไม่ก็บ.ก.เองนั่นแหละที่ต้องอยู่ทำงานกะดึกจนถึงเช้า เข้างานวันเสาร์อาทิตย์เป็นผู้เล่นสำรองช่วยฝ่ายจัดหน้าไดคัตภาพ
หรือกระทั่งลงมือจัดหน้าด้วยตัวเอง เพราะถ้ากระบวนการจัดหน้าทำปกล่าช้าก็จะส่งผลกระทบกับฝ่ายอื่น ๆ ที่รอปิดจ็อบต่อไปด้วย 

ฝ่ายที่ว่าก็เช่น ยอดมนุษย์ที่ช่วยควบคุมสไตล์การใช้คำของสำนักพิมพ์ให้ถูกต้องตามหลักวิชาการและเป็นระเบียบแบบแผนเดียวกันทุกเล่ม อย่างกองพิสูจน์อักษรของเรา

กองพิสูจน์: (เสียงเย็น) บอ-กอ...  
บ.ก. : ค ครับ...
กองพิสูจน์: เอามาให้ตรวจช้าแล้วเร่งงานแบบนี้ไม่ดีนะ ก็รู้อยู่ว่าคิวซีน่ะยิ่งเร่งยิ่งพลาด 
บ.ก. : ขอโทษครับ ผิดไปแล้วครับ จะเลื่อนแผนตีพิมพ์ให้อีกนิดนะครับ T _ T

ส่วนเรื่องคัดเลือกต้นฉบับก็ใช่ว่า บ.ก.จะมีอำนาจเด็ดขาดนะครับ เพราะถ้าฝ่ายลิขสิทธิตกลงสัญญาไม่ลงตัว หรือฝ่ายผลิต ฝ่ายบัญชี ฝ่ายขาย + บอสใหญ่ คิดคำนวณต้นทุนออกมาแล้วเห็นว่าหนังสือที่บ.ก.อยากทำมันหาจุดคุ้มทุนยาก 
บ.ก.ก็ต้องยอมอกหักไปตามระเบียบเท่านั้นแหละครับ…

หน้าที่และกระบวนการทำงานของสำนักพิมพ์โดยคร่าว ๆ ก็ประมาณนี้ มีอะไรให้ต้องคิดและทำมากมาย เกี่ยวข้องกับผู้คนหลายหลาก ต่างจาก ‘ต้นฉบับ’ ที่อาจมาจากคนคนเดียว แต่การทำ ‘หนังสือ’ ออกมาสักเล่ม เกิดขึ้นได้จากการทำงานเป็นทีม
(ยกเว้นแต่คุณจะผลิตหนังสือด้วยตัวเอง แล้วขายส่งตามพรีออร์เดอร์ละก็นะ)

เมื่อหนังสือตีพิมพ์ออกมา นักอ่านทั่วไปอาจได้เห็นเพียงเนื้อหาที่จับใจและรูปเล่มที่สวยงาม
นักเขียนอาจเห็นเครื่องหมายแห่งความสำเร็จ  และแหล่งกำเนิดของความภูมิใจ ชื่อเสียง
และรายได้มหาศาล

แต่สำหรับ “นักอ่านในสำนักพิมพ์” แล้ว เบื้องหลังหน้ากระดาษและน้ำหมึกตั้งแต่ปกหน้าจนถึงปกหลัง ตั้งแต่วันเจรจาลิขสิทธิ์จนถึงวันที่ได้สลักคำว่า พิมพ์ครั้งที่ 2  3   4 … ลงบนปก
เราได้เห็นการปะทะกันของความคิดสร้างสรรค์ อุดมการณ์ ข้อมูลตัวเลขและสถิติเป็นกุรุสที่ทุกฝ่ายในบริษัทควักออกมาถกเถียงกันเพื่อให้แน่ใจว่า หนังสือทุกเล่มของเราจะอยู่ในสายตาผู้อ่าน ไม่ว่าจะอยู่บนชั้นวางที่ใดก็ตาม เด็กน้อยไอดอลที่เราตั้งใจปั้นจะได้เล่าเรื่องราวต่อหน้าคนนับร้อย นับพัน หรือนับล้าน ออกไปช่วยเติมเต็มชีวิตผู้คนด้วยการสร้างความสุข ความบันเทิง ความเข้าใจ ความเป็นไปได้ใหม่ ๆ และสร้างแรงบันดาลใจที่จะส่องนำทางคนไปได้อีกหลายศตวรรษนับจากนี้


ทุกอย่าง เริ่มต้นจากความร่วมแรงร่วมใจของทุกคนที่ ‘สำนักพิมพ์’ นั่นเอง


[ พบกันใหม่ตอนหน้าครับ : ) ]
บ.ก. ที่หนึ่ง



Create Date : 24 พฤศจิกายน 2561
Last Update : 24 พฤศจิกายน 2561 17:27:10 น.
Counter : 735 Pageviews.

1 comments
  
ดีเลยครับ... เลยได้รู้ การทำงานของ สน.พิมพ์ หรือน่าที่ของ บก.

กับของทีมงาน...

เคยรู้มาบ้าง ว่า บก.มีใจเมตตา พูดไม่ให้ช้ำใจ ส่งมาใหม่นะแล้ว
จะช่วยดูให้

ตอนนี้...ยังคิดเลยว่า แนวการทำงาน สน.พิมพ์จะไปแนวไหน

อีบุ๊ค ..เข้าถึงยาก (เข้าอ่าน) หมายถึงแพลตฟอร์ม..แต่ละที่ยาก
สำหรับ นักอ่านที่โลว์เทคเช่นผม 555

ถ้าว่าง เขียนเล่าอีกนะครับ ชอบอ่านเป็นความรู้
โดย: ไวน์กับสายน้ำ วันที่: 25 พฤศจิกายน 2561 เวลา:8:16:56 น.
ชื่อ :
Comment :
 *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

ลอยละล่องเล่นลม
Location :
  

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]