space
space
space
<<
กรกฏาคม 2565
 12
3456789
10111213141516
17181920212223
24252627282930
31 
space
space
17 กรกฏาคม 2565
space
space
space

ขัดสนิม ทาสีกันสนิม สลับยาง เปลี่ยน skid plate -The rust in Tesla model 3
July 16, 2022

ใกล้ครบเวลา 1 ปี (เดือนหน้า) แต่น้องโบลต์เราตอนนี้อายุ 11 เดือน ก็ขับไปได้ 10,846 กม. ก็เคยตั้งใจว่าจะทำการสลับล้อ+ยางตามคำแนะนำในคู่มือของเทสล่าเป๊ะทุกประการ บังเอิญว่าตอนช่วงเค้าจะทำ tire rotation ซึ่งเป็นบริการฟรีจากร้านยางที่อยู่หน้าปากซอยเนื่องจากเราซื้อยางกะเค้า ตอนจะสลับยาง มันจะทำได้รวดเร็วที่สุดโดยการยกรถขึ้น hoist จะได้ถอดล้อ 4 ล้อพร้อม ๆ กัน เอาไปถ่วงยางทีละล้อ แล้วก็สลับล้อหลังมาหน้า ล้อหน้าไปหลัง อะไรประมาณเนี้ย ช่วงที่รถอยู่บน hoist เรามีเรื่องในใจต้องทำเพิ่มเล็กน้อย ซึ่งอันนี้ก็คุยในรายละเอียดกับร้านยางว่าเรามีสิ่งที่ต้องการทำเพิ่มระหว่างรถอยู่บน hoist อีก 2 ประการ



1) กำจัดสนิม เรามองเห็นสนิมที่เพลาของมอเตอร์ อยู่นอกมอเตอร์เป็นส่วนที่ต่อไปหมุนล้อ อันนี้ดันไปเห็นตอนมีการถอดเอา frunk basin (underhood storage unit) ออกมาเพื่อตรวจดูงานความเรียบร้อยของการติดตั้ง autofrunk ของวสุธา รวมถึงตอนที่เราพยายามหาทางร้อยสายไฟจากด้านในห้องผู้โดยสารตอนติดตั้งประตูดูดได้กับ auto-present door handle สิ่งที่ไม่คาดคิดว่าจะได้เห็นก็คือสนิมบนส่วนนี้ (ดูรูป) สนิมเยอะมาก คิดว่าทนไม่ได้ เพราะสนิมมันจะต้องกัดกร่อน เราจะไม่ทน ต้องกำจัด ต้องหาวิธีป้องกันสนิม ใครจะเชื่อว่ารถอายุไม่ถึงปี สนิมกินขนาดนี้

  
เห็นแล้วก็อย่าได้ตกใจ เรามั่นใจว่า Tesla M3/Y ทุกคันในประเทศไทย ถ้าเปิด frunk ยก underhood storage unit (อ่างเก็บสมบัติ) ออกมาดู ก็จะต้องพบสนิมเกาะเพลามอเตอร์ตรงนี้ มีทั้งสองข้าง ข้างด้านผู้โดยสารจะเห็นชัดกว่า เพราะไม่มีอะไรบังเท่าไหร่ ด้านคนขับอีกด้าน (รูปกลาง) ดูยากกว่า แต่ก็มีเหมือนกัน เห็นแล้วจะเป็นลม ส่วนประกอบภายในห้องเครื่องดีทุกอย่าง ยกเว้นสนิมส่วนนี้ อีกอันเล็ก ๆ เห็นอยู่ตั้งแต่รูปกลาง อันนี้เป็นตรงส่วนข้อต่อของส่วนที่เป็นก้านเพลาพวงมาลัยบังคับล้อ สนิมยังเกาะไม่หมด แต่ก็มาแระ ไม่แน่ใจว่า Tesla M3/Y ที่เมืองนอกมีแบบนี้ไหม เพราะอากาศเค้าไม่ได้ร้อนชื้นเหมือนเมืองไทย แต่ถ้ารถอยู่เมืองไทย รับประกันว่ารถท่านก็ต้องมีเหมือนกัน ตามกฎของโลกนี้ ที่ไหนมีเหล็ก มีออกซิเจน และก็มีความชื้น เสร็จ เห็นแล้วก็ปล่อยเพิกเฉยไม่ได้ มันนอนไม่หลับ ต้องหาทางจัดการซะ

 

 
 
ในเมื่อเห็นสนิมจากด้านบน พอยกรถขึ้นถอด skid plate ออก ก็เห็นชัดกว่าอีกจากด้านล่าง โชคดีที่ skid plate ที่ถอดอยู่ใต้ส่วนมอเตอร์หน้าพอดี ด้านหน้าก็เข้าถึงได้ง่ายโดยเฉพาะด้านซ้ายมือหรือด้านผู้โดยสาร ส่วนด้านคนขับจะมีกระปุก oil filter ของมอเตอร์ขวางเกะกะเล็กน้อย ข้อดีของล้อหน้าคือสามารถหมุนล้อ แล้วส่วนสนิมนี้เค้าหมุนตาม ทำให้สามารถทำน้ำยา ทาสีได้รอบเพลาสนิมรูป 6 เหลี่ยม ตรงส่วนนี้จะมีเห็นมีรอยขีดสีขาวที่ทางโรงงานทำ mark ไว้ทั้งสองด้าน ซึ่งเราก็ไม่รู้ว่าขีดไว้ทำไม ส่วนตรงข้อต่อเพลาหมุนพวงมาลัย จะอยู่ตรงด้านขวา (ด้านคนขับไง พวงมาลัยอยู่ด้านนี้) เค้าจะอยู่ลึกเข้าไปอีก แต่สามารถยื่นพู่กันไปทาน้ำยากันสนิม ทาสีกันสนิมได้  รูปขวามือล่างสุดก็คือ อุปกรณ์ที่ต้องใช้ได้แก่น้ำยากัดสนิม (Rust-Sov) พู่กันยาว ๆ หน่อย แปรงทองเหลือง น้ำยาทาสีกันสนิม (Maxzo) สีพ่นกันสนิม (Bosney สเปรย์ฝาดำ) อันนี้ได้ใช้เล็กน้อย ไม่กล้าพ่นเยอะกลัวฟุ้ง ส่วนสเปรย์ขวดสีเงิน ฝาสีแดง ไม่ได้ใช้ เค้าเป็นเหมือน lubricant พ่นกันสนิม ซึ่งถ้าพ่นไปแล้ว ก็คงจะทาสีกันสนิมไม่ติด เพราะเค้าเป็นซิลิโคนหล่อลื่น เลยไม่ได้ใช้

 
รูปซ้ายแสดงให้เห็นท่อ coolant ที่พาดไปมาสับหว่างกับสายสีส้ม ๆ ซึ่งเป็นสาย high voltage ตรงส่วนถัดไปก็คือ battery pack ซึ่งส่วนนี้ทางเทสล่าใช้แผ่นโลหะอัลลอยด์ (อะไรไม่ทราบ แม่เหล็กดูดไม่ได้) เป็นแผ่นป้องกันภยันตรายสำหรับแบตเตอรี่ แต่ส่วนด้านหน้าที่มีมอเตอร์ถูกปฏิบัติราวกับเป็นลูกเมียน้อย ใช้แผ่น fiberboard (อดีต)/พลาสติกปิดไว้ แล้วก็มีคนเจออุบัติเหตุชิ้นส่วนจากถนนยังสามารถทะลุแผ่น เข้าไปทำให้ท่อ coolant รั่วได้ ส่วนที่เป็นรอยต่อเชื่อมระหว่างแผ่นโลหะซึ่งเป็นจุดอ่อนที่ขึ้นสนิมได้ง่าย เค้ามียิงหยอดโฟมกันสนิมไว้ (สีเหลือง ๆ ตามรอยต่อ) ชิ้นส่วนอื่น ๆ เราไม่เห็นสนิม เห็นแต่ส่วนเพลามอเตอร์ 6 เหลี่ยมนั่นแหละ  ส่วนรูปขวาเป็นภาพมอเตอร์หลังที่เป็น permanent magnet motor มีความรู้สึกว่ามอเตอร์หลังขนาดเล็กกว่ามอเตอร์หน้า มอเตอร์หลังเป็นส่วนที่ทำงานหนักกว่า (ในรูปวาดของ Tesla ดูเหมือนมอเตอร์หลังใหญ่กว่า)

 
พอเข้าไปถ่ายระยะใกล้ของมอเตอร์หลังตรงส่วนเดียวกันก็พบสนิมเหมือนกัน ด้านหลังทำงานลำบากกว่าด้านหน้าเนื่องจากไม่สามารถหมุนล้อได้ (วันหลังต้องเอารถลงมาจาก hoist แล้วเข้าไปกดในจอให้เป็น tow mode) แถมฝั่งด้านคนขับ (ด้านขวาหลัง) มีกระปุก oil filter บังด้วย ส่วนด้านผู้โดยสาร (ซ้าย-หลัง) นี่ยิ่งแสบกว่า เหมือนกับมันหลบซ่อนอยู่ในหลืบ ต้อง approach จากด้านข้าง ๆ จริง ๆ (รูปขวา) แต่ก็ยังมองเห็นสนิมได้ชัด สามารถยื่นแปรงเข้าไปทางน้ำยากัดสนิมและทาสีกันสนิมได้ แต่ขัดแปรงทองเหลืองคงยาก


2) รายการนี้ที่สองนี้คิดอยู่หลายตลบ แต่ก็ตัดสินใจว่าจะเปลี่ยนก็คือแผ่นใต้ท้องรถ ที่ฝรั่งเรียกว่า skid plate ซึ่งมีทั้งแผ่นหน้าและแผ่นหลัง โดย skid plate ทั้งหน้าและหลังจริง ๆ มีสองส่วน ส่วนที่อยู่ด้านหน้าและด้านหลังสุด ๆ ติดกันชนหน้า-หลัง กับส่วนที่ถัดออกมาจากแผ่นนั้น สองแผ่นหน้า-หลังสุด ๆ 2 แผ่นไม่ได้อยากจะเปลี่ยน (ไม่มีคนทำมาให้เปลี่ยนด้วย) เพราะมันไม่ได้ปกป้องชิ้นส่วนสำคัญมากนัก ด้านหน้าปกป้องรวงผึ้ง ด้านหลังปกป้องพื้นที่เก็บของใต้แผ่นพื้นของกระโปรงหลัง แต่อีกสองแผ่นส่วนที่อยู่ถัดมาจากนั้นทั้งด้านหน้าและด้านหลังเป็นส่วนที่อยู่ใต้มอเตอร์ทั้งมอเตอร์หน้าและมอเตอร์หลังโดยตรงเป็นส่วนสำคัญเพราะว่า...

เดิมที skid plate ทั้งสองส่วนนี้ในรถ Tesla model 3 รุ่นเก่ากว่า 2021 ทำจาก fiberboard (เหมือนแผ่น composite กระดาษ/พลาสติก/fiber) ซึ่งพอใช้ไปนาน ๆ หรือถ้าขับไปลุยน้ำ ไปแช่น้ำมา มันก็จะเปื่อยและฉีกขาดในที่สุด ก็มีหลายสตอรี่ให้ได้ยิน บางคนก็เจอฉีกขาดก่อนแล้วเปลี่ยนแผ่นใหม่ทัน คนไหนซวยหน่อย ก็เคยมีคนรายงานว่ามีชิ้นส่วนจากพื้นถนนกระเด็นขึ้นไป ไม่แน่ใจว่าผ่านรอยฉีกขาดที่มีอยู่เดิมหรือชิ้นส่วนดังกล่าวสามารถผ่านทะลุ fiberboard อันนี้แล้วไปทำอันตราย กรณีนี้คือไปทำให้ท่อหล่อ polyethylene glycol solution รั่ว แล้วก็มีน้ำเขียว ๆ ไหลรินออกมา ระบบก็แจ้งว่าระดับสารละลายดังกล่าวต่ำ พอไปเอาเข้าอู่ซ่อม ปรากฎบางคนก็โดนไป $850 บางคนซวยหน่อยเจอเทสล่าบอกว่าต้องเปลี่ยนแบตเตอรี่ทั้งก้อน โดนเข้าไป $16,000 + ค่าแรง รวมกันเหยียบ $20,000 เรียกว่าครึ่งนึงของราคารถเลย (ราคาที่เมากานะจ๊ะ)


ภาพนี้ขอยืมมาจากในฟอรั่ม discussion ของ ผู้ใช้ tesla ท่านนึงที่เค้าแชร์เรื่องราวว่ามีสาร glycol หยด เพราะมีชิ้นส่วนบินจากท้องถนน ทะลุแผ่น skid plate เข้าไปทำให้ท่อหล่อ coolant สำหรับแบตเตอรี่รั่ว แล้วก็มีน้ำสีฟ้า ๆ ไหลริน

คิดว่ากรณี road debris/ชิ้นส่วนก้อนหินบินจากพื้นถนนไปทำอันตรายต่ออุปกรณ์ใต้ท้องรถน่าจะมีเกิดขึ้นประปราย เพราะหลัง ๆ เทสล่าก็เปลี่ยนจากแผ่น fiberboard ที่ปกป้องส่วนนี้มาเป็นแผ่นพลาสติก พลาสติก???  ดีกว่า fiberboard เหรอ อย่างน้อยมันก็ไม่เปื่อยเวลาโดนน้ำ แต่พลาสติกก็ยังคงเป็นพลาสติก นานไปย่อมจะกรอบ แตกหักได้ โดยเฉพาะสภาพอากาศประเทศไทย ความหนาของพลาสติกก็มีผล ความเหนียวของพลาสติกก็มีส่วน สะเก็ดชิ้นส่วนที่กระเด็นมามีความร้อนด้วยรึเปล่า? โอ๊ยยิ่งคิดยิ่งกลุ้ม ถ้าเปรียบเทียบกับตำแหน่งที่เป็นแบตเตอรี่ เทสล่าไม่ได้ใช้แผ่นพลาสติกแน่นอน ในอดีตสมัย Model S ออกมาใหม่ ๆ ก็เคยมีเหตุการณ์ชิ้นส่วน debris จากท้องถนนกระเด็นเข้าไปทะลุถึงก้อนแบตเตอรี่ด้านในทำให้มีควันออกมา จนกระทั่งเทสล่าออกมาโฆษณาว่าได้ปรับปรุงเป็น titanium underbody shield ในส่วนนั้น (อ่านได้จากตรงนี้) อันนั้นเป็นเหตุการณ์ตั้งแต่ปี 2014 โดยเราคิดว่าเทสล่าต้องการเรียกความเชื่อมั่นจากลูกค้า เพราะเรื่องไฟลุกจากก้อนแบตเป็นเรื่องแปลกใหม่และ Model S คันนึงก็ใช่ว่าราคาถูก ๆ  แต่ในปัจจุบัน เราไม่คิดว่าเค้ายังจะใช้ titanium underbody shield เพราะ titanium เป็นโลหะราคาแพง แต่ที่แน่ ๆ ก็คือใต้ท้องรถ ตรงส่วนกลางรถที่เป็นแบตเตอรี่ เค้าใช้วัสดุปกป้องเป็นแผ่นโลหะ เดาว่าน่าจะเป็น aluminum หรือไม่ก็ stainless steel น่าจะเป็นได้ หรือจะเป็นโลหะลูกผสมหรือชนิดใดก็ไม่ทราบ (ที่แม่เหล็กดูดไม่ติด) แต่ที่แน่ ๆ คือไม่ใช่แผ่นพลาสติกบ้าน ๆ

ถ้าตรงส่วนที่เป็นแบตเตอรี่มันสำคัญขนาดว่าแผ่นใต้ท้องปกป้องแบตเค้าต้องเป็นโลหะ แล้วใยส่วนนี้ถึงใช้พลาสติก หรือเป็นเพราะว่าในรุ่น SR+(RWD) ตรงด้านหน้ามันจะโล่ง ว่าง โบ๋โจ๋ ไม่มีมอเตอร์อยู่ แต่ก็นั่นแหละ ก็ที่เคยมีคนโดนชิ้นส่วนกระเด็นบาด fiberboard เข้าไปตัดท่อ coolant ของแบตเตอรี่ที่มันวางอล่างฉ่างอยู่ตรงนั้นน่ะ จะปกป้องให้มันดี ๆ หน่อยก็มิได้เนาะ  บางทีเราก็สงสัยว่าทำไมเทสล่า บางเรื่องบางอย่าง เค้าก็ล้ำชะ ใส่เทคโนโลยีนู่นนี่ล้ำ ๆ เข้ามา แต่บางเรื่องเค้าก็ go cheap ซะจน... แบบว่า rivet เอาออก lumber suppport เอาออก ลำโพงเอาออก  portable charger เอาออก  อะไรเงี้ย.... เง็ง

แต่เดิมทีแผ่น third party aluminum skid plate สำหรับ Tesla M3/MY มีขายเยอะแยะเลย ตอนยุคที่เป็น fiberboard ใครก็ ๆ ก็อยากเปลี่ยน รังเกียจ fiberboard แต่หลัง ๆ มาพอเทสล่าเปลี่ยนมาใช้แผ่นพลาสติก คนก็ไม่ค่อยแคร์จะเปลี่ยนแผ่นนี้กันเท่าไหร่ พวกบรรดาเว็บที่เคยขายแผ่น skid plate พวกนี้ ต่างก็ out of stock กันไปเป็นแถบ ๆ นัยว่าจะเลิกขายไปเลย เพราะผลิตมาก็คงจะขายไม่ค่อยออก ที่ยังมีขายอยู่ก็ขายแพงหูฉี่ อย่างเช่นเจ้านี้ ขายแผ่นด้านหน้าแผ่นเดียว $295  จะหาซื้อแบบไม่แพงมากก็ต้องไปหาบนอีเบย์ มีคนพอขายอยู่บ้าง ตอนแรกเดิมเราก็สองจิตสองใจ คิดว่าแผ่นพลาสติกมันก็จะน่าโอเคระดับหนึ่ง แต่พอคิดไปคิดมา ส่วนมอเตอร์ มันก็สำคัญเหมือนกันนะ ยิ่งมีท่อ coolant มีสายไฟ high voltage อะไรอยู่เต็มไปหมด ก็ไม่อยากจะเสี่ยงดวงกลัวถูกล็อตเตอรี่ ของยิ่งหาซื้อยาก ๆ อีก 1-2 ปี อาจจะไม่มีใครขาย เพราะไม่มีใครเปลี่ยนกันแล้ว สุดท้ายเราก็เลยตัดสินใจสอยมา ซื้อทั้งสองแผ่น หน้า-หลัง ต่อราคาเค้าจนเหลือ $350 (จ่ายด้วยบัตร AMEX ของเมกาที่ผูกกับเงินดอลล่าร์ที่เคยได้มาตอนฝึกงานในเมกาเมื่อ 15 ปีก่อน คิดเป็นเงินไทยเค้าว่าประมาณ 12,813 บาท)  เค้าส่งให้ฟรีใน US เราก็ให้ส่งไปที่ freight forwarder ในเมกาที่เคยใช้ประจำชื่อ us-hop ก็ใช้เวลาประมาณ​ 1 สัปดาห์ส่งไปถึงโกดังใน us-hop จากนั้นเกือบสองสัปดาห์ก็ถึงส่งมาถึงเมืองไทย โดย us-hop ฟาดค่าส่งไปอีกประมาณ​ 10,325 บาท ก็สรุปว่าแผ่นอลูมิเนียมสองแผ่นนี้ปาเข้าไปประมาณ 2 หมื่นกว่าบาท รวมค่าส่ง ตกแผ่นละหมื่นกว่า ๆ พอดี

  
แผ่น skid plate แผ่นหน้าของดั้งเดิมของเทสล่า รูปทรงคล้ายสี่เหลี่ยม ทำจากแผ่นพลาสติก (สำหรับรถเทสล่ารุ่น late 2020) เป็นต้นมา รุ่นก่อนหน้านั้นใช้แผ่น fiberboard ซึ่งมีโอกาสเสียหายได้ง่ายกว่า ด้านล่างพื้นผิวอาจจะมีรอยขูดขีดเล็กน้อย ส่วนด้านบนเค้ามีร่องรอยน้ำขัง เพราะน้ำสามารถเข้าได้ง่าย เช่น จาก windshield ด้านหน้า เค้าก็จะไหลรินลงมาตรงแผ่นนี้ ยังไม่นับ wheel well ทั้งสองด้าน ดูเหมือนปิดไว้ แต่ไม่มิดหรอก น้ำเข้ามาได้สบาย ๆในรูปยังแอบสังเกตเป็นน้ำเป็นทางเป็นน้ำที่ขังอยู่ปริมาณเล็กน้อยจะเห็นว่าตัวแผ่นพลาสติกจริง ๆ ไม่ได้หนามากมาย เทสล่าปั้มแบบมายังเห็นสันพลาสติกที่ทำตัวเป็นเหมือนโครงเสริมความแข็งแรง จากจุดที่ยึดสกรู/bolt

  
แผ่น skid plate ด้านหลังหน้าตาเหมือนปีกมนุษย์ค้างคาว ทำจากแผ่นพลาสติกเหมือนกับด้านหน้า คุณภาพเกรดพลาสติกเหมือนกับแผ่นด้านหน้าทุกประการ แต่รูปร่างต่างกัน สังเกตเห็นร่องรอยน้ำขังและสันพลาสติกนูนเสริมความแข็งแรง เพราะพลาสติกจริง ๆ มันไม่หนาเท่าไหร่

เดิมทีเราก็คิดว่าจะทำเรื่องขัดสนิมกับเปลี่ยน skid plate ที่บ้าน (คอนโด)นี่แหละ เตรียมเล็งหาอุปกรณ์ยกรถ แล้วก็พบว่าการจะยกรถขึ้นทั้งคันนี่ มันมีค่าใช้จ่ายไม่น้อย เพราะบังเอิญว่าเทสล่าจะมีท้องรถที่อยู่ใกล้พื้นถนนมาก (ไม่ถึง 15 cm) และจุดที่จะยกได้ก็เป๊ะ ๆ ตามที่เทสล่ากำหนด แม่แรงธรรมดาสอดเข้าใต้ท้องรถไม่ได้ต้องแม่แรงพิเศษที่เตี้ยพอ ต้องเป็นแม่แรงสำหรับรถโหลดเตี้ย หรือ low profile floor jack ถ้าจะให้ดีก็ต้อง ultra low profile floor jack  (มีหลายราคาเห็นตั้งแต่ 3 พันกว่าบาทไปจนถึง 5 หลักชิล ๆ) ส่วนขาตั้งแม่แรงตามปกติก็ใช้ไม่ได้ เพราะไม่รู้จะสลับแม่แรงออกจากจุดยกรถยังไง ต้องเป็นขาตั้งแม่แรงพิเศษที่เรียก Rennstand/safe jack ราคาอันละ $224.98 (อย่าลืมบวกค่าส่ง ค่าต๋งลุงตู่) หรือไม่ก็ต้องใช้ถาดวางล้อที่ยกแม่แรงได้ที่เรียกว่า MyLiftStand อันละ $225 เราเคยสอบถามคนขายเค้าว่าคนส่งมาเมืองไทยเท่าไหร่ เค้า quote มาให้ว่าค่าส่ง Rennstand อันละ $154 ค่าส่ง MyLiftStand อันละ $262 (สงสัยจะหนักกว่าเยอะ) ซึ่งอันนี้เป็นค่าส่งแบบ DDP หรือ delivery duty paid เรียกว่าส่งแบบด่วน door to door ไม่มีอะไรต้องจ่ายเพิ่ม ซึ่งฟังดูเหมือนจะดี เพราะว่าสั่งของจาก amazon ก็ส่งแบบนี้ เพียงแต่ของ amazon เค้าจะคืนเงินให้ถ้าเค้าบวกค่าภาษีนำเข้าเกิน ส่วนเจ้านี้ก็ไม่รู้เค้าจะคืนให้เรายังไง น่าจะคิดเกิน ๆ ไว้ก่อนแล้วที่เหลือก็กินรวบ จะอย่างไรก็ตามจะเห็นว่าถ้าลงทุนซื้อแม่แรงตะเข้แบบ low profile ไม่ว่าจะอันละหลักพันหรือหลักหมื่น และมี Rennstand หรือ MyLiftStand 4 อัน สนนราคาค่าลงทุนก็ปาเข้าไปประมาณกว่า 5 หมื่น  กว่าจะยกขึ้นไปได้สูงพอจะทำงานได้สะดวก สะดวกในที่นี้หมายถึงนอนหงายบนพื้นทำงานน่ะ เพราะก็คงยกได้สูงสุดอย่างเก่ง ประมาณแค่ 2 ฟุต แค่นั้นแหละ คงต้องปั้มแม่แรงกันหลายรอบ หลายจุด แค่คิดก็เหนื่อย  กระนั้นเราก็ยังอุตส่าห์จะไปแอบมองอุปกรณ์ที่เรียกว่า Quick Jack หรือที่เมืองไทยก็มีคนเอาเข้ามาขายแต่เรียก Quick Lift  (Quick Lift Thailand) ราคาปาเข้าไป 4 หมื่นกว่า เค้าบอกว่าต้องมี adapter เนื่องจากรถยุโรป (จริง ๆ ของเรารถเมกา) จะมี wheel base ยาวกว่ารถญี่ปุ่น  ไม่ว่าจะเลือกทางไหน ค่าจะยกรถขึ้นไม่มีอันไหนถูกกว่า 4-5 หมื่น  นอกจากจะไปหาซื้อ ramp plastic/ramp เหล็กฉาก มา อันนั้นก็ราคาถูกหน่อย แต่ก็ยกได้เฉพาะล้อหน้าหรือล้อหลัง ทีละด้านและก็ยกไม่ได้สูงเท่าไหร่ เกะกะไม่มีที่เก็บสำหรับคนอยู่คอนโด นี่ถ้าเรามีบ้าน มีพื้นที่ของเราเอง มี garage เราคงจะลงทุนติดตั้ง hoist ยกรถแบบที่ร้านยางไปเลย เพราะราคาแพงกว่ากันไม่มาก ยกได้สูงดีด้วย ไม่ต้องกังวลว่านอนหงายใต้รถแล้วแม่แรงหล่น รถทับตาย เพราะยกขึ้นไปสูงขนาดนั้นถ้ามันจะหล่นลงมาน่าจะวิ่งออกมาทันอยู่

 
 
ถ้าไม่มี hoist ที่ร้านยางหน้าปากซอย ก็คงจะไม่มีปัญญายกน้องโบลต์ขึ้นไปได้สูงขนาดนี้ รูปซ้ายบนนี่เริ่มทำงานกันตั้งแต่ 18:30+ ตอนแรกให้เค้าสลับล้อ+ยางให้ หลังจากนั้นเค้าก็ปิดร้าน เราสองคนก็ขัดสนิมกันต่อเกือบถึง 2 ทุ่ม รูปขวาบนคือปิดร้านแระ พอมืด ทางร้านเค้าไม่ได้ปิดไฟเพดาน เค้าเปิดไว้ให้เรา แต่เราก็เอา แบต(LFP ประกอบเอง) ต่อกับ inverter แปลงไฟเป็น 230V ไว้ต่อกับโคมไฟแล้วก็ Dremel ภาพซ้ายล่างถ่ายระยะใกล้ให้เห็นรูสำหรับเสียบ pucker แล้วก็ตัวก้านยกรถของ hoist อย่าลืมไปสอย pucker รองยกแม่แรงมาเก็บไว้ เพราะร้านยางเค้าไม่มีให้หรอก รถใครรถมัน นี่ไปใช้บริการบ่อยขนาดเด็กที่ร้านเค้ารู้เลยว่าเราเก็บ pucker ไว้ตรงที่เก็บของใต้พื้นกระโปรงท้าย พอรถเข้าร้านปุ๊บ เธอเดินมาชี้ ๆ ให้เปิดฝากระโปรงจะเอา pucker

สรุปว่า สุดท้ายก็ไปรบกวนร้าน Wheel & Tyre fitment หน้าปากซอยนั่นแหละ เค้ามี hoist สำหรับยกรถอยู่ซึ่งปกติก็เอาใช้เวลาสลับล้อให้ลูกค้า เนื่องจากเรามีนัดกันอยู่แล้วว่าจะต้องไปสลับล้อเมื่อยางใช้ครบ 1 ปี หรือครบระยะทาง 1หมื่นกิโลเมตร ก็บอกเค้าไปตามจริง ว่ามันมีสนิมอยู่ด้านล่างซึ่งเราอยากจะกำจัดและทาหรือพ่นสีกันสนิม ก็ถามเค้าว่าเค้ารับทำไหม เค้าก็ตอบว่าร้านเค้าไม่รับพ่นกันสนิมหรือกำจัดสนิม แต่ถ้าจะมาทำเองที่ร้านเค้ายินดีให้ยืม hoist แต่จะต้องทำหลังจากเค้าปิดร้าน ซึ่งเค้าปิดร้านตอนทุ่มนึง เนื่องจากเวลาทำการปกติ เค้าก็มีรถมารับบริการเกือบตลอดเวลา ถ้าเราไปยึดพื้นที่แล้วเค้าทำมาหากินไม่ได้ ก็คงเดือดร้อน เราก็โอเค แค่กรุณาให้ยืมใช้ hoist ก็ดีใจจะแย่ งานนี้ก็เลยต้องไปสอยอุปกรณ์ น้ำยากัดสนิม สีกันสนิม และอุปกรณ์สารพัดที่คิดว่าอาจจะต้องใช้ (ดูรูป) กะว่าให้เค้าเอาขึ้น hoist สลับยาง/ล้อ ให้เรียบร้อย แล้วก็ช่วยยกขึ้นไปสูง ๆ ให้เรา ให้เราทำงานได้แบบไม่ต้องนอนหงายใต้ท้องรถ ไม่ต้องนั่งยอง ๆ (อาจจะต้องแหงนหน้าเมื่อยคอเล็กน้อย) ถอดแผ่น skid plate ที่เป็น plastic ของเดิมที่มากับรถออกเพื่อเข้าถึงตำแหน่งที่เราเห็นสนิม (ตรงเพลามอเตอร์ กับข้อต่อก้านพวงมาลัย เล็ก ๆ ) ด้านหลังเราไม่รู้ เพราะไม่เคยมองเห็นจากด้านบน แต่เด้วก็จะเปลี่ยนแผ่น skid plate เหมือนกัน เด้วถอดออกมาก็รู้  พอกำจัดสนิมเสร็จ ขัดถู เราก็จะพ่นหรือทาสีกันสนิม และก็ใส่แผ่น skid plate คู่ใหม่ที่เราสอยมาจากอีเบย์เข้าไป เป็นแผ่นอลูมิเนียมหนาเกือบ 3 มม. เพื่อความสบายใจ จบงาน happy ทุกฝ่าย (หวังว่า)

ก็ไปถึงร้านตอน 18:30 ใกล้เวลาปิดร้าน ลูกค้าท่านสุดท้ายเอารถออก เราก็ได้ขึ้น hoist สลับล้อ ถ่วงล้อ อะไรที่เป็นบริการฟรีของเค้า เสร็จแล้วเค้าก็ยกรถขึ้นให้เราเหนือศีรษะ ด้วยความเกรงใจเค้า เราก็พกเอาแบตเตอรี่ 12V ที่เราประกอบเองกะ pure sine wave inverter ไปเพื่อใช้เสียบไฟ (มันกำลังจะมืด) ที่ร้านเค้าก็เปิดไฟดานไว้ให้เรา แต่เราก็ต้องการไฟส่องใต้พื้นท้องรถ แล้วก็เผื่อเอาไว้สำหรับเสียบ dremel ด้วย เผื่อต้องขัดสนิม เตรียมไปทั้ง dremel และแปรงลวดทองเหลืองปกติ เพราะไม่แน่ใจว่าเวลาทำงานจากด้านล่าง มันจะเข้าถึงตำแหน่งปัญหาได้ขนาดไหน

โชคดีว่าตำแหน่งมอเตอร์และไอ้เจ้าส่วนที่มีสนิมมันก็อยู่ใต้ skid plate พลาสติกแผ่นนั้นแหละ เป๊ะพอดี ไม่ต้องเอื้อม เอามือลูบคลำได้ถึงเลย ขัดได้ถนัด ตามคาด ด้านหลังก็มีสนิมเหมือนกัน ตำแหน่งส่วนเดียวกัน คือที่ต่อตรงออกมาจากมอเตอร์ (ดูรูป) ส่วนเพลามอเตอร์ที่ขึ้นสนิมนี้ ด้านหน้าจะทำงานง่ายกว่าเยอะ ด้านหน้าด้านซ้ายมือ (ด้านผู้โดยสาร) มันโล่งโจ๊ง ไม่มีอะไรมาบังใด ๆ ทั้งสิ้น แถมเวลาหมุนล้อ ส่วนนี้เค้าก็หมุนตามได้ เราก็ทาน้ำยากัดสนิม แล้วก็ขัดสนิมได้ถนัดถนี่ กระทั่งใช้ dremel ช่วยขัดก็ยังได้  ส่วนด้านขวาด้านหน้าจะทำงานลำบากกว่าเพราะมีกระปุกที่เป็นไส้กรองน้ำมันหล่อลื่นของมอเตอร์สีดำ ๆ ยาว ๆ ขวางอยู่ มันก็ยังยื่นแปรงลวดไปขัดได้ ยื่นพู่กันยาวเข้าไปทาน้ำยาได้ แต่จะเอา dremel ขัดคงจะไม่ถนัด และเราก็ไม่ยังไม่ทำอันตรายต่อกระปุกไส้กรองน้ำมันหล่อลื่นของมอเตอร์​ อีกส่วนนึงที่มีสนิมขึ้นเล็ก ๆ ตรงข้อต่อเพลาหมุนพวงมาลัย อันนี้ มือเอื้อมไม่ถึง แต่พู่กันยาวยื่นไปถึง แปรงลวดคงจะยื่นไม่ถึง แต่พู่กันถึง ก็สามารถทาน้ำยากัดสนิมได้ ทาสีกันสนิมได้

 
 
 
 
หลังจากทาน้ำยากัดสนิม Rust-Sov ก็เห็นผลเกือบ ๆ จะทันที มันก็ค่อย ๆ กัดสนิมออก เราก็ทาเพิ่ม 2-3 รอบ วนไปทาด้านหลัง แล้วก็กลับมาทำด้านหน้า สักพักนึงเค้าก็กัดออกจนเกือบหมดเรียกว่าเกือบจะขาวจั๊วะ แล้วเราก็ล้างน้ำออกตามคำแนะนำ เข้าใจว่าน้ำยาน่าจะเป็นกรด หลังจากนั้นส่วนที่ขัดแปรงทองเหลืองถึงก็ขัด มอเตอร์หน้าด้านซ้ายนี่ เอา dremel ติดแปรงลวด ขัดเลย เลยได้เหล็กเนื้อขาว ๆ หยั่งกะไม่เคยมีสนิมมาก่อนเหลือตรงส่วนที่เป็นวงแหวนด้านในที่ติดกับมอเตอร์ อันนั้นหมดปัญญาจริง ๆ แต่สนิมเค้าก็ไม่เยอะมากนะ

ส่วนด้านหลังนี่ลำบากกว่าเยอะ ประการแรกก็คือล้อตาย ขึ้น hoist แล้วก็หมุนล้อไม่ได้ ถ้ารู้มาก่อน จะกดจอในรถเข้า tow mode นี่ไม่รู้ขึ้น hoist ไปแล้ว คิดไม่ทันด้วย ก็เลยตามเลย พอหมุนไม่ได้ก็ทำงานลำบาก  เพลามอเตอร์หลังฝั่งขวาด้านคนขับจะทำงานง่ายกว่าฝั่งซ้าย แต่ไม่ง่ายเหมือนด้านหน้าอยู่ดี ตรงส่วนที่อยู่ด้านบนซึ่งเราไม่สามารถหมุนล้อเอาเค้าหันลงมาด้านล่างได้ เราก็เอามือ (ใส่ถุงมือ) ลูบ ๆ เอา น้ำยากัดสนิมนี่พอละเลงได้ด้วยพู่กันเพราะพู่กันมันยาว แต่ตอนทาหรือพ่นสีกันสนิม ด้านบนนี่ต้องเอานิ้ว (ที่ใส่ถุงมือ) จุ่มสีแล้วทาเอา เรียกว่าคลำเอาเพื่อทา  ถ้าต้องทำอีกทีตอนนี้ จะให้น้องที่ร้านเค้าเอารถลงมาวางที่พื้น เปิดประตูเข้าไปกดจอให้เข้า tow mode แล้วยกขึ้นไปใหม่ คราวนี้น่าจะหมุนล้อได้  ตอนนั้นมัวแต่รีบ ๆ ทำ คิดไม่ออก

ก็ราบรื่นดีเกินคาด น้ำยากัดสนิมนี่ก็เวิ้คสุด ๆ ตอนล้างน้ำก็ทุลักทุเลเล็กน้อย เนื่องเราไม่กล้าไปขอสายยางเค้ามาฉีดน้ำ กลัวทำพื้นร้านเค้าเลอะเทอะ ก็เอาใส่กระบอกฉีดน้ำเอา เราคิดว่าไอ้เจ้าน้ำยานี่มันต้องเป็นกรดอะไรแน่ ๆ เลย ตอนมันกระเด็นโดนผิวหนังเรามันแสบ ๆ คัน ๆ (นี่ขนาดใส่ถุงมือตลอด) ที่เรากังวลก็คือกลัวน้ำยามันไปถูกส่วนยางแล้วทำอันตราย บังเอิญไอ้เจ้าน้ำยากันสนิมเราเค้าก็ไม่ยอมบอกว่าทำมาจากอะไร แต่เท่าที่สืบค้นบนเว็บเค้ายืนยันว่าน้ำยากัดสนิมที่เป็น commercial grade ส่วนใหญ่จะถูกปรุงมาแล้วว่าไม่ทำอันตรายต่อยางหรือพลาสติก ก็ถ้าใครมีสายยางฉีดน้ำก็ล้างน้ำออกเยอะ ๆ หน่อยก็น่าจะโอเค  ความกังวลอันที่สองก็มาจากสีกันสนิมนั่นแหละ ถ้ามันมีส่วนผสมของพวก organic solvent เช่น toluene มันก็อาจจะกัดยาง ละลายยางหรือทำให้ยางเสื่อมคุณภาพ อันนี้ก็เหมือนเดิม เราก็พยายามอ่านกระป๋องของน้ำยาพ่นและสีกันสนิมเรา มันก็ไม่เขียนชัดเจนว่าเป็น rubber friendly รึเปล่า ส่วนสีพ่นนี่มันไม่ค่อยน่าไว้ใจมากเพราะถ้าไม่ได้ห่อส่วนต่าง ๆ ให้มิดชิดแล้วพ่นสะเปะสะปะ สีจะฟุ้งมาก เด้วอาจจะมีรายการยางละลายกันเละเทะ จ็อบนี้เราก็เลยใช้การทาเป็นส่วนใหญ่ เพราะเราสามารถควบคุมการทาของเราให้มันอยู่บนเฉพาะชิ้นส่วนโลหะที่เคยขึ้นสนิม แต่ก็มีแอบพ่นไปบ้าง ตรงส่วนที่เข้าถึงได้ แต่เราก็พยายามห่อกระดาษหนังสือพิมพ์ส่วนอื่น ๆ ไว้มิดชิดแล้วก็พ่นน้อยมาก เฉพาะตรงส่วนที่เข้าถึงจริง ๆ

 
ทาไปทามา ไอ้รอยขีดสีขาว ๆ ที่เทสล่าเค้าขีดป้ายไว้ที่โรงงานก็ถูกสีดำกันสนิมกลับสนิท มองไม่เห็นอีกต่อไป ส่วนหน้าเนื่องจากจะทำการพ่น ก็เลยต้องหากระดาษหนังสือพิมพ์มาปูปิดส่วนอื่นให้มิดชิดก่อนพ่น ด้านหลังคับแคบเข้าถึงยาก ด้านหลังเราเลยไม่ได้พ่นน้ำยากันสนิม ใช้ทาอย่างเดียว ตรงส่วนด้านในและด้านบนที่ไม่สามารถหมุนล้อให้เค้าพลิกมาได้ ก็ใช้นิ้วจุ่มสีกันสนิมป้าย ๆ เอา ใช้วิธีคลำ แต่ก็คิดว่าทาได้ทั่วถึงอยู่

แป๊บเดียว สีก็แห้ง ก็ถึงเวลาใส่ skid plate อลูมิเนียมแผ่นใหม่ที่ซื้อมาลงไป ปรากฎแผ่นหน้ามีปัญหา มันมีอยู่สองรูซึ่งแผ่นพลาสติกเดิมเค้าเป็นเบ้าหลุมลงไปเพื่อให้ขันน็อต (น็อตในที่นี้หมายถึง nuts หรือวงแหวนรูปหกเหลี่ยม คนไทยชอบเรียกตะปูเกลียวหรือ screw ว่าน็อต จริง ๆ แล้วเรียกผิดกัน ส่วน nuts ที่ฝรั่งเรียก ๆ กัน หมายถึงวงแหวนที่หมุนเข้าไปกับสกรูเพื่อยึดให้แน่น) ไอ้เจ้าแผ่นอลูของใหม่ที่ซื้อมาตรงส่วนนี้มันเป็นหลุมลึกไม่เท่ากับหลุมบนแผ่นพลาสติกของเดิม ทำให้สกรู bolt ที่ยื่นมามันยาวไม่พอจะหมุนแหวน nuts คืนลงไปได้ ส่วนรูอื่น ๆ ที่ยึดด้วยสกรูหัวหกเหลี่ยม 10 มม. นั้นไม่มีปัญหา  อีกเรื่องนึงก็คือตรงกลางด้านหลัง เดิมแผ่นพลาสติกเข้ามาเต็มแผ่น แต่แผ่นอลูของใหม่ดันมีช่อง ไม่รู้ทำไว้เพื่อระบายน้ำรึเปล่า ช่องสี่เหลี่ยมเล็ก ๆ ซึ่งบังเอิญว่าอยู่ตรงกับสายไฟเส้นใหญ่ ๆ สีส้ม ๆ พอดี๊ พอดี ด้วยปัญหาสองประการดังกล่าว ทำให้เราตัดสินใจ ใส่แผ่นพลาสติกเดิมกลับเข้าไปสำหรับด้านหน้า เด้วจะต้องไปแก้ไขงานเล็กน้อย (กะว่าจะไปตัดแผ่นอลูมาแปะตรงช่องระบายน้ำเค้า) แล้วก็หาข้อต่อสกรู (เป็นเกลียวหุน 3/8 inch หรือ 3 หุน) มาทำให้ตัวสกรูมันยาวยื่นออกมาสัก 1-2 ซม. แล้วก็จะน่าจบงานได้ แต่อันนั้นก็หมายความว่าต้องกลับไปขอเค้าใช้ hoist อีกรอบ หรือเราอาจจะพิจารณาไปให้ร้านพ่นกันสนิมเค้าพ่นตรงซุ้มล้อ ซึ่งหลังจากได้ตรวจงานโดยละเอียดตรงช่วงล่าง นอกจากตรงส่วนเพลามอเตอร์ด้านหน้าและด้านหลัง และข้อต่อเพลาพวงมาลัยเล็ก ๆ ที่ขึ้นสนิมแล้ว เรายังตรวจไม่เจอสนิมที่อื่น ๆ เลย เนื่องจากโลหะที่ใช้ส่วนใหญ่เป็นโลหะผสม อลูมิเนียมบ้าง เหล็กกล้าบ้าง​(ตรงส่วนโครง subframe ด้านหน้าและด้านหลัง รวมถึงส่วนที่ต้องรับแรงกระแทก) แต่ส่วนที่เป็นเหล็กกล้า ทางเทสล่าเค้าก็จัดการพ่นหรือทำสีกันสนิมมาเรียบร้อย ส่วนที่เป็นตะเข็บรอยต่อ ก็มีการพ่นปะรอยต่อมาเรียบร้อยเหมือนกัน เราตรวจดูใกล้ ๆ ก็ไม่พบร่องรอยสนิมอะไร เหลือแต่ว่าที่สนใจจะไปพ่นซุ้มล้อ หลัก ๆ ก็เพื่อจะไปพ่นเก็บเสียบแค่นั้นเอง

ก็ต้องกราบขอบพระคุณท่านเจ้าของร้านยางหน้าปากซอยที่ให้ยืม hoist งานนี้เราก็แอบจ่ายค่าล่วงเวลา ค่าไฟ (เพดาน)  ค่าน้ำ (2 ขัน) ที่ไปขอมาล้างน้ำยากัดสนิม ไป 1500 บาท ก็ได้ความสบายใจ ยังเหลือแต่เรื่อง skid plate แผ่นหน้าที่เด้วต้องแอบปิดรูแล้วก็หาตัวต่อน็อต (สกรู) ยาวมาก่อนแล้วค่อยใส่เข้าไปได้

สำหรับใครที่อ่านแล้วเกิดกลัวสนิมกัดกร่อน เราก็จะปลอบใจว่าชิ้นส่วนตรงนี้ ดูมันเหมือนเป็นเหล็กหนามาก ๆ เราก็ไม่เข้าใจว่าทำไมเทสล่าเค้ามาทำ galvanized ใช้ stainless steel หรือทำสี ทำกันสนิมมาโรงงานให้เรียบร้อย แต่ถ้าจะปล่อยให้สนิมมันกัดกร่อนไปจริง ๆ เราคิดว่าน่าจะเกิน 20-30 ปี กว่ามันจะกัดกร่อนได้เหลือเป็นก้างปลา เพราะเหล็กมันหนาจริง ๆ เหมือนทั้งแกนจะเป็นเหล็ก


 
แผ่นอลูมิเนียมด้านหลัง หน้าตาใกล้เคียงกับแผ่นพลาสติกของเดิม สามารถติดแทนกันได้ไม่มีปัญหา ตรงด้านล่าง (ตรงนั้นคือส่วนหน้าเมื่อติดเข้าไปที่รถ) มันเป็นรูปตัวยูเหมือนกับแผนพลาสติกของเดิมที่แตกต่างคือแผ่นอลูของใหม่จะมีช่องเซอร์วิส (ซึ่งไม่รู้ว่าจะมีไว้ทำไม กรณีของ Model S เจ้า pyrofuse เค้าอยู่ด้านล่าง แต่ใน Model 3/Y pyrofuse เค้าอยู่ตรง penthouse ใต้เบาะหลัง  นอกจากนี้แผ่นอลูยังมีช่องแบน ๆ เป็นทาง ๆ เหมือนครีบเหงือกของปลาฉลาม ไม่แน่ใจว่าจะให้น้ำไหลออกได้รึเปล่า แต่จากรอยหวัม รอยนูน มันไม่ส่วนที่ต่ำที่สุดของแผ่นสักหน่อย  นอกจากนี้แผ่นอลูมิเนียมยังมีฟองน้ำบุด้านใน คงจะเอาไว้ซับเสียงละมัง  เอาเหอะ ใส่เข้าไปได้ก็ดีใจจะแย่

 
ปรากฎว่าแผ่นอลูด้านหน้าคือส่วนที่มีปัญหา จากรูปซ้ายจะเห็นว่าวงรีด้านบนซ้ายสุดแสดงให้เห็นว่ามันเบี้ยว ใช่ฮะ ขนาดใส่กล่องชิปข้ามโลกมาอย่างดี ส่วนนี้มันคงอยู่ด้านล่าง แล้วมันก็งอ แต่อลูนี่เค้านัดง่ายฮะ แต่คิดว่าต้องไปดัดที่บ้าน ส่วนที่สองที่มีปัญหาก็คือตรงที่วงรีนอน ๆ ไว้ตรงกลางด้านบน (วงรีสีน้ำเงินตรงกลาง รูปซ้าย) หรือวงรีสีแดงรูปด้านขวา แผ่นพลาสติกเดิมไม่มีตรงส่วนนี้ ไม่รู้ทำไมแผ่นอลูใหม่ถึงต้องมีมา พอวางลงไป มันก็เห็นเป็นรู และมองเห็นสายไฟสีส้ม ๆ พอดี๊ พอดี   ส่วนที่มีปัญหาอีกส่วนคือตรงที่วงกลมสีน้ำเงินไว้สองอันในรูปซ้าย ซึ่งก็คืออันเดียวกับที่ทำเครื่องหมายสี่เหลี่ยมสีเขียวไว้รูปขวา  ในแผ่นพลาสติกของเดิม ตรงส่วนนี้เค้าจะเป็นหลุมลงไปเพราะอันนี้เค้ายึดด้วย flange nuts เพราะมันมี bolt ขนาด 3 หุน size ประหลาด (วัดเมตริกได้ 9.8 มม. ซึ่งอ้วนกว่า สกรู 3 หุน ทั่วไป ซึ่งปกติจะวัดได้แค่ 9.55 มม) เจอแบบนี้เค้างงเลย แผ่นอลูใหม่ที่มาเค้าก็ทำเป็นหลุมไว้เหมือนกัน


Create Date : 17 กรกฎาคม 2565
Last Update : 27 กันยายน 2565 18:30:16 น. 0 comments
Counter : 1228 Pageviews.

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 
space

gollygui
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 6 คน [?]






space
space
[Add gollygui's blog to your web]
space
space
space
space
space