สาระน่ารู้เกี่ยวกับ แอร์บ้าน และระบบไฟฟ้าในบ้าน
Group Blog
 
All blogs
 
สารทำความเย็น R32

สารทำความเย็น R-32 กับการนำมาใช้ในเครื่องปรับอากาศแบบแยกส่วน (แอร์บ้าน)

ในตอนนี้หลายๆท่านอาจจะเริ่มได้ยินการพูดถึงสารทำความเย็นแบบใหม่ ที่ใช้ในเครื่องปรับอากาศแบบแยกส่วน สำหรับอาคารบ้านเรือน (แอร์บ้าน) ซึ่งนั่นก็คือสารทำความเย็นที่มีชื่อรหัสว่า R-32

ซึ่ง R-32 เป็นสารทำความเย็นอีกชนิด ซึ่งมันก็ไม่ได้เพิ่งเกิดขึ้นมาใหม่แต่อย่างได เพราะสารทำความเย็นตัวนี้ มีมาเป็นระยะเวลาพอสมควรแล้วแต่เพราะไม่ได้รับความนิยมในการนำมาใช้งาน ด้วยเหตุผลด้านความปลอดภัย มันจึงไม่ค่อยมีใครรู้จักมากนักในปัจจุบัน แต่ด้วยเหตุผลด้านสิ่งแวดล้อมและความต้องการในการหาสารทำความเย็นทดแทน ซึ่งมีเรื่องความคุ้มค่าเข้ามาร่วมด้วย จึงทำให้สารทำความเย็น R-32 ถูกนำขึ้นมาพิจารณาใหม่อีกครั้ง และเริ่มนำมาใช้ในเครื่องปรับอากาศแบบแยกส่วนหรือที่เรารู้จักกันในชื่อของ “แอร์บ้าน”

โดยในเครื่องปรับอากาศที่จำหน่ายในตลาดบ้านเรานั้น สารทำความเย็นรหัส R-22 และ R-410a เป็นสารทำความเย็นตัวเดิม ที่มีใช้กันอยู่อย่างแพร่หลายในตอนนี้ แต่เพราะการเริ่มนำสารทำความเย็น R-32 มาใช้ในสินค้าที่ผลิตและจำหน่ายในบ้านเรา ในตอนนี้แวดวงเครื่องปรับอากาศในบ้านเราอาจจะถึงคราวของการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่อีกครั้งเหมือนช่วงหลายปีก่อนที่เริ่มมีการนำ R-410a เข้ามาเริ่มใช้




เหตุที่กระแสของสารทำความเย็นตัวนี้เริ่มจะเป็นที่รู้จักของคนทั่วไป ส่วนหนึ่งนั้นมาจากโฆษณาเครื่องปรับอากาศรุ่นใหม่จากค่าย DAIKIN ซึ่งได้มีการเปิดตัวเครื่องปรับอากาศรุ่นใหม่ ที่ใช้สารทำความเย็น R-32 เมื่อช่วงต้นเดือนมีนาคมที่ผ่านมานี่เอง นั่นจึงทำให้ชื่อของ R-32 เริ่มเป็นที่รู้จัก และเริ่มได้รับความสนใจจากผู้คนทั่วไป




ซึ่งในความจริงนั้นสารทำความเย็นตัวนี้ มีที่มาที่ไปอย่างไร มีคุณสมบัติ ข้อดี-ข้อเสีย และลักษณะทางกายภาพที่แปลกไปจากสารทำความเย็นอื่นหรือเปล่า และที่สำคัญมันดีจริงตามที่ผู้ผลิตอวดอ้างหรือไม่ วันนี้ผู้เขียนจึงขอรวบรวมข้อมูลที่เกี่ยวกับสารทำความเย็นตัวนี้มาเขียนเป็นบทความชุดขึ้นมา เพื่อเป็นข้อมูลเพิ่มเติมให้กับผู้บริโภคที่สนใจได้รับรู้ข้อเท็จจริงที่เกี่ยวกับสารทำความเย็นตัวนี้


จุดเริ่มต้นของการใช้สารทำความเย็น R-32

สารทำความเย็น R-32เริ่มเป็นที่รู้จัก และมีการพูดถึง โดยเฉพาะในประเทศญี่ปุ่นเองในตอนนี้ก็ได้มีการประชาสัมพันธ์ และโปรโมทกันอย่างแพร่หลาย รวมถึงประเทศอื่นๆอีกหลายประเทศทั่วโลก

โดยประเทศที่เริ่มให้ความสนใจในการพัฒนาระบบเครื่องปรับอากาศ ที่ใช้งานกับสารทำความเย็น R-32 อย่างเป็นจริงเป็นจัง ก็คือประเทศญี่ปุ่นนั่นเองจึงไม่แปลกที่สารทำความเย็นตัวนี้ กำลังเป็นที่พูดถึงมากในประเทศญี่ปุ่น


และการใช้สารทำความเย็น R-32 ก็ได้แผ่อิทธิพลเข้ามาถึงประเทศไทยเมื่อไม่นานมานี้ โดยเข้ามาทางผู้ผลิตเครื่องปรับอากาศที่เป็นแบรนด์ของญี่ปุ่น ซึ่งเมื่อเริ่มมีการนำมาใช้งานในตลาดบ้านเราทำให้ผู้จัดจำหน่ายสารทำความเย็นรายใหญ่ของไทย อย่างทาง Blue Planet Refrigerant เริ่มให้ความสนใจ และได้ดำเนินการนำเข้าสารทำความเย็น R-32 เข้ามาในประเทศไทย เป็นรายแรกๆเพื่อเตรียมที่จะรองรับความต้องการใช้งานในอนาคต




ข้อมูลทางกายภาพเกี่ยวกับสารทำความเย็น R-32

R-32 หรือ HFC32 จัดอยู่ในกลุ่ม Single Substance หรือสารประกอบ

มีจุดเดือดที่ - 52 C (ติดลบ 52 องศาเซลเซียส)

ค่าแรงดัน(แรงดันไอ) ที่ระดับอุณหภูมิห้อง ของสารทำความเย็น R-32 จะอยู่ในระดับที่สูงสุด เมื่อเทียบกับสารทำความเย็นในเครื่องปรับอากาศแบบแยกส่วน ที่เรามีใช้กันอยู่ในปัจจุบัน 

สำหรับสารทำความเย็นที่มีใช้กับเครื่องปรับอากาศแบบแยกส่วนในบ้านเรา 

ค่าแรงดันสารทำความเย็น (โดยประมาณ) ที่ระดับอุณหภูมิห้อง คือ

R-22 = 150 PSIG
R-410a = 250 PSIG
R-32 = 290 PSIG



ในส่วนของความสามารถในการนำพาความร้อน ของสารทำความเย็น R-32 คุณสมบัติในการถ่ายเทความร้อนนั้นจะสามารถทำได้ดียิ่งขึ้น แต่ทั้งนี้ก็ต้องขึ้นอยู่กับการออกแบบในส่วนของระบบเครื่องปรับอากาศด้วย เพราะประสิทธิภาพการทำงานของตัวเครื่องที่จะนำมาใช้งานจริงนั้น ตัวเครื่องและอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องจะต้องถูกดีไซน์ขึ้นมาอย่างถูกต้อง เป็นแบบเฉพาะที่เหมาะสมกับสารทำความเย็น R-32 




ความแตกต่างระหว่าง R-32 เมื่อเทียบกับ R-22 และ R-410a

สารทำความเย็น R-32 เป็นสารทำความเย็นชนิดใหม่ที่ถูกออกแบบขึ้นมาให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ต่างจากสารทำความเย็น R-22 ซึ่งเป็นสารทำความเย็นตัวเก่า ที่มีส่วนในการทำลายชั้นบรรยากาศของโลกและด้วยความที่ว่า สารทำความเย็น R 32 นั้นจะมีปริมาณของ Fluorine ต่ำ ส่วนนี้จึงช่วดบรรเทาเรื่อง GWP (Global Warming Potential) ไปได้ในระดับหนึ่งเลยทีเดียว

ด้วยเหตุผลที่ว่าสารทำความเย็น R-32 ที่จัดอยู่ในกลุ่ม Single Substance หรือสารประกอบ ซึ่งตรงจุดนี้ทำให้มันมีข้อแตกต่างกับ R-410a เพราะว่า R-410a เป็นสารที่อยู่ในกลุ่ม Azeotrope หรือสารผสมสองชนิด

แต่สารทำความเย็น R-32 จะมีความคล้ายคลึงกับ R-22 ตรงที่ตัวมันเองไม่ได้อยู่ในรูปของสารผสมแบบที่เป็นอยู่ใน R-410a คุณสมบัติทางเคมีในสารประกอบคือ อัตราส่วนของส่วนประกอบจะคงที่ซึ่งจะแตกต่างไปจากสารผสม

ด้วยคุณสมบัติของสารประกอบทำให้เครื่องปรับอากาศที่ใช้ R-32 มีความสะดวกในการซ่อมบำรุงเหมือนที่เป็นอยู่ใน R-22

เพราะสารทำความเย็น R-22 และ R-32 อยู่ในกลุ่มที่เรียกว่าสารประกอบ ทำให้การเติมเพิ่มเข้าไปในระบบภายหลัง สามารถทำได้ ไม่ต้องกังวลเรื่องผลกระทบที่เกี่ยวกับองประกอบทางเคมี Composition Shift 

แต่ในกรณีของสารทำความเย็น R-410a เนื่องจากมันเป็นสารผสม ตรงจุดนี้เองหากมีการรั่วของระบบ หรือมีความต้องการที่จะเติมสารทำความเย็นเพิ่มเข้าไปในภายหลัง จะไม่สามารถทำได้ง่ายเหมือนแบบที่เคยทำใน R-22

ด้วยความที่ว่ามันเติมเพิ่มเข้าไปในของเดิมที่มีอยู่ในระบบไม่ได้ ทำให้การเติมสารทำความเย็น R-410a เข้าไปในภายหลัง จะต้องถ่ายสารทำความเย็นเก่าที่มีอยู่เดิมออกจากระบบทั้งหมดเสียก่อน แล้วจึงจะเติมของใหม่เข้าไปได้

ตรงจุดนี้เองจึงทำให้การซ่อมบำรุงเครื่องปรับอากาศที่ใช้ R-410a ย่อมมีความสิ้นเปลืองกว่า R-32 และ R-22 เป็นแน่


ถ้าจะเทียบให้เห็นชัดๆคือ R-410a หากเกิดการรั่วซึมออกไปจากระบบ 30% คงเหลือในระบบเพียง 70% การจะเติมเข้าไปใหม่ให้เต็ม 100% ก็จะต้องถ่าย 70% ที่เหลืออยู่ทิ้งออกไปจากระบบเสียก่อน เพราะด้วยคุณสมบัติของมันที่เป็นอยู่ ทำให้ไม่สามารถเติมเข้าไปตามส่วนที่ขาดหายได้ และของเดิมใช้งานไม่ได้ต้องทิ้งไปหมด แล้วจึงจะเติมเข้าไปใหม่ให้เต็ม 100%

ต่างจาก R-32 และ R-22 ตรงที่ ถ้าหายไปจากระบบ 30% เหลืออยู่ในระบบ 70% ก็เติมเพิ่มไปในระบบอีก 30% ตามส่วนที่ขาดหายไปได้





ข้อควรระวัง ของสารทำความเย็น R-32

แม้ว่าสารทำความเย็น R-32 จะมีข้อดีในหลายๆด้าน เมื่อเทียบกับ R-22 และ R-410aแต่สารทำความเย็น R-32 ก็ยังมีเรื่องที่น่าเป็นห่วงอยู่หลายข้อแต่เรื่องที่เป็นด้านลบหรือโทษ เป็นสิ่งที่ผู้ผลิตเครื่องปรับอากาศที่นำสารทำความเย็น R-32 มาเป็นจุดขาย มักจะหลีกเลี่ยงที่จะไม่พูดถึงในการประชาสัมพันธ์ หรือในการโฆษณาโปรโมทสินค้า ในกลุ่มที่ใช้สารทำความเย็น R-32 ทำให้บางครั้ง ผู้บริโภคเอง อาจจะขาดข้อมูลในด้านนี้และยังรวมไปถึงช่างแอร์บางส่วนที่ไม่ได้ศึกษาข้อมูลให้ละเอียดก็อาจจะขาดความเข้าใจและความระมัดระวัง ในอันตรายที่แฝงไว้ในสารทำความเย็น R-32 เป็นเหตุให้เสี่ยงต่ออันตรายที่อาจจะเกิดขึ้น เพราะความรู้เท่าไม่ถึงการณ์


ข้อน่าเป็นห่วงและข้อควรระวังหลักๆ ของสารทำความเย็น R-32 ในแต่ละด้าน มีอยู่ด้วยกันดังนี้


ในด้านแรงดัน สารทำความเย็น R-32 นับว่าเป็นสารทำความเย็นที่มีแรงดันไอสูงที่สุดในบรรดาสารทำความเย็นที่ใช้กับเครื่องปรับอากาศแยกส่วน(แอร์บ้าน)เมื่อเทียบที่ในระดับอุณหภูมิห้อง โดยแรงดันไอของสารทำความเย็น R-32 จะสูงประมาณ 290 PSIG และแรงดันไอของ R-410a จะอยู่ที่ประมาณ 250 PSIG และท้ายสุดคือ R-22 ซึ่งมีแรงดันต่ำสุดในกลุ่มนี้ คือที่ประมาณ 150 PSIG

เพราะสารทำความเย็น R-32 มีแรงดันสูงมากสุด จึงมีความปลอดภัยน้อยสุดซึ่งน้อยกว่า R-410a และ R-22

ทำให้สารทำความเย็น R-32 ต้องถูกจัดเก็บในภาชนะที่แข็งแรงขึ้นกว่าเดิมมาก และต้องเก็บในพื้นที่ร่มเท่านั้น ในส่วนของการบรรจุในภาชนะหรือถังที่มีปริมาตรความจุเท่ากัน สารทำความเย็น R-32 จะบรรจุได้น้อยกว่า R-410a กว่าครึ่งหนึ่งเพรามีขนาดของโมเลกุลที่ใหญ่กว่า R410a จึงบรรจุลงในภาชนะที่มีความจุขนาดเดียวกันได้เพียงร้อยละ 60 ของ R410a เท่านั้น นี่จึงทำให้ต้นทุนด้านภาชนะบรรจุและการขนส่งมีอยู่สูงขึ้นตามไปด้วย

และอีกสิ่งที่ต้องระวังมากๆ คือการแบ่งบรรจุ หรือการแบ่งเติม , แบ่งขายน้ำยาประเภทนี้ ต้องใช้ผู้ที่ผ่านการอบรมและต้องมีความชำนาญ ไม่ใช่จะให้ใครมาทำก็ได้ เพราะหากดำเนินการอย่างรู้เท่าไม่ถึงการณ์ แรงดันในระดับนี้หากไม่ระมัดระวัง ก็อาจจะอันตรายถึงชีวิตเลยทีเดียว




ในด้านของการติดไฟได้ เป็นอีกสิ่งที่น่ากลัวของสารทำความเย็น R-32 เพราะมันเป็นสารติดไฟได้ จัดอยู่ใน Class A2 คือติดไฟได้แต่ไม่รุนแรงเท่ากลุ่ม A3 อย่างเช่นพวก R-290 

เหตุที่มันติดไฟได้ ก็เนื่องด้วยองค์ประกอบของสารทำความเย็น R-32 ที่มีอะตอมของ Hydrogen จำนวนมากกว่า เมื่อเทียบกับ R-410a ซึ่งจัดอยู่ใน Class A1

จึงทำให้ สารทำความเย็น R-32 สามารถลุกติดไฟได้ง่ายกว่า และยิ่งมีแรงดันที่มากกว่ามาเป็นตัวประกอบ ทำให้มีอันตรายมากยิ่งขึ้นตามไปด้วย ดังนั้น สารทำความเย็น R-32 จึงต้องมีการจัดเก็บเป็นอย่างดีและระมัดระวังเป็นพิเศษ

ปล.การจำแนกสารเคมี จากความเป็นพิษและความสามารถในการติดไฟ ตามมาตรฐาน

A1หมายถึง มีความเป็นพิษต่ำ / ไม่ใช่สารติดไฟ
A2 หมายถึง มีความเป็นพิษต่ำ / ติดไฟได้
A3 หมายถึง มีความเป็นพิษต่ำ / ติดไฟได้ง่ายมาก
B1 หมายถึง มีความเป็นพิษ / ไม่ใช่สารติดไฟ
B2 หมายถึง มีความเป็นพิษ / ติดไฟได้
B3 หมายถึง มีความเป็นพิษ / ติดไฟได้ง่ายมาก




สรุป การนำสารทำความเย็น R-32 มาใช้กับเครื่องปรับอากาศแบบแยกส่วนที่จำหน่ายในประเทศไทยนั้น ณ เวลานี้ถือว่าเป็นเรื่องที่ใหม่มากๆในแวดวงเครื่องปรับอากาศของบ้านเรา 

การใช้งานปกติ สำหรับแอร์ที่ใช้ R-32 หากได้รับการติดตั้งถูกต้องก็ไม่ใช่เรื่องน่าเป็นห่วง เพราะผู้ผลิตได้ออกแบบให้มีความปลอดภัยในการใช้งานอยู้แล้วตามมาตรฐานบังคับ หากติดตั้งโดยทีมจากจากศูนย์บริการ หรือช่างจากร้านผู้จำหน่ายที่ได้ผ่านการอบรมมาแล้ว ก็มั่นใจในการใช้งานได้

แต่เนื่องจากสารทำความเย็น R-32 นั้นมีแรงดันที่สูงมาก (เกือบ 300 PSIG) และยังติดไฟได้ จึงทำให้มันยังคงมีอันตรายอยู่พอสมควร การให้บริการติดตั้งและซ่อมบำรุง โดยผู้ที่ขาดความรู้ความชำนาญถือเป็นการเสียงต่ออันตรายมากๆ ซึ่งหากเกิดอุบัติเหตุขึ้นจากความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ มันก็อาจจะเป็นอันตรายถึงชีวิตได้ นี่จึงเป็นสิ่งที่ช่างผู้ให้บริการ ควรให้ความสำคัญในด้านความปลอดภัยมาเป็นอันดับแรก 

สำหรับช่างผู้ปฏิบัติงานเกี่ยวกับระบบแอร์ ก็ควรตระหนักในด้านความปลอดภัยมาเป็นอันดับแรก ซึ่งหากตัวของช่างเองไม่ได้ผ่านการอบรมโดยตรง หรือไม่มีความรู้ในรายละเอียดของ R-32 มากพอ ก็ไม่ควรจะรับงานแอร์ที่ใช้ R-32 เพราะการดันทุรังรับงานโดยที่รู้จักกับมันแค่งูๆปลาๆ ท้ายที่สุดอาจจะเกิดอุบัติเหตุไม่คาดฝันขึ้นได้



ท้ายที่สุดอยากพูดในส่วนความเห็นส่วนตัวเพิ่มเติม 

เพราะหากท่านใดที่อ่านบทความจนมาถึงตอนนี้ บางท่านอาจจะสังเกตุเห็นว่าผู้เขียนเน้นยำด้านความปลอดภัยค่อนข้างมาก และอาจจะทำให้บางท่านมองว่าผู้เขียนกังวลเกินไปหรือเปล่า ซึ่งหากใครได้ผ่านการอบรบ และศึกษาค้นคว้าเพิ่มเติมจากข้อมูลทางวิชาการ ของประเทศที่ใช้กันแล้วได้เขียนไว้ ก็จะเข้าใจในคุณสมบัติและตระหนักถึงอันตรายหากปฏิบัติงานไม่ถูกต้อง

จริงอยู่ที่ประเทศที่พัฒนาแล้วหลายประเทศ ต่างใช้ R-32 กันอย่างแพร่หลายโดยทั่วไป ซึ่งส่วนหนึ่งเพราะมาตรฐานของประเทศเหล่านี้ เขายึดถือกันอย่างเคร่งครัด ตามคติของฝรั่งที่ว่า "Safety First" แต่การนำมาใช้ในบ้านเรานี้ท่านต้องเข้าใจ ว่ามาตรฐานงานช่างของไทยเรา โดยเฉพาะตามท้องถิ่นรอบนอก ส่วนมากโดยทั่วไปก็ไม่ค่อยเน้นเรื่องความปลอดภัยสักเท่าไหร่ ยังคงมีมาตรฐานที่ต่ำและประมาทจนเกินไป นิยมใช้หลักการครูพักลักจำกันมา โดยที่ไม่ค้นคว้าเพิ่มเติมว่าที่จำกันมานั้นถูกต้องทั้งหมดหรือไม่ ถ้าจำที่ถูกมาก็ถือว่าดี แต่ถ้าจำที่ผิดๆมาใช้ก็อาจจะเจออุบัติเหตุได้ในวันใดวันหนึ่ง และการทำงานที่เกี่ยวกับแรงดันสูงๆนั้น มันก็มีความเสี่ยงอยู่เป็นทุนเดิมแล้ว หากไม่ใส่ใจด้านความปลอดภัยมากที่ควร ก็อาจจะเจอเหตุการณ์เหมือนที่เป็นข่าว อย่างแอร์ระเบิดฉีกร่างดับ ซึ่งเหตุการณ์เหล่านี้มักเกิดจากความประมาณรับงานโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ทั้งนั้น ลำพังแค่ R-22 ที่แรงดันต่ำกว่าเกือบครึ่ง ก็เคยระเบิดมาแล้วในกรณีที่ซ่อมบำรุงโดยถ่ายแรงดันออกมาจากระบบไม่หมด แต่นี่ R-32 ทั้งแรงดันสูงทั้งติดไฟ ความเสียหายก็ย่อมมีมากกว่าเป็นแน่ 

ถ้าหากอยากแสดงออกในการช่วยกันรักโลก โดยเลือกใช้แอร์ที่เป็นมิตรต่อชั้นบรรยากาศ ตามแบบที่ทำกันในประเทศพัฒนาแล้วหลายประเทศ ก็ต้องรู้จักปรับวิถีรูปแบบการทำงานให้ได้มาตรฐานตามเขาด้วย จึงจะดีที่สุด






Create Date : 02 เมษายน 2557
Last Update : 20 กุมภาพันธ์ 2558 9:31:25 น. 3 comments
Counter : 26962 Pageviews.

 
ขอบคุณสำหรับความรู้ใหม่ๆครับ สุดยอดครับ


โดย: นายประเสริฐ จารุวัฒนธรรม IP: 171.7.199.163 วันที่: 26 มิถุนายน 2557 เวลา:22:17:04 น.  

 
ผมนักศึกษา จากเทคนิคแห่งนึงนะครับ คือผมอยากทราบว่าการบรรจุสารทำความเย็นจอง r32 เหมือนกับน้ำยาตัวอื่นหรือป่าวครับ


โดย: นาย ณัฐยศ เชิดชิด IP: 223.206.184.211 วันที่: 14 กุมภาพันธ์ 2558 เวลา:10:15:34 น.  

 
ตอบ คห.2
โดยรวมก็คล้ายคลึงกันครับ แต่มีข้อควรระวังที่ต้องเน้นย้ำเป็นพิเศษในด้านการปฏิบัติงาน รวมทั้งเกจวัดแรงดันที่นำมาใช้ ต้องเป็นแบบที่รองรับ R-32 ได้ด้วย


โดย: KanichiKoong วันที่: 16 กุมภาพันธ์ 2558 เวลา:7:09:14 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

KanichiKoong
Location :
สงขลา Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 275 คน [?]




ช่องทางการติดต่อผู้จัดทำ

- หลังไมค์
- E-mail : aum_tawatchai@hotmail.com
-------------------------------------
เนื้อหาที่ปรากฏ อนุญาติให้นำไปใช้เพื่อการศึกษา/หาความรู้ ซึ่งไม่เป็นการนำไปใช้ในเชิงธุรกิจ
-------------------------------------
New Comments
Friends' blogs
[Add KanichiKoong's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.