*** พื้นที่ส่วนตัวของ พันตำรวจเอก ดร. ศิริพล กุศลศิลป์วุฒิ รองผู้บังคับการกองคดีอาญา สำนักงานกฎหมายและคดี นี้ จัดทำขึ้นเพื่อยืนหยัดในหลักการที่ว่า คนเรานั้นจะมีความเป็นมนุษย์โดยสมบูรณ์ได้ ก็ต่อเมื่อมีเสรีภาพในการแสดงความคิดโดยบริบูรณ์ และความเชื่อที่ว่าคนเราเกิดมาเสมอภาคและเท่าเทียมกัน ไม่มีอำนาจใดจะพรากความเป็นมนุษย์ไปจากเราได้ ไม่ว่่าด้วยวิธีการใด ๆ และอำนาจผู้ใด ***
*** We hold these truths to be self-evident, that all men are created equal, that they are endowed by their Creator with certain unalienable rights, that among these are life, liberty and the pursuit of happiness. That to secure these rights, governments are instituted among men, deriving their just powers from the consent of the governed. That whenever any form of government becomes destructive to these ends, it is the right of the people to alter or to abolish it, and to institute new government, laying its foundation on such principles and organizing its powers in such form, as to them shall seem most likely to effect their safety and happiness. [Adopted in Congress 4 July 1776] ***
Group Blog
 
All Blogs
 
จะทำให้การสอบสวนและรวบรวมพยานหลักฐานมีประสิทธิภาพขึ้นได้อย่างไร



พ.ต.อ.ศิริพล กุศลศิลป์วุฒิ , J.S.D.-LL.M. (Illinois), LL.M.(IUB), นม.(กม.มหาชน) (มธ.), รม.(บริหารรัฐกิจ) (มธ.), น.บ.ท. (สมัย ๕๓), นบ.(เกียรตินิยม) (มธ.) และ รป.บ.(ตร.)(รร.นรต.)
๑) ความคาดหวังของสังคม : การปฏิรูปตำรวจตามรัฐธรรมนูญฯ มาตรา ๒๕๘(ง) จะทำให้เกิดความเชื่อมั่นในการปฏิบัติหน้าที่ของพนักงานสอบสวนในการสอบสวนคดีอาญา ไม่มีการจับกุมผิดตัว และสามารถอำนวยความยุติธรรมได้อย่างรวดเร็ว
๒) สภาพปัญหาที่เป็นอุปสรรคขัดขวางความคาดหวังของสังคม
๒.๑) ความเชื่อมั่นและฐานคติต่อตำรวจ แตกต่างจากพนักงานอัยการและผู้พิพากษา ทำให้สังคมเชื่อว่า การดำเนินคดีอาญาชั้นพนักงานอัยการและศาลจะต้องละเอียดรอบคอบ จึงสามารถใช้เวลาได้ยาวนานในการพิจารณาสั่งคดีและการพิจารณาในชั้นศาล
๒.๒) ในทางตรงกันข้าม สังคมมีฐานคติต่อตำรวจที่เชื่อว่า การควบคุมตัวชั้นตำรวจจะต้องสั้นที่สุด และตำรวจจะต้องดำเนินการอย่างรวดเร็วที่สุด ไม่สามารถดำเนินการใด ๆ ที่อาจจะกระทบกระเทือนต่อสิทธิและเสรีภาพของประชาชนได้ ดังจะเห็นได้จาก บทบัญญัติใน ป.วิ.อาญา ที่กำหนดให้มีการควบคุมตัวผู้ต้องหามีระยะเวลาจำกัด ไม่เกิน ๔๘ ชั่วโมง ในคดีอาญาทั่วไป (ศาลจังหวัด) หรือ การไม่สามารถบังคับตรวจสอบพยานหลักฐานทางนิติวิทยาศาสตร์ได้
๒.๓) การไม่มีกฎหมายและระเบียบรองรับการปฏิบัติ ตาม ป.วิ.อาญา มาตรา ๗๘(๒)​ ในการจับกุมตัวผู้ที่ยังไม่ถูกกล่าวหาว่ากระทำผิด แต่น่าเชื่อว่าจะได้กระทำผิด
๒.๔) การไม่ยอมรับคำรับสารภาพของผู้ต้องหาในชั้นจับกุม ตาม ป.วิ.อาญา มาตรา ๘๔ วรรคท้าย
๒.๕) การขาดเครื่องมือในการรวบรวมพยานหลักฐาน โดยวิธีการที่ทันสมัย สอดคล้องกับความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี เช่น ไม่มีกฎหมายที่ให้อำนาจตำรวจในการดักรับข้อมูลและพยานหลักฐาน (intercept law) ในคดีที่มีความยุ่งยากสลับซับซ้อน
๒.๖)ข้อจำกัดด้านทรัพยากรและงบประมาณในการสนับสนุนงานสอบสวนให้มีประสิทธิภาพ ตลอดจนการวางแผนทรัพยากรมนุษย์ที่สอดคล้องกับการปฏิรูปงานสอบสวน
๓) ผลดี ผลเสีย อันเกิดจากฐานคติที่ว่าตำรวจจะต้องมีเวลาดำเนินการสั้นที่สุด เร็วที่สุด
๓.๑) ผลดี
มีความเชื่อมั่นว่า มีมาตรการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชน ป้องกันมิให้ตำรวจกระทำมิชอบ บังคับ ขู่เข็ญ หรือบังคับให้เกิดการรับสารภาพ
๓.๒) ผลเสีย
(๑) การจำกัดระยะเวลาในการควบคุมผู้ถูกจับ ในชั้นจับกุมของตำรวจและพนักงานสอบสวนไว้เพียง ๔๘ นั้น ทำให้ไม่สามารถคุ้มครองสิทธิประโยชน์ของเหยื่ออาชญากรรมได้ เนื่องจากพนักงานสอบสวน ไม่สามารถรวบรวมพยานหลักฐานได้สมบูรณ์ แม้ตาม ป.วิ.อาญา จะไม่รวมระยะเวลาเดินทางจากสถานที่จับกุม ถึงที่ทำการพนักงานสอบสวน ก็ตาม แต่ระยะเวลาดังกล่าว ก็ยังไม่สามารถที่จะทำการสอบสวนปากคำผู้ต้องหา เพื่อให้ทราบข้อเท็จจริง และรายละเอียดต่าง ๆ ได้ โดยเฉพาะตามกฎหมายได้รับรองสิทธิในการพบและหารือทนายความไว้ แต่ก็รวมระยะเวลาดังกล่าวไว้ใน ๔๘ ชั่วโมงดังกล่าว จึงทำให้ระยะเวลา ๔๘ ชั่วโมงดังกล่าว ในทางข้อเท็จจริง จึงไม่อาจจะดำเนินการใด ๆ ได้ นอกจากการสอบปากคำผู้ต้องหาโดยไม่นำชี้ที่เกิด หรือการพาไปตรวจค้นสถานที่ต่าง ๆ เพื่อแสวงหาพยานหลักฐานทางคดีได้
(๒)​ การจำกัดระยะเวลาดังกล่าว ทำให้ไม่สามารถคุ้มครองสิทธิของผู้ต้องหาได้ ตาม ป.วิ.อาญา มาตรา ๑๓๑ ที่ให้พนักงานสอบสวนรวมรวมพยานหลักฐานทั้งปวง เพื่อพิสูจน์ความผิดและบริสุทธิ์ของผู้ต้องหาได้ ซึ่งในระยะเวลาอันนั้น พนักงานสอบสวนย่อมไม่สามารถเป็นที่ไว้วางใจที่จะให้ผู้ต้องหาเชื่อมั่นที่จะให้การเพื่อแสดงถึงพยานหลักฐาน รวมถึงพยานบุคคลที่ทำให้ผู้ต้องหาพ้นข้อกล่าวหาได้ การสอบสวนที่ระบุถึงรายละเอียด บุคคล หรือวัตถุต่าง ๆ ในระยะเวลาตั้งแต่ชั้นจับกุมและสอบสวน ย่อมจะแสดงให้เห็นถึงความบริสุทธิ์ใจ แต่ถ้าผู้ต้องหาไม่ได้กล่าวอ้างตั้งแต่ต้นแล้ว ย่อมเป็นที่สงสัยในชั้นพิจารณาและไม่เป็นที่น่าเชื่อถือ
(๓) การจำกัดระยะเวลา ๔๘ ชั่วโมง นอกจากจะกระทบต่อสิทธิของเหยื่ออาชญากรรม และสิทธิของผู้ต้องหาข้างต้นแล้ว ย่อมกระทบต่อความน่าเชื่อถือของกระบวนการยุติธรรมโดยตรง เพราะหากเป็นผู้กระทำผิดจริง แต่บุคลากรในกระบวนการยุติธรรมตลอดจนชั้นศาลไม่สามารถพิพากษาลงโทษให้เป็นตัวอย่างได้ ระบบกฎหมายและโทษทางอาญา ย่อมไม่มีผลเป็นการยับยั้งผู้กระทำผิดได้ และไม่มีผลเป็นการป้องกันสังคมแต่ประการใดเลย ซึ่งจะสร้างความไม่น่าเชื่อถือต่อสังคม ทำให้เคลือบแคลงใจต่อประสิทธิภาพและความมั่นใจของสังคมต่อกระบวนการยุติธรรม
(๔) การจำกัดระยะเวลา ๔๘ ชั่วโมง ย่อมเป็นการทรัพยากรและงบประมาณแผ่นดินอย่างไม่สมควร แม้จะเป็นที่ยอมรับว่า งบประมาณในการบริหารงานยุติธรรมนั้น เป็นสิ่งที่จำเป็นเพื่อประโยชน์ของสาธารณชนก็ตาม แต่เนื่องจากทรัพยากรมีจำกัด หากทุ่มเทที่การบริหารงานยุติธรรมเพียงอย่างเดียว ย่อมไม่สามารถพัฒนาประเทศด้านอื่น ๆ ที่จำเป็นได้เลย การจำกัดระยะเวลา ๔๘ ชั่วโมงนั้น ทำให้ศาลจะต้องเปิดทำการวันเสาร์ในช่วงที่มีวันหยุดพิเศษเพิ่มเติม เพื่อดำเนินการทางธุรการในการรับฝากขังเท่านั้น การเปิดดำเนินการในเปิดทำการของศาล ย่อมจะต้องมีองคาพยพอื่น ๆ เช่น เจ้าหน้าที่ของศาลที่จะต้องดำเนินการทางธุรการ รวมถึงการดำเนินการของเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ในการนำตัวผู้ต้องหามายังศาลด้วย หรือดำเนินการธุรการอื่น ๆ ดังนั้น จึงทำให้เกิดภาระงบประมาณแผ่นดินขึ้นอย่างมหาศาลโดยไม่จำเป็นอย่างมาก
(๕) การจำกัดระยะเวลา ๔๘ ชั่วโมง ย่อมทำให้การสอบสวนในคดีที่่มีความยุ่งยากสลับซับซ้อนไม่สามารถดำเนินการได้อย่างมีประสิทธิภาพแล้ว สำหรับคดีที่ต้องสอบสวนโดยสหวิทยาการ เช่น นักจิตวิทยา พนักงานอัยการ หรือที่ปรึกษากฎหมายของเด็กและเยาวชน ย่อมไม่สามารถดำเนินการได้ทันเวลา จึงมีการดำเนินการด้วยวิธีการอื่น ๆ (ที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย) เพื่อหลีกเลี่ยงมิให้มีการจับกุมเด็กและเยาวชน ทำให้เด็กและเยาวชนไม่ได้รับความคุ้มครองตามกฎหมาย และยิ่งเกิดความเสียหายร้ายแรงต่อสังคมยิ่งขึ้นไปอีก
๔)​ ตัวอย่างในทางข้อเท็จจริงที่แสดงให้เห็นว่า ระยะเวลาการควบคุมตัวที่สั้นเกินไป มีผลต่อความสำเร็จของการสืบสวนสอบสวนคดีอาญา
คดีฆาตกรรมยกครัว ๘ ศพ ผู้ใหญ่บ้าน นายวรยุทธ สังหลัง ที่จังหวัดกระบี่ เมื่อวันที่ ๑๐ กรกฎาคม ๒๕๖๐ ซึ่งเป็นคดีร้ายแรงที่กระทบต่อความสงบเรียบร้อย จึงมีการใช้อำนาจควบคุมพิเศษตามคำสั่ง คสช.ที่ ๑๓/๒๕๕๙​ การป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิดบางประการที่เป็นภยันตรายต่อความสงบเรียบร้อยหรือบ่อนทำลายระบบเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ ลงวันที่ ๒๙ มีนาคม ๒๕๕๙ ที่ออกโดยใช้อำนาจตามมาตรา ๔๔ ซึ่งสามารถควบคุมตัวได้ ๗ วัน ไม่ได้ใช้อำนาจตาม ป.วิ.อาญา ปกติ คำสั่งดังกล่าว เป็นการให้อำนาจพิเศษเจ้าหน้าที่ เป็นพนักงานสอบสวน สามารถจับกุม ควบคุม สอบสวนสอบสวน และเข้าไปในสถานที่ต่าง ๆ โดยทำการควบคุมตัวได้ ๗ วัน ด้วยเหตุนี้ จึงสามารถซักถาม สอบสวนและค้นหาความจริงได้และแสวงหาพยานหลักฐาน นำไปสู่การจับกุมตัวผู้กระทำผิดได้
๕) วิธีการในการดำเนินการเพื่อแก้ไขปัญหาการสอบสวนที่ไม่มีประสิทธิภาพ เฉพาะเกี่ยวข้องกับการควบคุมตัวผู้ต้องหา และมาตรการอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง
๕.๑) แก้ไข ป.วิ.อาญา มาตรา ๘๗ วรรคสาม เพื่อให้มีการขยายระยะเวลาการควบคุมตัวผู้กระทำผิดในคดีศาลจังหวัดจาก ๔๘ ชั่วโมง เป็น ๗๒ ชั่วโมง เพื่อแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ตามที่ระบุไว้ข้างต้น โดยการควบคุมจะต้องไม่ยาวนานเกินไป อันเป็นการละเมิดต่อสิทธิและเสรีภาพเกินสมควร โดยระยะเวลา ๗๒ ชั่วโมงนั้น จะต้องไม่รวมระยะเวลา ดังนี้
(๑) ระยะเวลาเดินทางจากที่จับกุมมายังที่ทำการพนักงานสอบสวนตามปกติ
(๒) ระยะเวลาที่ผู้ต้องหารอพบทนายความ หรือการปรึกษาหารือกับทนายความ หรือที่ปรึกษากฎหมาย
(๓) ระยะเวลาในการรักษาพยาบาลอันเกิดจากการเจ็บป่วยปกติของผู้ถูกจับ
๕.๒) มาตรการอื่น ๆ ที่จำเป็นที่จะต้องแก้ไขไปพร้อม ๆ กัน
(๑) การออกกฎหมายเพิ่มเติมรองรับ ป.วิ.อาญา ที่ให้อำนาจเจ้าหน้าที่ตำรวจจับกุมได้ โดยไม่ต้องมีหมาย ตาม มาตรา ๗๘(๒) กล่าวคือ เมื่อพบบุคคลโดยมีพฤติการณ์อันควรสงสัยว่าผู้นั้นน่าจะก่อเหตุร้ายให้เกิดภยันตรายแก่บุคคล หรือทรัพย์สินของผู้อื่นโดยมีเครื่องมืออาวุธหรือวัตถุอย่างอื่น อันสามารถอาจใช้ในการกระทำความผิด
ในกรณีนี้ เมื่อมีเหตุสงสัยว่ากระทำผิด แต่ยังไม่มีคำร้องทุกข์ หรือกล่าวโทษ แต่เป็นการที่ตำรวจพบตัวผู้ต้องสงสัยนั้นก่อน กรณีนี้ ตาม ป.วิ.อาญา มาตรา ๗๘(๒) ก็ให้อำนาจแก่ตำรวจที่จะควบคุมไว้แล้ว แต่ปัญหาคือ เมื่อปรากฏในภายหลังว่า โดยให้เพิ่มเติม มาตรา ๘๗ วรรคสาม ให้ได้ความว่า ในกรณีที่จับกุมโดยมีเหตุสงสัยตามสมควรโดยชอบแล้ว แม้ภายหลังจะกฎว่าไม่มีการกระทำผิดเกิดขึ้น ให้สามารถควบคุมได้ ๔๘ ชั่วโมง หากไม่มีพยานหลักฐานว่าได้กระทำผิดให้ปล่อยตัวผู้นั้น เว้นแต่ ผู้บังคับการตำรวจ จะพิจารณาแล้วมีเหตุผลอันสมควรจะควบคุมตัวไว้ต่อไปเพื่อแสวงหาพยานหลักฐาน แต่ทังนี้ จะต้องไม่เกิน ๗๒ ชั่วโมง
การเพิ่มเติมกฎหมายดังกล่าว จะมีความสอดคล้องกับหลักกฎหมายจารีตประเพณีมาอย่างยาวนาน ทั้งสหรัฐ และสหราชอาณาจักร เช่น กฎหมาย PACE ของสหราชอาณาจักร มาตรา ๔๑,๔๒ และมาตรา ๔๓​ รวมถึงกฎหมายขอประเทศอื่น ๆ หลักการนี้ เรียกว่า Detention without charge ซึ่งถือว่า เป็นการควบคุมตัว แต่ไม่ใช่การจับกุม ซึ่งมีการใช้การมาอย่างต่อเนื่องยาวนาน โดยมีจุดกำเนิดประมาณ ๑๐๐ ปี ภายหลังจากมีการประกาศใช้ Magna Carta ใน ค.ศ.๑๒๑๕ โดยการควบคุมตัวไว้ แม้จะไม่มีการฟ้องร้องผู้ถูกจับ ในหลายประเทศ เช่น Czech Republic (มาตรา ๘ ของ Charter of Fundamental Rights and Basic Freedom of the Czech Republic ) ส่วนในความผิดร้ายแรง อาจจะมีการควบคุมตัวผู้กระทำผิดอย่างไม่จำกัดเวลา เช่น ตามกฎหมาย USA PATRIOT มาตรา ๔๑๒
(๒) การกำหนดมาตรการอื่น ๆ เช่น การออกกฎหมายดักรับข้อมูล ในคดีร้ายแรง หรือสลับซับซ้อน การกำหนดมาตรการในการสืบสวนก่อนรับคำร้องทุกข์ได้ เป็นต้น



Create Date : 16 มกราคม 2561
Last Update : 16 มกราคม 2561 17:16:22 น. 0 comments
Counter : 1780 Pageviews.

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

POL_US
Location :


[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 82 คน [?]




คลิ๊ก เพื่อ Update blog พ.ต.อ.ดร. ศิริพล กุศลศิลป์วุฒิ ได้ที่นี่
https://www.jurisprudence.bloggang.com






รู้จักผู้เขียน : About Me.

"เสรีภาพดุจดังอากาศ แม้มองไม่เห็น แต่ก็ขาดไม่ได้ "










University of Illinois

22 Nobel Prize & 19 Pulitzer Prize & More than 80 National Academy of Sciences (NAS) members







***คำขวัญ : พ่อแม่หวังพึ่งพาเจ้า

ครูเล่าหวังเจ้าสร้างชื่อ

ชาติหวังกำลังฝีมือ

เจ้าคือความหวังทั้งมวล



*** ความสุข จะเป็นจริงได้ เมื่อมีการแบ่งปัน :

Happiness is only real when shared!














ANTI-COUP FOREVER: THE END CANNOT JUSTIFY THE MEANS!






Online Users


Locations of visitors to this page
New Comments
Friends' blogs
[Add POL_US's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.