Group Blog
ธันวาคม 2561

 
 
 
 
 
 
1
2
3
4
5
6
7
8
9
10
11
12
13
14
16
17
18
19
20
21
22
23
24
25
26
27
28
29
30
31
 
 
All Blog
การรักษาแบบประคับประคอง




สาระสำคัญของการดูแลแบบประคับประคอง(palliative care) คือ การรักษาพยาบาล "ที่มุ่งเพิ่มคุณภาพชีวิต" ให้แก่ผู้ป่วยและครอบครัว(สังเกตว่าแอดไม่ได้บอกว่ามุ่งให้ "หายจากโรค') เพราะการดูแลแบบประคับประคองถูกออกแบบมาเพื่อเยียวยาผู้ป่วยที่โรคไม่อาจรักษาให้หายขาดได้แล้ว(หรือผู้สูงอายุที่อาการมีแต่ทรงกับทรุดตามสภาพร่างกายที่เสื่อมไปตามกาลเวลา)ให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีจนกระทั่งวาระท้ายของชีวิต



  • การรักษาอย่างเต็มที่” เริ่มต้นจากการรักษาที่เจ็บปวดน้อยที่สุด เช่น การกินยา การพ่นยา หากอาการไม่ดีขึ้นหรือแย่ลง หมอถึงจะให้การรักษาเพิ่มขึ้น เช่น การคาเข็มเพื่อให้ยาและน้ำเกลือทางหลอดเลือดดำ การให้ยากระตุ้นความดันฯ การใส่ท่อช่วยหายใจ กระทั่งการปั๊มหัวใจเพื่อยื้อชีวิตกลับมา
  • ในขณะที่การรักษาอีกทางหนึ่งคือ “การรักษาแบบประคับประคอง” ไม่ยืดวาระสุดท้ายของชีวิตออกไป ในแง่นี้ไม่ได้หมายความว่าคนไข้จะไม่ได้รับการรักษาอะไรเลย แต่หมอจะรักษาตามอาการไม่ให้ทรมาน ซึ่งเป็นการรักษาด้วยยาเท่าที่จำเป็น และหลีกเลี่ยงการรักษาที่ทำให้เกิดความเจ็บปวดในข้อแรก
  • การจะเลือกรักษาแบบใดนั้นขึ้นอยู่กับความต้องการของคนไข้ซึ่งอาจสั่งเสียไว้ก่อนแล้ว หรือญาติตกลงกันเพื่อตัดสินใจแทน หากเห็นว่า “การรักษาอย่างเต็มที่” ไม่เป็นผลดีต่อคนไข้แล้ว ก็สามารถแจ้งหมอเจ้าของไข้เพื่อเปลี่ยนเป็น “การรักษาแบบประคับประคอง” ได้ทุกขั้นตอน

ความตาย สำหรับคนทั่วไปเป็นเรื่องที่ผ่านพบมาไม่บ่อยนัก

หากไม่นับญาติห่างๆ หรือคนรู้จักที่ต้องไปร่วมงานศพ ครั้งล่าสุดที่ญาติในครอบครัวของผมเสียชีวิต คือคุณตาเมื่อ 2 ปีที่แล้ว ประสบการณ์เกี่ยวกับวาระสุดท้ายของชีวิตของผมในฐานะคนทั่วไปจึงน้อยมาก ยิ่งถ้าจะต้องมีส่วนร่วมในการลงความเห็นว่าคนใกล้ชิดควรจากโลกนี้ไปด้วยการรักษาแบบใดนั้น นับเป็นการตัดสินใจที่ยากลำบากยิ่ง

แต่สำหรับผมในฐานะหมอ ถึงแม้ความตายจะเป็นเรื่องที่ไม่พึงปรารถนา แต่ท้ายที่สุดแล้วก็ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ และพบผ่านเข้ามาแทบทุกวัน

“ผมควรจะปล่อยให้แกไปอย่างสงบที่บ้าน หรือพาแกไปโรงพยาบาลก่อนดีครับ” พี่ผู้ชายถามขึ้นระหว่างที่ผมมาเยี่ยมบ้านตามคำชวนกึ่งร้องขอของญาติ

เมื่อเช้าพี่ผู้ชายกับภรรยาไปที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) เพื่อขอพบผมและปรึกษาอาการของคนไข้—คุณตาสูงอายุ ตั้งแต่ความจำเสื่อมก็ไม่ลุกเดินไปไหน เริ่มติดเตียง จากนั้นก็ไม่ยอมตักข้าวกินเอง ต้องคอยป้อนข้าวและอาบน้ำเช็ดตัวให้มาระยะหนึ่งแล้ว

ความตั้งใจจริงของญาติคืออยากให้คุณตาค่อยๆ หลับและจากไปอย่างสงบ แต่พี่ผู้ชายเริ่ม “สังเกตว่าช่วงนี้เสมหะแกเยอะขึ้น”

“ก็เลยอยากถามคุณหมอถึงการดูดเสมหะ… หรือว่าการเจาะคอจะช่วยให้ดูดเสมหะได้ง่ายขึ้นรึเปล่า” ผมรับรู้ได้ทันทีว่าญาติกำลังอยู่ในภาวะยากลำบากและอาจต้องการข้อมูลเพิ่มเติมเพื่อประกอบการตัดสินใจ แต่เนื่องจากผมยังไม่เคยเจอคนไข้ จึงขอพี่เจ้าหน้าที่ รพ.สต. ลงไปเยี่ยมบ้านในตอนบ่ายก่อน

ผมเริ่มต้นจากการให้ญาติเท้าความให้ฟังตั้งแต่คุณตายังช่วยเหลือตัวเองได้ ซึ่งนอกจากผมจะได้ทราบลำดับความเจ็บป่วยของคนไข้แล้ว ญาติก็จะได้ทบทวนการดูแลคุณตาที่ผ่านมาด้วย ว่ามีอะไรคั่งค้างที่ยังไม่ได้ทำอีกหรือไม่

“ทีนี้ผมก็เลยอยากรู้ว่า ถ้าผมพาแกไปโรงพยาบาล หมอจะทำอะไรให้บ้าง อย่างผมไม่อยากให้ใส่สายยางให้อาหาร ถ้าปฏิเสธไปแล้วจะเป็นอุปสรรคต่อการรักษารึเปล่า”

การเยี่ยมบ้านในช่วงแรก ผมพยายามเป็นผู้ฟังที่ดีจนเข้าใจความคิดของญาติชัดเจนจึงค่อยขออนุญาตตรวจร่างกายคุณตา ซึ่งผมได้ทักทายและถามชื่อแล้ว ทว่าแกไม่ตอบคำ เพียงแค่ลืมตาเองเป็นพักๆ เมื่อไม่ทำตามสั่งก็ประเมินกำลังแขนขาไม่ได้ เลยข้ามไปฟังเสียงหัวใจและปอด พบว่ายังอยู่ในเกณฑ์ปกติ

“ผมขออธิบายอย่างนี้ครับว่าการรักษาของหมอเป็นลำดับขั้นตอน หากรักษาขั้นแรก เช่น การกินยา การพ่นยา แล้วอาการยังไม่ดีขึ้น หมอก็จะปรับขึ้นเป็นขั้นต่อๆ ไป เช่น การคาเข็มเพื่อให้ยาและน้ำเกลือทางหลอดเลือดดำ การใช้ยาฆ่าเชื้อที่ครอบคลุมเชื้อโรคมากขึ้น ถ้าอาการแย่ลง ความดันโลหิตตกก็จะมียากระตุ้นความดันฯ ถ้าหอบเหนื่อยมากขึ้นก็ต้องใส่ท่อช่วยหายใจ และถ้าหัวใจหยุดเต้นก็อาจช่วยฟื้นคืนชีพด้วยการปั๊มหัวใจ

“จากไม่เจ็บเลย ค่อยๆ เพิ่มไปจนถึงเจ็บมากที่สุด แต่โอกาสรอดชีวิตก็จะเพิ่มขึ้นตาม

“ทั้งนี้ญาติจะมีส่วนร่วมในการตัดสินใจได้ในทุกขั้น และสามารถปฏิเสธการรักษาได้ ซึ่งก็จะย้อนกลับมาสู่ระดับที่เจ็บน้อยที่สุดหรือแบบประคับประคองได้ คนไข้ก็จะค่อยๆ ทรุดลงและจากไปอย่างสงบ”

“แล้วเรื่องการเจาะคอคุณพ่อล่ะครับ จะช่วยเรื่องเสมหะตอนนี้มั้ย”

“อ้อ คือปกติแล้วจะทำในคนไข้ที่ใส่ท่อช่วยหายใจไปแล้วแต่ไม่สามารถหย่าเครื่องช่วยหายใจได้ ก็ต้องเจาะคอเพื่อลดความยาวของทางเดินหายใจลง คนไข้ก็จะถอดท่อช่วยหายใจออกได้ แล้วมาหายใจผ่านช่องที่เจาะไว้ที่คอแทน ดังนั้นอาการของคุณตาจึงยังไม่ถึงขั้นนั้น”

“แล้วคุณหมอคิดว่าผมควรทำยังไงดีครับ”คำถามนี้เป็นคำถามเกี่ยวกับการดูแลในวาระสุดท้ายของชีวิต (end of life care) ที่น่าจะถูกถามบ่อยที่สุดตั้งแต่ผมเริ่มทำงานมา อาจเป็นเพราะว่า ในมุมมองของญาติแล้ว หมอคือผู้ที่มีประสบการณ์มากที่สุด แต่ผมก็มักจะตอบในทำนองเดิมทุกครั้งว่า “ขึ้นอยู่กับความต้องการของญาติ”

เพราะไม่มีใครรู้ว่าการรักษาแต่ละแบบจะไปสิ้นสุดที่ตรงไหน ถ้ารักษาอย่างเต็มที่แล้วคนไข้รอดชีวิตก็ถือว่าตัดสินใจไม่ผิด แต่ถ้าคนไข้ไม่รอด เขาก็จะเสียชีวิตอย่างทรมาน และญาติอาจเสียใจในภายหลังว่าน่าจะเลือกรักษาอีกแบบ

ตรงกันข้าม หากรักษาแบบประคับประคอง คนไข้จะได้รับการรักษาเท่าที่จะไม่ทำให้เจ็บปวดและรักษาตามอาการให้จากไปอย่างสงบ ซึ่งน่าจะใกล้เคียงกับธรรมชาติมากที่สุด แต่ก็เท่ากับว่าญาติยอมรับแล้วว่าเขาไม่มีโอกาสรอดชีวิต

หรือหากรอดชีวิต ก็อาจมีคุณภาพชีวิตที่แย่ลงไปกว่าที่เป็นอยู่

“อืม… ผมก็ค้นอินเทอร์เน็ตอ่านมาบ้าง” พี่ผู้ชายทำการบ้านเรื่องนี้มาค่อนข้างดี “เลยคิดว่าการที่ยืดชีวิตคุณพ่อแบบนี้ต่อก็คงไม่ได้ทำให้เขามีความสุขเพิ่มขึ้น”

…

“คุณปู่เคยทราบการวินิจฉัยโรคของเขามั้ยครับ” ผมถามหลานสาวของคนไข้รายต่อมา ซึ่งเป็นคนดูแลหลักเพียงคนเดียวมาตลอด เพราะตัวคนไข้ก็เลี้ยงดูหลานสาวคนนี้เสมือนลูกของตัวเองมาตลอดเช่นกัน จนกระทั่งมาป่วยเป็นโรคมะเร็งระยะลุกลามและล้มหมอนนอนเตียง จึงต้องสลับบทบาทมาเป็นผู้ถูกดูแลแทน

“ไม่เลยค่ะ” หลานสาวตอบ “เพราะตอนนั้นกลัวแกจะรับเรื่องนี้ไม่ได้” ผมพยักหน้ารับรู้ถึงความกังวลของญาติตอนที่หมอแจ้งผลการตรวจ

“ที่ถามก็เพราะหมอเห็นว่าวันนี้อาการแกไม่ค่อยดี” ผมสังเกตว่าร่างกายคนไข้ผอมซูบเห็นโครงกระดูก ผุดลุกผุดนั่ง ตาลอย มือปัดป่ายไปมา ทั้งที่หลานสาวพยายามห่มผ้าคลุมร่างเปลือยไว้ แต่คนไข้ก็ดึงออกโดยไม่รู้ตัว “และอีกอย่างคือที่ญาติบอกว่าแกไม่ยอมกินข้าวมาสองวันแล้ว …เลยอยากรู้ว่าแกเคยสั่งเสียอะไรไว้รึเปล่า”

เนื่องจากถ้าคนไข้ได้รู้มาก่อนว่าตนเองเป็นโรคที่รักษาไม่หายและอาจเสียชีวิตลงภายในเวลาไม่กี่เดือนหรือไม่กี่ปี ส่วนใหญ่เขาก็จะใช้เวลาที่เหลืออยู่จัดการธุระที่ยังคั่งค้าง (unfinished business)—อะไรที่อยากทำ แต่ยังไม่ได้ทำให้สำเร็จ และจะวางแผนการเสียชีวิตไว้ล่วงหน้าแล้วว่าต้องการการรักษาถึงระดับใด ซึ่งก็มักจะเป็นการรักษาแบบประคับประคองเสียมากกว่า

ส่วนอาการที่บ่งบอกว่าวาระสุดท้ายของคนไข้เริ่มใกล้เข้ามาแล้ว ได้แก่

  • สติสัมปชัญญะลดลง เพราะอวัยวะต่างๆ เริ่มทำงานผิดปกติ จนเกิดของเสีย และสารเคมีในเลือดขาดความสมดุล
  • อาจง่วงซึมหรือนอนหลับทั้งวัน เพราะร่างกายต้องการสำรองพลังงานไว้สำหรับอวัยวะที่สำคัญ เช่น หัวใจ
  • น้ำลายสอ กินได้น้อยลง เนื่องจากกล้ามเนื้อที่เกี่ยวกับการกลืนและกล้ามเนื้อของระบบทางเดินอาหารไม่ทำงาน และเมื่อสารเคมีในเลือดผิดปกติ สมองก็สั่งให้อยากอาหารลดลงอีก
  • พอสารเคมีในเลือดเป็นพิษมากขึ้นก็จะสับสนกระวนกระวาย ประสาทหลอน และการหายใจผิดปกติ

หลานสาวส่ายหน้า แต่ก็ทำสีหน้าครุ่นคิดต่อ ผมจึงให้ความเงียบอยู่กับญาติอีกครู่หนึ่ง จึงคุยต่อว่า “ถ้าอย่างนั้น หมอขอให้ญาติช่วยตัดสินใจแทนแกได้ไหมว่าด้วยโรคที่แกเป็นและอาการของแกตอนนี้ ญาติต้องการให้หมอรักษาแกเต็มที่ คือไปเจาะเลือด ใส่สาย ใส่ท่อที่โรงพยาบาล หรือไม่ต้องทำอะไรให้แกเจ็บ ให้หมอรักษาเท่าที่แกทนไหว”

หลานสาวคนไข้หันหน้าไปขอความเห็นจากสามีที่นั่งอยู่ข้างกัน “ให้แกตายที่นี่แหละ อย่าเอาแกไปทรมานเลย” ในขณะที่ญาติคนอื่นๆ ก็แวะมาที่บ้าน แต่ไม่เคยเข้ามาเหลียวแลเลย “ยังไงคนอื่นก็เอาตามที่เธอว่านั่นแหละ”

“แล้วหมอจะมียาช่วยให้แกหลับใช่มั้ยคะ”

“ครับ มีทั้งยาแก้ปวด และยานอนหลับ ก็จะช่วยให้แกไม่กระสับกระส่ายแบบนี้”

“โอเคค่ะ รักษาแบบไม่ให้แกเจ็บปวดก็แล้วกัน” ผู้ดูแลนิ่งคิดก่อนจะตอบตกลงด้วยตาแดงกล่ำ

ถึงแม้แกจะนอนซึมตลอด แต่หมอเชื่อว่าแกยังสามารถรับรู้ได้ ถ้าญาติต้องการจะคุยหรือบอกอะไรแกตอนนี้ก็สามารถทำได้นะครับ” ผมแนะนำกับตัวแทนญาติที่นั่งเฝ้าไข้อยู่ในห้องนอน ภายหลังจากทราบการตัดสินใจของครอบครัวว่า “ได้ตกลงกันแล้วว่าจะให้เขาจากไปอย่างสงบที่บ้าน”

ตามความต้องการของคนไข้เอง

พระพุทธรูปที่ตั้งอยู่หัวเตียงและกรวยดอกไม้ธูปเทียนที่วางสักการะอยู่ ทำให้ผมเข้าใจการเตรียมตัวของญาติมากขึ้น

คนไข้รายที่ 3 นี้ เป็นผู้หญิงอายุยังไม่มาก แต่ป่วยเป็นมะเร็งระยะลุกลามจนเมื่อสัปดาห์ก่อนเริ่มเบื่ออาหารมากขึ้น อาการก็ทรุดหนักลงเรื่อยๆ จนนอนอยู่กับเตียงอย่างเดียวมาเกือบสัปดาห์

“นี่ก็หมุนเวียนกันมาเยี่ยมทุกคนแล้ว เพราะนึกว่าจะไปตั้งแต่วันแรกๆ” ญาติเล่าให้ฟังเพิ่มเติม “ส่วนตอนนี้ก็ผลัดเปลี่ยนกันเฝ้าทั้งคืน ไม่รู้เขาจะไปเมื่อไหร่”

พี่เจ้าหน้าที่ รพ.สต.ที่เคยมาเยี่ยมบ้านก่อนหน้านี้เสริมว่า “นี่มาตอนกลางวัน หมอเห็นห้องนอนโล่งๆ อย่างนี้ ถ้ามาตอนเย็นญาตินี่อยู่กันเต็มห้องเลย” จนอดนึกแทนคนไข้ว่าเมื่อเวลานั้นมาถึง

บรรยากาศการจากไปช่างอบอุ่น

ขณะเดียวกันผมก็สัมผัสได้ถึงความเข้มแข็งของบรรดาญาติที่กล้าเผชิญกับวาระสุดท้ายของคนไข้อย่างไม่หวั่นไหว ผมลืมถามว่าพวกเขาให้ความหมายกับความตายอย่างไร แต่การจากไปอย่างสงบของพี่ผู้หญิงท่านนี้น่าจะเป็นประสบการณ์ที่ใกล้ชิดความตายมากที่สุดให้ญาติอีกหลายคนได้เรียนรู้

…

“เครื่องวัดความดันตัวล่างไม่ได้เลยค่ะหมอ” พี่พยาบาลในทีมเยี่ยมบ้านแจ้งกับผม “เหมือนกันทั้งสองรอบ”

“อย่างนี้ต้องเจาะ DTX ด้วยมั้ยคะ” เจ้าหน้าที่อีกคนถามผมว่าจะต้องเจาะตรวจระดับน้ำตาลในเลือดจากปลายนิ้วหรือไม่ เข้าใจว่าพี่เขาเป็นห่วงคนไข้ เพราะอาการซึมหลับอาจเกิดจากภาวะน้ำตาลต่ำ เนื่องจากคนไข้กินอะไรไม่ได้มาหลายวัน แต่ผมเห็นว่าเมื่อคนไข้ได้ตัดสินใจเลือกการรักษาแบบประคับประคองแล้วก็ “ไม่ต้องเจาะหรอกครับ”

คนไข้ทรมานจากโรคของเขามามากพอแล้ว

ผมแตะข้อมือตรงตำแหน่งเดียวกับที่คลำชีพจร

เพื่อกล่าวคำอำลา.

Tags: , ,

ที่มา  :  https://themomentum.co/palliative-treatment/






Create Date : 15 ธันวาคม 2561
Last Update : 6 กุมภาพันธ์ 2562 13:08:05 น.
Counter : 730 Pageviews.

0 comments

jewelmoda
Location :
กรุงเทพฯ  Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 108 คน [?]



ผู้หญิงคนหนึ่ง ที่อยากทำงานด้านเด็ก อยากเป็นครู แต่กลับต้องไปทำงานแบงค์ เมื่อขอเออรี่ออกมา ขอหาข้อมูลเกี่ยวกับเด็ก เพื่อการพัฒนาเด็กไทย

Myspace angels graphics
New Comments
Friends Blog
[Add jewelmoda's blog to your weblog]