(ภาค2)Terrible Twos มาทำความเข้าใจกับเจ้าวายร้ายวัยสองขวบกัน เจนจะไม่เขียนเกริ่นนำแล้วนะเพื่อที่จะได้ไม่ยาวเกินไป แต่ถ้ายังไม่เคยอ่านแนะนำให้อ่านกระทู้แรกก่อน//www.pantip.com/cafe/family/topic/N10965252/N10965252.html == คุณหนูจอมเขวี้ยง == ถ้าถามว่าทำไมเด็กเล็กๆถึงชอบเขวี้ยงสิ่งของต่างๆ เจนขอตอบแทนเด็กแล้วกันว่า ก็เพราะมันสนุก ทำแล้วมีความสุขนะสิ ได้เรียนรู้ทฤษฏีแรงโน้มถ่วงของโลก ได้พิสูจน์ทฤษฏีสัมพันธภาพเบื้องต้นว่าถ้าฉันเขวี้ยงอะไรออกไปแล้วมันจะคงอยู่ไหมหรือหลุดออกไปนอกจักรวาล ถ้าเด็กชอบเขวี้ยงแล้วละก็การแก้ปัญหาไม่ให้เด็กเขวี้ยงอะไรเลยนั้นทำได้ยากมาก ทางที่ง่ายกว่าคือการสอนเด็กว่าอะไรเขวี้ยงได้ เขวี้ยงไม่ได้ ตอนเด็กๆน้องอิ๊กก็เป็นคุณหนูจอมเขวี้ยงกับเขาเหมือนกัน เริ่มแรกเจนก็หาสิ่งที่คิดว่าจะยอมให้ลูกเขวี้ยงได้ นั่นคือ ลูกบอลผ้า (แนะนำให้หาอันที่มีสีสันสดใส) หลังจากนั้นก็เอาของที่ลูกชอบเขวี้ยงแต่ปล่อยให้เขวี้ยงไม่ได้เช่น ช้อนพลาสติค กับ รีโมททีวี มารวมไว้ ต่อจากนั้นเอาของทั้งหมดมากองรวมกันไว้ตรงหน้าลูก ถ้าลูกหยิบสิ่งที่เขวี้ยงไม่ได้ขึ้นมา เจนจะรีบจับมือน้องอิ๊กไว้ เธอจะร้อง จะโวยวาย จะยังไงก็ต้องใจแข็ง แล้วบอกลูกว่า "อันนี้เขวี้ยงไม่ได้นะคะ" รอจนกว่าลูกจะวางของชิ้นนั้นลง หรือถ้าลูกไม่ยอมวางจริงๆ เจนก็จะใช้อีกมือดึงของชิ้นนั้นออกไปจากมือลูก แล้วเอาออกไปให้พ้นสายตา ต่อจากนั้นรอจนลูกหยิบของชิ้นใหม่ขึ้นมาถ้าเป็นของที่เขวี้ยงไม่ได้อีกเจนก็ทำแบบเดิม แต่ถ้าลูกหยิบลูกบอลผ้าเมื่อไหร่ เจนจะปล่อยให้ลูกเขวี้ยง หรือถ้าลูกไม่เขวี้ยงสักทีเจนก็จะจับมือลูกแล้วช่วยเขวี้ยงออกไป เมื่อลูกเขวี้ยงออกไปแล้ว เจนจะตบมือแล้วชมลูกว่า "เก่งมากเลย" ทำแบบนี้หลายๆครั้ง(อย่าคาดหวังว่าจะได้ผลแค่ในสามหรือสี่ครั้ง)แล้วลูกจะเริ่มจดจำได้ว่าสิ่งไหนที่เขวี้ยงได้และเขวี้ยงไม่ได้ หลังจากนั้นเป็นต้นมาลูกก็จะเขวี้ยงแต่ลูกบอลผ้าเท่านั้น == เกิดมาเพื่อกรี้ด == การกรี้ดหรือร้องโวยวายเป็นวิธีหนึ่งที่เด็กใช้เรียกร้องความสนใจ เด็กทำสิ่งนี้จากแรงผลักดันตามสัญชาตญาณภายในเพื่อให้มีชีวิตรอด พูดง่ายๆคือตอนเป็นทารกเมื่อเด็กหิวนม โดนมดกัด นอนจมกองฉี่ เด็กก็จะร้องไห้ เมื่อเด็กร้องไห้แม่ก็จะมาให้นม กำจัดมด ทำความสะอาด การตอบสนองก็จะถูกฝังเข้าไปในสัญชาตญาณภายในว่าถ้าฉันร้องไห้ ถ้าฉันโวยวายฉันก็จะได้รับการตอบสนอง เมื่อเด็กโตขึ้นเด็กก็ยังคงใช้วิธีการแบบเดิม แต่ในเมื่อเด็กพอที่จะรู้ความได้เราก็จำเป็นที่จะต้องทำให้เด็กเข้าใจว่าเมื่ออยากได้อะไรแล้วเอาแต่กรี้ดๆๆนั้นถือเป็นพฤติกรรมที่ยอมรับไม่ได้ เมื่อเด็กกรี้ด ให้จับมือลูก จ้องตา แล้วบอกลูกว่า "หนูทำแบบนี้ แม่ไม่เข้าใจว่าหนูต้องการอะไร" คุณต้องไม่ตอบสนองทั้งทางลบและทางบวก (คือไม่ตี ไม่ดุ แต่ก็ต้องไม่กอด ไม่โอ๋) ถ้าอยู่ในห้างแล้วกลัวว่าคนอื่นจะรำคาญก็แนะนำเหมือนกระทู้ที่แล้วคืออุ้มออกไปที่ลานจอดรถ เพราะสำหรับเด็กการตอบสนองไม่ว่าจะทางลบหรือทางบวกนั้น เด็กถือว่าเป็นวิธีที่ใช้ได้ผล เรื่องการกรี้ดนั้นอายุก็มีส่วนสัมพันธ์กับเรื่องนี้ด้วยกล่าวคือเด็กมักจะเริ่มกรี้ดตอนขวบกว่าๆแล้วจะขึ้นไปสู่จุดสูงสุดตอนสองขวบครึ่งหลังจากนั้นจะค่อยๆดีขึ้น แล้วหายได้ตอนประมาณสี่ขวบครึ่ง ถ้าพ้นช่วงนี้ไปแล้วเด็กยังไม่ดีขึ้นแนะนำว่าควรให้ความสำคัญกับเรื่องนี้อย่างจริงจัง == อย่าสอนเด็กด้วยวิธี ชั่วเจ็ดทีดีเจ็ดหน == เท่าที่สัมผัสกับเด็กที่ดูแล ต้องบอกว่าพ่อแม่สมัยนี้ใจดี เข้าใจเด็กมากขึ้นกว่าแต่ก่อนเยอะ ประเภท เหลาไม้เรียวรอไว้ คำสั่งพ่อคือประกาศิตจากสววรค์ ขออะไรไม่เคยได้ แทบจะไม่มี แต่สาเหตุหลักที่ทำให้เด็กไม่มีระเบียบวินัยที่เห็นได้ชัดเจนคือพ่อแม่ไม่มีความเสถียรในการตอบสนองต่อพฤติกรรมของลูก พูดง่ายๆคือลูกขออะไร ทำอะไร จะได้หรือจะโดนดุ ไม่ได้ขึ้นอยู่กับว่าลูกขอในสิ่งที่สมเหตุสมผลหรือไม่แต่กับขึ้นอยู่กับว่าอารมณ์ของพ่อแม่ช่วงนั้นเป็นยังไง และเท่าที่สัมผัสกับเด็กกลุ่มที่ต้องให้เข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูความน่ารักอยู่บ่อยๆ ส่วนใหญ่มักจะโตมากับการเลี้ยงดูแบบนี้ตั้งแต่ยังเล็กๆ เมื่อตรรกะนี้ถูกฝังเข้าไปในสัญชาตญาณภายในของเด็กการจะไปแก้ไขหรือสอนให้ลูกมีเหตุผลตอนโตนั้นบอกเลยว่าจะยากมากขึ้นกว่าเดิมอีกหลายเท่า เช่น วันจันทร์เจ้านายด่า หุ้นตก ลูกขอซื้อชุดแฮปปี้มีล (ชุดอาหารของแม็คโดนัลด์ที่มากับของเล่นหนึ่งชิ้น)เพราะอยากได้ของเล่น แม่ตอบทันที "โง่ ไร้สาระ ของเล่นนะกินได้ไหม แม่ทำงานเหนื่อย แม่ไม่ได้พิมพ์แบงค์เองได้นะ" พอวันพฤหัส เจ้านายชม หุ้นขึ้น ลูกเองก็ยังอยากได้ของเล่นมาก ก็ลองขอดูอีกทีเผื่อจะฟลุ๊ค ผลคือ "ได้เลยสุดที่รักของแม่ ทั้งชุดมีเจ็ดตัวใช่ไหม เอาให้ครบเลย โค้กกับแฮมเบอร์เกอร์ไม่กินก็ทิ้งๆมันไป ไม่เป็นไรหรอก วันนี้แม่รวย" ถามว่าครั้งหน้าถ้าเด็กอยากได้อีกเด็กจะกล้าขอไหม บอกเลยกล้า ถ้าโดนด่าอีกยังจะขอไหม บอกเลยขอ เพราะคิดว่าอาจจะโดนด่าครั้ง ได้ครั้ง ในเมื่อครั้งนี้โดนด่าไปแล้วครั้งหน้าก็ต้องได้ และถ้าเด็กเคยได้ ต่อให้โดนด่าอีกเจ็ดที ถ้าเด็กอยากได้จริงๆก็อาจจะยังมีครั้งที่แปด เพราะผู้ใหญ่ชอบพูดเองว่า ชั่วเจ็ดที ดีเจ็ดหน จริงหรือเปล่า ที่สำคัญที่สุดคือเมื่อเด็กโดนด่าแทนที่เด็กจะพิจารณาว่าตัวเองทำผิดตรงไหน เด็กจะคิดแต่แค่ว่า "ซวยจังไม่น่าขอตอนแม่อารมณ์ไม่ดีเลย" เจนพูดแบบนี้ไม่ได้หมายความว่าการซื้อของเล่นให้ลูกเป็นสิ่งที่ผิด (และตัวเจนเองบางชุดก็ซื้อให้ลูก) สิ่งที่ต้องการบอกคือคุณต้องแยกให้ชัด ให้เด็กเข้าใจได้ว่าเขาได้หรือไม่ได้สิ่งไหนหรือโดนดุเพราะการกระทำของตัวเขาเองไม่ใช่เพราะอารมณ์ขึ้นๆลงๆของคุณ แล้วกรณีที่เด็กทำผิดก็ไม่ได้แปลว่าคุณต้องทำโทษหรือยึดตามกฎทุกครั้ง สิ่งสำคัญที่สุดจริงๆเมื่อเด็กมีพฤติกรรมไม่พึงประสงค์คือจะต้องไม่ตอบสนองในทางบวกโดยเด็ดขาด ส่วนจะเพิกเฉย ตำหนิด้วยสายตา ว่ากล่าวตักเตือน ทำโทษสถานเบาหรือทำโทษอย่างจริงจังนั้น ส่วนตัวแนะนำให้ดูเป็นกรณีๆไป อย่างเด็กที่เจนดูแล เด็กเอาขนมมากินในห้อง ถ้าโตๆหน่อย หรือเด็กที่ดูแล้วน่าจะรู้ตัวได้เอง เจนก็แค่ตำหนิด้วยสายตา ถ้าขาประจำบ่นไปหลายหนแล้วก็ต้องมีทำโทษกันบ้าง หรือในบางกรณี เช่น เด็กเอาเค้กมากินวันเกิดเพื่อน ก็ไม่ใช่ว่าจะต้องเอาเค้กของเด็กโยนลงถังขยะแล้วเรียกทั้งหมดไปทำโทษ เพราะการทำแบบนั้นไม่ใช่การสอนเด็กให้มีระเบียบวินัยแต่เป็นการสอนให้เด็กเป็นคนที่ไม่มีหัวใจต่างหาก (กรณีนี้เจนบอกเด็กแค่ว่า ปาร์ตี้เสร็จก็จัดการหลักฐานให้เรียบร้อยด้วย ถ้าตอนเย็นครูมาดูแล้วยังเห็นร่องรอยละโดนทั้งกลุ่มแน่ แต่ที่สำคัญคือต้องไม่ทำให้เด็กรู้สึกว่าสิ่งที่เขาทำไม่ผิดหรือยอมรับได้ในทุกกรณี เช่น บอกเด็กว่า สนุกให้เต็มที่เลยลูก หรือ ขอครูกินด้วยชิ้นนึง) เรื่องนี้อาจจะดูเหมือนไม่เกี่ยวกับเด็กเล็กเท่าไหร่แต่จริงแล้วสำคัญมากเพราะตรรกะและกระบวนการคิดของคนเรานั้นหลายอย่างนั้นถูกพัฒนาขึ้นในช่วงอายุสองถึงสี่ขวบโดยที่เราไม่รู้ตัว == ร้องไห้ทันทีที่เห็นอนุบาล == เจนขอพูดเฉพาะกรณีอนุบาลหรือก่อนอนุบาล ถ้าประถม มัธยมก็คงต้องใช้แนวทางที่แตกต่างออกไป เจนรู้ตัวและเข้าใจดีว่าตั้งแต่ใต้บรรทัดนี้ลงไป สิ่งที่เจนเขียนขัดกับหลายทฤษฎีและหนังสือหลายเล่ม และจะไม่แปลกใจอะไรเลยถ้าจะมีคนไม่เห็นด้วยหลายคน สิ่งที่อยากบอกคือเด็กจะมีความพร้อมจริงๆในการเข้าโรงเรียนนั้นคือชั้นประถม อนุบาลนั้นไม่ใช่โรงเรียนเป็นเพียงการเตรียมความพร้อมให้กับเด็ก คำว่าอนุบาลมาจากคำว่า kindergarten ที่แปลว่าสวนของเด็กๆ สื่อได้ว่าอนุบาลคือที่ๆเด็กจะไปเล่น ไปทดลองเข้าสังคม ไปทำในสิ่งที่ทำแล้วมีความสุข ไม่ใช่โรงเรียน ไม่ใช่ที่ๆต้องไปท่องนับเลข หรือเรียนรู้อย่างเอาเป็นเอาตาย ถ้าถามว่าการให้ลูกเข้าอนุบาลเป็นสิ่งที่ควรทำไหม บอกเลยว่าควรทำ (เนื่องด้วยสภาพของสังคมและระบบการศึกษาในปัจจุบันเพราะไม่อย่างนั้นเด็กแทบจะไม่มีโอกาสเข้าโรงเรียนดีๆได้หรือต่อให้คุณใช้ความสามารถพิเศษพาเด็กเข้าไปได้ เด็กก็มีปัญหาเรียนไม่ทันอยู่ดี ยกเว้นแต่คุณตั้งใจจะให้ลูกเข้าโรงเรียนทางเลือกหรือโฮมสคูล) แต่เจนก็ยังยืนยันว่าเป็นการ "ฝืนธรรมชาติ" ของเด็ก (โดยเฉพาะเตรียมอนุบาล) เพราะฉะนั้นถ้าเด็กร้องไห้โวยวายไม่ยอมจะไปท่าเดียว ไม่ใช่เป็นเพราะเด็กขี้เกียจ เอาแต่ใจ หรือเป็นเพราะเด็กไม่มีความรับผิดชอบ แต่เป็นเพราะสัญชาตญาณภายในของเด็กนั้นยังต้องการความรัก ความปลอดภัย ความอบอุ่นจากคนเป็นพ่อเป็นแม่ เมื่อเด็กถูกพรากจากสิ่งที่รักไป จะน่าประหลาดใจตรงไหนถ้าเขาแสดงออกอย่างนั้น เพราะฉะนั้นถ้าคุณไปส่งลูกแล้วลูกร้องไห้ คุณจงดีใจ เพราะถ้าเด็กเปิดประตูวิ่งเข้าโรงเรียนเองตั้งแต่วันแรกนั่นแปลว่า บ้านจะไม่ใช่ที่ๆน่าอยู่ของเขาอีกตลอดไป สำหรับเจน ตอนเด็กๆเจนไปส่งน้องอิ๊กๆก็ร้องไห้ๆๆ เจนก็กอดลูกแล้วพาเข้าไปด้วยกันแล้วบอกว่าแม่มีธุระ แม่ต้องไปทำงาน หนูอยู่กับคุณครูก่อนได้ไหม แป็ปเดียว เดี๋ยวแม่ก็มาแล้ว ลูกก็ร้องไห้วิ่งตามมา เจนก็กอด ก็ปลอบ พอพ้นรั้วอนุบาลออกไปเจนก็มองลูกๆก็มองเจนจนลับสายตา เจนพยายามทำให้ลูกรู้สึกว่าแม่ต้องไปเพราะจำเป็นจริงๆไม่ใช่เพราะไม่สนใจความรู้สึกลูก วันแรกเจนให้ลูกอยู่ที่อนุบาลแค่สองชั่วโมง หลังจากนั้นค่อยเพิ่มขึ้นไปเรื่อยๆจนเลิกเรียนเท่ากับเด็กคนอื่นๆ วันไหนถ้าลูกงอแงไม่อยากไปก็พยายามเกลี้ยกล่อม บางทีก็ยอมถอยบ้างไม่ไปก็ไม่ไป บางทีไปต่างจังหวัดกลับดึกดูแล้วลูกเหนื่อยเกินไปก็ให้หยุดเรียนไม่ต้องรอให้ลูกเป็นฝ่ายขอ สำหรับเจนช่วงอนุบาลเจนจะให้ความยืดหยุ่นกับลูกสูง เจนมองว่าการไปอนุบาลเป็นเพียงสิ่งที่ลูกควรทำแต่ไม่ใช่หน้าที่ และแม่ก็ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องรู้สึกผิดอะไรถ้าจะยอมให้ลูกหยุดเรียน อย่างไรก็ตามเจนจะย้ำกับลูกทุกครั้งว่าวันนี้ให้หยุดไม่ได้แปลว่าอยากหยุดเมื่อไหร่จะได้หยุดอีก นี่คือสิ่งสำคัญที่สุดที่ต้องสื่อให้ลูกเข้าใจให้ได้ในวันที่ยอมให้ลูกหยุดเรียน สำหรับเจน เจนเชื่อว่าสัญชาตญาณความเป็นแม่นั้นเข้าใจเด็กได้มากกว่าทฤษฏีร้อยแปดพันเก้ามากองรวมกัน ถ้าคุณรู้สึกว่าลูกร้องไห้ไม่อยากไปอนุบาลจนแม่เริ่มไม่ไหวอยากจะร้องไห้ตาม หรือลูกร้องจนอ้วกทั้งๆที่ไม่เคย จะให้หยุดเรียนก็กลัวจะตามใจไปหรือเปล่า บอกเลยถ้าอยู่ในสถานการณ์นั้นให้คุณลืมทุกวิธีที่เคยอ่านมาแล้วตัดสินด้วย "สัญชาตญาณความเป็นแม่ของตัวคุณเอง" เพราะเด็กช่วงวัยสองถึงสี่ขวบนั้นความอบอุ่น ความปลอดภัย การได้รับความรัก ความรู้สึกมั่นคงทางจิตใจนั้นสำคัญกว่าระเบียบวินัย เจน แวะมาหาด้วยความคิดถึงค่ะ ครูเจน
โดย: แม่โอ๋เรนเจอร์ วันที่: 4 ตุลาคม 2554 เวลา:15:29:40 น.
ยังไม่รู้เลยค่ะ ครูเจน ว่าช่วงนี้น้ำหนักขึ้นหรือลง
กำลังลุ้นน้ำท่วมตัวโก่ง กลัวน้ำท่วมบ้านอ่ะ แหะ แหะ โดย: แม่โอ๋เรนเจอร์ วันที่: 8 ตุลาคม 2554 เวลา:22:48:01 น.
555 แวะมาเยี่ยมค่ะ แต่ไม่สแปม
ไปเจอคอมเม้นเกด ในบล็อคสแปมใช่ปะคะ แอบไปด่าไว้ โมโหๆๆๆ โพสได้ทุกวันวันละหลายหน จะปิดคอมเม้นบล็อคตัวเองก็น่ะ...ยังไม่อยากปิดอะ -_-'' โดย: กุ๊ดจัง วันที่: 13 ตุลาคม 2554 เวลา:13:22:56 น.
แวะมาทักทายครูเจนที่เขียนเรื่องดีๆไว้ให้อ่านเสมอค่ะ
โดย: nitimajeng วันที่: 15 ตุลาคม 2554 เวลา:8:47:01 น.
ลูกขออะไร ทำอะไร จะได้หรือจะโดนดุ
ไม่ได้ขึ้นอยู่กับว่าลูกขอในสิ่งที่สมเหตุสมผลหรือไม่ แต่กับขึ้นอยู่กับว่าอารมณ์ของพ่อแม่ช่วงนั้นเป็นยังไง . . . โดนใจเต็มๆเลยครับคุณเจน 5555 โดย: กะว่าก๋า วันที่: 23 กุมภาพันธ์ 2555 เวลา:23:04:24 น.
ชอบคำอธิบายเรื่องที่บอกว่าเด็กร้องไห้ตอนไปเรียน
เพราะเขาต้องการความรัก ความอบอุ่น อันนี้จริงเลยครับ หมิงหมิงอยู่ K 1 จะหมดเทอมก็ยังร้องอยุ่ครับ 555 โดย: กะว่าก๋า วันที่: 23 กุมภาพันธ์ 2555 เวลา:23:05:27 น.
|
JanE & IK
Rss Feed Smember ผู้ติดตามบล็อก : 44 คน [?] All Blog
Link |
|||
Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved. |