จากบันทึกของ Mahler เองต้นกำเนิดของซิมโฟนีบทนี้มาจากคำถามที่ว่า “Why did you live? Why did you suffer? Is it all nothing but a huge, frightful joke?” ตัวซิมโฟนีนั้นเริ่มจากความตายของพระเอกจากซิมโฟนีหมายเลขหนึ่ง ท่อนสองและสามเป็นบทรำลึกถึง ความสุขและความสับสนวุ่นวายเมื่อครั้งยังมีชีวิตตามลำดับก่อนที่จะถึงบทสรุปในท่อนที่สี่และห้าด้วยการ ฟื้นคืนชีพของมนุษยชาติในวันพิพากษา (Judgement Day) ตามคติความเชื่อทางศาสนา ทางด้าน ดนตรีนั้นซิมโฟนีบทนี้ใช้วงออร์เคสตร้าขนาดใหญ่ในการบรรเลง และยังเสริมทัพด้วยนักร้อง soprano, contralto, วงนักร้องประสานเสียงและออร์แกนอีกด้วย
* ขอนอกเรื่องเกี่ยวกับซิมโฟนีหมายเลขสี่อีกซักเล็กน้อย เนื้อเพลง Das Himmlische Leben นั้นนอกจากจะบรรยายถึงความสุขและความรื่นเริงในสวงสวรรค์ของเหล่าเทวดาและนักบุญและยัง บรรยายถึงอีกสิ่งหนึ่งซึ่งผมสงสัยมานานแล้วว่ามันมีความสำคัญกับบทกวีอย่างไร สิ่งนั้นก็คือ “ของกิน” ในครึ่งหลังของบทกวีนั้นเต็มไปด้วยของกินทั้งนั้น ซึ่งต่อมาผมก็ได้เรียนรู้ถึงเบื้องหลังอันน่า สะเทือนใจของ “ของกิน” เหล่านั้นนั่นก็คือมันมียังมีอีกเพลงที่คู่กับ Das Himmlische Leben นั่นก็คือเพลง Das Irdische Leben (Earthly Life) ซึ่ง Mahler แต่งไว้อยู่ในเพลงร้องชุด Des Knaben Wunderhorn เพลง Das Irdische Leben นั้นบรรยายถึงชีวิตบนโลกของเด็ก น้อยคนหนึ่งซึ่งตายจากการอดอาหาร ซึ่งสำหรับผมแล้วพอกลับไปอ่านเนื้อเพลง Das Himmlische Leben อีกรอบแล้วทำให้รู้สึกสะท้อนใจและเศร้าอย่างบอกไม่ถูกจริงๆ
ชีวิตใน Vienna Conservatory โดยส่วนใหญ่เป็นไปอย่างค่อนข้างราบรื่น Mahler เป็นเพื่อนร่วมห้องในหอพักกับ Hugo Wolf หนึ่งในสุดยอดคีตกวีทางด้านเพลงร้อง (lieder) ผู้คนส่วนใหญ่มักเข้าใจผิดว่า Mahler เป็นลูกศิษย์ของ Bruckner แต่จริงๆ แล้ว Mahler เคยเข้าฟังเลคเชอร์ของ Bruckner อยู่ไม่กี่ครั้ง แต่อย่างไรก็ตาม Mahler ก็เป็นหนึ่งในผู้สนับสนุน Bruckner ตัวเอ้คนหนึ่งในขณะนั้น ระหว่างที่อยู่ใน Vienna Conservatory นั้น Mahler ได้แต่ง cantata เรื่อง Das klagende Lied ซึ่ง Mahler ถือเป็นผลงาน opus 1 โดยดัดแปลงเนื้อเรื่องจากนิทานของพี่น้องกริม Mahler ได้ส่งผลงานชิ้นนี้เข้าประกวด Beethoven Competition แต่ก็พลาดหวัง ไม่ได้รางวัลติดมือกลับมา Das klagende Lied นี้เป็นเรื่องราวของชายผู้ซึ่งถูกฆาตรกรรมโดยพี่ชายของตนเองเพื่อแย่งเจ้าหญิงและตำแหน่งกษัตริย์ ภายหลังมีวณิพกมาขุดซากกระดูกของเขาขึ้นมาเพื่อทำเป็นขลุ่ยซึ่งเมื่อเป่าแล้วจะเป็นบทเพลงที่เล่าเรื่องราวของตนเองที่ถูกฆาตรกรรม จะเห็นว่าในขณะนั้น Mahler มีอายุได้ยี่สิบปีเท่านั้นแต่ก็คิดเรื่องความตายอยู่เต็มหัวไปหมด
Mahler ในปี ค.ศ.1892 เมื่ออายุ 32 ปี
ภายหลังจากจบการศึกษาจาก Vienna Conservatory แล้ว ด้วยสถานการทางการเงินบังคับทำให้ Mahler ต้องเลือกดำรงชีวิตด้วยการเป็นวาทยากรแทนที่จะเป็นนักประพันธ์เพลงถึงแม้ว่า Mahler จะจบทางด้านการประพันธ์เพลงมาก็ตามซึ่ง Mahler ก็ได้ยึดอาชีพวาทยารไปจนตลอดชีวิต Mahler ทำงานเป็นวาทยากรเก็บเกี่ยวประสบการณ์และชื่อเสียงตามเมืองต่างๆ อย่างเช่น Prague, Leipzig, Budapest, Hamburg ได้ร่วมงานกับวาทยากรมีชื่ออาทิเช่น Hans von Bülow และ Arthur Nikisch นอกจากนั้นแล้วยังได้รู้จักกับ Bruno Walter ซึ่งในขณะนั้นยังเป็นวาทยากรหนุ่มไฟแรงผู้เป็นผู้อำนวยเพลงวงประสานเสียงที่ Hamburg Opera ซึ่ง Mahler เป็นวาทยากรประจำอยู่ และ Richard Strauss คีตกวีและวาทยากรหนุ่มดาวรุ่งซึ่งต่อมากลายเป็นเพื่อนและคู่แข่งตลอดชีวิตของ Mahler จนกระทั่งปีค.ศ.1897 Mahler ก็ได้รับตำแหน่งเป็นผู้อำนวยการที่ Vienna State Opera (และวาทยากรประจำ Vienna Philharmonic) ซึ่งถือกันว่าเป็นตำแหน่งสูงสุดในยุโรปเท่าที่วาทยากรจะพึงเป็นได้ แต่อย่างไรก็ตามตำแหน่งวาทยากรประจำ Vienna State Opera นี้ได้มาไม่ง่ายนักเนื่องจาก Mahler เป็นยิว และในขณะนั้นกระแสต่อต้านชาวยิว (anti-Semitism) ในเวียนนากำลังครุกรุ่น การที่จะรับ Mahler ซึ่งเป็นชาวยิวมารับตำแหน่งผู้อำนวยการ Vienna State Opera ผู้ทรงเกียรตินั้นมีเสียงต่อต้านมากมาย บางตำราว่าผู้ที่มีอิทธิพลในการคัดค้านมากที่สุดคือ Cosima Wagner ผู้เป็นภรรยาหม้ายของ Richard Wagner ซึ่งว่ากันว่าเกลียดชังชาวยิวมากกว่า Wagner ผู้เป็นสามีเสียอีก จนกระทั่ง Mahler ยอมที่จะเปลี่ยนศาสนาจากยิวมากเป็นคริสเตียนเพื่อที่จะรับตำแหน่งนี้โดยเฉพาะ กระแสต่อต้านจึงค่อยเบาบางลงจน Mahler ได้ตำแหน่งในที่สุด ในภาพยนตร์ชีวประวัติแนวเหนือจริงเรื่อง Mahler โดย Ken Russel นั้นมีฉากหลุดโลกที่เกี่ยวกับ Mahler และ Cosima กับการเปลี่ยนศาสนาของ Mahler อยู่ซึ่งนำเสนอออกมาอย่างน่าสนใจมาก
Mahler ในปี ค.ศ.1898 เมื่ออายุ 38 ปี หลังจากรับตำแหน่งผู้อำนวยการประจำ Vienna State Opera ใหม่ๆ
ช่วงที่ Mahler ทำงานอยู่ในเวียนนานั้นนับเป็นช่วงปีทองของ Mahler ก็ว่าได้ ด้วยหน้าที่การงานทำให้ Mahler นั้นเป็นศูนย์กลางของเหล่าศิลปินหลากหลายสาขาในเวียนนา Mahler ได้มีโอกาสรู้จักกับศิลปินมีชื่อมากมายอย่างเช่น Gustav Klimt และ Alfred Roller ซึ่งต่อมาได้มาเป็นผู้ออกแบบฉากอุปรากรให้ Mahler และที่สำคัญที่สุดทำให้ Mahler มีโอกาสได้รู้จักกับ Alma Maria Schindler สาวสังคมผู้ทรงเสน่ห์ Mahler ได้ประพันธ์ Adagietto จากซิมโฟนีหมายเลขห้าให้เป็นจดหมายรักสำหรับเธอ ทั้งสองได้แต่งงานกันในปี ค.ศ. 1902 เมื่อ Mahler อายุได้ 42 ปีในขณะที่ Alma นั้นอายุได้เพียง 23 ปีเท่านั้น
Alma Maria Schindler เมื่ออายุได้ 18 ปี
Alma Mahler (1879-1964) ผู้เป็นภรรยาของ Mahler นั้นอาจมีประวัติที่น่าสนใจกว่า Mahler เสียอีก Alma นั้นเติบโตขึ้นมาในครอบครัวศิลปินโดยที่พ่อเลี้ยงของเธอนั้นคือ Carl Moll จิตรกรนามกระเดื่องในยุคนั้น Alma นั้นได้รับการศึกษาเพียบพร้อมโดยเฉพาะทางด้านดนตรีซึ่งเธอมีพรสวรรค์ และมีความสามารถในการประพันธ์เพลงร้องไว้จำนวนหนึ่ง โดยที่เธอนั้นมีความใฝ่ฝันที่จะเป็นคีตกวีในอนาคต นอกจากนั้นแล้ว Alma ยังมีรูปโฉมงดงามขนาดได้รับฉายาว่าสุภาพสตรีที่งามที่สุดในเวียนนาอีกด้วย ด้วยรูปสมบัติและความสามารถเพียบพร้อมเช่นนี้ทำให้มีหนุ่มๆ มากหน้าหลายตา ซึ่งต่างก็เป็นผู้มีชื่อเสียงต่อคิวกันยาวเหยียดเพื่อขอออกเดทด้วย อย่างไรก็ตาม Alma ก็ได้ตกลงปลงใจแต่งงานกับ Mahler แต่ Mahler มีข้อแม้อย่างหนึ่งก็คือขอให้ Alma เลิกประพันธ์เพลงโดยให้เหตุผลว่ามีคีตกวีคนเดียวในบ้านก็พอแล้ว ซึ่งทำให้ Alma เสียใจมากแต่ก็ยอมตัดใจละทิ้งความฝันที่จะเป็นคีตกวียอมแต่งงานกับ Mahler และทำหน้าที่เป็นแม่บ้านให้ Mahler รวมทั้งตัดขาดชีวิตสาวสังคมเกือบจะสิ้นเชิง ตลอดช่วงเวลาที่ Alma อยู่กับ Mahler นั้น Alma ทำหน้าที่เป็นผู้ช่วยในการประพันธ์เพลงให้ Mahler โดยทำหน้าที่ตรวจทานและคัดลอกต้นฉบับของ Mahler และยังเป็นผู้ที่อยู่เป็นเบื้องหลังในการเสนอข้อคิดเห็นต่อผลงานต่างๆ ของ Mahler (มีเรื่องเล่าว่าซิมโฟนีหมายเลขห้าแต่เดิมนั้นมีการใช้เครื่องประกอบจังหวะอย่างมโหฬาร แต่ Alma แนะนำว่ามันเยอะไป จึงได้กลายเป็นเวอร์ชั่นที่เรารู้จักกันในปัจจุบัน) และที่สำคัญที่สุดเป็นแรงบันดาลใจให้ Mahler สร้างสรรค์ผลงานต่างๆ Alma มีบุตรสาวกับ Mahler สองคนคือ Maria Anna ผู้ซึ่งเสียชีวิตตั้งแต่ในวัยเด็กและ Anna ซึ่งต่อมาได้เป็นประติมากร ภายหลังจากที่ Mahler เสียชีวิตไปแล้วนั้น Alma แต่งงานใหม่ถึงสองครั้งซึ่งสามีทั้งสองคนของ Alma นั้นต่างก็เป็นศิลปินอันดับต้นๆ ของยุโรปซึ่งได้แก่ Walter Gropius สถาปนิก และ Franz Werfel นักประพันธ์ เมื่อ Manon Gropius บุตรสาวของ Walter Gropius และ Alma เสียชีวิตด้วยโรคโปลิโอเมื่ออายุได้ 16 ปีนั้น Alban Berg ได้ประพันธ์ Violin Concerto “To the Memory of an Angel” เป็นอณุสรณ์สำหรับเธอ นอกจากนั้น Alma ยังมีความสัมพันธ์นอกสมรสกับ Oskar Kokoschka ศิลปินแนว expressionism อีกด้วย ในปัจจุบันมีภาพยนตร์ชีวประวัติของ Alma เรื่อง Bride of the Wind ถ้าสนใจลองหาชมกันดูได้ครับ
Mahler ในห้องทำงานที่ Vienna State Opera ในปีค.ศ. 1907
หลังจากออกจากงานที่ Vienna Mahler ก็ได้รับข้อเสนอให้มาอำนวยเพลงที่ Metropolitan Opera ในมหานครนิวยอร์กด้้วยค่าจ้างสูงลิบ Mahler เริ่มประพันธ์ Das Lied von der Erde (The Song of the Earth) ซึ่งเป็นเพลงร้องขนาดใหญ่โดยนำเนื้อเพลงมาจากบทกวีจีนโบราณของหลี่ไป๋และกวีจีนท่านอื่นๆ จริงๆ แล้วสามารถที่จะเรียก Das Lied von der Erde นี้ได้ว่าเป็นซิมโฟนีหมายเลขเก้า แต่ Mahler ถือเคล็ดว่าไม่ว่าจะเป็น Beethoven หรือ Bruckner ต่างก็เสียชีวิตในขณะที่แต่งซิมโฟนีได้ไม่เกินหมายเลขเก้า Mahler จึงจงใจเรียกเป็นอย่างอื่นไปซะเพื่อที่จะได้ข้ามหมายเลขเก้าไปก่อน ต่อมาในปี ค.ศ.1910 Mahler จับได้ว่า Alma มีความสัมพันธ์ลับๆ กับ Walter Gropius สถาปนิกหนุ่มอนาคตไกล ทำให้ Mahler กลุ้มใจมากถึงกับต้องไปขอคำปรึกษาจาก Sigmund Freud เจ้าของทฤษฎีจิตวิเคราะห์อันโด่งดัง แต่อย่างไรก็ตาม Alma ก็เลือกที่จะอยู่กับ Mahler ต่อ ซึ่งเหตุการณ์ครั้งนี้ทำให้ Mahler ตระหนักว่าตัวเองทอดทิ้งภรรยามากเกินไป Mahler จึงหันมาเอาใจใส่ภรรยามากขึ้นและเริ่มส่งเสริมให้ Alma กลับมาประพันธ์เพลงใหม่ สถานการณ์ต่างๆ ดูเหมือนจะดีขึ้น Mahler นำซิมโฟนีหมายเลขแปด ออกแสดงในปีเดียวกันที่เมืองมิวนิคและประสบความสำเร็จอย่างงดงาม ซิมโฟนีหมายเลขแปดนี้เป็นที่รู้จักกันในชื่อ Symphony of a Thousand เนื่องจากใช้นักดนตรีและนักร้องร่วมหนีึ่งพันคนในการบรรเลง นี่เป็นสัญญาณที่ดีว่าผู้คนเริ่มที่จะยอมรับ Mahler ในฐานะคีตกวีแล้ว ทุกสิ่งทุกอย่างที่ดูเหมือนจะดีขึ้นก็มาพังทลายลงเมื่อ Mahler ติดเชื้อที่ลิ้นหัวใจ (infectious endocarditis) และล้มป่วยลงจนเสียชีวิตในปีต่อมาเมื่ออายุได้ 50 ปีเท่านั้น ระหว่างที่ยังประพันธ์ซิมโฟนีหมายเลขสิบค้างอยู่
ภายหลังจากที่ Mahler เสียชีวิตลง Bruno Walter ได้นำผลงานสองชิ้นสุดท้ายของ Mahler ออกแสดงนั่นคือ Das Lied von der Erde (The Song of the Earth) และซิมโฟนีหมายเลขเก้า หลังจากนั้นผลงานของ Mahler ก็ค่อยๆ เลือนหายไปจากความทรงจำของผู้คนโดยที่คนส่วนใหญ่นั้นจดจำ Mahler ได้ในฐานะวาทยากรเอกเท่านั้น ซึ่งแตกต่างไปอย่างสิ้นเชิงกับกรณีของ Richard Strauss ที่แทบจะกลายเป็นคีตกวีแห่งชาติไปแล้ว จะมีก็แต่วาทยากรอย่าง Willem Mengelberg, Bruno Walter หรือ Otto Klemperer เท่านั้นที่ยังพยายามนำผลงานของ Mahler ออกแสดงเป็นระยะๆ จนในช่วงนาซีครองเมือง งานของ Mahler ก็โดนแบนสนิทเนื่องจาก Mahler เป็นยิว ภายหลังสงครามงานของ Mahlerค่อยๆ เริ่มได้รับความนิยมฟังและบันทึกเสียงมากขึ้นเรื่อยๆ ในช่วงปี 50 จนกระทั่งมาบูมในช่วงปี 60 และกลายเป็นหนึ่งในคีตกวียอดนิยมในปัุจจุบัน นอกจากนั้นแล้วในปี ค.ศ. 1971 Luchino Visconti ผู้กำกับรุ่นเก๋าชาวอิตาลี ได้นำ Adagietto จากซิมโฟนีหมายเลขห้าของ Mahler มาประกอบภาพยนตร์เรื่อง Death in Venice ซึ่งนำให้บทเพลงนี้แพร่กระจายไปในวงกว้างและกลายเป็นหนึ่งในเพลงคลาสสิคยอดนิยมซึ่งเป็นที่รู้จักกันในชื่อ Theme from Death in Venice (คล้ายๆ กับกรณีที่คนเรียก Piano Concerto no. 21 ของ Mozart ว่า Elvira Magigan นั่นแหละครับ) ถ้าใครสนใจอยากฟัง adagietto บทนี้ในเวอร์ชั่นเดี่ยวเปียโนสามารถ download ได้ที่นี่
Some memorable quotes
No use looking up there (at the mountains surrounding Steinbach-am-Attersee). That's all been composed by me!
There are no fortissimi in my fourth symphony.
Imagine that the Universe bursts into song. We hear no longer human voices, but those of planets and suns which revolve.
Almschi, to live for you! To die for you! (Almschi คือ Alma Mahler)
A symphony must be like the world. It must embrace everything.
I am thrice homeless: as a native of Bohemia in Austria, as an Austrian among Germans, and as a Jew throughout the world. Everywhere an intruder, never welcomed.