Group Blog
 
<<
กันยายน 2550
 1
2345678
9101112131415
16171819202122
23242526272829
30 
 
18 กันยายน 2550
 
All Blogs
 
การทำรัฐประหาร = Official Revolution: ลงทุนต่ำ-กำไรสูง

บทความชิ้นนี้นำมาจากเวปไซน์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ซึ่งทางกองบรรณาธิการเวปไซน์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกล่าวเกี่ยวกับบทความนี้ว่า เป็นการพิจารณาการทำรัฐประหารในประเทศไทยเมื่อ
วันที่ ๑๙ กันยายน ๒๕๔๙ ในแง่มุมสิทธิเสรีภาพและระเบียบทางการเมือง
โดยบทความนี้เดิมชื่อ ไม่มีรัฐประหารไหนพิเศษกว่ารัฐประหารอื่น:
พิจารณารัฐประหาร ๑๙ กันยายน ในแง่สิทธิเสรีภาพและระเบียบการเมือง
ประกอบด้วยสาระสำคัญดังหัวข้อสังเขปต่อไปนี้
- สิทธิเสรีภาพพลเมืองและสิทธิเสรีภาพในรัฐธรรมนูญ
- สิทธิเสรีภาพมีอยู่โดยธรรมชาติ
- สิทธิเสรีภาพพลเมืองเป็นเส้นแบ่งการเมืองสมัยใหม่กับการเมืองโบราณ
- สิทธิเสรีภาพของพลเมืองในทัศนะนักกฎหมายไทย
- ประวัติความเข้าใจเกี่ยวกับสิทธิเสรีภาพ
- รัฐประหาร 19 กันยายน ในทฤษฎีรัฐประหาร
- ความแตกต่างของรัฐประหาร การก่อจลาจล และการปฏิวัติ
- การรัฐประหาร = Official Revolution - ต้นทุนต่ำ กำไรสูง

โดยบทความนี้เผยแพร่บนเว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนครั้งแรกเมื่อวันที่ ๐๗ กันยายน ๒๕๕๐



ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์ : เขียน
นักวิชาการอิสระ : กำลังศึกษาในระดับ ป.เอก ที่ มหาวิทยาลัยฮาวาย



ความนำ
ในทันทีที่เกิดการยึดอำนาจเมื่อคืนวันที่ 19 กันยายน 2549 ปัญญาชนและผู้ประกอบวิชาชีพวิชาการจำนวนมาก พากันยืนยันว่ารัฐประหารนี้แตกต่างจากรัฐประหารในอดีต เพราะเป็นรัฐประหารที่เกิดจากความต้องการของประชาชนจริงๆ, เป็นรัฐประหารที่ให้ความสำคัญกับสิทธิเสรีภาพพลเมืองมากกว่าทุกครั้ง, เป็นการยึดอำนาจโดยปราศจากการใช้ความรุนแรง, เป็นรัฐประหารที่บัญญัติไว้ในธรรมนูญการปกครองว่า จะเคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์และสิทธิเสรีภาพของประชาชน ฯลฯ จึงไม่ควรต่อต้านหรือวิจารณ์การยึดอำนาจครั้งนี้ เพราะมีความเป็นไปได้ที่รัฐประหารนี้ จะเป็นจุดเริ่มต้นของการสร้างประชาธิปไตยที่แท้ในสังคมไทย

แน่นอนว่าทรรศนะคตินี้มีปัญหา เพราะไม่ได้คำนึงถึงข้อเท็จจริงง่ายๆ ว่ารัฐประหาร 19 กันยายน เริ่มต้นด้วยการประทุษร้ายบุคคลในรัฐบาลที่แล้ว, การปกครองประเทศด้วยกฎอัยการศึกและกำลังพลติดอาวุธ [1] , พรรคการเมืองถูกห้ามดำเนินกิจกรรม, สิทธิในการเข้าถึงและกระจายข่าวสารถูกควบคุมทางตรงและทางอ้อม, เสรีภาพในการแสดงความเห็นถูกลิดรอนด้วยวิธีใดวิธีหนึ่ง [2] , เสรีภาพในการชุมนุมเป็นเรื่องที่โดยพื้นฐานแล้วผิดกฎหมาย, การแต่งตั้งคณะรัฐมนตรี สภานิติบัญญัติ และสภาร่างรัฐธรรมนูญ ล้วนกระทำไปโดยการพูดคุยและตกลงเป็นการภายในระหว่างผู้นำรัฐประหารไม่กี่ราย จากนั้นก็ตามมาด้วยการร่างรัฐธรรมนูญโดยไม่มีผู้แทนปวงชนเข้าไปเกี่ยวข้อง สิทธิในการเลือกตั้งผู้แทนราษฎรถูกระงับชั่วคราว รวมทั้งหลักการปกครองโดยกฎหมายถูกบิดเบือนเป็นเครื่องมือกำจัดฝ่ายตรงข้ามตามอำเภอใจ

ถ้าพฤติกรรมเหล่านี้แสดงถึงสิทธิเสรีภาพและประชาธิปไตยได้ ประชาธิปไตยก็คงไม่มีความหมายต่อไป
ที่กล่าวมานี้ไม่ได้หมายความว่าทัศนคตินี้ผิดจนไม่มีอะไรน่าสนใจ ในทางตรงกันข้าม ทัศนคติแบบนี้น่าสนใจเพราะเกี่ยวพันกับฐานความคิดที่สมควรอภิปรายให้กว้างขวางต่อไป 3 ข้อ

- ข้อแรกคือ ความเข้าใจว่าสิทธิเสรีภาพของพลเมืองมีความหมายเท่ากับสิทธิเสรีภาพในรัฐธรรมนูญ
- ข้อสองคือ รัฐประหาร 19 กันยายน เป็นรัฐประหารที่พิเศษกว่ารัฐประหารที่ผ่านมาทั้งหมด และ
- ข้อสามคือ มีความเป็นไปได้ที่รัฐประหารจะวางหลักประกันให้สิทธิเสรีภาพและประชาธิปไตย

สิทธิเสรีภาพพลเมืองและสิทธิเสรีภาพในรัฐธรรมนูญ
ในบรรดาประเด็นปัญหาทั้ง 3 ข้อ นั้น ประเด็นแรกนับว่าตอบได้ง่ายที่สุด เพราะผู้ที่สนใจความเคลื่อนไหวทางสังคมคงทราบเป็นอย่างดีว่า สิทธิเสรีภาพระดับลายลักษณ์อักษรไม่จำเป็นต้องหมายถึงสิทธิเสรีภาพซึ่งปฏิบัติกันอยู่จริง ในทางตรงข้าม สิทธิเสรีภาพลักษณะนี้เป็นเพียงตัวบทที่ผู้ร่างรัฐธรรมนูญสามารถเขียนให้วิจิตรพิสดารจากความเป็นจริงอย่างไรก็ได้ รวมทั้งจะเขียนให้เป็นสัญลักษณ์ของอุดมคติแบบใดก็ได้ทั้งนั้น ไม่ต้องพูดถึงอุปสรรคหลายต่อหลายข้อ ที่อาจขัดขวางไม่ให้สิทธิเสรีภาพตามตัวอักษรแปรสภาพเป็นมาตรการคุ้มครองพลเมืองได้จริง

รายงานข่าวของเว็บไซต์ประชาไทต่อการประทุษร้ายที่บ้านปางแดงเมื่อวันที่ 22 มกราคม 2550 เป็นภาพสะท้อนของช่องว่างระหว่างสิทธิเสรีภาพในรัฐธรรมนูญกับสิทธิเสรีภาพของพลเมืองได้เป็นอย่างดี [3]

"ทหารชุดเฉพาะกิจร่วมกับป่าไม้ ใช้กฎอัยการศึก เข้าปิดล้อมหมู่บ้านปางแดง บุกรื้อถอนบ้าน และจับกุมชาวบ้าน เผยเป็นพื้นที่เป้าหมายบุกรุกป่า-ยาเสพติด ขณะที่เอ็นจีโอประณามเจ้าหน้าที่รัฐเลือกปฏิบัติ เหมือนจงใจสร้างสถานการณ์ กระทำการคุกคามชาวบ้านปางแดงซ้ำซาก

วันนี้ (22 ม.ค.) เจ้าหน้าที่ทหารจากชุดเฉพาะกิจกองพันทหารม้า กองทัพภาคที่ 3 พร้อมเจ้าหน้าที่ป่าไม้จากหน่วยป้องกันรักษาป่าที่ ชม.5 (ปิงโค้ง) และเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติศรีลานนากว่า 20 นาย นำกำลังเข้ารื้อค้นบ้านชาวบ้านปางแดงนอก ต.เชียงดาว อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่ โดยรื้อค้นบ้านก่อนทำการยึดไม้ พร้อมจับกุมชาวบ้านข้อหามีไม้เถื่อนในครอบครอง

เมื่อผู้สื่อข่าวได้เข้าไปสอบถาม นายสนั่น โกฏแก้ว หัวหน้าหน่วยป้องกันรักษาป่าที่ ชม.5 (ปิงโค้ง) เปิดเผยว่า เนื่องจากหมู่บ้านปางแดงเป็นหนึ่งในหมู่บ้านเป้าหมายในเรื่องปัญหาการบุกรุกป่าและยาเสพติด ของ อ.เชียงดาว ซึ่งจากการสืบเบาะแส พบว่าพื้นที่ปางแดงถือว่ายังมีปัญหาเรื่องการบุกรุกป่าอยู่ และยังมีกลุ่มพ่อค้าไม้เข้าไปแอบแฝงอยู่ในหมู่บ้านนั้นด้วย จึงจำเป็นต้องเข้าไปค้นและจับกุม "แต่ว่าการเข้าไปปิดล้อม มันต้องมีหมายค้น ซึ่งบางครั้งมันไม่ทันการ ดังนั้น จึงจำเป็นต้องอาศัยชุดกำลังเฉพาะกิจของทหาร เพราะทางทหารไม่ต้องใช้หมายค้น สามารถใช้กฎอัยการศึกเข้าไปได้เลย"

รายงานนี้มีความสำคัญหลายข้อ

- หนึ่ง ข่าวนี้แสดงให้เห็นการประทุษร้ายที่เจ้าหน้าที่รัฐกระทำต่อชาวบ้านโดยมีลักษณะเลือกปฏิบัติทางชาติพันธุ์และชนชั้นมาเกี่ยวข้อง
- สอง การประทุษร้ายนี้เกิดขึ้นในนามของเหตุผลสาธารณะที่รัฐอ้างว่าชาวบ้านละเมิดประโยชน์ส่วนรวม
- สาม ชาวบ้านกลุ่มนี้ถูกประทุษร้ายซ้ำแล้วซ้ำเล่าโดยรัฐบาลทุกยุคสมัย
- สี่ ข่าวนี้แสดงให้เห็นว่าเจ้าหน้าที่รัฐมีสิทธิในการใช้อำนาจเหนือกฎหมายต่อชาวบ้านได้ตามอำเภอใจ และ
- ห้า ข่าวนี้เป็นตัวอย่างของการละเมิดสิทธิเสรีภาพ โดยอำนาจอภิสิทธิ์ที่เจ้าหน้าที่ของรัฐได้รับจากกฎอัยการศึกในปัจจุบัน

หากเงี่ยหูฟังเสียงของคนที่มีสถานภาพทางสังคมและเศรษฐกิจอ่อนด้อยต่อไป ก็คงได้ยินเรื่องราวทำนองนี้ดังขึ้นอีกมาก สิทธิเสรีภาพที่เป็นลายลักษณ์อักษรจึงมีช่องว่างเหลือคณาจากสิทธิเสรีภาพในระดับปฏิบัติจริง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในสถานการณ์ที่ชีวิตจริงของพลเมืองอยู่ภายใต้สถานการณ์ทางการเมืองที่ผิดไปจากสภาวะปกติธรรมดา

สิทธิเสรีภาพมีอยู่โดยธรรมชาติ
แน่นอนว่า การพิจารณาสิทธิเสรีภาพโดยคำนึงแต่บทบัญญัติที่เป็นลายลักษณ์อักษรนั้นทำให้มืดบอดต่อความเป็นจริง แต่ที่อันตรายไม่น้อยกว่าความมืดบอดคือ การทำให้สิทธิเสรีภาพของพลเมืองเสื่อมความสำคัญลงไปด้วย เหตุผลคือหลักสิทธิเสรีภาพพลเมืองเป็นข้อความคิดที่แตกต่างในระดับมูลฐาน จากหลักสิทธิเสรีภาพในรัฐธรรมนูญจนไม่สามารถนำมาเทียบเคียงกันได้ หลักคิดนี้เห็นว่าสิทธิเสรีภาพเป็นส่วนหนึ่งของระเบียบเชิงปทัสถานสากล (Nomos) มนุษย์ทุกคนจึงมีสิทธิเสรีภาพอยู่แล้วโดยธรรมชาติโดยไม่จำเป็นต้องได้รับการรับรองจากรัฐบาล, กฎหมาย, หรืออำนาจทางโลก ขณะที่สิทธิเสรีภาพในรัฐธรรมนูญนั้นคือสิทธิเสรีภาพที่มนุษย์บัญญัติขึ้นเพื่อเป้าหมายรวบยอดบางอย่าง (interpretive concept) ทำให้สิทธิเสรีภาพประเภทนี้มีความหมายก็ต่อเมื่อ มีระเบียบทางโลกให้การประทับรับรองสถานะทางกฎหมายขึ้นมา

ในทางปรัชญานั้น การนำสิทธิเสรีภาพของพลเมืองไปเทียบเคียงเท่ากับสิทธิเสรีภาพในรัฐธรรมนูญเป็นการลดทอนสิทธิเสรีภาพที่มนุษย์ทุกคนมีโดยธรรมชาติ ให้กลายเป็นแค่ข้อตกลงที่เกิดจากบทบัญญัติทางกฎหมาย กระบวนการนี้ทำให้สิทธิเสรีภาพและความเป็นพลเมืองไม่ใช่หลักการที่มีมาก่อนและอยู่เหนืออำนาจ แต่กลายเป็นอำนาจ (Authority) ที่ให้กำเนิดสิทธิเสรีภาพและความเป็นพลเมือง [4]

การตระหนักว่าพลเมืองมีสิทธิเสรีภาพโดยธรรมชาติเป็นเรื่องสำคัญ เพราะความข้อนี้เป็นพื้นฐานของความเข้าใจต่อไปว่า รัฐธรรมนูญเกิดขึ้นเพื่อสร้างความสมบูรณ์ให้กับสิทธิเสรีภาพที่พลเมืองมีโดยกำเนิดอยู่แล้ว เป้าหมายของรัฐธรรมนูญคือ การสร้างหลักประกันด้านสิทธิเสรีภาพพลเมืองโดยบทบัญญัติทางกฎหมาย นั่นหมายความว่าสิทธิพลเมือง เป็นอาณาบริเวณที่โดยปกติแล้วรัฐไม่สามารถลิดรอนหรือล่วงละเมิดเข้าไปได้ และฉะนั้น รัฐและเจ้าหน้าที่รัฐจึงพึงมีอำนาจเหนือพลเมืองในระดับจำกัดที่สุด ประเด็นนี้เท่ากับว่าความเป็นกฎหมายสูงสุดของรัฐธรรมนูญ ไม่ได้ทำให้บทบัญญัติในรัฐธรรมนูญเป็นระเบียบการเมืองสูงสุดโดยดุษฎี ในทางตรงกันข้าม ความเป็นกฎหมายสูงสุดของรัฐธรรมนูญเป็น กฎทางโลก ซึ่งขึ้นต่อระบบคุณค่าที่สำคัญกว่ารัฐธรรมนูญไปมาก วิธีคิดแบบนี้เห็นว่าพลเมืองไม่ได้มีหน้าที่ต้องเชื่อฟังและปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญโดยไม่มีเงื่อนไข เพราะพันธะของพลเมืองในการปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญนั้น เกิดขึ้นเมื่อรัฐธรรมนูญสอดคล้องกับระบบคุณค่าที่อยู่เหนือขึ้นไป นั่นก็คือรัฐธรรมนูญเป็นสัญลักษณ์ของข้อความคิดที่มีหลักสิทธิเสรีภาพพลเมืองเป็นแกนกลาง เป็นส่วนสำคัญ

สิทธิเสรีภาพพลเมืองเป็นเส้นแบ่งการเมืองสมัยใหม่กับการเมืองโบราณ
เรามักเข้าใจว่าเส้นแบ่งระหว่างการเมืองโบราณกับการเมืองสมัยใหม่อยู่ที่ หลักความเป็นกฎหมายสูงสุดของรัฐธรรมนูญ และหลักการปกครองโดยกฎหมาย แต่แท้จริงแล้ว สิทธิเสรีภาพพลเมืองต่างหากที่เป็นเส้นแบ่งแยกการเมืองสมัยใหม่ออกจากการเมืองโบราณ เหตุผลคือการปกครองโดยรัฐธรรมนูญและหลักกฎหมายเป็นเรื่องที่ปรากฏในสังคมการเมืองก่อนสมัยใหม่หลายต่อหลายสังคม นักปรัชญาโบราณอย่างเพลโตและอริสโตเติลเองก็พูดมานับพันปีว่ารัฐบาลควรอยู่ภายใต้กฎเกณฑ์และกฎหมาย แต่ประเด็นคือการเมืองแบบก่อนสมัยใหม่และการเมืองสมัยใหม่คิดถึงการปกครองโดยกฎหมายในแง่มุมที่ต่างกัน กล่าวคือ

- การเมืองก่อนสมัยใหม่เห็นว่ากฎหมายเป็นพื้นฐานของความยุติธรรม ส่วนความยุติธรรมก็เป็นมูลฐานของชีวิตที่ดีของมนุษย์ การเมืองแบบก่อนสมัยใหม่จึงเห็นว่าการปกครองโดยกฎหมายมีความสำคัญในฐานะ มรรควิธี เพื่อไปสู่ชุมชนการเมืองที่มีระเบียบที่ดี (well-ordered community)

- ขณะที่การเมืองสมัยใหม่ไม่ได้เห็นความสำคัญของการปกครองโดยกฎหมายด้วยเหตุผลข้อนี้ แต่เห็นว่าการปกครองโดยกฎหมายเป็นเครื่องมือสำหรับปกป้องสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานของพลเมือง [5]

แต่ทั้งนี้ไม่ได้หมายความโลกก่อนสมัยใหม่จะปราศจากร่องรอยของความคิดเรื่องสิทธิเสรีภาพ เพียงแต่เสรีภาพในเวลานั้นไม่ได้หมายความถึงเสรีภาพด้านความคิด ความเชื่อ สิทธิมนุษยชน หรือการแสดงความเห็นอย่างที่เข้าใจกันในปัจจุบัน

- เสรีภาพในภาษาสุมาเรียนคือคำว่า Ama-gi ซึ่งหมายถึงการกลับไปหามารดาผู้ให้กำเนิด
- คำว่าเสรีภาพในภาษาอังกฤษมีรากมาจากคำในภาษาอินโด-ยูโรเปียน ซึ่งหมายถึงความรัก
- แม้กระทั่ง ทูซีดิดีส ใน Peloponnesian Wars ก็ใช้คำว่าเสรีภาพในความหมายของอิสรภาพและ
ความสุขอันเกิดจากการได้ดื่มด่ำกับความงามและปัญญา [6]

สิทธิเสรีภาพของพลเมืองในทัศนะนักกฎหมายไทย
แนวคิดเรื่องสิทธิเสรีภาพของพลเมืองในฐานะสิทธิโดยธรรมชาตินั้น แตกต่างจากความเข้าใจที่ยอมรับกันอย่างกว้างขวางในหมู่นักกฎหมายของไทยที่อยู่ใต้อิทธิพลของนิติปรัชญาแนวปฏิฐานนิยม ทั้งที่รู้ตัวและไม่รู้ตัว คนเหล่านี้เห็นว่ากฎหมายไม่ใช่ หลักการ (Principles) จึงไม่มีความจำเป็นที่กฎหมายจะต้องอยู่ภายใต้หลักจริยศาสตร์หรือหลักการนามธรรมชนิดใดชนิดหนึ่ง เช่น ความยุติธรรม ความดี หรือประชาธิปไตย แต่กฎหมายคือองค์รวมของ กฎ (Rules) และขั้นตอนการปฏิบัติ (Procedures) ซึ่งถึงที่สุดแล้วก็เป็นเรื่องที่ขึ้นอยู่กับข้อเท็จจริงทางสังคมในแต่ละห้วงเวลา [7]

- นักกฎหมายมหาชนของไทยนับตั้งแต่รุ่นบุกเบิกอย่าง ขุนประเสริฐศุภมาตรา จึงไม่เคยกล่าวถึงสิทธิเสรีภาพพลเมืองในฐานะสิทธิที่มีโดยธรรมชาติ แต่กลับให้คำอรรถาธิบายว่า สิทธิคืออำนาจหรือความสามารถซึ่งกฎหมายรับรองให้บุคคลผู้หนึ่งมีอำนาจร้องให้ผู้อื่นมีหน้าที่ต้องปฏิบัติตาม

- ส่วนนักกฎหมายรุ่นถัดมาอย่าง ศาสตราจารย์ หยุด แสงอุทัย ก็ให้ความเห็นในลักษณะคล้ายคลึงกันนี้ นั่นก็คือ สิทธิ ก่อให้เกิด หน้าที่ แก่บุคคลอื่นที่จะต้องปฏิบัติให้เป็นไปตามที่กฎหมายรับรอง [8]

พูดอย่างรวบรัดแล้ว คติแบบปฏิฐานนิยมเห็นว่าสถานะของสิทธิเสรีภาพขึ้นอยู่กับการรับรองในรัฐธรรมนูญและระบบกฎหมาย ขณะที่แนวคิดเรื่องสิทธิเสรีภาพพลเมืองนั้น เห็นว่าแม้สิทธิเสรีภาพของพลเมืองจะต้องได้รับการค้ำประกันโดยกฎหมาย แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าสิทธิเสรีภาพพลเมืองมีต้นกำเนิดมาจากระบบกฎหมาย และยิ่งไม่ได้เท่ากับว่าสิทธิเสรีภาพเท่าที่ปรากฎในรัฐธรรมนูญและตัวบทกฎหมายนั้น คือ นิยามความหมาย ของสิทธิเสรีภาพทั้งมวล

ประวัติความเข้าใจเกี่ยวกับสิทธิเสรีภาพ
นักกฎหมายแนวปฏิฐานนิยมมักอ้างว่าสิทธิเสรีภาพพลเมืองเป็นแนวคิดที่ปราศจากแก่นสาร ไม่มีนิยามชัดเจน และนำไปปฏิบัติไม่ได้ จึงจำเป็นต้องยอมรับให้บทบัญญัติที่เป็นลายลักษณ์อักษรในรัฐธรรมนูญและกฎหมายเป็นแหล่งที่มาของสิทธิเสรีภาพพลเมืองที่เชื่อถือได้แต่เพียงแหล่งเดียว ซึ่งแม้จะเป็นความจริงว่าสิทธิเสรีภาพของพลเมืองในแง่ประวัติศาสตร์ความคิดนั้นเป็นข้อความคิดที่มีความเปลี่ยนแปลงมาตลอด แต่ความเปลี่ยนแปลงนั้นก็ไม่ได้ออกไปจากกรอบพื้นฐานที่มีลักษณะร่วมอย่างคร่าวๆ ในแง่ของการคิดถึงสิทธิเสรีภาพในเชิงการปลอดจากสภาวะคุกคามบังคับที่เกิดจากอำนาจภายนอกตัวมนุษย์ ตัวอย่างเช่น

- สิทธิเสรีภาพพลเมืองแบบที่เข้าใจกันในปัจจุบันนั้น เป็นผลผลิตของความคิดเสรีนิยมสกุลที่เฟื่องฟูขึ้นโลกตะวันตกในช่วงหลังคริสตศตวรรษที่ 18 ที่พิจารณามนุษย์ในฐานะองค์ประธานซึ่งมีอิสรภาพในตัวเอง (autonomy) โดยก่อนหน้าก็มีคติเรื่องสิทธิเสรีภาพพลเมืองแบบอื่นดำรงอยู่ในโลกตะวันตกอีกเป็นอันมาก เช่น

- คติแบบนีโอโรมัน ในคริสตศตวรรษ 17 ซึ่งมีประเด็นใจกลางที่การสร้างสมดุลระหว่างเสรีภาพของพลเมือง
กับพันธะหน้าที่ของเอกบุคคลต่อสาธารณรัฐ [9],

- คติแบบภราดรภาพนิยมและสังคมนิยม ในครึ่งหลังของคริสตศตวรรษที่ 19 ซึ่งเน้นความสำคัญของสิทธิเสรีภาพในความหมายของความเท่าเทียมทางเศรษฐกิจและสังคม

- คติชุมชนนิยม ซึ่งโจมตีสิทธิเสรีภาพแบบเสรีนิยมในแง่ที่ถือว่า สิทธิ มีคุณค่าทางศีลธรรมสูงกว่าเรื่องอื่น (the primacy of rights) เช่น หน้าที่, คุณธรรม, หรือผลประโยชน์ส่วนรวม จนสมควรพิจารณาประเด็นสิทธิเสรีภาพควบคู่ไปกับหลักคิดเรื่องสังคม (social thesis) [10] ฯลฯ

ในแง่นี้แล้ว วิธีหนึ่งที่จะทำให้เข้าใจความสัมพันธ์ระหว่าง "หลักสิทธิเสรีภาพของพลเมือง" และ "สิทธิเสรีภาพในรัฐธรรมนูญ" ได้ดีขึ้น ก็คือการพิจารณาคำสองคำนี้โดยเทียบเคียงกับคำที่ใช้ในทฤษฎีกฎหมายเยอรมัน ซึ่งพวกเขาแทนที่คำว่า "กฎหมาย" (law) และ "สิทธิ" (rights) ในภาษาอังกฤษ ด้วยการระบุลงไปอย่างชัดเจนว่า

- "กฎหมาย" หมายถึง "กฎหมายเชิงรูปธรรม" (objective law) อันเป็นกฎระเบียบที่เอกบุคคลทั้งมวลต้องประพฤติปฏิบัติตาม
- "สิทธิ" นั้นหมายถึง "สิทธิเชิงอัตวิสัย" (subjective rights) อันได้แก่อำนาจซึ่งเอกบุคคลทุกรายได้รับจากปทัสถานชุดใดชุดหนึ่ง [11]

ซึ่งหากมองในกรอบนี้ สิทธิเสรีภาพของพลเมืองย่อมเป็น อำนาจ ซึ่งเอกบุคคลได้รับจากปทัสถานทางการเมืองที่มีเป้าหมายเพื่อปกป้องพวกเขาจากการคุกคามของอำนาจภายนอก ขณะที่รัฐธรรมนูญคือ ระเบียบกฎเกณฑ์ที่เป็นรูปธรรมทางโลก ซึ่งมีเป้าประสงค์ให้คนทุกฝ่ายในสังคมปฏิบัติตามเป้าหมายนี้ตลอดเวลา

ความสัมพันธ์ระหว่างสิทธิเสรีภาพพลเมืองและตัวบทกฎหมายแบบนี้ ทำให้ไม่สามารถคิดเรื่องสิทธิเสรีภาพโดยคำนึงแต่แง่มุมนิติศาสตร์ล้วนๆ เพราะการอาศัยกฎหมายไปค้ำประกันสิทธิเสรีภาพของพลเมืองเป็นเรื่องที่ต้องกระทำผ่านรัฐและกลไกการปกครองของรัฐ สิทธิเสรีภาพของพลเมืองจึงเป็นประเด็นปัญหาที่มีแง่มุมทางการเมือง ดังนั้น จำเป็นต้องนำมาขบคิดในมิติความเป็นการเมืองให้มากขึ้น เพราะถึงที่สุดแล้วก็เกี่ยวข้องกับคำถามพื้นฐานว่า ทำอย่างไรที่อำนาจการเมืองจะถูกใช้ไปเพื่อปกป้องสิทธิเสรีภาพพลเมือง หรือถามให้สอดคล้องกับสถานการณ์ของสังคมไทยในขณะนี้ ก็คือ เป็นไปได้จริงหรือที่รัฐประหาร 19 กันยายน จะเป็นรัฐประหารเพื่อยกระดับปทัสถานด้านสิทธิเสรีภาพของพลเมือง

รัฐประหาร 19 กันยายน ในทฤษฎีรัฐประหาร
ผู้สนับสนุนรัฐประหาร 19 กันยายน เกือบทั้งหมดมักอ้างว่ารัฐประหารครั้งนี้ไม่เหมือนรัฐประหารครั้งอื่น นักรัฐศาสตร์บางคนอ้างว่า ความไม่เหมือนนี้ทำให้เป็นไปได้ที่รัฐประหารครั้งนี้จะสร้างประชาธิปไตย นักพัฒนาเอกชนบางฝ่ายอ้างว่า ความไม่เหมือนนี้ทำให้รัฐประหารที่เพิ่งผ่านมาทำเพื่อส่วนรวมได้มากกว่ารัฐประหารทุกครั้ง (รวมทั้งต้านโลกาภิวัตน์, สร้างเศรษฐกิจชุมชน หรือระบบสวัสดิการสังคมที่ก้าวหน้าขึ้นก็ได้ด้วย) นักกฎหมายเห็นว่าความไม่เหมือนนี้ทำให้เป็นไปได้ที่รัฐประหารนี้ จะปกป้องสิทธิเสรีภาพของประชาชน, เทคโนแครตภาคเอกชนบางกลุ่มเชื่อว่า รัฐประหารเปิดโอกาสให้การปฏิรูปสื่อมีความเป็นไปได้มากกว่าที่ผ่านมา โดยยิ่งการรัฐประหารผ่านไป คนหลายฝ่ายก็ยิ่งตอกย้ำความเห็นทำนองนี้ให้ทวีความซับซ้อนขึ้นไปอีก ตัวอย่างเช่น การเชื่อมโยงพฤติกรรมการใช้อำนาจอย่างละมุนละม่อมกับสถานการณ์การเมืองเฉพาะหน้า [12] , การพิจารณารัฐประหารในฐานะเป็นส่วนหนึ่งของความเปลี่ยนแปลงด้านโครงสร้างทางการเมืองในสังคมไทย ที่มีประชาธิปไตยต่อเนื่องเป็นเวลา 14 ปี [13] ฯลฯ

บทความเรื่อง "ปฏิวัติงดงาม" ของ วัลลภ ตังคณานุรักษ์ วุฒิสมาชิกที่มาจากการเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ.2540 ผู้ถูกคณะรัฐประหารแต่งตั้งเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติในเวลาต่อมา แสดงความรู้สึกทำนองนี้ไว้อย่างดี

"ประเทศไทยผ่านการปฏิวัติรัฐประหารมาหลายต่อหลายครั้ง แทบทุกครั้งจะได้รับเสียงวิพากษ์วิจารณ์ในแนวลบเกือบทั้งสิ้น แต่ล่าสุดของการปฏิวัติในคืนวันที่ 19 กันยายน 2549 ที่ผ่านมา ภายใต้ชื่อ คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.) ที่นำโดย พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน และคณะ กลับได้รับความชื่นชมยินดีจากประชาชนอย่างล้นหลาม...เป็นการปฏิวัติที่เรียบร้อย ไม่มีการปะทะและเสียเลือดเสียเนื้อแต่ประการใด เป็นการปฏิวัติที่มาได้ในจังหวะอันพอเหมาะพอควร มีสัญญาณหลายประการที่เป็นความงดงามของการปฏิวัติ" [14]

ความเห็นเชิงสนับสนุนรัฐประหารเช่นนี้ไม่ใช่เรื่องผิดปกติ ซ้ำยังเป็นความรู้สึกที่พบได้ทั่วไป ดังปรากฎว่าเลขาธิการคณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย และผู้ประสานงานพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ก็แสดงความรู้สึกต่อรัฐประหารอย่างเปี่ยมด้วยความปลื้มปิติว่า

"ผ่านไปแค่ชั่วข้ามคืนของการรัฐประหาร สัญญาณหลายๆ อย่างในทางบวก ก็เริ่มปรากฏอย่างที่ผมไม่คิดมาก่อน การรัฐประหารครั้งนี้ไม่มีเหตุการณ์นองเลือดเกิดขึ้นกับฝ่ายใด และคำประกาศกระทั่งคำสั่งของคณะปฏิรูปก็มีท่วงทำนองที่ระมัดระวังในการใช้อำนาจ มีลักษณะยืดหยุ่น อะลุ้มอล่วยกับทุกฝ่าย อย่างไม่เคยปรากฏมาก่อนในการรัฐประหารที่เคยเกิดขึ้นในประวัติศาสตร์การเมืองไทย...หัวหน้าคณะปฏิรูปฯ ให้สัญญาฯ กับประชาชนว่า จะถืออำนาจไว้เพียง 2 สัปดาห์ และจะเร่งคืนอำนาจให้ประชาชนโดยเร็ว" [15]

แน่นอนว่ารัฐประหาร 19 กันยายน ไม่เหมือนการรัฐประหารที่เกิดขึ้นหลายครั้งในอดีต แต่ประเด็นที่ควรพิจารณาก็คือ ความไม่เหมือนนี้หมายความว่ารัฐประหาร 19 กันยายน แตกต่างจากรัฐประหารครั้งอื่นถึงขนาดที่พูดกันจริงหรือไม่ เพราะถ้าคำตอบคือใช่ ก็เป็นไปได้ที่จะเห็นว่ารัฐประหารครั้งนี้เคารพสิทธิเสรีภาพพลเมือง และเป็นหนทางไปสู่การฟื้นฟูประชาธิปไตย แต่ถ้าคำตอบเป็นอีกแบบ ก็คงเข้าใจรัฐประหารครั้งนี้เปลี่ยนไปพอสมควร

รัฐประหารคือความรุนแรงทางการเมือง เพราะพื้นฐานของรัฐประหารคือการใช้กำลังและความรุนแรงเพื่อเป้าประสงค์ทางการเมืองในการแทนที่ผู้ปกครองที่มีอยู่ในขณะนั้น กำลังและความรุนแรงในที่นี้ไม่ได้หมายถึงการใช้กำลังประทุษร้ายฝ่ายที่ครองอำนาจด้วยวิธีการอันรุนแรงแต่เพียงอย่างเดียว หากยังครอบคลุมถึงการข่มขู่ว่าจะใช้กำลังและความรุนแรง แต่ก็มีการใช้กำลังทหารไปทำการข่มขู่บังคับเพื่อผลลัพธ์ทางการเมืองจนเห็นได้ชัด ตัวอย่างเช่น รัฐประหารของนายพลมูชาราฟแห่งปากีสถาน เมื่อเดือนตุลาคม พ.ศ.2539 หรือรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 ของคณะปฏิรูปการปกครองเพื่อประชาธิปไตยที่มีกษัตริย์เป็นประมุขในประเทศไทย

เพราะเหตุนี้ การยึดอำนาจที่ปราศจากการนองเลือดจึงไม่ใช่เรื่องผิดประหลาด ซ้ำยังเป็นประเภทหนึ่งของรัฐประหารและการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองด้วยความรุนแรง ต่อให้จะยังไม่ได้มีการฆ่าฟันและทำลายล้างชีวิตของฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดก็ตามที [16]

มักเข้าใจว่ารัฐประหารเป็นเรื่องของการแทนที่ผู้ปกครองกลุ่มเดิมด้วยผู้ปกครองกลุ่มใหม่ แต่แท้จริงแล้ว มีรัฐประหารหลายครั้งที่ไม่ได้นำไปสู่การมีอำนาจของผู้ปกครองกลุ่มใหม่โดยแท้จริง ส่วนใหญ่ของรัฐประหารประเภทนี้เกิดจากความไม่พอใจที่ผู้ปกครองเดิมมีต่อสถานการณ์การเมืองบางห้วงขณะ หรือแม้กระทั่งเกิดจากความไม่พอใจต่อคนบางฝ่ายที่อยู่ในกลุ่มผู้ปกครองด้วยกัน จึงต้องการเพิ่มอำนาจให้ตัวเองควบคุมระบบการเมืองและพลังฝ่ายอื่นได้มากขึ้น โดยอาศัยวิถีทางนอกรัฐธรรมนูญอย่างการรัฐประหาร (auto-golpe) ตัวอย่างเช่น

- รัฐประหาร พ.ศ.2514 ซึ่งจอมพลถนอม กิตติขจร เป็นหัวหน้าคณะรัฐประหาร เพื่อทำการยึดอำนาจจากรัฐบาลที่ตัวจอมพลถนอมเองเป็นนายกรัฐมนตรี จากนั้นจึงยกเลิกการร่างรัฐธรรมนูญ ยุบสภาผู้แทนราษฎร และปกครองประเทศภายใต้ระบอบเผด็จการทหารต่อเนื่องไปอีกเป็นเวลาอีก 2 ปีเศษ หรือ

- รัฐประหารเปรู เมื่อ พ.ศ.2535 ซึ่งคณะรัฐประหารของประธานาธิบดีฟูจิโมริ ทำการยึดอำนาจรัฐบาลของประธานาธิบดีฟูจิโมริเอง จากนั้นก็ระงับการใช้รัฐธรรมนูญ ยุบรัฐสภา และยื่นมือเข้าไปแทรกแซงกระบวนการยุติธรรมอย่างกว้างขวาง [17]

กล่าวโดยเปรียบเทียบแล้ว รัฐประหารประเภทนี้มีลักษณะการข่มขู่หรือเผชิญหน้าทางทหารไม่มากนัก เพราะเกิดขึ้นโดยน้ำมือของผู้นำ หรือคนกลุ่มที่กุมอำนาจทางการเมืองและการทหารได้เบ็ดเสร็จเด็ดขาดอยู่แล้ว แต่ก็ถือว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองด้วยความรุนแรง เพราะเกี่ยวข้องกับการใช้กำลังและความรุนแรงไปเพื่อผลักดันเป้าหมายทางการเมืองบางอย่างโดยตรง

ถ้ายอมรับว่ารัฐประหารเป็นความรุนแรงทางการเมือง คำถามคือความรุนแรงทางการเมืองประเภทนี้แตกต่างจากความรุนแรงทางการเมืองประเภทอื่นอย่างไร

ความแตกต่างของรัฐประหาร การก่อจลาจล และการปฏิวัติ
นักรัฐศาสตร์ด้านประวัติศาสตร์และการเมืองเปรียบเทียบคนสำคัญอย่าง ซามูเอล ไฟเนอร์ เห็นว่ารัฐประหารแตกต่างจากการยึดอำนาจและความรุนแรงทางการเมืองอื่นๆ ตรงที่รัฐประหารเป็นการยึดอำนาจด้วยพลังภายในระบบการเมืองนั้นเอง [18] ขณะที่การยึดอำนาจวิธีอื่น เช่น การก่อจลาจล , การปฏิวัติ ฯลฯ อาจเกิดจากพลังที่อยู่ภายนอกระบบการเมืองนั้นก็เป็นได้ ไม่ว่าพลังนั้นจะเป็นการลุกฮือของมวลชนที่มีลักษณะปฏิวัติสังคมอย่างการปฏิวัติโซเวียต พ.ศ.2460, การทำสงครามกลางเมืองอย่างการปฏิวัติจีน พ.ศ.2492, การรุกรานจากภายนอกอย่างการล้มล้างรัฐบาลเขมรแดงโดยกองทัพเวียดนามใน พ.ศ.2521 หรือแม้กระทั่งการยึดครองดินแดนต่างๆ โดยจักรวรรดินิยมตะวันตกในหลายคริสตศตวรรษที่ผ่านมา โดยก็เป็นไปได้ว่าการรัฐประหารตามนัยนี้จะได้รับแรงสนับสนุนหรือความช่วยเหลือจากพลังภายนอกด้วย ตัวอย่างเช่น รัฐประหารของจอมพลสฤษดิ์ เมื่อ พ.ศ.2500 และรัฐประหารของนายพลปิโนเช่ต์แห่งชิลี เมื่อ พ.ศ.2516 ซึ่งทั้งสองกรณีล้วนมีสหรัฐอเมริกาสนับสนุนอยู่เบื้องหลังอย่างชัดเจน [19]

การรัฐประหาร = Official Revolution
นักวิชาการบางคนให้ความเห็นจำเพาะเจาะจงลงไปอีกว่า รัฐประหารไม่เพียงแต่เป็นการยึดอำนาจด้วยพลังในระบบเพียงอย่างเดียว แต่ยังถือว่าเป็น "การปฏิวิติโดยพลังเจ้าหน้าที่" (Official Revolution) ไม่ใช่ "การปฏิวัติโดยสังคม" (Social Revolution) [20] คำอธิบายนี้น่าสนใจเพราะชวนให้ตระหนักว่า รัฐประหารไม่เกี่ยวข้องกับการมีพลังมวลชนที่มีเป้าหมายเชิงสังคมอุดมคติอะไรทั้งนั้น ขณะที่การปฏิวัติสังคมส่วนใหญ่มักเกี่ยวข้องกับพลังและเป้าหมายแบบนี้ นั่นหมายความว่าการยึดอำนาจโดยวิธีรัฐประหารสามารถเกิดขึ้นจากเจ้าหน้าที่ซึ่งไม่มีเป้าหมายระยะยาวต่อสังคมเลยก็เป็นได้ ทำให้แม้การรัฐประหารโดยส่วนใหญ่มักเริ่มต้นจากกลุ่มบุคคลซึ่งมีความยึดมั่นถือมั่นในความเชื่อและอุดมการณ์แบบใดแบบหนึ่งอย่างแน่นแฟ้น แต่กระบวนการหลังรัฐประหารอาจดำเนินไปเพื่อแก้ประโยชน์ของฝ่ายผู้ยึดอำนาจโดยไม่คำนึงถึงอุดมการณ์อะไรแม้แต่นิดเดียว

ในแง่นี้แล้ว อุดมการณ์ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น กษัตริย์นิยม, สังคมนิยม, อนุรักษ์นิยม, ศักดินานิยม, พวกคลั่งศาสนา หรือราชาชาตินิยม ล้วนมีศักยภาพจะทำให้ผู้ที่สมาทานอุดมการณ์นั้นกลายเป็นผู้ก่อรัฐประหารได้ทั้งนั้น [21] แต่ผลของการรัฐประหารนั้นไม่จำเป็นต้องเกี่ยวข้องกับอุดมการณ์หรือเป้าหมายเพื่อส่วนรวมแต่อย่างใด

งานศึกษาบางชิ้นให้ความเห็นว่า จำนวน ไม่ใช่ประเด็นสำคัญของการรัฐประหาร ประวัติศาสตร์ของการรัฐประหารจึงมีทั้งรัฐประหารที่ประสบความสำเร็จด้วยการใช้กำลังพลขนาดใหญ่ และรัฐประหารที่ใช้กำลังพลเพียงหยิบมือเดียว ตัวอย่างเช่นรัฐประหารในกานา เมื่อ พ.ศ.2509 ซึ่งฝ่ายรัฐประหารที่มีกำลังพลเพียง 500 ราย ประสบความสำเร็จในการยึดอำนาจจากรัฐบาลของประธานาธิบดี Kwame Nkrumah ซึ่งมีกำลังพล 10,000 คน [22] รัฐประหารตามนัยนี้จึงเป็นเรื่องของการชิงกระทำการจู่โจมทางทหาร, การกักบริเวณ และแม้กระทั่งการลอบสังหารผู้นำประเทศ จนกล่าวได้ว่ารัฐประหารในโลกสมัยใหม่มีแง่มุมที่ใกล้เคียงกับการก่อสงครามกลางเมือง และการเป็นกบฏ (rebellion) ล้มล้างรัฐธรรมนูญและกฎหมายของบ้านเมือง อันเป็นเหตุให้นักรัฐศาสตร์บางท่านถือว่า รัฐประหารเป็นประเภทหนึ่งของ "สงครามภายใน" (internal war) ซึ่งเกิดขึ้นในหลายสังคมการเมือง [23]

การทำรัฐประหาร: ต้นทุนต่ำ กำไรสูง
อย่างไรก็ดี ขณะที่ "สงครามภายใน" ประเภทอื่นมีต้นทุนทางการเมืองและการทหารที่สูงอยู่มาก เช่นสงครามกลางเมืองเกี่ยวข้องกับการระดมพลังมวลชนสนับสนุนอย่างกว้างขวาง หรือการปฏิวัติก็ต้องอาศัยการควบคุมทหารและการเคลื่อนกำลังที่เป็นเอกภาพพอสมควร การยึดอำนาจด้วยวิธีรัฐประหารกลับมีต้นทุนไม่มากนัก เว้นเสียแต่ความเสี่ยงขณะริเริ่มทำการสมรู้ร่วมคิดภายในกลุ่มคนที่ไม่พอใจรัฐบาล พ้นไปจากนั้นก็คือความเสี่ยงจากการวางแผนสร้างสถานการณ์ และขยายแนวร่วมไปสู่นายทหารฝ่ายที่ลังเลหรือไม่มีแรงผลักดันให้ก่อรัฐประหารมากนัก แต่ทั้งหมดนี้ก็เป็นเรื่องที่แก้ไขได้ หากฝ่ายผู้สมคบคิดได้รับความร่วมมือจากนายทหารซึ่งมีชื่อเสียงเป็นที่ยอมรับอย่างกว้างขวาง สภาวะของการเป็นปฏิบัติการยึดอำนาจต้นทุนต่ำนี้ทำให้รัฐประหารเป็น การลงทุนทางทหาร ซึ่งให้ผลตอบแทนทางการเมืองและเศรษฐกิจที่คุ้มค่าในระดับที่ถือว่าเป็นจุดหักเหในชีวิตของผู้รัฐประหารเลยก็ว่าได้ จึงเป็นธรรมดาที่สัมฤทธิผลของการรัฐประหารย่อมนำไปสู่การเลื่อนสถานภาพทางเศรษฐกิจและการเมืองของผู้รัฐประหารในบั้นปลาย ต่อให้การเลื่อนสถานภาพนี้จะจำกัดแต่ในหมู่นายทหารจำนวนน้อยแค่ไหนก็ตามที [24]

รัฐประหารหลากหลายรูปแบบ
ไฟเนอร์ในงานชิ้นสำคัญของเขาเรื่อง The Man on the Horseback อภิปรายความหมายของการรัฐประหารไว้น่าสนใจ เขากล่าวว่าคำว่า Coup D' Etat เป็นคำที่อยู่ภายใต้ข้อจำกัดทางภาษาและประสบการณ์ทางการเมืองของโลกตะวันตกอยู่มาก ผลก็คือคำๆ นี้มีความหมายใกล้เคียงกับคำว่า Coup De Force จนไม่สามารถฉายภาพการยึดอำนาจด้วยกำลังทหารให้ละเอียดและรอบด้านได้ ทั้งที่การรัฐประหารนั้นมีหลายแบบ และแต่ละแบบก็มีบุคลิกลักษณะที่พึงได้รับความสนใจในระดับที่ไม่น้อยไปกว่ากัน ไม่ว่าจะเป็น

- การปฏิวัติของกองทัพ (Military Revolt)
- การรัฐประหารโดยนายทหารระดับล่างต่อผู้บังคับบัญชาเบื้องบน (Mutiny),
- การกบฏ (Rebellion)
- การยึดอำนาจโดยเฉียบพลัน (Coup)
- การปฏิวัติ การยึดอำนาจรัฐเพื่อเปลี่ยนแปลงสภาพทางสังคมและการเมืองขนานใหญ่ (Revolution) [25]

โดยต้องไม่ลืมว่า รัฐประหารหลายหนไม่ได้มีลักษณะของการใช้กำลังทหารเข้าไปเกี่ยวข้องโดยตรง แต่เป็นรัฐประหารแบบที่ ลุตวาค เรียกว่า "การปฏิวัติในพระราชวัง" (palace revolution) [26] หรือการอาศัยอิทธิพลนอกกฎหมายและพลังนอกวิถีทางรัฐธรรมนูญ ไปเกลี้ยกล่อมให้อีกฝ่ายยอมรับการเปลี่ยนแปลงตัวประมุขของรัฐ หัวใจของรัฐประหารประเภทนี้จึงได้แก่การกดดันเป็นการภายในระหว่างฝ่ายผู้มีอำนาจด้วยกันเอง

คำอภิปรายของไฟเนอร์มีนัยยะของการเสนอให้พิจารณาการรัฐประหารโดยอาศัยไวยากรณ์การคิดแบบที่อยู่นอกเหนือประสบการณ์ของโลกตะวันตก ซึ่งในกรณีนี้ก็หมายถึงประสบการณ์จากรัฐประหารในละตินอเมริกา รัฐประหารในไวยากรณ์การคิดแบบนี้มี 3 ประเภท

รัฐประหารประเภทแรก คือ Golpe de estado หรือการล้มล้างรัฐบาลเก่าอย่างเฉียบพลัน ความสำเร็จของรัฐประหารประเภทนี้ขึ้นอยู่กับการคุมกำลัง และวางแผนที่เต็มไปด้วยความรอบคอบ รวมทั้งการจัดองค์กรอย่างรัดกุมและมีระเบียบกฎเกณฑ์ โดยที่ส่วนใหญ่ของรัฐประหารแบบนี้ มักจบลงด้วยการไล่ล่าและสังหารชีวิตของผู้นำชุดก่อนในบั้นปลาย

รัฐประหารประเภทที่สอง คือ Cuartelazo อันเป็นการรัฐประหารในสถานการณ์ที่กำลังฝ่ายต่างๆ ไม่มีเอกภาพนัก ทำให้ปฏิบัติการยึดอำนาจเกิดขึ้นโดยทหารหน่วยใดหน่วยหนึ่งเพียงหน่วยเดียว ความสำเร็จของรัฐประหารประเภทนี้ ขึ้นอยู่กับความสามารถในการประเมินดุลกำลังระหว่างกองกำลังฝ่ายต่างๆ ซึ่งหากประเมินผิด ฝ่ายผู้ก่อรัฐประหารย่อมอยู่ในสถานะกบฏ ถึงขั้นอาจไม่มีแผ่นดินอยู่ก็เป็นได้ รัฐประหารประเภทนี้จึงมีกระบวนการทางการเมือง-การทหาร ที่ต้องทำในช่วงก่อนและหลังปฏิบัติการยึดอำนาจอยู่ไม่น้อย ไม่ว่าจะเป็นการหยั่งความเห็นนายทหารระดับคุมกำลังแต่ละฝ่าย การยึดระบบสื่อสารมวลชน การประกาศยึดอำนาจรัฐ รวมทั้งการให้คำมั่นสัญญาว่าจะยึดอำนาจเป็นการชั่วคราว

รัฐประหารประเภทที่สาม เป็นการผสมผสาน Golpe และ Cuatelazo เข้าด้วยกัน [27]

ที่กล่าวไปทั้งหมดนั้นคือการแสดงให้เห็นว่ารัฐประหารเป็นเรื่องของการใช้ พละกำลัง (forces) ข่มขู่และประทุษร้ายเพื่อเป้าหมายทางการเมือง รัฐประหารจึงเป็นความรุนแรงทางการเมือง ที่ผู้ก่อรัฐประหารกระทำต่อตัวผู้มีอำนาจและต่อสังคมการเมืองทั้งหมด ความรุนแรงทางการเมืองในที่นี้ไม่ได้หมายถึงแต่ ความรุนแรงทางการเมือง ซึ่งเกิดขึ้นในทันทีที่คณะผู้ก่อรัฐประหารกระทำการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองโดยพลการ รวมทั้งไม่ได้หมายถึงแค่ความรุนแรงในแง่การปล้นสดมภ์อำนาจการตัดสินใจทางการเมืองของคนทุกฝ่าย ไปไว้ยังกลุ่มผู้รัฐประหาร แต่ยังหมายความถึง ความรุนแรงทางกายภาพ ซึ่งปรากฏขึ้นในขณะมีปฏิบัติการรัฐประหาร ไม่ว่าจะเป็นปฏิบัติการทางทหาร เมื่อฝ่ายรัฐประหารมุ่งกระทำการยึดอำนาจให้บรรลุผลในเวลาอันรวดเร็วที่สุด โดยวิธีต่างๆ ดังที่ได้กล่าวไปแล้ว หรือปฏิบัติการทางการเมืองที่ตามมาเมื่อการยึดอำนาจเสร็จสิ้น โดยที่เป้าหมายของความรุนแรงประเภทนี้ ได้แก่ การควบคุม หรือ กำจัดบุคคลและองค์กรที่มีศักยภาพจะทำการต่อต้านการรัฐประหาร ไม่ว่าคนเหล่านั้นจะเป็นพลเรือน, ข้าราชการ, สหภาพแรงงาน, ตำรวจ , สื่อมวลชน, นักการเมือง หรือแม้กระทั่งนายทหารด้วยกันเองก็ตามที

ธรรมชาติของการรัฐประหารคือความรุนแรง ถึงแม้จะเป็นไปได้ที่การยึดอำนาจบางกรณีจะไม่เกิดความรุนแรงทางกายภาพถึงขั้นมีการปะทะทางทหารหรือการนองเลือดและบาดเจ็บล้มตาย แต่เป็นไปไม่ได้ที่จะไม่ปรากฎการใช้ความรุนแรงในแง่ใดแง่หนึ่งขึ้นในปฏิบัติทางการเมือง-การทหาร ในช่วงที่การยึดอำนาจประสบความสำเร็จแล้ว โดยเฉพาะความรุนแรงในแง่ของการจำกัดสิทธิเสรีภาพต่อผู้ที่มีแนวโน้มจะเป็นฝ่ายตรงข้ามกับคณะรัฐประหาร เพราะความรุนแรงนี้เป็นความจำเป็นทางการเมืองเพื่อสร้างความมั่นคงทางอำนาจให้กับฝ่ายผู้ก่อรัฐประหารเอง [28]

หากพิจารณารัฐประหาร 19 กันยายน โดยเทียบเคียงกับความรู้ทางรัฐศาสตร์ที่กล่าวมา ก็จะเห็นว่าแม้รัฐประหารครั้งนี้จะปราศจากการนองเลือดหรือการปะทะทางทหาร แต่คุณลักษณะนี้ก็ไม่ได้ทำให้รัฐประหารนี้ผิดแผกไปจากรัฐประหารครั้งอื่นจนเป็นเรื่องวิจิตรพิสดาร [29] ในทางตรงข้าม รัฐประหารครั้งนี้มีขั้นตอนที่ดำเนินไปตามขนบของการรัฐประหาร ซึ่งเกิดขึ้นมาแล้วในหลายมุมหลายแง่ ไม่ว่าจะเป็นจุดเริ่มต้นของการรัฐประหารที่มาจากนายทหารบางคน ซึ่งมีความยึดมั่นถือมั่นในความเชื่อบางอย่างในระดับที่รุนแรง [30] การริเริ่มสมคบคิดภายในกลุ่มนายทหารที่มียศชั้นและความคิดคล้ายคลึงกัน การแสวงหาความร่วมมือจากผู้บังคับบัญชาชั้นสูง [31] การสร้างสถานการณ์จูงใจให้ผู้คนสนับสนุนรัฐประหาร [32] การเคลื่อนกำลังเพื่อยึดอำนาจในเวลาที่ฝ่ายตรงข้ามไม่ทันตั้งตัว การยึดสถานที่ราชการและสื่อมวลชนหลักทุกแขนง การห้ามการรวมกลุ่มของผู้ไม่เห็นด้วยกับรัฐประหาร การแต่งตั้งสมาชิกคณะรัฐประหารและเครือข่ายไปดำรงตำแหน่งทางการเมืองและการบริหารที่สำคัญ รวมทั้งการเขียนกติกาการเมืองเพื่อสวัสดิภาพของผู้ทำรัฐประหารในอนาคต [33]

ส่วนข้อแตกต่างที่แท้จริงของรัฐประหารครั้งนี้กลับมีการอภิปรายโดยเปิดเผยไม่มากนัก โดยเฉพาะการที่รัฐประหาร 19 กันยายน เกิดจากแรงผลักดันของพลังทางประเพณีและพลังทางการเมืองการทหาร กลุ่มที่ต้องการบ่อนเซาะพื้นฐานของการปกครองแบบประชาธิปไตยรัฐสภา [34]

สิทธิเสรีภาพพลเมืองในสถานการณ์รัฐประหาร
บทความนี้ไม่ได้ปฏิเสธว่ารัฐประหาร 19 กันยายน แตกต่างจากรัฐประหารครั้งอื่นในสังคมไทย ในทางตรงกันข้าม รัฐประหารนี้ต่างจากรัฐประหารอื่นหลายแง่ แต่ความต่างนี้ไม่ใช่เรื่องพิเศษ เพราะไม่มีรัฐประหารครั้งไหนเป็นเอกเทศในตัวเองมากพอๆ กับที่ไม่มีรัฐประหารครั้งไหนเป็นต้นแบบของรัฐประหารครั้งอื่นโดยสมบูรณ์แบบ การบอกว่า 19 กันยายน คือปรากฏการณ์พิเศษ เป็นเรื่องเหลวไหลไม่น้อยไปกว่าการพูดว่า 19 กันยายน เป็นแค่การยึดอำนาจเหมือนรัฐประหารครั้งอื่น บทความนี้จึงเห็นว่าจำเป็นต้องทำความเข้าใจปรากฏการณ์นี้ในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของการรัฐประหารทั่วไป และขณะเดียวกัน ก็ต้องอธิบายเหตุการณ์นี้โดยคำนึงถึงเงื่อนไขทางประวัติศาสตร์และสังคมที่ผลักดันให้มันดำเนินไปทิศทางอย่างที่เป็นมา [35]

ผู้สนับสนุนรัฐประหาร 19 กันยายน มักอ้างว่า การยึดอำนาจหนนี้แตกต่างจากการยึดอำนาจหนอื่น เพราะผู้ยึดอำนาจได้บัญญัติไว้ในมาตรา 3 ของธรรมนูญการปกครองว่า จะคุ้มครองความเป็นมนุษย์ สิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาค เช่นเดียวกับรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2540 ที่ถูกล้มล้างไปแล้ว แต่ประเด็นที่คนกลุ่มนี้จงใจไม่พูดถึงก็คือ ธรรมนูญฉบับนี้มีบทบัญญัติเรื่องสิทธิเสรีภาพแตกต่างจากรัฐธรรมนูญฉบับก่อนจนเห็นได้ชัด เพราะรัฐธรรมนูญก่อนนั้นบัญญัติว่า "ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิ และเสรีภาพของบุคคลย่อมได้รับความคุ้มครอง" อันเป็นการรับรองว่า หลักการเหล่านี้คือสิ่งที่มีคุณค่าสูงสุด ซึ่งรัฐมีพันธะ หน้าที่ ต้องปฏิบัติตามในทุกกรณี ขณะที่ธรรมนูญฉบับปัจจุบันนี้พูดถึงเพียงแต่ "ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาค บรรดาที่ชนชาวไทยเคยได้รับการคุ้มครองตามประเพณีการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข" อันแสดงให้เห็นว่าหลักการเหล่านี้มีสถานะต่ำกว่าจารีตการปกครองที่อยู่นอกรัฐธรรมนูญออกไป ซ้ำยังจำกัดอยู่แต่ในคนที่ได้ชื่อว่าเป็น "ชนชาวไทย" เท่านั้น สิทธิเสรีภาพและความเป็นมนุษย์จึงไม่ใช่เรื่องที่มีอยู่ในตัวมนุษย์ทั้งปวง ไม่ใช่สิ่งที่มนุษย์ทุกคนมีติดตัวมาแต่กำเนิด ไม่ใช่ระบบคุณค่าที่มีความสำคัญสูงสุด และรัฐไทยก็ไม่ได้มีหน้าที่ต้องเคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ในทุกกรณี

ในแง่นี้แล้ว ก็สามารถกล่าวได้ว่าธรรมนูญการปกครองฉบับ 2549 มีลักษณะการใช้ถ้อยคำและภาษาเพื่อหลอกลวงให้เห็นว่า คณะรัฐประหารชุดนี้เคารพสิทธิเสรีภาพและยึดมั่นประชาธิปไตย แต่อันที่จริง ภาษาลักษณะนี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งของความเปลี่ยนแปลงด้านความคิดเรื่องสิทธิเสรีภาพที่เกิดขึ้นภายหลังรัฐประหารทั้งหมด นั่นก็คือสภาพที่สิทธิเสรีภาพพลเมืองไม่ใช่ส่วนหนึ่งของข้อตกลงทางการเมืองในขณะนี้ ทำให้แม้พลเมืองจะมีสิทธิเสรีภาพตามกฎหมาย แต่รัฐก็มีอำนาจตามกฎหมายที่จะเพิกถอนสิทธิเสรีภาพและความเป็นมนุษย์ของสมาชิกในสังคมได้ตลอดเวลา เหตุผลคือ รัฐในกรณีนี้ไม่ได้มีบทบาทขั้นมูลฐานอยู่ที่การปกป้องระบบคุณค่าด้านสิทธิเสรีภาพและความเป็นมนุษย์ หากคือการรักษาการปกครองที่มีพระมหากษัตริย์เป็นศูนย์กลาง สิทธิเสรีภาพของพลเมืองและสิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญในเงื่อนไขนี้ จึงมีความสำคัญน้อยกว่าแบบแผนการปกครองเป็นธรรมดา

เพราะเหตุดังนี้ ธรรมนูญการปกครองฉบับ 2549 จึงไม่ใช่ข้อตกลงทางการเมืองระหว่างรัฐกับสมาชิกในสังคม แต่เป็นข้อบังคับทางการเมืองที่เกิดขึ้น ภายใต้ความพยายามทำให้สิทธิเสรีภาพตามที่เป็นลายลักษณ์อักษร (Constitutional Laws) ตกอยู่ภายใต้ระเบียบทางการเมืองที่ถูกกำหนดไว้ล่วงหน้า และได้รับการค้ำยันจากอำนาจรัฐตลอดเวลา

ในภาษาที่ใช้กันแพร่หลายในการศึกษาเรื่องเมืองไทย สภาวะทางการเมืองแบบนี้เรียกว่า รัฐธรรมนูญฉบับวัฒนธรรม แต่คำว่า "รัฐธรรมนูญฉบับวัฒนธรรม" เชื่อมโยงให้เห็นสภาพทางการเมืองที่มโนทัศน์ (concept) นี้ต้องการอธิบายได้ไม่ดีนัก เพราะชวนให้เข้าใจว่าระเบียบการเมืองแบบนี้เป็นเรื่องปกติ มีอยู่อย่างนี้มานานแล้ว เปลี่ยนแปลงไม่ได้ ฯลฯ [36] อันที่จริง นักทฤษฎีการเมืองคนสำคัญอย่าง คาร์ล ชมิทท์ เคยอธิบายสภาวะทางการเมืองลักษณะเดียวกันนี้โดยอาศัยแนวคิดบางอย่าง ที่มีประโยชน์ต่อการทำความเข้าใจการเมืองไทยในปัจจุบัน นั่นก็คือแนวคิดแบบที่เน้นการแบ่งแยกระหว่าง "กฎหมายรัฐธรรมนูญ" (Constitutional Laws) และธรรมนูญ (The Constitution) โดยธรรมนูญหมายถึงกฎหมายรัฐธรรมนูญ กำเนิด พัฒนาการ รวมทั้งความเปลี่ยนแปลงด้านความคิดที่สำคัญในเรื่องนี้ทั้งหมด ธรรมนูญจึงประกอบด้วยองค์ประกอบทางการเมืองและองค์ประกอบทางกฎหมาย [37] โดย

- องค์ประกอบทางกฎหมาย คือ กฎหมายรัฐธรรมนูญ และกฎหมายที่เกี่ยวข้องอื่นๆ ซึ่งแตกต่างไปในแต่ละสังคม
- ส่วนองค์ประกอบทางการเมือง ได้แก่เป้าหมายของการเคลื่อนตัวทางเมืองในห้วงเวลาหนึ่งๆ

หากพิจารณาความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองและกฎหมาย ที่เกิดขึ้นในสังคมไทยช่วงหลังรัฐประหาร 19 กันยายน ด้วยแนวคิดแบบนี้ ก็จะเห็นว่า "ธรรมนูญ" ของการเมืองไทยในช่วงหลังวันยึดอำนาจ ล้วนเกี่ยวข้องกับความพยายามสถาปนาสภาพบังคับทางการเมืองแบบที่พระมหากษัตริย์เป็นศูนย์กลาง ของระเบียบการเมืองทั้งหมด ตัวอย่างเช่นการบัญญัติให้พระองค์มีอำนาจเต็มในการตั้งนายกรัฐมนตรีตามมาตรา 14 ซึ่งสภาพแบบนี้ไม่ได้มีอยู่โดยธรรมชาติ แต่เป็นสภาวะทางการเมืองที่เพิ่งสร้างขึ้นในเวลาไม่นาน

แม้ในความรู้สึกของคนทั่วไป รวมทั้งในแนวคิด "รัฐธรรมนูญฉบับวัฒนธรรม" จะเห็นว่าพระราชอำนาจเต็มในการแต่งตั้งนายกรัฐมนตรี เป็น จารีตประเพณีทางการเมือง ที่ปฏิบัติกันมานาน แต่ข้อเท็จจริงก็คือพระราชอำนาจลักษณะนี้ไม่ได้ถูกบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญอย่างต่อเนื่อง เพราะในช่วงที่มีสภาผู้แทนราษฎรและมีรัฐธรรมนูญที่กำหนดให้นายกรัฐมนตรีมาจากการเลือกตั้งนั้น หลายครั้งที่อำนาจนี้เป็นอำนาจพิธีกรรมเชิงสัญลักษณ์มากกว่าจะเป็นอำนาจในการแต่งตั้งที่เป็นจริง ส่วนในช่วงที่อยู่ภายใต้การปกครองของทหารที่มีอำนาจด้วยวิธีรัฐประหาร พระราชอำนาจมักถูกกำกับอย่างเป็นลายลักษณ์อักษรในรัฐธรรมนูญว่าจะทรงแต่งตั้งได้ก็แต่บุคคลที่ได้รับการ "กราบบังคมทูล" ของทหารผู้เป็นหัวหน้าคณะปฏิวัติ, ปฏิรูป หรือคณะผู้ยึดอำนาจในชื่อต่างๆ นานา ตัวอย่างเช่น

- รัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ.2520 ระบุไว้ในมาตรา 21 ว่า "พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีคนหนึ่งตามคำกราบบังคมทูลของประธานสภานโยบายแห่งชาติ และทรงซึ่งพระราชอำนาจในการให้นายกรัฐมนตรีพ้นจากตำแหน่ง ตามที่ประธานสภานโยบายแห่งชาติถวายคำแนะนำ" โดยประธานสภานโยบายแห่งชาติก็คือนายพลผู้เป็นหัวหน้าคณะผู้ยึดอำนาจใน

- หรือ ธรรมนูญการปกครอง พ.ศ.2534 ก็บัญญัติในมาตรา 21 และ 22 ว่า "พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีตามคำกราบบังคมทูลของประธานสภารักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ" และ "ทรงไว้ซึ่งพระราชอำนาจที่ให้นายกรัฐมนตรีลาออก ตามประธานสภารักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติถวายคำแนะนำ" ซึ่งก็คือผู้บัญชาการทหารสูงสุดผู้เป็นหัวหน้าการรัฐประหารในเวลานั้นนั่นเอง ที่ดำรงตำแหน่งประธานสภารักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติไปพร้อมๆ กัน

อย่างไรก็ดี ในมาตรา 14 ของธรรมนูญการปกครองฉบับที่ใช้อยู่ในขณะนี้ พระราชอำนาจไม่ใช่พิธีกรรมหรือสัญลักษณ์ และยิ่งไม่ได้ถูกกำกับด้วยอำนาจภายนอกอื่น แต่เป็นพระราชอำนาจที่มีความสมบูรณ์ในตัวเอง ความแตกต่างนี้เป็นมากกว่าความแตกต่างในระดับตัวอักษร เพราะไม่เพียงแต่แสดงให้เห็นว่า ธรรมนูญการปกครองนี้แตกต่างจากรัฐธรรมนูญในอดีตในแง่มุมไหน หากยังเป็นเครื่องหมายของเจตจำนงทางการเมืองในหมู่ผู้ยึดอำนาจหนนี้อย่างมีนัยยะสำคัญ [38]

ประเด็นที่ควรพิจารณาก็คือ ระเบียบการเมืองแบบนี้จะส่งผลกระทบต่อสภาพด้านสิทธิเสรีภาพของพลเมืองอย่างไร?

ถ้าเห็นว่าระเบียบการเมืองแบบนี้ไม่สามารถดำรงอยู่โดยลำพังตัวเอง หากต้องอาศัยการค้ำยันจากสถาบันอื่น โดยเฉพาะสถาบันทหาร [39] ก็คงเห็นต่อไปว่า การจรรโลงระเบียบการเมืองนี้ย่อมเกี่ยวพันกับการออกแบบระบบการเมืองให้ทหารมีอำนาจในระบบอย่างเป็นทางการมากขึ้น ระเบียบการเมืองนี้จึงเป็นอุปสรรคของการทำให้สิทธิเสรีภาพมีสถานะเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตทางการเมือง เพราะสิทธิเสรีภาพที่สมบูรณ์นั้นย่อมขัดขวางการแทรกแซงการเมืองของฝ่ายทหาร ซ้ำยังอาจกระทบต่อความมั่นคงของระเบียบการเมืองได้โดยตรง แต่ประเด็นสำคัญคือ อำนาจในระบบของทหารนั้นไม่ได้หมายถึงการทำให้กองทัพเป็นหน่วยทางการเมืองที่เข้มแข็งและเป็นอิสระโดยสมบูรณ์ เพราะกองทัพที่เข้มแข็งและเป็นอิสระเกินไปนั้นเป็นอันตรายในแง่ที่อาจแปรสภาพเป็นลัทธิทหารนิยม หรือให้กำเนิดผู้นำทหารที่มากบารมีจนสั่นคลอนตัวระเบียบเองได้ [40] ความเข้มแข็งจึงเป็นสิ่งที่ต้องควบคุมให้อยู่ภายใต้กรอบของระเบียบการเมืองโดยซื่อสัตย์และเคร่งครัด [41] นั่นคือเป็นกองทัพที่เข้มแข็งเพราะเป็นอิสระจากรัฐสภา, ระบบราชการ และพลังประชาสังคมอื่น แต่ไม่ได้เข้มแข็งในตัวเองถึงขั้นเป็นเอกเทศอย่างสมบูรณ์ ความสัมพันธ์ระหว่างองคมนตรีกับกองทัพในฐานะห่วงเชื่อมระหว่างระเบียบการเมืองกับกำลังที่เป็นรากฐานของระเบียบการเมือง จึงสำคัญต่อการจรรโลงเสถียรภาพทางการเมือง

แน่นอนว่า ทั้งหมดนี้ไม่ได้หมายความถึงสถาปนาระเบียบการเมือง ตามเจตจำนงของคนกลุ่มหนึ่งกลุ่มใดได้อย่างเบ็ดเสร็จ เพราะการสถาปนาระเบียบการเมืองนั้น ต้องอยู่ภายใต้คติเรื่องการเมืองที่ชอบธรรมแบบสภาวะสมัยใหม่ 2 ข้อ

- ข้อแรกคือ อำนาจอธิปไตยในชุมชนการเมืองต้องเป็นของปวงชน
- ข้อสองคือรัฐบาลที่ชอบธรรมได้แก่ รัฐบาลที่มีอำนาจโดยฉันทานุมัติ

แต่ปัญหาคือคติการเมืองแบบนี้ไม่ได้ผูกพันกับรูปแบบการปกครองแบบใดแบบหนึ่งโดยแน่ชัด ทำให้ไม่ว่าจะเสรีประชาธิปไตย, คณาธิปไตย, เผด็จการรวมศูนย์ หรือราชาธิปไตย ก็ล้วนอ้างว่าเป็นการปกครองที่ชอบธรรมได้ทั้งนั้น หากสามารถแสดงให้เห็นว่ามีอำนาจด้วยอาณัติมอบหมาย (mandate) ของประชาชน [42] คติเรื่องการเมืองที่ชอบธรรมแบบนี้จึงหละหลวม และเปิดโอกาสให้ระเบียบการเมืองปรับตัวเองตามรูปแบบของการเมืองสมัยใหม่ขั้นต่ำสุดได้ [43] นั่นคือเป็นระเบียบที่มีกษัตริย์เป็นประมุข พร้อมกับมีการปกครองรัฐสภารูปแบบต่างๆ แล้วอาศัยกองทัพค้ำยันอำนาจทางการเมือง รัฐสภาในที่นี้ไม่จำเป็นต้องหมายถึงรัฐสภาที่มาจากการเลือกตั้ง, ไม่จำเป็นต้องเป็นสภาของผู้แทนที่มาจากการเลือกตั้งของราษฎร รวมทั้งไม่จำเป็นต้องเป็นรัฐสภาเสรีประชาธิปไตย ที่มีพันธะในการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพพลเมือง โดยรับรองสิทธิเหล่านี้ให้มีสถานะทางกฎหมายชัดเจนและเคร่งครัด แต่สามารถเป็นสภานิติบัญญัติแห่งชาติ, สภาปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน, สภานโยบายแห่งชาติ ฯลฯ ที่แต่งตั้งขึ้นโดยคนหยิบมือเดียว โดยอาศัยสภาทำหน้าที่ตีความและบังคับใช้บทบัญญัติด้านสิทธิเสรีภาพ โดยยึดความมั่นคงของระเบียบการเมืองเป็นศูนย์กลาง (ทำให้สามารถร่างรัฐธรรมนูญได้โดยบุคคลที่ไม่ได้เป็นตัวแทนของใครในสังคม นอกจากผู้ทำรัฐประหารถูกใจ)

ในแง่นี้แล้ว รัฐประหาร 2549 ไม่ได้เพียงปฏิเสธหลักสิทธิเสรีภาพพลเมืองในฐานะสิทธิที่มีโดยธรรมชาติของมนุษย์ หากยังล้มล้างหลักสิทธิเสรีภาพตามกฎหมายลงไปด้วย ความเปลี่ยนแปลงนี้ทำลายบรรทัดฐานด้านสิทธิเสรีภาพที่อยู่ในสังคมไทยมาเกือบ 1 ทศวรรษ โดยรัฐธรรมนูญ 2540 ซึ่งนอกจากจะทำให้สิทธิเสรีภาพกลายเป็น หน้าที่ ซึ่งรัฐและกลไกรัฐมีพันธะต้องปฏิบัติตามแล้ว ยังทำให้เกิดความเป็นไปได้ที่พลเมืองจะยกบทบัญญัติเหล่านี้ไปเรียกร้องสิทธิเสรีภาพในขอบเขตที่กว้างขวางขึ้นไปอีก กระบวนการนี้ทำให้สิทธิเสรีภาพมีสถานภาพเป็นส่วนหนึ่งของระเบียบการเมืองในช่วง 2540 - 2549

ขณะที่ระเบียบการเมืองในปัจจุบันกลับตาลปัตร ให้รัฐมีอัตวินิจฉัยในการยกเลิกสิทธิเสรีภาพที่ขัดแย้งกับระเบียบการเมืองได้ นั่นเท่ากับว่าความมั่นคงของฝ่ายการเมือง มีสถานภาพเหนือกว่าสิทธิเสรีภาพพลเมืองและหลักกฎหมาย ซึ่งถ้าเข้าใจว่าสิทธิเสรีภาพโดยพื้นฐานแล้วเป็นเรื่องของขอบเขตอำนาจเหนือชีวิตและร่างกายของมนุษย์ ก็จะมองเห็นต่อไปว่า ระเบียบการเมืองในขณะนี้ถือว่าเสถียรภาพของฝ่ายการเมืองสำคัญกว่าชีวิตพลเมืองทั้งหมด การเรียกร้องให้พลเมืองสละเสรีภาพหรือยอมตายเพื่อระเบียบบ้านเมือง จึงไม่ใช่การปลุกระดมหรือตีสำนวนโวหาร แต่เป็นสิ่งที่ฝังเป็นส่วนหนึ่งของระเบียบการเมืองนี้จริงๆ

รัฐประหาร 2549 ในแง่มุมนี้ เป็นจุดเริ่มต้นของการสถาปนาระเบียบการเมืองที่ดำรงอยู่ได้ด้วยการกดบังคับให้พลเมืองรู้สึกว่าระเบียบนี้เป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิต (way of life) ถึงขั้นสละชีพเพื่อสิ่งนี้ได้ (jus vitae ac nacis) [44] ปรากฏการณ์นี้สำคัญและไม่เคยมีแม้กระทั่งในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์สยาม ในช่วงก่อนเปลี่ยนการปกครองฯ เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2475 รัฐประหารครั้งนี้จึงไม่ใช่การกลับไปสู่สภาวะก่อน 2475 อย่างที่ผู้ต่อต้านรัฐประหารเข้าใจ แต่คือการก้าวไปสู่สภาวะการเมืองใหม่ที่ทำงานบนการยกระดับให้ระเบียบการเมืองกลายเป็นวิถีชีวิต สภาพนี้นำไปสู่การเกิดการเมืองเชิงปทัสถานซึ่งมีแกนกลางอยู่ที่ปริมณฑลเหนือรัฐธรรมนูญและกฎเกณฑ์ที่เป็นทางการ พลเมืองในจินตนาการนี้มีความเป็นเอกภาพถึงขั้นที่รัฐถือว่าคนใต้ปกครองทั้งหมด ล้วนขึ้นต่อปทัสถานนี้อย่างไม่มีข้อยกเว้น

วิธีคิดแบบนี้ ส่งผลให้การสถาปนาระเบียบการเมืองมีลักษณะของการต่อสู้ทางศาสนา ในแง่ที่มีการแบ่งฝักแบ่งฝ่ายทางศีลธรรมจนชอบที่จะใช้อำนาจต่อฝ่ายตรงข้ามตามอำเภอใจ [45] การแยกมิตรแยกศัตรูเช่นนี้ ทำให้ไม่มีทางที่ระเบียบใหม่จะให้กำเนิดการเมืองแบบเสรีประชาธิปไตยได้ เพราะหัวใจของเสรีนิยมคือการเปิดให้โอกาสทุกฝ่ายแข่งขันโดยอิสระ โดยไม่เป็นศัตรูอย่างแข็งทื่อตายตัว [46] ส่วนหัวใจของประชาธิปไตย อย่างเช่น หลักสิทธิเสรีภาพและความเท่าเทียม ก็ถูกทำลายไปตั้งแต่วันแรกรัฐประหารแล้ว ผลของความเป็นการเมืองที่ไม่เป็นเสรีประชาธิปไตยคือ การช่วงชิงดุลกำลังทหารและการเจรจาต่อรองกันภายในที่ทวีความสำคัญทางการเมืองมากยิ่งขึ้น โอกาสของการเกิดประชาธิปไตยรัฐสภาที่เข้มแข็งนั้น เป็นเรื่องที่แทบไม่มีความเป็นไปได้แต่อย่างใด




Create Date : 18 กันยายน 2550
Last Update : 18 กันยายน 2550 16:38:03 น. 3 comments
Counter : 2214 Pageviews.

 
อนาคตของระเบียบการเมืองใหม่
โดยส่วนใหญ่ของความขัดแย้งเรื่องสถานะของรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 มีใจกลางอยู่ที่ความแตกต่างในการประเมินสถานะของประชาธิปไตยในสังคมไทย ผู้สนับสนุนรัฐประหารส่วนใหญ่เชื่อว่า การเมืองไทยก่อน 19 กันยายน ไม่เป็นประชาธิปไตยมานานแล้ว การยึดอำนาจจึงชอบธรรมในฐานะวิธีสร้างประชาธิปไตยให้สมบูรณ์ขึ้น ส่วนผู้ไม่เห็นด้วยนั้นเห็นว่าแม้การเมืองก่อนวันที่ 19 กันยายน จะไม่สมบูรณ์ไปทุกด้าน แต่รัฐประหารก็ทำให้ประชาธิปไตยถอยหลังลงคลอง

ฝ่ายแรกเสนอการพัฒนาการเมืองภายใต้การนำของกองทัพ, ผู้มีบารมี, เทคโนแครตภาคเอกชน และตุลาการภิวัฒน์ ส่วนฝ่ายหลังเห็นว่าบุคคลและสถาบันเหล่านี้เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาประชาธิปไตย ฝ่ายแรกร่วมมือกับคณะรัฐประหารเพื่อร่างรัฐธรรมนูญที่เพิ่มอำนาจสถาบันที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง ฝ่ายหลังต้านรัฐประหารด้วยการเรียกร้องให้มีการเลือกตั้งโดยเร็ว ฝ่ายแรกไม่ได้ตอบปัญหาการบิดเบือนเจตนารมณ์ทั่วไปของพลเมืองและความรับผิดชอบทางการเมืองของสถาบันที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง ส่วนฝ่ายหลังไม่ได้ตอบว่าจะแก้ปัญหาประชาธิปไตยอำนาจนิยมที่เคยเกิดขึ้นแล้วอย่างไร รวมทั้งจริงหรือไม่ที่มาตรการนี้จะจัดการกับปัญหาหลักทางการเมืองของสังคมไทยในปัจจุบัน

บทความนี้ไม่ได้พิจารณารัฐประหารด้วยความคิดเรื่องประชาธิปไตย จึงไม่ได้โจมตีรัฐประหารครั้งนี้ในแง่ที่ทำลายพื้นฐานของประชาธิปไตยในสังคมการเมืองไทยไปทั้งหมด นี่ไม่ได้หมายความว่าประเด็นนี้ไม่สำคัญ ในทางตรงกันข้าม ประเด็นนี้สำคัญจนผู้เขียนได้อภิปรายเรื่องนี้ในที่อื่นๆ เอาไว้มากแล้ว จนเห็นความจำเป็นของการชี้ชวนให้มองเห็นว่า ปัญหาของรัฐประหาร 19 กันยายน หาได้จำกัดอยู่แค่เรื่องเป็นประชาธิปไตยหรือไม่เป็นประชาธิปไตย เพราะเมื่อพิเคราะห์รัฐประหารนี้โดยคำนึงถึงประสบการณ์ของความเป็นจริงด้านสิทธิเสรีภาพ และระเบียบการเมืองในสังคมไทยเอง ก็จะเข้าใจว่ารัฐประหารตามนัยนี้เป็นส่วนหนึ่งของความพยายามสถาปนาระเบียบการเมืองใหม่ ที่ทำให้รัฐมีลักษณะส่วนบุคคลสูงขึ้น ส่วนโครงสร้างพื้นฐานของเสรีระชาธิปไตยเสื่อมทรามลง

ในแง่มุมระเบียบการเมืองนั้น รัฐประหาร 19 กันยายน เปลี่ยนบทบาทขององค์อธิปัตย์จากความเป็นองค์อธิปัตย์ในสถานการณ์ฉุกเฉิน [47] ไปสู่ความเป็นองค์ประธานของความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองโดยตรง เสถียรภาพของระเบียบการเมืองใหม่ ขึ้นอยู่กับความสามารถในการสร้างความหมายทางการเมืองให้ผูกพันกับคุณลักษณะส่วนบุคคลอย่างต่อเนื่องสู่อนาคต แต่การปรับสภาพองค์อธิปัตย์จากความเป็นหน่วยที่มีอำนาจตัดสินใจทางการเมืองสูงสุด (sovereign) ไปสู่หน่วยที่ใช้อำนาจกึ่งบริหาร (authority) นี้ เกิดขึ้นท่ามกลางความเป็นการเมือง และการแบ่งฝักแบ่งฝ่ายที่ทำให้สังคมการเมืองแตกร้าวอย่างแทบไม่เคยมีมาก่อน การสูญเสียคุณลักษณะเป็นกลางและไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใดขององค์อธิปัตย์ ทำให้การจรรโลงความหมายทางการเมืองนี้ไม่มีทางทำได้ง่ายๆ อย่างที่เคยทำในอดีต สภาพทางการเมืองนี้ผลักดันให้สิทธิเสรีภาพตามกฎหมายอยู่ภายใต้อำนาจที่อยู่เหนือและมีมาก่อนกฎหมาย (meta-law) [48] เช่นเดียวกับที่สิทธิเสรีภาพพลเมืองถูกจำกัดให้อยู่ในขอบเขตที่ไม่อันตรายต่อระเบียบการเมือง ความสำคัญของพละกำลัง (forces) ต่อการจรรโลงความสัมพันธ์ทางการเมืองนี้ ส่งผลให้เส้นแบ่งทางตรรกะระหว่างอำนาจการเมืองที่มีอารยะ กับการปกครองโดยการใช้กำลังไม่มีอยู่อีกต่อไป

โครงการสถาปนาระเบียบการเมืองใหม่ ทำให้อำนาจลักษณะปิตาธิปไตยเป็นฝ่ายกำหนดอาณาบริเวณของการต่อสู้เพื่อสิทธิทางสังคมและเสรีภาพ (negative liberties) ในสังคมการเมือง อนาคตของระเบียบการเมืองใหม่ขึ้นอยู่กับการควบคุมพลังภายในระบบ, การดูดกลืนพลังมวลชนที่มีลักษณะถึงรากถึงโคน รวมทั้งการครอบงำของตรรกะทางการเมืองเหนือตรรกะทางเศรษฐกิจและสังคมทั้งหมด ความเสื่อมสลายของพลังการเมืองและระบบคุณค่าอื่นๆ หมายความถึงการสูญเสียความเป็นไปได้ที่สังคมจะสร้างความหมายทางการเมืองที่เป็นอิสระจากระเบียบการเมืองนี้ ความจำเป็นของการสร้างการปกครองแบบรัฐสภาและรัฐธรรมนูญที่ไม่เป็นประชาธิปไตย ส่งผลให้เสรีประชาธิปไตยไม่มีความหมายต่อสังคมการเมืองในปัจจุบันและอนาคต ความล่มสลายของการต่อสู้ในระดับความหมายทางการเมือง ส่งผลให้สังคมไทยเผชิญปัญหาที่ไปไกลกว่าการต่อสู้ระหว่างประชาธิปไตย / เผด็จการ, กษัตริย์นิยม / ทุนนิยม หรือ ระบบราชการ / นักเลือกตั้ง รัฐประหาร 19 กันยายน จึงไม่ได้เป็นสัญลักษณ์ของการฟื้นอำนาจแบบขัตติยาธิปไตยหรือเผด็จการทหารแบบที่เคยเกิดขึ้นในอดีต ราคาของความเปลี่ยนแปลงนี้ไม่ได้มีแค่ความหายนะทางการเมืองของผู้ที่เกี่ยวข้องกับรัฐประหาร แต่คือการพังทลายของระเบียบการเมือง อันเนื่องมาจากข้อจำกัดจำนวนมากของตัวระเบียบการเมืองเอง




โดย: Darksingha วันที่: 18 กันยายน 2550 เวลา:16:38:25 น.  

 
เชิงอรรถ

[1] ในวันที่ 12 มกราคม 2550 ตัวแทนของสมัชชาคนจน 3 ท่าน คือนายสวาท อุปฮาด, นางผา กองธรรม และ นายบุญ แซ่จุง ได้ยื่นหนังสือต่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เพื่อให้ตรวจสอบการละเมิดสิทธิเสรีภาพที่เกิดขึ้นแก่ชาวบ้านในช่วงหลังวันที่ 19 กันยายน 2549 เป็นต้นมา หนังสือฉบับนั้นระบุถึงพฤติกรรมคุกคามและสอดแนมความเคลื่อนไหวของชาวบ้านในพื้นที่ต่างๆ เช่นเทือกเขาบรรทัด, ป่าดงมะไฟ, อำเภอดงพระยา, เขตเขื่อนปากมูล, เขตเขื่อนราศีไศล ฯลฯ ซึ่งกระทำโดยทหารและตำรวจสันติบาลอย่างต่อเนื่อง นี่เป็นตัวอย่างว่ากฎอัยการศึกเปิดโอกาสให้เจ้าหน้าที่รัฐมีอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาดเหนือชาวบ้าน ในลักษณะที่ไม่มีทางเป็นไปได้ในสถานการณ์การเมืองแบบปกติ และอำนาจเชิงอภิสิทธิ์แบบนี้เป็นศัตรูกับสิทธิเสรีภาพของพลเมืองโดยตรง

[2] ตัวอย่างของการละเมิดสิทธิเสรีภาพในการเผยแพร่และเข้าถึงข้อมูลข่าวสารนี้ได้แก่การปิดการถ่ายทอดสัญญาณโทรทัศน์จาก CNN และ BBC อย่างเต็มรูปแบบในสัปดาห์แรกของการรัฐประหาร รวมทั้งการปิดแบบลักปิดลักเปิดที่เกิดขึ้นอีกหลายต่อหลายครั้งจวบจนปัจจุบัน, การระงับการเข้าถึงเว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากประเทศไทย, การสั่งการให้สถานีโทรทัศน์ ITV ยุติการแพร่ภาพคำสัมภาษณ์นายนวมทอง ไพรวัลย์ หลังการทำอัตวินิบาตกรรมเพื่อต่อต้านการรัฐประหาร รวมทั้งการปิดและยึดเว็บไซต์ของผู้คัดค้านรัฐประหาร (www.midnightuniv.org และ //www.19sep.net) ด้วยวิธีต่างๆ ขณะที่ตัวอย่างของการละเมิดสิทธิเสรีภาพในการแสดงความเห็นได้แก่การ "ขอร้อง" ให้เว็บไซต์พันธ์ทิพย์ หยุดบริการห้องสนทนาการเมืองตั้งแต่วันรัฐประหาร, การส่งกำลังทหารไปควบคุมสถานีโทรทัศน์ช่องต่างๆ เป็นเวลาหลายสัปดาห์, การเรียกวิทยุชุมชนในภาคเหนือไป "ขอร้อง" ให้รายงานข่าวอย่างเหมาะสม, การ "หารือ" ร่วมกับผู้บริหารสื่อวิทยุโทรทัศน์เมื่อวันที่ 10 มกราคม เรื่องการรายงานข่าวที่ควรจะเป็นจนกว่าจะถึงสิ้นปี 2550 , รวมทั้งการเซ็นเซอร์เว็บไซต์ที่สูงขึ้นถึง 500 เปอร์เซ็นต์ หลังการยึดอำนาจเป็นต้นมา

[3] //www.prachatai.com/05web/th/home/page2.php?mod=mod_ptcms&ContentID=6697&
SystemModuleKey=HilightNews&System_Session_Language=Thai

[4] ความสัมพันธ์ระหว่างอำนาจกับความเป็นพลเมืองนั้น เป็นปัญหาที่มีความสำคัญทางปรัชญาการเมืองมาตั้งแต่สมัยกรีก ตัวอย่างเช่น เพลโตนั้นถือว่าชีวิตที่ดีขึ้นอยู่กับการเมืองที่ดี และการเมืองที่ดีก็เป็นสิ่งที่จะได้มาด้วยการแสวงหาในระดับรวมหมู่ร่วมกัน ไม่ใช่การแยกตัวออกไปอยู่เป็นเอกบุคคลอิสระหรือครัวเรือนเอกเทศ

ส่วนอริสโตเติลก็เห็นว่าอำนาจในรูปของนครรัฐนั้นสำคัญกว่าครัวเรือนและเอกบุคคล เพราะนครรัฐเปรียบเสมือนร่างกาย ส่วนครัวเรือนและเอกบุคคลนั้นเทียบได้กับมือและเท้า ซึ่งหากร่างกายแตกดับ อวัยวะเหล่านี้ก็ปราศจากความหมาย (Aristotle , Politics, trans. C.D.C. Reeve, Hackett : Indianapolis, 1998, pp.4-5)

แต่คติการเมืองแบบสภาวะสมัยใหม่นั้นเห็นว่าเอกบุคคลไม่ได้เป็นแค่เพียงลักษณะทางกายภาพ แต่เอกบุคคลมีแก่นสารบางอย่าง ซ้ำยังสามารถคิด, มีเหตุมีผล และมีอิสรภาพในตัวเอง พลเมืองบนฐานการคิดแบบนี้จึงเป็นหน่วยที่เป็นเอกเทศและอยู่ขั้วตรงข้ามกับอำนาจ ซึ่งบทความชิ้นนี้จะอธิบายสิทธิเสรีภาพของพลเมืองผ่านคตินี้เป็นสำคัญ

[5] สนใจประเด็นนี้เพิ่มเติม ดู Carl J. Friedrich, Limited Government : A Comparison (New Jersey : Prentice-Hall, 1974), pp.25-32.

[6] Thucydides, Peloponnesian War , Book II, trans. Jeffrey S. Rusten (New York :Cambridge University Press, 1989) โดยเฉพาะ
บทที่ 35 และ บทที่ 43

[7] คำว่าหลักกฎหมายแบบปฏิฐานนิยม ในที่นี้มีความหมายแตกต่างจากที่นักรัฐศาสตร์หรือปัญญาชนแนววิพากษ์สังคมไทยมักเข้าใจ ตัวอย่างเช่น เสน่ห์ จามริก ในงานเขียนชิ้นสำคัญของเขา เรื่อง การเมืองไทยกับพัฒนาการรัฐูธรรมนูญ เห็นว่าหลักกฎหมายแบบปฏิฐานนิยม คือหลักกฎหมายที่ยอมรับคำสั่งและกฎระเบียบของผู้มีอำนาจโดยปราศจากข้อกังขา ถึงแม้ผู้มีอำนาจนั้นจะมาจากกการรัฐประหารและดำเนินการนิติบัญญัติโดยอาศัยอำนาจพิเศษและกฎอัยการศึกก็ตามที หลักกฎหมายแบบปฎิฐานนิยมตามนัยนี้จึงเป็นพื้นฐานของการปกครองโดยอำเภอใจและการใช้อำนาจโดยพลการ

ปัญหาทางทฤษฎีของคำวิจารณ์ตามแนวทางนี้ก็คือ แม้จะเป็นความจริงว่า แนวคิดกฎหมายแบบปฏิฐานนิยมจะเห็นว่ากฎหมายไม่จำเป็นต้องมีรากมาจากอภิปรัชญาและปัญหาเชิงคุณค่า แต่ก็ไม่ได้หมายความว่ารัฐและผู้มีอำนาจในคตินี้ สามารถจะออกกฎเกณฑ์และคำสั่งต่างๆ ได้โดยเสรี ตัวอย่างเช่น นักนิติปรัชญาคนสำคัญอย่าง ฮานส์ เคลเซน ก็พูดอยู่ตลอดว่า กฎหมายต้องขึ้นอยู่กับปทัสถานพื้นฐาน หรือ basic norm บางอย่าง กฎหมายจึงไม่ใช่ตัวกฎเกณฑ์ข้อหนึ่งข้อใด แต่คือชุดของกฏเกณฑ์จำนวนมากที่มีเอกภาพร่วมกันในฐานะระบบหนึ่งๆ ส่วนการบอกว่า กฎหมายคือคำสั่งของผู้มีอำนาจนั้นเป็นสิ่งที่เขาเห็นว่าเป็นปฏิฐานนิยมที่มีลักษณะลดทอนเกินไป ดู Hans Kelsen, General Theory of Law and State , trans. A.Wedberg (New York : Russell and Russell, 1961)

[8] ดู ขุนประเสริฐศุภมาตรา, หนังสือว่าด้วยกฎหมายภาคสิทธิ (ม.ป.ท., 1477), หน้า 1 และ หยุด แสงอุทัย, ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับกฎหมายทั่วไป (กรุงเทพมหานคร : สำนักพิมพ์ประกายพรึก, 2535), หน้า 224. อย่างไรก็ดี ความเห็นของอาจารย์หยุดในเรื่องนี้ มีเหตุผลทางการเมืองที่ซับซ้อนจนผู้เขียนหวังว่าจะได้กล่าวถึงในโอกาสต่อไป

[9] Quentin Skinner, Liberty Before Liberalism. (Cambridge : Cambridge University Press, 1988), p.17.

[10] Will Kymlicka, Liberalism, Community, and Culture. (Oxford : Clarendon Press, 1989), pp.74-99.

[11] John Henry Merryman, The Civil Law Tradition: An Introduction to the Legal Systems of Western Europe and Latin America (Stanford : Stanford University Press, 1988), p.70. อย่างไรก็ดี ทฤษฎีกฎหมายเยอรมันวางอยู่บนการแบ่งแยกระหว่าง "สิทธิเชิงอัตวิสัย" และ "กฎหมายเชิงรูปธรรม" อย่างเคร่งครัด โดยที่การแบ่งแยกลักษณะนี้ก็เป็นพื้นฐานของการพิจารณาประเด็นสิทธิเสรีภาพ โดยแง่มุมแบบปฏิฐานนิยมซึ่งมีปัญหาดังที่ได้กล่าวไปแล้ว การหยิบยืมคำๆ นี้มาใช้ในที่นี้ จึงไม่ได้คงการแบ่งแยกแบบเดิมเอาไว้ เพราะเห็นว่าเป็นต้นตอของความคิดที่อันตราย

[12] ไชยันต์ ไชยพร, "เหตุผล 8 ประการที่มัดรัฐบาลรัฐประหาร" ใน //www.prachatai.com/05web/th/home/page2.php?mod=mod_ptcms&ContentID=6668&
SystemModuleKey=HilightNews&System_Session_Language=Thai

[13] เกษียร เตชะพีระ, "เผด็จการหน่อมแน้ม/เผด็จการครึ่งใบ", มติชนรายวัน, 26 มกราคม 2550
[14] วัลลภ ตังคณานุรักษ์, "ปฏิวัติงดงาม," มติชน ( 26 กันยายน 2549)
[15] สุริยะใส กตะศิลา, "ผมคิดอะไรกับรัฐประหาร 19 กันยายน," //www.onopen.com/2006/01/1022

[16] ผู้เขียนจงใจอภิปรายประเด็นนี้ เพื่อชี้ให้เห็นมิติความรุนแรงของรัฐประหารที่ปราศจากการนองเลือด เพราะความหมายพื้นฐานของการข่มขู่หมายถึงการใช้กำลัง หรือขู่ว่าจะใช้กำลัง เพื่อให้บุคคลกระทำการอย่างใดอย่างหนึ่ง ซึ่งทั้งหมดนี้ล้วนถือว่าเป็นความรุนแรง ต่อให้จะยังไม่ได้มีการทำร้ายร่างกายเกิดขึ้นจริงๆ ก็ตามที รัฐประหารที่ปราศจากการนองเลือดจึงไม่ได้หมายความว่า เป็นรัฐประหารที่ปราศจากความรุนแรง เว้นเสียแต่จะนิยามว่าความรุนแรงในความหมายแคบว่าหมายถึงการฆ่า หรือการข่มขู่ว่าจะฆ่าแต่เพียงอย่างเดียว อันเป็นบทเสนอทางทฤษฎีที่สำคัญของศาสตราจารย์ Glenn D. Paige ในหนังสือเล่มสำคัญของท่านเรื่อง Non-killing Global Political Science (Philadelphia: Xlibris, 2000) ซึ่งกำลังอยู่ระหว่างการแปลเป็นภาษาไทยโดยผู้เขียน

[17] Julio F. Carrion (ed.), .The Fujimori Legacy : the Rise of Electoral Authoritarianism in Peru (University Park: Pennsylvania State University Press , 2006)

[18] Samuel E. Finer's Introduction in Edward Luttwak, Coup D' Etat 2nd edition (London : Allen Lane, , 1979)

[19] ในกรณีรัฐประหารในประเทศไทย ดู Thak Chaloemtiarana, Thailand: The Politics of Despotic Paternalism Revised Edition (Ithaca : Cornell Southeast Asia Program, 2006) เทียบกับ Paul Handley, (The King Never Smiles : A Biography of Thailand's Bhumibol Adulyadej (New Haven: Yale University Press, 2006), pp. 139 -155 สำหรับรัฐประหารในชิลี น่าสนใจว่าแม้จะมีการเปิดเผยเอกสารต่างๆ ที่แสดงความปรารถนาของสหรัฐฯ ที่จะสนับสนุนรัฐประหารโค่นล้มประธานาธิบดีอัลเยนเด้มาตั้งแต่ช่วงแรกๆ ที่ประธานาธิบดีผู้นี้เข้าดำรงตำแหน่ง โดยเฉพาะเอกสารในโครงการที่ชื่อว่า Project FUBELT แต่รัฐบาลสหรัฐฯ ทุกชุดไม่เคยยอมรับเรื่องนี้อย่างเป็นทางการ อย่างไรก็ดี นายพลคอลิน พาวเวลล์ ได้ให้สัมภาษณ์ไว้ใน พ.ศ.2546 เมื่อยังอยู่ตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของสหรัฐฯ ว่า บทบาทของสหรัฐต่อรัฐประหารในชิลี เป็น "ประวัติศาสตร์ที่เราไม่อยากพูดถึง" อันมีนัยของการยอมรับอย่างเป็นทางการที่ชัดเจน

[20] Peter Calvert, Revolution (London: Macmillan, 1970), p.141.

[21] มีงานศึกษาทหารไทยจำนวนไม่น้อยที่ฉายให้เห็นภาพความคิดทางการเมืองของทหารไทยในประเด็นนี้ ตัวอย่างเช่น งานสำคัญของ ยศ สันตสมบัติ, อำนาจ บุคลิกภาพ และผู้นำการเมืองไทย (กรุงเทพ: สถาบันไทยคดีศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2533) และ เฉลิมเกียรติ ผิวนวล, รายงานการวิจัยเรื่องประชาธิปไตยแบบไทย: ความคิดทางการเมืองของทหารไทย (2519-2529) (กรุงเทพ: สถาบันไทยคดีศึกษา มหาวิทยาลัย ธรรมศาสตร์, 2531) ซึ่งช่วยให้เห็นภาพความเข้าใจตัวเองของผู้นำทางทหารที่ก่อรัฐประหาร และแทรกแซงการเมืองด้วยวิธีต่างๆ ว่า โดยส่วนใหญ่ของพวกเขาล้วนพิจารณาตัวเองเป็นพุทธศาสนิกชนผู้เปี่ยมไปด้วยความจงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์อย่างแน่นแฟ้น การแทรกแซงการเมืองโดยทหารหลายหนจึงเกิดจากความรู้สึกว่าสถาบันหลักๆ ถูกท้าทาย จนเป็นหน้าที่ของตนเองที่ต้องปกป้องสถาบันเหล่านี้ด้วยวิธีใช้กำลังและความรุนแรง

อย่างไรก็ดี ควรพิจารณาประเด็นอุดมการณ์นี้โดยเปรียบเทียบกับงานศึกษาของ ชัยอนันต์ สมุทวณิช, การเลือกตั้ง พรรคการเมือง, รัฐสภา และคณะทหาร (กรุงเทพ: บรรณกิจ, 2525) และ สุรชาติ บำรุงสุข, ทหารกับประชาธิปไตยไทย : จาก 14 ตุลา สู่ปัจจุบันและอนาคต (กรุงเทพ: ศูนย์วิจัยและผลิตตำรา มหาวิทยาลัยเกริก, 2541) ซึ่งชี้ให้เห็นว่า ทหารไม่ได้แทรกแซงการเมืองหรือก่อรัฐประหารด้วยเหตุผลทางอุดมการณ์เพียงอย่างเดียว แต่ยังเกิดจากอคติของพวกเขาต่อนักการเมือง และสถาบันการเมืองสมัยใหม่ด้วยเช่นกัน

[22] William Frank Gutteridge, The Military in African Politics (London: Methuen, 1969) ข้อน่าสนใจก็คือประธานาธิบดีผู้นี้เริ่มต้นประสบความสำเร็จทางการเมือง ด้วยนโยบายต้านอาณานิคมและจักรวรรดินิยมใหม่ แต่ในที่สุดก็กลายเป็นประธานาธิบดีที่มีพฤติกรรมการใช้อำนาจแบบเผด็จการอำนาจนิยม



โดย: Darksingha วันที่: 18 กันยายน 2550 เวลา:16:39:12 น.  

 
[23] Pitirim A Sorokin, "Fluctuations of Internal Disturbances," in George A.Kelly and Clifford W. Brown(eds.), Struggle in the State: Sources and Patterns of World Revolution (New York : John Wiley, 1970)

[24] Bruce W.Farcau, The Coup: Tactics in the Seizure of Power (Westport, Connecticut: Praeger, 1994), p.9.

[25] Samuel E. Finer , The Man on Horseback : the Role of the Military in Politics 2nd edition (Middlesex: Penguin Books, 1976), p,139.
[26] Edward Luttwak, Coup D' Etat 2nd edition (London: Allen Lane, 1979) , pp.20-1.
[27] Finer, Ibid., pp.140-8.
[28] Farcau, Ibid., p.9.

[29] ความเห็นฉาบฉวยและไร้เหตุผลในทางประวัติศาสตร์ข้อนี้ แพร่หลายทั้งในหมู่อาจารย์มหาวิทยาลัย นักพัฒนาเอกชน วุฒิสมาชิก นักการเมือง ปัญญาชนสาธารณะ นักหนังสือพิมพ์ ฯลฯ ที่สดุดีรัฐประหาร 19 กันยายน ยิ่งกว่าตัวทหารผู้ก่อรัฐประหารเองด้วยซ้ำ ทั้งที่มีการรัฐประหารในโลกและในสังคมไทยนับครั้งไม่ถ้วนที่เกิดขึ้นในลักษณะนี้ และถ้าใช้บรรทัดฐานแบบนี้ต่อไปจริงๆ ก็คงต้องถือว่ารัฐประหารแทบทุกครั้งเป็น "การปฏิวัติงดงาม" ไปทั้งหมด ไม่เว้นแม้กระทั่งรัฐประหารของจอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ที่นำไปสู่การจับกุมปัญญาชนและประชาชนผู้ที่ไม่เห็นด้วยกับคณะรัฐประหารจำนวนมาก รวมทั้งการปกครองด้วยกฎอัยการศึกและมาตรา 17 ซึ่งอนุญาตให้นายกรัฐมนตรีสั่งประหารชีวิตบุคคลต่างๆ ได้ตามอำเภอใจ

หรือแม้กระทั่งการรัฐประหารตัวเองของจอมพล ถนอม กิตติขจร อันเป็นชนวนสำคัญของเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 และคงมีแต่รัฐประหาร 6 ตุลาคม 2519 ที่ถือว่าเป็น "ปฏิวัติไม่งดงาม" เพราะมีการฆ่านักศึกษาประชาชนจำนวนมากที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยมีผู้มีอำนาจ, สถาบันจารีตประเพณี และนายทหารในกองทัพหลายต่อหลายฝ่ายเข้ามาเกี่ยวข้อง แต่ถึงวันนี้ก็ยังไม่มีใครประณามรัฐประหาร 6 ตุลาคม2519 และการก่อการทางการเมืองทั้งหมดเพื่อปูทางไปสู่เหตุการณ์นี้อย่างจริงจัง

สำหรับแนวการอธิบายเหตุการณ์ 6 ตุลาคม ดู สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล, ประวัติศาสตร์ที่เพิ่งสร้าง (กรุงเทพ: สำนักพิมพ์ 6 ตุลารำลึก , 2544) เปรียบเทียบกับ Benjamin Anderson, "Withdrawal Symptoms: Social and Cultural Aspects of the October 6 Coup." Bulletin of Concerned Asian Scholars 9 (3): 13-30. (Reprinted as 'Withdrawal Symptoms' in Benedict Anderson, The Specter of Comparisons: Nationalism , Southeast Asia and the World (London: Verso, 1998), pp. 139-173.)

[30] ดูคำสัมภาษณ์ของ สพรั่ง กัลยาณมิตร ใน สกุลไทย (ฉบับที่ 2729 ปีที่ 53 ประจำวันอังคาร ที่ 6 เดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ.2550 ) ซึ่งตอบคำถามเรื่องความรู้สึกหลังการรัฐประหารไว้ว่า "ผมเคยอยู่ในค่ายสมเด็จพระนเรศวรมหาราชมาก่อน ผมรู้สึกซาบซึ้งในความเป็นนักรบผู้กล้าหาญ การได้ซาบซึ้งถึงบรรพบุรุษและวีรกษัตริย์ไทยในอดีตเป็นกำลังใจ ทำให้เรามีอุดมการณ์ มีธรรมะช่วยในการตัดสินใจการทำงาน" เทียบเคียงกับคำสัมภาษณ์ในเวลาใกล้เคียงกันว่า "ผมไม่เคยเกลียดนักการเมือง แต่เกลียดพฤติกรรมกลุ่มการเมือง" เพราะ "แข่งกันทำลายชาติบ้านเมือง ทำลายระบอบ ภาพลักษณ์ประเทศชาติ ความเป็นประชาธิปไตย" ใน คมชัดลึก วันที่ 9 มกราคม 2550

[31] คำสัมภาษณ์ของสนธิ บุญรัตนกลิน, สพรั่ง กัลยาณมิตร และ อนุพงษ์ เผ่าจินดา แสดงแง่มุมแบบนี้ไว้น่าสนใจ หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์และแนวหน้ารายงานข่าวการเตรียมก่อรัฐประหารโดยกองทัพภาคที่ 3 ไว้อย่างน้อยก็ตั้งแต่ วันที่ 21 กรกฎาคม 2549 โดยที่รายงานเดียวกันนั้น ยังพูดถึงการโยกย้ายนายทหารระดับคุมกำลังนอกวาระโดย อนุพงษ์ เผ่าจินดา เพื่อทำให้กำลังของฝ่ายรัฐประหารเป็นปึกแผ่นที่สุด ขณะที่สะพรั่งเองให้สัมภาษณ์หลายครั้งหลายหนว่า เขาวางแผนรัฐประหารมาราว 8 เดือนแล้ว (คมชัดลึก, 22 ตุลาคม 2549) ส่วน สนธิ บุญยรัตนกลิน กลับพูดไปอีกอย่างว่า เขาใช้เวลาตัดสินใจยึดอำนาจเพียง 2 วัน และ "พล.อ.สะพรั่ง กับผม ไม่ได้คุยเรื่องนี้กัน" (มติชน 14 พฤศจิกายน) ซึ่งหากคนเหล่านี้ไม่มีใครโกหก ก็แสดงว่าการรัฐประหารนี้เริ่มต้นโดยนายทหารระดับแม่ทัพภาค 1 และ 3 ส่วนผู้บัญชาการทหารบกนั้นเพิ่งจะมาเข้าร่วมในแผนการนี้ในภายหลัง โดยมีท่าทีไม่มั่นใจในปฏิบัติการนี้มาตลอดเวลา (มติชนสุดสัปดาห์, 29 กันยายน 2549)

น่าสังเกตด้วยว่าในบรรดาผู้ก่อรัฐประหาร 19 กันยายน ทั้งหมด สนธิ บุญยรัตนกลิน เป็นคนที่มีบุคลิกภาพกำกวมที่สุด บทบาทของเขาในการเตรียมรัฐประหารเป็นเรื่องที่น่าสงสัย แม้เขาจะให้สัมภาษณ์ครั้งหนึ่งว่าวางแผนรัฐประหารมาแล้ว 7 เดือน ก็ตามที (The Nation, October 27, 2006, p. 4.) แต่ผู้สนับสนุนการรัฐประหารคนสำคัญอย่าง สนธิ ลิ้มทองกุล กลับโจมตีสนธิด้วยน้ำเสียงที่รุนแรงหลายต่อหลายครั้งอย่างเปิดเผย เช่น "ระหว่างเพื่อนกับชาติ ท่านรักใครมากกว่ากัน" ขณะที่ท่าทีแบบนี้ไม่เคยปรากฏเลยเมื่อผู้มีบารมีนอกรัฐธรรมนูญรายนี้พูดถึงสะพรั่งและอนุพงษ์ (ผู้จัดการรายวัน , 8 มกราคม 2550, หน้า 10-11)

[32] สุภลักษณ์ กาญจนขุนดี, "การเดินทางสู่ห้วงเหวของการเมืองภาคประชาชน" ฟ้าเดียวกัน (ปีที่ 4 ฉบับที่ 4, 2005), หน้า 37-45 และ สุภลักษณ์ กาญจนขุนดี, "วิเคราะห์ระบอบสนธิ" ฟ้าเดียวกัน ฉบับ รัฐประหาร 19 กันยายน รัฐประหารเพื่อระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข (2006), หน้า 260-287 บทความนี้สำคัญในฐานะเป็นงานเขียนไม่กี่ชิ้น ที่พยายามประเมินฐานะทางประวัติศาสตร์ของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ทั้งต่อการรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 และต่อพัฒนาการทางการเมืองในสังคมไทย

สุภลักษณ์ตั้งข้อสังเกตไว้อย่างน่าเศร้าใจแทนแกนนำพันธมิตรทั้งหลายว่า คนเหล่านี้ทำให้ "ขบวนการประชาชนเป็นกองเชียร์ของอำมาตยาธิปไตยราชานิยม" แต่ก็ไม่มีนักวิเคราะห์คนไหนให้ความสำคัญกับพันธมิตรมากไปกว่าการกล่าวถึงสักหนึ่งหรือสองบรรทัดในบทวิเคราะห์การเมืองไทย พันธมิตรจึงไม่ใช่ "ตัวละครหลัก" ของการต่อสู้ทางการเมืองที่ผ่านมา แต่คือ "กองเชียร์" ที่สมควรได้รับรางวัลกองเชียร์ยอดเยี่ยม ไม่ใช่เหรียญทองจากการแข่งขัน ซึ่งแม้ผู้เขียนจะเห็นด้วยกับข้อสังเกตของสุภลักษณ์ แต่ก็เห็นว่ามีความจำเป็นต้องพิจารณาพันธมิตรในแง่มุมที่ละเอียดกว่านี้พอสมควร

[33] วันที่ 11 กุมภาพันธ์ พล.อ.สมเจตน์ บุญถนอม ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ กระทรวงกลาโหม และหัวหน้าสำนักงานเลขาธิการคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) ให้สัมภาษณ์ถึงความจำเป็นต้องมีตัวแทนของทหารในช่วงที่รัฐธรรมนูญและการเลือกตั้งบังเกิดขึ้นแล้ว เพราะ "ทหารจำเป็นต้องปกป้องผลประโยชน์ที่เกี่ยวข้องกับทหาร เมื่อมีพรรคการเมืองแล้ว ก็ต้องมาดูว่าใครจะสนับสนุนเราได้" แต่ "จะรูปแบบไหน และจะไปเลือกใคร ก็เป็นอีกเรื่อง" (มติชน, 11 กุมภาพันธ์ 2550)

[34] ดูตัวอย่างของการอภิปรายประเด็นนี้ได้ใน ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์, ประชาธิปไตยไม่ใช่ของเรา (กรุงเทพ : โอเพ่นบุ๊คส์, 2550)

[35] ในแง่ปรัชญาสังคมศาสตร์ ประเด็นนี้เกี่ยวข้องกับปัญหาเรื่องการเปรียบเทียบอย่างมีนัยยะสำคัญ ดู Peter T. Manicas, A Realist Philosophy of Social Sciences: Explanation and Understanding (Cambridge: Cambridge University Press, 2006), pp.103-25

[36] หนึ่งในจุดอ่อนสำคัญคือ แนวคิดนี้ให้น้ำหนักต่อความเป็นวัตถุและเงื่อนไขทางวัตถุของ "รัฐธรรมนูญฉบับวัฒนธรรม" น้อยเกินไป ทำให้คำนี้ถูกใช้อย่างโน้มเอียงที่จะหมายถึงแต่ข้อกำหนดสูงสุดที่ไม่เป็นลายลักษณ์อักษร เป็นธรรมชาติที่ฝังแน่นมาแต่อดีต ทำลายไม่ได้ ซ้ำยังดำรงอยู่อย่างต่อเนื่องมานานนับศตวรรษ รัฐธรรมนูญฉบับวัฒนธรรมตามนัยนี้จึงมีความหมายใกล้เคียงกับค่านิยม ความเชื่อ อุดมการณ์หลัก หรือวาทกรรมที่มีฐานะครอบงำ ในเชิงญาณวิทยานั้น แนวความคิดนี้จึงเชื่อว่าสังคมทุกสังคมมีระบบคุณค่าหรืออัตลักษณ์บางอย่างเป็นแกนกลาง และหากกวดจับแกนกลางนี้ได้ ก็จะเข้าใจสังคมทั้งหมด ทั้งที่สถานะของกษัตริย์ในสังคมไหนก็ไม่ใช่ระบบคุณค่าที่ต่อเนื่องมาจากอดีตล้วนๆ แต่เกี่ยวข้องกับเงื่อนไขทางวัตถุอีกมากในปัจจุบัน เช่นความสัมพันธ์กับกองทัพ คุณลักษณะส่วนบุคคล เครือข่ายทางการเมือง การสะสมทุนส่วนพระองค์ ฯลฯ โดยที่เงื่อนไขหลายอย่างก็เป็นเรื่องที่อาจผันแปรได้ด้วย จึงเป็นการผิดฝาผิดตัวที่จะคิดถึง "รัฐธรรมนูญฉบับวัฒนธรรม" ราวกับเป็นสิ่งที่อยู่กลางสุญญากาศ เป็นอกาลิโก ตายตัว และลอยอยู่เหนือความเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ไม่ต้องพูดถึงการที่คำนี้มีความคิดรวบยอดคลุมเครือจนไม่ได้มีความหมายพิเศษกว่าคำอื่นๆ ที่มีอยู่แล้ว เช่นกฎเกณฑ์เชิงจารีตประเพณี โดยควรระบุด้วยว่าการใช้มโนทัศน์นี้ในโลกภาษาอังกฤษ ก็มีปัญหาลักษณะเดียวกันกัน

ดูคำอธิบายแนวคิดนี้ใน นิธิ เอียวศรีวงศ์, ชาติไทย เมืองไทย, แบบเรียน และอนุสาวรีย์ (กรุงเทพ: ศิลปวัฒนธรรม, 2538), หน้า 136-171 ส่วนตัวอย่างของอิทธิพลที่คำนี้มีต่อความเข้าใจการเมืองร่วมสมัย ดู ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ และ เกษียร เตชะพีระ, "Reforming Thailand กับ ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ และ เกษียร เตชะพีระ," ใน //www.onopen.com/2006/editor-spaces/1038 และดูการตีความแนวคิดนี้ในลักษณะสนับสนุนรัฐประหารใน เอนก เหล่าธรรมทัศน์, "'เราต้องดูแลประชาธิปไตย ที่งอกจากดินของเราเอง," กรุงเทพธุรกิจ 9 ธันวาคม 2549

[37] Ellen Kennedy, Constitutional Failure : Carl Schmitt in Weimar (Durham: Duke University Press, 2004), pp.123-5.

[38] ในแง่นี้แล้ว คำถามหลักทางการเมืองที่ควรพิจารณาก็คือ พระราชอำนาจเรื่องนี้จะดำเนินต่อไปอย่างไร เท่าที่ผ่านมานั้น การกำหนดว่านายกรัฐมนตรีไม่จำเป็นต้องมาจากการเลือกตั้งนั้น คือเงื่อนไขพื้นฐานของกระบวนการนี้ เพราะเมื่อนายกไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง ก็ย่อมต้องมาจากการแต่งตั้ง โดยที่อำนาจในการแต่งตั้งนี้ก็สัมพันธ์กับบุคคลผู้มีหน้าที่รับสนองพระบรมราชโองการข้อนี้ ซึ่งโดยส่วนใหญ่ก็มักได้แก่บุคคลซึ่งทรงแต่งตั้งเองได้โดยตรง ตัวอย่างเช่น

รัฐธรรมนูญปี 2490 ก็กำหนดให้ประธานอภิรัฐมนตรีเป็นผู้รับสนอง, รัฐธรรมนูญปี 2493 โอนหน้าที่นี้ไปที่ประธานวุฒิสภา แต่วุฒิสภาก็มาจากการแต่งตั้งที่มีประธานองคมนตรีเป็นผู้รับสนอง, รัฐธรรมนูญปี 2511 และ 2515 ก็ให้ประธานวุฒิสภาเป็นประธานรัฐสภาที่มีหน้าที่นี้ โดยที่วุฒิสภามาจากการแต่งตั้งของพระองค์ การมีนายกรัฐมนตรีที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง จึงเป็นเงื่อนไขพื้นฐานที่สำคัญต่อพระราชอำนาจในเรื่องนี้อย่างขาดไม่ได้ รัฐธรรมนูญที่กำหนดให้นายกรัฐมนตรีมาจากการเลือกตั้งอย่างฉบับ พ.ศ.2475, 2517, 2535 และ 2540 จึงเป็นรัฐธรรมนูญที่ทำให้พระราชอำนาจมีลักษณะเบ็ดเสร็จน้อยลง เพราะเท่ากับว่าความเป็นประมุขฝ่ายบริหารไม่ได้ขึ้นอยู่กับการพิจารณาเป็นการภายใน แต่ต้องได้รับความยอมรับในสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร

[39] พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์, "การค้ำยันการเมืองแบบพระราชทาน," ใน //www.onopen.com/wp-print.php?p=520 บทความนี้สรุปสถานการณ์การเมืองไทยในช่วง พ.ศ.2548-2549 ไว้อย่างแหลมคมว่า "การขอพระราชทานรัฐบาลผ่านการตีความมาตรา 7 นั้นมิได้เป็นเรื่องเกี่ยวข้องกับความจงรักภักดี หรือลัทธินิยมเจ้า มากเท่ากับการปรากฏตัวและดำรงอยู่ของแนวคิดและพฤติกรรมแบบ "ประชาธิปไตยแบบทหารนิยม" อันเป็นการประเมินที่แตกต่างจากนักวิชาการหลายคนที่เห็นว่า ปรากฏการณ์ทางการเมืองในช่วงนั้นเป็นพลังของวิธีคิดแบบนิยมเจ้าที่ต้องการฟื้นฟูบทบาททางการเมืองของกษัตริย์ขึ้นมา

[40] การพ้นตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของพล.อ.เปรม ในปี 2531 หรือชะตากรรมทางการเมืองของ พล.อ.ชวลิต, พล.อ.สุจินดา หรือแม้แต่ พล.ต.จำลอง เป็นตัวอย่างของความสัมพันธ์แบบนี้ นัยยะทางการเมืองของประเด็นดังกล่าว คือเป็นไปได้ที่ระเบียบการเมืองนี้ จะแสดงบทบาทปฏิเสธผู้นำทหารที่เข้มแข็งจนมีแนวโน้มจะไม่น่าไว้ใจในอนาคต การวิจารณ์ทหารจึงไม่จำเป็นต้องเท่ากับการสร้างประชาธิปไตย อย่างไรก็ดี ปัญหาของแนวการพิจารณาแบบนี้คือ การลดทอนกองทัพให้เป็นแค่ผู้กระทำการที่เฉื่อยชา (passive agent) รวมทั้งไม่ได้สนใจว่าลักษณะทางชนชั้นของผู้นำกองทัพจะส่งผลระเบียบดังกล่าวอย่างไร

[41] แนวการพิจารณานี้ วางอยู่บนการแบ่งแยกระหว่างระเบียบการเมืองที่มีกษัตริย์เป็นประมุข และบทบาทการเมืองของทหาร เพราะมีทฤษฎีและหลักฐานในประวัติศาสตร์เต็มไปหมดที่แสดงให้เห็นว่า สองส่วนนี้เป็นหน่วย (entity) ที่เอกเทศจากกัน ความสัมพันธ์ระหว่างทั้งสองหน่วยจึงไม่แน่นอน ไม่มีความจำเป็นที่ฝ่ายใดจะขึ้นต่ออีกฝ่ายอย่างเคร่งครัด โดยกองทัพซึ่งเข้มแข็งมากเกินไปนั้นอาจเป็นอันตรายได้ ทั้งต่อประชาธิปไตยพลเรือน ประชาธิปไตยรัฐสภา สมบูรณาญาสิทธิราชย์ หรือราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญ

สำหรับการพิจารณาบทบาทของกองทัพในประวัติศาสตร์การเมืองไทย โปรดดู Benedict R. O'G Anderson, "Studies of the Thai State: The State of Thai Studies, " in Eliezer B. Ayal (ed.), The Study of Thailand (Athens , Ohio: Ohio Center for International Studies, Southeast Asia Program, 1978), pp. 193-247 แสดงให้เห็นภาพของกองทัพภายใต้กษัตริย์ในช่วงการสร้างรัฐชาติสมัยใหม่ ; ชาญวิทย์ เกษตรศิริ, ประวัติการเมืองไทย 2475-2500 (กรุงเทพฯ : มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์, 2544) พูดถึงความเป็นอิสระทางการเมืองของกองทัพจากกษัตริย์อย่างน่าสนใจ ; Thak Chaloemtiarana, Thailand: The Politics of Despotic Paternalism (Bangkok: Social Science Association of Thailand, 1979) แสดงให้เห็นสภาพที่กษัตริย์และกองทัพเป็นอิสระต่อกัน แต่ก็เกื้อกูลและเอื้อประโยชน์ซึ่งกันและกันในช่วง 2500 ;

Duncan McCargo, "Network Monarchy and Legitimacy Crises in Thailand," The Pacific Review , Vol.18 No.4.(December: 2005), 499-519 แสดงการขยายเครือข่ายของกษัตริย์เหนือกองทัพและประชาสังคม ผ่านองคมนตรีช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา รวมทั้ง ชาญวิทย์ เกษตรศิริ, " 1 ศตวรรษทหาร กับการเมืองไทย," มติชนสุดสัปดาห์ 9-15 กุมภาพันธ์ 2550 ซึ่งให้ภาพรวมของความสัมพันธ์ระหว่างทหารกับการเมืองไทยได้อย่างกระชับแต่ชัดเจนและมีพลัง

[42] Samuel E. Finer, The History of Government From the Earliest Times Vol. III : Empires, Monarchies, and the Modern State (New York : Oxford University Press, 1997), p.1476.

[43] เพราะเหตุนี้ ลำพังหลักอำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชน และหลักรัฐบาลโดยฉันทานุมัติจึงไม่ใช่เครื่องประกันความเป็นการเมืองแบบเสรีประชาธิปไตย

[44] Carl Schmitt, The Concept of the Political, trans. George Schwab (Chicago, London: The University of Chicago Press, 1996), pp.45-7.

[45] ดูตัวอย่างการอภิปรายประเด็นนี้ใน เกษม เพ็ญภินันท์, "คุยกับนักปรัชญา: เมื่อ 'ความดี' และ 'คนดี' ทำให้ประชาธิปไตยถอยหลัง," //www.prachatai.com/05web/th/home/page2.php?mod=mod_ptcms&ContentID=5467&
SystemModuleKey=HilightNews&System_Session_Language=Thai

[46] Ibid., p.69.

[47] Carl Schmitt, Political Theology: Four Chapters on the Concept of Sovereignty, trans. George Schwab (Cambridge, Massachusetts: The MIT Press, 1988), pp.4-8.

[48] แนวความคิดเรื่อง Meta Law เป็นรากฐานของการเกิดสิ่งที่ Hans Kelsen เรียกว่า grundnorm หรือพื้นฐานของบรรทัดฐานทั้งปวง แนวความคิดนี้เห็นว่า ระบบกฎหมายเสรีนิยมมีคุณลักษณะของ "อภิกฎหมาย" ในแง่ที่ยอมให้อำนาจสามารถแทรกแซงหรือบงการให้มนุษย์ในชุมชนที่มีอารยะ กระทำการซึ่งขัดกับเจตจำนงของเขาได้ หากการใช้เจตจำนงนั้นก่อให้เกิดอันตรายต่อสมาชิกคนอื่นในชุมชนการเมืองเดียวกัน กฎนี้มีลักษณะเป็นคำสั่งเชิงจริยะขั้นเด็ดขาด (categorical imperative) ตามปรัชญาแนวค้านท์ อภิกฎหมายจึงเป็นกฎเกณฑ์ที่ไม่ได้อยู่ในรูปกฎหมาย แต่หักล้างข้อบังคับและกฎหมายลายลักษณ์อักษรได้อย่างสมบูรณ์ ประเด็นทางทฤษฎีที่สำคัญคืออภิกฎหมายไม่ใช่สภาวะพิเศษที่ปรากฎในสถานการณ์ผิดปกติ แต่เป็นกฎเกณฑ์และบรรทัดฐานขั้นสูงที่กฎหมายและระเบียบต่างๆ ต้องปฏิบัติตาม ดู Hans Kelsen, General Theory of Law and State (New Jersey: Lawbook Exchange Ltd. , 2007)



ที่มา มหาวิทยลัยเที่ยงคืน




โดย: Darksingha วันที่: 18 กันยายน 2550 เวลา:16:39:48 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

Darksingha
Location :
สมุทรสงคราม Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 7 คน [?]





Click for use Graphics comment


Darksingha ที่แสดงถึงอำนาจและความมืดมัว ผมให้แทนคำว่า Age of Doubt หรือยุคแห่งความสงสัยก็แล้วกัน ดังนั้นBlogนี้จึงเป็นแดนสนธยาที่เต็มไปด้วยหมอกควันแห่งคำถาม และการละเล่น เพื่อแสวงหา ?


TV3 Live CH5 Live CH7 Live Modernine TV Live NBT LIVE - CH11 TPBS - Public Channel ASTV1 New11 - Online News 24 hours Nation Channel DMC.TV - Buddhistic Television ASTV5 - Suvarnbhumi ASTV7 - Buddhistic Television  True New 24 Channel  skynew  cnnibn Channel  cnn Channel  bbcnews_island Channel  cctv  Channel  bfmtv  Channel  ntv  Channel  fox8 Channel  foxnews5 Channel  cspan  Channel  france24 Channel  world_explorer Channel  discovery_channel Channel  nasa  Channel kimeng-channel dmc-channel ebr-channel research-channel utv-channel michigan-channel at-florida-channel islam-channel peace-usa-channel bbc-panorama-channel CH7 Live CH7 Live CH7 Live CH7 Live CH7 Live CH7 Live CH7 Live CH7 Live

music is life

ชุมทางเพลงเพื่อชีวิต

Friends' blogs
[Add Darksingha's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.