Group Blog
 
<<
ตุลาคม 2550
 123456
78910111213
14151617181920
21222324252627
28293031 
 
2 ตุลาคม 2550
 
All Blogs
 
ชาญวิทย์ เกษตรศิริ’ - พระพม่า “คว่ำบาตร” คณาธิปไตยเผด็จการทหาร



ชาญวิทย์ เกษตรศิริ








ปรากฏการณ์ทางการเมืองในเดือนกันยายน 2550 ที่พระสงฆ์จำนวนเป็นหมื่นเป็นแสนในพม่า ลุกขึ้นมาประท้วงด้วยสันติวิธี พร้อมกับทำการ “คว่ำบาตร” ระบอบเผด็จการทหารของนายพลตันฉ่วย จนนำไปสู่การปราบปรามอย่างรุนแรงด้วยกำลังทหารและอาวุธสงครามนั้น ในด้านหนึ่งก็ดูเหมือนกับเรื่อง “ปกติธรรมดา” สำหรับการเมืองพม่าที่จะต้องปราบปรามขบวนการประชาธิปไตยของประชาชน แต่ในทางกลับกันก็นับได้ว่าเป็นสถานการณ์ใหม่ที่ทำให้เกิดความหวังขึ้นกับขบวนการประชาธิปไตยพม่าที่ชงักงันมาถึงเกือบ 20 ปี






ในแง่ของ “ความปกติธรรมดา” หรือ “ประวัติศาสตร์ซ้ำรอย” นั้น ก็คือ พระสงฆ์ในพม่าได้มีบทบาทเช่นนี้ในการเมืองมาตั้งแต่สมัยอยู่ภายใต้ “ลัทธิอาณานิคม” ของอังกฤษ กล่าวคือ เมื่ออังกฤษเข้ายึดครองพม่าได้ทั้งหมดในปี พ.ศ.2428 (ค.ศ.1885) ตรงกับต้นสมัยรัชกาลที่ 5 ของสยามประเทศ) นั้น อังกฤษได้ล้มเลิกสถาบันกษัตริย์พม่า จับพระเจ้าธีบอ (หรือสีป่อ) กับพระนางศุภยลัต ตลอดจนพระราชวงศ์ทั้งหมด เนรเทศไปอยู่อินเดียตะวันตก (ด้านเมืองมุมไบ) สถาบันกษัตริย์ของพม่าทรงพลังเกินกว่าที่อังกฤษจะเก็บรักษาไว้เป็นสัญลักษณ์หรือหุ่นเชิด อย่างในกรณีที่เจ้าอาณานิคมฝรั่งเศสรักษาสถาบันกษัตริย์ลาว / กัมพูชา / เวียดนาม เอาไว้ในกลุ่มประเทศอินโดจีน






ดังนั้น ภาระของการเป็น “ผู้นำ” ของสังคมพม่าในช่วงนั้น ก็ตกอยู่กับสถาบันศาสนาและพระสงฆ์ไปโดยปริยายนั่นเอง น่าสนใจที่ว่าเมื่ออังกฤษเข้ามามีอำนาจปกครองแทนกษัตริย์พม่านั้น อังกฤษมิได้ให้ความสนใจต่อสถาบันศาสนา เพราะถือว่ารัฐกับศาสนจักรต้องแยกจากกัน อังกฤษถือว่าตนได้ให้เสรีภาพไปแล้ว ใครจะถือศาสนาอะำไร จะจัดการกับองค์การศาสนาอย่างไร ก็เป็นเรื่องเสรีภาพและสิทธิของบุคคล รัฐไม่พึงเข้าไปยุ่งเกี่ยว แม้แต่การตั้งตำแหน่ง “สังฆราช” หรือ Thathanabaing ที่กษัตริย์พม่าเคยทรงกระทำ เจ้านายอังกฤษก็ไม่ได้เข้าไปเกี่ยวข้องด้วย องค์การศาสนาจึงเสมือนถูกละเลย (ลักษณะของวังกับวัดขาดหายไป) เกิดความปั่นป่วนขึ้นในวงการ เกิดความไม่พอใจในหมู่พระสงฆ์ไม่น้อย






ในขณะเดียวกัน กระแสของความไม่พอใจต่อการที่มี “เจ้าต่างด้าวท้าวต่าวแดน” ก็สร้างความรู้สึกแบบที่เราจะมารู้จักกันในนามของ “ลัทธิชาตินิยม” ในเมื่อกษัตริย์ถูกจำกัดออกไป และผู้นำที่เป็นฆราวาสถูกปราบปรามอย่างหนัก พระสงฆ์ก็กลายเป็นผู้นำอาจจะเพียงกลุ่มเดียวที่ยังเหลืออยู่ ดังนั้น การประท้วงแสดงความไม่พอใจ ก็จะเป็นเรื่องที่เริ่มด้วยประเด็นทางวัฒนธรรมประเพณี ความตกต่ำของศาสนา วิธีการของพระสงฆ์ในยุคสมัยนั้นมีหลายแบบ ตั้งแต่การวิพากษ์วิจารณ์ระบบสังคม การเรียกร้องให้อังกฤษทำนุบำรุงศาสนา การอดอาหาร (อย่างแบบของมหาตมะคานธี) ดังในกรณีของพระรูปหนึ่งนาม “อูวิสระ” ก็อดอาหารประท้วงถึง 166 วัน จนถึงแก่มรณภาพ ท่านได้รับความเคารพนับถือมาก ถึงกับมีอนุสาวรีย์อยู่กลางเมืองย่างกุ้งในสมัยหลังจากได้รับเอกราช






บทบาทเช่นนี้ของพระสงฆ์ จะถูกสืบทอดไปยังคนรุ่นใหม่ที่เป็นหนุ่มสาว และได้รับการศึกษาจากโรงเรียนและวิทยาลัยแบบใหม่ ที่ตั้งขึ้นภายใต้ลัทธิอาณานิคมอังกฤษ ฉะนั้น ทั้งพระและฆราวาส ก็จะประสานกันในการต่อสู้เพื่อ “เอกราชและประชาธิปไตย” จากอาณานิคมอังกฤษในปี 2449/1906 ถึงกับมีการตั้งองค์ขึ้นมาในนามของ Young Men Buddhist Association หรือ YMBA โปรดสังเกตว่านี่เป็นการเลียนแบบ YMCA ของชาวคริสต์ฝรั่ง YMBA หรือ “สมาคมชาวพุทธหนุ่ม” จะกลายเป็นศูนย์กลางของขบวนการชาตินิยม เน้นกิจกรรมด้านศาสนาและวัฒนธรรม สร้างแรงกดดันให้อังกฤษต้องตั้งงบประมาณช่วยเหลือต่อกิจกรรมและการศึกษาพุทธศาสนา และ “สมาคมชาวพุทธหนุ่ม” ก็ประสบความสำเร็จอย่างยิ่งในกรณีของการประท้วงใหญ่ที่เรียกว่า “กบฏเกือก” หรือ No Footwear Protest เมื่อปี 2461/1918 ที่ต่อต้านการที่ฝรั่งหรือชาวต่าวชาติอื่นๆ สวมเกือกหรือรองเท้าเข้าไปในบริเวณวัด







บทบาทดังกล่าวของ “สมาคมชาวพุทธหนุ่ม” ร่วมกับบรรดาพระสงฆ์นี้จะถูกส่งทอดต่อไปยังคนรุ่นต่อมาอีก เช่น General Council Burmese Association หรือ GCBA ในปี 2463/1920 พร้อมๆ กันนี้ พระพม่าอย่าง “อูอุตมะ” ก็กลายเป็นผู้นำพระสงฆ์รุ่นใหม่ ที่พยายามตีความพุทธศาสนาในรูปแบบใหม่ๆ เช่นว่า พุทธศาสนานั้น สอดคล้องกับการต่อสู้เพื่อเอกราช การที่มนุษย์จะตัดกิเลสได้ จะต้องผ่านขั้นตอนของการมีอิสระเสรีภาพเสียก่อน ชาวพุทธจะต้องช่วยกันในการต่อสู้นี้ “อูอุตมะ” ยังตีความพระศาสนาต่อไปอีกว่า “ลัทธิสังคมนิยม” นั้นมีเนื้อหาสอดคล้องกับ “โลกนิพพาน” ของชาวพุทธ และท่านก็ได้รณรงค์ต่อต้านเจ้าอาณานิคมอังกฤษด้วยการ “คว่ำบาตร” และนี่ก็เป็นที่มาของการที่เราได้เห็นการ “คว่ำบาตร” ในการประท้วงครั้งล่าสุดในเดือนกันยายน 2550






กล่าวได้ว่า ทั้งพระสงฆ์และองค์กรที่เชื่อมโยงกันอย่าง YMBA และ GCBA นั้นประสบความสำเร็จไม่น้อย และก็ส่งทอดมรดกของการต่อสู้เพื่อเอกราชและประชาธิปไตยไปยังรุ่นของคนที่จะนำมาซึ่งเอกราชของชาติ นั่นคือ กลุ่มนักชาตินิยมอย่าง Dobhama Asiayone หรือ “สมาคมชาวเราพม่า” ที่ตั้งขึ้นเมื่อปี 2463 / 1920 อันมีบรรดานักศึกษามหาวิทยาลัยย่างกุ้งเป็นผู้นำ เช่น อองซาน และอูนุ พวกนักศึกษาเหล่านี้ล่ะที่จะใช้คำนำหน้าของตนว่า “ทะขิ่น” (Thakin) ซึ่งแปลว่า “เจ้านาย” ทั้งนี้เพื่อแสดงความเท่าเทียมกันกับคนอังกฤษ ที่ถือว่าตนเองเป็น “ทะขิ่น” มานาน และเราก็ทราบดีว่าคนรุ่นนี้อีกประมาณกว่า 20 ปีต่อมา ก็จะเป็นผู้นำมาซึ่งเอกราชของพม่าในปี 2491/1948 หรือภายหลังสงครามโลกครั้งที่สอง






กล่าวโดยย่อ การประท้วงอย่างสันติวิธี และการ “คว่ำบาตร” ของพระพม่ามีที่มาและที่ไปตามข้อมูลทางประวัติศาสตร์ที่กล่าวมานั้น พระสงฆ์พม่าในสมัยอาณานิคมอังกฤษ ต้องต่อสู้เพื่อเอกราชและประชาธิปไตย พระสงฆ์ต้องเป็นผู้จุดประกายและส่งต่อการต่อสู้ไปยังนักชาตินิยมที่เป็นฆราวาส ดังนั้น ในสถานการณ์ปัจจุบัน หากเราถือได้ว่าประเทศพม่าต้องตกอยู่ภายใต้ “ลัทธิอาณานิคมภายใน” คืออยู่ในมือของ “เผด็จการทหารพม่า” ที่ครองอำนาจมาตั้งแต่ปี ค.ศ.1962 หรือ พ.ศ.2505 แล้ว เราก็ควรจะทำความเข้าใจวิวัฒนาการและสถานการณ์ใหม่ในขณะนี้ด้วยเช่นกัน กล่าวคือ พม่าก็คงเหมือนกับหลายๆ ประเทศในอุษาคเนย์ คือ ประชาชนมีความต้องการที่จะชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น มีการปกครองและการเมืองที่เป็นประชาธิปไตย มีสิทธิและเสรีภาพเยี่ยงนานาอารยประเทศ






แต่ก็อย่างที่เราได้เห็นกันในภูมิภาคอุษาคเนย์นี้ว่า “ประชาธิปไตย” หรือหลักการว่าด้วยสิทธิเสรีภาพ หาได้หยั่งรากลึกลงไปได้ไม่ และอุปสรรคที่สำคัญก็คือสิ่งที่เรียกว่า “คณาธิปไตย” หรือ Oligarchy (not Democracy) นั่นเอง ในหลายประเทศของอุษาคเนย์ (รวมทั้งหม่าและไม่เว้นแม้แต่สยามประเทศไทย) เราจะเห็นได้ว่าการเมืองการปกครอง จะตกอยู่ในมือของคนกลุ่มน้อยบางกลุ่มบางคณะเท่านั้น ในบางประเทศก็เป็น “เสนาอำมาตยาธิปไตย” อย่างเปิดเผย ดังเช่นในกรณีของอินโดนีเซียและกัมพูชา หรืออย่างอ้อมๆ เช่น ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ มาเลเซีย






ดังนั้น แม้ว่าลัทธิอาณานิคมต่างชาติจะหมดสิ้นไปแล้วก็ตาม แต่ประเทศในอุษาคเนย์หรืออาเซียน กลับต้องเผชิญกับ “ลัทธิอาณานิคมภายใน” (Domestic colonialism) ของคนในชาติของตนเอง และนี่ก็ทำให้เราเข้าใจได้ว่า ทำไมการเมืองภายในของหลายๆ ประเทศในอุษาคเนย์ ถึงมีความปั่นป่วนไร้เสถียรภาพ มีการลุกฮือของพลังประชาชนอยู่เป็นระยะๆ ดังเช่นในกรณีของ People’s Power ในฟิลิปปินส์ ดังเช่นกรณีของ “14 ตุลา” หรือ “6 ตุลา” หรือ “พฤษภาเลือด” ของไทย หรือการล้มระบอบทหารซูฮาร์โตในอินโดนีเซีย สลับกับการมีปฏิวัติรัฐประหาร และยึดอำนาจการเมืองการปกครองด้วยกำลังอาวุธสงคราม







พม่าได้ถูกปกครองโดย “ลัทธิอาณานิคมภายใน” หรือ “ระบอบเนวิน” (ด้วยการอ้าง “ความสงบเรียบร้อย” และ “ความสามัคคี” กับ “เอกภาพของชาติ”) มาตั้งแต่ปี พ.ศ.2505 (1962) จนกระทั่งถึง “การลุกฮือ 8888” ของนักศึกษาและประชาชน (“เหตุการณ์วันที่ 8 เดือน 8 ค.ศ. 1988” หรือปี พ.ศ. 2531) รวมแล้วเป็นระยะเวลา 19 ปี การลุกฮือครั้งนั้นทำให้ “ระบอบเนวิน” พังทลาย และทำท่าว่าฝ่ายประชาธิปไตยจะมีชัยชนะ แต่แล้วหลังการเลือกตั้งปี พ.ศ.2533 (1990) ที่พรรค NLD ของวีรสตรีอองซาน ซูจี ได้รับชัยชนะอย่างท่วมท้น แต่ “เสนาอำมตยาธิปไตย” หรือ “เผด็จการทหารพม่า” ที่นำโดยนายพลตันฉ่วย ก็ไม่ยอมถ่ายโอนอำนาจการปกครองให้ ซ้ำยังทำการกักกันซูจี รวมทั้งจับกุมคุมขังนักการเมืองและนักศึกษาต่อมาอีกถึงเกือบ 20 ปีเข้าแล้ว






และนี่ก็คงทำให้เราเข้าใจได้ว่า เมื่อขาดผู้นำตามปกติของสังคมในปัจจุบัน คือ นักการเมืองและนักศึกษา พระสงฆ์พม่าก็ต้องกลายเป็นผู้นำอีกครั้งหนึ่ง และก็เป็นที่น่าเชื่อว่า การจุดประกายครั้งใหม่ครั้งนี้ มีความสำคัญยิ่ง นักต่อสู้รุ่นปัจจุบันไม่ว่าจะเป็นนักการเมือง ไม่ว่าจะเป็นนักศึกษาหรืออดีตนักศึกษา ไม่ว่าจะอยู่ในหรือนอกประเทศ อาจจะไม่ประสบชัยชนะในทันทีทันควัน แต่ดูเหมือนว่ากาลเวลาและสถานการณ์ของโลก รวมทั้งเทคโนโลยีสมัยใหม่ (มือถือ อินเตอร์เน็ต อีเมล คลิป) ดูจะวิ่งสวนทางกับกลุ่ม “คณาธิปไตย” “ลัทธิอาณานิคมภายใน” ตลอดจน “เสนาอำมาตยาธิปไตย” ทั้งหลายทั้งปวง






และนี่คือแสงสว่างแม้จะเพียงเล็กน้อย แต่ก็เกิดจาก “ภารกิจทางประวัติศาสตร์” ของพระสงฆ์ที่ดำเนินมาตั้ง 100 ปีได้แล้ว ในระยะยาวของกาลเวลาแห่งอนาคต ก็น่าเชื่อได้ว่า “คณาธิปไตย” รวมทั้งนัก “อประชาธิปไตย” ทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นนายพลตันฉ่วย หรือนายพลอะไรก็ตาม ก็น่าจะจบชีวิตและถูกบันทึกไว้ในฐานะของฝ่ายอธรรม ดังเช่นนายพลเนวินได้รับ



ที่น่าเสียดายก็คือ ในขณะที่ชาวโลกส่วนใหญ่ของนานาอารยประเทศ ลถกขึ้นมาตะโกนก้องประณามการกระทำของ “เสนาอำมาตยาธิปไตย” ของพม่า ทั้งไทย (ที่มีพรมแดนร่วมกับพม่าถึง 2 พันกิโลเมตร มีแรงงงานพม่าเข้ามาอยู่กว่า 1 ล้านคน) กับองค์การอาเซียน กลับยึดติดอยู่กับนโยบาย “ความสัมพันธ์ที่ไม่สร้างสรรค์” (unconstructive engagement) ที่พิสูจน์ว่า “ล้มเหลวอย่างสิ้นเชิง” มาเป็นเวลาตั้ง 10 ปี เป็นไปได้หรือไม่ว่า “คณาธิปไตย” ย่อมจะต้องเห็นอกเห็นใจและ “สมานฉันท์” กับ “คณาธิปไตย” ด้วยกัน



“คณาธิปไตย” นั้นไม่ว่าจะมาจากการเลือกตั้ง หรือจากการแต่งตั้ง ไม่ว่าจะสวมเครื่องแบบ “เสนาอำมาตย์” สวมชุดสากลหรือชุดประจำชาติสีใดก็ตาม ก็คงจะเหมือนๆ กันนั่นแหละ


ที่มา : ประชาไท วันที่ : 2/10/2550




Create Date : 02 ตุลาคม 2550
Last Update : 2 ตุลาคม 2550 11:37:43 น. 1 comments
Counter : 1627 Pageviews.

 
เก็บตกสัมมนา : ปัญหาประชาธิปไตยพม่า – ไทย – อาเซียน





เมื่อวันจันทร์ที่ 1 ต.ค. 50 มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์ และมนุษยศาสตร์ จัดงานเสวนาเรื่อง ‘ปัญหาประชาธิปไตยของพม่า ไทย และอาเซียน’ ณ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สืบเนื่องจากกรณีการเดินขบวนประท้วงครั้งใหญ่ในพม่าเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา

ชาญวิทย์ เกษตรศิริ กล่าวถึง บทบาทของสถาบันศาสนากับการเมืองพม่าไว้ผ่านบทความเรื่อง ‘พระพม่าคว่ำบาตรเผด็จการคณาธิปไตยทหาร’ โดยกล่าวว่า ปรากฏการณ์ทางการเมืองในเดือนสิงหาคมและกันยายนที่ผ่านมาส่งผลให้พระพม่าลุกขึ้นมาคว่ำบาตร ใช้สันติวิธี จนนำไปสู่การปราบปรามอย่างรุนแรง

ชาญวิทย์ชี้ให้เห็นถึงภาพประวัติศาสตร์พม่าว่า แต่เดิมพม่าก็มีระบบกษัตริย์แต่เมื่อพม่าตกเป็นอาณานิคมของอังกฤษแล้ว อังกฤษได้ทำให้ลายสถาบันกษัตริย์ลงเนื่องจากมีพลังมากและไม่สามาถรักษาไว้ให้เป็นสัญลักษณ์ได้เหมือนอาณานิคมอื่นๆ บทบาทนำจึงตกอยู่ที่สถาบันศาสนาไปโดยปริยาย

อย่างไรก็ตาม อังกฤษได้แยกศาสนจักรออกจากอาณาจักร หรือทำให้รัฐบาลไม่เกี่ยวข้องกับศาสนา และสถาบันสงฆ์ถูกละเลย ทำให้เกิดความไม่พอใจในหมู่สงฆ์ เช่นเดียวกับความไม่พอใจใน ‘เจ้าต่างด้าว ท้าวต่างแดน’ จนในที่สุด ความรู้สึกเหล่านี้ได้พัฒนาไปเป็น ‘ลัทธิชาตินิยมพม่า’ ดังนั้น การต่อต้านก็เกิดขึ้นอย่างช้าๆ ในหมู่คณะสงฆ์ และเราจะเห็นว่า พระสงฆ์ได้มีบทบาทต่อต้านเจ้าอาณานิคมอังกฤษโดยเฉพาะในด้านที่เกี่ยวเนื่องกับวัฒนธรรม มีการตั้งองค์กรชาวพุทธ YMBA (Young Men Buddhist Association) เลียนแบบ YMCA ของชาวคริสต์ ซึ่งเราเคยได้ยินความสำเร็จของ YMBA ในกรณีการประท้วงใหญ่ที่เรียกว่า ‘กบฏเกือก’ ต่อต้านต่างชาติที่สวมรองเท้าไปในบริเวณวัด

ชาญวิทย์กล่าวว่า จะเห็นได้ว่าในอดีตพระสงฆ์ในพม่าได้ทำเรื่องแบบนี้มาแล้ว ประท้วง คว่ำบาตร เมื่อเราดูเหตุการณ์ที่พระเรือนแสนออกมาเดินขบวนก็ย้ำว่า นี่คือภารกิจทางประวัติศาสตร์ของสงฆ์

ส่วนสาเหตุที่พระสงฆ์ต้องขึ้นมาเป็นผู้นำในภารกิจนี้อีกครั้งเป็นเพราะประเทศพม่าก็เหมือนประเทศทั้งหลายในอุษาคเนย์ที่หลังสงครามโลกเป็นต้นมา ขบวนการประชาธิปไตยไม่ได้หยั่งรากลึกลงไปในสังคม โดยมีอุปสรรคที่สำคัญที่สุดคือ ระบอบคณาธิปไตย ซึ่งเกิดขึ้นทั่วไปในอุษาคเนย์ ไม่เว้นสยามประเทศไทย ภายใต้ระบอบคณาธิปไตยนั้น การเมืองการปกครองตกอยู่ในบางกลุ่มการเมือง ในบางคณะ บางประเทศก็เป็นเสนาอำมาตยาธิปไตยอย่างเปิดเผย เช่นกรณีอินโดนีเซีย กัมพูชา หรือเป็นอย่างอ้อมๆ เช่นที่ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ มาเลเซีย

ชาญวิทย์กล่าวว่า ปัจจุบันแม้ลัทธิอาณานิคมต่างชาติจะหมดไป แต่ในอุษาคเนย์กลับเผชิญกับ ‘ลัทธิอาณานิคมภายใน’ หรือ domestic colonialism นั่นคือสิ่งที่ทำให้เข้าใจได้ว่า ทำไมการเมืองภายในประเทศของหลายประเทศ จึงปั่นป่วนไร้เสถียรภาพ

สุภัตรา ภูมิประพาส ผู้สื่อข่าวหนังสือพิมพ์ เดอะ เนชั่น นำเสนอข้อมูลเบื้องต้นว่า แม้พม่าจะเป็นประเทศที่ยากจนมากที่สุดประเทศหนึ่งในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แต่กลับมีกำลังพลเกือบ 500,000 นาย ถือว่าเป็นกองทัพที่ใหญ่เป็นอันดับ 10 ของโลก และมีงบด้านการทหารเป็นอันดับ 15 ในจำนวน 159 ประเทศ ซึ่งตลอดเวลาที่ผ่านมารัฐบาลทหารพม่าได้ใช้งบในการปราบปรามเพื่อนร่วมชาติเป็นส่วนใหญ่



ส่วนสถานการณ์การประท้วงในปัจจุบันได้ทำให้มีการบอยคอตของประเทศต่างๆ ซึ่งอันที่จริงทำมาตลอดนับตั้งแต่เกิดการปรามปรามประชาชนเมื่อปี 1988 ซึ่งมีรายงานว่ามีผู้เสียชีวิตอย่างต่ำ 3,000 คน ทั้งในส่วนของรัฐบาลสหรัฐฯ อียู หรือกระทั่งยูเอ็นก็มีการทำสรุปสถานการณ์เกี่ยวกับพม่าเป็นครั้งแรกเมื่อปี 2005 ซึ่งถือว่าช้ามาก หลังจากนั้นมีมติให้ส่งทูตพิเศษของสหประชาชาติไปพม่า และได้รับอนุญาตให้พบนางอองซาน ซู จี 2 ครั้งเมื่อปีที่แล้ว แต่กลุ่มทหารพม่าก็ยังทำการปราบปรามรุนแรงกับกลุ่มกะเหรี่ยง ทำให้มีผู้อพยพทะลักเข้ามาประเทศไทยจำนวนมาก โดยสถิติเมื่อปีที่แล้วมีผู้อพยพจากพม่า 700,000 คน ในจำนวนนั้น 500,000 คนเข้ามาอยู่ในประเทศไทย



สุพัฒนากล่าวต่อถึงประเด็น Voice of voiceless ว่า หากสังเกตุให้ดีจะเห็นว่าคนพม่าพยายามส่งเสียงมาตลอด 19 ปีที่ถูกกดทับโดยรัฐบาลเผด็จการทหาร โดยยกเหตุการณ์วันที่ 6 ต.ค. 2532 ที่นักศึกษาพม่าสองคนทำระเบิดปลอมขู่นักบินให้มาลงที่สนามบินอู่ตะเภา จากการที่เธอได้มีโอกาสพูดคุยกับนักศึกษาหนึ่งในนั้นหลังจากพ้นโทษ 5 ปี เขาบอกว่าที่ทำไปเพียงต้องการให้สังคมโลกหันมาสนใจปัญหาประชาธิปไตยในพม่า



วันที่ 10 มิ.ย. 2532 นักศึกษาพม่าจี้เครื่องบินสายการบินไทยไปลงอินเดีย เมื่อถึงที่หมายแล้วก็ยอมมอบตัว เพราะต้องการให้เป็นข่าว และสร้างความสนใจในประเด็นพม่า วันที่ 1-2 ต.ค.42 มีการบุกยึดสถานทูตพม่าที่ถนนสาทร โดยนักศึกษากลุ่มหนึ่งซึ่งต้องการสร้างความสนใจของโลกต่อพม่าเช่นกัน ท้ายที่สุดมีการนำตัวนักศึกษาขึ้นเครื่องบินไปส่งไว้ที่ชายแดน ซึ่งเป็นการแก้ปัญหาที่ค่อนข้างดี



วันที่ 24-25 ม.ค. 2543 มีบุกยึด รพ.ราชบุรี โดยมีนักศึกษาพม่าร่วมก่อการด้วย รัฐบาลชวน หลีกภัย ได้สั่งปราบ มีการตีพิมพ์ภาพกลุ่มก่อการ 10 คนที่ถูกยิงตายโดยยังใส่กุญแจมือ จนทำให้ไทยตกเป็นจำเลย และจนบัดนี้ก็ยังไม่มีการอธิบายใดๆ ทั้งสิ้น จากการได้พูดคุยกับคนที่ถูกจับเป็นตัวประกันในรพ. หลายคนระบุตรงกันว่านักศึกษาพม่าไม่ได้ทำร้ายอะไร เพียงบุกยึดเพื่อขอความร่วมมือโดยบอกว่าชายแดนกำลังขาดยาอย่างหนัก และกลุ่มของพวกเขาถูกโจมตี และตอนที่รัฐไทยสั่งยิงเข้าไป พวกนี้เป็นคนบอกให้ตัวประกันหมอบลงและเข้าไปคุ้มกันตัวประกัน



“เยธีฮา นักศึกษาคนที่เคยทำระเบิดปลอมเรียกร้องความสนใจจากโลก เมื่อปี 2532 ก็เป็น 1 ในนักศึกษาที่ถูกยิงตาย เราจำเป็นต้องสนใจเขา เพราะชายแดนเราติดกัน แล้วไม่สามารถหนีสถานการณ์แบบนี้ไปได้เลย”สุพัตรากล่าว



สุพัตรา กล่าวต่อถึงประเด็นข้อเรียกร้องต่อรัฐบาลทหารพม่าว่า ไม่มีฝ่ายใดเรียกร้องให้ทหารลงจากอำนาจ เพราะรู้ว่าเป็นไปไม่ได้ แต่เพียงเรียกร้องให้ปล่อยตัวนักโทษการเมืองรวมถึงนางอองซาน ซู จี, ลดราคาเชื่อเพลิงและสินค้าอุปโภคบริโภค และเปิดการเจรจาเพื่อสร้างความสมานฉันท์ ซึ่งหากเกิดพัฒนาการในพม่าในด้านกระบวนการปรองดองแห่งชาติ สิ่งที่น่าเป็นห่วงคือ การขาดช่วงของปัญญาชนพม่า เนื่องจากส่วนใหญ่อพยพไปอยู่ต่างประเทศ และขบวนการนักศึกษาถูกปราบอย่างหนักมาตลอด มหาวิทยาลัยย่างกุ้งก็ถูกปิดบ่อยครั้ง ดังนั้น จึงมีฝ่ายที่เสนอว่ามหาเถรสมาคมของพม่าควรที่จะร่วมในกระบวนการทางการเมืองของพม่าด้วยหลังจากนี้

องค์ บรรจุน ประธานชมรมเยาวชนมอญกรุงเทพฯ กล่าวว่า สิ่งที่กระทบกระเทือนจิตใจคนมอญคือ เมื่อสองสามวันนี้มีสื่อมวลชนบางสายเข้าใจผิด สร้างความเข้าใจที่ไม่ค่อยดีเกี่ยวกับชาวพม่าในไทย สร้างประวัติศาสตร์ซ้ำๆ เดิมๆ ว่า พม่าเป็นชนชาติที่โหดร้าย ทั้งที่คนที่เข้ามาต่างหากที่ถูกกระทำ โดยคนที่เข้ามาในขณะนี้ไม่ได้มีเฉพาะพม่า แต่มีทั้ง มอญ กะเหรี่ยง ไทใหญ่ คะฉิ่น ฯลฯ เพราะพม่าร่ำรวยทางชาติพันธุ์มี 200 กว่าชาติพันธุ์ เมื่อคนเหล่านี้เข้ามา คนไทยมองเขาว่าเป็นพม่าหลบหนีเข้าเมือง จะทำอะไรกับเขาก็ได้

“หลายกรณีที่นายจ้างทำกับเขาไม่ต่างกับที่เขาถูกกระทำในบ้านของตัวเอง เขาถูกทหารพม่ากระทำอย่างไร มาถึงเมืองไทยเราก็กระทำกับเขาอย่างนั้น”องค์ บรรจุน กล่าวและว่า เพื่อนคนต่างด้าวเข้าเมืองผิดกฎหมายจำนวนมากต้องทำงาน 3 วันเลี้ยงปากท้องตัวเอง ที่เหลือทำงานเลี้ยงปากท้องตำรวจ กรณีผู้หญิงที่หน้าตาดีก็ถูกกระทำย่ำยีได้โดยง่าย

องค์ บรรจุน กล่าวต่อถึงการมีอัตลักษณ์ของตนเองว่า เคยมีอาจารย์ทางรัฐศาสตร์ จุฬาฯ ทำวิจัยเรื่องงานวันชาติมอญ การสร้างประวัติศาสตร์ของคนมอญพลัดถิ่นในประเทศไทย แต่กลับมีคนมองว่า คนมอญกำลังสร้างรัฐนอกอาณาเขตรัฐของตนเอง เป็นความต้องการสร้างพลังของคนมอญนอกพื้นที่ ต้องการสร้างความมีตัวตนอย่างรุนแรง ทำไมรัฐไทยจึงปล่อยให้คนมอญทำเช่นนี้

เขากล่าวต่อว่า เมื่อวานไปงานประชุมที่จะจัดงานรำลึกวันชาติมอญที่สมุทรสาคร แต่คนสมุทรสาครกลับได้รับข้อมูลว่า พวกเขาเป็นภัยต่อความมั่นคง เป็นแรงงานต่างด้าว ถ้าไม่อยากให้มีแรงงานต่างด้าวอยู่ก็ต้องผลักดันออกไปให้หมด แต่ถ้าคิดว่าต้องมีแรงงานต่างด้าวไว้เพื่อทำงานน่ารังเกียจที่คนไทยไม่ทำ เช่นนั้นก็ควรมีมาตรการดูแลที่เหมาะสม สร้างความเข้าใจกัน

สุรพงษ์ ชัยนาม อดีตเอกอัครราชทูตหลายประเทศกล่าวว่า ประเด็นเร่งด่วนที่สุดสำหรับพม่าคือ ทำอย่างไรไม่ให้มีการใช้ความรุนแรง มีการเสียชีวิตเพิ่มเติมจากที่มีไปแล้ว ซึ่งจะเกิดขึ้นได้ต่อเมื่อฝ่ายรัฐบาลทหารพม่ายอมเห็นถึงคุณประโยชน์ที่เขาจะพูดคุยกับฝ่ายประชาชนที่ออกมาเรียกร้องประชาธิปไตย หรือเรียกร้องให้มีการปรึกษาหารือกัน และการจะเกิดขึ้นได้หรือไม่ก็ไม่ได้อยู่ที่ความพร้อมของรัฐบาลพม่า เท่ากับความพร้อมของประชาคมระหว่างประเทศ ไทย อาเซียน สหประชาชาติ ต้องร่วมมือกันโน้มน้าว กดดันให้พม่าเห็นความจำเป็นในการหาทางประนีประนอมกันให้ได้เพื่อพม่าเข้าสู่กระบวนการประชาธิปไตยอีกครั้ง ให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการปกครองประเทศ



สุรพงษ์ กล่าวถึงความสัมพันธ์ไทย-พม่าว่า ไทยไม่อาจหลีกเลี่ยงที่จะมีบทบาท หรือไม่อาจมองข้ามปัญหาที่เกิดในพม่า เพราะเมื่อใดมีการปราบจะมีคนทะลักเข้ามาในไทยจำนวนมาก นอกจากนี้รัฐบาลของไทยควรเลิกล้มการมองปัญหาพม่าจากมิติเศรษฐกิจอย่างเดียว เพราะ 20 ปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะรัฐบาลไทยรักไทย มีนโยบายต่อพม่ามิติเดียวร้อยเปอร์เซ็นต์เรื่องการค้าการลงทุน ทั้งที่ยังมีประเด็นเรื่องภูมิรัฐศาสตร์ด้วย



“ถ้ารัฐบาลแถลงนโยบายต่อสภาว่าจริยธรรม ประชาธิปไตย สิทธิมนุษยชน เป็นเรื่องสำคัญ นโยบายต่างประเทศก็ต้องสะท้อนสิ่งเหล่านี้ด้วย”



นอกจากนี้ในส่วนของอาเซียนสุรพงษ์กล่าวว่า ผลกระทบภาพลักษณ์ของอาเซียนตกต่ำมากเนื่องจากปัญหาพม่า และขณะนี้อาเซียนตระหนักแล้วว่าต้องมีกฎบัตรที่ระบุว่า ประเทศสมาชิกใดที่ไม่เคารพพันธกรณี กฎกติกาของการเป็นสมาชิก จะมีบทลงโทษอย่างไร และคาดว่าถ้าเป็นที่ตกลงกันได้จะเป็นข้อตกลงที่จะเกิดขึ้นในการประชุมในเดือนพ.ย.นี้ที่สิงคโปร์ เหตุการณ์พม่ายังตอกย้ำให้อาเซียนเห็นด้วยว่า การจัดตั้งกรรมาธิการสิทธิมนุษยชนของอาเซียนต้องมีขึ้น และต้องมีระบบการออกเสียง ซึ่งตลอด 40 ปีที่ผ่านมา อาเซียนใช้ระบบฉันทามติ



อ่านเพิ่มเติม

บทความ ‘ชาญวิทย์ เกษตรศิริ’ - พระพม่า “คว่ำบาตร” คณาธิปไตยเผด็จการทหาร, ประชาไท, 2 ต.ค. 50



ที่มา : ประชาไท วันที่ : 2/10/2550



โดย: Darksingha วันที่: 2 ตุลาคม 2550 เวลา:11:45:05 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

Darksingha
Location :
สมุทรสงคราม Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 7 คน [?]





Click for use Graphics comment


Darksingha ที่แสดงถึงอำนาจและความมืดมัว ผมให้แทนคำว่า Age of Doubt หรือยุคแห่งความสงสัยก็แล้วกัน ดังนั้นBlogนี้จึงเป็นแดนสนธยาที่เต็มไปด้วยหมอกควันแห่งคำถาม และการละเล่น เพื่อแสวงหา ?


TV3 Live CH5 Live CH7 Live Modernine TV Live NBT LIVE - CH11 TPBS - Public Channel ASTV1 New11 - Online News 24 hours Nation Channel DMC.TV - Buddhistic Television ASTV5 - Suvarnbhumi ASTV7 - Buddhistic Television  True New 24 Channel  skynew  cnnibn Channel  cnn Channel  bbcnews_island Channel  cctv  Channel  bfmtv  Channel  ntv  Channel  fox8 Channel  foxnews5 Channel  cspan  Channel  france24 Channel  world_explorer Channel  discovery_channel Channel  nasa  Channel kimeng-channel dmc-channel ebr-channel research-channel utv-channel michigan-channel at-florida-channel islam-channel peace-usa-channel bbc-panorama-channel CH7 Live CH7 Live CH7 Live CH7 Live CH7 Live CH7 Live CH7 Live CH7 Live

music is life

ชุมทางเพลงเพื่อชีวิต

Friends' blogs
[Add Darksingha's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.