Group Blog
 
<<
มกราคม 2560
1234567
891011121314
15161718192021
22232425262728
293031 
 
22 มกราคม 2560
 
All Blogs
 
ล่องทะเลบัวแดงแวะ วัดดอนหลวง (ตำนานผาแดงนางไอ่)


ระหว่างล่องเรือทะเลบัวแดง

//www.bloggang.com/mainblog.php?id=imaginer&month=21-01-2017&group=4&gblog=226

ให้เรือพาจอดแวะทำบุญกราบพระที่วัดดอนหลวง ที่อยู่บนเกาะ





เพื่อความชัวร์ ก่อนซื้อตั๋วถามด้วยนะว่าพาขึ้นเกาะที่มีวัดด้วยไหม เพราะเรือบางลำก็ขับผ่านเฉยๆ ไม่จอดให้เข้าวัด
ถามจากคนขับเรือเขาจะแล้วแต่เราว่าจะให้พาจอดขึ้นไหม หรือให้จอดถ่ายรูปกับดอกบัวตรงไหน ถ้าไม่ถามไม่บอกเขาอาจพาแค่วนดูแค่นั้นนะเออ

ท่าเรือตำบลแชแล บ้านโนนน้ำย้อย นี้ระยะทางใกล้เกาะที่มีวัดดอนหลวงตั้งอยู่กว่าท่าเรือบ้านเดียม






ขึ้นเกาะหรือเข้าวัด ก็วัดอยู่บนเกาะนิ






มีฆ้องให้ไล่ตี











เจ้าแม่กวนอิมเป็นหยกขาวสวย






ประวัติวัดดอนหลวง มิใช่ธรรมดา







วัดเล็กๆ เนื้อที่แค่ 8 ไร่ก็จริง แต่มีอะไรให้เดินดูโน่นดูนี่เพลิน จากที่คนขับเรือบอกให้เวลาบนเกาะ 15 นาที เพลินลืมเวลาใช้เวลาเกินครึ่งชม.
คนขับเรือใจดียังรอไม่บ่นซักคำ อิอิ







ประวัติเรื่องผาแดงนางไอ่และพญานาค

นิทานพื้นบ้านภาคอีสาน เรื่องตำนานผาแดงนางไอ่

อดีตรักเมืองล่ม…ตำนานเมืองหนองหานที่เล่าขานกันมาช้านาน…ประชาชนคนอีสานตั้งแต่เหนือจรดใต้ ต่างรู้จักกันดีทั่วหน้า นั่นก็คือ นิทานรัก “ผาแดงนางไอ่” ตำนานรักอันสุดซึ้งของ “หนึ่งหญิง สองชาย” เมื่อฝ่ายหนึ่งพลาดรักและถูกทำร้าย จนถึงแก่ความตาย กลายเป็นศึกสงครามทำให้บ้านเมืองถล่มถลายกลายเป็นหนองน้ำใหญ่ คือ “หนองหานหลวง” ซึ่งเป็นทะเลน้ำจืดที่ใหญ่เป็นอันดับหนึ่งของภาคอีสาน และวรรณกรรมอีสานเรื่องนี้ ก็เป็นปฐมเหตุแห่งประเพณีอันยิ่งใหญ่ “บุญบั้งไฟ” ที่ขึ้นชื่อลือชาของชาวอีสานมาแต่บรรพกาล โดยตำนานรักเรื่องนี้เล่าไว้ว่า

นิทานพื้นบ้านภาคอีสาน ตำนานผาแดงนางไอ่

พญาขอมผู้ครองมหานคร “เอกธิดา” หรือ “เอกชะธีตา” เมืองธิดาเดียว (บริเวณหนองหานหลวงในปัจจุบัน) มีธิดาชื่อว่า “ไอ่คำ” หรือ “ไอ่ใจเมือง” ซึ่งเป็นหญิงที่มีรูปร่างหน้าตาสดสวย สะคราญ จะหาสาวนางใดในไตรภพมาเทียบได้ไม่ นางจึงเป็นที่ต้องตาต้องใจของชายหนุ่มทั้งในเมือง และต่างเมือง เป็นที่กล่าวขานไปทั่วทุกหัวระแหง เจ้าชายแดนไกลหลายหัวเมืองต่างหมายปอง อยากได้นางมาเป็นคู่ครองทั้งนั้น

หนึ่งในเจ้าชายเหล่านั้นคือ “ท้าวผาแดง” เจ้าชายแห่งเมืองผาโพง ทราบข่าวเล่าลือถึงสิริโฉมอันงดงามของไอ่คำ ก็เกิดความยินดี หลงใหล คลั่งไคล้ ใฝ่ฝัน หมายปองในตัวนางอย่างรุนแรง จนไม่สามารถจะอดรนทนไหวในนครของตนเองได้ ท้าวผาแดงได้เดินทางรอนแรมมาที่นครเอกชะธีตา พร้อมทหารคนสนิท

ตอนแรก ท้าวผาแดง ส่งสิ่งของเครื่องใช้ต่างๆ ไปฝากให้นางไอ่ เพื่อผูกสัมพันธ์ไมตรี โดยให้ทหารมหาดเล็กคนสนิทช่วยเป็นสื่อติดต่อ ผ่านนางสนมคนรับใช้ใกล้ชิดของน่างไอ่ และทุกครั้งที่นางไอ่รับสิ่งของเครื่องใช้ต่างๆ สนมคนสนิทก็จะพร่ำพรรณนาถึงความรูปหล่อ สง่างาม องอาจ ผึ่งผาย กำยำ ล่ำบึก ของท้าวผาแดง ให้นางไอ่ฟัง จนนางเกิดความสนใจ และหลงรักท้าวผาแดง ในที่สุด ทั้งๆที่ทั้งสองคนไม่เคยได้เห็นหน้ากันเลย ด้วยอำนาจของบุพเพสันนิวาสบวกกับกามเทพได้แผงศรรักปักอกทั้งคู่ จนไม่สามารถจะถอดถอนศรรักเล่มนี้ออกได้ ต่างฝ่าย ต่างละเมอ เพ้อฝัน ถึงกันและกัน

ในที่สุดด้วยแผนการของพ่อสื่อและแม่ชัก คือ ทหารมหาดเล็ก กับสนมคนสนิท ทำให้ทั้งคู่ได้พบกัน และได้ชื่นชมสมสวาทดังคาดหมาย สุดจะยับยั้งชั่งใจไว้ได้ แต่ทั้งคู่ก็ต้องพรากจากกันเพียงแค่ค่อนคืนเท่านั้น เพราะทั้งคู่ต่างลักลอบพบกัน ท้าวผาแดงจึงให้คำมั่นสัญญาว่า จะกลับมารับนางไอ่ไปเป็นชายาอย่างแน่นอน

…ย่างเข้าเดือน ๖ เจ้าผู้ครองนครเอกชะธีตา ออกประกาศไปยังเมืองอื่นๆ ให้มีการจุดบั้งไฟแข่งขัน ณ เมืองเอกชะธีตา โดยมีนางไอ่คำเป็นรางวัล หากบั้งไฟของเจ้าเมือง หรือเจ้าชายใดขึ้นสูงไม่มีใครสู้ได้ ก็จะได้นางไอ่ไปครอบครอง โดยกำหนดเอาวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๖ เป็นวันงานบุญบั้งไฟ ซึ่งเป็นงานบุญครั้งยิ่งใหญ่ เมื่อถึงวันงาน ผู้คนต่างก็หลั่งไหลมาจากทุกทั่วสารทิศ มีบั้งไฟจาก ๒ เจ้าเมือง คือ พญาฟ้าแดด กับ พญาเชียงเหียน และอีก ๑ เจ้าชาย คือ ท้าวผาแดง ได้นำบั้งไฟมาเข้าแข่งขันประลองในวันนั้น

กล่าวถึงท้าวภังคี ลูกชายพญานาคผู้ครองนครบาดาล ก็เป็นนาคหนุ่มอีกตัวหนึ่งที่ได้ยิน กิตติศัพท์คำร่ำลือความงดงามของนางไอ่ ภังคีมีความใฝ่ฝันอยากยลสิริโฉมของนางไอ่ มานานเมื่อทราบข่าวมีการแข่งขันจุดบั้งไฟ ก็ออกจากนาคพิภพ กับบริวาร จำนวนหนึ่ง เข้าสู่เมือง เอกชะธีตา ท้าวภังคี ได้แปลงร่างเป็นกระรอกเผือก อีสาน เรียกว่า “กะฮอกด่อน” มีขนสีขาว ปากเท้าแดง กระโดดโลดเต้นไปมา ติดตามขบวนแห่บั้งไฟ ในคราวครั้งนั้นเพื่อต้องการจะยลโฉมนางไอ่… ทุกคนต่างใจจดใจจ่อ ที่จะเห็นการจุดบั้งไฟ และ คอยลุ้นว่าบั้งไฟของใครจะชนะ และได้นางไอ่ไปครอง ซึ่งการจุดบั้งไฟในครั้งนั้น พญาขอมเจ้าเมืองได้มีเดิมพันกับท้าวผาแดงว่า ถ้าหากบั้งไฟของท้าวผาแดงชนะบั้งไฟของพญาขอมเจ้าเมืองได้ จึงจักได้นางไอ่เป็นคู่ครอง

ปรากฏว่าบั้งไฟของพญาขอม พระบิดาของนางไอ่มีอาการ “ซุ” ไม่ขึ้นจากห้าง (นั่งร้าน) ส่วนบั้งไฟของท้าวผาแดงแตกระเบิดคาห้าง มีแต่บั้งไฟของท้าวฟ้าแดด เจ้าเมืองฟ้าแดดสูงยาง กับบั้งไฟของพญาเซียงเหียนที่ตะบึงขึ้นสู่ท้องฟ้านานถึง ๓ วัน ๓ คืน จึงตกลงสู่พื้นดิน

ผลการตัดสินแพ้ชนะในครั้งนั้นไม่มี เพราะท้าว พญาทั้งสองมีศักเป็นอาและลุงของนางไอ่ จึงไม่มีการยกธิดาไอ่คำให้กับผู้ใด ทั้งท้าวผาแดง และนางไอ่ต่างก็ผิดหวังในการแข่งขันในวันนี้ แต่ก็ไม่สามารถบอกความจริงได้ ต้องจำใจฝืนกลับสู่เมืองของตน เพื่อหาโอกาส หนทางอื่นอีกต่อไป

ส่วนท้าวภังคี เมื่อได้ยลโฉมพระธิดาไอ่คำแล้ว และเมื่อไม่มีผู้ใดชิงนางไอ่ไปเป็นคู่ครองได้ ก็คิดหมายปองอยากได้นางมาเป็นคู่ของตน เมื่อกลับสู่นาคพิภพแล้ว ก็ไม่เป็นอันกิน อันนอน เฝ้าเพ้อฝันถึงแต่ธิดาไอ่คำ เมื่อความรักกลุ่มรุม จนไม่สามารถจะอดทนได้ จึงได้ลักลอบออกจากเมืองบาดาล ปรากฏกายบนเมือง เอกชะธีตา โดยแปลงร่างเป็นกระรอกน้อยดังเดิม แต่ครั้งนี้ แขวนกระดิ่งน้อย ปีนป่าย เต้นไปมา อยู่บนต้นงิ้ว ข้างหน้าต่างของพระธิดาไอ่คำ วรรณกรรมอีสานพรรณนาเหตุการณ์ตอนนี้ไว้ว่า “ภังคีท้าวแปลงเป็นกะฮอกด่อน แขวนขอคำเฮ็ดอ้อนต้อน ปากกัดกินดอกงิ้ว ตาสิ่งเบิ่งไอ่คำ”

เมื่อกระดิ่งทองส่งเสียงกังวานขึ้น นางไอ่คำได้ยินเกิดความสงสัย จึงออกมายืนที่หน้าต่าง เห็นกระรอกเผือกตัวน้อย แขวนกระดิ่งทอง เต้นไปมา อยู่บนกิ่งงิ้ว ด้วยท่าทางน่ารัก น่าเอ็นดู ก็คิดอยากได้กระรอกเผือกนั้นเหลือประมาณ จึงสั่งให้หาคน ล้อมจับแต่ก็ไม่มีใครจะจับกระรอกน้อยตัวนั้นได้ และกระรอกก็ยังเต้นไปมาอยู่บนต้นงิ้ว ต้นนั้นเหมือนกับการยั่วยุ
ความคิดเอ็นดู กลับกลายเป็นความโกรธ นางจึงตัดสินใจให้นายพรานแม่นธนูยิงกระรอกตัวนี้ เมื่อจับเป็นไม่ได้ ก็จับตายซะเลย แต่คราวนี้กระรอกเผือกเหมือนจะรู้ว่านายพรานเอาจริง จึงกระโดดหนีจากต้นงิ้ว ต้นนั้น เต้นไปตามต้นไม้ต่างๆ ทั่วนคร จึงกระทั่งเต้นไปจับอยู่บนต้นมะเดื่อต้นหนึ่งซึ่งกำลังมีผลสุกเต็มต้น

ผลกรรมแต่ปางก่อน และแรงอธิษฐานของนางไอ่ ในชาตินั้นตามมาทัน กระรอกเผือกเผลอตัวมัวแต่กัดกินลูกมะเดื่อสุกด้วยความหิว ก็โดนลูกศรของนายพรานทะลุกลางลำตัว ดิ้นทุรนทุรายก่อนสิ้นใจตาย ท้าวภังคีในร่างกระรอกเผือก ก็ได้แสดงอิทธิฤทธิ์ร่ายมนต์อธิษฐานว่า “ขอให้ร่างกายของเราใหญ่โตเท่าช้างสาร เนื้อหนังของเราจงเพียงพอแก่การเลี้ยงดูผู้คนทั่วทั้งเมือง” สิ้นคำอธิษฐานกระรอกน้อยก็ขาดใจตาย หล่นลงจากต้นมะเดื่อในบัดดล

จากกระรอกเผือกตัวน้อย กลับกลายเป็นกระรอกตัวใหญ่มหึมา นายพรานป่าวประกาศให้ชาวบ้านมาช่วยกันลาก เมื่อลากไปได้สักพักก็หมดเรี่ยวแรงที่จะลากต่อไปได้อีก จึงพากันมาแร่เนื้อกระรอกเผือก ณ จุดนั้น (บริเวณบ้านท่าแร่) แล้วแบ่งแจกจ่ายกันจนทั่วทั้งเมือง แม้แต่พระธิดาไอ่คำก็ได้รับส่วนแบ่งในครั้งนี้ด้วยเช่นกัน ยกเว้นแต่พวกแม่ร้าง แม่ม่าย ไม่ได้รับส่วนแบ่งเนื้อกระรอกเผือกในคราวครั้งนี้


… ขอเล่าอดีตชาติของท้าวภังคี … (ขั้นรายการตรงนี้เสียเลย) คือ ในชาติก่อนท้าวภังคีกับนางไอ่เป็นสามีภรรยากัน แต่ท้าวภังคีในชาตินั้นเป็นคนใบ้ นางไอ่ก็ดูแลปรนนิบัติสามีอย่างดียิ่ง ครั้งหนึ่ง ทั้งสองเดินทางไกล ผ่านป่าเขาลำเนาไพร ได้มาเจอต้นมะเดื่อผลสุกเต็มต้นในระหว่างทาง ผู้เป็นสามีได้ปีนป่ายไปเก็บกินผลมะเดื่อสุก ไม่ได้คำนึงถึงภรรยาผู้นั่งคอยดูอยู่เบื้องล่าง และเอ่ยปากขอให้สามีโยนผลมะเดื่อสุกลงมาให้ แต่ไม่ได้รับความสนใจจากสามี เมื่อเขารู้สึกอิ่มแล้วก็ได้ปีนลงมาแล้วเดินทางต่อไป…ผู้เป็นภรรยาไม่อาจเดินตามสามีได้เพราะตนเองหิวโหย จึงตะกายขึ้นต้นมะเดื่อต้นนั้น เก็บกินผลสุกจนพอแก่ความต้องการเมื่อลงจากต้นมะเดื่อแล้วก็ออกเดินตามหาผู้เป็นสามี หาอย่างไรก็ไม่พบ หมดแรงนั่งกอดเข่าเหงาหงอย ทุกข์ตรมทรมาน…เมื่อพอจะเดินต่อไปได้ก็ลุกขึ้นเดินทางต่อไป ถึงต้นไทรใหญ่ริมแม่น้ำ จึงลงอาบน้ำดื่มกิน จนเกิดความสุขสบายใจ กลับขึ้นมานั่งภายใต้ต้นไทร อธิษฐานจิตขึ้นว่า “ชาติหน้าขอให้สามีตายอยู่บนกิ่งไม้และแม้ได้พบเห็นกันก็อย่าได้เป็นสามีภรรยากันอีกเลย สาธุ” สามีในชาตินั้นได้กลับมาเกิดเป็นท้าวภังคี และถูกลูกศรนายพรานและตายบนกิ่งไม้ทุกประการ


ในค่ำคืนที่ชาวเมืองเอกชะธีตา อิ่มหนำสำราญด้วยอาหารที่ปรุงจากเนื้อกระรอกเผือกตัวนั้น ณ เมืองนาคบาดาล พญานาคราชพอทราบข่าวว่า ภังคีนาคลูกรัก ถูกลูกศรีตายอยู่บนเมือง เอกชะธีตา แม้ที่สุดเนื้อของภังคีนาค ก็ถูกพวกชาวเมืองเชือดเฉือนแบ่งปันกันกินก็บันดาลโทสะ อย่างรุนแรง ดวงตาแดงกล่ำ ดั่งดอกชบา จึงยกพลโยธานาคขึ้นสู่เอกชะธีตานคร
เวลาดึกสงัดทุกคนหลับสนิท ก็เกิดเสียงกัมปนาทหวั่นไหว แผ่นดินได้ถล่มถลายกลายเป็นแผ่นน้ำ ไปทั่วทุกหนแห่ง ผู้ใดที่ได้กินเนื้อท้าวภังคีนาค คนผู้นั้นก็จมหายไปกับแผ่นน้ำ เมืองทั้งเมืองล่มสลายกลายเป็นหนองน้ำใหญ่ในบัดดล คงเหลือไว้แต่บ้านของพวกแม่ม่าย ผู้ไม่มีโอกาสได้ลองลิ้มชิมรสเนื้อกระรอกเผือก จึงกลายเป็นเกาะแก่ง หรือ ดอน ท่ามกลางน้ำหนองหาน จนทุกวันนี้

กล่าวถึงท้าวผาแดง แห่งเมืองผาโพง เกิดอาการร้อนใจกระวน กระวาย มาหลายเพลา คิดถึงแต่นางไอ่ใจเมือง เพียงอย่างเดียว ได้รีบเร่งเดินทางมุ่งหน้าสู่เอกชะธีตานคร และเมื่อได้ทราบข่าวว่าเมืองกำลังถล่มถลายอยู่นั้น ก็กระโดดขึ้นหลังม้าบักสามม้าคู่ชีพ ฮ้อเข้าสู่ตำหนักธิดาไอ่คำ คว้าแขนอุ้มขึ้นม้าพาควบหนีไปอย่างไม่คิดชีวิต…แต่อนิจจา ไอ่คำได้ลิ้มชิมรสเนื้อของท้าวภังคีจนอิ่มหนำไม่มีทางเสียแล้ว แม้ว่าม้าบักสามจะโดดโลดแล่นไป ณ ที่ใด แผ่นดินก็ถล่มถลายตามไปที่นั่น อีกทั้งเหล่าบริวารของพญานาคก็เนรมิตกายเป็นท่อนไม้ท่อนซุง ขวางกั้น เส้นทาง ขณะที่ท้าวผาแดงดึงเชือกบังคับม้าให้หาทางหนีอยู่นั้น มันเป็นช่วงเวลาเส้นยาแดงผ่าแปด หางของพญานาคก็ตวัดแหว่งกอดเกี่ยวรัดเอาร่างของไอ่คำออกจากอ้อมกอดอันอบอุ่นของท้าวผาแดง ไปได้ในบัดดล ร่างของไอ่คำค่อยๆ จมหายไปในแผ่นน้ำ ต่อหน้าต่อต้าท้าวผาแดง สุดวิสัยที่จะช่วยไอ่คำสุดที่รักไว้ได้ เมื่อสิ้นไอ่คำ ทุกสิ่งทุกอย่าง สงบเงียบเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น ท้าวผาแดงหันหลังกลับไปมองอดีตมหานครที่ยิ่งใหญ่ มีเพียงระรอกคลื่นที่ถูกลมพัดให้น้ำกระเพื่อมเท่านั้น มหานครเอกชะธีตา ที่เคยรุ่งเรืองต้องกลับกลายมาเป็นหนองน้ำใหญ่ เหลือไว้แต่ดอนแม่ม่าย และอดีตรักอันหวานชื่นเท่านั้น

เมื่อไม่มีไอ่คำ ผาแดงก็หมดสิ้นทุกสิ่งทุกอย่าง ได้แต่ตรอมตรม ระทมทุกข์ทรมานอยู่เพียงผู้เดียว และแล้วลมหายใจเฮือกสุดท้ายก็พรากชีวิตอันรันทดนั้น ท้าวผาแดงสิ้นใจตาย เพราะความอาลัยไอ่คำ สุดที่รักอย่างน่าเวทนายิ่งนัก และด้วยแรกพิษรักที่ไม่สมหวังนี้ทำให้วิญญาณของท้าวผาแดงกลายเป็นวิญญาณอาฆาตแค้นต่อพญานาค เมื่อวิญญาณของท้าวผาแดงและท้าวภังคีนาค พบกันเมื่อไหร่ การรบก็เกิดขึ้นเมื่อนั้น ในการรบกันแต่ละครั้ง ใช้เวลารบกันถึง ๗ วัน ๗ คืน มีพื้นใต้น้ำหนองหานเป็นสนามรบ โดยไม่มีใครแพ้ ใครชนะ แต่ก็จะรบกันไปเรื่อยๆ ส่วนวิญญาณของไอ่คำ ถูกจองจำอยู่ใต้พื้นน้ำหนองหาย เพราะนางเป็นตัวการอาฆาตแค้นของวิญญาณทั้งสอง จนกว่าจะถึงพระศาสนาของพระศรีอริยเมตไตรยพระองค์จะเสด็จมาโปรดและตัดสินคดี จึงจะทำให้วิญญาณทั้งสามได้หลุดพ้น จากโซ่ตรวนแห่งความทุกข์ทรมานเพราะรักนี้คือ “โศกนาฏกรรมแห่งรัก” …!!!

ดังนั้น พระพุทธเจ้าจึงตรัสสอนให้สติพุทธศาสนิกชนเกี่ยวกับความรักว่า
“เพราะอาศัยตัณหา จึงเกิดการแสวงหา
เพราะอาศัยการแสวงหา จึงมีการได้มา
เพราะอาศัยการได้มา จึงเกิดการตกลงใจ
เพราะอาศัยความตกลงใจ จึงเกิดความใคร่
เพราะอาศัยความใคร่ จึงเกิดการฝังใจ
เพราะอาศัยความฝังใจ จึงเกิดการหึงหวง
เพราะอาศัยความหึงหวง จึงเกิดความตระหนี่
เพราะอาศัยความตระหนี่ จึงเกิดการปกป้อง”
เพราะอาศัยการปกป้อง จึงการการลงไม้ลงมือ ทะเลาะวิวาท แก่งแย่ง ขึ้นกูขึ้นมึง โกหก หลอกลวง หยาบคาย และฆ่ากันตาย อกุศลธรรม (ความชั่วร้าย) ทั้งปวงก็เกิดขึ้น (พระไตรปิฎกเล่มที่ 10 มหานิทานสูตร) เท่านี้หรือ “ความรักใคร” ตำนาน “ผาแดงนางไอ่” ก็หนีไม่พ้นจากหลักคำสอนวงจรแห่งทุกข์นี้ไปได้

Credit:

(คัดลอกจากหนังสือ ประวัติพระธาตุนารายณ์เจงเวง โดย พระมหาประมวล ฐานทตฺโต, ดร.หน้า 44-53)
ข้อมูลจาก แฟนเพจ //www.facebook.com/watphrathatnaraijengweng




รูปถ่าย(ที่คิดว่าเป็น)นางไอ่คำ






เมืองทีตานครของพญาขอมถล่มจมดินกลายเป็นหนองน้ำขนาดใหญ่ ซึ่งก็คือหนองหานกุมภวาปีนั่นเอง ส่วนชาวเมืองที่กินเนื้อกระรอกเผือกก็ล้วนตายกันหมดรวมทั้งท้าวผาแดงและนางไอ่คำด้วย ยกเว้นบรรดาแม่ม่ายที่ไม่ได้รับแบ่งเนื้อกระรอกเผือกมากิน ทำให้บ้านเมืองของเขาไม่ถูกทำลาย จึงเหลือเป็นเกาะกลางหนองหานที่เรียกกันว่า “ดอนแก้ว” ในปัจจุบัน

ลักษณะของโบราณบ้านดอนแก้ว จะมีลักษณะคล้ายกับเมืองโบราณสมัยทวารดี โดยทั่วๆ ไป คือ มีคูน้ำคันดินล้อมรอบตัวเมือง และมีศาสนสถานที่สำคัญอยู่นอกตัวเมือง นั่นคือพระมหาธาตุเจดีย์ นอกจากนี้ยังมีกลุ่มใบเสมาปักรอบๆ โดยมีคตินิยมเพื่อแสดงเขตสถานที่ศักดิ์สิทธิ์คล้ายๆ กับการปักใบเสมาของเมืองฟ้าแดดสูงยาง อำเภอกมลาไสย จังหวัดกาฬสินธุ์ เยื้ององค์พระมหาธาตุเจดีย์ไปทางทิศตะวันตกเราจะพบภาพสลักเป็นลวดลายธรรมชาติบางส่วนและจารึกภาษาขอมที่มีสภาพลบเลือนไปมากแล้วสองใบ

จากสิ่งที่กล่าวมาแล้วจึงพออนุมานได้ว่า ชุมชนโบราณบ้านดอนแก้วมีประวัติความเป็นมาที่ยาวนาน ถึงแม้จะมีการสับเปลี่ยนกลุ่มของผู้คนเข้ามาอาศัยอยู่เป็นช่วง ๆ จนไม่สามารถที่จะสืบสานความเป็นมาได้อย่างต่อเนื่องจากปากสู่ปากได้ แต่ในด้านแหล่งโบราณคดีที่ปรากฏให้เห็นปัจจุบันนี้ ก็เป็นสิ่งยืนยันถึงความสำคัญ และอุดมสมบูรณ์ของท้องถิ่นได้เป็นอย่างดี


มีข้อสังเกตอีกประการหนึ่งก็คือ ในบริเวณเมืองกุมภวาปีนี้ ถือว่าเป็นชุมชนโบราณที่มีพัฒนาการมาช้านานนับย้อนลงไปประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๑-๑๓ สมัยทวารวดี ตามหลักฐานทางโบราณคดีที่บริเวณเกาะดอนแก้วกลางหนองหาน จากการศึกษาของนักวิชาการด้านโบราณคดีพบว่าบริเวณเกาะดอนแก้วนี้มีร่องรอยของชุมชนโบราณสมัยทวารวดี คือ ตัวเมืองมีลักษณะเป็นรูปวงกลมหรือวงรี มีคูน้ำคันล้อมรอบ และมีศาสนสถานอยู่นอกตัวเมืองด้านทิศตะวันออก คือ องค์พระมหาธาตุเจดีย์และกลุ่มใบเสมาหิน

ถ้าหากพิจารณากลุ่มใบเสมาที่ปักนอกตัวเมืองด้านทิศตะวันออก คือ องค์พระมหาธาตุเจดีย์ พระอุโบสถ และศาลาการเปรียญแล้ว จะพบว่าใบเสมาหินนั้นถูกปักไว้ไม่น้อยกว่า ๒ ยุคด้วยกัน คือ ยุคแรกใบเสมาหินมีลักษณะเป็นแปดเหลี่ยม ลักษณะเช่นนี้ไปพ้องกับคติความเชื่อในศาสนาพราหมณ์เกี่ยวกับเรื่องหลักโลก หรือศิวะลึงค์ ที่เป็นต้นกำเนิดของสรรพสิ่งในจักรวาล ซึ่งใบเสมาแปดเหลี่ยมนี้น่าจะสร้างขึ้นตามคติความเชื่อในศาสนาพราหมณ์หรือฮินดูเป็นสำคัญ


ในยุคต่อมาใบเสมาหินมีลักษณะเป็นแผ่นแกะสลักลวดลายหรือเรื่องราวบนแผ่นใบเสมาหินนั้น เพื่อให้เกิดความศักดิ์สิทธิ์ตามคติความเชื่อดั้งเดิม แต่เราไม่สามารถที่จะรู้ได้ถึงรายละเอียดของใบเสมาในยุคนี้ เนื่องจากลวดลายนั้นลบเลือนไปจนหมด จะเหลือให้เห็นก็เพียงลวดลายที่ฐานทั้งสองด้านของใบเสมาหินแบบแผ่นทองที่อยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ขององค์พระมหาธาตุเจดีย์เพียงแท่งเดียวเท่านั้น

อย่างไรก็แล้วแต่การที่จะพบใบเสมาหินแบบแผ่นเช่นนี้ก็พอที่จะนำไปเทียบเคียงกับกลุ่มใบเสมาหินที่พบในภาคอีสานตอนบนเช่นกันได้ เป็นต้นว่ากลุ่มใบเสมาหินที่เมืองฟ้าแดดสูงยาง อำเภอกมลาไสย จังหวัดกาฬสินธุ์ และกลุ่มใบเสมาหินจังหวัดเลย ที่แกะสลักลวดลายบนแผ่นใบเสมาเป็นเรื่องราวของพระโพธิสัตว์ในนิทานชาดกทางพระพุทธศาสนา และบางหลักยังมีรูปหม้อน้ำเป็นองค์ประกอบหลักและมีลวดลายพันธ์พฤกษาเป็นองค์ประกอบรองอีกด้วย

ถ้าหากใบเสมาหินที่บริเวณโบราณสถานดอนแก้วมีการรับอิทธิพลการแกะสลักภาพบนใบเสมาหินเช่นเดียวกับที่เมืองฟ้าแดดสูงยางและที่จังหวัดเลยแล้ว ก็น่าจะมีการแกะสลักรูปหม้อน้ำหรือกุมภะ ประดับด้วยลวดลายพันธุ์พฤกษาหรือใบไม้ดอกไม้ด้วย ซึ่งเรียกหม้อน้ำแบบนี้ว่า “หม้อปูรณฆฎะ” อันเป็นสัญลักษณ์ที่ใช้อย่างแพร่หลายไปยังประเทศแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เช่น อินโดนีเซีย เขมร และไทย โดยมีความหมายถึงความอุดมสมบูรณ์ ความมั่งคั่ง ความชุ่มชื่น และในที่สุดก็กลายเป็นเครื่องหมายที่แสดงถึงมงคลประการหนึ่งด้วย อันถือเป็นคติความเชื่อในพระพุทธศาสนา

การสันนิษฐานตีความจากใบเสมาดังกล่าวนี้อาจจะเป็นต้นเค้าอีกประการหนึ่งของชื่อบ้านบึงหม้อก็เป็นได้ เนื่องจากเกาะดอนแก้วเป็นเกาะที่มีความสำคัญและใหญ่ที่สุดกลางหนองหาน มีศาสนสถานสำคัญ ดังนั้นเมื่อมีการตั้งชื่อบ้านนามเมืองขึ้น ชาวบ้านจึงได้นำเอาสัญลักษณ์แห่งความอุดมสมบูรณ์ ความมั่งคั่ง และความชุ่มชื่น มาตั้งเป็นชื่อบ้านเมืองของพวกตน


ครั้งถึงสมัยรัชกาลที่ ๕ มีการปฏิรูปการปกครองแผ่นดินครั้งสำคัญ บรรดาบ้านเมืองต่างๆ ในหัวเมืองลาวและหัวเมืองภาคอีสาน ได้มีใบบอกไปกรุงเทพฯ เพื่อขอตั้งขึ้นเป็นบ้านเมืองในพระราชอาณาจักรสยามและมีการเปลี่ยนชื่อบ้านนามเมืองให้ไพเราะขึ้น โดยเจ้าหน้าที่ทางราชสำนักจะพิจารณาชื่อจากภูมินามดั้งเดิมแล้วนำมาดัดแปลงชื่อเพื่อให้พระเจ้าอยู่หัวทรงเลือกนามมงคลของบ้านเมือง แล้วจึงมีสารตราตั้งเมืองอนุญาตให้ตั้งเป็นบ้านเมืองที่สำคัญต่อไป บ้านบึงหม้อได้รับการตั้งชื่อนามมงคลจากราชสำนักกรุงเทพฯ ในปี พ.ศ. ๒๔๑๕ ว่า “เมืองกุมภวาปี”

ซึ่งเมืองกุมภวาปีได้ตั้งจากชื่อเดิม คือ บ้านบึงหม้อ เนื่องจากรากศัพท์คำว่า กุมภ หรือ กุมภ์ นั้นมีความหมายว่า หม้อ หรือ ชื่อราศีที่ ๑๑ รูปคนปั้นหม้อ ส่วนคำว่า วาปี หมายถึง หนองน้ำหรือบึง เมื่อนำคำทั้งสองมารวมกันจึงได้คำว่า กุมภวาปี อันหมายถึง บึงหม้อ นั่นเอง






ตำนานผาแดง-นางไอ่ มีอยู่ทั้งสองที่ อุดรและสกลนคร ความเป็นไปได้อยู่ที่ หนองหานกุมภวาปี

จากตำนาน ผาแดงนางไอ่ที่เล่ามาโดยสังเขปนี้ พอจะมีหลักฐานทางโบราณคดี เป็นเครื่องยืนยันให้สอดดล้องกับสภาพบ้านเมืองที่ดำรงอยู่ในปัจจุบันหลายประการ น่าเชื่อถือว่าจะมีมูลความจริงอยู่มาก คือ
1. ดอนแม่หม้าย กลายมาเป็น บ้านดอนแก้ว
2. คุ้มหลวง (ที่พักเจ้านายฝ่ายใน)กลายมาเป็น ดอนหลวง ซึ่งเป็นเกาะอยู่กลางหนองหาน
3. บ้านคอนสาย (กิ่ง อ.กู่แก้ว) เป็นสถานที่ที่นายพรานคอนธนู และขึ้นสายธนูเตรียมจะยิงกะรอกด่อน
4. บ้านเมืองพรึก เป็นสถานที่ชาวบ้านกำก้อนดิน ก้อนหิน ขว้างปากระรอก พรึก(พึก)คือการหว่านหรือขว้างวัตถุทีละมากๆ
5. บ้านแชแล เป็นที่กระรอกเดินผิดทาง (ภาษาอิสาน- แซแล แปลว่า ออกนอกเส้นทาง)
6. บ้านพันดอน เป็นที่ป่าไม้มากมายพรานไล่ยิงกระรอกจนจนมุม มาตายอยู่บริเวณนี้
7. บ้านเซียบ เมื่อไล่ล่ากระรอกด่อนเสร็จแล้ว ทีมพรานก็เมื่อยหล้าจึงหยุดพักเอาแรงเลยงีบหลับ(เซียบ)ไปพักหนึ่ง
8. บ้านเชียงแหว เป็นสถานที่ที่ชำแหละ(แหวะ)เนื้อกระรอก โดยคนชำแหละเป็นเซียง(คนที่สึกจากการบวชเณร)แบ่งกันกิน
9. บ้านห้วยกองสี เป็นสถานที่ที่นางไอ่คำโยนกลองทิ้งไป
10. บ้านน้ำฆ้อง เป็นสถานที่ที่นางไอ่ทิ้งฆ้องลงไป
11. บ้านห้วยสามพาด เป็นสถานที่ที่ม้าบักสามของผาแดง หกล้มลง
12. หนองแหวน(อยู่ทิศเหนือบ้านเชียงแหว)เป็นสถานที่ที่ผาแดงถอดแหวนโยนทิ้งลงไป

จากเว็บบ้านมหา
//www.baanmaha.com/community/thread24540.html







มีนักศึกษามาจากต่างจังหวัด มารำถวายนางไอ่ไม่แน่ใจมาแก้บนหรือรำถวายเฉยๆ


























































ตั้งหน้าตั้งตาตั้งเหรียญ บนพระพุทธบาทจำลองกัน











ดูวิวพาโนรามาบนหอคอยของวัด





















วัดที่นี่น้ำท่วมเหมือนกันนะ ศาลาที่เจ้าอาวาสอยู่นี้เป็นเหมือนบ้านลอยน้ำ สังเกตมีถังใต้พื้น
















ทำบุญกับเจ้าอาวาสและรับพร รับน้ำมนต์




ทริปต่อไป ตามหาพญานาคที่ คำชะโนด

//www.bloggang.com/mainblog.php?id=imaginer&month=23-01-2017&group=14&gblog=54








Create Date : 22 มกราคม 2560
Last Update : 1 มีนาคม 2560 16:19:26 น. 0 comments
Counter : 5155 Pageviews.

ใจรัก Jairuk Channel
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 91 คน [?]








ติดตามดูต่อที่YouTube

ใจรักJairukChannel



ติดตามดูต่อที่Facebook

ใจรักJairukChannel



แนะนำให้ชม

บัวหิมะ
บัวหิมะ
วิธีเลี้ยงบัวหิมะ
เกิดมาทำไม ตายแล้วไปไหน
บั้งไฟพญานาคที่ไปดูมา
ติดอันดับTOP Page Views
อาหารและการดูแลสุขภาพ ผู้ป่วยมะเร็งและคนทั่วไป
เที่ยวขอนแก่น
Michael Jackson
คอนเสิร์ตบอย Peacemaker
คลิปเจ้าขุน
การกลับมาของX Japan

ท่องเที่ยว

UFOที่เคยเห็น
บั้งไฟพญานาคที่ไปดูมา
หาดใหญ่และปัตตานี
ไข่มุกอันดามัน
อะ พีพี
เกนติ้ง
กัวลาลัมเปอร์
หาลิงเข้าถ้ำทะเลภูเขาเลยจ้า นอนดูหมอกที่ปราจีนบุรี
เที่ยวปราจีนบุรีต่อ
เลยจะถึงไหมละนี่
พักค้างแรมที่เลย
เลยจนเกือบถึงลาว
ขุดกรุเขื่อนป่าสัก
บึงแก่นนคร ขอนแก่น
พระธาตุขามแก่น
เดินทางไปลพบุรี
กินข้าวอิงภูชัยภูมิ
ลาว เวียงจันทร์
ลาว2
ปิดทริปเที่ยวลาว
ล่องเรือเจ้าพระยา
รถไฟลอยฟ้า ฟ้า ไทย
รถไฟใต้ดินไทย
ทะเลน้ำจืดหาดวังโกขอนแก่น บ้านปราสาทโคราช
วังน้ำเขียวโคราช
ชอปปิ้งหนองคาย
ตัวเมืองขอนแก่น
น้ำผุดทับลาว ชัยภูมิ
สนามหลวง2
ไปดูงานศิลป
สายน้ำกับปลาที่ไปปล่อย
งานExpro
เขื่อนอุบลรัตน์
เที่ยวป่าวัดพรไพรวัลย์
ล่องแพอ่างเก็บน้ำห้วยไร่
ทะเลหมอกภูพานน้อย
วัดเจดีย์ชัยมงคล
ครั้งหนึ่งที่เคยโบกรถ
น้ำหนาว,เพชรบูรณ์
พระพุทธชินราช,พระธาตุลำปางหลวง
น้ำพุร้อน,วัดร่องขุ่น
มหาลัยแม่ฟ้าหลวง,น้ำตกก้างปลา
เวียงแก่น,ภูชี้ฟ้า
ดอยแม่สลอง
อุทยานฯขุนแจ
สวนโลกราชพฤกษ์
วัดเจดีย์7ยอด,วัดเจดีย์หลวง
ดอยสุเทพ,ทุ่งสแลงหลวง
โครงการครูบ้านนอก
วัดหลวงพ่อโตใหญ่ที่สุดในโลก
ที่พักปากช่อง
เลย-ลาว-ท่าลี่
ถึงระยองแล้วจ้า
ทะเลตอนเช้า
งานเที่ยวภาคใต้






Friends' blogs
[Add ใจรัก Jairuk Channel's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.